ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > ประวัติพระพุทธบาท
 
Religion - Prabat

พระพุทธบาทของไทย



พระพุทธบาท เป็นบริโภคเจดีย์  ซึ่งเป็นเจดีย์ประเภทหนึ่งในสี่ประเภทของพระพุทธเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา  เช่นเดียวกับพระพุทธธาตุเจดีย์
การนับถือรอยพระพุทธบาทเป็นเจติยสถาน มีมูลเหตุเกิดขึ้นจากสองคติต่างกัน คือ เป็นคติของชาวมัชฌิมประเทศหรือชาวอินเดียในครั้งโบราณอย่างหนึ่ง และเป็นคติของชาวลังกาทวีป คือ ชาวลังกาในปัจจุบันอย่างหนึ่ง
สำหรับคติของชาวมัชฌิมประเทศนั้น เดิมถือกันตั้งแต่ครั้งพุทธกาล และก่อนหน้านั้นว่า ไม่ควรสร้างรูปเทวดาหรือมนุษย์ขึ้นไว้บูชา  ดังนั้นเจดีย์ที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเมื่อก่อนพุทธศักราช 500 จึงทำแต่สถูปหรือวัตถุต่าง ๆ เป็นเครื่องหมาย สำหรับบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า  ซึ่งรอยพระพุทธบาทก็เป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันในสมัยนั้น
ส่วนคติที่ถือกันในลังกาทวีปนั้น เกิดขึ้นภายหลัง โดยอ้างว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้เป็นที่สักการะบูชา มีอยู่ห้าแห่งด้วยกัน คือที่เขาสุวรรณมาลิก  เขาสุวรรณบรรพต  เขาสุมนกูฏ ที่เมืองโยนกบุรี  และที่หาดในลำน้ำนัมทานที  มีคาถา คำนมัสการ แต่งไว้สำหรับสวดท้ายบทสวดมนต์อย่างเก่า ดังนี้
สุวณฺณ มาลิเก สุวณฺณ ปัพพเต                      สุมนกูเฏ โยนกปุเร
นมฺมทาย นทิยา ปัญฺจปทวรํ อหํ วนฺทามิ ทูรโต
เดิมเรารู้จักแต่รอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ  ซึ่งอยู่ที่ลังกาทวีปแห่งเดียว  ตามตำนานในเรื่องมหาวงศ์ มีว่า  ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จโดยทางอากาศไปยังลังกาทวีป  ได้ทรงสั่งสอนชาวลังกาทวีป จนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับไปยังมัชฌิมประเทศ ได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหารย์ ประทับรอยพระพุทธบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณหนึ่งวา ประดิษฐานไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ สำหรับให้ชาวลังกาได้สักการะบูชาต่างพระองค์
ฝ่ายพุทธศาสนิกชน  ที่นับถือพระพุทธศาสนาตามลัทธิลังกาวงศ์  เช่น ไทย  พม่า  มอญ  ต่างก็พยายามไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็นเวลาช้านาน
ล่วงมาถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2163-2173) เมื่อพระสงฆ์ไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปนมัสการ รอยพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป  ณ  เขาสุมนกูฏ  พระสงฆ์ลังกาได้ถามว่า ในบรรดารอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ห้าแห่งนั้น แห่งหนึ่งอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพตในประเทศสยามเอง ชาวสยามทำไมจึงไม่ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนั้น  เมื่อคณะสงฆ์ดังกล่าวเดินทางกลับมายังอยุธยา จึงนำความเข้าทูลพระเจ้าทรงธรรม  พระเจ้าทรงธรรมจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราสั่งบรรดาหัวเมืองทั้งหลายให้ไปตรวจค้นดูตามภูเขาต่าง ๆ ว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่  ณ  ที่แห่งใดหรือไม่
