รัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๑
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น คือ สมเด็จพระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เดิมนั้นชื่อ นายทองด้วง เกิดที่บ้านใกล้ป้อมเพชร
ในเกาะเมือง กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๒๐
มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙
พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้นพระองค์นี้ คือ นายทองดี
เดิมนั้นบรรพบุรุษของบุคคลในตระกูลนี้คือ จมื่นมหาสนิท (ทองคำ)
ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง (จังหวัดอุทัยธานี)
ต่อมาจมื่นมหาสนิทได้พาครอบครัวนี้ได้ย้ายเข้ามารับราชการและตั้งบ้านเรือนในกรุงศรีอยุธยารับราชการอยู่ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
(เจ้าฟ้าเพชร) อยู่ภายในกำแพงเมืองตรงข้ามป้อมเพชร (บริเวณใกล้วัดสุวรรณดาราม)
นายทองดีต่อมาได้เข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ มียศเป็น
หลวงพินิจอักษรและ พระอักษรสุนทรศาสตร์ มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์
และรักษาพระราชลัญจรของพระมหากษัตริย์
พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ผู้นี้มีบุตรธิดา ๕ คน คือ
๑.
คนโตเป็นหญิงชื่อ สา ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอ
กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี (สา)
๒.
คนที่สองเป็นชายชื่อ ขุนรามณรงค์ ได้ถึงแก่กรรมก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา
มีบุตรชายหนึ่งคน คือพระองค์เจ้าขุนเณร (พ่อขุนเณร)
เป็นนักรบกองโจรสำคัญครั้งสงครามเก้าทัพ และมีธิดาองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าชี
(กรมขุนรามินทรสุดา)
๓.
คนที่สามเป็นหญิง ชื่อ แก้ว ต่มมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าพี่นางเธอ
กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)
๔.
คนที่สี่เป็นชายชื่อ ทองด้วง ได้เข้ารับราชการเป็น หลวงยกกระบัตร เมื่อราชบุรี
เจ้าพระยาจักรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้นหรือ
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
๕.
คนที่ห้าเป็นชายชื่อ บุญมา ได้เข้ารับราชการเป็นนายสุดจินดา
ต่อมาได้ช่วยพระยาตากสินทำการกู้อิสรภาพ เมื่อพระยาตากทำการปราบพม่าได้ นายสุดจินดา
(บุญมา) จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจขวา
และได้ไปชวนหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ทองด้วง)
มารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย
ต่อมานายสุดจินดาได้รับแต่งตั้งเป็นพระอนุชิตราชา พระยายมราช
เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลก และได้รับการสถาปนาเป็น
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
บุคคลที่เป็นทายาทของตระกูลนี้ คือ
นายทองด้วงนั้นเจ้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพรและออกบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๒
ที่วัดมหาทะลาย โดยอยู่ร่วมกับพระภิกษุสิน ต่อมาคือ พระเจ้าตากสิน) และบุนนาค
(ต่อมาคือ เจ้าพระยามหานายก) วันหนึ่งซินแสหมอดูจีนมาทำนายว่า
พระสินนั้นจะได้เป็นกษัตริย์และพระทองด้วงก็จะได้เป็นกษัตริย์ด้วย
เมื่อลาสิกขาแล้วนายทองด้วงได้แต่งงานกับ
นาค
ลูกคหบดีชาวอัมพวา แขวงบางช้าง ขณะนั้นขึ้นอยู่กับเมืองราชบุรีต่อมาในรัชกาลที่ ๓
จึงตั้งเมืองสมุทรสงคราม (ขณะนั้น พ.ศ. ๒๓๐๓)
นายทองด้วงได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตรประจำเมืองราชบุรี
พ.ศ.
๒๓๐๘ นายสิน ได้เข้ารับราชการเป็นทหารที่เมืองตาก
ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ชาวบ้านจึงเรียกว่าพระยาตาก
ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยามีข้าศึกติดพระนครจึงทำให้พระยาตากที่ลงมารับตำแหน่งพระยาวชิรปราการ
เมืองกำแพงเพชรถูกขอตัวไว้เป็นกำลังอยู่ช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา
ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น พระยาตาก (สิน)
ได้รวมกำลังไพร่พลตีฝ่าค่ายพม่าไปทางเมืองจันทบุรี ส่วนนายสุดจินดา (บุญมา)
นั้นได้หลบหนีจากกรุงศรีอยุธยาไปหานายทองด้วงพี่ชายผู้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
ซึ่งเมื่อหาพบแล้วหลวงยกกระบัตรได้แนะนำให้น้องชายลงไปรับนางนกเอี้ยง มารดาพระยาตาก
(สิน) จากบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ไปหาพระยาตากที่จันทบุรีด้วย
ครั้งนี้หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีได้ฝากแหวนและดาบเล่มหนึ่งไปด้วย
เมื่อพระยาตากทำการปราบพม่าได้ นายสุดจินดา (บุญมา)
จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหามนตรี
เจ้ากรมพระตำรวจขวาและกลับมาชวนหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ทองด้วง)
มารับราชการอยู่กับสมเด็จเจ้ากรุงธนบุรีด้วย
ต่อมานายสุดจินดาได้รับแต่งตั้งเป็นพระอนุชิตราชา พระยายมราช เจ้าพระยาสุรสีห์
เจ้าเมืองพิษณุโลก และกรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ตามลำดับ
ส่วนหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ทองด้วง) รับราชการอยู่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรี
นำทัพไปรบกับอะแซหวุ่นกี้ที่พิษณุโลก ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น
สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก นำทัพไปตีเวียงจันทร์ และเมืองเขมร
ในขณะที่กรุงธนบุรีเกิดการจลาจลจึงได้นำทัพกลับมาจากเขมร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
เข้าทำการปราบปรามจลาจลซึ่งมีพระยาสวรรค์และพวกยึดพระนครไว้
วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ (ตรงกับวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๕)
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ได้เมื่อปราบจลาจลในกรุงธนบุรีได้แล้ว
เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ได้พร้อมใจอัญเชิญพระองค์เสด็จเถลิงวัลย์ราชสมบัติเป็นกษัตริย์ครองแผ่นดิน
พระองค์จึงได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี เดิมนั้นราษฎรเรียกพระนามว่า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ ได้ถวายพระนามว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามนามพระพุทธรูปยืน
ซึ่งพระองค์ทรงโปรดสร้างพระพุทธรูป ๒ องค์
อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอัยกา และสมเด็จพระบิดา คือ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ซึ่งอัญเชิญประดิษฐานไว้ในอุโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
|