แก่งกระจาน
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ วิ่งรถสักสองชั่วโมงเศษ
ๆ ก็ถึงแล้ว และหากขึ้นไปบนเขาพะเนินทุ่ง ที่รถโฟวีลจะขึ้นได้สะดวก ขึ้นไปในยามเช้า
ก็จะได้รับอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี และทะเลหมอกที่สวยงามแทบจะทุกเช้า แถมด้วยฝูงผีเสื้อที่จะมีมากมาย
หลากหลายสี สวยงามยิ่งในเดือนกุมภาพันธ์, มีนาคม และมีให้ชมเรื่อยไปจนถึงเดือนมิถุนายน
แต่จำนวนจะลดน้อยลงไปไม่มีมากเหมือนฤดูแล้ง ที่ฝนไม่ตก
อุทยานแห่งชาตินี้เป็นอุทยานที่มีพื้นที่มากกว่าอุทยานอื่น ๆ คือ ประมาณ ๒,๙๑๕
ตารางกิโลเมตร หรือ ๑,๘๒๑,๘๗๕ ไร่ มากมายยิ่งกว่าอุทยานใด ๆ พื้นที่อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในระดับมาตรฐานสากล
จะต้องมีคุณลักษณะดีเด่นระดับชาติ และต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๑๐ ตารางกิโลเมตร
แต่ปรากฎว่าอุทยาน ฯ แก่งกระจานมีมากถึง ๒,๙๑๕ ตารางกิโลเมตร ได้มาตรฐานสากล และใหญ่ที่สุด
ในบรรดาอุทยานแห่งชาติ ๑๓๗ แห่งของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเยี่ยมที่เขื่อนแก่งกระจาน เมื่อวันที่
๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒ ได้มีกระแสพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมป่าไม้ " เรื่องป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี
ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษา อย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถาง ทำไร่ ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี
เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว
ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น " จากพระราชดำรัสดังกล่าว
จึงเป็นผลให้ประกาศพื้นที่ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย อำเภอหัวหิน
อำเภอท่ายาง อำเภอแก่งกระจาน (ทุกอำเภอจะเว้นบางตำบล) และกระทำพิธีเปิดอุทยานแห่งชาติเป็นทางเมื่อวันที่
๒๐ เมษายน ๒๕๒๖ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๒๘ ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ มีส่วนที่เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ ๔๕ ตารางกิโลเมตร
อ่างเก็บน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีนี้ สร้างเสร็จเปิดเมื่อ พฤษภาคม ๒๕๐๙
นับถึงปีนี้ก็เปิดมาแล้ว ๔๐ ปีพอดี อุทยาน ฯ เป็นป่าที่สมบูรณ์มาก ประกอบด้วยเทือกเขาสูง
