วัฒนธรรมการศึกษา
วัฒนธรรมการศึกษา
ชาวสุโขทัยนั้น นิยมให้บุตรธิดาของตนศึกษาหาความรู้ในอาชีพของตน
ถ้าเป็นผู้ชายในตระกูลทหารนั้นให้เรียนเรื่องเพลงอาวุธ การต่อสู้โดยใช้อาวุธต่าง ๆ
เช่น กระบี่กระบอง ดาบ เขน โล่ ดั้ง กริช กั้นหยั่น โตมร ศร มวย เป็นต้น
วิชาเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า ให้รู้จักการควบคุมช้าง และควบคุมม้า
เรียนรู้เรื่องตำราพิชัยสงคราม และวิชาชายชาตรี ได้แก่ เวทมนตร์ คาถาอาคม คงกระพัน
เป็นต้น
ถ้าเป็นผู้ชายในตระกูลพลเรือน ให้ศึกษาคัมภีร์ไตรเพท ภาษาศาสตร์
โหราศาสตร์ แพทย์ (หมอยา)
และวิชาช่างต่าง ๆ เช่น ช่างทอง ช่างเงิน ช่างแกะ ช่างปั้น ช่างวาด ช่างแกะสลัก
ช่างกลึง เป็นต้น
สำหรับผู้หญิงนั้น ส่วนใหญ่เรียนวิชาช่าง ช่างทอง ช่างวาดเขียน
ช่างแกะ ช่างปั้น เป็นต้น และงานฝีมือประเภทเย็บปักถักร้อย
นอกจากนี้ก็เป็นการปรุงอาหาร
การเรียนรู้ส่วนใหญ่ฝึกเรียนรู้จากครูผู้รู้หรือภูมิปัญญาที่มีความรู้เฉพาะด้าน
โดยเฉพาะพราหมณ์ พระภิกษุ ราชครู หรือผู้รู้ในตระกูลนั้น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีนักดนตรี นักขับเพลง ช่างฟ้อนรำ
ที่นิยมเล่นเพื่อความบันเทิงและยึดเป็นอาชีพในงานพิธีหรือการแสดงต่าง ๆ
ที่สามรถถ่ายทอดความรู้ได้ สำหรับเครื่องดนตรีที่นิยมและสร้างใช้ในสมัยสุโขทัยนั้น
ได้แก่กลอง แตร สังข์ ระฆัง กังสดาล มโหระทึก ฆ้อง ฉิ่ง ฉับ กรับ โหม่ง พิณ
(มีพิณเปี๊ยะ พิณน้ำเต้า) ซอ กระจับปี่ เป็นต้น ซึ่งมีช่างทำเครื่องดนตรี เช่นกัน
วัฒนธรรมทอผ้าและแต่งกาย
จดหมายเหตุจีนของจิวตากวน (โจวต้ากวาน) พ.ศ.1839
ได้กล่าวถึงการเลี้ยงไหมของชาวสยามไว้ว่า
ชาวพื้นเมือง
นั้นไม่ชอบเลี้ยงตัวไหมหรือปลูกหม่อน ผู้หญิงไม่รู้จักเย็บผ้า ตัดเป็นเสื้อปะชุน
เธอรู้จักแต่การทอผ้าด้วยฝ้าย และไม่รู้จักการปั่นเส้นด้ายด้วยล้อหมุน
สำหรับเส้นด้ายนั้น เธอทำด้วยแกนไม้ (ปลายแหลม) ที่หมุนด้วยมือ
พวกนี้ไม่รู้จักกี่ทอผ้า และเธอมักผูกขมวดปลายเส้นด้ายเข้ากับเข็มขัด (เอว) ของเธอ
แล้วทอ (พุ่ง)ด้วยมือจากอีกด้านหนึ่ง สำหรับกระสวย (ที่ใช้พุ่ง)
นั้นเธอใช้ไม้ไผ่ชิ้นเล็ก เมื่อเร็วเร็วนี้
