ราชวงศ์กษัตริย์ของอาณาจักรสยาม
ราชวงศ์กษัตริย์ของอาณาจักรสยาม(1)
การตั้งอาณาจักรของชาวไทย หรือชนชาติสยามนั้น
มีความปรากฏในตำนานโยนกว่า พระเจ้าพรหม ได้ลงมารบเอาแผ่นดินในดินแดนพายัพ
(ปัจจุบันคือภาคเหนือ) จากขอมเมื่อราว พ.ศ.1400
และสร้างเมืองฝางขึ้นเป็นเมืองของชนชาวไทย ตั้งแต่นั้นมาจนถึง พ.ศ.1600
ชาวสยามหรือคนไทยก็ตั้งต้นอพยพลงมอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้
ซึ่งขอมยังคงมีอำนาจอยู่ จนมีชาวไทยพากันมาอยู่ในแถบลุ่มน้ำ
เจ้าพระยามากขึ้นเมื่อพระเจ้าอนุรุธสามารถตีได้ดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจากขอม
และทำให้ขอมหมดอำนาจลง
พม่าเมืองพุกามจึงมีอำนาจปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมา
เมื่อชาวไทยอพยพลงมามีจำนวนมากขึ้น
สมทบกับผู้ที่อพยพมาก่อนแล้วก็สามารถช่วยกันปราบปรามทั้งพวกขอมและพม่าชาวพุกามจนสามารถครองแผ่นดินแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ในที่สุด
ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.1650 เศษ จนถึง พ.ศ.1850
จึงมีความกล่าวว่าชาวไทยที่อยู่เมืองเดิมในฮุนหนำนั้นได้เสียบ้านเมืองแก่กุปไลข่าน
ทำให้พวกมองโกลได้ครองดินแดนจีน และพม่าเสียพุกามเมื่อ พ.ศ.1827 นั้น
ได้ทำให้พวกไทยน้อยพากันอพยพลง
มาจนสามารถเป็นอิสรภาพในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปตลอดถึงแหลมมลายู
และยังได้ขยายอาณาเขตไปยังดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงด้วยนั้น
ปรากฏว่าภายหลังได้มีการวิเคราะห์กรณีจักรพรรดิกุปไล่ข่านพิชิตอาณาจักรต้าหลีได้แล้ว
เมื่อ พ.ศ.1796 ก็ไม่ได้มีเหตุอื่นใดที่บีบบังคับกดดันให้ชนชาติไทย
ต้องอพยพลงทางใต้อย่างขนานใหญ่ ในสมัยหยวน (สมัยหงวน)
ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบว่าชนชาติไทยนั้น
อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์
สรุปแล้ว ชนชาวไทยที่อยู่ในดินแดนพายัพต่าง ๆ
หากที่พากันแยกย้ายลงมาตั้งเมืองใหญ่ทางตอนใต้ เช่น เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย
เมืองกำแพงเพชร เมืองอู่ทอง เมืองนครปฐม เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี
เมืองไชยาและเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น
กล่าวคือคนไทยนั้นได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา
แม่น้ำโขงและเลยไปทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิระวดี
ซึ่งล้วนแต่นับถือพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น
แต่อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังนับถือพราหมณ์เป็นครูอาจารย์
จึงพากันเคารพศาสนาฮินดู หรือ พราหมณ์ของครูบาอาจารย์ ที่นับถือนั้นด้วย
ส่วนลาวนั้นก็ได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองเชียงแสนมาตั้งแต่
พ.ศ.1600 ในตำนานฝ่ายเหนือมีเรื่องลาวผู้เป็นต้นวงศ์ว่า ลาวจก หรือลวจักกราช
เป็นเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ลวจักกราช หรือราชวงศ์เชียงแสน
