ละโว้
เมืองละโว้
เมืองละโว้ที่เรารู้จักกันดีก็คือ จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน ผมไม่ได้เกิดที่ลพบุรีแต่อยู่ในลพบุรีนานพอ
ๆ กับอยู่ในกรุงเทพ ฯ ทั้งนี้เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ บิดาของผมซึ่งเป็นนายทหารอากาศเป็นเหล่าช่างอากาศ
ได้ย้ายไปรับราชการที่กองบินน้อยที่ ๔
ตั้งอยู่ที่โคกกระเทียม อยู่ติดกับกองบินน้อยที่ ๒ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของภูเขาและทั้งสองหน่วยบินก็จะอยู่ติดกับทหารปืนใหญ่ของกองทัพบก
ทหารปืนใหญ่กับทหารอากาศช่วยกันสร้างโรงเรียนให้ลูกหลานทหารได้เรียนกัน รวมทั้งลูกหลานพลเรือนด้วย
ชื่อโรงเรียนสองเหล่าสร้าง
ปัจจุบันโรงเรียนสองเหล่าสร้าง กองทัพบกอุปถัมภ์ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐
ส่วนผมมาเข้าเรียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ และศิษย์เก่ารุ่นเดียวกันนี้ที่ถือว่าได้เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ระดับผู้นำประเทศมาแล้วก็คือ "บิ๊กจ๊อด" ซึ่งท่านหนีผมไปเรียบร้อยแล้ว และอีกท่านหนึ่งก็เป็นพลเอกเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีศิษย์รุ่นเก่ารุ่นหลัง ๆ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กันอีกมากมาย
จึงน่าภูมิใจสำหรับโรงเรียนที่เมื่อ ๒๔๘๐ นั้นอยู่เกือบจะกลางป่า
ซึ่งสมัยผมเรียนอยู่นั้นยังทันได้เห็น "รถถ่อ"
คือรถเหมือนรถถ่อของรถไฟ ที่ใช้ไม้ถ่อค้ำให้รถวิ่งไปข้างหน้า ผู้โดยสารจะต้องช่วยถ่อด้วย
ส่วนผมยังเด็กไม่ต้องถ่อนั่งเฉย ๆ อย่าให้ร่วงลงไปก็แล้วกัน เขาวางรางรถถ่อจากสถานีรถไฟโคกกระเทียม
ผ่านทหารปืนใหญ่ ไปสิ้นสุดที่เชิงเขาในศูนย์การทหารปืนใหญ่
เดี๋ยวนี้ถนนสายรถถ่อวิ่งนี่กลายเป็นสี่เลนไปเกือบหมดแล้ว คือถนนที่ชื่อว่า
พหลโยธิน
ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่รู้จักแล้วว่า ถนนพหลโยธินที่แท้จริงนั้นคือสายไหน ผ่านตรงไหนบ้าง
ผมขอชี้แจงฉบับย่อคือถนนที่มาจากกรุงเทพ ฯ ผ่านบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง ไปรังสิต
บางตอนก็ถูกทับด้วยวิภาวดีรังสิตไปแล้ว พอพ้นรังสิตก็จะไปผ่านวังน้อย สระบุรี
ไปผ่านลพบุรีตรงวงเวียนที่มีพระบรมราชาอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
แล้วจะเลี้ยวขวาไปผ่านทหารปืนใหญ่ หักซ้ายไปผ่านเขาพระงาม
หักขวาไปโคกสำโรง หักซ้าย (ผมใช้คำว่าหักเพราะถนนหักข้อศอกเลยทีเดียว) ไปตาคลี
ไปพบกับถนนสายเอเซียที่ทางแยกสู่ชัยนาท ไปนครสวรรค์ ไปกำแพงเพชร ตาก เถิน
ลำปาง พะเยา เชียงราย แม่สาย สิ้นสุดทางของถนนพหลโยธิน
