ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)
ครองราชย์ พ.ศ. 2301 2310(3)
ฝ่ายพม่ากลัวฝีมือชาวบ้านระจันยิ่งนัก แต่จัดแจงกะเกณฑ์ทัพ
ปรึกษากันอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวัน แม่ทัพจึงแต่งให้แยจออากาเป็นนายทัพ
เกณฑ์แบ่งพลทหารไปทุกๆ ค่ายเป็นคนพันเศษ
สรรพด้วยม้าเครื่องศาสตราวุธให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีก
ก็แตกพ่ายหนีมาเป็นห้าครั้ง
แล้วแม่ทัพจึงแต่งให้จิกแกปลัดเมืองทวายเป็นนายทัพคุมพลห้าร้อยเศษยกไปตีเป็นหกครั้งก็แตกพ่ายมา
จึงแต่งให้อากาปัญญียกไปตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบ้านขุนโลก
ฝ่ายข้างทัพไทยบ้านระจันจึงจัดให้ขุนสันฝีมือยิงปืนแม่นเป็นนายพวกทหารปืน
คอยป้องกันทหารม้าพม่า
แล้วแต่งให้นายจันหนวดเขี้ยวเป็นนายทัพใหญ่คุมทหารพันเศษยกออกตีทัพพม่าเข้าล้อมค่ายไว้
ฝ่ายทัพพม่าตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว ทัพไทยยวกเข้าโจมตีข้างหลังค่าย
ยิงแทงฟันพม่าตายแทบถึงพัน และกากาปัญญีนายทัพนั้นก็ตายอยู่ในค่าย
ทัพไทยได้ม้าและผ้านุ่งห่ม ศัตราวุธต่างๆ เป็นอันมาก
พม่าแตกหนีเหลือรอดมานั้นน้อยประมาณร้อยเศษ
ตั้งแต่นั้นมาพม่ายิ่งกลัวฝีมือไทยค่ายบ้านระจันนัก
เกณฑ์กันจะให้ไปรบอีกมิใคร่ได้ หยุดนานไปถึงกึ่งเดือน
ฝ่านในกรุงเทพมหานครนั้น ขณะเมื่อกองทัพพม่ายกเข้ามาจะใกล้ถึงกรุงนั้น
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ออกไปนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะ
ซึ่งอยู่วัดนอกเมืองนั้น ให้เข้ามาอยู่ในวัดพระนครทั้งสิ้น
และสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งผนวชอยู่ ณ วัดประดู่นั้น ก็เสด็จเข้ามาอยู่ ณ
วัดราชประดิษฐาน
ขุนนางและราษฎรชวนกันไปทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกช่วยราชการแผ่นดินป้องกันรักษาพระนคร
เหมือนเมื่อศึกมังลองครั้งก่อน ก็หาลาผนวชออกไม่และเพลาเสด็จไปทรงรับบิณฑบาต
ชาวเมืองชวนกันเขียนหนังสือห่อใส่บาตรเป็นใจความทูลวิงวินให้ลาผนวชและได้ห่อหนังสือในบาตรเป็นอันมากทุกๆ
วัน
ขณะนั้น ในพระนครได้ทราบข่าวว่าชาวบ้านระจันตั้งค่ายต่อรบพม่า
พม่ายกทัพไปตีแตกพ่ายมาเป็นหลายครั้ง ชาวบ้านระจันฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก
เห็นพม่าย่อท้อถอยกำลังลง
สมเด็จพรเจ้าแผ่นดินจึงดำรัสให้เสนาบดีเกณฑ์กองทัพจะให้ยกออกไปรบพม่า
แล้วโปรดให้ถอดเจ้าหมื่นศรีสรรรักษ์ออกจากโทษให้คงถานาศักดิ์ทำราชการดังเก่า
จึงโปรดให้พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ
กับทั้งท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นหลายนาย
และทัพหัวเมืองสมทบด้วยก็หลายเมืองเป็นคนหมื่นหนึ่ง ให้ยกออกไปตีค่ายพม่า
ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดป่าฝ้ายปากน้ำ ประสบและให้สานกระชุกแบกไปเป็นอันมาก
สำหรับเมื่อจะตั้งรบที่ใดจะเอากระชุกตั้งเรียงให้ชิดกันแล้วจะขุดมูลดินลงในพระชุกเป็นสมานเพลาะ
บังตัวพลทหารกันปืนข้าศึก
พระยาพระคลังและนายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลาแล้วยกกองทัพออกจากพระนครวันนั้น
รี้พลมากเต็มไปทั้งท้องทุ่ง แม่ทัพหยุดแคร่ที่ใดกองทัพก็หยุดที่นั้น พร้อมๆ
กันเป็นกองๆ รั้งรอไป ครั้นไปถึงที่ใกล้ค่ายพม่าก็ตั้งทัพดากันอยู่
และทหารพม่าขี่ม้าข้ามน้ำไปหาค่ายใหญ่ฟากตะวันตกเป็นหลายม้า จึงขับทหารเข้าตีค่าย
พม่าในค่ายยิงปืนใหญ่น้อยออกมาต้องพลทัพไทยล้มลงสี่ห้าคน
กองทัพทั้งนั้นก็ถอยมาสิ้น ครั้งเพลาเย็นก็เลิกกลับเข้าพระนครอยู่สองสามวัน
จึงมีพระราชดำรัสให้ทัพพระยาพระคลังยกออกไปตีค่ายปากน้ำประสบอีก
ขณะนั้นบรรดาชาวพระนครทั้งคฤหัสถ์และสมณะไม่เคยเห็นเขารบกัน
ชวนกันตามกองทัพออกไปดูรบพม่าเป็นอันมาก
และกองทัพยกออกไปตั้งอยู่ยังไม่ทันเข้าตีค่าย
พม่าแต่งกลให้รี้พลยกหาบคอนออกหลังค่ายทำทีจะแตกพวกกองอาฎมาต (เขียนไว้ว่า
กองอาจสามารถ น่าจะผิด) ชวนกันวิ่งเข้าไปใกล้ค่ายพม่า
และเนเมียวแม่ทัพขับพลทหารทั้งคนทั้งม้าออกไล่โอบหลังกองทัพไทย
พุ่งหอกซัดและยิงปืนบนหลังม้าต้องพลทัพไทยตายเป็นหลายคน กองทัพไทยมิได้ต่อรบ
พากันแตกพ่ายหนีถอยลงมา ณ โพธิ์สามต้นทั้งสิ้น และเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์
เจ้าหมื่นเสมอใจราช ขี่ม้าข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก
แต่กองพระยาตากรอรบอยู่ค่อยข้ามตามมาต่อภายหลัง
ทัพม้าพม่าไล่ติดตามพุ่งหอกซัดพลทัพไทยและคนซึ่งตามออกไปดูรบศึกนั้นบาดเจ็บเป็นอันมาก
ที่ล้มตายก็กลาดเกลื่อนไป กองทัพไทยก็พ่ายหนีเข้าพระนคร พวกทัพพม่าก็กลับไปค่าย
ฝ่ายนายทัพนายกองพม่าทั้งปวง จึงปรึกษากันจัดหาผู้ซึ่งจะเป็นนายทัพ
จะให้ยกไปตีเอาค่ายบ้านระจันให้จงได้
ขณะนั้นรามัญคนหนึ่งเป็นมอญเก่าอยู่ในพระนครนี้มาช้านาน
เข้าเกลี้ยกล่อมพม่ามีฝีมือรบเข้มแข็ง แม่ทัพพม่าตั้งให้เป็นพระนายกอง
จึงเข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบ้านระจันให้แตกจงได้
แม่ทัพจึงเกณฑ์พลพม่ารามัญให้สองพัน ตั้งให้พระนายกองเป็นรายทัพ
สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกเป็นแปดครั้ง
และพระนายกองยกทัพไปตีค่ายบ้านระจันครั้งนั้นมิได้ตั้งทัพกลางแปลงให้ตั้งค่ายรายไปตามทางสามค่าย
แล้วให้รื้อค่ายหลังผ่อนไปตั้งข้างหน้าอีกแต่เดินค่ายไปตามทางทีละสามค่าย ดังนี้
ถึงกึ่งเดือนจึงไปเกือบจะใกล้ค่ายบ้านระจัน
พวกตัวนายค่ายบ้านระจันคุมพลทหารยกออกตีค่ายพระนายกองเป็นหลายครั้งไม่แตกฉาน
และพระนายกองตั้งมั่นรับอยู่แต่ในค่ายมิได้ออกรบนอกค่าย
พวกบ้านระจันเสียคนล้มตายเป็นอันมาก
วันหนึ่งนายทองเหม็นกินสุราเมาขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า
พระนายกองขับพลรามัญออกต่อรบนอกค่าย
นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้าในกลางทัพแต่ผู้เดียว แทงพลพม่ารามัญตายเป็นหลายคน
พวกพม่าต่อรบต้านทานล้อมเข้าไว้ได้ เข้ารุมฟันแทงนายทองเหม็นไม่เข้า
นายทองเหม็นสู้รบอยู่ผู้เดียวจนสิ้นกำลังพม่าจับตัวได้ก็ทุบตีตายในที่นั้น
พวกทัพบ้านระจันเสียนายแล้วก็แตกหนีไปค่าย
