เหตุการณ์กบฏแขกมักกะสัน
เหตุการณ์กบฏแขกมักกะสัน
วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2229 พวกแขกมาการ์ชาร์ หรือมักกะสัน
ได้ทำการก่อการกบฏขึ้นในกรุงศรีอยุธยา พวกมักกะสันนี้เป็นพวกอินโดนีเซีย
นับถืออิสลาม มาจากเกาะมากาสการ์ หรือมะกัสซาร์ หรือสุลาเวสี หรือ อูจุงปันดัง
ชื่ออยู่ใน หมู่เกาะโมลลุซ (Molluques)
ตอนใต้เกาะเซเลเบส
พวกมักกะสันนี้มีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว กล้าหาญ
ชอบเสพย์กัญชายาฝิ่น มีความดุร้ายไม่กลัวตาย มีหอกซัด
และไม้ซางเป่าลูกดอกทำก้างปลาอาบยาพิษเป็นอาวุธ ผู้ที่ถูกยิงด้วยลูกดอกอาบยาพิษ
จะตายใน สามชั่วโมง มีกริชอาบยาพิษ
ซึ่งถือกันว่าถ้าชักกริชออกจากฝักแล้วไม่แทงใครถือเป็นคนขลาด
มีความเชื่อว่าคนที่ถูกเขาฆ่าให้ตายจะไปเป็นทาสรับใช้เขาในโลกหน้า
และการไม่ยอมแพ้เป็นเกียรติยศที่ล้ำเลิศ
พวกมักกะสันตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดปมู่บ้านมลายูที่มาอยู่ก่อนหน้าแล้ว
และใกล้หมู่บ้านโปรตุเกส ฝั่งตะวันตกของคลองตะเคียน
ส่วนหนึ่งรับราชการเป็นทหารรักษาพระองค์
วันหนึ่งเจ้าชายมักกะสัน ชื่อ เจ้าดาย (Dai)
ซึ่งหนีการยึดครองของพวกฮอลันดาจากเซเลเบส มาอยู่เมืองไทยกับพวก 300 คน
ได้คบคิดกับพวกเขมรและพวกแขกจามเตรียมกบฏ โดยจะสังหารสมเด็จพระนารายณ์
ขณะนั้นอยู่ที่ลพบุรี แล้วจะยกพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน
เพื่อลดอำนาจของพวกคริสต์
รวมทั้งจะสังหารชาวญี่ปุ่นและโปรตุเกสที่นับถือคริสต์ให้หมดสิ้นด้วย
แต่พวกมักกะสันทำการไม่สำเร็จเพราะพวกแขกจามคนหนึ่งซึ่งเป็นพวกผู้ก่อการ
ส่งหนังสือไปถึงพี่ชายที่กรุงละโว้ให้หนีมาสมทบ แต่พี่ชายไม่เล่นด้วย
กลับนำหนังสือดังกล่าวไปให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก่อนเวลาที่พวกมักกาสันจะลงมือเพียง
2 ชั่วโมง ฝ่ายสยามจึงสามารถระดมกำลังป้องกันได้สำเร็จ พวกมาการ์ซาร์ 53 คน
ต้องลงเรือสำเภาหนีจากอยุธยาไปทางบางกอก แต่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ส่งม้าเร็วไปสั่งฟอร์แบง
(ออกพระศักดิ์สงคราม)
ซึ่งเป็นทหารฝรั่งเศสที่รักษาป้อมบางกอกให้เอาโซ่ขึงแม่น้ำป้องกันมิให้สำเภาแขกหนีไปได้
พวกเขาจึงหยุดเรือขึ้นไปที่ป้อมขอทางให้เรือผ่านไปไม่สำเร็จ
ในขณะที่ทหารของฟอร์แบงจะใช้กำลังเข้ายึดกริชของพวกมักกะสันนั้น
พวกแขกมักกะสันเห็นจวนตัวจึงโยนหมวกลงกับพื้นแก้ผ้ารัดพุงออกพันแขนทำเป็นโล่
แล้วชักกริชออกจากฝัก แทง ฆ่า แหวะท้องทหารฝรั่งเศสและขุนนางไทยตายไป 20
คนแล้วหนีเข้าป่า พระไทยวัดหนึ่งถูกฆ่าทั้งวัด กว่าจะกำจัดทหารแขก
มักกะสันโดยตัวหัวหน้าพวกมักกะสันหนีไปได้นั้นต้องใช้เวลาถึงหนึ่งเดือน
เสียชีวติทหารไทยและทหารฝรั่งไปถึง 366 คน โดยพวกมักกะสันตายไป เพียง 17
คนเท่านั้น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์และเดอลามาร์โกรดแค้นพวกมักกะสัน
จึงยกกำลังไปล้อมโจมตีหมู่บ้านมักกะสันที่อยุธยา เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.