เวลานี้ใครไปลำปางไม่มีใครวิ่งไปตามสายนี้แล้ว วิ่งมาถึงกิโลเมตร ๕๔ ที่ประตูน้ำพระอินทร์ก็เลี้ยวซ้ายไปอยุธยา
อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ได้เลยแและเมื่อถึงเถินหากเป็นเมื่อก่อนจะไปเชียงใหม่ต้องหักซ้ายไปลี้
ไปป่าซาง ลำพูน เชียงใหม่ แต่เดี๋ยวนี้พอถึงอำเภอเถินก็ตรงไปลำปางแล้วออกไปเชียงใหม่ได้
จากเชียงใหม่ก็ไปเชียงรายได้โดยไม่ต้องย้อนกลับมาลำปางอีก ขออภัยที่มาลำดับเส้นทางให้ทราบ
เพราะเที่ยวกับผมต้องชำนาญเส้นทาง ผมขับรถด้วยตัวเองมาตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งทุกวันนี้วนประเทศไทยหลายรอบแล้ว
ทำไมเรียกว่าเมืองละโว้ เพราะนักโบราณคดีบอกว่า ลพบุรีนั้นเป็นเมืองเก่าแก่
มีมนุษย์อยู่มานานตั้งหมื่นปีมาแล้ว เอากันแค่พบเจอหลักฐานกันแน่ ๆ ก็ประมาณ
๓,๕๐๐ ปี หากลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับเมืองละโว้คงจะได้ดังนี้
ตั้งแต่ พ.ศ.๑๑๐๐ เริ่มปรากฏศิลปะแบบทวารวดี
ไปจนถึง พ.ศ.๑๖๐๐ จึงเสื่อม
พ.ศ.๑๓๐๐ ลวะปุระหรือละโว้
เป็นศุนย์กลางแห่งหนึ่งของศิลปะทวารวดี
พ.ศ.๑๓๑๑ พระนางจามเทวี
เสด็จจากละโว้ไปครองเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน
พ.ศ.๑๕๐๐ ขอมสร้างปรางค์แขก
(ปัจจุบันบูรณะแล้วอยู่กลางเมืองลพบุรี)
พ.ศ.๑๕๖๕ ขอมแผ่อิทธิพลเข้าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พบจารึกสมัยสุริยวรมันที่
๑ ที่ศาลสูงลพบุรี
พ.ศ.๑๖๕๖ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ สร้างนครวัดที่เสียมราฐ
พ.ศ.๑๗๒๔ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างนครธม ที่เมืองเสียมราฐ ให้จารึกลงในปราสาทพระขรรค์
เมืองพระนครกล่าวถึงพระพุทธรูป "ชยพุทธมหานาถ" ที่พระองค์โปรดให้นำมาประดิษฐานที่ลพบุรีและเมืองอื่น
ๆ
ในการแกะสลักภาพที่ระเบียงปราสาทนครวัดนั้นมีอยู่ภาพหนึ่ง ซึ่งมองดูก็รู้ว่าทหารไทย
ภาพนั้นคือภาพของทหารละโว้ ที่ยกไปช่วยขอมรบกับจาม (ญวน) ผมไปยืนมองภาพนี้ที่นครวัดอยู่นานพอสมควร
เพราะทหารในภาพร่าเริงกันเหลือเกิน ไม่มีลักษณะเป็นทหารเกณฑ์ของเมืองขึ้นเลย
แสดงว่าละโว้เวลานั้นมีอำนาจ มีอิทธิพลอาจจจะทัดเทียมกับขอมใน "พระนคร" เลยทีเดียว
เรียกว่าไปรบอย่างไปช่วยมิตร ดังนั้นเท่าที่ผมสรุปมาได้นี้ ก็แสดงว่า
ขอมมามีอิทธิพลในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและถือเอาละโว้ ในอดีตหรือลพบุรีในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของขอมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ผมจึงขอเรียกเมืองลพบุรีในตอนนี้ว่าเมืองละโว้ เพราะเป็นเมืองที่ขอมเข้ามามีอิทธิพลอยู่นาน
