สร้าง
สร้าง
กรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้นหรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
นั้นได้โปรดให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาตั้งที่ฝั่งบางกอกตะวันออกและทำการสร้างพระราชวังโดยพระราชทานนามว่า
กรุงรัตนโกสินทร์อินทรอยุธยา
(ต่อมา สมัย ร.๓ ทรงแก้นามพระนครเป็น กรุงรัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยา
สมัย ร.๔ ทรงเปลี่ยนเป็น กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์
มหินทราอยุธยา ต่อมาเปลี่ยนคำว่า บวรรัตนโกสินทร์
เป็น อมรรัตนโกสินทร์
แล้วเติมสร้อยนามต่อมา (หนังสือกินเนสบุ๊ค ได้ยกให้เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก)
คือ
กรุงเทพมหานคร
อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมนิเวศน์มหาสถาน
อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
ในพ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น สมเด็จพระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (รัชกาลที่ ๑)
ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
โดยเฉพาะพระอัฐิของสมเด็จพระชนกนาถนั้นทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระชนกาธิบดี
และได้สถาปนาให้เจ้าพระยาสุรสีห์ พิษณุวาธิราช (นายสุดจินดา บุญมา)
พระอนุชาดำรงพระอิศริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดินเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
หรือวังหน้า และต่อมาทรงแต่งตั้งพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์
ขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือวังหลัง
สถานที่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเป็นชุมชนเก่าที่เรียกว่า บางกอก คำว่าบางกอก
นั้นสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากบริเวณแห่งนั้นที่มีต้นมะกอกมาก หรือมาจากคำว่า
บางเกาะ
บางโคก
เนื่องจากพื้นที่บางกอกทั้งฝั่งธนบุรีและกรุงเทพนั้นมีคลองและแม่น้ำล้อมรอบ
คล้ายเกาะ และเป็นที่เนินสูงเหมือนเกาะ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น (รัชกาลที่ ๑) ทรงขอให้คนจีน
(บรรพบุรุษของพระยาโชฎึกเศรษฐี ต้นสกุล โชติกเสถียร)
ที่ตั้งบ้านเรืองทำแปลงสวนผักอยู่ตรงบริเวณที่จะสร้างพระบรมมหาราชวังนั้น
โดยโปรดให้ไปอยู่ที่สำเพ็งหรือ สามเพ็ง (วัดปทุมคงคา) และวัดสามปลื้ม
(วัดจักรวรรดิราชาวาส) แทน
เพื่อพระองค์ใช้สถานที่นั้นสร้างพระบรมมหาราชวังตามแบบอย่างเหมือนกรุงศรีอยุธยา
การสร้างพระบรมมหาราชวังนั้นปรากฏในพงศาวดารว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น (รัชกาลที่ ๑) ทรงมีพระราชดำริว่า
เมืองธนบุรีนี้ฝั่งฟากตะวันออกเป็นชัยภูมิดีกว่าฝากตะวันตก
ฝั่งตะวันออกนั้นเสียแต่เป็นที่ลุ่ม
เจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอน แต่เป็นที่ท้องคุ้งน้ำ
เซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร
พระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานเล่า ก็ตั้งอยู่ในอุปจาร
ระหว่างวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ควรเป็นที่รังเกียจ
ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินใจสร้างพระนครใหม่ขึ้นที่ฝั่งตะวันออก
โดยตั้งพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้น ๑๐ ค่ำ ฤกษ์เวลา
ย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที
บริเวณด้านตะวันตกนั้นมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมืองขนาดใหญ่
และด้านตะวันออกมีคูเมืองเดิมที่สร้างสมัยกรุงธนบุรี
เมื่อมีการสร้างพระบรมมหาราชวังได้ให้ชุมชนคนจีนที่ปลูกผักอยู่นั้น คือ
พระยาราชาเศรษฐีและพวกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม
(วัดจักรวรรดิ) ไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง (คือวัดปทุมคงคา) แทน
เพื่อใช้พื้นที่นั้นสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียร ล้อมรอบด้วยปราการระเนียดไม้ไว้ก่อน
พอเป็นที่ประทับอยู่ควรแก่เวลา
การสร้างพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้น
ได้ถ่ายแบบพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยามาเกือบทุกอย่าง ได้แก่
กำหนดการสร้างกำแพงใกล้ชิดกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยหันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ
เอาแม่น้ำไว้ด้านซ้ายของพระราชวังอย่างพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา
แล้วใช้กำแพงด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงปราการชั้นนอก
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น (รัชกาลที่ ๑)
ทรงวางผังพระที่นั่งและพระราชมณเฑียรต่าง ๆ
นั้นในลักษณะเดียวกันกับพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ
สร้างหมู่พระมหามณเฑียรให้สร้างตรงกับพระวิหารสมเด็จที่พระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนั้นตรงกับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
ส่วนตำแหน่งของพระที่นั่งองค์กลางที่ตรงกับพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทนั้นยังไม่ได้สร้างขึ้น
(ภายหลังในสมัยรัชกาลที่ ๕
