ตำนานพระเจ้าอู่ทอง
ตำนานพระเจ้าอู่ทอง(10)
ปฐมบรมกษัตริย์ของชาวสยามนั้น ทรงพระนามว่า พระปฐมสุริยเทพนรไทยสุวรรณบพิตร (PRA
POATHONE SOURITTEP PENNARATUI SONANNE BOPITRA)
พระมหานครแห่งแรก ที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นชื่อว่า ไชยบุรีมหานคร
(TCHAI PAPPE MAHANACON)
ซึ่งข้าพเจ้าไม่แจ้งว่าตั้งอยู่ที่ไหน เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงราชย์นั้น
พระพุทธศาสนายุกาลล่วงแล้ว 1300 พรรษา นับตามศักราชสยามและมีพระมหากษัตริย์
สืบสันติวงศ์ต่อมาอีก 10 ชั่วกษัตริย์ องค์สุดท้ายทรงพระนามว่า
พญาสุนทรเทศมหาเทพราช (POLA
SANNE THORA THESMA TEPERAT)
ย้ายพระนครหลวงมาตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองราตุนนครหลวง (TASOO
NACORA LOUANG)
จะอยู่ยังแห่งหนตำบลใด ข้าพเจ้าก็ไม่แจ้งอีกเหมือนกัน ใน ปี พ.ศ.1731
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 สืบต่อจากพระองค์นี้ ซึ่งทรงพระนามว่า พระพนมไชยศิริ (PRA
POA MOOME THELE SERI)
ทรงให้อาณาประชาราษฎร์ ของพระองค์อพยพตามไปยังเมืองนครไทย
(LOCONTAI)
ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอันไหลมาจากภูเขาแดนลาว ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ (เจ้าพระยา)
ตอนเหนือเมืองพิษณุโลก ขึ้นไปเล็กน้อย แต่นั้นไปยังเมืองนครไทยไกลกัน 40 ถึง 50 ลี้
แต่พระมหากษัตริย์ พระองค์นี้มิได้ประทับอยู่ ณ เมืองนครไทยตลอดมา
หากได้เสด็จไปสร้างและประทับอยู่ ณ เมือง พิบพลี (PIPELI)
บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง ซึ่งปากน้ำนั้นอยู่ห่างราว 2 ลี้ ข้างทิศตะวันตกของปากน้ำ
(เจ้าพระยา) มีพระมหากษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อมาอีก 4 ชั่วกษัตริย์
พระองค์สุดท้ายซึ่งทรงพระนามว่า รามาธิบดี (RHAMATILOANDI)
ได้ทรงสร้างเมืองสยามนี้ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.1894
และเสด็จขึ้นดำรงสิริราชมไหสวรรย์สมบัติ ณ ที่นั้น
ตามเนื้อความนี้ย่อมประจักษ์ว่าเมืองสยามมีความเก่าแก่มาถึง 338 ปีแล้ว
พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันนี้นับเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 25 เรียงแต่
พระรามาธิบดี เป็นต้นมา
แต่ในปี
พ.ศ.1689 นี้ ทรงมีพระชนมายุได้ 56 หรือ 57 พรรษาแล้ว
เมื่อเช่นนี้ก็รวมมีพระมหากษัตริย์สยาม 52 พระองค์ ในชั่วระยะ 934 ปี
โดยมิใช่พระราชวงศ์เดียว กันมาโดยตลอดสาย
ดังนั้น
เมื่อสอบกับความเล่าในพระราชพงศาวดารสังเขป พระนิพนธ์ของ
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส แล้วเรื่องของพระเจ้าอู่ทอง
จึงมีความเล่าที่น่าจะต่อเนื่องกันได้ ดังนี้
พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน
ได้พาครอบครัวย้ายหนีการรุกรานมาจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิงและแม่น้ำโขง
ในบริเวณพื้นที่เชียงราย และเชียงแสน (เมืองไชยบุรี เมืองเชียงแสน)
เส้นทางที่พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน อพยพลงมานั้น ลงมาตามเส้นทางที่พระเจ้าพรหมขับไล่
ขอมดำ จนล่วงเข้ามาในเขตของเมืองลวะรัฐ คือ กัมโพชนคร (คือทุ่งยั้ง ในอุตรดิตถ์)
ซึ่งอยู่บริเวณที่ลุ่มแม่น้ำน่าน (อยู่บริเวณอุตรดิตถ์)
ต่อจากนั้น
ได้อพยพข้ามลำน้ำโพ (เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน อยู่ใกล้ทุ่งยั้ง)
