ค่ายเนินวง
ค่ายเนินวง
ค่ายเนินวง หรือค่ายรบโบราณ เป็นโบราณสถานที่อยู่ใกล้ตัวเมืองในเขต อ.เมือง
จันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองจันทร์ และเป็นแหล่งโบราณคดี
ที่มีสวนผลไม้ของชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ คือ สวนสละ ที่มีชื่อเสียงของจันทบุรี
ที่เรียกกันว่า "สละเนินวง" เส้นทางที่จะไปยังค่ายเนินวงอยู่ในท้องที่ ตำบลบางกะจะ
อ.เมือง ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๖ กม. ไปในทิศทางเดียวกับจะไปอู่ต่อเรือพระเจ้าตาก
ฯ (อู่ต่อเรือจะแยกไปซ้ายอีก ๑๐ กม.มีป้ายบอกไว้)
หากมากรุงเทพ ฯ เส้นทางไกลที่สุดในการมาจันทบุรี คือ มาตามถนนมอเตอร์เวย์
แล้วมาเข้าถนน
๓๓๔ ที่ อ.บ้านบึง
เดินทางต่อไป ทางเข้าตัวเมืองจันทบุรีนั้นเข้าได้ถึง ๔ เส้นทาง จะกล่าวถึงแต่เส้นทางที่เกี่ยวข้องมิฉะนั้นจะเกิดการสับสน
ไปไม่ถูกสักเส้นเดียว เส้นทางที่จะแนะนำให้ไปยังค่ายเนินวง คือเส้นทางที่เมื่อมาจากกรุงเทพ
ฯ แล้ว มาถึงสี่แยกไร่ยา ประมาณหลัก กม.๓๒๔ ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนรักศักดิ์ชมูล
จะผ่านสถาบันราชภัฎจันทบุรี ตรงไปเรื่อย
ๆ จะผ่านสวนสาธารณะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ซึ่งจะเห็นบึงน้ำขนาดใหญ่
และเนินกลางบึงคือ ราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ที่ทรงประทับม้าออกศึก เมื่อผ่านสวน ฯ ไปจนสุดทางที่สามแยกแล้ว ให้เลี้ยวขวา
(เลี้ยวซ้ายจะไปตลาดสด) ไปทางจะไปบ้านท่าแฉลบ
(ดูที่เสาหลัก กม.) วิ่งไปหน่อยก็จะถึงทางแยกซ้ายไปยังอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เลยทางแยกเข้าอู่ต่อเรือไปแล้ว วิ่งไปเรื่อย
ๆ จะพบถนนแยกขวาสาย ๓๑๔๗
(ถนนไปท่าใหม่)
เลี้ยวขวาเข้าสาย ๓๑๔๗
ไปประมาณ ๔๐๐ เมตร ค่ายเนินวงจะอยู่ทางขวามือ วิ่งเข้าประตูไปได้เลย ไปจอดรถทางด้านหลัง
หรือเลยไปจอดที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี
ที่อยู่ด้านหลังเลยก็สะดวกดี
ชมค่ายเนินวงแล้วจะได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ต่อได้เลย และเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีแห่งแรก
และแห่งเดียวของไทย (เสียค่าเข้าชม ๑๐ บาท เปิดให้ชม วันพุธ ถึงวันอาทิตย์)
ค่ายเนินวงมีประวัติดังนี้ สร้างเป็นป้อมรบ
เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับศึกญวนที่จะมาทางทะเล
ซึ่งมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับลาว เป็นกบฎแล้วไปฝักใฝ่กับญวน จนทางไทยเราไม่ไว้ใจญวน
ร.๓ จึงโปรดเกล้าให้สร้างค่ายเนินวงขึ้น เพราะทรงเห็นว่ามีชัยภูมิเหมาะ ที่จะทำการตั้งรับข้าศึกที่จะมาทางน้ำ
