ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดหนองคาย

            จังหวัดหนองคาย  อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  มีพื้นที่ทางทิศเหนือติดต่อกับประเทศลาว  โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน  ทิศตะวันออกติดต่อกับนครพนม  ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดสกลนคร  และทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดเลย  พื้นที่จังหวัดจะมีความยาวไปตามลำแม่น้ำโขง
            ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง  มีทั้งที่เป็นที่ราบ  เป็นลูกคลื่นลอนลาด  คลื่อนลอนชัน และภูเขาที่มีความสูง  จากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป  บริเวณเทือกเขาสูงอยู่ในพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตก  ระหว่างเขตจังหวัดหนองคายกับจังหวัดเลย  และด้านทิศตะวันออกในเขตอำเภอบึงกาฬเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย
            แม่น้ำโขง    ไหลผ่านเกือบทุกอำเภอของจังหวัดหนองคาย คือ  อำเภอสังคม  อำเภอท่าบ่อ  อำเภอศรีเชียงใหม่  อำเภอโพนพิสัย  อำเภอเมือง  อำเภอบึงกาฬ  อำเภอเซกา  อำเภอปากคาด  และอำเภอบึงโขงหลง  แม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศลาวตลอดพื้นที่ของจังหวัดหนองคายที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง
            ตามอนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส  ซึ่งประเทศลาวได้ถือสิทธิพรมแดนตามอนุสัญญาฉบับนี้กำหนดให้  อาศัยร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน  ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ  ส่วนตอนที่มีเกาะ ให้ใช้ร่องน้ำลึกที่อยู่ใกล้ฝั่งไทยมากที่สุด เป็นเส้นแบ่งเขตแดน  ทำให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะเกาะดอนในแม่น้ำโขงเกือบทั้งหมด จะเป็นของประเทศลาว ยกเว้นเกาะดอน 8 เกาะ ซึ่งอนุสัญญายกเว้นให้อยู่ในเขตประเทศไทย  เฉพาะในส่วนที่อยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย มี 4 เกาะ คือ  เกาะดอนเขียว  เกาะดอนเขียวน้อย  เกาะดอนน้อย อำเภอท่าบ่อ  เกาะดอนหยาด อำเภอเมือง
            แม่น้ำสงคราม    ต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานในเขตจังหวัดนครพนม  แล้วไหลขึ้นไปทางเหนือ  เข้าเขตจังหวัดหนองคาย ผ่านอำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา  แล้วไหลเข้าสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม เป็นแม่น้ำที่กั้นเขตพื้นที่จังหวัดหนองคายกับจังหวัดสกลนคร  แม่น้ำสงครามมีความยาวทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร  เป็นแหล่งปลาที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของในภาคอีสาน และก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ที่มีลักษณะเป็นป่าชุ่มน้ำ เรียกว่า ป่าบุ่ง  ป่าทาม
            แหล่งน้ำอื่น ๆ    สายน้ำย่อย ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงกระจายอยู่เต็มพื้นที่จังหวัดหนองคาย ได้แก่
                แม่น้ำโขง หรือห้วยน้ำโมง     ไหลจากอำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  ผ่านอำเภอท่าบ่อ  แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขง
                แม่น้ำสวย หรือห้วยปากสวย     ไหลจากอำเภอกุดจับ  จังหวัดอุดรธานี  ผ่านอำเภอเมือง  แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขง
                ห้วยดุก     ไหลผ่านอำเภอเมือง  แล้วไหลลงสู่ แม่น้ำโขง
                ห้วยน้ำซ่อม     ไหลผ่านอำเภอสังคม  แล้วไหลลงสู่ แม่น้ำโขง
