คุ้มนายพล
ไปดอยตุงมาแล้ว คราวนี้ผมจะพาไปชิมอาหาร และไปนอนที่ดอยแม่สลอง ผมลงจากดอยตุง
อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นเวลาเกือบ ๑๗.๐๐ น. แล้วไม่ได้ไปดอยแม่สลองทางลัด
เพราะไม่อยากขับรถกลางคืน ในเส้นทางที่ค่อนข้างชันและคดเคี้ยว จึงต้องลงมาตามเส้นทางหลัก
ลงมาสู่ถนนพหลโยธิน (ช่วงอำเภอแม่จัน - อำเภอแม่สาย) ซึ่งจะสู่พหลโยธินประมาณหลักกิโลเมตร
๘๗๐ - ๘๗๑
ซึ่งหากคนตาดีไม่ใช้ผู้เฒ่าอย่างผม เวลาลงจากดอยตุง และจะต่อไปยังดอยแม่สลอง
ก็จะลัดทางไปได้ โดยจากปากทางเข้ามา ๑๐ กิโลเมตร ก็จะมีทางแยก หากเที่ยวลงก็จะแยกทางขวาไปยังอำเภอแม่ฟ้าหลวง
เข้าไปนิดเดียวก็จะถึงอำเภอแม่ฟ้าหลวง ชาวอำเภอนี้เกือบทั้งอำเภอเป็นชาวเขา
จากอำเภอแม่ฟ้าหลวงไปประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จะบรรจบกับทางสาย ๑๑๓๐ ที่ขึ้นมาจากพหลโยธิน
(กิโลเมตร ๘๕๙.๕) พบกันที่ป่าเมี้ยง ใกล้กับศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา จากนั้นก็เลี้ยวขวาขึ้นไปยังดอยแม่สลอง
ซึ่งเดียวนี้กลายเป็นหมู่บ้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ชื่อหมู่บ้านสันตคีรี
ส่วนผมไม่ได้ไปทางลัด ผมลงจากดอยตุงมาสู่พหลโยธิน แล้วเลี้ยวขวาไปจนถึงปั้ม
ปตท. ประมาณหลักกิโลเมตร ๘๕๙.๕ ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๑๑๓๐ วิ่งขึ้นเขาฝ่าความมืดไป
๓๖ กิโลเมตร จะเข้าหมู่บ้านสันตคีรีบนดอยแม่สลอง ที่หมายของผมคือ คุ้มนายพล
ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับธนาคารทหารไทย บนดอยแม่สลอง และที่คุ้มนายพลนี้เป็นทั้งที่พักและห้องอาหาร
(ไม่มีเหล้าและเบียร์ขาย มีแต่โซดา น้ำแข็ง) คณะพรรคที่เขาหนุ่มกว่าผมหลายปี
เขามาคอยอยู่ก่อนแล้วที่ร้านอาหารของคุ้มนายพล
ที่นี้มาทำความรู้จักกับที่พัก และห้องอาหารที่ตั้งชื่อว่า คุ้มนาพลเสียก่อน
ทำไมตั้งชื่อว่าคุ้มนายพล ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องตอบว่า เพราะเจ้าของเป็นนายพล
แต่ไม่ใช่นายพลไทย เป็นนายพลจีน ทำไมนายพลจีนมาอยู่เมืองไทย ผมจะสรุปให้ทราบ
จีนฮ่อ
ชื่อนี้ได้ยินกันมาตลอดแต่น้อยคนที่จะทราบว่าใครคือจีนฮ่อ จีนฮ่อคือ ชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากมณฑลยูนาน
ลงมาทางภาคเหนือของประเทศไทย ในรูปลักษณะของพ่อค้าแร่ ที่ใช้ม้าต่างหรือ ฬ่อ
เป็นพาหนะในการบรรทุกสินค้าผ่านมาทางฮ่องลึกหรือด่านแม่สาย เดินตามช่องทางนี้มาตั้งแต่โบราณ
ช่องทางต่าง ๆ ตามทิวเขาแดนลาว ในแนวเหนือ - ใต้ ที่กั้นเขตแดนไทย - กับพม่า
