อ่างศิลา
อ่างศิลา
อ่างศิลา อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ อยู่ในจังหวัดชลบุรี เมื่อก่อนนี้ อ่างศิลาได้ชื่อแต่เพียงว่า
"แหล่งครกหิน"
เพราะผลิตครกหินที่ดีที่สุด และน่าจะเป็นแหล่งที่ทำกันมากที่สุดด้วย แต่อ่างศิลาวันนี้
พ.ศ.๒๕๕๐ ไม่ใช่แค่แหล่งครกหินแล้ว ยังมีวัด มีวิหาร มีร้านขายอาหารทะเลแห้ง
ร้านขายอาหารเป็นแถวยาวเหยียดยาวเกินกว่าร้อยเมตร และเส้นทางต่อจากอ่างศิลา
ก็วิ่งรถไปเที่ยวต่อยังเขาสามมุข
ไปบางแสน และกลับไปออกถนนสุขุมวิท
ไปซื้อข้าวหลามหนองมนได้อีก
ความตั้งใจของผมจะไปชมวิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม ที่สร้างใหม่และยังต่อเติมตกแต่งอยู่
ทราบกิติศัพท์ว่างามนัก บางคนบอกว่า งามกว่าวิหารเซียน ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดญาณสังวราราม
เลยต้องไปชมให้เห็นกับตา และจะไปตามร้านอาหารเก่าแก่ ที่ชิมกันมาตั้งแต่สามสิบกว่าปีมาแล้ว
ว่ายังอยู่ดี หรือไม่หรือกลายเป็นศูนย์การค้าไปแล้ว
เส้นทาง ผมไปทางด่วนสองเด้ง ลงที่บางปะกง หากมุ่งจะไปเที่ยวอ่างศิลา ขอแนะนำว่าเมื่องลงทางด่วนแล้ว
ไม่จำเป็นต้องเข้าถนนบายพาส ให้วิ่งผ่านตัวเมืองชลบุรีไปเลย จะได้เห็นความเจริญของเมืองชลไปด้วย
เมื่อพ้นย่านเมืองเก่าของชลบุรีแล้ว ก็จะมายังส่วนที่เมืองขยายออกไป เช่น
คาร์ฟูร์ ออกมาตั้งอยู่เกือบถึง กม.๑๐๐ เมื่อถึง กม.๑๐๐ มีไฟสัญญาณ ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย
๓๑๓๔ ซึ่งจะไปยังอ่างศิลา บางแสน กลับไปออกสุขุมวิทใหม่ ตรงใกล้ตลาดหนองมน
เมื่อเลี้ยวเขามาแล้ว จะพบแหล่งท่องเที่ยวที่น่าแวะดังนี้
วัดเสม็ด
ไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แปลกไม่เหมือนใคร วัดเสม็ด อยู่ห่างจากปากทางเข้ามาประมาณ
๑ กม. อยู่ทางขวามือ ความงดงาม และความแปลกอยู่ที่ภาพเขียนในโบสถ์ เช่น
ภาพการปลงกรรมฐาน โดยวิธีพิจารณาอสุภะ หรือซากศพ ภาพแสดงสภาพท้องถิ่นของเมืองชลบุรี
เช่น ชาวบ้านถีบกระดานหาหอย ตามหาดเลน
แหล่งแกะสลักหิน
ที่เคยรวมอยู่ย่านเดียวกัน ชักกระจายกันกลายเป็นร้านรวงไปก็มี แต่ลานแกะสลักอยู่หลังร้านค้า
ย่านแกะสลักหินไม่เพียงแต่มุ่งสลักครกหิน และลูกนิมิตเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
ยังมีการแกะสลักอื่น ๆ อีก เช่น โคมไฟ รูปสัตว์ต่าง ๆ ร้านอาหารที่ผมตามหาเคยขายอาหารตั้งโดดเดี่ยว
ขายอาหารและครกหิน ไปวันนี้ไม่มีแล้ว ร้านขายครกหิน ก็มักจะขายอย่างอื่นด้วย
ตลาดเก่าและท่าหอย
เกือบสุดทางที่จะเป็นทางโค้งไปสู่ถนนที่เลียบทะเล ซึ่งไม่มีหาดทรายให้ชม แต่จะเป็นฟาร์มหอยนางรมในทะเล
