นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ |
พญาเม็งราย เจ้าเมืองเงินยาง องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลาว ได้แผ่อำนาจจากแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำกก มาจนถึงแคว้นหริภุญไชย
ตีเมืองเล็กเมืองน้อยในเขตลุ่มแม่น้ำกกได้ทั้งหมด ตั้งเป็นแคว้นโยนก ส่วนเมืองใหญ่ เช่น เมืองพะเยาของพญางำเมือง ทรงใช้วิธีผูกสัมพันธไมตรี หลังจากนั้นได้แผ่อิทธิพลลงทางใต้ และสร้างเมืองเชียงรายเป็นศูนย์กลาง แล้วจึงเข้าตีแคว้นหริภุญไชย ซึ่งขณะนั้น
มีความเจริญมั่นคง เป็นชุมทางการค้า มีแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางขนส่งไปยังเมืองอโยธยาตอนล่าง ที่อยู่ใกล้ทะเล และสามารถติดต่อค้าขายกับจีนได้สะดวก
|
เมื่อพญาเม็งรายตีได้แคว้นหริภุญไชยสำเร็จ จึงได้รวมเข้ากับแคว้นโยนกตั้งเป็น "อาณาจักรล้านนา" พร้อมกันนั้นพญาเม็งราย
พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง จึงได้ร่วมกันสถาปนา "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" เมื่อปี พ.ศ. 1839 เป็นศูนย์กลาง
อาณาจักรล้านนาตอนล่าง ที่นับเป็นศูนย์รวมของการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอาณาจักร มีผู้ครองนครราชวงศ์เม็งรายต่อมาอีก 18 องค์
บริเวณเมืองเชียงใหม่ อยู่ระหว่างเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) และบริเวณที่ราบฝั่งขวาของเม่น้ำปิง (พิงคนที)
|
ความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา
|
ภายหลังที่พญาเม็งรายสถาปนาเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาตอนล่างแล้ว ได้ทรงสร้างอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การค้า และศาสนา
|
ด้านการเมือง การปกครอง
|
พญาเม็งรายทรงส่งพระญาติวงศ์ไปปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นเมืองขึ้น หรือเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น ลำปาง เชียงตุง
เชียงรุ้ง ส่งโอรสไปปกครอง เมืองที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เมืองนาย หัวเมืองไทไหญ่ และเชียงราย ซึ่งในระยะแรก ถือเป็นศูนย์กลางของการปกครองอาณาจักรล้านนาตอนบน
รัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 ที่ได้รับการยกย่อง ให้มีฐานะเป็น "ราชาธิราช" เท่ากับกษัตริย์อยุธยา ทรงแผ่ขยายอาณาเขตของล้านนาไปอย่างกว้างขวาง โดยทางด้านใต้และด้านตะวันออก ยึดได้เมืองน่าน แพร่ จนถึงหลวงพระบาง
|
ด้านตะวันตกขยายไปจนถึงรัฐฉาน เช่น เมืองไลคา สีป้อ ยองห้วย ด้านเหนือยึดได้เมืองเชียงรุ้งและเมืองยอง นอกจากนั้นยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ นานถึง 25 ปี แต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนผูกสัมพันธไมตรีต่อกัน
ด้านศาสนา
พญาเม็งราย ทรงรับอิทธิพลศาสนาพุทธจากแคว้นหริภุญไชยซึ่งเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาตั้งแต่เดิม จนสมัยของพญากือนา
กษัตริย์องค์ที่ 6 ที่ได้ทรงรับเอาลัทธิลังกาวงศ์ จากอาณาจักรสุโขทัยมาเผยแพร่ ได้โปรดให้สร้างวัดวาอารามและเจดีย์มากมาย เช่น
สร้างวัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม รวมทั้งวัดพระธาตุดอยสุเทพและเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย แล้วอัญเชิญไปไว้ที่วัดสวนดอก และวัดพระธาตุดอยสุเทพ
|
นอกจากนั้น ทรงได้สนับสนุนให้พระภิกษุจากเมืองต่าง ๆ มาศึกษาพระธรรมวินัยแบบลังกาวงศ์ที่วัดบุปผาราม และอาราธนาพระสงฆ์ในนิกายเดิมมาบวชใหม่ในนิกายลังกาวงศ์อีกด้วย จึงทำให้ในรัชสมัยของพระองค์เป็นศูนย์กลางทางศาสนาแทนหริภุญไชยไปในที่สุด
ในรัชสมัยของพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์องค์ที่ 8 ได้ส่งคณะสงฆ์ เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนายังลังกา และได้กลับมาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ ไปยังเมืองต่าง ๆ จนทำให้พระภิกษุตื่นตัวศึกษาปริยัติธรรมจนแตกฉาน
สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 ได้ทรงให้จัดการ สังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8
ของโลก
|
ทรงสร้างวัดขึ้นอีกหลายวัด เช่น วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) วัดป่าแดงมหาวิหาร เป็นต้น ทรงสร้างต่อเติมเจดีย์หลวงให้สูงขึ้น ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดพระธาตุลำปางหลวงมาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์หลวง
ล่วงมาในสมัยพญาแก้ว หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 ภิกษุชาวเชียงใหม่ ได้สร้างผลงานวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่สำคัญไว้มากมาย เช่น จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ เวสสันดร ทีปนี มูลศาสนา และปัญญาสชาดก เป็นต้น
การล่มสลาย
|
อาณาจักรล้านนา เริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัยพญาแก้ว เนื่องจากกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่เชียงตุงในการทำสงคราม
เสียชีวิตไพร่พลลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเกิดอุทกภัยขึ้น ในเชียงใหม่ ทำให้เสียชีวิตผู้คนลงอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้บ้านเมือง
เริ่มเกิดความไม่มั่นคง ภายหลังจากที่พญาแก้วสิ้นพระชนม์ กษัตริย์องค์ต่อมาอ่อนแอ อีกทั้งเกิดมีการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ
จนทำให้ขุนนางมีอำนาจมากขึ้น จนถึงกับแต่งตั้งหรือถอดถอน กษัตริย์ได้ เมื่อศูนย์กลางอำนาจเกิดสั่นคลอน เมืองในปกครองจึงแยกตัวเป็นอิสระ แย่งชิงอำนาจ และไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการ
|
จนถึงสมัยมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15 กองทัพไทใหญ่ที่ได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ยกมาปล้นเมือง และเมื่อกองทัพอยุธยา
ก็ได้ยกมาล้อมเชียงใหม่ หัวเมืองต่าง ๆ ก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งเมื่อพม่ายกทัพมาล้อมเชียงใหม่ ในสมัยท้าวแม่กุเพียง 3 วัน เชียงใหม่จึงเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2101 และนับจากนั้นเป็นต้นมา อาณาจักรล้านนาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี
การเป็นอิสระจากพม่า
ระหว่างที่พม่าได้ปกครองล้านนามาเป็นเวลายาวนานนั้น คราวใดที่พม่ามีกษัตริย์ที่อ่อนแอ ผู้นำชาวล้านนาก็จะลุกขึ้นต่อต้าน
ที่จะแยกเป็นอิสระ
ในปี พ.ศ. 2101-2207 พม่ายอมให้ล้านนาปกครองตนเอง แต่ต้องส่งบรรณาการแก่พม่าในฐานะเป็นเมืองขึ้น
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2207 พม่าได้รวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า พร้อมทั้งส่งขุนนางพม่ามาปกครอง ทั้งได้แยกเชียงแสนออกจากเชียงใหม่ และตั้งเป็นฐานที่มั่นของพม่า เพื่อทอนอำนาจของเชียงใหม่ที่พยายามจะแยกตัวเป็นอิสระ
ในปี พ.ศ. 2270 เชียงใหม่ได้แยกตัวเป็นอิสระจากพม่าได้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกพม่ายึดกลับคืนได้อีกในปี พ.ศ. 2306
เชียงใหม่จึงถูกพม่าปกครองอย่างเข้มงวดและกดขี่ขูดรีด ทำให้ขุนนางล้านนาไม่อาจทนได้ในที่สุด พระยาจ่าบ้าน ขุนนางเมือง
เชียงใหม่ กับพระยากาวิละเจ้านครลำปาง พากันมาเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน และร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากขับไล่พม่าจากเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ. 2317 และอีก 30 ปี ต่อมาจึงสามารถขับไล่พม่าจากเชียงแสนได้
ประเพณีล้านนา
|
นับจากอดีต ชีวิตของชาวล้านนาผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้จากการดำเนินชีวิต และสถาบันทางศาสนาในชุมชน รวมทั้งระบบหัววัด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของวัดต่าง ๆ ไม่ว่าใกล้หรือไกลกัน และคนในชุมชนหนึ่งชักชวนคนอีกชุมชนหนึ่งมาทำบุญที่วัดของตน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กัน
