โบราณวัตถุ
โบราณวัตถุหมายยถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในอดีต
สามารถเคลื่อนที่ได้ เป็นหลักฐานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
กลุ่มใบเสมา
เสมาหรือสีมา หมายถึงเขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว
สำหรับภิกษุทั้งหลาย ที่อยู่ภายในเขตนั้น จะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน สีมาแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
สิทธิสีมา หมายยถึง
แดนที่ผูกได้แก่เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง และอพัทธสีมา
หมายถึง แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่ เขตที่ทางราชการกำหนดไว้ หรือเขตที่เกิดตามธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด
และสงฆ์ถือตามเขตที่กำหนดนั้น ไม่ได้ทำหรือผูกขึ้นใหม่
ในเขตจังหวัดชัยภูมิ โดยทั่วไปใบเสมาเป็นแบบแผ่นหิน ค่อนข้างหนาเทอะทะ แบ่งออกได้เป็น
๒ กลุ่มคือ
กลุ่มบ้านกุดโง้ง - บ้านคอนสวรรค์
เป็นกลุ่มที่มีการสลักภาพพุทธประวัติ และชาดก การปักใบเสมา อยู่ในทิศทางและตำแหน่งไม่แน่นอน
ที่สำคัญมีดังนี้
ใบเสมากุดโง้ง
ตำบลบุงคล้า อำเภอเมือง ฯ มีลักษณะเป็นแบบแผ่นหิน มีทั้งที่สลักภาพเป็นเรื่องราว
และรูปสัญลักษณ์ลงบนใบเสมาและแบบเรียบ ๆ ไม่มีการสลักภาพใด ๆ ลักษณะการปักใบเสมามีการปักเป็นรูปวงกลมล้อมรอบแผ่นดิน
ปักเป็นใบเสมาคู่ และมีการปักใบเสมาอยู่กลางเนินดิน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๔ - ๑๖ เป็นโบราณวัตถุอันเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยสลักภาพพระพุทธเจ้า
และเรื่องราวในชาดก เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตตไตร ภาพชาดกเรื่องสุวรรณสาม
ใบเสมาบ้านดอนสวรรค์
ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ มีลักษณะเป็นแผ่นหินและแท่งหินทรายสีแดง ไม่มีการประดับลวดลาย
ส่วนใหญ่เป็นการสลักภาพเป็นเรื่องทศชาติชาดก เช่นภาพพระเวสสันดร ลักษณะทางศิลปกรรม
คล้ายคลึงกับใบเสมาบ้านกุดโง้ง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖
ใบเสมากลุ่มอำเภอเกษตรสมบูรณ์
กลุ่มนี้รวมถึงใบเสมาที่บริเวณพระธาตุดอยสามหมื่น อำเภอภูเขียว เป็นกลุ่มที่มีการสลักลวดลายประดับอื่น
ๆ เช่น ลายกนก ไม่ค่อยสลักภาพแสดงเรื่องราว หรือทำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา
การปักใบเสมา มีทั้งปักแปดทิศ และปักในลักษณะทิศทางไม่แน่นอน ที่สำคัญมีดังนี้
ใบเสมาบ้านโนนฆ้อง
ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นใบเสมาในศิลปะทวารววดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๖ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแบบแผ่นหินเรียบ ๆ สลักลวดลายเป็นเส้นตรงกลางใบ
บางใบสลักเป็นภาพสัตว์ หันหน้าเข้าหากัน โดยปักในลักษณะตามตำแหน่งทั้งแปดทิศ
ทำให้เกิดพื้นที่ว่าง ภายในเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการปักแบบใบเดียวบ้าง
หรือสามใบบ้าง ส่วนใหญ่ยังปักอยู่ในตำแหน่งเดิม
ใบเสมาบ้านพันลำ
ตำบลสระโพน อำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นใบเสมาในศิลปะทวารวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๖ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแบบแผ่นหิน และแท่งหินที่ปลายเล็กลง ลวดลายสลักเป็นเส้นนูนตรงกลาง
ลายกลีบบัวซ้อนกัน ใบเสมา
กลุ่มพระพุทธรูป
มีอยุ่หลายองค์ด้วยกันคือ
พระใหญ่ทวารวดี
เป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่ ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อใหญ่"
สร้างด้วยศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแควกาหลง มาแต่โบราณ มีขนาดวัดรอบองค์พระ
๖๐ นิ้ว สูง๑๒๔ นิ้ว พระเศียรมีลักษณะทรงกรวย พระพักตร์รูปไข่ พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา
พระเนตรหลุบดำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว พระหัตถ์ขวาแสดงปางแสดงธรรม
พระหัตถ์ซ้ายแนบพระองค์ ครองจีวรคลุม สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ
ในดินแดนแถบนี้
พระเจ้าองค์ตื้อ
ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระเจ้าองค์ตื้อ บ้านท่าเดื่อ ตำบลบ้านยาว
อำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมานานหลายร้อยปี พระเจ้าองค์ตื้อสร้างด้วยอิฐ
ฉาบยาวไม้ทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๓ เมตร สูง ๔.๕๐ เมตร เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร
พระง่าง
เป็นพระพุทธรูปหินทราย สลักบนแผ่นหินทราย หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูง ๑๓๐
เซนติเมตร อยู่ในเขตอำเภอเนินสง่า
พระพุทธมณีมหามงคล
เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดเจดีย์ หรือวัดโพธิ์ อำเภอคอนสาร สร้างด้วยศิลาแลง
หน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๘ ศอก
หินตั้ง
เป็นแท่นหินทรายแดง มีพระพุทธรูปยืนแบบทวารวดี ตั้งอยู่บนเนินดิน กลางทุ่งนา
ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อหินตั้ง" อยู่ที่บ้านหิน ตำบลหิน อำเภอบำเหน็จณรงค์
พระแท่นบัลลังก์
เป็นแท่นหินเก่าแก่ ขนดกว้าง ๑ คืบ ๙ นิ้ว ยาว ๑ ศอก ๖ นิ้ว มีหินลูกนิมิตร
และหินคล้ายใบเสมาฝังประจำอยู่แปดทิศ สันนิษฐานว่า เป็นแท่นรองรับพระพุทธรูป
พระประธานในอุโบสุ อยู่ที่บ้านแทน ตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น
โบราณวัตถุอื่น ๆ
ได้แก่ ศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์ ในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย พระที่ภูโค้ง
ในเทือกเขาภูแลนคา นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนของเทวรูปอีกด้วย
สันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งศาสนาฮินดู ได้แพร่ขยายเข้ามายังดินแดนส่วนนี้ด้วย
|