ขอมนั้นพอหลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งเป็นนักสร้างตัวยงก็เริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
จนในที่สุดขอมก็ถึงขั้นสูญพันธ์ไปเลยทีเดียว เหมือนอิตาลีไม่มีชาวโรมัน การขุดค้นแหล่งโบราณสถานที่ฮือฮากันมาก
คือการขุดพบแหล่งฝังศพในบริเวณศูนย์การทหารปืนใหญ่
ซึ่งอยู่ชายเขาพระงาม
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนโบราณเหล่านี้ มีความเจริญในทางเทคนิควิทยาสูง เพราะมีเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะที่มีรูปร่างและเทคนิคในการทำสูง
ไปชมได้ในพิพิธภัณฑ์ของเมืองลพบุรี
ผมจะเล่าถึงโบราณสถานเมืองละโว้ให้ทราบ เริ่มกันตั้งแต่ยุคของทวาราวดีก่อน
คงจะต้องเริ่มต้นที่ "ศาลพระกาฬ"
หรือชาวบ้านเรียกกันว่า "ศาลสูง"
ใครไปลพบุรีหากมาตามเส้นทางถนนพหลโยธิน ก็จะต้องมาผ่านวงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (เลี้ยวขวาไปโคกสำโรง) ตรงต่อไปก็จะผ่านวงเวียนสระแก้ว
(ทั้งสองวงเวียนนี้มีชื่เป็นทางการ) ตรงต่อไปอีกก็จะเข้าเมือง แต่ก่อนที่จะข้ามทางรถไฟสายเหนือ
ก็จะต้องผ่านวงเวียน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลพระกาฬไปก่อน ศาลได้รับการพัฒนางดงามแล้ว
ไม่เหมือนสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ๆ นั้นใกล้จะพัง มีแต่ลิง ปัจจุบันสวย
แต่ลิงคงเยอะตามเคย
ศาลพระกาฬ
เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าพ่อศาลพระกาฬ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของลพบุรี ซึ่งความจริงก็คือพระนารายณ์สี่กรสลักศิลา
เดิมไม่มีเศียรและกร ต่อมาจึงมีการนำเศียรและกรมาต่อให้ แต่อีกสองพระกรยังไม่ได้ต่อเติมจนถึงปัจจุบันนี้
วัดนครโกษา
เมืองลพบุรีนั้นมีทั้งพุทธและพราหมณ์ ซึ่งละโว้คือเมืองที่ขอมมีอิทธิพลมาก่อน
ดังนั้นหากกษัตริย์ขอมนับถือศาสนาใด ก็ย่อมแผ่เข้ามายังดินแดนที่ขอมมีอิทธิพลด้วย
ก่อนสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ขอมนับถือพราหมณ์ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงไปทางพราหมณ์
ปราสาทนครวัด เป็นพราหมณ์ แต่พอมาปราสาทนครธม (ทั้ง ๒ ปราสาทอยู่ในเสียมราฐ)
กลับเป็นพุทธ เพราะพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด
สมัยโอรสของท่านเลิกนับถือพุทธกลับทำลายหันไปนับถือพราหมณ์ใหม่ เป็นผลให้ขอมอ่อนกำลังจนสิ้นชาติ
ดังนั้นโบราณวัตถุของละโว้จึงมีทั้งขอมและพราหมณ์ วัดนครโกษา อยู่ติดกับสถานีรถไฟ
ได้ปรับปรุงองค์ปรางค์แล้วเป็นวัดสมัยทวารวดี