                ห้วยหลวง     ไหลจากอำเภอหนองวัวซอ  จังหวัดอุดรธานี  ไหลผ่านอำเภอโพนพิสัย  แล้วไหลลงสู่แม่น้ำสงคราม
                ห้วยพันลำ และห้วยบัวมาตร     ไหลผ่านอำเภอบึงกาฬแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขง
                ห้วยฮี     ต้นน้ำเกิดจากเนินเขาในเขต อำเภอบึงกาฬ  ไหลผ่านอำเภอเซกา  แล้วไหลลงสู่แม่น้ำสงคราม
                ห้วยทอน     ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาภูพาน ในเขตจังหวัดอุดรธานี  แล้วไหลเข้าเขตอำเภอโพนพิสัย เป็นแนวกั้นเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี กับจังหวัดหนองคายส่วนหนึ่ง
                บึงโขงหลง     อยู่ในเขตอำเภอบึงโขงหลง  เป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่  เป็นแหล่งน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่สำคัญ


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            พื้นที่จังหวัดหนองคาย  อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ซึ่งประกอบด้วย  เมืองเวียงจันทน์  จังหวัดเลย  จังหวัดหนองบัวลำพู  และจังหวัดอุดรธานี มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ชุมชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์
            บริเวณบุ่งทามแถบหนองคาย  มีร่องรอยและหลักฐานทั้งในรูปวัตถุ และตำนาน วรรณกรรม  อยู่เป็นอันมาก  เล่าสืบทอดกันมา  เช่นตำนาน พระอุรังคธาตุ  กล่าวถึงปฐมกัลป์พญานาคผู้ขุดแม่น้ำโขง ชี มูล  ทั้งสร้างนครเวียงจันทน์ด้วย  ตำนาน  ท้าวผาแดง-นางไอ่  ท้าวขูลู-นางอั้ว  ท้าวบารส-นางอุสา  ท้าวสินไซ  ท้าวสีทน-มโนห์รา  เป็นต้น
            แหลงโบราณคดีบ้านโคกดอน

            อยู่ที่ตำบลโคกดอน  อำเภอท่าบ่อ มีผู้พบหม้อดินเผาลายสีแบบบ้านเชียง และชนิดไม่มีสีแต่มีลายเล็บขูด  ลายเชือกทาบ  นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับหินแก้วลูกปัด  กำไลเศษสำริด  ขวานหินขัด  หัวธนูหิน  ซึ่งเครืองหินเหล่านี้น่าจะมีอายุก่อนยุคบ้านเชียง
            บริเวณรอบโบสถ์วัดศรีสะอาด  มีเสมาหินสมัยทวาราวดี  และครกหินใหญ่  สันนิษฐานว่าเป็นเบ้าหลอมโลหะ  นอกจากนั้นยังพบเหรียญเงินฟูนัน  อายุประมาณสองพันปี  แสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีพัฒนาการ  มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงยุคตอนต้นประวัติศาสตร์ด้วย
            การตั้งถิ่นฐานสมัยต้นประวัติศาสตร์ ตามตำนานพระอุรังคธาตุ  แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 3  ปรากฏชื่อเวียงหลายแห่งซึ่งได้ฐาปนาพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  แสดงว่าชุมชนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง  อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดหนองคายมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์  จนถึงยุคที่มีหลักฐานชัดเจนทางโบราณคดี เช่น ศิลาจารึก  ศิลปกรรมในโบราณสถาน  และโบราณวัตถุยุคต่าง ๆ  เอกสารจีนเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า เจนละบก
การตั้งถิ่นฐานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16
            เรียกสมัยนี้ว่าสมัย ทวาราวดี มีหลักฐานทางศิลปกรรมของเจนละปะปนอยู่  ในช่วงกลางสมัยทวาราวดี  พบอิทธิพลศิลปขอมและลพบุรี  ในช่วงสมัยทวาราวดีปลาย (พุทธศตวรรษ ที่ 16-19 )
            เวียงคำ-เวียงคุก     เวียงคุกอยู่ที่อำเภอเมืองติดเขตอำเภอท่าบ่ออยู่ตรงข้ามเมืองเวียงคำ (เมืองซายฟอง) ทางฝั่งลาว  ทั้งสองเมืองนี้น่าจะเป็นเมืองเดียวกัน  เพราะพบหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุร่วมสมัยกัน  ชื่อเวียงคำปรากฎอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ว่า  "เบื้องตะวันออกเท้าฝั่งของเวียงจันทน์-เวียงคำ เป็นที่แล้ว"
