ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)
ครองราชย์ พ.ศ. 2301 2310(2)
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์นั้นแม้จะจัดแต่งทัพอย่างไรออกไป
ก็มักจะสู้รบพ่ายแพ้กลับมาเสมอ จึงทำให้กองทัพพม่านั้นกำเริบได้ใจ พ.ศ. 2308
ครั้นเมื่อได้กองทัพมาเพิ่มเติมจนมีกำลังมากขึ้น
พม่าจึงยกทัพเรือเข้ามาทางแม่น้ำกลอง ท่าจีน ตีเอาเมืองธนบุรีได้
ขณะนั้นมีเรืออังกฤษลำหนึ่งชื่อ อลังกปูนี
เดินทางเข้ามาค้าขายอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาของอาณาจักรสยาม ได้รับอาสาช่วยรบกับพม่า
โดยใช้ปืนใหญ่ของเรือวางเรียงรายที่แคมเรือเข้าระดมยิงค่ายในเวลากลางคืน
ทำให้พม่าที่ตั้งค่ายอยู่ได้รับความลำบากอยู่ระยะหนึ่ง
ต่อมาทัพพม่าได้วางอุบายล่อหลอกเข้าตีกองทัพไทยและพวกอังกฤษจนพ่ายแพ้
พม่าที่ยึดเมืองธนบุรีนั้นได้ใช้ปืนใหญ่ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ยิงเรือกำปั่นอังกฤษจนต้องถอยหนีออกไปทางนนทบุรี
เรืออังกฤษยิงปืนใหญ่ใส่พม่าที่วัดเขมาฯ อีก แต่สู้พม่าไม่ไหว
อังกฤษต้องล่องเรือกำปั่นออกทะเลไป ต่อมาพม่าได้ขึ้นบกตีได้เมืองนนทบุรี
ฝ่ายกองทัพเนเมียวสีหบดีนั้นได้ยกทัพออกจากเมืองนครสวรรค์
แยกเข้ามาทางเมืองชัยนาท ทางหนึ่ง และยกทัพเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี
เมืองสรรค์อีกทางหนึ่งจนถึงชานพระนคร กรุงศรีอยุธยา
เป็นเวลาเดียวกันกับที่กองทัพของมังมหานรธา
ได้ยกทัพเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบด้านเหนือ
กองทัพพม่าสองทัพนั้นได้เข้ามาตั้งค่ายอยู่ห่างๆ
ล้อมอยู่รอบนอกชานพระนครกรุงศรีอยุธยา
ยังไม่ยกเข้าประชิดติดพระนครเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา
กองทัพพม่าได้แต่งกองโจรออกเที่ยวริบทรัพย์จับผู้คนเป็นเชลยอยู่ตามเขตหัวเมืองรอบนอกพระนคร
โดยไม่มีกองทัพในพระนครออกมาทำการสู้รบเลยนั้นทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนพากันหลบหนีไปหลบซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2308 กองทัพพม่าได้ยกทัพเข้าถึงชานเมืองอยุธยา
ผู้จัดการบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาชื่อ
Nicolas
Bang
ได้หลบหนีพม่าแล้วจมน้ำเสียชีวิต
และมีผู้คนหนีเตลิดพม่าเข้ามาแออัดอยู่ในกรุงศรีอยุธยากว่าแสนคน
วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2308
คลังสินค้านิวอัมสเตอร์แดมของฮอลันดาที่ปากน้ำถูกไฟเผา
พม่าได้ทำการยึดเมืองบางกอก (เมืองธนบุรีศรีสมุทร) ได้
โบสถ์และโรงเรียนคาทอลิกถูกเผา
วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระ ได้ให้มังมหารธา
