สมเด็จพระปฐมกษัตริย์
สมเด็จพระปฐมกษัตริย์
(ทองด้วง) แห่งราชวงศ์จักรี(2)
แต่เนื่องจากคุณนาคภรรยาของหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์อยู่
จึงได้ฝากพระธำมรงค์ ๓ วง และดาบทองคำเล่มหนึ่งไปให้พระยาวชิรปราการ (สิน) แทนตัว
พร้อมกับแนะนำให้นายสุดจินดา (บุญมา)
น้องชายไปรับนางนกเอี้ยงมารดาของพระยาวชิรปราการ (สิน) จากบ้านแหลม
เมืองเพชรบุรีไปพร้อมกันเพื่อจะได้ไปอยู่กับพระยาวชิรปราการ (สิน)
ผู้เป็นบุตรให้หายห่วงใยด้วย
ส่วนตนเองนั้นจะติดตามไปสมทบด้วยในภายหลังขอให้คุณนาคภรรยาคลอดบุตรเสียก่อน
มีความปรากฏในพงศาวดารว่า
ส่วนสุดจินดา
มหาดเล็กนั้นหนีออกไปพำนักอยู่ ณ เมืองชลบุรี
ครั้นเมื่อรู้ข่าวว่าเจ้าตากออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองจันทบุรี
จึงพาพรรคพวกบ่าวไพร่เดินบกออกไปพึ่งด้วยเจ้าตาก
เจ้าตากก็รับไปชุบเลี้ยงตั้งเป็นพระมหามนตรี
เพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนกรุงยังไม่เสียนั้น
ขณะนั้นเจ้าเมืองอื่น ๆ ได้ถือโอกาสตั้งตนเป็นใหญ่ในยามที่บ้านเมืองระส่ำระสาย
สำหรับพระยาวชิรปราการ (สิน) นั้น
ได้พยายามรวบรวมกำลังจากทหารที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาและทำการปราบปรามพม่าและบรรดาก๊กต่าง
ๆ พร้อมกับได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔
หรือเรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือขุนหลวงตาก เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๓๑๑ และได้สร้างกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงของไทย
พระมหามนตรี (บุญมา) เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ถือศักดินา ๒,๐๐๐ ไร่
ได้ทูลขอสมเด็จพระเจ้าตากสินออกไปรับหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เมืองราชบุรี
ผู้เป็นพี่ชายมารับราชการอยู่ด้วย และต่อมาหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง)
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ถือศักดินา ๑,๖๐๐ ไร่
พี่น้องทั้งสองท่านนี้ได้ทำความดีความชอบในการสงครามมาก
จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ดังนี้
พระมหามนตรี เป็น พระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา พระราชวรินทร์
เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจฝ่ายนอกขวา และได้รับพระราชทานบ้าน ที่ดิน
อยู่ใต้วัดบางหว้าใหญ่ (คือวัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพฯ)
สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลกทั้งทางบกและทางเรือ
ในครั้งนั้นเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมืองพิษณุโลกได้สั่งให้หลวงโกษา (ฝัง)
คุมกองทัพบกและกองทัพเรือมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย แขวงเมืองนครสวรรค์
รบพุ่งกันเป็นสามารถและยิงปืนต้องพระชงฆ็ข้างซ้าย
สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงได้สั่งให้ถอยทัพกลับกรุงธนบุรี เจ้าเมืองพิษณุโลก (เรือง)
จึงได้ใจกำเริบถือว่าตนเองมีบุญญาธิการชนะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้
จึงตั้งตนเป็นกษัตริย์ และได้แต่งตั้งพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี)
ซึ่งถือว่าเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ที่ขึ้นไปหลบหนีพม่าอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเป็น
เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์
สมุหนายกเสนาบดี
ส่วนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) นั้น ครั้นเมื่อสถาปนาตนเองและจัดพิธีราชาภิเษกได้ ๗
วัน ก็ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคฝีละลอกในคอ
พระอินทรชากรน้องชายจึงปกครองเมืองพิษณุโลกแทนพี่ชาย แต่ไม่ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์
พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) หลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่
เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์
สมุหนายกเสนาบดี แล้ว ต่อมา พ.ศ.
