ตำนานพระเจ้าอู่ทอง
ตำนานพระเจ้าอู่ทอง(2)
พระเจ้าเชียงรายก็ทรงพระโสมนัสตรัสว่า พระดาบสองค์นี้
ชะรอยจะเป็นสมเด็จอมรินทราทราธิราชแสร้งจำแลงพระกายมาบอกให้เป็นแท้
จึงให้ตั้งชมรมพำนัก ไพร่พลอยู่ในที่นั้น
แล้วให้สร้างพระนครพร้อมด้วยเชิงเทินป้อมด้ายค่ายคูประตู หอรบครบบริบูรณ์
แล้วสร้างพระราชนิเวศน์สถาน และบ้านเรือนแสนท้าว พระยาลาว
เหล่าอำมาตรย์ราษฎรทั้งปวง อาศัยอยู่ในเมืองนั้น สำเร็จแล้ว ให้นามเมืองว่า
เมืองไตรตรึงส์ เหตุสมเด็จท่านสหัสไนยมาชี้ให้
ก็เสด็จครองราชย์สมบัติอยู่ในพระนครนั้น ตราบเท่าทิวงคต และพระราชโอรสนันดา
ได้ครองสมบัติสืบพระวงศ์ ต่อกันมาถึงสี่ชั่วแผ่นดิน
ครั้งนั้นยังมีชายเข็ญใจคนหนึ่ง เป็นปมเป่าทั่วทั้งกาย
คนทั้งหลายร้องเรียกชื่อว่า นายแสนปม ๆ
นั้นทำไร่ปลูกพริกมะเขืออยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ ใต้เมืองไตรตรึงส์ ลงไปทางวันหนึ่ง
เก็บผลพริก มะเขือ ขายเลี้ยงชีวิต และมะเขือต้นหนึ่งอยู่ใกล้ห้างที่อาศัย
นายแสนปมไปถ่ายปัสสาวะลงที่ริมต้นนั้นเป็นนิตย์ มะเขือนั้นออกผล
ผลหนึ่งใหญ่กว่าผลมะเขือทั้งปวงเหตุซาบไปด้วยรสแห่งมูตรอันเจือด้วยสัมภวะราด
พอพระราชธิดา พระยาไตรตรึงส์ อยากเสวยผลมะเขือ
จึงใช้ให้สาวใช้ไปเที่ยวซื้อ ก็ได้ผลมะเขือใหญ่นั้นมาถวายเสวย นางก็ทรงพระครรภ์
ทราบถึง
พระราชบิดาตรัสไต่ถามก็ไม่ได้ความว่าคบหาสมัครสังวาสกับบุรุษผู้ใด
จนพระครรภ์แก่กำหนดทศมาสก็ประสูติพระราชกุมารบริบูรณ์ด้วยบุญธัญลักษณะ
พระญาติวงค์ทั้งหลายบำรุงเลี้ยงพระราชกุมาร
จนทรงพระจำเริญขึ้นพระชนม์ได้สามขวบ
สมเด็จพระอัยกาทรงมีพระราชดำริจะทอลองเสี่ยงทายแสวงหาบิดา พระคชกุมาร
จึงได้ตีกลองป่าวร้องแต่บรรดาชายชาวเมือง ให้เข้ามาประชุมในหน้าพระลานให้สิ้น
ให้ถือขนมและผลไม้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาจงถ้วนทุกคน แล้วจึงทรงพระสัตธิษฐานว่า
ถ้าบุรุษใดเป็นบิดาของกุมารนี้
ขอให้กุมารจงรับเอาสิ่งของในมือแห่งบุรุษผู้นั้นมาบริโภคให้เป็นประจักษ์เถิด
แล้วให้นางนมอุ้มพระราชกุมารออกไปสู่ที่ประชุมในพระลาน
ฝ่ายนานแสนปมนั้น ได้แต่ก้อนข้าวเย็นถือมาก้อนหนึ่ง
พระราชกุมารก็วิ่งเข้ากอดคำนายแสนปม แล้วรับเอาก้อนข้าวเย็นมาเสวย
คนทั้งปวงเห็นก็พิศวงชวนกันกล่าวติเตียนต่าง ๆ
พระเจ้าไตรตรึงส์ก็ละลายพระทัย
ได้ความอัปยศจึงประทานพระราชธิดากับทั้งพระนัดดานั้นให้แก่ นายแสนปม
แล้วให้ลงแพลอยไปจากเมือง
ครั้นแพลอยลงไปถึงที่ไร่มะเขือ
นายแสนปมก็พาบุตรภรรยาขึ้นอยู่บนห้างอันเป็นที่อาศัย
ด้วยบุยญานุภาพของคนทั้งสามก็บันดานร้อนถึงสมเด็จอมรินทราธิราช
จึงนฤมิตรพีระกายเป็นวานร ถือเอากลองทิพย์มาส่งให้แก่นายแสนปม
แล้วตรัสบอกว่าถ้าท่านจะปรารถนาสิ่งใด จงตีเภรีนี้อาจให้สำเร็จ
ความปรารถนาทุกประการ แล้ววานรก็หายไปในที่เฉพาะหน้า
