เจ้าตากเดินทัพ
เจ้าตากเดินทัพ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น เดิมท่านเป็นเจ้าเมืองตาก เป็นเจ้าเมืองที่เข้มแข็งมีชื่อเสียงผู้คนเรียกท่านว่าพระยาตากไม่เรียกว่าพระยาสิน ทั้ง ๆ ที่ท่านชื่อ "สิน" ต่อมามาช่วยราชการในกรุงศรีอยุธยาตอนที่มีศึกพม่าเข้ามาตีจนกรุงศรีอยุธยาพังในครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ก่อนกรุงแตกท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร หรือพระยากำแพงเพชรแต่ยังไม่ได้ออกไปรับตำแหน่งเพราะติดราชการทัพอยู่ในกรุงศรีอยุธยาซึ่งในที่สุดก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตก ก็นำไพร่พลที่สมัครใจไปตายดาบหน้าด้วยกันเพียง๕๐๐ คน ตีฝ่าทัพพม่าที่ล้อมกรุงออกไป คน ๕๐๐ สามารถตีแหกทัพพม่านับหมื่นออกไปได้แต่ทหารรักษากรุงนับหมื่นรักษากรุงไม่ได้ เพราะความไม่เอาไหนของแม่ทัพหรือผู้บัญชาการทัพ ที่ผมไปเรียกท่านว่าเจ้าตาก เพราะท่านได้รับการยกย่องจากไพร่พลของท่านเองว่าสมควรยกฐานะของท่านขึ้นเป็น"เจ้า" เรียกว่า "เจ้าตาก"จะได้มีอำนาจในการแต่งตั้งไพร่พลที่มีฝีมือ มีความดีความชอบให้มีตำแหน่งสำคัญๆ ปกครองบังคับบัญชาไพร่พลได้ตามวิธีการบังคับบัญชาของทหาร ท่านจึงยอมรับการยกฐานะขึ้นเป็น"เจ้าตาก" โดยเป็นเจ้าตากเมื่อตีได้เมืองระนอง ก่อนที่จะไปตีเมืองจันทบุรีซึ่งยังเป็นศึกระหว่างคนไทยด้วยกันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมลุยภาคตะวันออกครั้งนี้เพื่อหาวัตถุดิบในการเขียนหนังสือให้ปตท.ที่เขาจ้างเขียน ไม่ได้จ้างขายหรือจ้างให้ประชาสัมพันธ์ เขียนลูกเดียวปตท.เอาลิขสิทธิ์ไปเลย ทำให้ได้ทราบเส้นทางของพระยาตาก เมื่อออกจากกรุงศรีอยุธยามาบ้างใช้คำว่าบ้างเพราะไม่มีเล่มไหน บอกให้ละเอียดว่าเส้นทางไหนที่ท่านยกทัพผ่านไปเมื่อออกจากกรุงศรีอยุธยา จะมีก็แต่ตำบลหรือจุดที่ท่านพักทัพนานวันจึงจะมีบอกไว้และเกิดเป็นประวัติเป็นตำนานของจุดนั้นขึ้นมาเท่านั้น พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น หากอ่านหลาย ๆ เล่ม ก็ไม่ค่อยจะตรงกันนักยิ่งตอนสุดท้ายว่าถูกประหารชีวิตหรือไม่ ยิ่งแตกต่างกันออกไป เพราะผมเคยตามไปที่นครศรีธรรมราชที่วัดเขาขุนพนม ที่บอกว่าประทับอยู่ที่วัดนี้ส่วนคนที่ถูกประหารชีวิตนั้น เพียงแต่เป็นคนที่ยอมสละชีพเพื่อท่าน ส่วนท่านถูกพาหนีไปนครศรีธรรมราชผมชักจะเชื่อในข้อนี้และมีเหตุผลที่น่าเชื่อเช่นกัน