            เวียงงัว     ปรากฎชื่อนี้อยู่ในตำนานพระอุรังคธาตุ  สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ในตำบลบ้านฝาง  อำเภอเมือง  นอกจากนั้นนิทานเรื่อง ท้าวบารส-นางอุสา ก็มีอยู่ว่า  เมืองของท้าวบารสอยู่ที่เมืองปะโค  เวียงคุก
            เวียงนกยูง     อยู่ติดกับห้วยโมงในเขตกิ่งอำเภอโพธิตาก  มีเสมาหินยุคทวาราวดี อยู่เป็นจำนวนมาก  ชื่อปากโมงหรือห้วยโมง  มีความในสตำนานพระอุรังคธาตุว่า  "หมื่นนันทอาราม มีครัว 50,000 ครัว  อพยพมาตั้งอยู่ปากห้วยนกยูง  หรือปากโมงก็เรียก"
         เปงจานนครราช
          อยู่ในเขตกิ่งอำเภอรัตนวาปี  มีเสมาหินขนาดใหญ่เหลืออยู่ชิ้นหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า  เจ้าพ่อเปงจาน  มีอายุในสมัยทวาราวดี  พุทธศตวรรษที่ 12  ที่ฐานใบเสมา มีอักษรปัลลวะอินเดียจารึกไว้  มีร่องรอยเมืองโบราณอยู่ทั่วบริเวณริมแม่น้ำโขง  เป็นแนวยาวถึง 80 กิโลเมตร  เมื่อขุดลงไปใต้ดินบริเวณนี้จะพบซากกองอิฐอยู่มาก  สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่
            เมืองหล้าหนอง-หนองคาย     หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของเมืองหล้าหนองคือ พระธาตุหนองคาย  อายุใกล้เคียงกันกับพระธาตุบังพวน  ตามตำนานพระอุรังคธาตุ  เมืองลาหนอง หรือเมืองหล้าหนองเป็นเมืองเดียวกัน  ในสมัยต่อมาคำว่าคายน่าจะมีที่มาจากค่ายบกหวาน  อันเป็นที่ตั้งของกองทัพไทย  ครั้งที่ยกมาตีเมืองเวียงจันทน์  ค่ายนี้ตั้งอยู่บริเวณริมหนอง  ซึ่งมีต้นบกหวานขึ้นอยู่  จึงเรียกว่า ค่ายบกหวาน  และได้กลายมาเป็นชื่อหนองคาย  ส่วนองค์พระธาตุหนองคาย  ถูกกระแสน้ำในแม่น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งพังทำให้จมลงไปอยู่ในแม่น้ำโขง
การตั้งถิ่นฐานในสมัย อาณาจักรล้านช้างเชียงทอง หลวงพระบางเวียงจันทน์
            เมืองปากห้วยหลวง     มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้างเชียงทอง (หลวงพระบาง)  เจ้าเมืองปากห้วยหลวงมีพระราชทินนามว่า พระยาปากห้วยหลวง  เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่นครเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2093  แล้ว  เมืองปากห้วยหลวงก็ยังมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง  มีความสำคัญรองจากนครเวียงจันทน์  เมืองปากห้วยหลวงตั้งอยู่ที่ปากน้ำห้วยหลวง  อันเป็นที่ตั้งของอำเภอโพนพิสัยพบว่ามีซากวัดร้างอยู่เป็นจำนวนมาก  และพบว่ามีศิลาจารึกมากที่สุดแห่งหนึ่ง  ในบรรดาเมืองโบราณภาคอิสานและลาว  เป็นศิลาจารึกด้วยอักษรไทยน้อย
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกเมืองปากห้วยหลวงว่า เมืองโพนแพน  หลังจากปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2369-2370  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บุตรเจ้าเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระพิชัยสุริยวงศ์ เจ้าเมืองโพนแพน  ชื่อโพนพิสัย อาจได้ชื่อมาจากคำว่า โพนพระพิชัย ซึ่งคำอิสานออกเสียงพิชัยว่าพิสัย
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรียกเมืองโพนแพนเป็นเมืองโพนพิสัย ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ โจรฮ่อยกกำลังมาปล้นสะดมภ์ตามชายพระราชอาณาจักร  มาถึงเวียงจันทน์และหนองคาย เมื่อปี พ.ศ. 2418  เจ้าเมืองโพนพิสัย  คือพระยาพิชัยสรเดช (หนู)  ได้รับคำสั่งให้เกณฑ์คนไปช่วยเวียงจันทน์  เจ้าเมืองโพนพิสัยเกิดกลัวโจรฮ่อไม่คิดต่อสู้  พระยามหาอำมาตย์ธิบดี (ชื่น  กัลยณมิตร)  เป็นแม่ทัพมาปราบฮ่อ  จึงให้ประหารเจ้าเมืองโพนพิสัยและกรมการเมืองเสีย  เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง
            เมืองเวียงคุก (เวียงคำ)-ซายฟอง

            ในพุทธศตวรรษที่ 16-17  พบพระพุทธรูปศิลา รวมทั้งศิลาจารึกและปราสาทขอม โบราณกระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองเวียงคุก และซายฟอง  ที่เห็นเด่นชัดคือเทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 7 พบที่วัดยอดแก้ว
            ในห้วงพุทธศตวรรษที่ 18-19  พงศาวดารล้านช้างกล่าวถึงเวียงคำในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม (ครองเมืองล้านช้างเชียงทอง ระหว่าง ปี พ.ศ. 1896-1915)  ได้รวบรวมอาณาจักรล้านช้าง  โดยการนำกำลังทหารจากกัมพูชาขึ้นมาตามลำแม่น้ำโขง  เข้าตีเมืองรายทางมาจนถึงปากซัน  แล้วเข้าตีเมืองพวน  เมืองจันทบุรี (เวียงจันทน์)  โดยล่องมาตามลำน้ำงึม  แล้วเข้าตีเมืองไผ่หนามของพระยาเภา แต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้  จึงตกลงเป็นพันธมิตรกัน และเปลี่ยนชื่อเมืองไผ่หนามเป็นเวียงคำ เมื่อปี พ.ศ. 1899  และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง
            ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา (พ.ศ. 2093-2115)  ได้เสด็จไปบูรณะปฏิสังขรณ์ พระธาตุบังพวน  อันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของเวียงคุก  ซึ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่พระเจ้าแสนหล้า (พ.ศ. 2028-2038) เวียงคุกจึงมีความสำคัญในทางพุทธศาสนา
            ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพมาตีเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2321  หลังจากที่อาณาจักรล้านช้างแตกออกเป็น 3 ส่วน คือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง  อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์  และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์  กองทัพเวียงจันทน์ออกมาตั้งรับทัพไทยที่เมืองพันพร้าว  เมืองพะโค  เมืองเวียงคุกและเมืองหนองคาย  จนถึงเมืองนครพนม  กองทัพไทยตีได้เมืองหนองคาย  เมืองพะโค  เมืองเวียงคุก และเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2322
            ในปัจจุบันเมืองเวียงคุก เป็นตำบลเวียงคุก อำเภอเมือง  เป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของหนองคาย  มีโบราณสถานมากกว่า 100 แห่ง  และเป็นที่ตั้งของพระธาตุบังพวนอันเป็นที่เคารพสัการของชาวหนองคายและชาวไทยทั้งมวล
            เมืองพานพร้าว (ศรีเชียงใหม่)  เป็นตำบลที่ตั้งอำเภอศรีเชียงใหม่  เริ่มต้นเป็นบ้านเมืองมาพร้อม ๆ กับเมืองเวียงจันทน์ ในสมัยทวาราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 14-16) เมืองพานพร้าวมีอยู่หลายชื่อ เช่น พันพร้าว  ธารพร้าว  และพรั่งพร้าว  เป็นชื่อเมืองโบราณปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ลาวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2078  เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่อยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง  ทางด้านเวียงจันทน์มีร่องรอยกำแพงดินและคูเมืองปรากฎอยู่  ส่วนทางด้านศรีเชียงใหม่กำแพงดินและคูเมืองอยู่ในสภาพลบเลือน
            ในสมัยพระเจ้าโพธิสาล  ผู้ครองนครเชียงทองแห่งราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. 2063-2093)  มีนโยบายปรับปรุงให้เวียงจันทน์ เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านช้างมากขึ้น  แทนนครเชียงทองซึ่งอยู่ในที่ทุรกันดาร และใกล้ข้าศึกคือพม่า  ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรล้านนา  จนกลายมาเป็นตำนานของเมืองศรีเชียงใหม่

