มหาสารคาม 1
มหาสารคาม ๑
ภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แผ่นดินที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศไทยถึง
๑ ใน ๓ รูปร่างคล้ายแอ่งกะทะขนาดใหญ่ และเรามักจะได้ยินกันแต่คำว่า อีสานเหนือ อีสานใต้ ไม่ค่อยได้ยินอีสานกลาง อีสานเหนือนั้นมี ๖ จังหวัดคือ หนองคาย เลย
อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธ์ อีสานกลางมี ๘ จังหวัด ได้แก่ นครพนม
สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อำนาจเจริญ และชัยภูมิ ส่วนอีสานใต้มี
๕ จังหวัดคือ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา
พระดีในแดนอีสานนั้น เขาบอกว่ามี ๑๐๘ วัด และอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม ๓ วัด
วันนี้ผมจะพาไปชิมอาหารในจังหวัดมหาสารคาม เลยเล่าถึงวัดดีในอีสานของจังหวัดมหาสารคามไว้ด้วย
มหาสารคามเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคอีสาน เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา
จนได้ชื่อว่าเป็น ตักสิลาของอีสาน
มหาสารคาม ปรากฎอยู่ในพงศาวดารว่า รัชกาลที่ ๔ แห่งรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้า
ฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ โดยเจ้าเมืองร้อยเอ็ด พระขัติยวงศา (สาร) เป็นผู้กราบบังคลทูลขอจัดตั้งที่บ้านลาดกุดยางใหญ่
ขึ้นเป็นเมืองมหาสารคามแล้ว ให้ท้าวมหาชัย (กวด) บุตรอุปฮาด (สิงห์) เมืองร้อยเอ็ด
มีบรรดาศักดิ์เป็น พระเจริญราชเดชวรเชษฐขัตยพงศ์ เป็นเมืองมหาสารคามคนแรก
และให้ท้าวบัวทอง บุตรอุปฮาด (ภู) เป็นอัครฮาด ตั้งที่ทำการที่หนองกระทุ่ม
ด้านเหนือของวัดโพธิ์ศรี ในปัจจุบัน
ต่อมา พ.ศ.๒๔๑๒ จึงยกฐานเป็นเมืองมหาสารคาม ขึ้นเป็นเมืองเอก แยกการปกครองออกจากเมืองร้อยเอ็ด
ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ
เมืองมหาสารคาม เป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่อดีต แต่ไม่ปรากฎหลักฐาน และตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติคือ
แม่น้ำชี และมีการค้นพบเมืองโบราณหลายแห่ง
การเดินทางไปได้ ๒ เส้นทางคือ ไปทางอีสานใต้ ผ่านบุรีรัมย์ แล้วไปผ่านอำเภอสตึก
พุทไธสง พยัคฆภูมิพิสัย บรบือ มหาสารคาม เส้นที่ ๒ ไปทางสาย ๒ แยกจากสระบุรี
ก่อนถึงโคราชแยกซ้ายเข้าสาย ๒ ไปยังเมืองพล บ้านไผ่ แล้วแยกขวาเข้าสาย ๒๓
ไปบรบือ มหาสารคาม หรืออีกเส้นทางหนึ่งหากเราตั้งใจจะไปที่พระธาตุนาดูน ๑
ใน ๓ ของวัดดีในอีสาน ให้ไปตามเส้นทางที่ ๒ ก่อนถึงเมืองพล จะมีป้ายให้แยกขวาไป
"ประทาย" ก็เลี้ยวขวาไปตามสาย ๒๐๒ ไปผ่านอำเภอประทาย ไปพุทไธสง ไปยังพยัคฆภูมิพิสัย
แล้วแยกจากสาย ๒๐๒ ไปเข้าสาย ๒๐๔๕ (ไปร้อยเอ็ดได้) ไปได้สัก ๒๓ กม. จะแยกซ้ายอีกทีเข้าสาย
๒๓๘๑ เพื่อไปยังกู่สันติรัตน์ "ไปพระธาตุนาดูน" นมัสการพระธาตุนาดูนแล้ว ก็ไปต่อตามถนน
๒๓๘๑ จะผ่านอำเภอนาเชือก แล้วเลี้ยวขวาเข้าสาย ๒๑๙ ไปอำเภอบรบือ ไปมหาสารคาม
เส้นนี้อ้อมมาไกล แต่จะเหมือนใกล้ถ้าจะตั้งใจมานมัสการพระธาตุนาดูน ที่งดงาม
วัดพระธาตุนาดูน
ตั้งอยู่ที่บ้านนาดูน เขตอำเภอนาดูน เป็นเขตที่ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า
เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน
และขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในตลับทองคำ เงิน และสัมฤทธิ์ สันนิษฐานว่ามีอายุในพุทธศตวรรษที่
๑๓ - ๑๕ สมัยทวารวดี ซึ่งโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่ขุดค้นได้ จะเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