เขียนมาถึงแค่นี้ นึกขึ้นมาได้ว่ามีท่านผมอ่านท่านหนึ่ง ท่านไม่ยอมบอกชื่อเสียงแต่นาน ๆ ท่านก็จะส่งเอกสารโดยมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาให้ ซึ่งมีประโยชน์มากก็ลองไปค้นหาดูว่าจะมีเกี่ยวข้องกับพระยาตากสินบ้างหรือไม่ ก็พบจริง ๆ เขียนไว้เหนือกระดาษที่ท่านถ่ายเอกสารมาว่าพระเจ้าตากสินแต่ที่หัวกระดาษไม่ได้บอกว่าเป็นหนังสือชื่ออะไร เป็นบทความของ "คุณพัชนีถาวร" ในเรื่อง "จิตสัมผัส" ซึ่งเขียนเรื่องการเดินทางไปนครศรีธรรมราช และได้ยกเอาแนวความคิดของท่านพลตรีหลวงวิจิตรวาทการอดีตอธิบดีกรมศิลปากร เกี่ยวกับการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งยังมีปมปริศนาค้างคาอยู่ในใจของผู้คนส่วนใหญ่ว่าพระองค์สวรรคตจริง ๆ หรือที่ไหน เมื่อไร หลวงวิจิตรวาทการ แต่งเป็นนิยายระทึกใจเรื่อง"ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี" ซึ่งในหนังสือเล่นนี้ (ผมมีหนังสือของคุณหลวงวิจิตรที่พิมพ์ออกจำหน่ายแทบจะทุกเล่ม) ในหนังสือกล่าวว่า โดยนิมิตว่ามีชายไทยโบราณร่างมหึมามาจับมือข้าพเจ้าเขียนเรื่องราวขึ้นเป็นเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชล้วน ๆ ยาวเหยียดหลายสิบหน้า เป็นลายมือของข้าพเจ้าเองแต่ความรู้สึกที่เขียนลงไปในนิยายไม่ใช่ของข้าพเจ้าเลย โดยเล่าว่า (หลวงวิจิตรท่านเล่าไว้ผมขอคัดลอกเอามาสู่ท่านผู้อ่าน) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้สิ้นพระชนม์ตามคำสั่งของรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อต้นเดือนเมษายนพ.ศ.๒๓๒๕ ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ตามที่เราเคยเชื่อกันในประวัติศาสตร์ แต่ได้มีคนกลุ่มหนึ่งมาช่วยท่านไว้แล้วนำไปซ่อนไว้ที่อื่นช่วยไว้เกือบ ๓ ปี จึงได้สิ้นพระชนม์ลง ณ เพชรบุรี ส่วนคนที่ถูกประหารที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์นั้นเป็นคนอื่นไม่ใช่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ข้อความทั้งหมดนี้ผมคัดลอกมาจากข้อเขียนของ คุณพัชรี ถาวร ในเรื่องจิตสัมผัสแต่ไม่ทราบว่าลงไว้ในหนังสืออะไร และท่านที่ชอบค้นคว้าและกรุณาต่อผมบ่อย ๆส่งมาให้ ส่งมาหลายเรื่องในคราวเดียวกันนี้และผมก็จำไม่ได้ว่า ส่งมามีเรื่องอะไรบ้างอยู่ ๆ ก็ลุกขึ้นไปค้นที่กองเอกสารของท่านที่ส่งมาเหมือนมีอะไรมาดลใจ และพอลงมือค้นหาก็ได้เอกสารฉบับนี้มาที่หัวกระดาษเขียนด้วยลายมือของท่านผู้ส่งมาว่า "พระเจ้าตาก" ดูจากลายมือท่านผู้นี้ต้องรุ่นผู้ใหญ่อย่างน้อยก็คราวๆ ผม เพราะลายมือแบบนี้คนรุ่นใหม่หายาก ยิ่งลายมือของผมยิ่งหายากใหญ่ คืออ่านไม่ออกอาจารย์ภาษาไทยที่สอนผมเมื่อเป็นนักเรียนเตรียมนายร้อย ซึ่งผมสอบเข้าได้ที่๒ จึงเป็นหัวหน้าตอน ๒ อาจารย์ท่านบังคับให้ผมซึ่งเป็นหัวหน้าตอน คัดลายมือส่งท่านทุกวันวันละหน้า คัดอยู่ ๖ เดือน อาจารย์ท่านบอกว่า "โอภาส เลิกคัดลายมือส่งครูได้แล้วเพราะเลวกว่าเดิม" อีกอาจารย์ ท่านสอนภาษาอังฤกษ อาจารย์รุ่นเก่าแก่เช่นกันท่านเยาะเย้ยผมเมื่อตอนปลายปี ผมได้รับรางวัลเรียนดี เขาให้เป็นเงินสมัยนั้นเมื่อ๕๓ ปีที่แล้ว ได้ถึง ๘๐ บาท อาจารย์ซึ่งเป็นท่านขุนเยาะว่า "โอภาส ได้รางวัลกับเขาเหมือนกันหรือ"ผมเลยย้อนอาจารย์เข้าบ้างว่า " ผมสอบใกล้ตกอยู่วิชาเดียวคือ วิชาภาษาอังฤกษวิชาอื่นผมได้เกือบเต็ม" อาจารย์ท่านขุน.... เลยเลิกพูดกับผม ส่วนเรื่องของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เมื่อท่านลงเรือน้อยไปแล้วก็ไปถ่ายเรือขึ้นเรือใหญ่ที่พระประแดง(ผมพึ่งไปมาเมื่อวานนี้เอง ไปซื้อกุ้งเหยียด ที่บ้านสาขลา อ.พระสมุทรเจดีย์อร่อยร้าย) เจ้าอุปราชพัฒน์ ทูลเชิญเสด็จลงเรือใหญ่ ไปยังนครศรีธรรมราช พระเจ้ากรุงธนบุรีไปผนวชอยู่ที่วัดเขาขุนพนมอ.พรหมคีรี ได้ ๒ ปี พอปีที่ ๓ พ.ศ.๒๓๒๗ ก็ขอไปจำพรรษาที่ จ.เพชรบุรี สักพรรษาหนึ่งเพื่อทดแทนพระคุณแม่ของท่านจึงพาท่านไปประทับ ณ วัดถ้ำแห่งหนึ่งและประชวรสิ้นพระชนม์อยู่ในถ้ำแห่งนี้บางเล่มว่าถูกลอบสังหารเพราะมาประทับที่เพชรบุรีไม่เป็นความลับ สรุปได้ว่าไม่ได้ถูกปลงพระชนม์เมื่อ๖ เมษายน ๒๓๒๕ พระยาตากเดินทัพด้วยการตีฝ่าออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๓๐๙มีทหารกล้าอยู่ด้วย ๕ นาย คือ หลวงพิชัยอาสา(ทหารคู่ใจ) หลวงเชียงเงิน ขุนพรหมเสนา ขุนอภัยภักดี(หลวงพ่อคับ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองนกไข่ ที่อำเภอสามพราน ซึ่งท่านเคารพพระเจ้าตากสินมากได้สร้างวิหารทหารเสือพระเจ้าตากและปั้นรูปเหมือนของทหารเสือเอาไว้ทุกท่านจากนิมิต) พระเจ้าตากยกทัพของท่านออกจากค่ายวัดพิชัยตีฝ่าวงล้อมออกไปที่บ้านโพธิ์สังหาร(โพธิ์สาวหาญ) เช้าวันที่ ๔ มกราคม พม่าตามมาทัน