ขณะที่พุทธศาสนามีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตของคนเมืองอย่างลึกซึ้ง
แต่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีปู่ย่าและผีเสื้อเมือง ผีเจ้าเมืองก็มีปะปนอยู่
จนแยกกันไม่ออก ชาวล้านนาสามารถนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานกันได้
อย่างกลมกลืน ในงานพิธีและประเพณีต่าง ๆ ซึ่งจะพบได้ในปัจจุบัน
ประเพณีและงานพิธีที่สำคัญในรอบปีของชาวเชียงใหม่มีอยู่มากมาย
อาทิ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีเข้าอินทขีล ประเพณี ลอยโคมลอยโขมด ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง และพิธีเลี้ยงผีปู่และย่า เป็นต้น
|
ประเพณีสงกรานต์
|
ประเพณีสงกรานต์เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนศักราชใหม่ และขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ทั้งหลาย ให้ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้ล่วงไปในปีเก่า พร้อมทั้ง
เตรียมร่างกายและจิตใจให้สดใสรับปีใหม่ โดยจะเริ่มจัดขึ้น
ตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 18 เม.ย. ของทุกปี แต่ชาวล้านนาถือวันที่
15 เม.ย. เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ ต่างจากภาคกลาง และในระยะเวลา
6 วันนี้จะประกอบพิธีหลายอย่าง
วันที่ 13 เม.ย. ถือเป็นวันสังขารล่อง (วันสิ้นสุดปีเก่า)
ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะยิงปืน จุดประทัด ก่อนสว่าง เพื่อขับไล่
เสนียดจัญไร แล้วเก็บกวาดบ้านเรือน หิ้งพระ
|
วันที่ 14 เม.ย. เป็นวันที่เรียกกันว่า "วันเนา" หรือ "วันเน่า" วันนี้ชาวเชียงใหม่จะทำแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล พร้อมทั้งตระเตรียมอาหาร
คาวหวาน เครื่องไทยทาน เพื่อทำงานบุญในวันสงกรานต์ และไปขนทรายเข้าวัด
วันที่ 15 เรียกว่า "วันพญาวัน" ถือเป็นวันเริ่มศักราชใหม่ ชาวเชียงใหม่จะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และถวายอาหารพระที่เรียกว่า
"ทานขันข้าว" เพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ และสรงน้ำพระ หลังจากนั้นจึงนำขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้น ส้มป่อย หมากพลู
เมี่ยง หรืออาจมีเครื่องนุ่งห่ม ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
ส่วนวันที่ 16-18 เม.ย. เรียกว่า "วันปากปี ปากเดือน ปากวัน" จะเป็นวันประกอบพิธีกรรมสักการะต่อวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป
ประเพณีเข้าอินทขีล
|
อินทขีล เป็นชื่อของเสาหลักเมืองของชาวเชียงใหม่ เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขีล กลางเมืองเชียงใหม่
แต่ปัจจุบันย้ายไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง ในสมัยของพระยากาวิละ และได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นเสาปูน
การจัดงานประเพณีเข้าอินทขีล จัดขึ้นในปลายเดือน 8 ต่อต้นเดือน 9 (พฤษภาคม-มิถุนายน) ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วันเดือน
8 เข้า เดือน 9 ออก
|
เดิมประเพณีนี้ เจ้าผู้ครองนครจะจัดขึ้นเพื่อสังเวยเทพยดาอารักษ์ บูชากุมภัณฑ์ และมีพิธีเข้าทรงผีเจ้านาย เพื่อสอบถามว่า
ฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์ และชะตาบ้านเมืองจะดีหรือไม่ หากชะตาของบ้านเมืองไม่ดี ก็จะจัดพิธีสืบชะตาเมืองเพิ่มขึ้นด้วย และปัจจุบันได้เพิ่มการทำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง โดยการแห่พระพุทธรูปคันธารราษฎร์ (พระเจ้าฝนแสนห่า) รอบเมือง และจะนำมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวง เพื่อให้ชาวเมืองสรงน้ำ จากนั้นพระสงฆ์ 9 รูป จะเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขีล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดิน
การประกอบพิธีนี้ เพื่อมุ่งเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของชาวเมืองก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก
ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง
|
วัดพระธาตุจอมทองวรวิหาร เป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่สำคัญ ตั้งอยู่บนเนินสูงราว 10 เมตร ที่เรียกว่า "ดอยจอมทอง" และมีเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ (ส่วนที่เป็นพระเศียรด้านขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
พระบรมสารีริกธาตุจอมทองนั้น ประดิษฐานอยู่ในพระโกศ 5 ชั้น มีจำนวน 1 องค์ ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว มีสีขาวนวลและ
ออกน้ำตาลคล้ายสีดอกพิกุลแห้ง บรรจุไว้ในเจดีย์ ซึ่งจะมีการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำ 2 ครั้ง ในทุกปี คือวันที่พระบรมสารีริกธาตุเข้าพรรษาและออกพรรษา
|
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของแต่ละปี จะเป็นวันที่พระบรมสารีริกธาตุเข้าพรรษา พระภิกษุจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกจากพระโกศ 5 ชั้น มาประดิษฐานในพระโกศแก้วใส แล้วแห่ไปทำพิธีที่โบสถ์ ในระหว่างทางชาวบ้านจะโยนข้าวตอกดอกไม้ไปยังพระโกศ
เพื่อถวายเป็นสักการะ เมื่อทำพิธีเสร็จก็จะแห่จากโบสถ์ไปยังหอสรงข้างวิหาร หอสรงนี้จะมีรางน้ำเป็นรูปตัวนาคสำหรับใช้สรงน้ำ
และเดิมจะใช้น้ำแม่กลาง ผสมด้วยดอกคำฝอย เป็นน้ำสำหรับสรง แต่ปัจจุบันใช้น้ำสะอาดธรรมดา เสร็จแล้วจึงอัญเชิญเข้าจำพรรษาในพระโกศ 5 ชั้น ตามเดิม และกลางคืนพระภิกษุจะสวดเจริญพระพุทธมนต์ เป็นอันเสร็จพิธี
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของแต่ละปี จะเป็นวันที่พระบรมสารีริกธาตุออกพรรษา จะมีประเพณีพิธีการเช่นเดียวกับวันที่พระบรมสาริกธาตุเข้าพรรษา แต่จะเป็นพิธีเล็กกว่า ชาวบ้านไม่ค่อยมาร่วมสรงน้ำมากนัก
ประเพณีลอยโคมและลอยโขมด
|
เป็นประเพณีการทำบุญและสนุกสนานร่าเริง หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับงานในท้องไร่ ท้องนา ของชาวล้านนา โดยจะจัดให้มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันยี่เป็ง" โดยการลอยโคมในเวลากลางวันและกลางคืน และลอยโขมดหรือลอยกระทงเวลากลางคืน
วันขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ตามวัดวาอารามและบ้านเรือน จะประดับตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อย โคมไฟ และดอกไม้นานาชนิด โดยสร้างขึ้นเป็นประตูป่า เพื่อเตรียมในการตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) ในวันขึ้น 15 ค่ำ
|
|
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรและฟังเทศมหาชาติ โดยเป็นการเทศน์แบบพื้นเมือง ที่พระสงฆ์จะขึ้นไป
เทศน์บนธรรมมาสน์บุษบก และในตอนค่ำชาวบ้านจะนำผางผะติ๊ด (ถ้วยประทีป) มาที่วัดเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
และฟังเทศน์ และการจุดผางผะติ้ดนี้ คนล้านนาถือว่าได้บุญมาก เมื่อเสร็จจากการบูชาผางผะติ้ดก็จะเป็นการจุดโคมไฟ หรือลอยโคม
และลอยโขมดหรือลอยกระทง พร้อมกับเล่นดอกไม้ไฟ
|
การปล่อยโคมลอยมี 2 ลักษณะ
1. ปล่อยโคมลอยในตอนกลางวัน เรียกว่า ว่าว โดยทำโคมด้วยกระดาษสี แล้วให้ลอยสู่ท้องฟ้าด้วยความร้อนคล้ายบอลลูน เพื่อปล่อยทุกข์โศกและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ไป
2. ปล่อยโคมลอยในเวลากลางคืน เรียกว่า โคมไฟ โดยใช้ไม้พันด้ายเป็นก้อนกลม ชุบน้ำมันยางหรือน้ำมันขี้โล้แขวนปากโคม
แล้วจุดไฟปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์
|
สำหรับการลอยโขมดหรือการลอยกระทงของล้านนา จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ เช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า ลอยโขมดนั้น
เนื่องจากกระทงเมื่อจุดเทียนแล้วปล่อยลงน้ำ จะมีแสงสะท้อนกับเงาน้ำวับแวมดูคล้ายแสงของผีโขมด
ชาวล้านนาจะลอยกระทงเล็ก ๆ กับครอบครัว เพื่อนฝูง ในวันขึ้น 15 ค่ำ ส่วนกระทงใหญ่ที่ร่วมกันจัดทำ นิยมลอยในวันแรม 1 ค่ำ