จะมีช่องทางต่าง ๆ และทิวเขาแนวนี้เป็นที่ตั้งของกองทหารจีนชาติ ที่เราไปเรียกเหมาว่า
จีนฮ่อ คือ
ช่องทางฮ่องลึก (ด้านท่าขี้เหล็กของพม่า ติดกับอำเภอแม่สาย)
ช่องทางเมืองฝาง (น้ำกก)
ช่องทางดอยลาง - ดอยสันจุ๊
ช่องทางหมูฮ่อ (ช่องกิ่วผาวอก) เชียงดาว
ช่องทางหลักแต่ง (ช่องเมืองแหง)
ช่องทางนาป่าแปก (แม่ฮ่องสอน)
ชนชาวจีนกลุ่มที่บรรทุกสินค้า (เช่นฝิ่น) เข้ามาทางฮ่องลึกไม่ใช่จีนแต้จิ๋ว
ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทยเรียกว่า พวกจีนฮ่อ ชาวจีนฮ่อประมาณ
๑ ใน ๓ จะนับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษาจีนกลาง ได้พากันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่
และจังหวัดเชียงราย และกลายเป็นคนไทย เป็นคหบดีของเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไปหมดแล้ว
และถูกวัฒนธรรมของท้องถิ่นกลืน จนกลายเป็นคนไทยไปหมด
ดังนั้นฮ่อ ที่เป็นรากศัพท์ของฮ่อที่เราเรียกกันในปัจจุบัน จะต้องถือว่าไม่มีแล้ว
แต่มีฮ่อรุ่นใหม่ที่เราไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอย่างไร ก็เลยเรียกว่า จีนฮ่อ จีนฮ่อรุ่นใหม่ซึ่งความจริงไม่ใช่
แต่เป็นทหารของกองกำลังทหารจีนคณะชาติ ยังมีจีนฮ่อพลเรือน ซึ่งอพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่ในรัฐฉาน
สหภาพพม่า และอยู่มานานจนถูกกวาดอย่างจริงจังจากพม่า จึงทะลักเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย
จุดที่สำคัญที่สุดคือ ดอยตุง ดอยแม่สลอง
ในจังหวัดเชียงราย และถ้ำง๊อบในจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อจีนคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองแผ่นดินใหญ่ได้ทั้งหมด เป็นผลให้ จอมพล เจียงไคเช็ค
ผู้นำจีนชาติ ต้องถูกไล่ตีตกทะเลไปอยู่ยังฟอร์โมซา หรือเกาะไต้หวันในปัจจุบัน
จีนคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒ กองกำลังทหารจีนคณะชาติ
"ก๊กมินตั๋ง" ที่สำคัญที่เรารู้จักกันในนามของ
"กองพล
๙๓" ซึ่งยืนหยัดอยู่ในพม่านั้น ก็ถูกกำลังของพม่ากวาดล้างเกือบจะสลาย
ส่วนกองพล (ไม่ได้มีกำลังอัตรากองพล) และกองพลอื่น ๆ ก็เช่นกันถูกกวาดล้างไปจนสูญสลาย
ส่วนกองพล ๙๓ นั้น ไม้ได้ถึงกับสลายตัวทั้งกองพล และพอดีกับการที่สหรัฐอเมริกามีนโยบายยับยั้งการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์
ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ จึงให้การช่วยเหลือทำให้กองพล ๙๓ แปรสภาพเป็นกองทหารจีนกู้ชาติ