2229 ผู้บังคับการเรือรบสยามซึ่งเป็นคนอังกฤษชื่อ กัปตันโค้ท (Coats)
เอาลูกแตก (ระเบิดมือ) ขว้าง ยิงระเบิดเพลิงเข้าไปในหมู่บ้านมักกะสัน
พวกแขกกรูออกมาตีหัวกัปตันโค้ทตายทันที ส่วนกัปตันอี อูดาล
ผู้บังคับการเรือรบอังกฤษก็ถูกแทง 5 แผล ถึงแก่ความตายในการรบ (สมรภูมิ)
พวกฝรั่งไทยได้ยกกำลังยิงปืนใหญ่
และธนูเพลิงเข้าไปเผาหมู่บ้านฆ่าแขกตายมากสู้กันตั้งแต่ตีสี่ครึ่งถึงบ่ายสี่โมง
ทหารไทยตายประมาณพันคน คนยุโรปตาย 17 คน
แขกมักกะสันที่บาดเจ็บถูกมัดกับไม้กางเขนแล้วปล่อยเสือเข้ามากัดกินตั้งแต่มือถึงไส้
เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้แขกในเมืองไทยทั้งขาวและดำหมดอำนาจ
ความรุ่งเรือของชาวมักกะสันในสยามถึงจุดจบเจ้าชายดายของพวกมักกะสันถูกปืนยิงเสียชีวิต
แต่โอรสเจ้าชายมักกะสันสองคนที่ถูกจับตัวนั้นรอดชีวิตมาได้
ต่อมาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้ให้บาทหลวงตาชาร์ดนำโอรสเจ้ามักกะสันทั้งสอง
ไปเรียนที่ฝรั่งเศส ทหารสยามที่หนีราชการวันกบฏนั้น ถูกตอกเศษไม้เข้าเล็ก
ทุบนิ้วมือจนแตกน่วม ใช้ไฟจี้ที่แขน บีบขมับด้วยกระดานสองแผ่นประกบกัน
บางคนถูกนำไปให้เสือกัดกิน หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
ฟอร์แบงได้ขอลาออกจากราชการสยามการแล้วเดินทางกลับฝรั่งเศส
ใน พ.ศ. 2230 2233 บาทหลวงตาชาร์ดเข้ามากรุงสยามครั้งที่สอง
พร้อมกับราชทูตลาลูแบร์ มีบาทหลวงเยซูอิตมาด้วยสิบสองรูป คือ บาทหลวงเลอ
รัวเยร์ บาทหลวง เดอ เบส บาทหลวงธีอ็องวิลล บาทหลวงโดลู บาทหลวงริโชต์
บาทหลวงโกลูชชอง บาทหลวงบูเชต์ บาทหลวงโกมิลห์ บาทหลวงแดสปาญัค บาทหลวงเดอ
แซงต์มารแตก บาทหลวงเลอ บลังก์ บาทหลวง ดูซาส บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์
(หัวหน้าคณะ) บาทหลวงโรแซด และบาทหลวง เดอ ลา เบรยย์
บาทหลวง 3 รูปนั้นได้ไปศึกษาภาษาไทยกับพระสงฆ์
พุทธแห่งเมืองละโว้และอยุธยา บาทหลวงตาชาร์ดได้เขียนบันทึกเรื่องการเดินทางมาสยามอย่างละเอียด
เล่าเรื่องการเดินทางไปดูเหมืองแร่เหล็ก ที่ภูเขาแหลม (Caou
Lem)
โดยออกเดินทางจากลพบุรีทางเรือ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ไปถึงเมืองอินทรบุรีจังหวัดชัยนาทเดินทางบกต่อไปทางเหนือเจ็ดพันวาผ่านเขาแคอาย
(Keiai)
แล้งไปทางตะวันออกเฉียงเหนืออีกหกพันวา ถึงบ้านลอนปีน (Lonpeen)
พักค้างคืนที่นั่นแล้วเดินทางต่อไปตะวันออกอีกหกหรือเจ็ดพันวา
ถึงบ้านสูน (Soun)
ซึ่งมีบ่อแร่เหล็กและโรงถลุงเหล็กที่ชาวบ้านแต่ละคนต้องหลอมเหล็กหนึ่งหาบหนักราว
100 กิโลกรัมเพื่อส่งไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน
โรงถลุงเหล็กนั้นมีเตาสองสามเตา ชาวบ้านเอาแร่เหล็กที่ขุดได้ผสมกับถ่านสุมไฟ
สูบลมด้วยมือคนเหล็กหลอมละลายเป็นก้อนกลมคล้ายลูกปืนใหญ่อยู่ด้นเบ้า
แหล่งแร่เหล็กกำลังสูงน่าอัศจรรย์อีกบ่อหนึ่งอยู่ใกล้ เขาเพชรกระเดก (Caou
Petque-dec)
ไม่ไกลจากบ้านสูนมากนัก
(หมู่บ้านถลุงเหล็กที่เข้าใจว่าบ้านสูนของตาชาร์ดนั้น ในปัจจุบันคือ บ้านดีลัง
อำเภอพัฒนานิคม ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากตัวเมืองลพบุรี 30
กิโลเมตร ใกล้แหล่งแร่เหล็กเขาทับควาย อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