สลับซับซ้อน ยอดที่สูงที่สุดของเขาพะเนินทุ่งสูง ๑,๒๐๙ เมตร (เดินต่อไปได้จากสุดทางรถยนต์อีกประมาณ
๘ ชั่วโมง) ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินแกรนิต เขาหินปูน มีผลให้ปลาที่จับได้จากอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน
ไม่กินโคลนตม เพราะท้องน้ำหินปูน หินแกรนิต ทำให้เนื้อปลาเวลาเอามาทำอาหาร
จะอร่อยเป็นพิเศษเพราะจะไม่มีกลิ่นโคลน ไม่คาว ป่าอุดมไปด้วยแร่ฟลูออไรท์
ป่าเป็นป่าดิบชื้น ไม้ในป่าจึงสมบูรณ์อย่างยิ่ง และเป็นผลให้ฝนตกมาก จึงเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี
และแม่น้ำปราณบุรี
พรรณไม้ เป็นไม้ในป่าดงดิบชื้นที่มีพื้นที่ ๘๐ % และพื้นที่ที่เหลืออีก ๒๐%
เป็นป่าดิบแห้ง ทุ่งหญ้า บางพื้นที่เป็นป่าเต็งรัง ผสมไม้สน ซึ่งเป็น "สนสองใบ"
สัตว์ป่าก็มาก เช่น ช้างป่า เข้าไปในอุทยาน ฯ ยามเช้าจะเห็นมูลช้างและรอยเท้าช้าง
ตามเส้นทางที่รถจะวิ่งขึ้นไปยังยอดเขาพะเนินทุ่ง ในป่าแห่งนี้จับช้างเผือกนำน้อมเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัวได้ถึง
๔ เชือก และยังมีสัตว์อื่น ๆ เช่น กระทิง เสือ เก้ง กวาง ค่าง ชะนี (เช้า
ๆ ร้องกันให้ลั่นไป) หมีและสัตว์อื่น ๆ ที่หายาก เช่น เต่าหกขา ผมไปไม่ทันเห็นทางอุทยานเขาจับได้
แต่ปล่อยเข้าป่าไปแล้ว จับมาได้ถึง ๖ ตัว เพื่อการวิจัยและติดสัญญาณติดตัวให้
ที่ไปคราวนี้เห็นกับตาคือ ตุ๊กแกบิน ที่ศาลาชิมวิวทางขึ้นพระตำหนัก ฯ ประมาณ
กม.๓๒ มันหลบอยู่ใต้คานหลังคา เวลามันจะบินมันกางผังผืด ที่ติดลำตัวด้านขาหน้าออกก็กลายเป็นปีกบินได้
และได้เห็นไก่ป่าออกมาวิ่งหนีเสียงรถ และอีกทีได้เห็นปูภูเขาที่ความสูงประมาณ
๙๐๐ เมตร ตัวสวยทีเดียว ถ่ายรูปแต่คงเห็นไม่ชัด เพราะตัวโตเท่าปูนาที่เอามาทำปูเค็ม
แต่ก้ามใหญ่ และสีก้ามสวยมาก ส่วนตัวช้างไม่เห็น เห็นแต่มูลช้าง ส่วนนกก็มีมาก
มีมากกว่า ๓๐๐ ชนิด รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานด้วย เห็นนักเฝ้าดูนกแล้ว ต้องยกให้ในความอดทนในการรอคอย
ไปคราวนี้ผมซื้อแพคเก็จทัวร์ ซึ่งเขาจะบริการเราตั้งแต่เข้าประตูรีสอร์ทของเขาไปเลย
หากเราไปเอง พักตามรีสอร์ทจะไม่สะดวกตอนต้องหารถเอง เพื่อขึ้นเขาพะเนินทุ่งยามเช้า
เพื่อไปดูทะเลหมอก ไปดูผีเสื้อหลากสี ผมจะบอกเบอร์รถเช่าเหมา หากหารถเองไว้ด้วย
เพราะหนุ่มขับรถบริการดี มีความรู้ รักธรรมชาติเป็นไกด์ให้ด้วย ค่าเช่าเหมากันประมาณ
