ราชวงศ์จักรี
ราชวงศ์จักรี
ต้นราชวงศ์จักรี(3)
ภายหลังในบั้นปลายชีวิตของท้าวสมศักดิ์วงศามหาธาตี (บัว)
ผู้นี้ได้ออกบวชไปอยู่ที่วัดดุสิต จึงได้รับสมัญญานามเรียกขานกันว่า
เจ้าแม่วัดดุสิต
เป็นบุคคลที่พระเจ้าเหนือหัว (สมเด็จพระนารายณ์) ให้ความเคารพ
และบุตรและธิดาของนางก็ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทแห่งกษัตริย์กรุงศรีอยุธยามาตลอดรัชกาล
ท้าวสมศักดิ์วงศามหาธาตี (บัว)
ผู้นี้สืบต่อไปตามการบอกเล่าว่าได้แต่งงานกับหม่อมเจ้าเจิดอำไพ (บางแห่งว่า
เจิดอภัย) เป็นบุคคลที่สืบเชื้อสายมาจาก สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
มีบุตรชายหญิงด้วยกัน ๓ คน คือ
บุตรชายคนโตชื่อ เหล็ก
ได้รับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีความชอบเป็นแม่ทัพในตำแหน่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี
หรือที่รู้จักกันในนามขุนเหล็กหรือ โกษาเหล็กมีชื่อเสียงในด้านการรบ
ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๖
คนต่อมาเป็นหญิงชื่อแจ่ม (บางแห่งว่าชื่อแช่ม) ต่อมาได้เป็นท้าวศรีสุดารักษ์
เป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
และบุตรชายคนเล็กชื่อ ปาน
ได้เข้ารับราชการในแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีความชอบเป็น
ออกพระวิสูตรสุนทร ราชทูตแทนพระองค์ และได้เจ้าพระยาโกษาธิบดี แทนพี่ชาย
ชื่อเสียงของออกพระวิสูตรสุนทร ราชทูตแห่งราชสำนักสยาม
ผู้นี้ได้นำคณะทูตสยามเดินทางไปเจริญพระราชไมตรี ณ ราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
แห่งประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๐
สร้างชื่อเสียงให้ชาวฝรั่งเศสประจักษ์ในความสามารถที่รู้จักกันดีในนาม โกษาปาน
ราชทูตแทนพระองค์ของกษัตริย์อยุธยา
บุคคลในตระกูลนี้จึงนับเป็นตระกูลที่ใกล้ชิดกับราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างยิ่ง
ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารครั้งเมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ
พ.ศ. ๒๒๒๖ ว่า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิอาจกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้
ทรงพระอาลัยในเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก ด้วยเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กคนนี้เป็นลูกพระนม
และได้รับพระราชทานนมร่วมเสวยมาแต่ทรงพระเยาว์นั้น
ครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดแต่งตั้งให้ ออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน)
เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี แทนพี่ชายนั้น พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณดังพระราชดำรัสว่า
ขุนเหล็กพี่ท่านซึ่งถึงแก่มรณภาพนั้น
ชำนิชำนาญในการเป็นแม่ทัพ และบัดนี้เราจะให้ท่านเป็นที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี
และจะให้เป็นแม่ทัพแทนพี่ชายไปตีเมืองเชียงใหม่ ยังจะได้หรือมิได้
ด้วยเหตุนี้เมื่อพระเพทราชา จางวางกรมช้าง ชาวบ้านพลูหลวงและขุนหลวงสรศักดิ์
(เดื่อ) คิดการใหญ่ชิงเอาราชบัลลังก์จากสมเด็จพระนารายณ์
และได้สถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้น หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์ได้เสด็จสวรรคตเมื่อ
พ.ศ. ๒๒๓๑ แล้วนั้น สมเด็จพระเพทราชาจึงได้ปลดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
เสนาบดีคลัง
ออกจากตำแหน่งเนื่องจากเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่สมเด็จพระเพทราชา
ได้ทำการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์และทำการสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้น
ประการสำคัญที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งก็คือ
การที่สมเด็จพระเพทราชาได้แต่งตั้งพระราชกัลยาณี (เจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณ)
พระบรมภคินีและพระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์
ขึ้นเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระเพทราชาคือ กรมหลวงโยธาทิพย์และกรมหลวงโยธาเทพ
ในคราวเดียวกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๓๒ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
ได้ถูกกล่าวหาว่าขาดความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ (สมเด็จพระเพทราชา) ที่รู้เบาะแสว่า
เจ้าฟ้าอภัยทศ จะทำการกบฏแล้วปิดความ จึงถูกนำตัวมาลงทัณฑ์ โบยหลังด้วยหวาย ๑ ยก
(๔๐ ที) แม้แต่หมอจีนที่ทำการรักษาเจ้าพระยาโกษาธิบดีให้หาย
ก็ยังถูกลงอาญาอย่างหนัก
จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีตรอมใจในเวลาต่อมาจนทำให้ถึงแก่อนิจกรรมในที่สุดเมื่อ
พ.ศ. ๒๒๔๒
หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า สมเด็จพระเพทราชาได้วางยาพิษเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
และทำการริบราชบาตร
จึงทำให้ลูกหลานของบุคคลในตระกูลนี้ได้ถูกจับขังจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
ด้วยเหตุเช่นนี้น่าจะมีเหตุที่ทำให้บรรดาลูกหลานของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
นั้นน่าจะหาโอกาสหลบลี้หนีราชภัยไปอาศัยที่อื่น
(ได้พบพระพุทธรูปตรีกายศิลปะลพบุรีในหีบเหล็กที่ บ้านกลางเขา หลังเขาสะแกกรัง
และบ้านสะแกกรัง นั้นได้เป็นถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระปฐมบรมชนกแห่งรัชกาลที่ ๑
ในเวลาต่อมา) หรือไม่ก็ถูกลิดรอนอำนาจ ให้เนรเทศไปอยู่หัวเมืองที่ไกลจากพระนคร
การทำร้ายถึงชีวิตนั้น
น่าจะมีการร้องขอให้ละเว้นโทษจากพระบรมภคินีและพระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์
ที่เป็นพระมเหสีของสมเด็จพระเพทราชา ได้ร้องขอในความจงรักภักดีต่อนางและราชวงศ์
จึงทำให้บุคคลในตระกูลนี้สามารถคงอยู่และกลับเข้ามารับราชการในแผ่นดินต่อมาในฐานะผู้ที่เคยรับใช้ใกล้ชิดราชวงศ์ของกษัตริย์องค์เดิมมาก่อน
|