ไปทางด้านตะวันตกสู่ลำน้ำปิงมาถึงเมืองแปบ (เมืองไตรตรึงส์-กำแพงเพชร) ดังนั้น
บริเวณลุ่มแม่น้ำยมและลุ่มแม่น้ำน่าน
จึงมีความสำคัญด้วยเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อค้าขาย ที่มีความสัมพันธ์กัน
ซึ่งมีความปรากฏในจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม) กล่าวถึง
แคว้นสุโขทัยศรีสัชนาลัยของพ่อขุนศรีนาวนำถุม
นั้นเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในแว่นแคว้นต่าง ๆ ทุกทิศทุกทาง
โดยเฉพาะด้านทิศเหนือนั้น ว่าเบื้องพายัพเถิงเชียงแสนพยาว ลาว ทำให้มองเห็นว่า
แคว้นสุโขทัยนั้นมีความสัมพันธ์ที่สามารถติดต่อไปถึงเมืองเชียงแสน เมืองพะเยา
และดินแดนลาว คือบริเวณของลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำโขง
พระเจ้าศิริชัยเชียงแสนนั้น ได้สร้างเมืองไตรตรึง (เมืองกำแพงเพชร)
ซึ่งมีตำนานท้าวแสนปม และมีกษัตริย์ครองเมืองนี้สืบต่อมา 4 รัชกาล จนถึง
พระเจ้าอู่ทอง (พระรามาธิบดี) ผู้ที่ลงไปครองเมืองพริบพรี (เมืองเพชรบุรี)
แล้วได้ขึ้นมาสร้าง กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยาที่ตำบลหนองโสน คือ
กรุงศรีอยุธยา
จากข้อความในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น
สามารถสรุปสาระทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นเบื้องต้น จากเรื่องราวดังกล่าวไว้ว่า
เมื่อประมาณ
พุทธศักราช 1300 นั้น พระเจ้าสุริยเทพบรมนรไทยสุวรรณบพิตร
ได้ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกัตริย์ราชวงศ์เชียงแสน ที่เมืองไชยบุรีมหานคร
(แคว้นหรือเมืองเชียงแสน) และทรงมีกษัตริย์สืบสันตติวงศ์มา 10 รัชกาล จนถึง
พ.ศ.1730 พระพนมศิริไชย กษัตริย์องค์ที่ 12 จึงได้อพยพลงมาสร้างเมืองนครไทย
(ละครไทย หรือนครชุม) เมืองกำแพงเพชร
ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาแดนลาวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ตั้งอยู่เหนือเมืองพิษณุโลก ไปเล็กน้อยห่างประมาณ 40 50 ลี้
บางแห่งว่าละคร-เมืองนครศรีธรรมราช)
พระพนมศิริไชยนั้นไม่ได้ประทับที่เมืองนครไทยตลอดมา
พระองค์ทรงโปรดให้สร้างเมืองพริบพรี(เมืองเพชรบุรี) ที่บนฝั่งแม่น้ำ (เพชรบุรี)
ซึ่งอยู่ห่างจากปากน้ำ ประมาณ 2 ลี้ คือ อยู่ฝั่งด้านตะวันของปากน้ำเพชรบุรีไม่ใช่
แม่น้ำเจ้าพระยา) และพระองค์ทรงโปรดที่จะประทับที่เมืองพริบพรี แห่งนี้ตลอดมา
เมืองนครไทยนั้น
มีกษัตริย์ครองเมืองสืบมา 4 รัชกาล จนถึง กษัตริย์องค์สุดท้ายคือ
พระเจ้าอู่ทอง(พระรามาธิบดี) รัชกาลนี้พระองค์ได้เสด็จมาสร้าง เมืองสยามคือ
กรุงศรีอยุธยา ขึ้น ในพ.ศ.1894 ดังนั้น การที่มีความเล่าว่า พระเจ้าอู่ทอง
ลงมาครองเมืองพริบพรี
ด้วยก็ดูเข้าเรื่องทำนองที่เมืองเพชรบุรีนั้นน่าจะเป็นเมืองลูกหลวง
และให้พระยุพราชลงมาครองเมืองนี้ก่อน
ทำให้เรื่องราวของท้าวอู่ทองนั้นมีความว่ามาจากเมืองเพชรบุรีหรือทางทะเล
สรุปแล้ว ตั้งแต่
พ.ศ.1300 1894 อาณาจักรสยามมีกษัตริย์ราชวงศ์เชียงแสนครองเมืองมาตั้งแต่
เมืองเชียงแสน เมืองโยนกนครหลวง และเมืองนครไทย (เมืองกำแพงเพชร)
ได้มีกษัตริย์สืบสันติวงศ์มา 52 พระองค์ ในระยะเวลา 934 ปี
ดังนั้น
เรื่องพระเจ้าอู่ทอง จึงมีทั้งเรื่องราวที่เล่าว่า ท้าวอู่ทองนั้นมาจากทางเหนือ
(ทางบก) และมาจากทางใต้ (ทางทะเล) หากนำเรื่องราวจากตำนานท้าวแสนปม
มาเกี่ยวพันกันด้วยแล้ว ก็จะได้ความพิสดารต่อไปอีกว่า พ.ศ. 1862
นายแสนปมได้สร้างเมืองเทพนคร (เมืองอโยธยา) และได้ครองเมืองนี้มีพระนามว่า
พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนมีพระโอรสที่ได้นอนเปลทอง ทำให้มีนามว่า อู่ทอง
ต่อมา อู่ทอง
ได้อภิเษกกับพระธิดา เมืองสุพรรณภูมิ (เมืองสุพรรณบุรี)
และครองเมืองหนึ่งมีพระนามว่าพระเจ้าอู่ทอง ภายหลังเมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ลง
อู่ทอง ก็กลับมาครองเมืองอโยธยา
เมืองอโยธยา
นี้เป็นเมืองท่าของแคว้นลวะรัฐหรือกัมโพชนคร ซึ่งมีเมืองละโว้ (เมืองลพบุรีเดิม)
เป็นศูนย์กลางปกครอง
ดังนั้น การที่พระเจ้าอู่ทอง พาไพร่พลอพยพมาตั้งอยู่ตำบลเวียงเหล็ก
(ตำบลในเขตเมืองอโยธยา) นั้น หลังจากที่ได้เข้าไป (ครอง) อยู่ที่เมืองอโยธยา 6
ปีแล้ว ครั้งนั้นพระเจ้าอู่ทอง ได้ตั้งพระตำหนักอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็กถึง 3 ปี
ต่อมาพระเจ้าอู่ทองได้ยกไพร่พลข้ามฝั่งแม่น้ำเข้าไปสร้างพระนครใหม่ ที่ตำบลหนองโสน
จึงมีข้อศึกษาว่าพระเจ้าอู่ทองนั้นกลับมาเมืองอโยธยาทำไม และเหตุใด
ทำให้พระองค์ต้องมาตั้งพระตำหนักอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็ก
ดังนั้น ข้อสันนิษฐานที่เป็นแนวทางศึกษาเบื้องต้น
หากสรุปสาระจากเรื่องราวดังกล่าวพอสรุปความว่า
พระเจ้าอู่ทองนั้น เป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน
สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ไชยปราการเชียงแสน และเป็นผู้สร้างเมืองศรีรามเทพนคร
(เมืองอโยธยา) การที่พระเจ้าอู่ทอง มีนามว่า อู่ทอง นั้นเรียกขึ้นเนื่องจากมีเปล
(อู่) ที่ทำด้วยทองหรือสีทองนอนตอนเยาว์วัย
หรือเป็นนามที่ตั้งภายหลังเพราะครองเมืองอู่ทอง (แคว้นสุพรรณภูมิ)
เพราะพระเจ้าอู่ทองได้แต่งงานกับพระธิดา ของเจ้าครองเมืองสุพรรณภูมิ
และได้ครองเมืองศรีวิชัย (นครปฐมโบราณ) เมืองหนึ่งของแคว้นสุวรรณภูมิ
ต่อมาพระเจ้าศิริเชียงแสน พระบิดาสิ้นพระชนม์
พระเจ้าอู่ทองจึงกลับมายังครองเมืองอโยธยาต่อ หรือเมืองศรีวิชัยนั้นเกิดร้างผู้คน
ด้วยเกิดเหตุกันดารน้ำหรือเกิดโรคระบาด พระเจ้าอู่ทองนั้นครองเมืองอโยธยาอยู่
6 ปี
เมื่อจัดการบ้านเมืองแล้ว จึงอพยพมาอาศัยพื้นที่ตำบล เวียงเหล็ก
โดยเมืองอโยธยานั้นให้เจ้าแก้ว เจ้าไทย ดูแลเมือง
และการที่พระเจ้าอู่ทองตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็กนั้น
เนื่องจากเห็นว่าเป็นทำเลที่สามารถใช้เส้นทางน้ำติดต่อกับเมืองต่าง ๆ ได้สะดวกกว่า
ครั้นเมื่อเห็นว่าอำนาจขอมในเมืองละโว้เสื่อมอำนาจลงหรือ
มีช่องทางสร้างเมืองได้อย่างอิสระ จึงยกพลไปสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลหนองโสน คือ
กรุงศรีอยุธยา
หากเป็นเช่นนี้ เมืองอู่ทอง (ที่จ.สุพรรณบุรี)
เมืองโบราณสมัยทวาราวดีนั้น ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันกับพระเจ้าอู่ทอง
ตามข้อสันนิษฐานไว้เดิม เนื่องจากไม่มีร่องรอยที่จะกันดารน้ำ หรือเกิดโรคห่าระเบิด
หากแต่ยังมีร่องรอยผู้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่เช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่น ๆ
ที่พบว่ามีชั้นดินที่มีชุมชนอาศัยอยู่ในสมัยหลัง ๆ อยู่ด้วย
ประการสำคัญ คือ ชื่อ ท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทอง นั้น
น่าจะเป็นนามนิยมสำหรับกษัตริย์ครองเมืองสุพรรณภูมิ เช่นเดียวกับชื่อพระร่วง
น่าเชื่อว่าจะมีชื่อ พระเจ้าอู่ทอง หลายองค์เช่นเดียวกันกันชื่อ พระร่วง
เป็นนามของพ่อขุนที่ครองเมืองสุโขทัย
|