มีกำลังนับหมื่น แต่ในที่สุดสหประชาชาติ ก็ไม่ยินยอมให้กองพล ๙๓ อยู่บนแผ่นดินไทย
และอยู่ในแผ่นดินพม่า สหประชาชาติจึงลงมติให้ย้ายกองพล ๙๓ ผ่านประเทศไทย
กลับไปอยู่ไต้หวัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ แต่ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองพล
และทหารในกองพลนี้ ระดับผู้บังคับบัญชาขึ้นมาใหม่ โดยได้ชาวจีนจากราษฏรอาสาสมัคชาวยูนาน
ที่หนีภัยคอมมิวนิสต์ มาสมัครเป็นทหารจำนวนมาก คราวนี้ได้จัดกำลังใหม่เป็นรูป
"กองทัพ" มีถึง ๕ กองทัพ คือ ท.๑ - ๕ และยืนหยัดต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ต่อไป
ในรัฐฉานของพม่า หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง ลำเลียงฝิ่น เป็นกองคาราวาน โดยเดินทางลำเลียงระหว่างรอยต่อของไทย
พม่า และลาว จนถูกขนานนามว่า "สามเหลี่ยมทองคำ"
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ กองทัพก๊กมินตั๋ง ถูกกองทัพพม่าและจีนคอมมิวนิสต์ผลักดัน
กวาดล้างอย่างรุนแรง จนไม่สามารถตั้งถิ่นฐานที่มั่นในพม่าได้อีกต่อไป จนเริ่มทะลักเข้าสู่ประเทศไทย
โดยกองทัพที่ ๓ ของนายพล หลี่ เหวิน ฝาน ได้เข้ามาทางเชียงใหม่ อำเภอฝาง นายพลต้วน
ซี เหวิน เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ที่ดอยตุง และดอยแม่สลอง
และดอยแม่สลองนี้แหละ ที่เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพที่ ๕ และส่วนส่งกำลังบำรุงอยู่อย่างเจ้าของพื้นที่เลยทีเดียว
เมื่อผมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ ซึ่งกองพันตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม
จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ มีพื้นที่รับผิดชอบในการสนับสนุนการรบ ของทหารราบคือ
กรมผสมที่ ๗ ตลอดพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง
ผมเคยนำรถที่เรียกว่า รถจี๊บกลางของทหาร จะขึ้นไปสำรวจบนดอยแม่สลอง แต่ขึ้นไม่ได้เพราะกลายเป็นแผ่นดินที่ต้องห้ามสำหรับคนไทยทั้ง
ๆ ที่เป็นแผ่นดินไทย และในปี พ.ศ.๒๕๐๘ พวกนี้พยายามทะลักลงมาสู่ที่ราบ เพื่อยึดครองพื้นที่ราบของอำเภอแม่จัน
ในตอนนั้นผู้การกรมผสมที่ ๗ ท่านให้ผมไปกับท่าน นั่งเฮลิคอปเตอร์ตรวจการเคลื่อนย้ายของจีนฮ่อกลุ่มนี้
และพบกำลังเคลื่อนย้ายลงมาเป็นขบวนยาวเหยียด ต้องใช้เครื่องขยายเสียงประกาศ
(ให้ล่ามจีนพูด) ให้ถอนกลับขึ้นไป มิฉะนั้นจะใช้ปืนใหญ่ยิง ความจริงแล้วขู่ไปอย่างนั้น
เพราะปืนใหญ่ของผมยังอยู่ที่อำเภอแม่ริม และสมัยนั้นถนนจากเชียงใหม่ไปลำปางไม่มี