            ในสมัยอาณาจักรล้านช้างรุ่งเรือง  พระเจ้าไชยเชษฐาได้ย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมายังเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2103  แล้วทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้บูรณะปฏิสังขรณ์  พระธาตุสำคัญที่เคยกล่าวไว้ในตำนานตั้งแต่โบราณ  มีศิลปวัตถุสถานที่ผสมผสานกัน ระหว่างแบบล้านนากับแบบล้านช้าง เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ เป็นศิลปะล้านนา สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2165
            ในสมัยกรุงธนบุรี  เมืองพานพร้าวเป็นเมืองปราการหน้าด่าน ในการรักษานครเวียงจันทน์  มีค่ายคูประตูหอรบแข้งแรงมั่นคง  กองทัพไทยโดยมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2321  หลังจากตีเมืองอื่น ๆ ได้แล้วได้เข้าล้อมเมืองพานพร้าวอยู่ถึง 4 เดือน  จึงได้เมืองพานพร้าวและเมืองเวียงจันทน์ ตั้งแต่นั้นมาเมืองพานพร้าว รวมทั้งดินแดนอาณาจักรล้านช้างทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงทั้งหมด  ก็ตกมาเป็นของไทยโดยตลอด  ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีได้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางมาประดิษฐานไว้ที่ฝั่งค่ายพานพร้าว  โดยได้สร้างหอพระแก้วชั่วคราวขึ้น  ก่อนจะอัญเชิญลงมาที่กรุงเทพ ฯ
            ในสมัยเจ้าอนุวงศ์  ได้ครองราชย์อาณาจักรล้านช้าง เมื่อปี พ.ศ. 2346  เมืองเวียงจันทน์และเมืองพานพร้าว ได้เจริญรุ่งเรืองถึงขั้นที่มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ขึ้นที่ฝั่งวัดช้างเผือก มายังฝั่งเวียงจันทน์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2369  เจ้าอนุวงศ์ทำการกบฎ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯให้สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ  เป็นแม่ทัพยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2370  กองทัพไทยมาตั้งอยู่ที่ค่ายพานพร้าว  เจ้าอนุวงศ์หนีไปจากเวียงจันทน์  จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อกำแพงเมืองด้านศรีเชียงใหม่มาสร้างพระเจดีย์ ณ ค่ายหลวงเมืองพานพร้าว ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เคยสร้างไว้เมื่อครั้งทรงเป็นแม่ทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์  เจดีย์ที่สร้างขึ้นนี้จารึกพระนามว่า เจดีย์ปราบเวียงจันทน์ ในองค์เจดีย์บรรจุพระพุทธรูป คือ พระเสริม  พระใส  พระสุก  พระแช่คำ (แทรกคำ) พระแก่นจันทน์  พระสรงน้ำ  พระเงินหล่อ  พระเงินบุ รวม 9 องค์  ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เมื่อด้วยความช่วยเหลือของญวนได้ลอบฆ่าทหารไทยที่เวียงจันทน์  แล้วเข้ายึดค่ายพานพร้าว เมื่อ 2 สิงหาคม 2371  จากนั้นก็ได้รื้อพระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์  แล้วนำพระพุทธรูปที่บรรจุอยู่กลับไปเวียงจันทน์  ต่อมากองทัพไทยยกเข้ายึดค่ายพานพร้าวคืนได้ เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2371  เมืองเวียงจันทน์ถูกทำลายกำแพง  ป้อมเมืองและหอคำ  เหลือไว้แต่วัดวาอาราม  และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง
            ในสมัยปฏิรูปการปกครอง ในปี พ.ศ. 2436  เมืองพานพร้าวเป็นหัวเมืองในมณฑลลาวพวน  ต่อมาไปขึ้นกับจังหวัดหนองคาย  จนในที่สุดได้ตั้งตำบลพานพร้าวเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่