๑,๒๐๐ บาท แต่น้ำมันขึ้นราคาแบบนี้ ค่าเช่าคงจะเอาแน่นักไม่ได้
เส้นทาง
หากเราจะไปอุทยาน ฯ จะเข้าได้ ๓ เส้นทางคือ
เส้นทางที่ ๑
ไม่เข้าเมืองเพชรบุรี ไปตามถนนพระราม ๒ จนเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษมไปแล้ว
มองทางขวาไว้บ้าง จะเห็นป้ายบอกว่า ไปอำเภอหนองหญ้าปล้อง ไปตามเส้นทางนี้
จะไปบรรจบกับถนนที่มาจากเขื่อนเพชร เลี้ยวขวาไปแก่งกระจาน และจะผ่านแหล่งท่องเที่ยว
อุทยานเจ้าแม่กวนอิมพันมือ และไปบ่อน้ำพุร้อนหนองหญ้าปล้อง วิ่งไปตามป้าย
เส้นทางที่ ๒
เลยทางแยกขวาเข้าหนองหญ้าปล้องไปแล้ว วิ่งต่อไปมองทางขวาไว้ จนพบแหล่งจ่ายสตางค์จุดใหญ่คือ
เพชรปิ่นแก้ว ตัวร้านใหญ่ปิดไปแล้ว เสียดายห้องสุขาสากลติดแอร์ เสียด้วย แต่ร้านล้อมรอบยังมีอีกหลายสิบร้าน
สารพัดขนมเมืองเพชรและอาหาร โดยเฉพาะทอดมันก็มีชื่อ เพชรปิ่นแก้ว อยู่ทางขวาของถนน
เลยจุดนี้ไปอีกหน่อยเดียวทางขวา เช่นเดียวกัน ร้านขนมหม้อแกงที่เชลล์ชวนชิมไว้ก่อนเพื่อนคือ
ขนมแม่สำเภากับแม่อะไรจำไม่ได้ เพราะเจอแม่ละเมียดเจ้าเก่าเข้าแม่เดียว ก็จะเต็มรถแล้ว
ยังแวะซื้อมะนาว ซื้อปลาเค็ม ปลาสลิด ดีไม่ถึงขั้นซื้อเกลือ ที่เขาใส่ถุงวางขายไว้
ไปเส้นทางนี้พอเลยร้านขนมหม้อแกงแม่ละเมียดไปหน่อยเดียว ก็จะพบทางแยกขวา เลี้ยวขวาวิ่งเลียบคลองชลประทานเรื่อยไป
ผ่านทางแยกซ้ายไปอำเภอบ้านลาด เส้นนี้เรียกว่า เส้นเข้าทางบ้านลาด และจะไปบรรจบกับสายมาจากเขื่อนเพชรเช่นเดียวกัน
เส้นทางที่ ๓
ไกลกว่าเพื่อน แต่ได้ไปผ่านเมืองเพชร ได้เที่ยวเมืองเพชร กินในเมืองเพชร ซึ่งวันไป ผมไปตามเส้นทางนี้ ส่วนวันกลับ กลับมาทางผ่านอำเภอบ้านลาด เพื่อแวะจ่ายของฝาก
เส้นนี้ไปผ่านเพชรบุรี เมื่อเข้าในเมืองแล้วก็กลับออกมาถนนเพชรเกษมใหม่ มุ่งหน้าไปทางชะอำ
ไปไม่กี่ กม. ก็จะถึงทางแยกเข้าอำเภอท่ายาง ให้เลี้ยวขวาเข้าท่ายาง ที่เคยเป็นอำเภอที่ทำมะนาวนอกฤดูได้
เดี๋ยวนี้ก็ยังมีมะนาววางขายแยะ แต่ท่ายางวันนี้เจริญมาก มีความเจริญเท่ากับถนนในเมืองที่ร้านค้าแยะ
ๆ สายหนึ่งทีเดียว ผัดไทยท่ายางหน้าตลาดสดอร่อยลือชื่อ แต่ไปเที่ยวนี้ไม่ได้แวะดูว่ายังอยู่ที่เดิม
หรือย้ายขึ้นร้านใหญ่ไปแล้ว ไม่ขอยืนยัน
ผ่านตลาดอำเภอท่ายางไปแล้ว ก็วิ่งไปจนถึงเขื่อนเพชร
แล้วแยกขวาเข้าถนน ๓๔๙๙ ไปทางอำเภอแก่งกระจานไปอีก ๒๒ กม. ก็จะถึงทางเข้าประตู
ของอุทยานแห่งชาติ แต่ยังอีกไกลกว่าจะถึงที่ทำการ ส่วนรีสอร์ทที่จะไปพักนั้นจะพบป้ายบอกริมถนนเป็นระยะ