ชาวสยามที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยนี้ (อาณาจักรเจนละ)
ได้ทำการเลี้ยวตัวไหมและปลูกต้นหม่อน เมล็ดต้นหม่อนและตัวไหมนั้น
นำมาจากอาณาจักรสยามทั้งสิ้น ผ้าที่ทำด้วยพันธุ์ไม้นี้ ชาวขอมไม่รู้จัก
แต่เขามีผ้าที่เรียกว่า โลมะ ชาวไทยใช้ไหมที่ทอเป็นผ้ายกดอกสีคล้ำ สำหรับใช้นุ่งห่ม
หญิงชาวไทยนั้นสามารถเย็บและปะชุนได้ และเมื่อผ้าที่ชาวขอมใช้นั้นฉีกขาดลง
เขาก็มาจ้างให้ซ่อมแซม
ข้อความนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า
วัฒนธรรมการทอผ้านั้นชาวสยามรู้จักทอและใช้นุ่งห่มมาก่อนอาณาจักรเจนละ หรือชาวขอม
และยังได้นำไปสอนให้ชาวขอมรู้จักทอผ้าด้วย
ในจดหมายเหตุของจีนได้กล่าวถึงผ้าที่นำมาตัดเย็บฉลองพระองค์ของกษัตริย์ ดังนี้
เสี่ยงอี่ (ภูษาเฉียง) ยาวสามเซียะ ใช้แพรตึ๊งห้าสี อื่น
เหียอี่ (ภูษาทรง) ทำด้วยด้ายห้าสี
เอ๋ย (ฉลองพระบาท) บ๋วย (ถุงพระบาท) ทำด้วยแพรตึ๊งสีแดง
ใช้ผ้าข้าวพันศีรษะ ใช้หมวกด้วยแพรตึ๊ง และทำด้วยด้ายกำมะยี่
นุ่งห่มใช้ผ้าสองผืน
ผ้าห่มทำด้วยผ้าห้าสียกดอก
ผ้านุ่งทำด้วยด้ายห้าสี แต่เอาไหมทองยกดอก...
สมัยสุโขทัย นั้นมีผ้าที่รู้จักกันได้แก่ ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้ากำมะยี่
ผ้าจีวร ผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าขาวแก้ว โดยเฉพาะผ้าห้าสี (เรียกว่า
ผ้าเบญจรงค์) นั้น เป็นผ้าที่ทอด้วยด้ายหรือฝ้าย โดยมีการย้อมเป็นสีต่าง ๆ 5
สีมีสีดำ สีขาว สีแดง สีเขียวและสีเหลือง
วัฒนธรรมการใช้ผ้านั้น ปรากฏชื่อผ้า หลายชนิด ดังเช่น ในจารึกว่า
จึงสวะพันละเหย้าเรือน แต่งเรือนผ้าด้วยผ้าแดง ผ้าเหลือง ผ้าดำ ผ้าเขียว
ผ้าขาว.... และในไตรภูมิพระร่วง ว่า พญาองค์นั้นจึงเอาผ้าอันขาว
อันเนื้อละเอียดนั้นมาพาดเหนือพระอังสะทั้งสอง สองกราบไหว้ด้วยผ้าเล็กหลก ผ้าสำลี
มีลางพวก ห่มผ้าชมพู ผ้าหนังผ้ากรอบ... ล้วนแต่เป็นผ้าที่มีความสำคัญ
แม้แต่เครื่องราชบรรณาการก็ยังมีการส่งผ้าให้แก่กัน เช่น
จีนจะส่งผ้าแพรมาเป็นจำนวนร้อย ๆ ม้วน ซึ่งมีแพรอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะแพรหมังตึ๊ง
นั้นถือว่าเป็นแพรยกดอกชนิดดีที่สุด