เวลาน้ำลงจะมองเห็นไกลไปสุดตา เมื่อเลยแหล่งแกะสลักหินไปแล้ว ก่อนถึงโค้งจะมีทางแยกขวาเลาะชายทะเล
ย่านของฝากตอนนี้ไม่ค่อยจะมี ย้ายถิ่นไปอยู่ด้านชายทะเลหมด ทำให้ตลาดย่านนี้ไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน
จะมีก็ตอนเช้าตรู่ชาวประมงจะนำหอยนางรม และหอยแมลงภู่ ขึ้นมาขายส่งทำให้ซื้อขายกันคึกคัก
หากเราพักไม่ไกลจากแถวนี้ อยากได้อาหารสด รีบตื่นมาซื้อได้ ราคาถูก สดแท้แน่นอน
พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ
๗๒ พรรษา มหาราชินี อยู่ตรงพ้นโค้งไปนิดเดียวเป็นตึกสองหลังอยู่ใกล้กัน
หลังแรกทางขวามือสีแดง หลังใหญ่ซ้ายสีขาว ตึกสองหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่
๔ มีชื่อว่า "อาศรัยสถาน"
ใช้เป็นสถานพักฟื้นของผู้ป่วย
เป็นสถานที่ตากอากาศแห่งแรกของเมืองไทย หลังใหญ่สร้างโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
หลังสีแดงสร้างโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะใหม่ แล้วพระราชทานนามให้ตึกทั้ง ๒ หลังนี้ หลังใหญ่สีขาวมีนามว่า
ตึกมหาราช หลังสีแดง
นามว่า ตึกราชินี
ปัจจุบันกำลังจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ฯ
วัดอ่างศิลา
อยู่ริมทางหลวง ๓๑๓๔ ทางซ้ายมือ อุโบสถตามพระราชนิยม สมัยรัชกาลที่ ๓ ไม่มีช่อฟ้า
ใบระกา ในวัดมีศิลปะและวัฒนธรรม สมัยรัชกาลที่ ๔ ชมภาพจิตรกรรมในอุโบสถ และนมัสการรอยพระพุทธบาทในมณฑป
วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม
คือ วิหารจีน ที่ตั้งใจจะไปชมในการไปคราวนี้ ไปเห็นแล้วต้องยอมรับว่า สร้างได้สวยจริง
และใหญ่โต ที่ตั้งอยู่ริมถนน ๓๑๓๔ ประมาณหลัก กม.๕ อยู่ทางซ้ายมือ จอดรถได้ที่ริมกำแพงวิหาร
เมื่อเข้าประตูไปแล้ว ทางซ้ายมือวันที่ผมไป กำลังสร้างวิหารแม่นางธรณีอยู่
และติดกันมีศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม พันมือ ประวัติว่าเดิมเป็นเพียงศาลเจ้าเล็ก
ๆ มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ สร้างเฉลิมพระเกียรติเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา ใช้เวลาสร้าง ๔ ปี จึงเริ่มเปิดให้เข้าชม สร้างในเนื้อที่
๔ ไร่เศษ รวมศาลเจ้าด้วยมีเนื้อที่ ๘ ไร่ สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาเป็นประธาน
ในพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป ๗ องค์ และประทานพระบรมสารีริกธาตุ ๙ องค์ การก่อสร้างใหญ่โต
ประณีตงดงามมาก อาคารมี ๓ ชั้น เสาทุกต้นมีมังกรเกี่ยวพันรอบเสา มีเสาฟ้าดิน
(บูชาเสียก่อนเข้าวิหาร) มีสระบัว อาคารปฎิบัติธรรม ชั้นล่างมีเทพประทับนั่งหลายองค์
มีพระกษิติกรรมาโพธิสัตว์ พระตี่ฉั่ว อ้วนผ่อสัก โปรดสัตว์ในนรก ชั้น ๒ เป็นชั้นของเทพเจ้าต่าง