ๆ ตัวอำเภอ สถานีตำรวจ แก่งกระจาน อยู่ตรงปากทางเข้าอุทยาน จากนั้นก็เข้าเขตอุทยาน
หลัก กม.จะเริ่มนับ ๑ กันใหม่ ทีนี้จะเป็นถนนมุ่งไปสู่เขื่อนแก่งกระจาน หรือทะเลสาบแก่งกระจาน
ที่มีเนื้อที่มากถึง ๔๕ ตารางกิโลเมตร วิ่งไปจนถึง กม.๒๐ - ๒๑ ทางซ้ายมือคือ
ประตูใหญ่ที่มีสวนไม้สวยหน้าประตูเข้าสู่ที่พัก และอาหารเยี่ยม แก่งกระจานคันทรีคลับ
แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งอยู่ห่างจากตัวทะเลสาบประมาณ ๓ กม.เศษ จุดที่ตั้งทะเลสาบ
หรืออ่างเก็บน้ำ กม.๒๓
ผมจะพาเที่ยวในรีสอร์ทเสียก่อน เพราะรีสอร์ทแห่งนี้มีเนื้อที่มากถึง ๓๕,๐๐๐ ไร่ ใหญ่มหึมา และจากทางเข้าไปอีก ๑๐ กม. จะมีสนามกอล์ฟ ซึ่งผมไม่ได้เข้าไปชม
เพราะเลิกตีกอล์ฟมานานหลายสิบปีแล้ว พอเข้าไปประมาณ ๑๐๐ เมตร ทางขวาคือ ห้องอาหารที่ได้รับป้าย คลีน ฟู้ด กู๊ด เทสท์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย เติมให้อีกคำว่าอร่อยมากจริง ๆ เลยต่อไปก็จะถึงสำนักงานที่มีร้านค้าเล็ก ๆ ไว้บริการด้วย การบริการของเจ้าหน้าที่ต้องยกให้ว่าเยี่ยมมาก ๆ ราคาแพคเก็จที่คณะผมซื้อมา
ตกคนละ ๑,๕๐๐ บาท บอกว่าราคานี้น่าจะอยู่ได้ถึงสิ้นปี ซึ่งเป็นราคาของที่พัก ๑ คืน อาหาร ๓ มื้อ (ที่ไม่ธรรมดา) รถพาเที่ยว พาขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ไปชมทะเลหมอก
และดูผีเสื้อ เมื่อไปแล้วกินอาหารของเขาแล้ว ก็ต้องขอยกให้ว่าไม่แพง บริการกันถึงขนาดตอนไปดูทะเลหมอกจะต้องไปกันตั้งแต่ตีห้า
อาหารเช้าสั่งล่วงหน้าก่อนเข้าที่พัก มีข้าวผัดกะเพราไข่ดาว ข้าวหมูทอดไข่เจียว แซนวิช สั่งได้ เขาเตรียมเอาไปให้กินกันบนยอดเขา ที่ยกย่องคือยกเตาแก๊สขึ้นไปด้วย
มีกาต้มน้ำ ได้จิบกาแฟร้อน ๆ ควันฉุยหอมกรุ่น กินกันบนยอดเขาที่อากาศกำลังหนาวเย็น
สุขอย่าบอกใครทีเดียว
ที่พักเป็นบังกาโล หลังใหญ่ ๆ ก็มี พวกผมได้บังกะโลขนาด ๒ ห้องนอนติดกัน มีแอร์
ตู้เย็น ทีวีพร้อม ห้องน้ำสะอาดหลังคาโปร่งแสง ตั้งกระถางต้นไม้ไว้ด้วย สร้างไว้ริมธารน้ำและไม่ไกลจากสระน้ำใหญ่
มีสระว่ายน้ำอีกต่างหาก มีบริการคนขึ้เมื่อยที่สวนสุขภาพ หรือจะให้มานวดแผนไทยกันที่ห้องพักก็ได้
อาหารเย็น ผมจะเล่าเรื่องอาหารให้ทราบทุกมื้อ เพราะประทับใจกับห้องอาหารของรีสอร์ทมาก
และใครไม่ได้มาพักจะเข้าไปสั่งอาหารกิน เขาก็ยินดีบริการทั้งมื้อกลางวัน และมื้อเย็น
มื้อเย็นวันแรกอาหารตามรายการทัวร์ จานเด็ดที่บอกว่าใครมากินอาหารหากจะสั่งรายการนี้ต้องโทรมาสั่งล่วงหน้าสัก
๓ - ๔ ชั่วโมง เพราะต้องใช้เวลาทำนาน คือ ไก่ย่างซีอิ๊ว น่าจะเรียกไก่ทอดมากกว่า
เพราะไปนึ่ง ไปทอดจนหนังกรอบ แล้วจึงราดด้วยน้ำปรุงซีอิ๊ว อร่อยสุด ๆ เลยทีเดียว มีผัดผักน้ำมันหอยซึ่งผักจะสดมาก ปลาแรดจากเขื่อนทอดตัวโตเนื้อขาวแน่น จิ้มน้ำปลาพริกเด็ดจริง
ๆ และยังมีอีก ปลากดผัดฉ่า ต้มยำปลายี่สก เขาบอกว่าปลายี่สกจากเขื่อน
ตัวจะโตมาก
เพราะน้ำลึก ที่สั่งมาเพิ่มนอกรายการคือกุ้งย่างซีอิ๊ว ตัวโตขนาด ๒ ตัวหนัก
๑ กก. กับปลาบู่นึ่งซีอิ๊ว ล้วนแต่หากินยากทั้งนั้น อิ่มแล้วหน้าเป็นราดซีอิ๊วไปเลย
ส่วนโซดา เบียร์ ต้องสั่งพิเศษ เหล้าเอาไปเอง
ไปชมทะเลหมอก
ตื่นกันตั้งแต่ตีสี่ รีสอร์ทเขาก็จ้างรถจากในหมู่บ้าน ที่มีรับจ้างพาเที่ยว
เป็นชมรมมากมายหลายสิบคันต้องรถใหม่ กำลังดี โฟร์วีล จึงจะขึ้นถึงจุดชมวิว
กม.๓๖ ได้ รถขึ้นชมส่วนใหญ่จะพาขึ้นไปแค่จุดชมวิวที่
กม.๓๐ แต่รถที่รีสอร์ทเขาจ้างจะพาขึ้นไปจนถึงจุด
กม.๓๖ และตอนกลับ จะกลับเส้นทางผ่านเขื่อน ได้ถ่ายภาพวิวในทะเลสาบแก่งกระจานที่งามยิ่งนัก
แต่หากวันไปไปถึงเร็ว ก็ไปชมพระอาทิตย์จะตกลงหลืบเขา
ที่เป็นฉากหลังของทะเลสาบ เทือกเขาตะนาวศรีที่กั้นระหว่างดินแดนไทย
- พม่า ส่วนพระอาทิตย์ขึ้นก็ไปดูยามเช้าบนยอดเขา
รถออกจากรีสอร์ท เลี้ยวซ้ายไปเขื่อนก่อนเข้าถึงเขื่อนประมาณ กม.๒๒ จะเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานที่ข้ามแม่น้ำไปยังหมู่บ้านริมเขื่อน
เวลานี้เป็น อบต. กำลังยกฐานะเป็นเทศบาล การเข้าตัวอุทยานที่เป็นป่า
เขา ลำธาร ถ้ำ นี้จะต้องขออนุญาตล่วงหน้า ณ ที่ทำการอุทยานก่อน แต่รถที่เขารับจ้างพาไป
เขาจะขอล่วงหน้า หากเราไปเองต้องไปขอไว้ก่อน ผิดกับอุทยานทั่วไปที่มักจะเก็บสตางค์ค่าเข้าอุทยานทั้งรถ
และคนกันที่หน้าทางเข้าอุทยานชั้นใน แต่ที่นี่ต้องไปขอล่วงหน้า และข้อดีสำหรับคณะผมที่คราวนี้ไปกัน
๗ คน ล้วนแต่หนุ่มน้อย สาวน้อย และเป็น ส.ว.กันทุกคน คืออายุเกินหกสิบปี ซึ่งทางอุทยานเขาจะไม่เก็บค่าผ่านเข้า
คงเสียแต่ค่าผ่านเฉพาะรถและคนขับ
พอเริ่มใกล้สว่าง ก็พ้นทางรถลาดยาง ต้องวิ่งไปตามทางลูกรังประมาณ ๒๐ กม. และเป็นเส้นทางรถเดินทางเดียวคือ
หลัง ๑๐.๐๐ ต้องลงจาเขาเพื่อให้รุ่นต่อไป วิ่งขึ้นเพราะจะมีช่วงที่รถจะวิ่งสวนทางกันไม่ได้
จุดแรกที่ลงคือ "บ้านกร่าง" มีที่พักของที่ทำการอุทยาน มีที่กางเต้นท์นอนได้ที่สำคัญมีห้องน้ำ
ห้องสุขาสะอาดมาก แต่ไม่สากล ไปเที่ยวเขาพะเนินทุ่งไม่ต้องห่วงเรื่องห้องสุขา
