ตำนานพระเจ้าอู่ทอง
ตำนานพระเจ้าอู่ทอง(3)
พระเจ้าไชยศิริ นั้นได้อพยพมาพบ เมืองแปบ ถูกทิ้งร้างอยู่
(ตั้งอยู่ตรงกันข้ามเมืองกำแพงเพชร) จึงให้ไพร่พลตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง
โดยเอาเมืองแปบเป็นราชธานี ตั้งชื่อว่า เมืองไตรตรึงส์
พระเจ้าไชยสิริครองเมืองไตรตรึงส์อยู่จนทิวงคต
ได้มีเชื้อสายครองราชย์สมบัติสืบต่อมา อีก 4 ชั่วคน ล่วงเวลามาได้ 260 ปี จึงได้มี
พระเจ้าอู่ทองขึ้น(ตำนานโยนก)
ต่อมาพระธิดา ของเจ้าเมืองแปบ นั้นเกิดประสูติกุมารคนหนึ่ง
ไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นบิดา จึงเป็นเหตุให้มีการ
สืบสวนโดยวิธีเสี่ยงทาย และได้ความว่า บิดานั้นไม่ได้เป็นราชตระกูล เป็นคนทุคตะ
(ชื่อ นายแสนปม) เจ้าเมืองแปบ นั้นมีความละลาย ที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
เจ้าเมืองแปบ จึงทำการขับไล่พระธิดาและกุมารออกไป จากเมือง
ให้ไปอยู่กับชายผู้เป็นบิดา ต่อมาชายผู้นั้นได้ไปสร้างเมืองเทพนครขึ้น
และได้ครองเมืองเป็นเจ้าเมืองเทพนครเมื่อปีมะแมจุลศักราช 681 (พ.ศ.1862)
มีพระนามว่า พระเจ้าศิริไชย เชียงแสน
ส่วนกุมานนั้นด้วยเหตุที่พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน
ได้สร้างแปลนอนด้วยทองคำ จึงมีนามว่า อู่ทอง
พระเจ้าชัยศิริเชียงแสนนี้ครองเมืองเทพนครอยู่ 25 ปี จึงเสด็จทิวงคต ในปีวอก
จุลศักราช 706 (พงศ.1887) พระเจ้าอู่ทองจึงครองเมืองเทพนครต่อมา (พงศาวดารสังเขป)
นอกจากนี้ ได้มีความเล่าต่อไปอีก (จากพงศาวดารเหนือ) ว่า
เมื่อพระยาแกรกทิวงคต ลงนั้น เชื้อพระวงศ์ได้ครองเมืองสืบต่อมาถึง 3 ชั่วอายุคน
ก็ปรากฏว่ามีแต่ พระธิดาที่จะสืบพระวงศ์ ด้วยเหตุนี้ โชฎึกเศรษฐีอภิเษก
กับพระธิดาให้ครองเมือง (ไม่ปรากฏชื่อเมือง) ครองเมืองอยู่ได้ 6 ปี
เกิดโรคห่าลงเมือง พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพมาสร้างกรุงศรีอยุธยาที่หนองโสน
ครั้งนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายความเห็น (เมื่อ
พ.ศ.2446) ว่าที่เมืองสุพรรณบุรีนั้น มีชื่อเมืองอู่ทอง
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน
ประกอบกับชื่อเมืองสุพรรณภูมิหรือสุวรรณภูมินั้นมีความหมาย เมืองอู่ทอง
จึงได้สรุปว่า เจ้าอู่ทองนั้นได้อภิเษกกับพระธิดาเมืองสุพรรณบุรี
และได้ครองเมืองอู่ทองนั้น
เมืองอู่ทองนั้นเป็นเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรทวาราวดี
ซึ่งมีคำอธิบายความเห็นไว้ว่าพระเจ้าไชยศิริ นั้น น่าจะตั้งหรือเป็นชื่อของ