ถนนจากเชียงใหม่ผ่านดอยเสก็ดมาเชียงรายไม่มี มีแต่ทางรถลากไม้ ซึ่งผมเคยเอารถจี๊บกลางบุกมาถึงเชียงรายได้
แต่เขาก็เชื่อฟังดีจึงถอยกลับขึ้นไปบนเขา กองทัพ ๕ ของนายพล ต้วน ตั้งมั่นอย่างมั่นคง
มีกรมฝึกทหารใหม่ เพื่อเสริมกำลังให้แก่หน่วยที่ตั้งอยู่ทางพม่า มีโรงเรียนนจีนที่นักเรียนจีนที่นักเรียนมีวินัยมาก
มีการค้า การรับจ้างลำเลียงฝิ่น ต่อมาได้มีการให้อพยพกลับไต้หวันในรอบสองอีก
แต่พวกนี้ไม่ยอมกลับ แต่ทั้ง ท.๓ และ ท.๕ ประกาศให้ความร่วมมือกับกองทัพไทยทุกรูปแบบ
ยอมให้ปลดอาวุธ ยอมมอบฝิ่นที่อยู่ในครอบครองเป็นจำนวนประมาณ ๔๐ ตัน (นำไปเผาที่หลังกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๗ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) ยอมถูกปลดอาวุธ ขออยู่ใต้กฎหมายไทย ขอตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทย
ไม่ย้ายไปไหนอีก และกำลังติดอาวุธบางส่วนก็เข้าร่วมในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
กับทหารไทย
ในการสู้รบเพื่อยึดเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทหารจีนชาติ หรือจีนฮ่อ
ได้ทำการร่วมอย่างเข้มแข็ง บาดเจ็บ ล้มตายไม่ใช้น้อย และได้ชัยชนะ จนมีการสร้างอนุสาวรีย์เล็ก
ๆ ของจีนฮ่อให้บนเขาค้อ ความจริงคือ อนุสาวรีย์ของทหารจีนชาติ อดีตทหารกองพล
๙๓ และกลับมาเป็นกองทัพที่ ๕ กำลังอีกพวกหนึ่งก็เข้าทำการรบชิงที่มั่น
ผกค.ที่ดอยผาตั้ง ตอนนี้อยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ไม่ไกลกันนักกับภูชี้ฟ้าที่อยู่ในเขตอำเภอเทิง
ซึ่งพวกจีนฮ่อเหล่านี้ ชำนาญในภูมิประเทศมากกว่าทหารไทย เพราะเขาตั้งฐานอยู่บนเขามาตลอด
จึงชำนาญภูมิประเทศ แม้ว่าฝ่าย ผกค.จะมีทั้งพวก ลาว ไทย ญวน และ"ม้ง" ที่ชำนาญเขา
แต่เมื่อสู้รบกันก็สู้จีนฮ่อไม่ได้ เราจึงได้แผ่นดินผาตั้งที่เคยถูกประกาศว่า
เป็นเขตปลดปล่อยกลับคือมา กลายเป็นบ้านผาตั้ง ที่มีโรงแรมที่พัก มีร้านอาหารอร่อย
"ขาหมู หมั่นโถว" วันหลังผมจะพาไป (ผมจะออกตระเวนยอดดอยในเดือนเมษายนนี้)
กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ ที่ผมเป็นผู้บังคับกองพันนั้น ก็ถูกให้ออกปฏิบัติการสนับสนุนการรบกับพวก
ผกค.เป็นกองพันปืนใหญ่กองพันแรกของกองทัพบก โดยส่งไปทดลองก่อนหนึ่งกองร้อยปืนใหญ่
(มีปืนขนาด ๑๐๕ มม. จำนวน ๔ กระบอก) เมื่อ ๓๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ พออีกไม่กี่วันการปฏิบัติการของกองร้อยปืนใหญ่ได้ผลดี