ชัยภูมิอยู่บนที่สูงเหมาะในการตั้งรับ และใช้อาวุธยิงด้วยปืนใหญ่ ภายในเมืองใหม่นี้โปรด
ฯ ให้มีศาลหลักเมือง คลังเก็บอาวุธ และ วัดโยธานิมิต
(วัดนี้ยังมีพระจำพรรษา) ให้เป็นวัดประจำเมือง ได้ย้ายชุมชนจากบ้านลุ่มให้มาอยู่ยังบ้านเนินวง
และในชุมชนนี้ประชาชนส่วนใหญ่คือ ข้าราชการ ไม่มีราษฎรเต็มใจมาอยู่เพราะขาดแคลนน้ำ
จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้อพยพผู้คนกลับไปอยู่ในเมืองได้ดังเดิม ให้ค่ายเนินวงร้างไป
แต่ปัจจุบันมีราษฎรอยู่อาศัยกันเต็ม ไม่กันดารน้ำ เป็นแหล่งปลูกสละที่มีชื่อเสียงคือ
สละเนินวง
สิ่งที่น่าสนใจ มีป้อมและแนวกำแพง พื้นที่ภายในกำแพงเมืองมีขนาด ๒๗๐ ไร่เศษ
สร้างกำแพงสูง ๖ เมตร ล้อมรอบมีป้อม คู และประตูสี่ทิศ มีปืนใหญ่จุกช่องตามกำแพงเมือง
ตั้งเรียงรายไปตามช่องใบเสมา ตั้งจังก้าพร้อมทำการยิง และเป็นปืนใหญ่ที่ขนาดกว้างปากลำกล้องน่าจะเกิน
๑๕๕ มม. และในปัจจุบันได้รับการบูรณะป้อม และแนวกำแพงให้อยู่ในลักษณะที่น่าไปชม
วัดโยธานิมิตร
สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดประจำเมืองใหม่ ภายในวัดมีอุโบสถ เจดีย์ทรงลังกา
มีพระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานมาตั้งแต่เริ่มมีการสร้างวัด ส่วนอุโบสถนั้นสร้างใหม่
โดยสร้างครอบหลังเดิมเว้นแต่บานหน้าต่าง ประตูเป็นไม้ยังใช้ของเดิม แต่ส่วนอื่น
ๆ นั้นถูกรื้อออกไปทำใหม่หมด
หากกล่าวถึงค่ายเนินวง ต้องกล่าวถึงสละเนินวงด้วย เพราะมีชื่อเสียงมาก สละเนินวงมีรากเหง้ามาจากกอสละของบ้านผู้ใหญ่บ้านเนินวง
ต.บางกะจะ อ.เมือง เมื่อกรมศิลปากรจะขึ้นทะเบียนค่ายเนินวงเป็นโบราณสถานและมีการเวนคืนที่ดิน
ผู้ใหญ่อุทัยจึงย้ายมาปลูกลงในดินใกล้กันและบอกขายต้นพันธุ์ด้วยการผ่าตา แยกออกมาเป็นต้นพันธุ์ใหม่
ปรากฎว่าคนมาซื้อกันมากมายจนกระทั่งบัดนี้ เพราะสละที่กลายมาเป็นพันธุ์ใหม่นี้
หวาน หอม ผิดสละทั่วไป
เมื่อชมค่ายเนินวงแล้ว ก็ต้องมาชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น
นอกจากจะเป็นกษัตริย์นักรบที่แกล้วกล้า ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี แห่งการครองราชย์แทบจะไม่มีเวลาได้พักผ่อน
เช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ครองราชย์เพียง ๑๕ ปีเช่นกัน รบเพื่อชิงความเป็นไทกลับคืนมา
รบเพื่อขยายอาณาเขต ขยายพระราชอำนาจออกไป แต่ทั้ง ๒ พระองค์ ก็ยังมีเวลาที่จะไปทำนุบำรุงบ้านเมืองในด้านอื่น
ๆ ด้วย และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นเมื่อท่านพาทหาร ๕๐๐ คน หนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยานั้น