ในครั้งนั้น ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีสืบได้ความจากพรานบุญว่า  ครั้งหนึ่งตัวพรานบุญเองได้ไปล่าเนื้อในป่าริมเชิงเขา  ได้ใช้หน้าไม้ยิงถูกเนื้อตัวหนึ่งบาดเจ็บ  เนื้อนั้นได้วิ่งหนีขึ้นไปบนไหล่เขาเข้าเชิงไม้ไป  พอบัดเดี๋ยวก็เห็นเนื้อตัวนั้นวิ่งออกจากเชิงไม้ไปเป็นปกติดังเดิม  พรานบุญแปลกใจจึงขึ้นไปดูบนไหล่เขานั้น  ก็เห็นมีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรอยเท้าคน ขนาดยาวประมาณศอกเศษ  มีน้ำขังอยู่ในรอยนั้น ก็สำคัญว่าเนื้อคงหายบาดเจ็บเพราะกินน้ำนั้น จึงตักเอามาลองลูบตัวดู  บรรดากลากเกลื้อนที่ตนเป็นอยู่มาช้านานก็หายหมด  ผู้ว่าราชการเมื่อสระบุรีทราบดังนั้น จึงไปตรวจดูเห็นมีรอยอยู่จริงตามที่พรานบุญเล่าให้ฟัง  จึงได้มีใบบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าทรงธรรมจึงได้เสด็จออกไปทอดพระเนตรเห็นจริง  จึงทรงพระราชดำริว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท ตรงตามที่ลังกาบอกมาเป็นแน่แท้  ก็ทรงโสมนัสศรัทธาด้วยเห็นว่า เป็นเจดีย์เนื่องชิดติดต่อถึงพระพุทธเจ้า ประเสริฐกว่าอุเทสิกเจดีย์ เช่น พระพุทธรูป  และพระสถูปเจดีย์  ซึ่งเป็นของสร้างขึ้นโดยสมมติ  จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเป็นมหาเจดียสถาน  มีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และมีสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์บริบาล  และสร้างบริเวณพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระพุทธบาทแห่งหนึ่ง กับที่ท่าเจ้าสนุกริมลำน้ำป่าสักอีกแห่งหนึ่ง  สำหรับประทับเวลาเสด็จไปสักการะบูชา แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ช่างชาวฮอลันดา  ส่องกล้องทำถนน ตั้งแต่ท่าเรือขึ้นไปจนถึงสุวรรณบรรพต  เพื่อให้มหาชนเดินทางไปมาได้สดวก  ทรงพระราชอุทิศที่หนึ่งโยชน์ โดยรอบรอยพระพุทธบาท ถวายเป็นพุทธบูชา  กัลปนาผลซึ่งได้เป็นส่วนของหลวงในที่นั้น สำหรับใช้จ่ายในการรักษามหาเจดียสถาน และให้บรรดาชายฉกรรจ์ที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่ทรงพระราชอุทิศนั้น พ้นจากหน้าที่ราชการอื่น โดยจัดให้เป็นขุนโขลนข้าพระ ทำหน้าที่รักษาพระพุทธบาทแต่อย่างเดียว
    บริเวณที่ทรงพระราชอุทิศนี้ ได้นามที่เรียกกันเป็นสามัญว่า เมืองพระพุทธบาท เกิดมีเทศกาลที่มหาชนไปบูชารอยพระพุทธบาท ในกลางเดือนสามและกลางเดือนสี่เป็นประจำนับแต่นั้นมา
    ความจริงรอยพระพุทธบาทอันเป็นที่มหาชนบูชาในประเทศไทย  มีมาก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรมแล้วช้านานและมีอยู่หลายแห่ง โดยทำเป็นรอยพระพุทธบาทขนาดต่างกัน 4 รอย  อุทิศต่อพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์  เช่นที่เขาในแขวงเมืองเชียงใหม่ ทำเป็นรอยพระบาททั้งซ้ายและขวา  ที่เป็นศิลาแผ่นใหญ่ เดิมอยู่ในเมืองชัยนาท  ปัจจุบันอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ฯ และที่เรียกว่า "พระยืน" อยู่ในมณฑปใกล้พระแท่นศิลาอาส์น เป็นต้น 
การที่ทำแต่รอยพระพุทธบาทขวาข้างเดียวนั้นมีอยู่มาก ที่สำคัญคือที่พระเจ้าธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ทรงสร้างไว้บนเขานางทอง จังหวัดกำแพงเพชร  มีอักษรจารึก  อีกรอยหนึ่งไม่ปรากฎว่าผู้ใดสร้าง  ปัจจุบันอยู่ที่วัดพระรูป  จังหวัดสุพรรณบุรี  พระพุทธบาทรอยนี้จำหลักบนแผ่นกระดานไม้แก่น  ด้านหลังจำหลักรูปภาพเรื่องมารวิชัย  แต่ตรงที่พระพุทธรูปทำเป็นแท่นพระพุทธอาส์น  ไม่ได้ทำเป็นพระพุทธรูป  แสดงว่ารอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ชั้นเดิมถือตามคติชาวมัธยมประเทศ คือสร้างเป็นวัตถุที่สักการะบูชาแทนพระพุทธรูป  มิได้อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้  เพราะฉะนั้นการที่พบรอยพระพุทธบาท  ณ เขาสุวรรณบรรพต  จึงทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาว่า พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมา ณ ที่นี้  ต่อมาได้เกิดเจดียสถานที่เชื่อกันว่าเป็นพุทธบริโภคอีกหลายแห่ง คือ พระพุทธฉาย และพระแท่นดงรัง เป็นต้น


พระพุทธบาทสระบุรี