จึงสั่งให้จัดในรูปของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ ส่วนหน้า ออกไปปฏิบัติการเกือบหมดกองพัน
คือ ๒ กองร้อยเต็มกำลัง มีปืนใหญ่ไป ๑๒ กระบอก ผมนำไปเอง เมื่อ ๑๗ มีนาคม
๒๕๑๑ ขอบันทึกเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ ของทหารปืนใหญ่ในการรบกับ ผกค. และในปีเดียวกัน
ทั้ง ๆ ที่คุมการรบอยู่ที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย กองทัพบกออกคำสั่งตามมาอีก
ให้ผมไปรายงานตัว เป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ กองพล อสส. เพื่อเดินทางไปรบในสมรภูมิเวียดนาม
เป็นการจัดกำลังใหม่ทั้งกองพัน ไม่ได้เอาอาวุธและกำลังพลเดิม ของกองพันเดิมไปเลย
ผมสนุกอยู่หลายเดือน คือ เป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ทีเดียว ๓ กองพัน
ไม่เคยมีใครเขาเป็นกัน และถึงต่อมาก็ไม่มี เพราะตอนรายงานตัวเป็นผู้พัน ไปรบเวียดนามนั้น
ยังไม่มีคำสั่งให้ผมพ้นหน้าที่จากผู้พัน ๗ ผมจึงยังเป็นอยู่ และยังต้องเป็นผู้พัน
๗ ส่วนหน้าโดยตำแหน่งอีกด้วย จึงวิ่งรอกระหว่าง กาญจนบุรี เชียงใหม่ และเชียงคำ
รถไม่คว่ำตายก็บุญหนักแล้ว
ขอสรุปทหารจีนฮ่อที่เราเรียกกัน ความจริงแล้ว กองพล ๘๓ ก็สลายไปหมดแล้ว ตั้งแต่ปี
๒๔๙๖ ทหารที่ยึดครองอยู่ที่ดอยตุง และดอยแม่สลองคือ ทหารจีนชาติ ภายใต้การนำของนายพล
ต้วน ซี เหวิน และเมื่อทางการเข้าควบคุม และกำกับดูแลตลอดจนจัดที่ทำกินให้
แล้วก็ให้มาอยู่รวมกันที่ดอยแม่สลองทั้งหมด
และก่อตั้งเป็นหมู่บ้านสันติคีรี
และทางกองบัญชาการทหารสูงสุด ก็ต้องตั้ง บก.๐๔
ควบคุมดูแลส่งกำลังให้ ผมต้องขอขอบคุณ อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของผมเอง เคยรับราชการกับผมมาที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่
๗ คือ พันเอก กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "ทหารจีนชาติ
ก๊กมินตั๋ง ตกค้างภาคเหนือประเทศไทย" หนังสือนี้ไม่ได้วางขายตามแผงหนังสือทั่วไป
ใครต้องการต้องสั่งที่ น.ส.กานต์ชนก ประกาศวุฒิสาร ๒๒๐ หมู่ ๑ สวนไผ่ล้อม
ช่างเคียน ซอย ๙ ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐ เล่มละ ๓๕๐
บาท โทร ๐๕๓ ๒๘๒๔๖๑ พ.อ.กาญจนะ ฯ ได้คลุกคลีอยู่ที่ บก.๐๔ นานกว่า ๒๐ ปี รู้จักดีกับนายพลต้วน
และเสธ.ทั้งหลายของจีนฮ่อพวกนี้ เคยพาผมไปกินเหล้า กินข้าวกับเสธ.กู้ ต่อมามีชื่อเป็นไทยทุกคน
เสธ.กู้ อยู่หมู่บ้านทางขึ้นดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ พอรู้ว่าผมจะขึ้นไปและเป็นนักชิม