การใช้ผ้าในการตกแต่งบ้านเรือน ทำหมอนอิงหมอนนั่ง ฟูกนอน ธงทิว
สัปทน ม่านบังตา นั้นเป็นเรื่องที่นิยมใช้กันในเมืองสุโขทัย
เช่นเดียวกันในงานบุญทางศาสนา ก็นิยมที่จะใช้ผ้าถวายสำหรับเป็นผ้าจีวร ผ้าสบง
ผ้าเช็ดหน้า แล้วแต่จะถวายกันเป็นกอง เป็นผืนตามศรัทธา ในจารึกได้มีความกล่าว่า
มีการถวายผ้าเบงจตีแก่พระสงฆ์ใช้เป็นอาสนะ ผ้าเบงจตีเป็นผ้าลายจากอินเดีย
นอกจากนี้ ยังมีการถวายผ้าแพรสำหรับผ้าสอดกากะเยีย
(ขาตั้งอ่านคัมภีร์ใบลาน) ผ้าสมุดชายปัก (รองคัมภีร์มหาชาติ)
บันทึกของโจวต้ากวาน พ.ศ.1839 ได้กล่าวว่า
ชาวเสียนใช้ผ้าไหมและทอผ้าแพร บาง ๆ สีดำ ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม
ผู้หญิงเสียนนั้นเย็บชุนเป็น.. ชาวเสียนนี้หมายถึงชาวสุโขทัย
ดังนั้น วัฒนธรรมการทอผ้าของชาวสุโขทัยก็คือ หน้าแล้ง
ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก จึงทำให้ชาวสุโขทัยนั้นมีรูปแบบการแต่งกายหลายแบบ
ดังนี้
ผู้หญิงสุโขทัยนั้นไว้ทรงผมทำหลายแบบ ได้แก่
-
ไว้ผมเกล้าเป็นมวยอยู่กลางศีรษะ มีพวงดอกไม้หรือพวงมาลัยสวมรอบมวย
-
ไว้ผมแสกกลางโดยรวบผมไว้ท้ายทอย มีเกี้ยวหรือห่วงกลมรัดตรงที่รวบผม
-
เกล้าเป็นมวยไว้กลางศีรษะเหนือท้ายทอยขึ้นมา นิยมตกแต่งด้วยช้องผม
และเสียบด้วยช่อผกามาศ ผกาเกสร (ช่อดอกไม้)
ถ้าเป็นผู้หญิงสูงศักดิ์ประดับศีรษะด้วยลอมพอก มีกรอบพระพักตร์หรือมงกุฎ
-
ไว้ผมยาวประบ่า
สำหรับเครื่องนุ่งห่มผู้หญิงนั้น นุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุงยาวกรอมถึงข้อเท้า
ผ้านุ่งนั้นทอจากฝ้ายไหม ยกดอก
สีต่าง ๆ
เช่น สีดำ แดง ขาว เหลืองและเขียว ประเภทผ้าที่ใช้นั้นเป็นผ้าที่มีชื่อว่า
สุพรรณพัสตร์ ลิขิตพัสตร์ จินะพัสตร์ตะเลงพัสตร์ เทวตรี
ซึ่งยังไม่ทราบลักษณะเด่นของผ้าแต่ละชนิด
การนุ่งซิ่นนั้นตรงเอวหรือต่ำกว่าเอวลงมาจะคาดด้วยผ้าที่มีรอยจีบ
โดยห้อยปล่อยชายขมวยด้านหน้าลงมา
มีการใช้ทั้งเข็มขัดและใช้ผ้าคาดเอวผูกแบบเหน็บชายพกสตรีที่แต่งงานแล้วมักรัดผ้าพับรอบอก
ส่วนสตรีสูงศักดิ์นั้นสวมเสื้อรัดรูป
แขนทรงกระบอกและห่มผ้าสะไบเช่นเดียวกับสตรี่ยังไม่แต่งงานสำหรับผู้ชายสุโขทัยนั้น
ไว้ทรงผม หลายแบบ ดังนี้