ๆ มากมายหลายองค์ สร้างใหญ่กว่าตัวมนุษย์ และสร้างประณีตสวยทุกองค์ ชั้นที่
๓ เป็นพระโพธิสัตว์ในปางต่าง ๆ ภายในอาคารชั้นบน ติดแอร์ เดินชมเย็นสบาย แถมตอนลงมาทางขวา
เมื่อเข้าประตูไปมีห้องสุขาด้านหลัง ด้านหน้ามีเครื่องดื่ม มีเฉาก๊วยชากังราว
จากกำแพงเพชรมาขายถึงที่นี่ แก้วละ ๑๕ บาท
ออกจากวิหารเทพสถิต ฯ เลี้ยวซ้ายมาผ่านดงอาหาร ยาวเหยียดตั้งเข้าแถวอยู่ประมาณ
กม. ๖.๔ วิ่งเลยไปก่อน เดี๋ยวผมจะพากลับมาชิมอาหารย่านนี้ ที่เป็นอาหารทะเล
สด อร่อย ราคาย่อมเยา เลยเพิงขายอาหารไปก่อนก็จะถึง ศาลาฤาษีเขาสามมุข เจ้าแม่กวนอิม
องค์ใหญ่ประทับนั่ง ตรงหน้าประตูทางเข้า มีวิหารเมตตา ข้างบันไดมีตัวมังกร
พระฤาษีวิสวามิ (ครูเทพ) รูปปั้นต่าง ๆ มีทั้งรูปปั้นพระจีน พระพิฆเนศ มีป้ายเขียนบอกไว้ว่า
จะถ่ายรูปใด ก่อนไปถ่ายให้จุดธูปบอกฤาษีเสียก่อน จึงจะได้ภาพสวย
ศาลเจ้าแม่สามมุขจีน
จากศาลาฤาษี เลี้ยวขวามาประมาณ ๕๐๐ เมตร ถึงทางแยกเข้าศาลเจ้าแม่สามมุขจีน
ที่มีคำว่าจีน ต่อท้าย คงจะเป็นเพราะสร้างในลักษณะศาลเจ้าจีน และเป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่
ศาลเก่าอยู่ไม่ไกลกัน และเล็กกว่ามาก คงจะเป็นศาลไทย เพราะมีตำนานเล่าไว้
๒ ตำนานคือ ตำนานแรก มีหนุ่มชื่อ "แสน" กับสาวชื่อ "มุข" รักกันมาก
แต่ความรักไม่สมหวัง ทั้งสองจึงมาจบชีวิตลง ตามคำสาบานที่ให้ไว้ต่อกัน ตรงหน้าผาด้านข้างศาล
จึงถือเป็นแบบอย่างของความรักที่ซื่อสัตย์ ที่เล่าขานกันต่อมา คู่รักที่มีอุปสรรค
อย่าไปคิดฆ่าตัวตาย อย่างหนุ่มแสน สาวมุข แต่ไปอธิษฐานขอพรแทน ให้รักนั้นสมหวัง
อย่าไปฆ่าตัวตายเข้า อีกตำนานหนึ่ง เล่าไว้ว่า เดิมเขาสามมุขเป็นถ้ำใหญ่ ในถ้ำมีทรัพย์สมบัติมากมาย
เช่น โต๊ะ โตก ถ้วยชาม จาน ฯ ถือว่าเป็นของเจ้าแม่สามมุข เวลามีงานชาวบ้านก็เข้าไปยืมเอามาใช้
ต่อมามีคนประเภทมักได้ ยืมเอามาแล้วไม่ส่งคืน เจ้าแม่จึงเอาหินปิดปากถ้าเสีย
ไม่ใครเข้าออกอีก เจ้าแม่สามมุขเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ทั้งไทยและจีนมาตราบเท่าทุกวันนี้
ใครไปกราบไหว้ต้องถวายของโปรดของเจ้าแม่คือ ถวายว่าว และมะพร้าวอ่อน หน้าวิหาร
ริมถนนชายเขาเป็นจุดชมวิว และชมพระอาทิตย์ตก ถนนนี้จะมีทางเลี้ยวก่อนถึงศาลเจ้าแม่
วนขึ้นไปได้จนถึงยอดเขา เป็นจุดชมวิวทะเลที่สวยมาก เห็นแหลมแท่นที่ต่อกับหาดบางแสน
เห็นหาดบางแสน อ่างศิลา วันไหนอากาศดี ๆ จะมองเห็นไปถึงเกาะสีชัง และศรีราชา
เป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ลงเขาสามมุข สามมุขยังมีสัตว์ที่คู่กับเขามาคือ "ลิง" มีอาหารเลี้ยวลิงขายตรงทางแยกขึ้นยอดเขา
แม่ค้าเอากล้วย เอาถั่วต้ม ใส่ตะกร้ามาขายนักท่องเที่ยว อย่าไปยื่นให้ทั้งตะกร้า