พระพุทธบาทสระบุรี ประดิษฐานอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพต อำเภอพระพุทธบาท  จังหวัดสระบุรี  ตามคติของชาวลังกาทวีป ถือว่าเป็นบริโภคเจดีย์  เนื่องจากเชื่อว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเหยียบไว้บนเขาสุวรรณบรรพต  พบในสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2163-2171 โดยพรานบุญเป็นผู้ไปพบเห็นความศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถทำให้เนื้อที่บาดเจ็บจากการยิงของตน หายจากบาดเจ็บได้  และตัวพรานบุญเอง  เมื่อนำน้ำจากรอยพระบาทมาลูบตัว ก็ทำให้กลากเกลื้อนที่ตนเป็นอยู่หายไปได้
พระเจ้าทรงธรรม ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นจริง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเป็นมหาเจดีย์สถาน มีพระมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างวัดให้พระภิกษุอยู่ดูแลรักษารอยพระพุทธบาทนี้  ให้ช่างชาวฮอลันดาทำถนนจากท่าเรือ ตรงไปยังเขาสุวรรณบรรพต  ชาวบ้านเรียกว่าถนนฝรั่งส่องกล้อง เพราะมีการนำเครื่องมือวางแนวถนนแบบใหม่ คือกล้องวัดทิศทางและระดับ มาใช้ในการตัดถนน ทำให้ถนนสายนี้สร้างได้เป็นแนวตรง จากท่าเรือไปยังพระพุทธบาท ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
พระเจ้าทรงธรรม ยังได้ทรงอุทิศที่ดินและวางรากฐานอื่น ๆ อีกหลายประการ เพื่อให้พระพุทธบาทแห่งนี้ดำรงอยู่ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ตลอดไปชั่วกาลนาน
ได้เกิดมีเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ในกลางเดือนสาม และกลางเดือนสี่ เป็นประจำปี ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกหลายพระองค์ ได้เสด็จมาทรงสักการะบูชา และสมโภชพระพุทธบาทนี้เป็นนิจ บางพระองค์ก็ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัตถุสถานเพิ่มเติม  อาทิ  พระเจ้าปราสาททองได้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้นที่ธารทองแดง   เพื่อใช้เวลาเสด็จมานมัสการพระพุทธบาทให้ชื่อว่า ตำหนักธารเกษม  กับให้ขุดบ่อน้ำ  พร้อมทั้งสร้างศาลาราย ตามริมถนนไปสู่พระพุทธบาท เพื่อให้ใช้เป็นที่พักของผู้ที่มานมัสการ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างถนนเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินจากลพบุรี ถึงเขาสุวรรณบรรพต ให้สร้างอ่างแก้วและกำแพงกันน้ำตามไหล่เขา เพื่อชักน้ำฝนไปลงอ่างแก้ว ให้ประชาชนใช้บริโภค 
ในรัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี หรือพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2246-2251) ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑป  และดัดแปลงจากเดิมที่มียอดเดียวให้เป็นห้ายอด  ในรัชสมัยสมเด็จพระภูมินทราธิบดี  หรือพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) ได้ให้เอากระจกเงาแผ่นใหญ่ประดับฝาผนังข้างในพระมณฑป  และปั้นลายปิดทองประกอบตามแนวที่ต่อกระจก  ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2  หรือพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสร้างบานประตูของมณฑปเป็นบานประตูประดับมุก  จำนวน  8  บาน
ล่วงมาถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร  หรือพระเจ้าเอกทัศน์  (พ.ศ. 2301-2310)  เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2509  พวกจีนอาสา จำนวน 300  คน  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู ได้พากันไปยังพระพุทธบาท  แล้วลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑป  และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑปไป แล้วเผาพระมณฑปเสีย เพื่อปกปิดการกระทำของตน
ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  เสด็จไปอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑป  พระองค์ได้ทรงมีพระราชศรัทธา รับแบกตัวลำยองเดรื่องบนหนึ่งตัว แล้วเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือ ไปจนถึงพระพุทธบาท  นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ยอดเยี่ยม เป็นที่ปรากฏแก่มหาชนในการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา
พระมหากษัตริย์ในพระราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์  ต่อมาก็ได้ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่าง ๆ ของพระพุทธบาท  ให้อยู่ในสภาพที่ดีเลิศอยู่ตลอดมา  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมกุฏภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์หนึ่ง  และสร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่ กับสร้างพระมณฑปน้อย  ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑป เป็นเสื่อเงินและได้ทรงยกยอดพระมณฑป  พร้อมทั้งบรรจุพระบรมธาตุ  ที่พระมกุฏภัณฑเจดีย์  เมื่อปี พ.ศ. 2403
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท 4 ครั้ง  ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และซ่อมผนังข้างในพระมณฑป สร้างบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑป จากเดิมที่มีอยู่สองสายเป็นสามสาย และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้เสด็จไปยกยอดพระมณฑป เมื่อปี พ.ศ. 2450

Religion - Prabat


พระพุทธบาทตากผ้า

พระพุทธบาทตากผ้า ประดิษฐานอยู่  ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า  บนเนินเขาระหว่างดอยม่อนช้าง กับดอยเครือ  ตำบลมะกอก  อำเภอป่าซาง  จังหวัดลำพูน  ห่างจากตัวเมืองลำพูนไปทางทิศใต้ประมาณ  22 กิโลเมตร
รอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุข มีอยู่สองรอย คือรอยพระพุทธบาทใหญ่   มีขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร  ยาวประมาณสองเมตรครึ่ง รอยพระพุทธบาทเล็ก  มีขนาดกว้างประมาณ  32 นิ้ว  ยาวประมาณ  1 เมตร กับ  26 นิ้ว
ตามตำนานกล่าวว่า  ในสมัยพุทธกาล  ณ เวลาใกล้รุ่งวันหนึ่ง  พระพุทธองค์ได้ทรงแผ่ข่ายพระญาณ เพื่อตรวจดูสัตว์โลกผู้ควรแก่การบรรลุธรรม ก็ทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณ  (พระญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในอนาคตตามความเป็นจริง) ว่าในดินแดนสุวรรณภูมิ (คือดินแดนที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน)  จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต  สมควรที่พระองค์จะเสด็จไปประดิษฐานพระศาสนาไว้ เมื่อทรงมีพระดำรินั้นแล้ว  จึงได้เสด็จมาสู่สุวรรณภูมิโดยพุทธนิมิต  มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ (ตามเสด็จ) พระองค์ได้เสด็จจาริกมาตามคามนิคมชนบทต่าง ๆ จนถึงถ้ำตับเต่า ถ้ำเชียงดาว พระนอนขอนม่วง  พระบาทยั้งหวีด  และพระธาตุทุ่งตุม ตามลำดับ ได้ทรงเหยียบรอยพระบาท และประทานพระเกศาธาตุประดิษฐานไว้ในที่นั้น ๆ ตามควรแก่พุทธอัชฌาศัย แล้วเสด็จเลียบลงมาตามฝั่งแม่น้ำปิง จนถึงวังน้ำแห่งหนึ่ง มีน้ำใสสะอาด  มีที่ราบเตียนงาม พระพุทธองค์จึงได้ทรงหยุดพักและทรงเปลื้องจีวรให้พระอานนท์นำไปซัก  สถานที่พระอานนท์เอาจีวรไปซักนี้ได้ชื่อว่า วังซักครัว มาจนถึงปัจจุบัน  เป็นจุดที่อยู่ทางใต้ของสบกวง อันเป็นที่แม่น้ำกวง ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง  ส่วนจุดที่ตากจีวรซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น เป็นเนินศิลา  บนผิวศิลาปรากฎเป็นรอยตารางรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายกับผ้าจีวร  ซึ่งจะเห็นเป็นตารางคล้ายแนวคันนาของอินเดียในสมัยนั้น  ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จข้ามแม่น้ำ แล้วจาริกไปตามลำดับ จนถึงบ้านแห่งหนึ่งไม่ห่างจากดอยม่อนช้างมากนัก พระองค์ก็ทรงหยุดยืน แล้วผินพระพักตร์หว่าย (บ่าย)  ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านหว่าย   ซึ่งปัจจุบันคือบ้านหวาย   จากนั้นก็เสด็จไปถึงลานผาลาด   ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งวัดพระพุทธบาทตากผ้า  ณ ที่นี้ พระพุทธองค์ได้เหยียบพระบาทประดิษฐานรอยพระบาทลงไว้บนผาลาด  แล้วตรัสพยากรณ์ไว้ว่า
    "ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฎชื่อว่า  พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่เราตถาคต  มาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัสตร์นี้ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการะบูชาของมหาชน  ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะอำนวยประโยชน์สุขแก่ปวงชน ตลอด  5,000 พรรษา"
หลังจากนั้น พระพทุธองค์ก็เสด็จไปทางทิศตะวันออก ถึงหัวดอยม่อนช้าง แล้วทรงประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ ณ ที่นั้น จากนั้นได้ประทานพระเกศาแก่ตายายสองคนผัวเมีย ผู้เข้ามาปฏิบัติบำรุงพระพุทธองค์ด้วยภัตตาหารและน้ำ ต่อมาได้มีผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ขึ้นไว้ ณ ที่นั้น ได้ชื่อว่า พระนอนม่อนช้าง  มาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมภูทวีป ได้ส่งพระโสณะ และพระอุตตระ มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ในครั้งนั้นมหาชนผู้ได้รับแสงสว่างจากพุทธธรรม จึงได้สร้างวัดพระพุทธบาทตากผ้าขึ้น และได้เเป็นปูชนียสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา นับแต่นั้นมาจนประมาณปี พ.ศ. 1200 เศษ พระนางจามเทวีได้ครองนครหริภุญชัย (ลำพูน) พระนางมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้ทรงสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท แล้วจัดให้มีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่
ในปี พ.ศ. 1824 พระเจ้าเม็งรายมหาราช ตีได้เมืองหริภุญชัย ก็ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธบาทตากผ้าต่อมา จนสิ้นราชวงศ์เม็งราย เกิดศึกสงครามบ้านเมืองร้าง วัดพระพุทธบาทตากผ้าก็เสื่อมโทรมไป
ในปี พ.ศ. 2375 คณะสงฆ์และฆราวาส โดยมีครูป๋าปารมี แห่งวัดสะปุ๋งหลวงเป็นหัวหน้า ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างวิหารหลังใหญ่ ครอบมณฑปพระพุทธบาทไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการพระพุทธบาท ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 คณะสงฆ์จังหวัดลำพูน มีพระพุทธิวงศ์ธาดา เจ้าคณะอำเภอปากบ่อง (ปัจจุบันคือ ป่าซาง ) อยู่วัดฉางข้าวน้อยเหนือ เป็นประธาน ฝ่ายฆราวาสมี หลวงวิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) นายอำเภอปากบ่อง เป็นประธาน ได้ไปอาราธนาครูบาศรีวิชัย ซึ่งอยู่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ มาเป็นประธานในการก่อสร้างวิหารจตุรมุขครอบรอยพระพุทธบาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้นำเสด็จพระเจ้ากรุงเดนมาร์ก และพระราชินีอินกริด มานมัสการพระพุทธบาทตากผ้า และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยไว้บนแผ่นหินรูปใบเสมา เมื่อปี พ.ศ. 2505
คำนมัสการพระพุทธบาทตากผ้า มีดังนี้
"ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิโน จะ ปาทัง ตัง ปาทะวะลัญชะนะมะหัง สิระสา นะมามิ"
แปลว่า "รอยพระบาทใดของพระมหามุนีบรมศาสดามีอยู่ ณ เมืองโยนก ข้าพเจ้าขอนมัสการพระบาทและรอยพระบาทนั้น ด้วยเศียรเกล้า"


พระพุทธบาทบัวบก
พระพุทธบาทบัวบก อยู่ที่อำเภอบ้านผือ  จังอุดรธานี  อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดร ฯ ประมาณ  55 กิโลเมตร รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่ภายในพระธาตุเจดีย์พระพุทธบาทบัวบก  ซึ่งมีลักษณะคล้ายพระธาตุพนม