ทัพพม่าพระนายกองก็ยกติดตามมาถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบ้านระจัน
จึงให้เก็บศพพม่าซึ่งตายแต่ทัพก่อนๆ นั้นเผาเสียสิ้น
แล้วก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่นั้นรักษามั่นอยู่
ทัพบ้านระจันออกตีค่ายเป็นหลายครั้งไม่แตกก็เสียน้ำใจ ท้อถอย
พระนายกองจึงให้ขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจัน แล้วปลูกหอรบขึ้นสูง
เอาปืนใหญ่ขึ้นยิงเข้าไปในค่ายต้องไทยตายเป็นอันมาก และตีเอาค่ายน้อยบ้านระจันได้
ยังแต่ค่ายใหญ่และนายแท่นซึ่งถูกปืนพม่าเข่าหักแต่ก่อนนั้นป่วยมานานก็ถึงแก่กรรมลงในเดือนหก
ปีจอ อัฐศก
ขณะนั้นขุนสันซึ่งมีฝีมือเข้มแข็งถือปืนอยู่เป็นนิจ
และนายจันหนวดเขี้ยวยกพลทหารออกรบกับพม่าอีกเป็นหลายครั้ง
วันหนึ่งพลพม่าโอบหลังเข้าได้
ก็ฆ่าขุนสันกับทั้งนานจันหนวดเขี้ยวตายในที่รบทั้งสองนาย
ยังแต่นายพันเรืองกับนายทองแสงใหญ่อยู่ในค่ายบ้านระจัน
เห็นเหลือกำลังจะสู้รบพม่าจึงบอกเข้ามาในเมือง ขอปืนใหญ่และกระสุนดินดำ
เสนาบดีจึงปรึกษาลงเห็นพร้อมกันมิได้ให้
ว่าถ้าพม่าตีค่ายบ้านระจันแตกแล้วก็จะได้ปืนใหญ่
และกระสุนดินดำเป็นกำลังเข้ามารบพระนคร เหมือนหนึ่งให้กำลังแก่ข้าศึก
แต่พระยารัตนธิเบศนั้นหาลงเห็นด้วยไม่ จึงออกไป ณ ค่ายบ้านระจัน
คิดอ่านเรี่ยรายทองชาวบ้านซึ่งอยู่ในค่ายมาหล่อปืนใหญ่ขึ้นได้สองกระบอก
ก็บกพร่องร้าวรานไปหาบริบูรณ์ไม่ เห็นจะคิดการสงครามไม่สำเร็จก็กลับเข้าพระนคร
ฝ่ายชาวบ้านระจันหาที่พึ่งมิได้ ไม่มีใครช่วยอุดหนุน
ก็เสียใจย่อหย่อนอ่อนฝีมือลง เห็นจะสู้รบต้านทานพม่าไม่ได้
แต่ตั้งต่อรบพม่ามาแต่เดือนสี่ปลายปีระกาสัปตศกจนถึงเดือนแปดปีจออัฐสกได้ห้าเดือน
เห็นเหลือกำลังจะขับเคี่ยวทำสงครามกับพม่าสืบไปอีก
ต่างคนก็พากันครอบครัวหนีไปจากค่าย ไปยังอยู่นั้นน้อย ผู้คนก็เบาบางลง
ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ อัฐศก
พม่าก็ยกเข้าตีค่ายใหญ่บ้านระจันแตก ฆ่าคนเสียเป็นอันมาก
ที่จับเป็นไปได้นั้นก็มาก
บรรดาครอบครัวชายหญิงเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น
แล้วก็เลิกทัพกลับไปยังค่ายพม่า ตั้งแต่รบกันมาห้าเดือนจนเสียค่ายนั้น
ไทยตายประมาณพันเศษ พม่าตายประมาณ สองพัน
และพระอาจารย์ธรรมโชตินั้นกระทำสายสิญจน์มงคลประเจียดกะตรุดต่างๆ
แจกให้คนทั้งปวงแต่แรกนั้นมีคุณอยู่แคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่
ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมากสำส่อน ที่นับถือแท้บ้างไม่แท้บ้าง
ก็เสื่อมตบะเดชะลง ที่อยู่คงบ้างที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง
และตัวพระอาจารย์นั้นที่ว่าตายอยู่ในค่ายก็มี ที่ว่าหายศูนย์ไปก็มี
ความหาลงเป็นแน่ไม่
ในที่สุดพม่าก็ยกทัพเข้าทำลายค่ายบ้านระจันได้ต้องตายเกือบทั้งหมดหมู่บ้าน
เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ ปีจอ
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อกองทัพพม่าเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านสีกุก
และที่ปากน้ำพระประสบนั้น
