วัดศรีตลาราม
อยู่ที่บ้านจีน ตำบลระแหง อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๑๔ ไร่เศษ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติ
มีธรณีสงฆ์เจ็ดแปลง เป็นพื้นที่ ๕๕ ไร่เศษ เดิมเรียกว่าวัดน้ำหัก สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๔๓๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่าวัดสีตลาราม
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
อุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๑ กว้าง ๑๔.๔๐ เมตร ยาว ๒๘.๐๐ เมตร วิหารสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๖ กว้าง ๑๐.๘๐ เมตร ยาว ๒๖.๕๐ เมตร ศาลาเอนกประสงค์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร กุฎิสงฆ์มี ๒๔ หลัง พระประธานในอุโบสถสร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๐
เจดีย์สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕
วัดพร้าว
ตั้งอยู่ที่บ้านวัดพร้าว ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง ฯ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
มีพื้นที่ ๓ ไร่เศษ อยู่ติดกับแม่ปิง มีธรณีสงฆ์สองแปลง พื้นที่ ๑๒ ไร่เศษ
วัดพร้าว สร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๙๖ ต่อมาทางคณะสงฆ์ และข้าราชการได้ให้รวมวัดดอนไชยเข้าเป็นวัดเดียวกันกับวัดพร้าว
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
อุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ มีขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๘ เมตร ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๐๙ มีขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร หอสวดมนต์สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖
มีขนาดกว้าง ๖ เมตรยาว ๑๔ เมตร นอกจากนี้ยังมีหอระฆัง ศาลาบาตร วิหาร และศาลาบำเพ็ญกุศล
วัดโพธาราม
ตั้งอยู่ที่บ้านปากคลองน้อย ตำบลระแหง อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๕ ไร่เศษ มีธรณีสงฆ์หนึ่งแปลง
พื้นที่ ๕ ไร่เศษ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๗๐ อุโบสถใช้เวลาสร้างนานเสร็จเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ เขตวิสุงคามสีมากว้าง
๑๒ เมตร ยาว ๑๘ เมตร
อุโบสถกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๖.๕๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร
หอสวดมนต์กว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๑๒.๕๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น พระประธานที่ศาลาการเปรียญเป็นพระพุทธรูปทองเหลือง
และมีพระพุทธรูปโลหะของเก่าอยู่ที่หอสวดมนต์
วัดมณีบรรพตวรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านเขาแก้ว ตำบลระแหง อำเภอเมือง
ฯ มีพื้นที่ ๑๓ ไร่เศษ มีธรณีสงฆ์ ๘ แปลง พื้นที่ ๔๕ ไร่เศษ
พระอุโบสถหลังใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร พระวิหารสองหลังสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๐๖ ศาลาการเปรียญเป็นอาคารสองชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ กว้าง ๑๙ เมตร
ยาว ๔๐ เมตร หอสวดมนต์กว้าง ๙.๓๐ เมตร ยาว ๑๓ เมตร นอกจากนี้มีหอระฆัง หอไตร
ศาลาเอนกประสงค์
พระประธานในพระอุโบสถ และพระพุทธรูปทองคำ นาค เงิน ปางต่าง ๆ จำนวน ๑๕ องค์
พระประธานในพระวิหารคือ หลวงพ่อแสนทอง
เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา รอยพระพุทธบาทจำลอง พระธาตุเจดีย์ สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๕ ฐานกว้าง สี่วา สูงแปดวา มีลักษณะคอระฆังทรงกลมแบบทวารวดี
วัดมณีบรรพต สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๐ เดิมเรียกว่า วัดเขาแก้ว
คงเรียกตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งวัดที่เป็นภูเขา และมีแก้วสีขาว หรือหินเขี้ยวหนุมานอยู่มาก
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๔ เมตร
ยาว ๒๔ เมตร ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมเปิดสอนทั้งแผนกธรรมและบาลี
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๗ มีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เปิด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕
วัดมะเขือแจ้
ตั้งอยู่ที่บ้านเสาสูง ตำบลระแหง อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๘ ไร่เศษ พื้นที่ตั้งวัดมีหมู่บ้านล้อมรอบทั้งสามทิศ
ทางวัดได้สร้างกำแพงไว้โดยรอบ หน้าวัดอยู่ด้านตะวันตก มีประตูเข้า ออก สองประตุ
อุโบสถกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๖ เมตร บูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ ศาลาการเปรียญกว้าง
๑๕ เมตร ยาว ๒๗ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙
วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง
ตั้งอยู่ที่บ้านรมณีย์ ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๑๐ ไร่เศษ มีพื้นที่ติดกับที่ดินของที่ตั้งศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ฯ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวนสามแปลง พื้นที่ ๔ ไร่เศษ
พื้นที่วัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ คือ อุโบสถ กว้าง ๖.๑๐
เมตร ยาว ๑๔.๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว
๒๔ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ หอสวดมนต์ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๓.๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๒
พระประธานที่ศาลาการเปรียญคือ หลวงพ่อพุทธมนต์ เป็นพระพุทธรูปสำริด สมัยสุโขทัย
สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตอนต้น มีพุทธลักษณะที่สวยงามมาก
วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ผู้สร้างคือ พระยาวิชิตรักษา (แก้ว) แต่เดิมมีอยู่สองวัดติดต่อกัน
คือ วัดโบสถ์มณีราษฎร กับวัดศรีบุญเรือง โดยมีกำแพงกันอยู่ด้านหลังอุโบสถของวัดโบสถ์มณีราษฎร
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์จังหวัดตาก
ได้เสด็จเยี่ยมวัดโบสถ์มณีราษฎร ทรงปรารภว่า ถ้าได้รวมวัดศรีบุญเรืองกับวัดโบสถ์
ฯ เป็นวัดเดียวกันจะเป็นการดียิ่ง หลังจากนั้นจึงได้มีการรวมวัดทั้งสองเป็นวัดเดียวกัน
และเปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗
วัดกลางสวนดอกไม้
ตั้งอยู่ที่บ้านปากห้วยแม่ท้อ ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๑๐ ไร่เศษ
สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๙ มีเจดีย์เก่าเรียกว่า เจดีย์เสี่ยงทาย
จากการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งได้มาเป็นเจ้าเมืองตาก
ได้สร้างขึ้นไว้ต่อมาชำรุดทรุดโทรมได้มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐
สภาพแวดล้อม พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบต่ำ มักถูกน้ำท่วมเป็นประจำ เป็นทุ่งนา
หมู่บ้านและภูเขา
อาคารเสนาสนะ มีศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๒.๒๐ เมตร ยาว ๒๒.๕๐ เมตร สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๒ หอสวดมนต์กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗
วิหารกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๒.๙๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ หอระฆังสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๐
วัดโคกพลู
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหลวง ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๒๒ ไร่เศษ มีที่ธรณีสงฆ์