-
ไว้ผมยาว มุ่นมวยไว้กลางศีรษะ มีปิ่นปักหรือผ้าพันหรือโพกผ้า
หรือประดับมงกุฎที่มีกรอบ พระพักตร์หรือยอดแหลมตามยศศักดิ์ของกษัตริย์
-
ทำผมแสกกลาง รวบผมไว้ตรงท้ายทอย มีห่วงหรือเกี้ยวคล้อง (เจ้านาย)
-
เกล้าผมเป็นห้าเกล้าอันทั้งห้าอันนั้น และไว้ปลายผมนั้น ห้อยลงไปข้างหลังทุกอัน
(จากไตรภูมิพระร่วงเป็นทรงผมของพระจักรพรรดิ)
-
ไว้ผมยาว แสกรวบไว้ที่ท้ายทอย มีห่วงกลมคล้องตรงที่รวบ (ผู้ชายสามัญชน)
-
ไว้ผมสั้นหรือเกล้าผมเป็นมวยเหนือศีรษะ มีผ้าโพกมวย (ผู้ชายสามัญชน)
-
เกล้ามวย ถ้าเป็นเชื้อสายตระกูลพราหมณ์ จะมีดอกไม้ทอง สนอบเกล้า จุฑาทอง ประวิตรทอง
ธุรำทองประดับ เมื่อทำพิธีมงคลจะแต่งผมโดยใช้ใยชุมแสง แซมซ้อง ผมทัดใบพฤกษาเวฬู
หากประกอบพิธีพิรุณศาสตร์จะสยายผมสำหรับอ่านโองการ (พราหมณ์)
-
เกล้าผม
ถ้าเป็นทหาร จะสวมหมวกทรงกลม ด้านหลังมีชายผ้าปิดต้นคอ เรียกหมวกทรงประพาส
หรือสวมหมวกชีโบ (กุบ)
-
ไว้ผมจุก มีปิ่นปักหรือผ้าพัน (เด็ก)
สำหรับเครื่องนุ่งห่มของผู้ชายนั้น สวมเสื้อและมีผ้าคล้องไหล่ สวมเสื้อแขนยาวผ่าอก
มีความในไตรภูมิพระร่วงว่า พญาองค์นั้น จึงเอาผ้าอันเนื้อละเอียด
อันชื่อว่าสุกุลพัสตร์ มาห่มและพาดเหนือจะงอยบ่า แล้วจึงสมาทานศีล 8 และว่า
พญาองค์นั้นจึงเอาผ้าเนื้อละเอียดนั้นมาพาดเหนือพระอังสาทั้งสอง
สอกราบไหว้ด้วยผ้าเล็กหลก ผ้าสำลี มีลาง พวกห่มผ้าชมพู ผ้าหนัง ผ้ากรอบ....
ผู้ชายชั้นสูงของเมืองสุโขทัย ใช้ผ้าขาวเนื้อละเอียด มาห่ม
พาดบ่าหรือพาดไหล่ทั้งสอง ในการสมาทานศีล และกราบไหว้ด้วยผ้าเล็กหลก เป็นต้น
ส่วนศีรษะนั้นมีผ้าโพกและผ้าทรง (ผ้านุ่ง) ซึ่งนิยมมอบด้วยของหอม (อบด้วยธูปกำยาน)
ก่อนนำมาใช้ สวมเสื้อแขนสั้นคอสี่เหลี่ยม (เสื้อยันต์) ส่วนผ้านุ่งนั้น
ทำจากผ้าหรือผ้าไหม
พระเจ้าแผ่นดินทรงผ้าโจงกระเบนทับสนับเพลา คาดผ้าจีบที่บั้นเอว
ที่ทิ้งชายเป็นจีบอยู่ ด้านหน้า แล้วคาดทับด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัดส่วนใหญ่
อีกแบบนั้น ทรงสวมสนับเพลาขายาว หรือขาสั้นเหนือเข่า มีผ้าคาดเอว
ดึงชายผ้ายาวเป็นจีบอยู่ด้านหน้า
ส่วนผ้าพาดไหล่นั้นนิยมพาดคล้องให้ชายผ้าไปด้านหลัง หรือพาดบ่าข้างเดียว