กระทงเล็กของชาวเชียงใหม่ แต่เดิมใช้กาบมะพร้าว ที่มีลักษณะโค้งงอ เหมือนเรือเป็นกระทง แล้วนำกระดาษแก้วมาตกแต่งเป็นรูปนกวางดอกไม้ และประทีบไว้ภายใน
|
พิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ
|
เป็นพิธีที่ชาวเชียงใหม่ทำมาแต่ในอดีต เพื่อสังเวยเครื่องเซ่นแก่ผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยักษ์ชอบกินเนื้อคน
และจะทำพิธีขึ้นในวันขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ที่เชิงป่าดอยคำด้านตะวันออกของตำบลแม่เหียะ เป็นประจำทุกปี และชาวบ้านจะต้องร่วมกันทำพิธีฆ่าควายเซ่นสังเวย หากไม่ทำพิธีนี้จะทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุข เกิดภัยพิบัติ และในพิธีเลี้ยง จะมีการเข้าทรงเจ้านาย เพื่อพยากรณ์ถึงความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองด้วย พิธีนี้ได้เลิกไปเมื่อเชียงใหม่ตกเป็นของพม่า จนถึงสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา จึงได้รื้อฟื้นขึ้นอีก
|
ประเพณีการทำบุญสลากภัตต์
การทำบุญนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า "กิ๋นสะลากฮากไม้" ปัจจุบันเรียก "ทานสลาก" หรือ "ทำบุญสลาก" ทำขึ้นที่วัดเชียงมั่น
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ วัดเจดีย์หลวง ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 เหนือ และวัดพระสิงห์ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ
สมัยก่อนไม่มีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารเช่นปัจจุบัน คือ เมื่อพระสงฆ์หรือสามเณรจับสลากมากน้อยเพียงใด ก็ขบฉันเฉพาะอาหาร
เท่าที่บอกในสลากเท่านั้น
การจับสลากภัตต์มี 2 วิธี คือ จับเส้นและจับเบอร์ การจับเส้นเป็นวิธีเก่า คือเขียนข้อความการทำบุญสลากและชื่อผู้ศรัทธา ลงในแผ่นกระดาษแข็ง ใบตาล ใบลาน หรือวัตถุอื่นใดเท่ากับจำนวนของไทยทาน เป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับและเพื่อเป็นบุญกุศลต่อตนเอง โดยการนำไปกองรวมกันในโบสถ์หรือวิหารที่จัดไว้ แล้วให้พระเณรมาจับตามจำนวนที่กำหนด ส่วนสลากที่เหลือก็ถวายแก่พระพุทธ จากนั้นชาวบ้านจึงถวายของตามชื่อเส้นของตน หลังจากพระให้ศีลให้พรแล้ว จึงรับเส้นของตนไปเผา พร้อมทั้งตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย เป็นอันเสร็จพิธี
ส่วนวิธีจับเบอร์นั้น เป็นที่นิยมกันมากกว่าวิธีจับเส้น มีวิธีการคือ ทำเบอร์ของไทยทานเท่ากับจำนวนพระเณร แล้วมีวิธีจับเช่นเดียวกับการจับเส้น
ประเพณีการเลี้ยงขันโตก
|
ขันโตก เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารของชาวเหนือ ทำด้วยไม้สัก ทาด้วยหางสีแดง สูง 8-10 นิ้ว มีขาไม้สักกลึงเป็นรูปกลมตั้งบนวงล้อรับอีกอันหนึ่ง ขันโตกจะกว้างประมาณ 10-30 นิ้ว
สมัยโบราณคนพื้นเมืองนิยมใช้ขันโตกสำหรับใส่อาหาร รับประทานในครัวเรือน แต่ความนิยมใช้ค่อยเสื่อมลงเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น และคนหันไปนิยมของใช้จากต่างประเทศแทน ขันโตกจึงใช้เฉพาะเป็นธรรมเนียมในการต้อนรับแขกเมือง และบุคคลสำคัญเท่านั้น
|
วัดในพระพุทธศาสนา
|
เชียงใหม่เป็นเมืองพุทธศาสนา ผู้คนนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 97
ในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ชาวพุทธในจังหวัดเชียงใหม่
จะพากันไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ และเวียนเทียนตามวัดต่าง ๆ และจะให้ความร่วมมือในการบริจาค หรือทำบุญ ถวายทาน ในการก่อสร้างถาวรวัตถุในทางพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทำให้ศาสนาพุทธมีความรุ่งเรืองมาก
|
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ มีวัดอยู่ประมาณ 441 วัด มีวัดที่สำคัญ ๆ ได้แก่ วัดเชียงมั่น วัดพระสิงห์ วัดโพธารามมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวง
วัดกู่เต้า วัดสวนดอก วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุศรีจอมทอง วัดอุโมงค์เถรจันทร์ วัดช้างค้ำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละวัดเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยโบราณ และมีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง
วัดเชียงมั่น
เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง เชียงใหม่ สร้างในสมัยพ่อขุนเม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1839
หลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว จึงได้ทรงยกพระตำหนักที่ประทับชื่อว่า "ตำหนักเชียงมั่น" ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น
และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญของเชียงใหม่องค์หนึ่ง ชื่อว่า "พระเสตังคมณี" หรือชาวบ้านเรียกว่า "พระแก้วขาว"
สร้างที่เมืองละโว้เมื่อ 700 กว่าปีมาแล้ว และพระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาไว้ที่หริภุญไชย เมื่อพ่อขุนเม็งรายตีเมืองลำพูนโดยใช้ธนูไฟยิงเข้าไปในเมือง เกิดไฟไหม้ แต่หอพระเสตังคมณีซึ่งเป็นหอไม้สักตั้งอยู่กลางปราสาทไม่เป็นอันตราย พระองค์จึงได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดเชียงมั่น และทรงนับถือพระเสตังคมณีมาก ไม่ว่าจะเสด็จที่ใดต้องอัญเชิญไปด้วยทุกแห่ง
นอกจากนี้ วัดนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาหลัก ปางปราบช้างนาฬาคิรี และมีพระเจดีย์ช้างล้อมสูงประมาณ 13 วา
ที่ฐานเจดีย์มีรูปช้างปูนปั้นล้อมรอบ เป็นบูชนียวัตถุที่มีอายุเกือบ 700 ปี อีกด้วย
วัดพระสิงห์วรวิหาร
|
เป็นวัดที่สำคัญอีกวัดหนึ่งของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ผู้สร้างคือ พระเจ้าผายู หรือหรยู
กษัตริย์ล้านนาไทย ลำดับที่ 7 เดิมโปรดให้สร้างพระเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิ และพระอังคารของพระเจ้าคำพูผู้เป็น
พระราชบิดา ใน พ.ศ. 1888
ต่อมาโปรดให้สร้างพระอาราม ประกอบด้วยเสนาสนะและพระวิหารขึ้น จึงนับเป็นพระอารามอันดับที่ 3 ภายในกำแพงเมือง
และทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ"
|
สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 9 ของเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร
หน้าตักกว้างศอกเศษ พุทธลักษณะงดงามมาก จากเมืองเชียงรายมาเชียงไว้ และสร้างมณฑลประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ในวิหารลายคำ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดนี้ตามชื่อพระพุทธรูปไปด้วย ต่อมาชาวเชียงใหม่จึงเรียกพระพุทธรูปอย่างสั้น ๆ ว่า "พระสิงห์"
และเรียกชื่อวัดว่า "วัดพระสิงห์" ด้วย
|
วัดพระสิงห์นี้เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เป็นวัดทีมีโบสถ์ วิหาร หอไตร ซึ่งสลักหน้าบันเป็นรูป
เทพนมปูนปั้น รวมทั้งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกด้วย จึงนับว่าเป็นวัดที่ รวมศิลปกรรมล้านนาที่สวยงามที่สุด
|
วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจดีย์เจ็ดยอด)
|
ตั้งอยู่ที่ตำบลเจ็ดยอด อำเภอเมือง เชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์เม็งราย โดยพระองค์ได้ส่งช่างชาวล้านนาไปดูแบบเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย แล้วนำแบบมาสร้างที่เมืองเชียงใหม่ ด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น
แต่ย่อขนาดให้เล็กลงกว่าของจริง สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1998
ในปี พ.ศ. 2020 ได้ใช้วัดนี้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก วัดนี้นับเป็นวัดที่มีเจดีย์เจ็ดยอดที่สวยงามมาก ปัจจุบันหักพังไปเกือบหมด
|
วัดเจดีย์หลวง
|
เป็นพระอารามหลวงและมีเจดีย์ใหญ่มาก ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา
กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์เม็งราย
ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ช่างไปจำลอง แบบเจดีย์จากพุทธคยา แล้วกลับมาสร้างเป็นเจดีย์ใหญ่มหึมา สูง
