|
จังหวัดเชียงใหม่
สภาพทั่วไป
เชียงใหม่เป็นเมืองเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า ๗๐๐ ปี พญามังรายทรงสร้างขึ้นโดยได้เชิญพระสหายอีกสองท่านคือ
พญาร่วงแห่งกรุงสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา มาร่วมกันวางผังเมืองให้ต้องตามชัยภูมิ
๗ ประการ และหลักวิชาโหราศาสตร์ไทย คือ คัมภีร์มหาทักษา โดยเริ่มจากการขุดคูเมืองกว้าง
๙ วา ยาว ๓,๘๐๐ วา เอาดินที่ขุดจากคูเมืองมาพูนเป็นแนวกำแพงเมือง บนกำแพงเมืองปูอิฐ
และทำเสมาไว้บนกำแพงเมืองโดยรอบทั้งสี่ด้าน ขนาดกว้าง ๙๐๐ วา ยาว ๑,๐๐๐ วา
ขนานนามเมืองว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
สภาพทางภูมิศาสตร์
จังหวัดเชียงใหม่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย และมีพื้นที่มากที่สุดในภาคเหนือ
ทิศเหนือติดต่อกับ รัฐฉานของสหภาพพม่า โดยมีเส้นกั้นพรมแดนทางธรรมชาติ คือสันปันน้ำของดอยคำ
ดอยปกเกล้า ดอยหลักแต่ง ดอยถ้ำป่อง ดอยถ้วย ดอยผาวอก และดอยอ่างขาง เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาแดนลาว
เป็นเส้นกั้นอาณาเขต ทิศตะวันออกติดต่อกับ จังหวัดเชียงราย ลำพูน และลำปาง
ทิศใต้ติดต่อกับ จังหวัดตาก ทิศตะวันตกติดต่อกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นภูเขาและป่าละเมาะ มีที่ราบอยู่ตอนกลางสองฝั่งแม่น้ำปิง
มีดอยอินทนนท์เป็นภูเขาสูงสุดของประเทศไทย (๒,๕๖๕ เมตร) และยังมีดอยอื่น ๆ
ที่สูงอันดับ ๒ - ๕ ของประเทศตามลำดับคือ ดอยผ้าห่มปก (๒,๒๙๗ เมตร)
ดอยหลวงเชียงดาว (๒,๑๙๕ เมตร) ดอยผาจ้อยหรือผาจ้อง (๒,๑๒๐ เมตร) และดอยอ่างขาง
(๑,๙๓๑ เมตร) สำหรับดอยสุเทพซึ่งอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ที่สุดสูง ๑,๖๓๑
เมตร สภาพของพื้นที่แบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ คือ
พื้นที่ภูเขา มีอยู่ประมาณร้อยละ
๘๐ ของพื้นที่ทั้งหมด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า ๕๐๐ เมตร ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านทิศเหนือ
และทิศตะวันตกของจังหวัด เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือ
พื้นที่ราบลุ่มน้ำ และที่ราบเชิงเขา มีลักษณะเป็นแนวยาวตามแนวเหนือใต้
ได้แก่ ที่ราบลุ่มน้ำปิง ที่ราบลุ่มน้ำฝาง และที่ราบลุ่มน้ำแม่งัด
แหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบด้วย แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง หลายแห่ง แม่น้ำที่สำคัญได้แก่
แม่น้ำปิง
เป็นแม่น้ำสายใหญ่ และยาวที่สุดของภาคเหนือ (๖๐๐ กิโลเมตร) ต้นน้ำเกิดจากดอยถ้วยในเขตอำเภอเชียงดาว ไหลผ่านอำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอสันทราย อำเภอเมือง ฯ แล้วไหลเข้าสู่เขตจังหวัดลำพูน
แม่น้ำฝาง เป็นแม่น้ำที่ไหลย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือ
ไปบรรจบแม่น้ำกกที่ อำเภอแม่อาย ยาวประมาณ ๗๐ กิโลเมตร
แม่น้ำแม่แตง ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแดนลาวในเขตตำบลเมืองแหง อำเภอเชียงดาว ไหลมาบรรจบแม่น้ำปิงในเขตอำเภอแม่แตง ยาวประมาณ
๑๓๕ กิโลเมตร
แม่น้ำแม่งัด ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาทางทิศเหนือของ
อำเภอพร้าว แล้วไหลมาบรรจบแม่น้ำปิงที่บ้านช่อแล อำเภอแม่แตง ยาวประมาณ ๑๐๐
กิโลเมตร
แม่น้ำแม่กวง ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ
ไหลผ่านอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสารภี แล้วไปบรรจบแม่น้ำปิงในเขตจังหวัดลำพูน
ยาวประมาณ ๙๕ กิโลเมตร
แม่น้ำแม่ขาน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบริเวณบ้านแม่ขานใหญ่
อำเภอสะเมิง ไหลไปบรรจบแม่น้ำปิงที่บ้านมะโอ อำเภอสันป่าตอง
แม่น้ำแม่กลาง ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาดอยอินทนนท์ในเขตอำเภอจอมทอง
แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง
แม่น้ำแม่แจ่ม ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาสาขาของดอยหัวช้าง
ในเขตอำเภอแม่แจ่ม แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำปิงที่บ้านแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม ยาวประมาณ
๑๗๐ กิโลเมตร
แม่น้ำตื่น ต้นน้ำเกิดจากช่องข้ามเทือกเขาในเขตอำเภออมก๋อย
แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิงในเขตจังหวัดตาก ยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร
ทรัพยากรป่าไม้
เชียงใหม่มีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ ๘.๙ ล้านไร่ ประมาณร้อยละ ๗๑ ของพื้นที่จังหวัด
ได้มีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว
ดังนี้
ป่าสงวนแห่งชาติ มีอยู่ ๒๕ แห่งด้วยกัน
มีพื้นที่ประมาณ ๑๒.๒ ล้านไร่ ได้แก่ ป่าลุ่มน้ำฝาง ป่าแม่หลักหมื่น
ป่าแม่สูน ป่าเชียงดาว ป่าอินทขีล ป่าแม่แตง ป่าแม่ขะจาน
ป่าแม่งัด ป่าขุนแม่กวง ป่าสันทราย ป่าแม่ออน ป่าขุนแม่ทา
ป่าสะเมิง ป่าแม่ริม ป่าดอยสุเทพ ป่าแม่ท่าช้าง
- แม่ขนิน ป่าแม่ขาน - แม่วาง ป่าจอมทอง ป่าท่าธาร
ป่าแม่แจ่ม - แม่ตื่น ป่าขุนแม่สาย ป่าแม่ตาล - แม่ยุย ป่าแม่หาด
ป่าแม่แจ่ม และป่าอาก๋อย
อุทยานแห่งชาติ มีอยู่
๖ แห่งด้วยกัน มีพื้นที่ประมาณ ๓.๒ ล้านไร่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่โถ
อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อุทยานแห่งชาติขุนขานเชียงดาว
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา และอุทยานแห่งชาติดอยขาน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีอยู่
๓ แห่งด้วยกัน มีพื้นที่ประมาณ ๑.๔ ล้านไร่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา - แม่แสะ
วนอุทยานแห่งชาติ มีอยู่
๖ แห่งด้วยกันคือ วนอุทยานแห่งชาติบ่อน้ำร้อนฝาง วนอุทยานแห่งชาติออบหลวง
วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สา วนอุทยานแห่งชาติโป่งเดือด วนอุทยานแห่งชาติม่อนหินไหล
วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดหมอกวังยาง
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีอยู่ ๑ แห่งคือ
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยสุเทพ
ประชากร
ประชากรในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เป็นกลุ่มชนที่มาจากหลายชาติหลายเผ่าพันธุ์
อาจแบ่งตามช่วงระยะเวลาได้ ๓ ช่วง คือ
สมัยราชวงศ์มังราย
ในสมัยราชวงศ์มังราย คนเชียงใหม่จะเรียกตนเองว่า คนไท หรือคนไต คนไทโยนก คนโยนก
คนไทยวน และคนยวน ก่อนที่พญามังรายตั้งเมืองเชียงใหม่ จะมีชุมชนชาวลัวะ และพวกเม็งหรือมอญ
ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว เมื่อคนไทยวน หรือคนเมืองเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก็มีการผสมกลมกลืนเป็นคนเมืองไปในที่สุด