แม่ทัพที่นำกำลังเดินทางจากพม่านั้น เดินทัพเข้ามาทางตำบลสีกุก
ตั้งค่ายอยู่ห่างกรุงศรีอยุธยา 300
เส้นแล้วให้มะยินหวุ่นดิ่นคุมทหารพม่าเข้ามาทางโพธิ์สามต้น ห่างกรุงศรีอยุธยา 30
เส้น พม่าตั้งค่ายล้อมพระนครโดยตั้งค่ายอยู่ที่เพนียดริมแม่น้ำ ที่บ้านปลาเห็ด
ที่หัวรอ ที่บ้านไทร ที่ขนอนหลวง วัดโปรดสัตว์ที่คลองสวนพลู ที่ตำบลสีกุก
จุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยบรรจบกัน (ค่ายมหานรธา แม่ทัพ)
ที่คลองตะเคียน ที่ปากน้ำประสบชานพระนครและที่โพธิ์สามต้น (ค่ายเนเมียวสีหบดี)
ที่วัดหน้าพระเมรุทุ่งหลังวัด ท่ากางร้องและหลังเจดีย์ภูเขาทอง
วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2308
พม่าได้ใช้ปืนใหญ่ยิงโจมตีโบสถ์เซนต์โยเซฟในกรุงศรีอยุธยา
ชาวจีนและโปรตุเกสได้ร่วมกันป้องกันหมู่บ้านของตนแต่สู้พม่าไม่ได้
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2308 เกิดไฟไหม้โบสถ์เซนต์โยเซฟ ในกรุงศรีอยุธยา
เป็นเถ้าถ่าน พม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่สองปีเศษ
ตั้งค่ายบริเวณใกล้วัดหน้าพระเมรุ
(วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกทำลายระหว่างสงครามครั้งนี้)
พม่าตั้งค่ายที่วัดสามวิหาร ขุดคูดิน ตั้งปืนใหญ่ยิงต่อสู้กับป้อมมหาไชยที่หัวรอ
ครั้งหนึ่ง เนเมียวสีหบดี
แม่ทัพไม่ส่งไพร่พลพม่ากองหนึ่งออกไปเที่ยวค้นบ้านริบทรัพย์
จับผู้คนเป็นเชลยทางเมืองวิเศษชัยชาญ นั้น
หากพบเห็นว่าบ้านใดมีลูกสาวก็จะบังคับจับเอาลูกสาวไปด้วย
ทำให้พวกราษฎรพากันโกรธแค้น
จึงช่วยกันเข้ากลุ้มรุมทำลายฆ่าไพร่พลพม่าล้มตายประมาณ 20 คน
แล้วชาวบ้านก็พากันหนีพม่าไปที่บ้านระจัน ซึ่งเวลานั้นชาวบ้านจากเมืองวิเศษชัยชาญ
เมืองสิงห์ เมืองสรรค์
ต่างพากันหลบลี้หนีภัยพม่ามารวมตัวกันที่บ้านระจันเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2309 ชาวบ้านระจัน แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ และชาวเมืองสรรค์
ได้รวมตัวกันต่อสู้พม่าที่มีเนเมียวสีหบดี
เป็นแม่ทัพตั้งค่ายตอนเหนือของอยุธยาแถบบ้านประสบ
ชาวบ้านระจันภายใต้การนำของพระครูธรรมโชติ วัดเขานางบวช นายแท่นนายอิน
นายเมืองชาวบ้านศรีบัวทอง นายดอก ชาวบ้านกรับ นายทองแก้ว บ้านโพธิทะเล
รวมทั้งขุนสรรค์ พันเรือง นายทองแสงใหญ่ นายทองเหม็น
และนายจันหนวดเขี้ยวต่างได้ร่วมใจกันสู้รบกับพม่าและมีชัยชนะอยู่หลายครั้ง
แม้เนเมียวสีหบดีจะส่งนายทัพนายกองนำกำลังไปปราบก็ถูกชาวบ้านระจันทำการต่อสู้มีชัยชนะทุกครั้ง
ทำให้กองทัพพม่าต้องเสียเวลาทำการปราบชาวบ้านระจันอยู่ 5 เดือน