อิฐที่ใช้สร้างจะมีขนาดใหญ่กว่าอิฐของสมัยอยุธยา มีแกลบข้าวเหนียวในเนื้ออิฐ
และใช้ดินเหนียวสอเชื่อมอิฐแต่ละก้อน วัดนครโกษามาขุดแต่งกันเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐
ได้พบหลักฐานสถูปและลวดลายปูนปั้นสมัยทวารวดี ยังอยู่ข้างใต้ตัวสถูป เป็นการชี้ว่าในสมัยทวรวดีมาก่อน
แล้วมาถูกเปลี่ยนแปลงเป็นเทวสถานของขอมในยุคหลัง มาต่อเติมกันใหม่ในสมัยอยุธยา
ตรงกันข้ามคือวัดพระมหาธาตุ
ซึ่งไม่ใช่ยุคละโว้ ผมขอกระโดดข้ามไปก่อน แต่ท่านที่ไปเที่ยวชมโบราณสถานละโว้หรือลพบุรี
ไม่ต้องโดดข้ามไปไหนไปชมเสียเลย
ตรงข้ามศาลพระกาฬ เยื้องทางขวามือคือ "ปรางค์สามยอด"
สัญลักษณ์ของเมืองลพบุรี ปรางค์สามยอดสร้างอยู่บนเนินสูง มีปรางค์สามองค์
และมีทางเดินเชื่อมระหว่างปรางค์ทั้ง ๓ องค์ ปรางค์องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน
ซึ่งจะสูงกว่าปรางค์ทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ซึ่งมีขนาดเล็กและต่ำกว่า องค์ปรางค์เป็นศิลปะลพบุรี
หรือจะเรียกว่าปรางค์แบบเขมรก็ได้
ไม่สูงชลูดแบบปรางค์ไทย สร้างด้วยศิลาแลงไม่สอปูน และสันนิษฐานกันว่าต้องสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือปรางค์องค์กลางประดิษฐานพระรูปนาคปรกทรงเครื่อง
องค์ทิศเหนือประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร องค์ทิศใต้ประดิษฐานนางปรัชญาปรมิตา
"เทพีแห่งความเฉลียวฉลาด"
ปรางค์แขก
เดินเลยไปจากปรางค์สามยอดสัก ๑๐๐ เมตร กลายเป็นวงเวียนกลางเมือง เป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง
ที่ได้รับการบูรณะแล้ว
ศิลปะขอมนั้น สมเด็จเจ้าพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้เรียกว่าศิลปะลพบุรี เก่าแก่ก่อนที่จะไปสุโขทัย
อยุธยา ฯ ผมคงพาชมได้แค่นี้ นอกนั้นน่าจะไม่ใช่ศิลปะลพบุรีที่ขอมสร้าง
และก็น่าจะพิจารณาได้อีกว่า ขอมคงไม่ยกโขยงช่างขอมมาจากเมืองขอม ก็คงสั่งสร้างแล้วก็สร้างด้วยช่างไทยนี่แหละ
แต่แบบของขอม
ผมขอทบทวนเส้นทางไปลพบุรีไว้ก่อน ที่จะพาไปชมเมืองลพบุรี ที่เขียนมาถือว่าเป็นตอนของเมืองละโว้
ต้องขออีกตอนเป็นตอนเมืองลพบุรี
เส้นทางหลัก
คือ ที่ได้กล่าวมาแล้วว่าไปตามสายพหลโยธิน หากไปจากกรุงเทพ ฯ ก็ไปตามถนนวิภาวดีก่อนจนถึงรังสิต
ก็เข้าพหลโยธินไปผ่านวังน้อย หินกอง สระบุรี พระพุทธบาท (ก่อนเข้าเมืองมีทางเลี่ยงเมืองไปสิงห์บุรีได้)
ตรงต่อไปจนถึงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรงวงเวียนนี้จะเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดและอำเภอเมือง
หากตรงต่อไปก็จะเข้าเมืองผ่านวงเวียนสระแก้วซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนต์ทหารบกที่เก่าแก่
๖๕ ปี และสวนสัตว์ซึ่งตั้งมานานพอ ๆ กับโรงภาพยนต์ทหารบก เจ้าลิงไมค์พำนักอยู่ที่นี่
เจ้าไมค์ตายตอนผมเขียนต้นฉบับเห็นเขาจัดพิธีรดน้ำทรากเจ้าไมค์ก็แปลกดีพอ ๆ
กับเลี้ยงโต๊ะจีนลิง ลิงชอบกล้วยมากกว่าหอยจ๊อแน่ ๆ
เส้นทางที่สอง
ระยะทางใกล้กว่าร่วม ๒๐ กิโลเมตร แต่เป็นถนน ๒ เลน รถสวนกันได้ ใครขับรถแบบสบาย
ๆ น่าจะมาเส้นนี้ผมไปเสมอ รถไม่มากวิ่งเลาะริมคลองชลประทานไป เริ่มต้นจากประตูน้ำพระอินทร์
กม.๕๔ ก็เลี้ยวซ้ายผ่านอยุธยา เลยไปสัก ๑๓ กม.จะมีทางแยกขวา (ความจริงต้องเลี้ยวซ้ายข้ามสะพาน)
ไปบางปะหัน เลี้ยวขวาวิ่งไปชนคลองชลประทาน แล้ววิ่งเลาะเรียบริมคลองไปเรื่อย
ผ่านสี่แยกเจ้าปลุกมีร้านอาหารอร่อยก่อนถึงสี่แยกคือ คลองบุญ เลยไปคือเจ้าปลุกปลาเผา
เลาะริมคลองเรื่อยไปอีกผ่านวัดยาง มีพิพิธภัณฑ์เรือ เลาะริมคลองเรื่อยไปจนไปโผล่ที่ทางแยกซ้ายไปวงเวียนสระแก้ว
เส้นที่สาม
ซ้ำกับเส้นแรก แต่มาเข้าลพบุรีเมื่อถึงทางแยกเข้าท่าวุ้ง
เส้นที่สี่
ซ้ำกับเส้นที่สาม แต่มาแยกเข้าลพบุรีเมื่อถึงทางแยกเข้าสิงห์บุรี
สมัยที่ผมยังรับราชการอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอทุ่งสงนั้น ผมได้รับคำสั่งให้เป็นผู้จัดตั้งร้านสหกรณ์กองทัพภาคที่
๔ ขึ้นในค่ายทหารทุ่งสง เมื่อจัดตั้งแล้วผมก็ต้องเป็นผู้จัดการด้วย
จากปี พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึง พ.ศ.๒๕๒๙ ก็ได้รับการคัดเลือกเป็นร้านสหกรณ์ดีเด่นประเภทร้านค้าของจังหวัด
พออีกปีก็ได้รับการคัดเลือกเป็นร้านสหกรณ์ดีเด่นระดับชาติ ประเภทร้านค้า
พอวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ ผมก็ได้ไปรับพระราชทานโล่รางวัลจากพระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัว
ที่ท้องสนามหลวงในวันทำพิธีพืชมงคล งานหนึ่งของสหกรณ์ร้านค้าได้เปิดร้านอาหาร
ผมได้ตั้งชื่อว่าร้านแก้วเจ้าจอม ตามชื่อต้นแก้วเจ้าจอมที่ผมยกกระถางเอาไปปลูกลงดินไว้หน้าสหกรณ์
เลยตั้งชื่อห้องอาหารตามชื่อต้นไม้ แก้วเจ้าจอมคือไม้ดอกที่รัชกาลที่
๕ นำมาจากอินโนนีเซีย และพระราชทานนามตามนามของเจ้าจอมแก้ว ดอกสีน้ำเงินสวยมาก
แต่ไม่ค่อยออกดอกง่าย ๆ ห้องอาหารแก้วเจ้าจอมมีชื่อเสียงมาก แต่พอผมย้ายจากมาลูกน้องเก่าย้ายตามมาแยะ
ส่วนมากจะกลับมาอยู่ลพบุรี แม่ครัวเอกของแก้วเจ้าจอมก็ย้ายตามสามีมาอยู่ลพบุรีด้วย
และมาตั้งร้านอาหารเล็ก ๆ ขายอาหารปักษ์ใต้ขนานแท้ ก็ไม่แท้ได้อย่างไร
คุณเธอเป็นชาวนครศรีธรรมราช โดยกำเนิด แถมมารดายังตามมาช่วยทำอาหารอีก จึงเกิดร้านอาหารปักษ์ใต้ขนานแท้ขึ้นในเมืองลพบุรี