หนึ่งแปลงพื้นที่ ๒ ไร่ พื้นที่วัดเป็นที่ราบสูง อยู่ทางด้านทิศเหนือของอนุสาวรีย์ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สร้างเป็นวัดเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๐ เดิมเป็นวัดมอญชื่อ วัดรามัญศรัทธาราษฎร
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดโคกพลู ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖
แต่เดิมศิลปะการก่อสร้างต่าง ๆ เป็นแบบมอญหรือพม่า เสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถ
กว้าง ๘.๕๐ เมตร ยาว ๑๖ เมตร บูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ศาลาการเปรียญกว้าง
๒๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ หอสวดมนต์ กว้าง ๘ เมตร
ยาว ๑๒.๕๐ เมตร พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดปางมารวิชัย พระประธานที่ศาลาการเปรียญเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองเหลือง
วัดชัยชนะสงคราม
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าแค ตำบลเชียงเงิน อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๔ ไร่เศษ มีที่ธรณีสงฆ์สามแปลง
พื้นที่ ๑๔ ไร่เศษ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙
พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม มีกำแพงล้อมรอบบริเวณวัด หน้าวัดอยู่ทางด้านทิศตะวันตก
มีประตูใหญ่สองประตู เสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถกว้าง ๘.๕๐ เมตร ยาว ๑๙ เมตร
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ศาลาการเปรียญ กว้าง ๒๒.๕๐ เมตร ยาว ๒๔.๕๐ เมตร สร้างต่อเติมเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๑๕ หอสวดมนต์เป็นอาคารสองชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
มีสององค์คือ หลวงพ่อโตเรียกหลวงพ่อสองพี่น้อง
วัดชัยชนะสงครามสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๕๘ เดิมชื่อวัดท่าชัย
หรือวัดดอนท่าชัย
แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดท่าแค ตามชื่อหมู่บ้าน วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่กองทัพได้รับชัยชนะในการสู้รบกับข้าศึก
ด้านหลังวัดมีคันคูซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ มีรับสั่งให้ทหารขุดดิน ทำคันคูป้องกันข้าศึก
พื้นที่ที่ได้ขุดลงไปกลายเป็นหนองน้ำเรียกว่า หนองคา
ยังมีปรากฎอยู่
อุโมงค์ปริวาสกรรม
ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะลาน ตำบลสมอโคน อำเภอบ้านตาก สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ อุโมงค์ปริวาสกรรมสร้างเป็นซุ้มทรงเสมา
แต่มีลักษณะโค้งมน สามารถเข้าไปอยู่ภายในได้ซุ้มละหนึ่งคน มีอยู่ ๒๕ ซุ้ม
มีขนาดกว้าง ๑.๕ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๒ เมตร สร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่ ๑๖
๑๒ นิ้ว หนา ๒ นิ้ว แบบเดียวกับอิฐที่สร้างเจดีย์ยุทธหัตถี ที่ตำบลเกาะตะเภา
อำเภอบ้านตาก ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองเก่าของเมืองตาก
สิ่งก่อสร้างที่มีศิลปะแบบไทยโบราณนี้ เป็นสถานที่พระสงฆ์ปฏิบัติธรรมที่เข้าปริวาสกรรม
ที่ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องกักบริเวณตัวเองอยู่ในที่จำกัด เพื่อชำระตนเองให้กลับมีศีลบริสุทธิ์
พุทธสถานแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างมานาน นับว่ามีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย
ประชาชนในท้องถิ่นไม่ทราบประวัติความเป็นมา และไม่มีผู้ใดล่วงละเมิดเข้าไปในบริเวณนี้
วัดเกาะลาน
ตั้งอยู่ในตำบลสมอโคน อำเภอบ้านตาก สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๐ บริเวณวัดมีเกาะใหญ่เกาะหนึ่ง
ที่บริเวณภูเขามีต้นลานจึงได้นามว่าเกาะลาน แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า