เพราะทรงเห็นว่าอยู่ไปก็ช่วยรักษากรุงศรีอยุธยาไม่ได้ แม้แต่จะยิงปืนใหญ่ในขณะที่ข้าศึกรุกเข้ามาก็ยังต้องขออนุญาต
เมื่อไม่ขอก็ถูกคาดโทษเป็นต้น จึงคิดตีฝ่าออกไปตั้งตัวใหม่ และคงพิจารณาเห็นว่าทางด้านตะวันออกนั้น
บ้านเมืองยังมีความสมบูรณ์ ถูกกระทบกระเทือนจากทัพพม่าน้อยที่สุด น่าจะรวบรวมผู้คนได้เร็วกว่า
จึงตีฝ่ากองทัพพม่าที่ล้อมกรุงอยู่ออกไป มุ่งไปทางนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี
ระยอง และมาตั้งทัพรวบรวมผู้คนอยู่ที่จันทบุรี เมื่อสามารถตีได้เมืองจันทบุรี
แม้ว่าพม่าจะออกติดตามมาก็ถูกอุบายตีแตกกลับไปทุกครั้ง และเมื่อยึดได้เมืองจันทบุรีแล้วก็ให้ต่อเรือและยังยึดเรือสำเภามาดัดแปลงทำเรือรบ
เมื่อสิ้นสุดสงครามกับพม่าแล้วตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ได้นำเรือสำเภามาทำการค้าเกิดเป็นพาณิชย์นาวีขึ้นเป็นครั้งแรก
และเจริญสูงสุดในด้านการพาณิชย์นาวีในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงขนาดเรียกขานรัชกาลที่
๓ ว่า "กษัตริย์เจ้าสัว"
ผมถึงบอกว่าอยากทราบรายละเอียด ขอให้ไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีแล้วจะได้ความรู้อีกมากมาย
พิพิธภัณฑ์นี้เก็บรักษาโบราณวัตถุใต้ทะเลไว้นับเป็นจำนวนหมื่นชิ้น จัดแสดงเกี่ยวกับการค้าทางเรือ
ข้อมูลเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนข้อมูลการค้นคว้าวิจัยทางโบราณคดีใต้น้ำ
ความเป็นมา งานโบราณคดีใต้น้ำภายในประเทศ
เริ่มต้นในปี พ.ศ.๒๕๑๗ โดยกองทัพเรือให้ความร่วมมือด้วยการส่งผู้ปฎิบัติการใต้น้ำมาช่วยในการกู้สมบัติ
ได้มีการค้นพบเรือโบราณจมอยู่ใต้น้ำกลางทะเลอ่าวไทยจำนวนมากถึง ๒๖ แห่ง จนกระทั่งในปี
พ.ศ.๒๕๓๔ กรมศิลปากรจึงได้เปิดสำนักงานโบราณคดีใต้น้ำขึ้นที่ค่ายเนินวง ขุดค้นหาแหล่งโบราณคดีใต้น้ำทั่วประเทศ
มีการฝึกอบรมจนกระทั้งสามารถเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีขึ้นได้ในปี
พ.ศ.๒๕๓๔
ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี
แบ่งออกเป็น ๖ ห้องคือ
๑. ห้องจัดแสดงสินค้าและชีวิตชาวเรือ
จัดการแสดงพาณิชย์นาวีโบราณ เส้นทางการเดินเรือท่าเรือโบราณ สร้างเรือสำเภาจำลองแต่มีขนาดเท่าของจริง
(เล็กกว่าของเมืองโบราณที่สมุทรปราการ) จำลองสภาพของสินค้า ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในเรือที่มิใช่เป็นเพียงพาหนะ
แต่เป็นเสมือนบ้านของพวกเขา มีสินค้าที่บรรทุกเพื่อส่งออกเช่น ไม้สัก เซรามิค
เป็นต้น บรรทุกไว้ให้ชม
๒. ห้องแนะนำปฎิบัติการโบราณคดีใต้น้ำ
แสดงเรื่องราวเทคนิคการทำงานของโบราณคดีใต้น้ำ จำลองภาพของจริงของแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ
วิธีการทำงาน ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฎิบัติงานจริง
๓. ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ
แสดงให้เห็นถึงการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ภายในพิพิธภัณฑ์ ปกติแล้วจะไม่มีการเปิดให้ได้เห็น
แต่ที่นี่มีช่องกระจกให้มองเห็นได้
๔. ห้องแสดงเรือและชีวิตชาวเรือ
จัดแสดงเรื่องเรือในประเทศไทย ว่ามีเรือชนิดใดบ้าง เรือแบบใด ใช้กันอยู่ในแถบใด
แสดงโดยเรือจำลองที่ทำย่อส่วนตามความจริงเพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักเรือที่บางชนิดก็อาจจะเคยได้ยินแต่ชื่อ
และส่วนตัวของผมเองก็พึ่งทราบคราวนี้ว่า เรือไทยมีถึง ๒๙ ชนิด
๕. ห้องของดีเมืองจันทร์
การกล่าวถึงจันทบุรีว่ามีความเป็นมาอย่างไร ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาตร์ที่เมืองจันทบุรี
เหตุการณ์สำคัญและเรื่องของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของจันทบุรี การก่อตั้งเมือง
มรดกทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวและของดีที่มีชื่อเสียงของจันทบุรี
๖. ห้องบุคคลสำคัญ
ในห้องนี้จะแสดงถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่
๒ ด้วยฝีมือของทัพโจร ที่ปล้น ฆ่า เผา ทำลายกันเพื่อให้สิ้นชาติไปเลย ให้เห็นเส้นทางเดินทัพ
เมื่อคราวมารวมพลที่เมืองจันทบุรี เป็นการเชิดชูพระมหาวีรกรรมของพระองค์
ผมไปจันทบุรีครั้งนี้ไปพักที่โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดและมีบริการที่ดีเยี่ยม ต้องชมเชยเอาไว้เลยทีเดียว
และกินอาหารมื้อเย็นในบรรยากาศที่แสนดี ที่ห้องอาหารซึ่งอร่อยทั้งอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่น
อยู่ชั้นหนึ่งของโรงแรม และยังมีห้องอาหารจีน (ผมยังไม่ได้ชิม) อาหารยุโรปบนชั้น
๑๘ ของโรงแรม เขาบอกว่าไปกินในห้องนี้จะได้กินภายใต้แสงเทียน อันโรแมนติค
คละเคล้าด้วยเสียงเพลงจากแกรนด์เปียนโน แต่ผมอยากกินอาหารพื้นเมืองของจันทบุรีมากกว่า
จึงนั่งเสียที่ห้องอาหาร คอฟฟี่ช๊อฟ ซึ่งตอนค่ำมีเพลงไพเราะ ๆ ที่ร้องโดยนักร้องสาว
(สวย) มาขับร้องให้ฟัง แถมโรงแรมนี้ยังอยู่ใกล้ศูนย์กลางการซื้อขายอัญมณีใหญ่ที่สุดในเมืองจันทบุรีด้วย
ส่วยอาหารนั้นหากเป็นมื้อกลางวันอาจจะไปกินร้านตรงกันข้ามที่เก่าแก่ก็ได้
แต่มิ้อเย็นไม่พลาดอาหารในห้องคอฟฟีช๊อฟของโรงแรม ห้องอาหารโรงแรมนี้ราคาไม่แพง
และรับเครดิตด้วย ไม่ถึงขั้นต้องอยู่ช่วยเขาล้างจานแน่นอน
ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับเส้นทางที่จะมายังโรงแรมเสียก่อน