๒๓๑๑ เจ้าพระยาจักรีฯ ได้ถึงแก่อสัญกรรม คุณนายมาภรรยาน้อยและนายลาบุตรชาย
พร้อมด้วยนายขวัญ (ต่อมาได้เป็นนายชำนาญกระบวนนายเวรกรมมหาดไทย) นายยิ้ม นายแย้ม
ได้ช่วยกันจัดการเรื่องศพและนำพระอิฐของเจ้าพระยาจักรีฯ ลงมาหาพระยาอภัยรณฤทธิ์
(ทองด้วง) ที่ตำบลเกยชัย แขวงเมืองนครสวรรค์
พระอัฐของเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (ทองดี) นี้ ได้แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
ส่วนหนึ่งเป็นของพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และอีกส่วนหนึ่งเป็นของพระอนุชิตราชา
(บุญมา) บุตรชายทั้งสองคน แล้วต่างก็ร่วมกันรับคุณนายมา นายลา
และพรรคพวกไว้ในอุปการะทั้งหมด
ในปี
พ.ศ. ๒๓๑๒ เจ้าพระฝาง (เรือง) ได้ยกกองทัพล้อมเมืองพิษณุโลก ๓ วัน ๓ คืน
ก็สามารถตีเมืองและยึดครองเมืองพิษณุโลกได้ ชาวเมืองพิษณุโลก
เมืองพิจิตรจึงพากันอพยพครอบครัวลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอันมาก
และในที่สุดสมเด็จพระเจ้าตากสินสามารถปรามปรามก๊กเจ้าฝางได้
เมื่อทำการปราบปรามก๊กต่าง ๆ สำเร็จ
และจัดแจงบ้านเมืองให้เหตุการณ์สงบเรียบร้อยประเทศสยาม
ก็สามารถรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นดำรงความเป็นเอกราชได้แล้ว พระอนุชิตราชา (บุญมา)
จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช
ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกตามลำดับ ส่วนพระอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) นั้น
ได้รับแต่งตั้งเป็น พระยายมราช เจ้าพระยาจักรีสมุหพระกลาโหม
และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพ ตามลำดับ
บุคคลทั้งสองพี่น้องนี้ได้รับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสิน
จนกรุงธนบุรีเกิดระส่ำระสาย มีการจลาจลตอนปลายรัชกาล โดยพระยาสวรรค์
ได้ทำการเข้ายึดอำนาจไว้
ขุนสรวิชิต (หน) นายด่านเมืองอุทัยธานี
ได้ยกกำลังทหารด่านนำข้อราชการเหตุจลาจลที่กรุงธนบุรีไปรายงาน
และนำทหารด่านเมืองอุทัยธานีออกไปรับกองทัพ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
(ทองด้วง) ณ ทุ่งแสนแสบ (เขตบางกะปิ)
แล้วนำกองทัพเข้ากรุงโดยตั้งทัพพักที่วัดสระเกศ ๑ คืน
ครั้นรุ่งเช้าวันเสาร์ที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ตรงกับแรม ๙ ค่ำเดือน ๕ เวลา ๒ โมงเศษ
สมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)
ได้จัดกระบวนกองทัพเดินตรงมานั่งเรือพระที่นั่งข้ามไปยังกรุงธนบุรีทำการปราบจลาจลเสร็จแล้ว
ได้ทำการชำระความบ้านเมืองซึ่งมีปรากฏในพงศาวดารว่า
มุขมนตรีทั้งหลายพร้อมกับการกราบทูลว่าพระเจ้าแผ่นดินทุจริตธรรมเสียฉะนี้
ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลังตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดินจะละไว้มิได้ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย
จึงรับสั่งให้มีการกระทู้ถามเจ้าตาก
เจ้าแผ่นดินผู้ทุจริตว่าตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใช้เราไปกระทำการสงครามได้ความลำบากกินเหงื่อต่างน้ำเราอุตสาหะทำศึกมิได้อาลัยต่อชีวิต
คิดแต่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม
จะได้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากรอยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน
ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลังตัวจึงเอาบุตร ภรรยาเรา มาจองจำโทษ แล้วโบยตีพระภิกษุสงฆ์
และลงโทษแก่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร์
เร่งเอาทรัพย์สินโดยพลการด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า
ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิฉะนี้โทษตัวมีประการใด
จงให้การไปให้แจ้ง และเจ้าตากสินก็รับผิดทั้งสิ้นทุกประการ
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ วันอาทิตย์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล
ได้ทำพิธีตั้งเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร และต่อมาวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕
วันจันทร์เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)
ได้รับปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ประดิษฐานพระราชวงศ์ใหม่ โดยนำเอานามบรรดาศักดิ์ของ
เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์
และได้สถาปนาพระราชวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระพี่นาง ๒ พระองค์ และพระเจ้าน้องยาเธออีก
๑ พระองค์ รวมเป็น ๑๙ พระองค์
เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) นั้น ได้รับสถาปนาให้เป็น
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ตำแหน่งพระมหาอุปราชวังหน้า
พระอัฐิของพระชนก ส่วนที่เป็นของพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดี (ทองด้วง)
นั้นได้อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระโกศทองคำประดับพลอยและทับทิม
ตั้งไว้บนหอนมัสการในพระบรมมหาราชวัง
สำหรับพระองค์ทรงสักการบูชาและให้พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนข้าราชการ
ได้ถวายบังคมในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแทนธรรมเนียมเดิม ที่นิยมถวายบังคมพระเชษฐบิดร
อันได้แก่รูปสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเจ้าอู่ทอง)
ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาส่วนพระอัฐิของพระชนกอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท
(บุญมา) สันนิษฐานว่าคงจะอัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระเจดีย์ทองทีมณฑปวัดมหาธาตุ
จึงต้องตั้งเครื่องทองน้อยสำหรับพระองค์ทรงสักการบูชาเป็นพิเศษ ณ
พระเจดีย์ทองในพระมณฑปสืบต่อมา
สำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิของ สมเด็จพระชนกาธิบดีสนองพระเดชพระคุณ
เพราะเมื่อพระชนกาธิบดีสวรรคตเป็นเวลาบ้านเมืองเกิดจลาจล
พระราชวงศานุวงศ์กระจัดพลัดพรากกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระพี่นาง
สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ก็หาได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระชนกาธิบดีไม่
จึงโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่
และเครื่องมหรสพสมโภชเหมือนอย่างการพระบรมโกศพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า
เจ้าอนัมก๊ก และองค์สมเด็จพระนารายณ์ รามาธิบดี
เจ้ากรุงกัมพูชาเมื่อได้ทราบข่าวก็แต่งทูตให้คุมสิ่งของเข้ามาทูลถวายช่วยในการพระเมรุทั้ง
๒ เมือง
ครั้น
ณ เดือน ๕ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๑๕๘ การพระเมรุสร้างเสร็จแล้ว วันขึ้น ๑๓ ค่ำ
โปรดให้แก่พระบรมสาริริกธาตุออกมาสู่พระเมรุมีการมหรสพสมโภช ๓ คืน ๓ วัน
ในวันแรม ๑ ค่ำ จึงจัดพิธีแห่พระบรมอัฐิ
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชโยงพระบรมอัฐิด้วยพระองค์เอง
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
นั้นทรงพระราชทานโปรยข้าวตอกนำมาในกระบวน และพระราชวงศ์ทรงรูปสัตว์สังเค็ด
ประคองผ้าไตรเข้าในกระบวนแห่ด้วยหลายพระองค์
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในครั้งนั้นเป็นอเนกประการ
อนึ่งในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่
ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเรื่องศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับ
๑๐ ขุน ๑๐ รถ โขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ นกออกจากพระราชวังบวรฯ
มาเล่นรบในท้องสนามหลวงหน้าพลับพลาถึงมีปืนบาเรียมลางเกวียนลากออกมายิงกันสนั่นไป
ครั้งถึงวันแรม ๔ ค่ำ เชิญพระบรมธาตุแห่กลับแล้ว
เวลานั้นถวายพระเพลิงพระบรมอัฐินั้นด้วยไม้หอมต่าง ๆ
และในเวลาที่ถวายพระเพลิงพระบรมอัฐินั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลช่วยกันทรงเชิญพระจิตกาธานซึ่งประดิษฐานพระบรมอัฐิไว้ด้วยพระหัตถ์
จนถวายพระเพลิงเสร็จ รุ่งขึ้นโปรดให้แห่พระอังคารไปลอยตามประเพณี
|