สมัยเป็นเมืองประเทศราชของพม่า
ในห้วงเวลานี้ไม่มีหลักฐานปรากฏมากนัก
สมัยรัตนโกสินทร์
พระเจ้ากาวิละได้ฟื้นฟูเชียงใหม่ใน ปี พ.ศ. ๒๓๓๘ ได้ย้ายคนจากเมืองต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่
เช่น เชียงแสน ลำปาง แพร่ และน่าน เป็นต้น รวมทั้งผู้คนกลุ่มเดิมที่หลบหนีภัยสงครามได้อพยพกลับมาอีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนั้นยังมีคนจากเมืองทางเหนือของล้านนา เช่น ไทลื้อ และไทใหญ่ เป็นต้น
เมื่อเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่แล้วก็อนุญาตให้กลุ่มชนเหล่านั้น ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของตน
คงไว้ทั้งชื่อ ชาติพันธุ์ และชื่อบ้าน ชื่อเมืองของตนด้วย เกิดเป็นเขตชุมชนต่าง ๆ
ดังนี้
ชาวเชียงแสน เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณประตูท่าแพทางใต้
ภายในกำแพงเมืองชั้นนอก หรือที่เรียกว่ากำแพงดิน
ชาวน่าน เข้ามาอยู่นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออกเฉียงใต้
หรือที่เรียกว่า แจ่งขะต้ำ
ชาวแพร่ เข้ามาอยู่นอกเมืองที่บ้านทุ่งต้อม
อำเภอหางดง
ชาวไท เข้ามาอยู่ริมคูเมืองด้านนอก
ติดกับประตูท่าแพ
ชาวพม่าหรือม่าน เข้ามาอยู่ในและนอกกำแพงเมือง
ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณแจ่งขะต้ำ
ชาวไทใหญ่หรือเงี้ยว
เข้ามาอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ บริเวณประตูช้างเผือก
ชาวดง จากลุ่มน้ำสาละวิน เข้ามาอยู่ในกำแพงเมืองด้านทิศใต้
นอกประตูสวนปรุง
ชาวยอง เป็นชาวไทลื้อ จากเมืองยองในรัฐฉาน
เข้ามาอยู่บริเวณอำเภอสันกำแพง
ชาวเมืองลวง
เป็นชาวไทลื้อ จากเมืองลวงในสิบสองปันนา เข้ามาอยู่บริเวณดอยสะเก็ด
ชาวเมืองหลวย
เป็นชาวไทลื้อ จากเมืองหลวยในรัฐฉานเข้ามาอยู่บริเวณบ้านหลวย และบ้านหัวฝาย กิ่งอำเภอแม่ออน
ชายงัวลาย เป็นชาวไทเขินที่มาจากบ้านงัวลาย
ในรัฐฉาน เข้ามาอยู่ในกำแพงดินใกล้ประตูหายยาด้านใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่
ชาวแม่ปละ มาจากรัฐฉาน มาอยู่บริเวณบ้านแม่ย่อย
อำเภอดอยสะเก็ด
ชาวเมืองวะ มาจากเมืองวะ เข้ามาอยู่ที่บ้านหนองจ๊อม
อำเภอสันทราย
ชาวเมืองวะเวียงแก่น มาจากเมืองวะเวียงแก่น
เข้ามาอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด
ชาวเมืองขอน
มาจากเมืองขอน ปัจจุบันคือเมืองมังซื่อเขตเต้อหง ประเทศจีน เข้ามาอยู่ที่อำเภอสันทราย
ชาวเมืองวิน ปละเมืองคอง เข้ามาอยู่ที่บ้านแม่ริม
อำเภอสันป่าตอง และเข้ามาอยู่ที่บ้านคอง อำเภอเชียงดาว ต่อมาเมื่อพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
ก็ได้มีผู้คนอพยพเข้ามาในเมืองเชียงใหม่อีกหลายกลุ่ม คือ
ชาวจีนฮ่อ เป็นกลุ่มที่อพยพจากจีนมาตั้งชุมชนในเขตเมืองเชียงใหม่หลายแห่งคือ
ชุมชนบ้านฮ่อ อำเภอเมือง ฯ บ้านยาง บ้านหัวฝาย ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง และบ้านท่าตอน
อำเภอแม่อาย
ชาวแขก เป็นแขกปาทานจากปากีสถาน
และอินเดีย รวมทั้งมาเลเซีย ชาวแขกอิสลามมาตั้งอยู่บริเวณทุ่งช้างคลาน เลียบฝั่งแม่น้ำปิงทางด้านทิศตะวันตก
ถือว่าเป็นชุมชนแขกที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ที่ประตูช้างเผือก ด้านนอกกำแพงเมืองชั้นใน
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ส่วนที่อยู่นอกตัวเมือง จะอยู่ที่ตำบลหนองแบน
อำเภอสารภี
ชาวเขา