นายแสนปมก็แจ้งว่าเทพยดานำเอากลองทิพย์มาให้มีความยินดีนัก
จึงตีกลองเข้าปรารถนาจะให้รูปงาม และปมเปาทั้งปวงนั้นก็หายสิ้น
รูปกายก็งามบริสุทธิ์ จึงนำเอากลองทิพย์นั้นมาสู่ที่สำนักแล้วบอกเหตุแก่ภรรยา
นางนั้นก็มีความโสมนัส จึงตีกลองนฤมิตรทองธรรมชาติให้ช่างทอง
ทำอู่ทองให้โอรสไสยาสน์ เหตุดังนั้นพระราชกุมารจึงได้นามปรากฏว่า เจ้าอู่ทอง
จำเดิมแต่นั้น
ลุศักราชได้ 681 ปีมะแมเอกศก จึงบิดาเข้าอู่ทอง
ราชกุมารก็ตีเภรีนฤมิตรเป็นพระนครขึ้นในที่นั้น
มีทั้งปราการเชิงเทินป้อมด้ายค่ายคูประตูหอรบครบบริบูรณ์ทุกสิ่ง
พร้อมทั้งพระราชวังบวรนิเวศสถาน จึงตั้งนามว่า
เมืองเทพนคร เหตุสำเร็จด้วยเทวานุภาพ
ครั้งนั้น ประชาชนทั้งหลาย
ชักชวนกันมาอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครนั้นเป็นอันมาก
เมืองนั้นก็มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยอาณาประชาราษฎร์
และบิดาเจ้าอู่ทองก็ได้ครองราชย์สมบัติในเมืองเทพนครนั้น
ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน บันลือพระเกียรติยศปรากฏในสยามประเทศนี้
ลุศักราช 706 ปีวอกศก สมเด็จพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนผู้กอปรด้วย
พระราชกฤษฎาบุญญานุภาพเป็นมหัศจรรย์
เสด็จเถลิงถวัลยราชครอบครองไพร่ฟ้าประชาชนได้ยี่สิบห้าพรรษา ก็เสด็จสวรรคตในปีวอก
ฉศกนั้น
ครั้นทิวงคตแล้วกอลทิพย์ก็อันตรธานหาย จึงพระเจ้าอู่ทอง ราชโอรส
ก็เสด็จเถลิงถวัลยราชนมไหศวรรย์แทนสมเด็จพระบรมราชบิดา
จึงให้กระทำการฌาปนกิจถวายพระเพลิงพระบรมศพ เสร็จแล้ว พระองค์ดำรงราชอาณาจักรอยู่ ณ
เมืองเทพนคร นั้นได้หกพรรษา พระราชหฤทัยประสงค์จะสร้างพระนครใหม่
จึงดำรัสใช้ขุนตำรวจให้ไปเที่ยวแสวงหาภูมิประเทศที่อันมีพรรณมัจฉาชาติ ครบบริบูรณ์
จึงกลับขึ้นไปกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ
สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ก็เสด็จกรีธาพลากรโยธา
ประชาราษฎร์ทั้งปวงลงมายังประเทศที่นั้น ได้ตั้งพระตำหนักที่ประทับพลับพลาชัย ณ
ตำบลเวียงเหล็ก ให้จัดการทุบปราบทีอันจะตั้งเมือง
การทำอิฐเผาปูนซึ่งก่อกำแพงพระนครนั้น และให้ขนานนามพระนครอันจะสร้างใหม่
เอานามพระนครเดิมเป็นนามต้นว่า กรุงเทพมหานครนามหนึ่งชื่อ บวรทวาราวดี
เหตุมีน้ำล้อมรอบดุจเมืองทวาราวดี แต่ก่อน นามหนึ่งชื่อศรีอยุธยา
เหตุเอานามเมืองสมเด็จพระรามนารายณ์อวตารมาประกอบเข้าทั้งสามนามประมวญเข้าด้วยกัน
จึงเรียกชื่อ กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุธยามหาดิลกนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์
อุดมคตาชนิเวศมหาสถาน
ลุศักราช 712 ปีขาลโทศก วันศุกร์ เดือนห้าขึ้นหกค่ำ เพลาสามนาฬิกา
เก้าบาท สถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา
ได้สังขทักษิณาวรรตใต้ต้นหมันสังข์หนึ่งแล้วสร้างพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง
พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท องค์หนึ่ง พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง
แล้วพระเจ้าอู่ทองเสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ
พระชนม์ได้สามสิบเจ็ดพรรษา ถวายพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีแล้วโปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว
ซึ่งเป็นพี่พระมเหสี ตรัสเรียกว่า พระเชษฐา เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า
ไปครองเมืองสุพรรณบุรี แล้วให้พระราเมศวร ราชโอรสไปครองเมืองลพบุรี
ดังนั้น เรื่องเล่า... ท้าวแสนปมที่มีบุตรเป็น พระเจ้าอู่ทอง
ดังกล่าว จึงปรากฏความอยู่ในพระราชพงศาวดารสังเขป ฉบับสมเด็จสมณเจ้าฯ
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เท่านั้น
เรื่อง พระเจ้าอู่ทอง นั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้สรุปไว้ว่า
พระเจ้าอู่ทอง เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน
ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสี ครองราชย์สมบัติอยู่ 6 ปี
เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร
จึงย้ายมาตั้งราชธานีที่เมืองศรีอยุธยา (จากพระราชนิพนธ์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในหนังสือไจนีส เรโปสิตตอรี
ที่เมืองกิ่งตั๋ง เมื่อ พ.ศ.2394)
ดังนั้น เรื่องของ พระเจ้าอู่ทอง
เมื่อสอบความทั้งที่เล่าไว้ในตำนานหรือพงศาวดารโยนก กับพระราชพงศาวดารสังเขปแล้ว
จับความตามเรื่องเดิมได้ว่า
เมื่อประมาณ จุลศักราช 550 (พ.ศ.1731)
นั้นขอมได้ขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนภาคเหนือ
พระเจ้าไชยศิริผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าพรหม
นั้นได้ยกทัพลงมาทำการปราบปรามขอมได้สำเร็จ
จึงทำให้พระเจ้าไชยศิริมีอำนาจครองดินแดนภาคเหนือ (มณฑลพายัพ ของแหลมสุวรรณภูมิ)
ลงไปจนถึงเมืองเชลียง พระเจ้าไชยศิริพระองค์นี้ครองเมืองชัยปราการ คือ เมืองฝาง
(พงศาวดารโยนก ในพงศาวดาร ย่อว่า เมืองเชียงราย) ต่อมามอญจากรามัญประเทศ (เมืองสตอง
พระราชพงศาวดารย่อ) ได้ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองที่พระเจ้าไชยศิริ ครองอยู่
พระเจ้าไชยศิรินั้นพ่ายแพ้เสียเมืองสู้ไม่ได้ จึงพาไพร่พลและครอบครัวชาวเมือง
อพยพหนีข้าศึกลงมาทางตอนใต้ เมืองชัยปราการนั้นได้ถูกเผาจนเป็นเมืองร้าง
(ภายหลังพญาเม็งราย
กษัตริย์ปกครองแคว้นโยนกอยู่ที่เมืองเงินยางหรือเมืองโยนกเก่าได้มาสร้างเมืองชัยปราการแห่งนี้ขึ้นใหม่
เพื่อเป็นราชธานี แล้วตั้งชื่อว่า เมืองเชียงราย)
|