ในพระราชพงศาวดารนั้นมีความเล่าถึงเหตุการณ์วีรกรรมของชาวบ้านระจันไว้
(ตัวอักขระแบบเดิม) ดังนี้
ฝ่ายพระเจ้าอังวะ จึงตั้งแมงกิม้ารหญ่า ลงมาครองเมืองทวาย
แล้วให้เกณฑ์กองทัพพม่ารามัญให้ยกหนุนเพิ่มเติมมาอีก และสุรินจอข่อง มณีจอข่อง
มหาจอแทง อากาปันญี สี่นายถือพลพม่าพันเศษยกลงมาพักอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ
แล้วเดินทัพมาทางเมืองอุทัยธานีในเดือนยี่ ปีระกา สัปตศก มาตั้งค่ายอยู่ ณ
แขวงเมืองวิเศษชัยชาญและพระยาเจ่ง ตละเสี้ยงตละแกล็บ
คุมพลรามัญเมืองเมาะตะมะสองพันเศษ ยกมาทางเมืองกาญจนบุรีมาถึงค่ายตอกระออม
แล้วยกทัพเรือหนุนเข้ามาตั้งค่ายใหญ่อยู่ ณ ขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์
แต่บรรดาประชาชนชาวหัวเมืองปากใต้ (เดิมว่า ปักษ์ใต้)
ฝ่ายเหนือทั้งปวงเสียแก่พม่า ที่ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปก็มาก ครั้น ณ เดือนสาม
ปีระกา สัปตศก พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ และเมืองสิงคบุรี
เมืองสรรคบุรีเข้าเกลี้ยกล่อมพม่า พม่าเร่งเอาทรัพย์สินเงินทองและบุตรหญิง
(เดิมว่าลูกสาว) จึงชวนกันลวงพม่าว่าจะให้บุตรหญิงและเงินทอง
แล้วคิดกันจะสู้รบพม่าบอกกล่าวชักชวนกันทุกๆ บ้าน และนายแท่น 1 นายโช 1
นายอิน 1 นายเมือง 1 ชาวบ้าน สีบัวทองแขวงเมืองสิงห์ นายดอก ชาวบ้านตรับ
นายทองแก้วชาวบ้านโพทะเล คนเหล่านี้มีสมัครพรรคพวกมาก
เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าซึ่งยกทัพมาทางเมืองอุทัยธานี
ครั้นพม่าตักเตือนเร่งรัดจะให้ส่งบุตรหญิง จึงให้นายโชคุมพรรคพวกเข้าฆ่าพม่าตาย
20 เศษ แล้วพากันหนีมาหาอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช มีความรู้วิชาการดี
มาอยู่ ณ วัดโพธิ์เก่าต้นในบ้านระจันเอาเป็นที่พึ่ง
และพาสมัครพรรคพวกครอบครัวทั้งปวงมาอยู่ ณ บ้านระจัน
และนายแท่นกับผู้มีชื่อเหล่านั้นชักชวนคนชาวบ้านได้ 400 เศษ
มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่บ้านระจันทั้งสองค่าย พระอาจารย์นั้นลงกะตรุด
ประเจียดและมงคลแจกให้ และพม่าประมาณร้อยเศษตามมาจับพันเรือง
มาถึงบ้รานระจันก็หยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำฟากข้างโน้น
นายแท่นรู้จึงจัดแจงคนให้รักษาค่าย แล้วก็พาคนสองร้อยข้ามน้ำไปรบกับพม่า
พม่ายิงปืนได้นัดเดียว
นายแท่นกับคนสองร้อยล้วนถืออาวุธสั้นเข้าฟันแทงพวกพม่าถึงตะลุมบอน
ฆ่าพม่าตายทั้งร้อยเศษ เหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าควบหนีไปได้
จึงไปแจ้งความแก่แม่ทัพ แม่ทัพจึงแต่งให้งาจุนหวุ่นคุมพลห้าร้อยมาตีค่ายบางระจัน
นายค่ายบ้านระจันก็ยกพลทหารออกรบ ตีทัพพม่าแตกพ่ายหนีและป่วยเจ็บล้มตายเป็นอันมาก