วัดใต้
กำแพงหินวัดยางโองบน เริ่มสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๐๙ หินที่นำมาสร้างเป็นหินที่คัดให้มีด้านเรียบตรงและมีขนาดใกล้เคียงกัน
ทั้งขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๐.๕๐ เมตร - ๑.๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑ - ๒ เมตร โดยนำมาจากดอยผาผึ้งและดอยสูงเม่น
อยู่ห่างจากวัดโอนบนประมาณ ๒ - ๓ กิโลเมตร การขนย้ายหินใช้วิธีบนล้อตะลุมพุก
วงล้อตัดจากต้นไม้ใหญ่ ตัดด้านขวาง ตกแต่งให้เป็นวงล้อใช้กับงานลากหินได้อย่างเหมาะสม
แกนล้อทำด้วยไม้ มีหมอนหมุนแกนล้อด้วยไม้ มีไม้กระดานวางบนหมอนหนุน โดยมีไม้สลักบังคับไม่ให้ไม้กระดานและหินเลื่อนตก
และมีไม้ยาวยื่นไปข้างหน้ามากกว่ายื่นไปข้างหลัง ด้านหนึ่งจะมีไม้เป็นคานยาว
สำหรับดันให้ล้อเลื่อนไปข้างหน้าตามต้องการ ยกหินที่ต้องการจะขนขึ้นบนกระดานล้อคนจะดันคานชักประมาณหกคน
และดันไม้ที่ยื่นไปด้านหลังสองหางใช้คนดันประมาณหางละสองคน ล้อตะลุมพุกหนึ่งคันต้องใช้คนประมาณกว่าสิบคน
การขนหินมาสร้างกำแพง จะช่วยกันลากหินมากองไว้เป็นระยะประมาณ ๓ - ๕ ทอด จึงจะได้หินมากองที่วัด
แล้วจึงช่วยกันจัดหินมาเรียงซ้อนกันให้เป็นระเบียบ โดยไม่ใช้วัสดุอื่นมาช่วยในการเชื่อมเลย
ในการสร้างกำแพงหินจะค่อย ๆ สร้างไปวันละวาสองวา เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๙
เสร็จในปี พ.ศ.๒๔๑๕ รวม ๖ ปี ได้กำแพงหินสูง ๑.๕๐ เมตร กว้าง ๑.๓๐ เมตร ที่ฐานและ
๑.๒๐ เมตร ที่สันยาวประมาณ ๒๗๕ เมตร นับได้ว่าเป็นวัดที่มีกำแพงหินล้อมวัดแห่งแรกของจังหวัดตากและแห่งแรกของภาคเหนือ
วัดชลประทานรังสรรค์
ตั้งอยู่ในตำบลสามเงา อำเภอสามเงา ห่างจากเขื่อนภูมิพล ประมาณ ๕ กิโลเมตร
เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ในพื้นที่ ๒๐ ไร่เศษ เพื่อทดแทนวัดจำนวนแปดวัดที่อยู่เหนือเขื่อน
และถูกน้ำท่วมไปจากการสร้างเขื่อน วัดดังกล่าวได้แก่ วัดบ้านห้วย วัดศรีแท่น
วัดดอนแก้ว วัดหลวง วัดท่าเดื่อ วัดท่าโป่ง วัดอุมวาบ และวัดพระธาตุลอย สร้างเสร็จเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๐๔
เจดีย์พระธาตุลอย
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของอุโบสถวัดชลประทานรังสรรค์ ก่อนสร้างพระเจดีย์องค์นี้ได้มีพระเจดีย์องค์เดิมมีขนาดฐานกว้าง
๑๑ เมตร เป็นฐานทรงสี่เหลี่ยม ต่อขึ้นไปเป็นรูปทรงระฆัง มีความสูงรวม ๑๙ เมตร
ช่วงบนฐานสี่เหลี่ยมหุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้มีการสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่กว่าองค์เดิม และมีการตกแต่งองค์ประกอบอื่น
ๆ ให้สวยงาม โดยให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิม โดยขยายฐานให้กว้างเป็น ๑๓
เมตร สูง ๑.๖๐ เมตร ต่อจากฐานล่าง สร้างฐานย่อเก็จมุมละสามเก็จ สูง ๘ เมตร
รากฐานย่อเก็จถึงยอดปลีสูง ๑๗.๙๐ เมตร ฐานองค์พระเจดีย์ใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก
ต่อจากนั้นใช้ก่ออิฐโบกปูนและเสริมเหล็กขึ้นไปถึงยอดปลี รวมความสูงทั้งหมด
๒๗.๕๐ เมตร แล้วหุ้มองค์พระเจดีย์ด้วยแผ่นทองเหลือง (แผ่นทองจังโก) ตั้งแต่ยอดปลีถึงฐานย่อเก็จทาสีทอง
ตั้งแต่ฐานย่อเก็จถึงฐานล่างทาสีขาว
ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ เริ่มก่อสร้างกำแพงแก้วรอบองค์พระเจดีย์ สูง ๗๐ เซนติเมตร ยาวด้านละ
๑๗ เมตรทั้งสี่ด้าน แบ่งเป็นช่อง ๆ ละ ๑.๘๐ เมตร จำนวน ๓๕ ช่อง ช่วงบนกำแพงแก้วติดแผงรั้วอัลลอยด์
สร้างซุ้มประตูเข้าไปภายในกำแพงแก้วหนึ่งแห่งทางด้านทิศตะวันออก สร้างฉัตรไว้ทั้งสี่มุมขององค์พระเจดีย์
สร้างนาคสองตัว ยาวตัวละ ๑ เมตร ไว้ด้านหน้าซุ้มประตู ข้างละหนึ่งตัว สร้างสิงห์สองตัวไว้ข้างซ้ายขวา
หน้าซุ้มประตูข้างละตัว และสร้างโคมไฟฟ้าอัลลอยด์ชุดมีดวงไฟห้าดวง ไว้ทั้งสี่มุมพระเจดีย์
|