จะมีเป็นระยะ ๆ สะอาดมาก แต่ไม่สากลเท่านั้น ห้องอาบน้ำก็มีบริการพวกมากางเต้นท์นอนหมดห่วงไปเลยทีเดียว
ทีแรกนึกว่าต้องอาศัยป่ากันบ้างละ เพราะออกมาตั้งแต่ตีห้า จากจุดบ้านกร่าง
คราวนี้ถนนจะแคบเข้า ผ่านเข้าไปในป่าที่สมบูรณ์มาก เห็นมูลช้างกันก็ช่วงนี้
และมีฝนตกตลอด เพราะอากาศชุ่มชื้น ทำให้เกิดธารน้ำไหลเชี่ยวผ่านถนน แต่คนขับเขารู้เส้นทางและบอกว่าพื้นทางแข็ง
รถวิ่งข้ามได้สบาย แต่หากผมขับคงไม่กล้าข้าม เพราะไม่รู้ว่าพื้นถนนเป็นอย่างไร
และน้ำเชี่ยวมาก และยังมีต้น "บอนกระดาษ" ต้นกำลังออกดอก โตขนาดเลขา ฯ ผมไปยืนใต้ใบบังแดด
บังฝนได้สบาย จุดแรกที่ส่วนใหญ่จะลงไปชมวิวกันคือ ที่ กม.๓๐ จอดรถแล้วจะต้องเดินขึ้นเทือกเขา
ไปอีกประมาณ ๑๐๐ เมตร เรียกว่าปูนผมต้องกัดฟันขึ้นให้ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะได้มาอีกหรือเปล่า
หรือมาคราวหน้าอาจจะนั่งเฝ้ารถ จุดนี้ก็มีห้องสุขาอย่างดีบริการเช่นเดียวกัน
ทัวร์ทั่ว ๆ ไปจะหอบอาหารมากินกัน บนเทือกเขาจุดนี้ ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ
๙๐๐ เมตร ขึ้นไปแล้ว ก็ต้องไปแย่งกันถ่ายรูปที่ขอนไม้ ที่มีป้ายบอกว่า จุดชมวิวเขาพะเนินทุ่ง
ยังเช้ามากแดดยังไม่ออก
ดังนั้น "ยอดเขา" จะจมหายอยู่ในทะเลหมอก แต่ทะเลหมอกที่นี่แม้หมอกจะลงจัดแต่
"ไม่ไหล" เดินทางไปต่อประมาณ กม.๓๒ มีทางแยกขวาขึ้นไปยังที่ประทับ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา
ฯ เคยเสด็จมาประทับ ไม่ให้รถขึ้น แต่เดินขึ้นไปได้ กัดฟัน เดินขึ้นไปจนได้
ไปแค่เทือกแรก จะไปที่ประทับต้องต่อไปอีกเทือกหนึ่ง แต่เทือกแรกก็มีบ้านรับรองพิเศษ
มีศาลาชมวิว ตุ๊กแกบินอยู่บนคานในศาลานี้ เมื่อมาถึงจุดนี้แดดเริ่มออก เขาเริ่มโผล่จากทะเลหมอก
แดดส่องถูกยอดเขาเป็นสีทอง ลงจากจุดนี้ ขึ้นรถไปต่ออีกจนถึง กม. ๓๖ มีที่ว่างพอจอดรถ
กลับรถได้ หากลงไปต่อจะไปสุดทางที่ทางจะเดินไปน้ำตกทอทิพย์
สุดทางรถแล้วต้องเดินไปอีก ๔ กม. เป็นน้ำตกที่บอกว่าสวยมาก สูงถึง ๑๘ ชั้น
เป็นพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี
ซึ่งจะไหลลงสู่ทะเลสาปแก่งกระจาน และมีฐานตำรวจ ตชด. ตั้งอยู่แถวนี้ ไม่ทราบว่ามีกำลังเท่าไร
ที่จุด กม.๓๖ นี่แหละ ทางรีสอร์ทจัดบริกร มาบริการต้องว่าอย่างนี้ ตั้งเตาต้มน้ำร้อน มีให้เลือกจะเอาชา หรือกาแฟ หรือโอวัลติน ตักน้ำตาล ครีมใส่ตามใจชอบ