จากการพิสูจน์อายุถ่านโดยวิธีคาร์บอน 14 พบว่าอุตสาหกรรมเหล็กที่ลพบุรีมีอายุราว
1,400 ปี คือพุทธศตวรรษที่ 11 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 6)
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2230 บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ได้
ตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์ไปพระบาทสระบุรีบาทหลวงตาชาร์ดได้บันทึกเส้นทางการเดินเรือจากสยามไปมาเก๊าว่า
สันดอนสยามอยู่ที่ 13 องศา 45 ลิปดา ละติจูดใต้
ออกเรือจากสันดอนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ถึงภูเขาปังเท
Penthes
เลี้ยงไปทางตะวันออกผ่านเกาะเสม็ด ใกล้จันทบูร (ที่นี่ลมตีกลับมีเรือจมมากที่จันทบูรมีเจ้าเมืองเป็นชาวมลายู
มีเรือรบแจวเดินทางสิบห้าวันจากจันทบูรถึงบางกอก) ถึงเกาะอูบี เกาะ กองคอร์
ของกัมพูชา เลียบฝั่งญวนไปถึงหมู่เกาะ ซังเซียน เกาะไหหลำ กระแสล
ตะวันออกเฉียงใต้พัดสู่ประเทศจีนในเดือน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม แล่นใบไป
15 วันจะถึงมาเก๊า
ใน พ.ศ. 2230 มองชิเออร์ เซเบเรต์ (De
Cebret)
อุปทูตฝรั่งเศส ที่เดินทางมาพร้อมกับลาลูแบร์ ได้พักที่ป้อมวิชาเยนทร์
(คือป้อมวิชัยประสิทธิ์เดี่ยวนี้) ฝั่งตะวันตก
ของบางกอกและได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ที่ละโว้ (พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์)
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2230 เซเบเรต์ นั้นมีความรู้สึกว่า ฟอลคอน
เดส์ฟาร์ช และบาทหลวงตาชาร์ต กำลังซ่องสุมคิดการไม่ถูกต้อง
และเซเบเรต์เกรงว่าฤดูลมสำหรับออกเรือไปยุโรปกำลังจะหมดลงดังนั้น
จึงขอแยกตัวเดินทางกลับก่อนโดยแยกกับทูตลาลูแบร์ ซึ่งรออยู่ที่ลพบุรีเมื่อวันที่
14 ธันวาคม พ.ศ. 2230 ใช้ทางลัดเดินทางตรงไปทางมะริด เซเบเรต์
ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือเล็กจากบางกอกตอนเข้า 17 ธันวาคม
เข้าคลองด่านผ่านคลองมหาไชยไปถึงแม่น้ำท่าจีนที่สมุทรสาครตอนบ่ายห้าโมง
เห็นสำเภาจีนขนาด 100 ตัน และเรือแขกมลายูจดอยู่ในแม่น้ำท่าจีนหลายลำ
ที่เมืองท่าจีนมีป้อมเล็กๆ มีปืนใหญ่ทองเหลืองประจำป้อม
เช้าวันที่ 18 ธันวาคม
ใช้เรือเดินทางต่อเข้าคลองสุนัขหอนออกแม่น้ำแม่กลองบางครั้งต้องผ่านคลองแคบตื้นเขิน
ต้องใช้ควายลากเรือจนถึงแม่น้ำแม่กลองตอนเย็นวันรุ่งขึ้น
ใช้เรือแจวเลียบชายทะเลไปเพชรบุรีเมื่ออยู่กลางทะเลเห็นเสากระโดงเรือฝรั่งเศสซึ่งจอดอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาห่างออกไป
6 - 7 ไมล์ ลงเรือเล็กตามลำน้ำเพชรบุรีแล้วนั่งเก้าอี้หามนำขบวนเกวียนช้างและม้า
เดินทางบกผ่านชะอำ ปรานบุรี กุยบุรี
ข้ามภูเขาลูกหนึ่งเมื่อถึงยอดเขาจะเห็นทะเลทั้งสองด้าน เดินทางต่อไปผ่านบ้านเซรา
(Sera)
บ้านแม่น้ำ (Menam)
เมืองกลิง (Gelingve)
แล้วลงเรือล่องตามลำน้ำซึ่งตื้นและเชี่ยวมาก เรือผ่านแก่งหิน 32 แก่ง
ผ่านปากาเร (Pacarays)
แคมปาซา (Ovemapchar)
ลาอู (Lauou)
เพชร (Phes)
ควีรินันท์ (Ovirinaon)
ลูมา (Louma)
รีโอเดซอน (Riodayson)
ถึงตะนาวศรีและมะริด เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688)
แล้วขึ้นเรือใบฝรั่งเศสที่รออยู่กลับไปเมืองฝรั่งเศส
|