ในเขตพื้นที่ภูเขามีชาวเขาอาศัยอยู่ที่ยังคงดำรงชีพแบบดั้งเดิม มีอยู่หลายเผ่าพันธุ์ในระยะ
๑๐๐ - ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากตอนใต้ของประเทศจีน พวกม้ง และเมี่ยนส่วนใหญ่มาจากทางลาว
พวกละหู่ ลีซอ อาข่า เข้ามาทางพม่า รวมทั้งพวกปะหล่องที่เข้ามาล่าสุด เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๒๗ มาอยู่ที่ดอยอ่างขาง
วัฒนธรรมล้านนาได้หล่อหลอมให้กลุ่มชนต่าง ๆ ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
จนกลายเป็นชาวเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ภาษาที่ใช้กันมากคือ
ภาษาไทยภาคเหนือ และภาษาไทยกลาง
การปกครอง
เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาไทย ในสมัยราชวงศ์มังรายเป็นรัฐอิสระ
ต่อมาได้ตกเป็นของพม่า ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๑ เป็นระยะเวลากว่า
๒๐๐ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พระยาจ่าบ้าน และพระยากาวิละ ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
และได้ร่วมกับกองทัพไทยขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักรล้านนา นับแต่นั้นมาเชียงใหม่จึงได้มารวมอยู่กับราชอาณาจักรไทย
ในฐานะเมืองประเทศราช
ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้มีการปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับเมืองลำปาง
และลำพูน รวมเรียกว่าหัวเมืองลาวเฉียง อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ
โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการปฏิรูป เป็นการวางรากฐานก่อนการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ขอรับเงินเดือนประจำ
จึงเริ่มมีฐานะเหมือนข้าราชการทั่วไป ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
บรรดาเจ้าเมืองเหนือที่เหลืออยู่ก็ขอรับพระราชทานเงินเดือนเหมือนกันหมด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองโดยกำหนดว่า หากเจ้าเมืององค์ใดถึงแก่พิราลัยแล้ว
ก็จะไม่โปรดเกล้า ฯ ผู้ใดเข้าดำรงตำแหน่งอีก
การศึกษา
ชาวล้านนาประดิษฐอักษรพื้นเมืองล้านนาไว้ใช้โดยจารึกไว้บนใบลานเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว
การศึกษาในสมัยนั้น เป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้ชาย ๒ กลุ่ม คือชนชั้นสูง
และเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งหลาย เป็นการศึกษาเพื่อให้มีความสามารถในการปกครอง
อีกกลุ่มหนึ่งคือสามัญชนจะได้รับการศึกษา เมื่อได้เข้าบวชเรียนในวัด ซึ่งเริ่มเมื่อ
อายุได้ ๗ ขวบ จะไปเป็นขะโยม หรือศิษย์วัด
เมื่ออายุได้ ๑๒ ขวบ จึงบรรพชาเป็นสามเณรได้ศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรม จนอายุได้
๒๐ ปี จะได้รับการอุปสมบทเป็นตุ๊เจ้า
สามเณรเมื่อลาสิกขาแล้วจะเรียกว่า น้อย และภิกษุเมื่อลาสิกขาแล้วจะเรียกว่า
หนาน
ถือว่าเป็นผู้มีความรู้เป็นที่นับถือของคนทั่วไป
สำหรับสตรีจะได้รับถ่ายทอด วิชาชีพในครัวเรือนของตน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดการศึกษาให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
มีการใช้ภาษาไทยกลางรวมกัน ดังนั้นในระยะแรกยังผ่อนผันให้ใช้ภาษาล้านนาในการเรียนการสอน
และสนับสนุนให้เรียนภาษาไทยกลางพร้อมกับให้เงินอุดหนุน ทำให้ได้รับความนิยมมาก
ภาษาไทยล้านนาก็หมดไปอย่างรวดเร็ว
|
|