ได้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทให้ตรงกับพระศรีสรรเพชญ์ปราสาท)
และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นสร้างตรงกับพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา
ครั้งนั้นพระองค์ทรงโปรดให้สร้างหมู่พระมหาปราสาท ราชมณเทียรสถานขึ้นภายในพระราชวัง
การสร้างพระที่นั่งขึ้นในครั้งแรกนั้น
พระองค์ทรงโปรดได้ทำการสร้างพระมหามณเฑียรและพระมหาปราสาทเป็นเครื่องไม้
ส่วนป้อมและกำแพง พระอุโบสถ พระอารามหลวง คือวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นก่ออิฐถือปูน
สำหรับซุ้มประตูพระราชวังนั้นสร้างเครื่องยอดไม้ทรงมณฑปประกอบลายปูนปั้นและบานประตูทาสีแดงอย่างเดียวกับกรุงศรีอยุธยา
พระมหาปราสาทที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น
(รัชกาลที่ ๑) ทรงโปรดให้ถ่ายแบบของพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทในพระราชวังหลวง
กรุงศรีอยุธยามาสร้าง โดยมีพระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวาขวาและเรือนจันทร์เป็นบริเวณ
พระมหาปราสาทนี้สร้างสำเร็จยกยอดขึ้นในวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำปีมะโรง ฉสก
จุลศักราช ๑๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๒๗ ทรงพระราชทานนามว่า
พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท นับเป็นพระมหาปราสาทองค์แรกในพระบรมมหาราชวัง
กรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ได้แยกเรียกพระที่นั่งองค์นี้เป็น ๓ องค์ คือ
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
พระที่นั่งที่สร้างในพระบรมมหาราชวังนั้นมี พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างสมัย ร.๑
ใช้แบบใกล้เคียงกับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์สมัยอยุธยา
พระที่นั่งที่สร้างขึ้นภายหลังนั้นมีพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทใช้อาคารแบบฝรั่ง
ส่วนบนใช้ทรงไทยยอดปราสาทสร้างสมัย ร.๕ ใน พ.ศ. ๒๔๑๙ พระที่นั่งบรมพิมาน สร้างสมัย
ร.๕ แบบยุโรป
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๑
เสด็จพระราชดำเนินทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาดออกพระราชวังเดิม
ข้ามฝั่งมาที่พระราชวังใหม่ เข้าพระราชพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์
แล้วจึงโปรดทำการสถาปนาพระราชวงศ์แต่งตั้งข้าราชการวังหลวง วังหน้า พระราชาคณะ
และแบ่งหัวเมือง
พระบรมมหาราชวังนั้นในครั้งแรกมีเนื้อที่ทั้งหมดเพียง ๑๓๒ ไร่
คือมีอาณาเขตในด้านเหนือเป็นหน้าพระราชวัง เขต
ทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเป็นซ้ายและขวาพระราชวังเขตด้านทิศใต้เป็นท้ายวัง
มีเขตสุดเพียงป้อมอนันตคีรี ซึ่งเป็นป้อมมุมพระราชวังทางตะวันออกเฉียงใต้
แนวกำแพงตรงมาด้านทิศตะวันตกนั้นบรรจบป้อมสัตตบรรพต
ดังนั้น
เมื่อสร้างพระบรมมหาราชวังเสร็จแล้วจึงยังมีเนื้อที่ว่างอยู่บริเวณท้ายวังเหลืออีกประมาณ
๒๐ ไร่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น (รัชกาลที่ ๑)
จึงโปรดให้เสนาบดีและข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดมาปลูกสร้างเคหสถานอยู่เป็นแนวป้องกันดูแลรักษาพระบรมมหาราชวังทางด้านหลังด้วย
ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินกลาง (รัชกาลที่ ๒)
ภายหลังตั้งพระนามตามชื่อ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เช่นกัน) ทรงเห็นว่า
บรรดาเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนข้าราชบริพารเพิ่มขึ้นจำนวนมากจนคับคั่งในเขตจัดสรรด้านหลัง
พระองค์จึงโปรดให้ขยายเขตพระบรมมหาราชวังทางด้านทิศใต้ออกไป
และสร้างป้อมมณีปราการที่มุมตะวันออกเฉียงใต้
มีกำแพงตัดตรงมาสู่ป้อมภูผาสุทัศน์ทางด้านตะวันตก
และที่ป้อมนี้ยังมีประตูพิทักษ์บวรตรงมุมถนนที่ท้ายวัง ตัดกับถนนมหาราช
รวมเนื้อที่จัดสรรอีก ๒๐
ไร่เศษที่รัชกาลก่อนนั้นโปรดพระราชทานให้เสนาบดีและข้าราชบริพารปลูกเคหสถานอยู่ท้ายวัง
เจ้าเป็นเขตพระบรมมหาราชวังเสีย จึงทำให้พระบรมมหาราชวังมีเนื้อที่ ๑๕๒ ไร่ ๔ งาน
จดเขตริมถนนระหว่างวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลวิมังคลาราม) พอดี
เสนาบดีและข้าราชบริพารที่อาศัยอยู่เดิมนั้น
ต่อมาพระองค์ได้โปรดให้จัดสรรที่ดินให้ใหม่ พระราชทานเป็นการตอบแทนกับที่ดินท้ายวัง
สำเร็จลงใน พ.ศ. ๒๓๖๐
สรุปแล้วกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือหน้าพระราชวังยาว ๔๑๐ เมตร
ด้านทิศตะวันออกยาว ๕๐๐ เมตร ด้านทิศใต้ยาว ๓๖๐ เมตร
และด้านทิศตะวันตกขนานกับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ๓๖๐ เมตร
มีกำแพงใบเสมาก่ออิฐโบกปูนหนาขนาดสูงและใหญ่
โดยมีป้อมปราการรายล้อมอยู่เป็นระยะและมีประตูหน้าหลังพระราชวังระหว่างกำแพงพระราชวังทั้ง
๔ ด้าน
การสร้างพระบรมมหาราชวังของกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. ๒๓๒๖ นั้น
พระองค์โปรดได้ให้ตั้งกองสักเลข ไพร่หลวง สมกำลังและเลขหัวเมืองทั้งปวง
ขึ้นไปเกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่
และให้กำลังบางส่วนขึ้นไปรื้อเอาอิฐมาจากป้อมกำแพงเมืองของกรุงศรีอยุธยา
ทำการก่อสร้างพระนครทำให้โบราณสถานต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยา ถูกทำลายเสียหายมากขึ้น
|