ผมไปพบเข้าโดยบังเอิญ ชิมแล้วอาหารอร่อยเสียยิ่งกว่าตอนเป็นแม่ครัวที่ร้านสหกรณ์เสียอีก
แนะให้เขาพัฒนาร้านให้ดีขึ้นแล้วตั้งชื่อให้ว่า แก้วเจ้าจอม
ร้านแก้วเจ้าจอม อาหารปักษ์ใต้ขนานแท้ แต่ตั้งอยู่เมืองลพบุรี มีเส้นทางไปหาร้านดังนี้
ถ้ามาจากกรุงเทพ ฯ ก็วิ่งมาจนชนราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วเลี้ยวขวาไปทางโคกสำโรง
เลี้ยวขวาแล้ววิ่งไปสัก ๕๐๐ เมตร จะพบสี่แยกมีไฟสัญญาณให้เลี้ยวขวา (ถนนเส้นนี้มีร้านอาหารขายมากอร่อย
ๆ แยะด้วย) เลี้ยวขวาวิ่งไปประมาณ ๕๐๐ เมตร ร้านแก้วเจ้าจอม อยู่ทางขวา
เดี๋ยวนี้สร้างเป็นศาลาใหญ่ ๒ ศาลาอยู่ติดกัน อยู่หน้าบ้าน มีป้ายมองเห็นได้ชัด
ร้านอยู่ทางขวามือ จะเข้าไปนั่งกินข้าวแกงจานเดียวหรือไปซื้ออาหารใต้ในตู้กระจกที่มีมากมายเกินกว่า
๑๐ อย่าง หรืออิ่มแล้วหรืออีกทียามเช้าจะไปชี้เอาในหม้อใหญ่ เพื่อซื้อแกงถุงกลับบ้านก็ได้ทั้งสิ้น
ปลาทับทิมสามรส ถ้าจะเป็นใต้ก็ตอนที่รสของเขาจัด สีพริกแดงสดน่ากินนัก
ผักสดที่ยกมาให้ เรียกว่าผักเหนาะ นับทีไรเกิน ๑๐ ทุกที ถั่วฝักยาว มะเขือ
แตงกวา ใบมันปู ผักหวาน ใบเหนียง (มีบางวัน) ลูกฉิ่ง ใบมะกอก ใบแมงลัก ผักกะเฉด
ฉั่วพู ใบสะระแหน่ ฯ จัดผักใส่จานมาสวย สดน่ากินเหลือประมาณ อาหารใต้จะมีรสเผ็ดอร่อย
ต้องกินกับผักสด
หางหมูตุ๋นยาจีน ใส่เห็ด ใส่ยาจีน สับหางหมูเป็นท่อนเอาไปตุ๋นซดร้อน ๆ วิเศษนัก
กลิ่นหอมด้วย
แกงเผ็ดกระดูกหมู ถือว่าเป็นอาหารที่จะขาดไม่ได้ถ้ามาชิมที่ร้านนี้
รสจัดเผ็ดหน่อย ๆ ราดข้าวจะอร่อยนัก ตักข้าวเข้าปากแล้วตามด้วยผักสด
แกงเผ็ดฟัก แกงกะทิแกงกับไก่ ราดข้าวร้อน ๆ จะตามด้วยน้ำปลาพริกสักนิดก็ดี
ปลาดุกหมักมิ้น หรือปลาดุกหมักขมิ้น จานนี้อย่าข้ามไป เขาจะเอาปลาดุกไปหมักขมิ้นเสียก่อนแล้วจึงเอามาชุบแป้งทอด
แป้งกรอบ หอมกลิ่นขมิ้น หอมอ่อน ๆ จะกินกับข้าวหรือมีน้ำพริกด้วยก็ดีทั้งนั้น
กลัวว่ามีแต่อาหารเผ็ด ก็สั่งไข่พะโล้ หรือไข่ลูกเขยมาแนม
เขายังมีข้าวยำปักษ์ใต้หากินยาก และข้าวหมกไก่ ข้าวสีเหลืองอ่อน หอมกลิ่นผงกะหรี่
มีหอมเจียวโรยหน้า แตงกวาวางเคียงและไก่ชิ้นโต ข้าวหมกไก่อิสลามเมืองนครศรีธรรมราชนั้นมีชื่อ
ปิดท้ายด้วยขนมหวาน หมุนเวียนไป แต่วันนี้หมดเขาเลยชวนชิมไอศครีม มีทั้งซ๊อคโกแล็ก
รวมมิตร กาแฟ เผือก บลูเบอร์รี่ มะนาวและไม่ควรพลาด เมื่อมาถึงขอให้สั่งน้ำผลไม้ที่ครอบครัวทหารช่วยกันทำมาส่งไว้ปราศจากสารกันบูด
เรียกว่าทำกันสด ๆ สะอาดอร่อยชื่นใจ แก้เผ็ด ได้แก่น้ำฝรั่ง น้ำข้าวโพด น้ำมะนาว
น้ำมะพร้าวของเขาเด็ดจริง ๆ
----------------------------------
|