เพราะลิงจะทิ้งถุงเรี่ยราด และที่ร้ายกว่านั้นมาแย่งกับมือ ลิงบนเขาสามมุขเป็นลิงป่า
อยู่อาศัยมาช้านาน ออกลูก ออกหลานมากมาย มีจำนวนนับพัน สงสัยว่ามีมากกว่าลิงศาลพระกาฬ
ที่ลพบุรี
จบสักการะเจ้าแม่สามมุขแล้ว วิ่งลงไปได้เลย ลงไปจนบรรจบกับถนน ๓๑๓๔ หากเลี้ยวซ้ายก็จะวิ่งกลับมาอ่างศิลา
ถ้าเลี้ยวขวาก็จะไปยังหาดบางแสน และหากวิ่งเลยต่อไป จนพ้นถนนชายหาดก็จะเลี้ยวซ้ายไปออกถนนสุขุมวิท
แล้วเลี้ยวขวาก็จะไปยังตลาดหนองมน ที่เมื่อตอนสร้างถนนสาย ๗ ตรงไปพัทยา กลัวกันว่าจะไม่มีใครกลับมาจับจ่ายที่ตลาดหนองมนกันอีก
แต่ปรากฎว่า แม้จะมีถนนสาย ๗ ลัดทางไปพัทยา ไประยอง เสน่ห์ตลาดหนองมน ก็ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาจับจ่าย
ซื้อของฝากโดยเฉพาะข้าวหลามมากยิ่งกว่าเดิม ตลาดยาวไปตามริมถนนมากกว่าเดิมหลายเท่า
ยาวไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ เมตร ข้าวหลามเป็นของฝาก ของกินอันดับหนึ่ง รองลงมาน่าจะ
ได้แก่ ห่อหมก หอยจ๊อ ทอดมัน ปูม้าเป็น ๆ หอยทะเลสด ๆ ขนมต่างๆ และร้านอาหาร
กลับมาร้านอาหารแถวย่านอ่างศิลา หากไล่กันมาตั้งแต่แยกขวาจากถนนสุขุมวิท หรือสาย
๓ ที่ กม.๑๐๐ วิ่งมาตามถนน ๓๑๓๔ จนถึงประมาณ กม.๖.๔๐๐ เลยวิหารเทพสถิตมาแล้วก่อนถึงตึกแถวทางฝั่งซ้าย
ร้านจะอยู่ทางขวามือ ย่านนี้เป็นเพิงขายอาหารมีหลายสิบร้าน เป็นเพิงปลูกติดต่อกันไป
มีโต๊ะ เก้าอี้ นั่งสบาย ยาวไปตามริมหาดที่เป็นฟาร์มเลี้ยงหอยนางรม ยาวไม่ต่ำกว่า
๒๐๐ เมตร สั่งอาหารย่านนี้ ต้องสั่งกันแต่อาหารทะเล เพราะความสด จะยิ่งทำให้อร่อยนัก
ปลาสำลีทอดราดน้ำปลา ผ่าตัวปลาแผ่ออกไป มีถ้วยใส่น้ำปลามะม่วงซอยให้จิ้ม
แกงส้มไข่ปลาเรียวเชียว รสเข้า ซดน้ำสนุก น้ำแกงหมดขอเติมได้ เสริฟมาในหม้อไฟ
(ใช้ถ่านร้อนดี) มีผักกะเฉด ผักกาดขาว เม็งมะพร้าว ไข่ปลาเม็ดโต เคี้ยวมัน
กุ้งอบวุ้นเส้น ตัวไม่โตนัก แต่วุ้นเส้นปรุงรสดี เนื้อกุ้งแน่น เหนียวหนึบ
ปลาเก๋า (เป็นชิ้น) ทอดราดสามรส จานนี้อร่อยมาก รสเข้มข้น หวานนิด ๆ
ไข่เจียวปู หรือจะสั่งไข่เจียวหอยนางรม จิ้มซ๊อสพริก
ย่านนี้ แม่ค้า พ่อค้าจร มีแยะ จะวนเวียนกันเข้ามาขาย ที่อร่อยคือ แม่ค้าหลังค่อม
ขายห่อหมก ซื้อด้วยความเห็นใจ แต่กลายเป็นได้อาหารอร่อยเพิ่ม ห่อหมกขายห่อละ
๑๐ บาท ขายขนุนแกะแล้วก็มี ลอตเตอร์รี่ ก็หลายเจ้า รถเข็นขายกาแฟ "ขายหมวก
พวงกุญแจ" ขายไอศคริม ฯ ทยอยกันเข้ามาขาย อยากอุดหนุนทุกเจ้า เห็นใจที่คงขายได้ไม่เท่าไร
กำไรก็คงจะไม่มาก แต่สินค้าบางชนิดซื้อแล้ว ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร
................................................
|