เขาก็ทำอาหารเลี้ยงเพียงหม้อเดียว ชื่อว่า "หม้อไฟคุนหมิง" หม้อโตมาก ต้องเตรียมการหลายวัน
และหากเป็นวันที่ผมกำลังเขียนอยู่นี่ ไข้หวัดนกกำลังระบาด อาจจะไม่ทำให้กินกันก็ได้
เพราะตัวสำคัญในการประกอบอาหารหม้อไฟคุนหมิงคือ ไก่ดำ ที่ต้องตุ๋นอยู่หลายวัน
จำได้ว่าวันนั้นดื่มสุราแม่โขงไม่มีโซดา ก่อนดื่มต้องร้อง "กัมเปย์" แปลว่า
ดื่มให้หมดแก้ว แล้วผลัดกันชวนนำดื่ม สุดท้ายเหลือ ๒ คนกับเสธ.กู้ พอร้องกัมเปย์ครั้งสุดท้าย
เสธ.กู้ ยกแก้วได้แค่อกแก้วตกคอพับหลับกลางอากาศ ผมเก่งกว่ายกแก้วได้สูงถึงริมฝีปาก
แต่ดื่มไม่เข้าปากพับเช่นกันฟื้นขึ้นมาก็เช้าอีกวันกองกันอยู่ที่วงเหล้านั่นแหละ
ดังนั้นเมื่อจบสิ้นการสู้รบกับพวก ผกค.แล้ว พวกจีนฮ่อเหล่านี้ก็ได้สัญชาติไทยหมด
ซึ่งครั้งแรกให้เฉพาะชั้นผู้นำตามโควต้าการแปลงสัญชาติเป็นไทย ปีละ ๒๐๐ คน
ที่มาเล่าโดยย่อผมก็เก็บรายละเอียดมาจากหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนใหญ่ และอีกเล่มที่เขียนโดยนักเขียนดังในอดีต
เขียนเรื่องหนักเป็นเรื่องสนุกได้คือ พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ ที่เคยลี้ภัยการเมือง
หลบไปอยู่กับทหารจีนชาติเหล่านี้ แล้วเขียนเรื่องไว้ "ก็ผมไม่มีทางเลือกนี่ครับ"
เขียนเล่าสนุกสนาน
ขึ้นดอยแม่สลอง จะไปตามถนนที่คดโค้งไปตามไหล่เขาที่ค่อย ๆ สูงขึ้นไปเรื่อง
ๆ จุดแรกที่เป็นทั้งที่เที่ยว และที่กินก็คือ ไร่ชา ๑๐๑ อยู่ทางซ้ายมือ ใหญ่โต
เห็นง่าย มีการชงชาจีนที่หอมกรุ่น มีซาละเปาอร่อย มีอาหารขาย กินซาละเปา จิบชาจีนแล้วนั่งชมวิว
ชมไร่ชา
จากนั้นถนนก็จะผ่านเข้าหมู่บ้าน ร้านและที่พักอีกแห่งที่ผมเคยพัก และเคยชิมอาหารของเขาประจำ
แต่วันนี้มืดแล้ววิ่งเลยไปคือ ดอยแม่สลอง วิลล่า อาหารอร่อยมาก กินกันจนร้านเขาขยายใหญ่โต
มีที่พักที่ดีด้วย อร่อยอย่ากลัวอ้วนคือ ขาหมู หมั่นโถว และอาหารจีนทั้งหลาย
จากนั้นถนนก็จะเริ่มเข้าสู่หมู่บ้าน ซึ่งมีบ้านแบบจีนชนบท มีที่พัก มีร้านอาหาร
ตลอดสองข้างทาง ที่พักใหม่ ๆ มีหลายแห่งยังไม่เคยพัก และไปจนถึงทางแยกขวาที่จะแยกไปยังลานต้นพญาเสือโคร่ง
หรือซากุระ ซึ่งจะมีร้านขายของที่ระลึกและร้านขายใบชา และที่สำคัญคือ มีบ้าน
"เกรียงศักดิ์" ซึ่งชาวจีนฮ่อเหล่านี้ปลูกไว้ให้ พลเอกเเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์
เพราะท่านเป็นผู้ที่นำพวกเขา และดูพวกเขาจนกระทั่งเขามีที่ทำกิน กลายเป็นคนไทยไป
เขาจึงปลูกบ้านให้ท่าน
หากไม่เลี้ยวมาทางบ้านเกรียงศักดิ์ ฯ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของดอยแม่สลอง