พระยาตากก็นำกำลังเข้าต่อสู้จนพม่าแตกพ่ายไป(ทหารม้าของกองทัพบกไทย ถือวันที่ ๔ มกราคม เป็นวันทหารม้า) ตกบ่ายพระยาตากปล่อยให้ทหารส่วนใหญ่ออกหาเสบียง ไปพบพม่าที่มาจากบางคางเมืองปราจีนบุรี พม่าก็ไล่ฆ่าฟันทหารจนแตกหนีมายังบ้านพรานนก พระยาตากเหลือทหารอยู่ด้วยไม่เท่าไรให้ทหารที่เหลือตั้งแถวขยายแนวรบเป็นปีกกา เตรียมตีโอบล้อม แล้วพระยาตากพร้อมทหารเสือทั้ง๕ ขึ้นม้าควบตะลุยเข้ารบพม่า พม่าเห็นคนไทยมาไม่กี่คนชะล่าตีตามติดเข้ามาเลยเข้าปีกกาของแถวทหารไทยและทหารที่ออกลาดหาเสบียงก็ตั้งตัวได้แล้ว กลับเข้าโอบล้อมตีพม่าแตกพ่ายไปเหล่าทหารซึ้งน้ำใจของพระยาตากที่ไม่ทิ้งลูกน้อง เป็นผลให้พระยาตากได้รี้พลจากชาวบ้านที่ทราบข่าวการสู้รบมาสมัครเข้าเป็นพวกมากขึ้น พระยาตากยกกำลังผ่านนาเริงผ่านเมืองนครนายกข้ามลำน้ำเมืองปราจีนไปตั้งทัพอยู่ที่ชายดง"ศรีมหาโพธิ์" มีป้ายโบราณสถานบอกไว้ที่ วัดศรีมหาโพธิ์ พม่าตั้งทัพอยู่ที่ปากน้ำเจ้าโล้ ทราบข่าวทัพพระยาตากก็ยกทัพมาทั้งทางบกและทางเรือพระยาตากทราบข่าวศึกจึงซุ่มพลไว้ แล้วตีพม่าแตกไปทั้งทางบกและทางเรือ พระยาตากยกกำลังผ่านเขตเมืองฉะเชิงเทรา บ้านพานทองบ้านบางปลาสร้อย ไปจนถึงบ้านนาเกลือแขวงเมืองบางละมุงทำให้เกิดคำว่า พัทยาสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ทัพพระยามาพักทัพ (บางคนก็ว่ามาจากชื่อลม) จากชลบุรี ยกกำลังไประยองพระยาระยองพาผู้คนมาอ่อนน้อมถึงกลางทาง ทัพพระยาตากเข้าตั้งทัพที่วัดลุ่ม(ปัจจุบันมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล) แต่กลับคบคิดกับกรมการเมืองหวังเข้าปล้นค่ายในเวลากลางคืนพระยาตากรู้ตัวก่อนจึงกลับเข้าตีพวกเมืองระยอง ที่ออกมาปล้นค่ายแล้วตะลุยตามตีไปจนได้เมืองระยองในคืนนั้นชัยชนะในครั้งนี้ไพร่พลและคนทั่วไปจึงยกย่องเป็น "เจ้าตาก" ในขณะนั้นเมืองชลบุรีมีนายทองอยู่นกเล็กตั้งตัวเป็นใหญ่ เจ้าตากยกกำลังไปเมืองชลบุรีและส่งคนไปเกลี้ยกล่อม จนนายทองอยู่นกเล็กอ่อนน้อมจึงแต่งตั้งให้เป็นพระยาอนุราฐบุรีและได้กำลังรบเพิ่มมากขึ้นกลับไปรวบรวมผู้คนเพิ่มขึ้นที่ระยองอีก และยกกำลังไปปราบขุนหมื่นซ่องที่แตกหนีไปจากระยองไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่เมืองแกลงจนแตกหนีไปอยู่กับเจ้าเมืองจันทบุรีซึ่งไม่ยอมอ่อนน้อม และคิดกลอุบายที่จะตีทัพเจ้าตาก โดยล่อหลอกให้เจ้าตากเคลื่อนทัพเข้าไปตั้งมั่นในจันทบุรี