ใครสั่งอาหารอะไรเอาไว้ เขาก็เอาอาหารกล่องพร้อมน้ำปลาพริก มาให้หยิบเลือกเอาไปตามที่สั่งผมสั่งแซนวิช ปรากฎว่าได้แซนวิชอย่างดีมา ๒ ชิ้น ต้องเรียกว่า แซนวิชเมืองยักษ์
กินหมด ๒ ชิ้น นี่คงอิ่มไปถึงเย็น แดดยิ่งจ้ามากเท่าไร ยอดเขายิ่ง สุดสวยเพราะหมอกเริ่มลดความสูงในการคลุมยอดเขา ลดลงต่ำลงมาเหมือนเกาะกลางน้ำ แต่เป็นกลางทะเลหมอกสวยจริง ๆ รถที่พานักท่องเที่ยวมาหลายสิบคัน มีขึ้นมาที่ กม.๓๖ เพียง ๒ คัน และที่มีกาแฟร้อน ๆ มาจิบกันยอดดอย มีรถเราเพียงคันเดียว ถึงยกย่องว่ารีสอร์ทนี้บริการดีจริง ๆ เกินค่ากว่าสตางค์ที่เสียไป กินอาหาร ดูหมอกจับยอดเขา และยอดเขาค่อย ๆ สูงขึ้นอากาศเย็นแต่ไม่ถึงขั้นหนาวสั่น แต่ต้องเอาเสื้อหนาว หรือเสื้อวอร์มไปด้วย คณะผมมีผู้นำเป็นทหาร จึงฟังคำสั่งกันเคร่งครัด เอาเสื้อหนาว หรือเสื้อวอร์มไปทุกคน และไม่มีใครเดินเข้าพงหญ้า เพราะมีฝนตกจะมีตัวทาก ที่เกาะดูดเลือดเราจะไม่รู้สึกตัวพบทากเหมือนกัน แต่ไม่มีอันตรายอะไร เพราะเชื่อฟังกันดี ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้าผ้าใบหุ้มส้นกันทุกคน
และได้เห็นปูภูเขา คลานมาให้ชม "๑ ตัว" ส่วนตุ๊กแกบินเห็นแล้วที่ศาลาชมวิว ทางขึ้นพระตำหนัก เสียดายไม่ได้เห็นเต่าหกขา ได้แต่ฟังเขาเล่า
กลับลงมาจาก กม.๓๖ ประมาณ ๐๙.๐๐ เรียกว่าอิ่มลงมาทั้งตา ทั้งใจ และกระเพาะลงมาพักเข้าห้องสุขากันอีกที่จุดบ้านกร่าง ซึ่งจะเป็นจุดชมผีเสื้อ
ปรากฎว่าเมื่อคืนมีฝนตกมาก ผีเสื้อเลยออกน้อย ดูกันที่ริมขอบสนามที่เป็นพื้นที่ให้กางเต้นท์
เห็นไม่มากนัก ระหว่างทางลงมาก็แวะดูตามธารน้ำ คนขับที่ทำหน้าที่เป็นไกด์ด้วย
บอกว่าหากเป็นฤดูแล้ง ก่อนฝนตกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ฝูงผีเสื้อหลากสี จะลงมาเกาะตามพื้นดิน
บางทีต้องให้คนลงเดินนำรถเพื่อไล่ผีเสื้อ วันนี้ได้ดูน้อยไปหน่อย ไปบินวนแถวห้องสุขามาก
ไม่ยอมลงมาเกาะเลยไม่มีภาพมาให้ชม
กลับออกจากอุทยานเขตป่า ลงมาอีกทางมาผ่านที่ทำการอุทยาน ผ่านร้านอาหารหลายสิบร้าน
ที่ตั้งอยู่ริมขอบทะเลสาบ หมายตาไว้แล้ว ไปคราวหน้า ฤดูแล้งจะมาชิมให้ได้
ติดใจอาหารปลา ที่นำปลาจากเขื่อนมาประกอบอาหาร พอรถข้ามสันเขื่อนซึ่งมีอยู่
๓ ตอน ให้รถจอดชมวิวทะเลสาบที่งามเหลือเกิน อดีตคือ ภูเขา ปัจจุบันคือ เกาะที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา
หากเช่าเรือติดต่อคนขับที่ผมบอกเบอร์ไว้ให้นี่แหละ บ้านเขามีทั้งรถและเรือ
ราคาเรือวิ่งในทะเลสาปมีหลายราคา แล้วแต่ไปแค่ไหน ไกลสุดคือ ไปดูถึงต้นแม่น้ำเพชรบุรีราคา