ก็แยกซ้ายไปตามบ้าน ตามร้านจนกระทั่งเห็นธนาคารทหารไทยอยู่ทางซ้าย ทางขวาคือ
ที่พัก ที่กิน ที่ผมจะพามาวันนี้ "คุ้มนายพล" หากยังไม่เข้าที่พัก ตรงหน้าคุ้มนาพลคือ
ร้านแผงลอยทั้งหลาย ที่ชาวบ้านชาวเขามาขายของที่ระลึก เลยไปอีกนิดก็จะถึงตลาดนัดที่น่าจะนัดกันทุกวัน
ขายของชาวเขา ชาวเขาเต็มไปหมด เลนตลาดนัดนี้ไปก็จะถึงทางแยกขวาขึ้นยังพระธาตุศรีนครินทร์
ที่อยู่บนยอดเขา ยอดดอย ขอให้ขึ้นไปชม ไปกราบไหว้ให้ได้ เลยทางแยกขึ้นสู่พระธาตุ
หากตรงต่อไปก็จะไปบรรจบกับถนนสายแม่อาย - อำเภอแม่จัน กลับเชียงรายได้ โดยไม่ต้องย้อนลงมา
ระยะทางช่วงนี้ ๑๕ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายลงมาจนถึงอำเภอแม่จันอีก ๓๑ กิโลเมตร
และจะผ่านบ่อน้ำร้อนใหญ่ ผ่านลานทอง อุทยานวัฒนธรรมกลุ่มแม่น้ำโขง
"น่าน"
คุ้มนายพล มีที่พัก ๒ แบบคือ แบบบังกาโล ซึ่งปลูกตามไหล่เขา จอดรถแล้วเดินลงไปอีกคือ
สุสานของนายพลต้วน
ซึ่งเสียชีวิต เมื่อ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ที่พักอีกแบบเป็นแบบโรงแรมห้องพักไม่โก้นัก
อยู่ตรงห้องอาหาร หากไปในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ดอกซากุระจะบานสีสดสวยตลอดทาง
ที่จะขึ้นจากทางลงที่พัก ไปยังยอดดอยที่ตั้งสุสานนายพลต้วน
ห้องอาหารอยู่ตรงหน้าทางเข้ามา หากฤดูหนาวพวงแสดก็งามอีกนั่นแหละ ห้องอาหารกว้างใหญ่
นั่งสบาย บรรยากาศแจ่มแจ๋ว ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ใครจะพกพาเอาไปกินก็ไม่ว่ากัน
แต่มีโซดา น้ำแข็งขายให้ จะนั่งรากงอกอย่างไรก็ได้
ติดต่อจองห้องพัก จองห้องอาหาร ๑๕๓ ๗๖๕๐๘๕ , ๗๖๕๘๐๐ - ๔
ขาหมู หมั่นโถว อาหารจานเด็ด ของดอยแม่สลองเลยทีเดียว ขอให้ท่านชมภาพที่ผมถ่ายมา
จะเห็นความน่ากินมากกว่าให้ผมอธิบาย ทราบอย่างเดียวว่ากินกัน ๑๐ คน ๒ จาน
ยังต้องแย่งกัน ขาหมูหอมด้วยสมุนไพร หมั่นโถว แป้งนุ่มนวลขาว ร้อน บิเอาจิ้มน้ำพะโล้วิเศษนัก
เป็ดกรอบยูนนาน กรอบเคี้ยวได้ทั้งตัว จบแล้วจานนี้เกลี้ยงเกลายังกับช่วยเขาล้างจาน
กระเพาะปลาผัดแห้ง กินจริง กินเล่น ดีทั้งนั้น
เห็ดหอมผัดซีอิ้ว และเห็ดหอมผัดน้ำมันหอย เห็ดปลูกบนดอยแห่งนี้สดมาก รสจึงหวาน
จานเดียวไม่พอต้องสั่งเพิ่ม และปิดท้ายด้วยยอดมะระหวานผัดน้ำมันหอย
อากาศหนาว (ตลอดปี) ผัดสด ๆ รสหวาน ผัดมาร้อน ๆ ข้าวสวยเม็ดขาวนุ่ม
ร้อนโฉ่ ต้องยอมอ้วน กินข้าวมื้อเย็นกันแบบไม่กลัวพุงจะโย้ ของหวานคือ ผลไม้
และซดน้ำชาจีน
...........................................................................
|