และกะจะเข้าตีตอนที่ข้ามแม่น้ำจันทบุรี ทัพเจ้าตากตั้งอยู่ที่วัดพลับ(ใกล้ค่ายเนินวง)แต่พอจะเข้าแผนกลับมีผู้มาแจ้งให้เจ้าตากทราบล่วงหน้า เจ้าตากจึงหยุด และเร่งสั่งให้กองทัพกลับขบวนไปทางฟากข้างเหนือและกะจะเข้าตีจันทบุรีในตอนดึกของคืนนี้ และเพื่อความเด็ดขาด ในการรบจึงสั่งให้ทหารกินข้าวเย็นให้เต็มที่แล้วให้ทิ้งอาหารที่เหลือ ทุบหม้อข้าวทิ้งเสีย หมายไปกินข้าวเช้าในเมืองจันทบุรีในวันพรุ่งนี้พอได้เวลา ๐๓.๐๐ เจ้าตากขึ้นช้างพังคีรีบัญชรวิ่งเข้าชนพังประตูเมืองฝ่ายในเมืองก็ยิงปืนใหญ่น้อยลงมาท้ายช้าง เกรงกระสุนจะถูกเจ้าตากจึงไสช้างให้เบนออกเจ้าตากจึงชักพระแสงหมายจะฟันท้ายช้าง ท้ายช้างตกใจทูลขอชีวิต แล้วไสช้างเข้าชนบานประตูจนพังครืนทหารของเจ้าตากก็เข้าเมืองจันทบุรีได้ในคืนนั้น วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๑๐(กรุงศรีอยุธยาแตกตั้งแต่ เมษายน) เมื่อเจ้าตากจัดการในเมืองจันทบุรีเรียบร้อยแล้ว ก็ยกทัพไปตีเมืองตราดแต่กรมการเมืองตราดได้ยอมอ่อนน้อมโดยดี เว้นพวกสำเภาจีนที่มาทอดสมออยู่ปากน้ำตราดกระด้างกระเดื่อง เจ้าตากจึงคุมพลไปล้อมเรือสำเภาและเกิดการต่อสู้ สู้กันครึ่งวันก็ยึดเรือสำเภาได้หมดและใช้เรือไว้เป็นพาหนะในการเดินทัพมายังกรุงศรีอยุธยาต่อไป เจ้าตากจึงรวบรวมไพร่พลรอเวลาสิ้นฤดูฝน ระหว่างรอเวลาก็ต่อเรือรบได้๑๐๐ ลำ พอถึงเดือน ๑๑ สิ้นมรสุมก็ยกพล๕,๐๐๐ คน เรือรบ ๑๐๐ ลำ มาชลบุรี จับนายทองอยู่นกเล็กประหารชีวิตเสียเพราะราษฎรร้องว่าประพฤติตัวเป็นโจรยกทัพเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าตีป้อมวิชัยประสิทธิ์ที่กรุงธนบุรีซึ่งมีนายทองอินคนไทยแต่ใจพม่ารักษาป้อมอยู่แตกจับนายทองอินประหารชีวิตเสีย จากนั้นก็เร่งยกทัพไปยังค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นและสั่งเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นในตอนเช้า พอ ๙ นาฬิกา ก็ตีได้ค่ายเพนียดที่มองย่าแม่ทัพหน้ารักษาค่ายอยู่ และพอตกค่ำก็เข้าประชิดค่ายสุกี้ทางด้านวัดกลางพอเช้าก็เข้าตีพอตกเที่ยงก็ยึดค่ายได้ สุกี้แม่ทัพพม่าตายในที่รบ ให้สังเกตว่าการเข้าตีของเจ้าตากนั้นจะใช้วิธีจู่โจมเป็นหลักไม่ว่าการเข้าตีจันทบุรี ระยอง ค่ายโพธิ์สามต้น หรือ รบพม่าที่บางกุ้ง จะดำเนินกลยุทธอย่างรวดเร็ว เมื่อตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นได้ เมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๓๑๐ ก็เท่ากับได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาต่อจากนั้นก็ทำการรบปราบก๊กต่าง ๆ อีก ๕ ก๊ก จนสำเร็จเรียบร้อยจึงทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เมื่อ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๐ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่๔ หรือสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ ที่ ๘ แต่ขุนนางไพร่ฟ้าประชาราษฎร์นิยมเรียกว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทัพเจ้าตาก จึงยกตามเส้นทางจากกรุงศรีอยุธยามาตามลำดับ ดังได้เล่ามาโดยย่อ ทีนี้ขึ้นไปหาของกินทางเหนือก่อน คือเชียงใหม่ก่อนกลับมากินอาหารที่ ระยองที่ตั้งทัพเตรียมพลของเจ้าตาก ลูกมะเกี๊ยง พืชในโครงการอนุรักษ์สนองพระราชดำริ มีผู้นำไปผลิตไวน์แดงออกจำหน่ายกันแล้ว มะเกี๊ยงเป็นไม้ป่ายังไม่มีใครทำสวนมะเกี๊ยง ไม้ชอบอากาศเย็นปลูกในที่สูงแต่ได้ทดลองเอามาทำไวน์สำเร็จ คราวนี้ร้านอาหารที่ผมเคยพาไปชิมไว้นานแล้วคือร้านเรือนคำอินที่เชียงใหม่ ผลิตน้ำผลไม้จากลูกมะเกี๊ยงได้สำเร็จและขอ"อย." ได้แล้ว ก็เลยผลิตต่อไปอีกคือจาก มะขามป้อมสด น้ำมะม่วงมหาชนก ซึ่งมะเกี๊ยงนั้นจะมีกลิ่นหอมที่เป็นตัวของตัวเองมีรสเปรี้ยวอมหวาน ละลายไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้ไม่เกิดโรคหลอดลมอุดตันส่วนมะขามป้อมนั้นจะช่วยให้ผิวของสาว ๆ สวย ครีมของฝรั่งแพง ๆ นั้นทำจากมะขามป้อมแห้งแต่เจ้านี้เอามะขามป้อมสดมาทำน้ำผลไม้ เขาบอกว่า เก้ง กวาง เนื้อแน่น เต่งตึงกินอร่อยเพราะมันชอบกินมะขามป้อม พอได้ชิมแล้วก็เลยต้องเอามาช่วยส่งเสริมให้คราวก่อนคงจะสัก ๑ - ๒ ปีมาแล้ว ผมส่งเสริมเรื่องไวน์มะเกี๊ยง ของสหกรณ์เชียงใหม่พอประชุมเอเปค ได้รับเลือกเป็นไวน์ ๑ ใน ๘ ที่เอามาเลี้ยงเอเปค และไวน์ของสหกรณ์ที่ผมชวนชิม(ของดีราคาถูกมาก) ได้รางวัล ๕ ดาว โอทอป ทุกตัว ที่ดีกว่าเพื่อนคือ ไวน์มะเกี๊ยงนี่แหละ ตอนนี้เขาทำน้ำผลไม้ทั้งมะเกี๊ยง มะขามป้อม และมะม่วงมหาชนก ออกจำหน่ายที่ร้าน(ร้านอยู่ตรงข้ามวัดเจ็ดยอด เข้าซอยไปสัก ๔๐ เมตร อยู่ขวามือ) มีตามร้านก๋วยเตี๋ยวร้านอาหารหลายแห่งในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นน้ำผลไม้ที่ยังไม่มียี่ห้อ พร้อมดื่มได้เมื่อใส่น้ำแข็งขวดละ๒๕ บาท ถือว่าถูก ไปเชียงใหม่มีขายร้าน ถือโอกาสไปชิมอาหารพื้นเมืองเชียงใหม่เสียด้วยเลยใครไปเชียงใหม่ไม่ได้ชิมน้ำผลไม้ จากมะเกี๊ยง เชยไม่รับรู้ด้วย แต่ต้องน้ำเจ้าที่ไม่มียี่ห้อนี่แหละของแท้มีขายแน่ ๆ ที่ร้าน ไปตามถนนสาย หางดง - สะเมิง อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งที่นี่ขายผลไม้พืชผักปลอดสารพิษ และน้ำผลไม้มะเกี๊ยง มะขามป้อม และมะม่วงมหาชนก กลับมากินอาหารที่ระยอง เพราะพระยาตาก ตั้งต้นเป็นเจ้าตากที่นี่ เตรียมพลเพื่อเข้ารบก็ที่นี่จนเข้าตีได้จันทบุรี หากมาตามถนนสุขุมวิท จากสัตหีบ หรือจะมาตามถนนสาย พัทยา - ระยอง แล้วเลี้ยวขวาเข้ามาในเมืองก็จะมาพบพนนสุขุมวิทผ่านกลางเมืองหากไปตามถนนสายนี้ไปจนถึงธนาคารกรุงเทพ ฯ ตรงมุมซ้ายให้เลี้ยวขวาเข้ามาจะมาเข้าถนนตากสินมหาราชจะผ่านทางแยกซ้ายเข้าวัดลุ่ม ฯทันที วิ่งไปจนสุดทางพบสามแยก เลี้ยวขวามาหน่อยพบสะพาน ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานข้ามแม่น้ำระยองไปยังฝั่งชายทะเลเลี้ยวซ้ายไปจนสุดทางคือ แหลมเจริญ ก่อนจะสุดทางสัก๑๐๐ เมตร มีร้านอาหารอยู่ซ้ายมือ ริมแม่น้ำระยอง ร้านกว้างขวางมีศาลาเล็กสาลาน้อย อาหารทะเลสดขังไว้ในอ่างใหญ่รอเวลาให้เราไปชี้ให้ตาย แกงส้มไข่ปลาเรียวเซียว หม้อแพงหน่อย ๓๐๐ บาท แต่อร่อยคุ้มค่า ปลากะพงราดน้ำปลา จานนี้อย่าพลาด หาที่อื่นยังไม่พบว่าที่ไหนอร่อยกว่า น้ำปลาราดมาหอมรสเข้าเนื้อ ไข่เจียวหอยนางรม ผมคนชอบไข่เจียว ใส่หอยนางรมสด ๆ อร่อยนัก ผักโต้วเหมียว ผักผัดเพื่อสุขภาพ ป้องกันมะเร็ง ลำไส้แข็งแรง ขับถ่ายสะดวกอร่อยด้วย ห่อหมกปลาอินทรีย์ ใส่กระทงเล็ก ๆ มาเสริฟ กระทงละ ๑๒ บาท สั่งมาให้พอดีคนชิม ถ้าไปหลายคนก็สั่งอีก ของอร่อยมีแยะเช่น ปูนิ่มทรงเครื่อง ออส่วนกุ้ง กุ้งสลัดเผือก ลืมบอกไป ไปคราวนี้ผมพักที่โรงแรม ไม่ได้อยู่ชายหาดแต่เงียบสงบเป็นโรงแรมใหญ่บริการดี นักท่องเที่ยวก็พักได้ เช้าออกเที่ยว เย็นกลับมากินมานอนใหม่ ห้องอาหารของโรงแรม มีเพลงเบา ๆ นั่งสบาย แอร์เย็นฉ่ำ อาหารราคาเดียวกันกับกินตามร้านอาหารมื้อเย็นผมชอบนั่งที่นี่ อิ่มแล้วขึ้นนอนได้เลย ไม่ต้องกลัวขับรถหลงไปทางไหน(ตามแบบฉบับคนขับสูงอายุ) ลองชิม กระเพาะปลา พล่าชาวเล น้ำพริกลงเรือ ของเขาดูบ้างที่อร่อยเด็ดอีกจานคือ "เป็ดย่าง" หนังไม่กรอบ
........................................................
|