เจ้าเมือง ที่ครองเมืองนครปฐมโบราณคือ เมืองศิริไชย ดังนั้นต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทอง
จึงน่าจะอยู่ที่เมืองศิริชัย (นครปฐมโบราณ) ดังนั้น การที่ พระเจ้าไชยศิริ
ได้เดินทางไปพบเมืองร้างและตั้งเมืองเป็นราชธานีขึ้นในภายหลัง ก็ดูสมควรที่ปรากฏว่า
เมืองนครปฐมโบราฯนได้ถูกทิ้งร้างมาเกือบ
100 ปี
ตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าอนุรุธ ลงมาตีและกวาดต้อนเอาผู้คนไป ดังนั้น
การที่พระเจ้าอู่ทองได้เป็นราชบุตรเขยกับเมืองอู่ทอง
จึงน่าจะเป็นไปได้ในเรื่องระยะทาง หากเป็นเมืองแปบหรือเมืองเทพนคร
แล้วต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า กล่าวคือ ระยะเวลานั้น พระเจ้าไชยศิริ อพยพลงมาเมื่อ
พ.ศ. 1731 และสร้างเมืองครองเมืองสืบเชื้อสายต่อกันมา 160 ปี จึงเกิดพระเจ้าอู่ทอง
ขึ้นนั้น เป็นระยะที่อาณาจักรสุโขทัยได้เกิดขึ้นแล้ว และมีพ่อขุนครองเมืองถึง 4
องค์ โดยมีการสร้างเมืองนครปุ (นครชุม) ขึ้นที่เมืองกำแพงเพชร
ให้เป็นราชธานีทางฝ่ายตะวันตกของแม่น้ำพิง
ดังนั้น การที่พระเจ้าไชยศิริสร้างเมืองเทพนครขึ้นแล้ว
ครองเมืองซ้อนกันกับอำนาจทางเมืองสุโขทัยนั้น จึงทำให้เชื่อในเบื้องต้นว่า
พระเจ้าอู่ทองน่าจะมีต้นวงศ์อยู่ที่เมืองศิริชัย (เมืองนครปฐมโบราณ มากกว่า)
เมื่อพระเจ้าอู่ทอง สร้างกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ.1893 นั้น
จึงทำให้ดินแดนแถบสุวรรณภูมิ (ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) แห่งนี้
มีอาณาจักรที่เป็นประเทศใหญ่เกิดขึ้น 2 แห่งคือ อาณาจักรสุโขทัย (สยามประเทศ)
มีเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี และอาณาจักรหริภุญชัย (ล้านนาไทย)
มีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี ครั้นเมื่ออาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง
(ในแผ่นดินพระยาเลอไทย) จึงทำให้หัวเมืองต่าง ๆ
ที่เคยเป็นประเทศราชขึ้นกับอาณาจักรสุโขทัยได้พากันตั้งตัวเป็นอิสระ
ด้วยเหตุที่พระเจ้าอู่ทอง
นั้นมีความสามารถและมีกำลังไพร่พลอยู่แล้ว จึงถือโอกาสตั้งตนเป็นอิสระขึ้นดังกล่าว
ประกอบระยะนั้นมีความระแวงว่า มอญเมืองรามัญประเทศ (ขึ้นกับเมืองสุโขทัย)
จะตั้งตนเป็นอิสระเช่นเดียวกัน แล้วจะหาเหตุเข้ามาครองดินแดนแถบนี้ไว้เป็นอาณาเขต
จึงทำให้พระเจ้าอู่ทอง คิดจะรวบรวม หัวเมืองทางใต้ขึ้นเสียก่อน
หากได้โอกาสก็จะตั้งเป็นอาณาจักรของตนเองต่อไป
ประกอบกับเวลานั้นแม่น้ำจระเข้สามพันเกิดตื้นเขินสายน้ำเปลี่ยนทางเดิน
ทำให้เมืองอู่ทองเกิดกันดารน้ำ เป็นเหตุให้ผู้คนเจ็บป่วยและเกิดโรคห่าระบาด