แม่ทัพจึงให้เยกิหวุ่นคุมพลพม่าเจ็ดร้อยยกไปตีค่ายระจันก็แตกมาอีกเป็นสองครั้ง
จึงให้ติงจาโบ่คุมพลเก้าร้อยยกไปตีอีกก็แตกพ่ายมาเป็นสามครั้ง
พวกพม่าขยาดฝีมือไทยค่ายบ้านระจันยิ่งนัก หยุดอยู่อีกสองวันสามวัน
แม่ทัพจึงเกณฑ์ให้สุรินจอข่องเป็นนายทัพใหญ่คุมพลทหารเกณฑ์กันทุกค่ายเป็นคนพันเศษ
ม้าหกสิบม้ายกไปตีค่ายบ้านระจันอีกเป็นสี่ครั้ง
สุรินจอข่องก็ยกพลทหารไปถึงทุ่งบ้านห้วยไผ่
พวกค่ายบ้านระจันจึงจัดดันให้นายแท่นเป็นนายทัพ พลสองร้อย
ให้นายทองเหม็นเป็นปีกขวาพันเรืองเป็นปีกซ้าย
คุมพลกองละสองร้อยทังสามกองเป็นคนหกร้อยมีปืนค่ายชุบคาบศิลาของชาวบ้านบ้าง
ปืนของพม่าซึ่งแตกหนีล้มตายเก็บได้บ้าง
ทั้งเก็บกระสุนดินของพม่าซึ่งทิ้งเสียเก็บไว้ได้บ้าง
และตัวนายทั้งสามคนนั้นก็นำพลทหารทั้งสามกองยกออกจากค่าย ไปถึงคลองสะตือสี่ต้น
จึงตั้งทัพดากันอยู่ทั้งสามกองคอยรับทัพพม่า มีต้นสะตือใหญ่มีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่ง
กอวงทัพพม่ายกมาตั้งอยู่ฟากคลองข้างโน้น ได้ยินปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย
พม่าเห็นพวกไทยน้อยก็ตั้งรบอยู่มิได้ท้อถอย
ทัพไทยจึงขนเอาไม้และหญ้ามากถมคลองแล้วยกข้ามคลองรุกไปรบพม่าถึงอาวุธสั้นเข้าไล่ตะลุมบอนแทงฟันฆ่าพม่าล้มตายเป็นอันมาก
และสุรินจอข่องนายทัพนั้นกั้นร่มระย้าอยู่ในกลางพล เร่งให้ตีกลองรบ
รบกันตั้งแต่เช้าจนตะวันเที่ยง
พลทหารไทยวิ่งเข้าฟันตัดศีรษะสุรินจอข่องขาดตกม้าตายในท่ามกลางสนามรบ
และนายแท่นซึ่งเป็นนายทัพไทยนั้นวิ่งเข้าไปในกลางพลพม่า
ไล่แทงพม่าตายเป็นหลายคนและตัวนายแท่นนั้นถูกปืนพม่าที่เข่าล้มลง
พวกพลช่วยกันหามออกมาจากที่รบ
และพลทหารทั้งสองฝ่ายต่างเหนื่อยอ่อนอิดโรยก็รอรบถอยจากกันทั้งสองข้าง
หยุดพักอยู่ข้างละฟากคลอง พวกชาวบ้านระจันก็นำอาหารมาส่งเลี้ยงดูพวกทหาร
ฝ่ายพม่าก็หุงข้าวสุกบ้างยังบ้าง ที่ได้กินข้าวบ้างยังไม่ได้กินบ้าง
พวกทหารไทยกินอาหารเสร็จพร้อมกันแล้ว
ก็แต่งตัวยกข้ามคลองแล่นเข้าโจมตีทัพพม่าพร้อมกัน
ฝ่ายพลพม่าสาละวนขุดหลุมฝังศพนายอยู่ บ้างตีกลองประโคมศพ
บ้างร้องไห้รักนายไม่เป็นอันจะต่อรบก็แตกพ่านยหนีไปต่อหน้า
พลทหารไทยไล่ติดตามไปทันฆ่าฟันพม่าตายเสียเป็นอันมาก
เก็บได้ปืนและเครื่องศัตราวุธ ผ้านุ่งห่มต่างๆ
แต่ไล่ติดตามพม่าไปจนเย็นจวนจะใกล้ค่ำจึงกลับมายังค่าย
และพลพม่าตายประมาณแปดร้อยเศษ ที่เหลือรอดกลับมาสามร้อยเศษ
ต้องอาวุธบาดเจ็บก็มาก ข้างทัพไทยตายหกสิบเศษ ป่วยเจ็บสิบสองคน
ขณะนั้นชาวบ้านอื่นๆ พาครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายบ้านระจันเป็นอันมาก
|