ไปกู่สันติรัตน์ เสียก่อน แยกขวาจากถนนสาย ๒๓๘๑ ไปสัก ๒ กม. เป็นกู่โบราณอายุใกล้พันปี
เป็นปราสาทหินที่เป็นอโรคยาศาล ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไปเที่ยวสร้างเอาไว้
ศิลปะแบบบายน สมัยที่สร้างนั้น มีพราหมณ์ประจำ รักษาโรคด้วยสมุนไพร
จากกู่ตามป้าย ไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เสียก่อน เลี้ยวขวาไปสัก ๓ กม. มีน้ำเต็มบ่อ
ตลอดปีแต่ไม่มีประวัติ หรือบอกความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ เห็นแต่น้ำเปี่ยมขอบบ่อ
กลับออกมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปอีก ๑ กม. จะถึงสวนรุกขชาติพุทธมณฑลอีสาน
สถาบันวิจัยรุกขเวท พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี และพิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน อยู่ในสถาบัน
วัดสุวรรณาวาส
ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๔ กม. พระพุทธรูปสำคัญที่เป็น
๑ ในพระดีของอีสานคือ พระพุทธรูปมิ่งเมือง
เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยหินทรายแดง สมัยทวารวดี มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปยืนมงคล
จะบันดาลให้เกิดฝนตกตามฤดูกาล
วัดพุทธมงคล
ตั้งอยู่ที่ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย ใกล้วัดสุวรรณาวาส สร้างด้วยหินทรายแดง
สมัยทวารวดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ พระพุทธรูปยืนมงคล
ซึ่งมีตำนานว่าเมื่อฝนในมหาสารคามแล้งมากนั้น ผู้หญิงได้ช่วยกันสร้างพระพุทธรูปยืนมงคล
ส่วนผู้ชายสร้างพระพุทธรูปยืนมิ่งเมือง เมื่อสร้างเสร็จแล้วฝนฟ้าในเมืองนี้ก็ตกต้องตามฤดูกาลตลอดมา
เป็นพระดีในอีสานอีกองค์หนึ่ง
ร้านอาหารอยู่ในตัวอำเภอเมืองมหาสารคาม หากเดินทางมามหาสารคาม โดยมาจากบรบือ
ตามถนนสาย ๒๓ ก่อนจะถึงโรงพยาบาล และหอนาฬิกา สังเกตไว้ทางฝั่งซ้ายคือ ร้านฮอนด้า
ยามาฮ่า ร้านใหญ่โต ตรงกันข้ามคือ ร้านอาหารสติดกับร้านฮอนด้า เป็นร้านห้องแอร์
นั่งสบายมาก สุขาสากล มีชานหน้าร้านนั่งกลางคืนคงจะสบาย บริการดี รวดเร็ว
น้ำพริกลงเรือ ถือเป็นจานเด็ด ใส่มาในจาน ๕ ช่อง ช่องกลางใส่น้ำพริกรสหวานนิด
ๆ ช่องที่ ๒ ใส่ปลาดุกฟู กับไข่เค็ม ช่องที่ ๓ ใส่ผัก ถั่วฝักยาว มะเขือม่วง
สีสวย กรอบ ช่อต่อไปใส่หมูหวาน และช่องที่ ๕ คือ กะหล่ำดอก และแตงกวา กินกับข้าวสวยร้อน
ๆ อร่อยนัก
กระเพาะปลาผัดแห้ง แจ่มแจ๋ว หม่านโถว ร้อน ๆ บิหม่านโถว จิ้มน้ำพะโล้ของขาหมู
ไม่ต้องกลัวอ้วน
มะระผัดไข่ อาหารแนะนำของร้าน ไม่น่าเชื่อ อาหารทำง่าย อร่อยมาก ร้านนี้ทำได้อร่อย
เต้าหู้อบหม้อดิน ก็ดีอีกนั่นแหละ และยังมีที่แนะนำแต่ไม่ได้สั่งคือ เป็ดล่อน,
ขาหมูทอดกรอบ เอาไว้วันหลังไปหลาย ๆ คน จะต้องชิมขาหมูทอดกรอบให้ได้ ขอหวานไม่มีงด
ไอศกริม ๑ มื้อ
เกือบลืมบอกไป ผมพักที่โรงแรม อยู่ที่ถนนริมคลองชลประทาน ในตัวเมืองเลยทีเดียว
ราคาถูกมากห้องละ ๔๐๐ บาท เป็นโรงแรมที่น่าจะดีสุดในเมืองนี้ สถานที่ดีมาก
สะอาด สงบเงียบ และร้านขอฝากของเมืองมหาสารคาม ร้านห้องแอร์อย่างดี สินค้าโอท๊อป
สินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมือง มีผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ - ผ้าขิต หมอนขิต ของที่ระลึก
เสื้อสำเร็จรูป ฯ ซื้อได้ที่ศูนย์ ของฝากมหาสารคาม เส้นทางเลยจากร้านจานเงินไปทางหอนาฬิกา
ฝั่งซ้ายมือ
......................................
ไปพระธาตุนาดูน แล้วมาชิมน้ำพริกลงเรือจานเด็ด
......................................
|