ทำให้พระเจ้าอู่ทองทิ้งเมืองพาไพร่พลอพยพมาสร้างเมืองเล็ก ๆ
ขึ้นที่บริเวณเวียงเหล็ก (วัดพุทไธสวรรย์) เมื่อปีกุนจุลศักราช 708 (พ.ศ.1890)
พออยู่มาได้ 3 ปี ก็เห็นว่ามีโอกาสที่ตั้งเมืองให้เป็นอิสระปกครองตนเองได้แล้ว
จึงได้สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นที่บริเวณหนองโสน (บึงพระราม)
แล้วสร้างพระราชวังหลวงและทำพิธี
ราชาภิเษก ขึ้นครองเมืองใหม่แห่งนี้ นั่นคือ พระเจ้าอู่ทอง
ผู้ที่ได้สถาปนาอณาจักรกรุงศรีอยุธยาขึ้น เมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช 712(พ.ศ.1893)
คำอธิบายดังกล่าวนี้ เป็นเหตุที่ทำให้เรื่องราวของพระเจ้าอู่ทอง
ทิ้งเมืองอู่ทองหนีโรคห่า ระบาด ไปสร้างกรุงศรีอยุธยา ได้รับรู้กันแพร่หลาย
เช่นเดียวกับเรื่อง ท้าวแสนปม จากเมืองเทพนคร (เมืองแปบ)
ที่สร้างเมืองขึ้นและมีบุตรเป็น พระเจ้าอู่ทอง
ในการสำรวจเมืองอู่ทองนั้น ศาสตราจารย์ซ็อง บัวเซอลีเยร์
ได้มีความเห็นว่า เมืองอู่ทอง นั้นได้สร้างไปแล้ว 300 ปี ก่อนหน้าการอพยพ
ของพระเจ้าอู่ทอง สรุปว่า เมืองอู่ทองนั้นเป็นเมืองร้างก่อนที่พระเจ้าอู่ทองเกิด
และมีการสันนิษฐานให้มาครองเมืองนี้นั้นเป็นไปตามความเห็นเก่า ดังนั้น
จึงมีคำถามว่า พระเจ้าอู่ทองนั้นแท้จริงมาจากที่แห่งหนตำบลใด
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ.2182 นั้น
มีเรื่องราวของพระเจ้าอู่ทอง เล่าเรื่องไว้เป็นนิทานไว้อีกว่าเมื่อเวลานานกว่า 300
ปีมาแล้วนั้น มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ปกครองแคว้นต่าง ๆ ในเมืองจีน
พระองค์มีโอรสองค์หนึ่ง มีพระนามว่า เจ้าอู่ทอง (TJAEU
OU-E)
ออกเสียงคล้าย เจ้าอูย) เจ้าชายองค์นี้มักมากในกาม (ตัณหาจัด)
ได้เข้าไปทำการข่มเหงบรรดาภรรยาขุนนางจีนคนสำคัญ
หญิงใดที่ไม่ยอมตัวให้ข่มเหงก็จะถูกฆ่าตายอย่างลึกลับ ขุนนางเหล่านั้น
จึงพากันเข้าร้องเรียนต่อพระเจ้าแผ่นดิน
ถึงความประพฤติตนของเจ้าชายที่ไม่ถูกต้องตามทำนองครองธรรม
และขู่ว่าจะทำการถอดถอนพระเจ้าแผ่นดินออกจากราชบัลลังก์เสีย
หากพระองค์นั้นปฏิเสธที่จะไม่ปลงพระชนม์ชีพพระโอรสองค์นี้เสีย
พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมและตั้งใจที่จะปลงพระชนม์ชีพพระโอรสตามร้องเรียน
แต่พระราชินี ทรงคัดค้านและเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดนั้น
ให้พระโอรสองค์นี้ออกไปนอกประเทศเสียพระเจ้าแผ่นดินจึงยินยอมและได้แจ้งความเห็นนี้แก่บรรดาขุนนางผู้เดือดร้อน
ขุนนางนั้นพอใจและยอมเห็นตามพระเจ้าแผ่นดิน
|