86 เมตร ฐานกว้างด้านละ 45 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1954 ต่อมาในปี พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิรประภา ได้เกิดแผ่นดินไหว
ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง
วัดนี้มีพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารที่สำคัญ คือ พระอัฎฐารส สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช
|
ในสมัยบ้านเมืองไม่ปกติสุข วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างไปชั่วระยะหนึ่ง และได้บูรณะขึ้นโดยเจ้านายในราชตระกูลเชียงใหม่
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
วัดกู่เต้า
|
เดิมชื่อ วัดเวฬุวนาราม เป็นวัดที่มีพระเจดีย์ลักษณะ แปลกไปกว่าพระเจดีย์อื่น ๆ ในประเทศไทย ไม่มีประวัติแน่นชัดว่า
สร้างขึ้นในสมัยใด แต่เป็นที่บรรจุอัฐิของพระเจ้าสารวดี ราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่ในระหว่างปี พ.ศ. 2122-2150
ลักษณะของเจดีย์ คล้ายกับเอาผลแตงโมมาซ้อนกันหลาย ๆ ลูก ชาวเมืองจึงเรียกว่า "เจดีย์กู่เต้า" แต่ศิลปการก่อสร้างเป็น
ศิลปแบบพม่า
|
วัดสวนดอก
|
วัดสวนดอก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดบุปผาราม" ในอดีตบริเวณวัดนี้เป็นสวนดอกไม้ของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 8
แห่งราชวงศ์เม็งราย โดยพระองค์ได้โปรดให้สร้างเป็นอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 1914 รวมทั้งสร้างพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 1912 เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย อยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์
องค์ใหญ่ทรงลังกา 1 องค์ เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ได้หักพังลงแล้ว
|
ในสมัยราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอกมีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า
ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายเป็นวัดร้างไป แต่ได้บูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระยากาวิละ
ในปี 2450 พระนางดารารัศมี พระสนมเอกใน ร.5 ซึ่งเป็นเจ้านายในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เห็นทำเลที่วัดสวนดอกกว้างขวาง
จึงย้ายเอากู่ของเจ้านายในตระกูล ณ เชียงใหม่ มาไว้ที่นี่
|
ในปี พ.ศ. 2475 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้น และได้บูรณะวิหารหลวงหลังปัจจุบันด้วย
นอกจากสิ่งที่น่าสนใจภายในวัด เช่น พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุในเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา วิหารขนาดใหญ่เปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน
(เดิมเป็นเรือนหลวงของพระเมืองแก้ว) แล้วยังเป็นที่ตั้งของวัดเก้าตื้อ ซึ่งมีพระเจ้าเก้าตื้อประดิษฐานภายในโบสถ์
|
พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่มหึมา ตื้อเป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง พระพุทธรูปนี้ พระเมืองแก้ว
กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์เม็งราย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน หน้าตักกว้าง 8 ศอก เพื่อเป็นพระประธานในวัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมาก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดสวนดอก
วัดพระธาตุดอยสุเทพ
วัดนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาที่ชื่อว่า ดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 8
แห่งราชวงศ์เม็งราย เมื่อปี พ.ศ. 1929 และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการะบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี ไปบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคล เพื่อกำหนดที่ประดิษฐาน เมื่อพบที่บรรจุบนยอดดอยแล้ว จึงให้ขุดยอดดอยลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม
|