ซึ่งมีเจ้าแผ่นดินจากราชวงศ์นี้ขึ้นครองเมืองปกครองมณฑลพายัพข้างฝ่ายเหนือสืบต่อมาหลายองค์
ต่อมาพวกไทยต่างก็พากันอพยพงมาครอบครองบ้านเมืองในมณฑลพายัพและตั้งอาณาจักรล้านนาไทยขึ้น
อาณาจักรล้านนาไทยนั้น เดิมมีเมืองขนาดเล็กที่มีอิสระต่อกัน 3
เมือง ได้แก่ เมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) เป็นลูกหลวงของขอมละโว้
มีฐานะเป็นราชธานีปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือที่อยู่ในอำนาจขอม ซึ่งมีพระนางจามเทวี
เป็นปฐมราชวงศ์ครองเมืองหริภุญชัยร่วมกับเมืองนครเขลางค์ (เมืองลำปาง) เมืองเงินยาง
(เมืองเชียงแสน)
ที่มีเจ้าแผ่นดินราชวงศ์เชียงแสน
ครองเมืองเช่นกันภายหลังเมืองพะเยาจึงได้รวมเข้าอยู่ในอาณาจักรล้านนาไทย
เจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่อขุนเจือง เป็นผู้มีอานุภาพเข้มแข็ง
สามารถตีได้เมืองหลวงพระบาง ออกไปจนถึงเมืองญวน แล้วสิ้นพระชนม์ในสงคราม
และราชวงศ์ของขุนเจืองนี้ได้มีเชื้อสายสืบต่อมาจนถึงขุนเม็งรายผู้สร้างเมืองเชียงใหม่
เมื่อ พ.ศ.1839 และขุนงำเมือง เจ้าเมืองพะเยา
ซึ่งต่างเป็นอิสรภาพร่วมสมัยเดียวกันกับพ่อขุนรามคำแหง ผู้ครองกรุงสุโขทัย
ส่วนการที่เมืองแพร่ เมืองน่าน
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนาไทยนั้น
เนื่องจากเมืองทั้งสองนั้นเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงสุโขทัย
เรื่องของราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินพายัพนั้น ยังมีตำนานเล่าว่า
เดิมมีราชวงศ์ของพระยาสิงหลวัติ
กษัตริย์เชียงแสนเพียงราชวงศ์เดียวที่ปกครองบ้านเมือง
และมีเชื้อสายเป็นกษัตริย์ต่อมา ถึง 38 รัชกาล รัชกาลสุดท้ายคือ พระเจ้าพังคราช
กษัตริย์ราชวงศ์เชียงแสนพระองค์นี้ได้ตั้งเมือง 4 เมืองเป็นเมืองหลวง คือ
เวียงชัยบุรี ครองโดยพระเจ้าพังคราช และพระเจ้าทุกขิตต
พระโอรสองค์ใหญ่ เวียงชัย ปรากการ ครองโดยพระเจ้าพรหมมหาราช มีพระโอรสชื่อ
พระเจ้าชัยศิริ เวียงชัยนารายณ์ ครองโดยพระเจ้าเรือนแก้ว ผู้เป็นน้องเขย
และเวียงพังคำ (หรือเวียงสีทอง) มีพระญาติ ใกล้ชิด ซึ่งเป็นสตรีมาครอง
ภายหลังเชื้อสายของกษัตริย์จากสี่เวียงหรือราชวงศ์นี้
ได้พากันยกไพร่พลมาครองเมือง ต่างๆ มีอำนาจอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ
และดินแดนแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่
เมืองศรีสัชนาลัย นั้น เป็นเมืองของพระนางประทุมเทวี
พระมเหสีของพระเจ้าพังคราช เมืองสุโขทัย ภายหลังขุนบางกลางหาวกับขุนผาเมือง
จากราชวงศ์ชัยบุรี ได้ร่วมกันต่อสู้อาจขอมทำการตั้งอาณาจักรสุโขทัยได้
เมืองไตรตรึงษ์ (เมืองแพรกศรีราชา อยู่ใน อ.สวรคบุรี จ.ชัยนาท) เมืองเพชรบี
ครองโดยพระพนมทะเลศรีวรเชษฐ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริชัย
เมืองนครศรีธรรมราชครองโดยพระพนมวัง โอรสของพระพนมทะเลศรีบวรฯ
ซึ่งแต่งงานกับพระนางสะเดียง ธิดาจากเวียงพังคำ และเมืองสองพันบุรี
โดยเฉพาะเมืองสองพันบุรี หรือเมืองสุพรรณภูมินั้น
เมื่อกษัตริย์สวรรคตลงก็ขาดรัชทายาทสืบต่อ
พระยาสร้อยหล้าแห่งเวียงชัยนารายณ์ ทราบเรื่องจึงจัดขบวนไพร่พล