            เมืองหนองคาย (บึงค่าย-บ้านไผ่)  บริเวณนี้เดิมเรียกบ้านไผ่  เมื่อครั้งกบฎเจ้าอนุวงศ์  กองทัพไทยได้มาตั้งอยู่ที่ค่ายบกหวาน  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิก พระเจ้าประเทศราชเวียงจันทน์ และให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นแทนที่เวียงจันทน์  เห็นว่าค่ายบกหวานเป็นที่ตั้งของทหารไทยจนรบชนะเวียงจันทน์ถึง สองครั้ง คือในปี พ.ศ. 2321 และปี พ.ศ. 2371  จึงได้ชื่อเมืองแห่งใหม่นี้ว่า เมืองหนองค่าย  มีหนองน้ำเป็นนิมิตร ถือเป็นาคนามที่เหนือกว่า จันทบุรีสัตตาคนหุต  อุตมราชธานี ของเวียงจันทน์ที่ถือนิมิตพญาช้าง และไม้จันทน์หอม โปรดเกล้า ฯ ให้พระปทุมเทวาภิบาล เป็นเจ้าเมืองหนองคาย
            เมื่อได้ชื่อเมืองแล้วจึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านไผ่ริมฝั่งแม่น้ำโขง  ทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองลาวล้านช้างทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวาแม่น้ำโขงแทนเวียงจันทน์ ถือเป็นเมืองเอกใน 15 เมืองรวมเมืองขึ้น 52 เมือง เป็นที่มั่นด่านหน้าของไทยในการทำสงครามกับญวน ต่อมาอีก 15 ปี (พ.ศ. 2371-2386) โดยมีเมืองหนองคาย  นครพนม  มุกดาหาร  อุบลราชธานี  เป็นแนวปราการ
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อเมืองหนองค่าย ได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็นหนองคาย  เมื่อเกิดศึกฮ่อครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2381  พวกฮ่อบุกเข้าเวียงจันทน์ แล้วจุดไฟเผาลอกเอาทองจากองค์พระธาตุหลวงไป  แล้วยกกำลังข้ามโขง จะเข้าตีเมืองหนองคาย  แต่ถูกกองทัพไทยตีกลับที่ตำบลมีชัย ปัจจุบันซึ่งให้ชื่อนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการปราบฮ่อ  จากนั้นได้ไล่ตีฮ่อจนถอยร่นไปทางทุ่งเชียงคำ
(ทุ่งไหหิน)  ในปี พ.ศ. 2428  เกิดศึกฮ่อครั้งที่ 2  บุกมาทางทุ่งเชียงขวางเข้ามาถึงเวียงจันทน์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทัพฝ่ายเหนือ และทัพฝ่ายใต้ทั้งทางหลวงพระบาง และทางเวียงจันทน์  ทัพฝ่ายใต้ให้นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม คุมกำลังมาทางนครราชสีมาเข้าเมืองหนองคาย  แล้วทวนแม่น้ำโขง เข้าทางแม่น้ำงึมโดยเรือคำหยาด เข้าบุกค่ายฮ่อจนได้ชัยชนะ
            ในสมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมืองอิสาน  เมืองหนองคายเป็นที่ตั้งกองบัญชาการข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ  ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลลาวพวน  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2436  ต้องย้ายกองบัญชาการมาตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้ง  เพราะฝรั่งเศสยื่นคำขาด ไม่ให้ตั้งกองทหารภายในระยะ 25 กิโลเมตรจากชายเขตแดน ราษฎรทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงพร้อมใจกันอพยพมาอยู่ทางฝั่งไทยมากกว่าครึ่งเมือง คือ เจ้าเมืองบริคัณฑนิคม มาอยู่ที่บ้านหนองแก้ว เป็นเจ้าเมืองรัตนวาปี  เจ้าเมืองจันทบุรี (เวียงจันทน์)  อพยพมาอยู่ที่บ้านท่าบ่อเกลือ  เป็นเจ้าเมืองท่าบ่อเกลือ เมืองหนองคายยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองหนองคาย  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2441 ได้เรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้ว่าราชการเมืองหนองคาย  ตามข้อบังคับการปกครองท้องที่ ร.ศ. 177  เมื่อแยกการปกครองเป็นมณฑลอุดร ยุบเลิกเมืองจัตวาในบริเวณมณฑลอุดรเป็นอำเภอ ขึ้นกับเมืองอุดรธานี  เมื่อปี พ.ศ. 2450  จึงได้เป็น อำเภอเมืองหนองคาย  และได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดหนองคาย เมื่อปี พ.ศ. 2458
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์