ได้ให้กวาดต้อนราษฎรและขนเสบียงอาหารเข้าไปไว้ในพระนครจนหมดสิ้น
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม
นั้นได้เสด็จไปประทับอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน
นั้นได้มีขุนนางข้าราชการไปทูลวิงวอนขอให้ลาผนวชออกไปบัญชาการสู้รบอยู่ไม่ขาด
แม้เวลาพระองค์ออกบิณฑบาตก็มีราษฎรเขียนหนังสือใส่บาตรให้ลาผนวชทุกวัน
พระองค์คงจะเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์นั้นยังเฉยอยู่
จึงไม่ลาผนวชตลอดเวลาสงคราม
เมื่อราวต้นปี พ.ศ. 2309 นั้น สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ข่าวว่า
ชาวบ้านได้พากันรวมตัวที่บ้านระจันนั้น ได้ทำการต่อสู้กับพม่าและรบชนะหลายครั้ง
ทำให้ไพร่พลที่อยู่ในกรุงนั้นดีใจที่คนไทยกล้าหาญ จึงมีกำลังใจต่อสู้
พระองค์จึงจัดกองทัพให้พระยาพระคลัง
เป็นแม่ทัพควบคุมกำลังออกไปตีค่ายพม่าที่ตั้งอยู่ปากน้ำประสบที่อยู่ด้านเหนือ
การสู้รบครั้งนั้นพระยาพระคลังเกิดเสียทีในอุบายของพม่าที่เข้าโอบตีแตกพ่ายกลับมาแต่ได้กองทัพของพระยาตาก
(สิน) เข้าช่วยรบป้องกันข้าศึกที่ติดตามมาด้านหลัง
เนเมียวสีหบดีเห็นได้ทีจึงยกกองทัพหน้ารุกเข้ามาตั้งที่ค่ายบ้านโพธิ์สามต้น
เพื่อให้อยู่ใกล้พระนครมากกว่าเดิม
ส่วนกองทัพของมังมหานรธานั้นได้ส่งกองทัพหน้าขึ้นไปตั้งค่ายที่ขนอนหลวงริมวัดโปรดสัตว์
ให้ใกล้พระนครกว่าเดิมเช่นกัน
ครั้นถึงฤดูฝน บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายวิตกว่าน้ำจะท่วมทำให้กองทัพลำบาก
จึงพากันไปร้องขอให้มังมหานรธานั้นเลิกทัพกลับไปเสียก่อน
ต่อเมื่อถึงฤดูแล้งแล้วจึงยกทัพกลับมาตีกรุงศรีอยุธยาใหม่
มังมหานรธานั้นเห็นว่าขณะนี้กำลังของกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลงมากแล้ว
จึงไม่ยอมเลิกทัพกลับ
จึงให้ไพร่พลเที่ยวตรวจหาที่ดอนที่เป็นโคกหรือเนินดินของวัดที่มีอยู่โดยรอบนอกกรุงศรีอยุธยา
เมื่อได้สถานที่แล้วก็ให้กองทัพไปตั้งค่ายสำหรับจะใช้อยู่ในเวลาน้ำหลากมา
พร้อมกับให้รวบรวมเรือใหญ่น้อยไว้ใช้ในกองทัพให้มาก
แต่ในขณะที่เตรียมการอยู่นั้นประมาณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2309 มังมหานรธา
ได้เกิดล้มป่วยลงแล้วถึงแก่ความตายที่ค่ายบ้านสีกุก
จึงทำให้กองทัพพม่าทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ที่ต่างมักมีอิสระในการสู้รบและแก่งแย่งกันนั้นอยู่ในบังคับบัญชาของเนเมียวสีหบดี
แม่ทัพใหญ่แต่ผู้เดียวซึ่งเป็นผลร้ายแก่กรุงศรีอยุธยา เนื่องจาก
เนเมียวสีหบดีนั้นได้สั่งให้กองทัพทั้งหมดเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา
และเนเมียวสีหบดีนั้นได้ย้ายออกจากค่ายปากน้ำประสบมาอยู่ที่ค่ายบ้านโพธิ์สามต้น
แล้วให้กองทัพหน้าย้ายมาตั้งค่ายที่วัดภูเขาทอง
จากนั้นก็ให้กองทัพรุกเข้าไปตั้งค่ายที่วัดท่าการ้องอีกแห่งหนึ่ง
สรุปแล้วพม่าตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยา อยู่ทีวัดภูเขาทอง วันท่าการ้อง
วัดกระชาย วัดแม่นางปลื้ม วัดสามวิหาร วัดพลับพลาชัย วัดเตา วัดสุเรนทร์
วัดแดง วัดศรีโพธิ์
|