ออกจากเมืองศรีสัชนาลัยมาเมืองดังกล่าว บรรดาขุนนางเมืองสองพันบุรี
เห็นท่าทีมีบุญจึงเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองสองพันบุรี
และเสด็จประทับที่เมืองอู่ทอง จึงเรียกนามว่า พระเจ้าอู่ทอง (สร้อยหล้า)
ถือเป็นต้นราชวงศ์ชัยนารายณ์ และสถาปนาราชวงศ์กษัตริย์ ขึ้นเป็นราชวงศ์สุวรรณภูมิ
แต่อีกความกล่าวว่า ใน พ.ศ.1731 นั้น
พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่อพระเจ้าชัยศิริผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าพรหมได้ครองเมืองฝาง
และแผ่อาณาจักรได้ ดินแดนพายัพมาจนถึงเชลียง ต่อมารามัญได้ยกทัพมาตีเมืองฝาง
พระเจ้าชัยศิริสู้ไม่ได้จึงอพยพหนี ข้าศึกลงมาทางใต้ พบเมืองร้างชื่อเมืองแปบ
จึงขึ้นครองเมืองต่อมาทิวงคต และมีเชื้อสายมาครองเมืองต่อมาอีก 4 องค์
จนล่วงมาได้ประมาณ 160 ปี พระเจ้าอู่ทองจึงได้เกิดขึ้น
เรื่องของพระเจ้าชัยศิรินี้
ในหนังสือพงศาวดารสังเขปเล่าว่าราชธิดาของเจ้าเมืองแปบ (เมืองไตรตรังค์)
ประสูติกุมารองค์หนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นบิดา จึงมีการสืบสวนเสี่ยงทายกันว่า
กุมารจะรับของผู้ใด ปรากฏว่ากุมารนั้นรับข้าวก้อนจากชายผู้หนึ่ง
ซึ่งได้ความว่าบิดานั้นเป็นคนทุคตะชื่อนายแสนปม ไม่ได้เป็นราชตระกูล
เจ้าเมืองแปบเกิดละอายพระทัย จึงขับพระธิดา กับกุมารนั้นไปกับนายแสนปม ผู้เป็นบิดา
นายแสนปมไปสร้างเมืองเทพนคร (เมืองอโยธยา) เมื่อ พ.ศ.1862 และขึ้นครองราชย์สมบัติ
ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยศิริเชียงแสนและได้นำทองคำมาทำอู่ให้กุมารนั้นนอน
จึงให้นามว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้าศิริชัยเชียงแสนครองพระราชสมบัติเมืองเทพนครอยู่
25 ปี ก็เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ.1887 พระเจ้าอู่ทอง จึงได้ครองราชย์สมบัติต่อมา
แต่มีความเรื่องพระเจ้าอู่ทองในพงศาวดารเหนือว่า
เมื่อพระยาแกรกสวรรคตแล้ว ได้มีเชื้อพระวงศ์ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบมา 3 ชั่วอายุคน
ก็เกิดมีแต่ราชธิดาที่จะสืบราชวงศ์
จึงทำให้โชฏึกเศรษฐีอภิเษกกับราชธิดานั้นครองเมือง ไม่ปรากฏชื่อเมือง อยู่ได้ 6 ปี
ก็เกิดห่าลงเมืองจนพระเจ้าอู่ทองต้องมาสร้างกรุงศรีอยุธยาที่หนองโสน
สรุปกันว่า พระเจ้าอู่ทองนี้เป็นพระราชบุตรเขย
ของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสี
ครองราชย์สมบัติอยู่ 6 ปี เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร
จึงย้ายมาตั้งราชธานีที่เมืองอยุธยา
(จากพระราชนิพนธ์ของ ร.4 ที่ลงในไจนีสเรโปสิตอรี พ.ศ. 2394)
แม้ว่า
ตำนานการสร้างเมืองจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องเล่าขานตำนานโบราณคดี ของท้องถิ่น
อยู่หลายแห่ง เช่น พระยากงพระยาพาน ตำนานเมืองนครปฐม พระพันวสา ตำนานเมือง
สุพรรณบุรี และเมืองกาญจนบุรี ท้าวแสนปมเมืองไตรตรึงษ์ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง
เมืองอโยธยา และพระร่วงส่วยน้ำเมืองสุโขทัย เป็นต้น
ถือว่าเป็นข้อมูลจากนิทานมากกว่าใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
|