ผ้าห้อยนี้มีหลายสีผู้ชายสามัญชน หรือพราหมณ์นั้น นุ่งผ้าโจงกระเบนสั้นเหนือเข่า
มีผ้าคาดเอว
สำหรับเครื่องประดับ (เครื่องถนิมพิมพาภรณ์) ที่ใช้ตกแต่งนั้น
บุคคลชั้นสูงนิยมใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำ ถม เงิน และอัญมณี 7 สี
(แก้วมณีรัตน) มีปัทมราค ประพาสรัตน์ เป็นต้น ตกแต่ง ได้แก่ ศิราภรณ์ ตุ้มหู
แหวนสำหรับสตรีชั้นสูง นอกจากเครื่องตกแต่งแล้ว ยังมีทองปลายแขน และแหวนอีก
ศิราภรณ์ (เครื่องสวมศีรษะ) สร้างเป็นเทริดอย่างศิลปลวปุระ
แบ่งออกเป็นส่วนกระบังหน้าหรือกรอบพระพักตร์ ประดับด้วยลวดลาย
(ทำเป็นแนวไข่มุกประดับอัญมณี) ตามแนวโค้งที่ไปจบกันตรงกลางหน้าผาก
ซึ่งมีลายประจำยามประดับอัญมณี ส่วนขอบบนนั้น
ยกโค้งสูงขึ้นเป็นยอดตรงกลางเช่นเดียวกัน ส่วนด้านหลังเป็นกระบังปิดผมประดับลวดลาย
และด้านข้างโค้งตามแนวผมเว้นช่องพระกรรณไว้
และส่วนที่เป็นรัดเกล้าที่ใช้สวมมุ่นผมอยู่บนเทริดนี้ มี 3 แบบ คือ
รัดเกล้าทรงกระบอกยอดกลม รัดเกล้าทรงกระเปาะที่ซ้อนชั้น ตามลำดับ 5 ชั้น
ส่วนยอดเรียวสูง และรัดเกล้าทรงกระเปาะเป็นเฟืองสั้น ๆ ช้อน 5 ชั้น
กรองศอ
สร้างเป็นเครื่องสวมคอที่เป็นแผ่นโค้งตามช่วงไหล่เว้นช่องพระศอ
ไว้มีแผ่นด้านหน้าและด้านหลังประกบกัน มีลวดลายประดับอัญมณี
มีทั้งแบบแผ่นใหญ่และแบบแผ่นสามเหลี่ยม ตลอดจนเป็นป่วงคล้องคอ
กำไลข้อมือ
ทำด้วยทองและเงิน ทำเป็นแบบสวมได้หลายวงตุ้มหู สร้างเป็นรูปดอกไม้
หรือเม็ดกลมที่มีก้านเสียบเข้ากับติ่งหูที่เจาะเป็นรูไว้
ปั้นเหน่ง เป็นเข็มขัดที่สร้างขึ้นเป็นเส้นเรียบ ๆ
สำหรับรัดเอวทับชายผ้าโจงที่เหน็บเอวไว้ หรือทับผ้าคาดเอว
หัวเข็มขัดนี้นิยมทำเป็นรูปกลมหรือกลมรี
ส่วนการแต่งกายของเด็กนั้น นิยมไว้จุกปักด้วยปิ่นหรือพันผ้ารอบจุก
เด็กผู้ชายมีพริกเทศ ห้อยกับสายคาดเอว นุ่งกางเกงหรือโจงกระเบน
เด็กผู้หญิงมีจบปิ้งปิดอวัยวะเพศ เมื่อโตขึ้น จึงนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อคอกลม ห่มสไบ
เครื่องหอม ที่ใช้ในสมัยนี้มี กระแจะ จวงจันทร์ น้ำมันหอม ผัดหน้า
และลูบตัวด้วยแป้งสารภี ผู้หญิงนั้นมีการเขียนคิ้ว แต่งเล็บ
ไว้เล็บและลูบผมด้วยน้ำมันงา
|