    ตามตำนานพระเจ้าเหยียบโลก กล่าวไว้ว่า  พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ในที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่ดอยนันทะดังฮี ในแคว้นหลวงพระบาง ได้ทรงทราบว่า นาคแถบฝั่งโขงมีความดุร้าย  มักรบกวนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ  เพื่อที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระองค์จึงได้เสด็จไปยังถ้ำหนองบัวบาน และถ้ำบัวบก อันเป็นที่อาศัยของนาค  2 ตัว คือ กุทโธปาปนาค และมิลินทนาค พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่กุทโธปาปนาค  เมื่อกุทโธปาปนาคได้สดับพระธรรมเทศนา ก็บังเกิดความเลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสก และถือพระไตรสรณาคมณ์เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต หลังจากนั้นกุทโธปาปนาคก็นึกถึงน้องชายคือมิลินทนาคว่า  ควรจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์เช่นตน  เพื่อจะได้ประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร จึงได้กราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงถ้ำบัวบกอันเป็นที่อยู่ของมิลินทนาค  มิลินทนาคก็แสดงฤทธิ์อำนาจเพื่อขัดขวาง และทำร้ายพระพุทธองค์ด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล  ในที่สุดจึงได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ เข้าไปนมัสการพระพุทธองค์เพื่อขอขมา  พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดมิลินทนาค  เมื่อมิลินทนาคได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ก็สำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำไปแล้ว และทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากมิลินทนาคมิใช่มนุษย์ พระพุทธองค์จึงอุปสมบทให้ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงประทานไตรสรณาคมณ์ ให้มิลินทนาคไว้เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกและถือปฏิบัติต่อไป  เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยเบียดเบียนทำร้ายสัตว์โลกมาเป็นช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์โลก ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา
เมื่อมิลินทนาครับไตรสรณาคมณ์แล้ว  จึงกราบทูลขอรอยพระบาทพระพุทธองค์ไว้เป็นที่สักการะบูชา พระพุทธองค์ทรงพิจารณาสถานที่แล้ว  จึงได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้  ณ สถานที่นี้  แล้วจึงเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธบาทแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า พระพุทธบาทบัวบก ตามชื่อถ้ำบัวบกนี้มิลินทนาคอาศัยอยู่
บริเวณวัดพระพุทธบาทบัวบก มีสถานที่อันเนื่องมาจาก ตำนานข้าวต้น คือ ถ้ำพญานาค อยู่ไม่ไกลจากพระพุทธบาทนัก  มีลักษณะเป็นรูโพรงขนาดใหญ่ พอที่คนสองคนจะลงไปได้พร้อม ๆ กัน กล่าวกันว่า เป็นที่อาศัยของพญามิลินทนาคตามตำนาน  และเชื่อกันว่ารูถ้ำพญานาคนี้ สามารถทะลุออกไปสู่แม่น้ำโขงได้
หลังจากนั้น  พระพุทธบาทแห่งนี้ก็ถูกทอดทิ้งมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองพันปี   อาจจะมีผู้บูรณะมาตามลำดับแต่ไม่ปรากฎหลักฐาน การบูรณะครั้งล่าสุดดังที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการบูรณะเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2462 โดยมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งจากอำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม  มีพระศรีทัตเป็นผู้นำ ได้ธุดงค์มาตามลำดับจนถึง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  เพื่อค้นหารอยพระพุทธบาทตามตำนานดังกล่าวข้างต้น  ชาวบ้านในแถบนั้นก็ให้ข้อมูลตามที่ทราบ ในที่สุดก็ได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้  จากนั้นจึงได้ขอแรงชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง สร้างพระเจดีย์ครอบรอยพระบาท  ในการก่อสร้างต้องนำวัสดุมาจากที่ห่างไกล ทั้งจากประเทศไทยและจากประเทศลาว  การคมนาคมก็ไม่สดวก ทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลามาก แต่ด้วยแรงศรัทธาและความตั้งใจแน่วแน่ การก่อสร้างก็แล้วเสร็จ โดยใช้เวลาถึง  14 ปี


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์