๑,๔๐๐ บาท นั่งได้ประมาณสิบคน แต่ต้นน้ำจริง ๆ นั้นต้องเดินขึ้นเขาไปอีก เป็นแบบน้ำซับที่ไหลออกมาจากใต้ดิน
ชมทะเลสาบเหนือเขื่อน
แล้วและจะมองเห็นโรงไฟฟ้า ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงเพชรบุรี และหัวหิน เขื่อนนี้จึงให้ประโยชน์หนักไปทางชลประทาน
การเกษตร
กลับมาถึงที่พักเกือบเที่ยง พอเที่ยงครึ่ง ก็ไปที่ห้องอาหาร คราวนี้ตาผู้จัดการที่พูดเก่งจริง
ๆ มาดูแลเอง แถมบอกว่าเป็นแฟนผมเสียอีก และขอแถมอาหารพิเศษนอกรายการแพคเก็จให้
๑ อย่าง บอกว่าหากมากินตามสั่งจานนี้ ต้องโทรมาสั่งล่วงหน้าเช่นกันคือ
หัวปลายี่สกนึ่งซีอิ้ว ถามเขาว่าขนาดหัวยังโตเท่านี้ ตัวแค่ไหน บอกว่ายี่สกตัวนี้หนักถึง ๓๐ กก. สุดอร่อยของยี่สกอยู่ที่หัว จึงเอาแต่หัว กินเนื้อติดหัว กินแก้มปลา
เนื้อวิเศษจริง ๆ ราคาจากนี้ประมาณ สองร้อยกว่าบาท อาหารที่ห้องอาหารรีสอร์ทไม่แพง ถือว่าถูกมาก ปลานึ่งมาวางบนจานใหญ่ น้ำซีอิ้วมาก ชุ่มฉ่ำ แต่ไม่มากพอให้ตักซดได้
นึ่งกับหัวไชเท้า และเห็ดหอม
ยี่สกผัดฉ่า เผ็ดนิด ๆ เผ็ดพออร่อย เนื้อปลาแน่น
น้ำพริกกุ้งสด ไม่เผ็ด จัดผักสวยล้อมถ้วยน้ำพริก เล่นสีเสียด้วย มีถั่งฝักยาว แครอท เคียงข้างข้าวโพดอ่อน แตงกวา และกล่ำปลี จัดผักมาต่างสีกัน อร่อยแล้วยังสวยอีก
หมูแดดเดียว หมูนุ่ม ทำให้กินเล่น กินแกล้มดี เคี้ยวสนุก
ไก่สมุนไพร ไก่ทอดมากับสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด
แกงส้มปลาทอด ใส่ผักรวมมีผักกระเฉด แครอท ผักกาดขาว หัวไชเท้า น้ำแกงหมดแล้วเติมได้
ต้องซดจึงจะชื่นใจ ยกนิ้วให้เลยทีเดียว สำหรับรสแกงส้ม รสนี้
เครื่องดื่ม ต้องเริ่มด้วยน้ำมะนาว ให้สมกับเป็นเมืองมะนาว ปิดท้ายด้วยผลไม้รวม
จบรายการอาหารเที่ยงแล้ว อำลารีสอร์ทพร้อมทั้งฝากคำอาฆาตไว้ว่า ฤดูแล้งจะมาใหม่
จะมานอนสัก ๒ คืน ขึ้นเขาชมทะเลหมอก ดูผีเสื้อ โชคดีอาจจะพบเต่าหกขา พออีกวันจะไปล่องเรือ
ไปดูต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี บรรยากาศดีเหลือเกิน นอนคืนเดียวน้อยไป ราคาก็ไม่แพง
ยิ่งนักกอล์ฟเขามีสนามกอล์ฟมาตรฐาน ให้ลงเล่นได้จากรีสอร์ท กลับมาออกทางจะมาอำเภอบ้านลาด
เห็นดินริมคลองชลประทานที่รถวิ่งเลียบคลอง มาถล่มและมีรูปร่างยังกับ "โป่งยุบ"
น้อย ๆ กลับบ้านแล้วพักสัก ๒-๓ สัปดาห์ ผมจะไปตามผีเสื้อที่อุทยานปางสีดา
และไป "ละลุ" ที่สระแก้ว
..............................................
|