เส้นทางที่สะดวกแน่นอนที่สุดคือให้ รถมาสด้านำทางไป ยอมเสียค่ารถ ที่เรียกว่ารถมาสด้า
เพราะเมื่อมีรถสองแถวเข้ามาเดินในจันทบุรีใหม่ ๆ นั้น มียี่ห้อเดียวคือ รถมาสด้า
ต่อมามีมาเดินอีกหลายยี่ห้อ แต่ชาวเมืองจันทร์เรียกรถมาสด้าหมด สะดวกปากดีเหมือนกัน
เส้นทางที่ ๒ มาจากกรุงเทพ ฯ เข้าเมืองจันทบุรี เส้นทางแรก คือ เข้าตรงหลัก
กม.๓๒๔ เรียกว่าสี่แยกไร่ยา ให้เลี้ยวขวาวิ่งเข้ามาผ่านสวนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปจนถึงสามแยก
(เลี้ยวขวาไปค่ายเนินวง) ให้เลี้ยวซ้ายวิ่งตรงเรื่อยไป ถนนโค้งขวาโค้งด้วยจนถนนห้ามเข้าบังคับให้เลี้ยวซ้ายตามป้าย
ที่บอกว่าไปตลาดสดไปตามถนนแคบ ๆ นี้เรื่อยไปจนถึงเชิงสะพาน ให้ข้ามสะพานตรีรัตน์ไป
จะมองเห็นโรงแรม
เส้นทางที่ ๓ มาจากกรุงเทพ ฯ วิ่งผ่านสี่แยกไร่ยา (กม.๓๒๔) ไปผ่านทางเข้าเมือง
สามแยก อ.มะขาม ให้ผ่านต่อไป (ถนนจะโค้งขวาไปทางเดียวกับจะไป จ. ตราด) เมื่อเลยทางแยกนี้ไปแล้วประมาณ
๓ กม. จะมีทางแยกขวาอีก ให้เลี้ยวขวาวิ่งเรื่อยไปพอจะถึงสะพานตรีรัตน์ก็จะเห็นโรงแรม
ผมบอกเส้นทางให้ ๓ วิธี นั่งตอนเย็นบรรยากาศดีและเย็นสบาย ได้สั่งอาหารมาชิมหลายอย่าง
เพราะมาร่วมวงกันหลายคน
จานเด็ด ที่ต้องสั่งทั้งแปลกและอร่อยคือ ปลาหิมะนึ่งซีอิ้ว กับแป้งทอด แป้งทอดนั้นไม่ต้องสั่งมาเอง
ที่ว่าแปลกก็ตรงมีแป้งทอดใส่จานมาด้วย ทอดแบบกรอบนอกนิด ๆ นุ่มในหน่อย ส่วนปลหิมะนั้นเนื้อหวาน
สีขาว น่ากินเหลือประมาณ น้ำนึ่งมาก ยกมาร้อน ๆ ตักซดเสียก่อนแหละดีได้รส
เอาปลาวางบนแป้งตักน้ำซีอิ้วราดให้ชุ่มแล้วส่งเข้าปาก อร่อยจนลืมกินนกกระจอกเทศจานร้อน
นกกระจอกเทศผัดพริกไทยดำ กับกระวานไม้เครื่องเทศชนิดหนึ่งของจันทบุรี หอมกลิ่นกระวาน
ผัดกับหอมใหญ่ พริกชี้ฟ้า พริกไทยดพ
ทะเลผัดซ้อสพริกสิงคโปร์ จานนี้มีทั้งกุ้ง ปู ปลา หมึก สดจริง ๆ น้ำฟัดเข้มข้น
เอามาคลุกข้าวแล้วเหยาะเสียด้วยน้ำปลาพริก ที่เขาตั้งเอาไว้ให้จะอร่อยยิ่ง
ไก่ผัดซ้อสซาบ้า น้ำผัดเข้มข้นต้องคลุกข้าวอีกนั่นแหละ สั่งทะเลผัดซ้อสแล้วไม่ต้องสั่งก็ได้คล้ายกัน
แกงหมูชะมวง อาหารพื้นเมืองจันทบุรี คือแกงหมูชะมวงออกรสหวานอร่อยนัก หมูเปื่อยเนื้อแน่นได้เคี้ยว
มาจันทบุรีต้องไม่ลืมแกงหมูชะมวง และก๋วยเตี่ยวหมูหรือเนื้อเรียง เส้นจันทน์
ลาบหมูทอด มาแปลกอีกนั่นแหละ เอาหมูสับมาคลุกกับเครื่องลาบแล้วเอาไปทอดพอเกรียมกินกับผัก
มีถั่วฝักยาว กล่ำปลี และแตงกวา พริกทอด
ปิดท้ายด้วยผลไม้รวม ชมพู่ แตงโม แคตาลูป สับปะรด มะม่วง มะละกอ และฝรั่ง
แต่ละชิ้นแกะสลักมาสวย และต้องไม่ลืมถ้วยพริกกับเกลือช่วยชูรส
..................................................................
|