พระพุทธบาทสี่รอยเท่าที่ทราบมีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย นอกนั้นเป็นการจำลองขึ้น มิใช่ค้นพบที่มีปรากฏอยู่ตามธรรมชาติแต่โบราณกาล ส่วนที่จังหวัดปราจีนบุรีในอำเภอศรีมโหสถนั้นมิได้เป็นพระพุทธบาทสี่รอย แต่เป็นพระพุทธบาทคู่สลักอยู่บนศิลาแลง ที่ฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้าง ถือว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนพระพุทธบาทสี่รอยที่ผมจะเล่าในวันนั้น เป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าถึงสี่พระองค์ที่เหยียบไว้บนเขาสูง การไปอำเภอศรีมโหสถนั้น ไปง่ายสะดวกรถเข้าจอดได้ริมศาลาที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทได้เลย แต่การไปพระพุทธบาทสี่รอยไปด้วยความยากลำบาก ต้องขึ้นเขาสูง ต้องมีความสามารถสูงทั้งคนขับและสมรรถนะของรถไม่งั้นไปไม่ไหว โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือฝนหยุดตก ๒ - ๓ วัน รถเก๋งให้กำลังดีอย่างไรอย่าได้คิดฝ่าเส้นทางสายนี้ขึ้นไปเป็นอันขาด อย่าเอาอย่างผมที่ชอบทดลองเรื่อยไป ไม่ทราบว่ารอดมาได้อย่างไร การเดินทางไปยังวัดพระพุทธบาทสี่รอย ต้องเริ่มจากการคิดไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่เสียก่อน เพราะรอยพระพุทธบาทอยู่บนอุทยานแห่งชาติดอยปุยแต่อยู่ในเขตอำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ ผมเดินทางไปเชียงรายก่อน ไปวัดพระธาตุจอมกิติ ไปพระธาตุแสนคำ (ซึ่งพระที่ท่านร่วมบูรณะท่านห้ามไม่ให้ผมนำไปเผยแพร่ บอกว่าจะทำให้พระที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ขาดความสงบ) พระธาตุสองพี่น้อง พระธาตุหัวช่วง ฯ ซึ่งล้วนแล้วอยู่ในถนนสายเดียวกัน คือถนนสายเชียงแสน - เชียงของ และได้พักที่อำเภอแม่สรวยที่เชียงราย คันทรี ฮิลล์ รีสอร์ท จากเชียงแสนผมมาแม่สายแล้วจึงกลับมาเชียงใหม่ และมาเชียงใหม่คราวนี้ได้ตั้งใจไว้เลยทีเดียวว่าจะเอารถเก๋ง ขนาด ๑๖๐๐ ซีซี นี่แหละขัยตลุยขึ้นไปยังพระพุทธบาทสี่รอยให้ได้ ไม่ง้อรถโฟวีลกันละตั้งใจอย่างนั้น การเดินทาง จากที่พักไปยังอำเภอแม่ริม แวะชมพิพิธภัณฑ์เจ้าดารารัศมี ซึ่งอยู่ในค่ายดารารัศมีของตำรวจ ก่อนถึงตัวอำเภอนิดเดียว มีค่าควรแก่การเข้าชม และตำรวจใจดีให้เข้าชมได้ฟรีด้วย แต่พอบอกว่าจะไปไหนต่อเท่านั้นแหละ คุณตำรวจห้ามเสียงขรมเลยทีเดียวว่าคุณลุงอย่าได้พยายามเอารถคันนี้ขึ้นไปเป็นอันขาด (ตำรวจไม่รู้จักผม) ผมก็บอกว่าขอบคุณจะลองพยายามดู ไปไม่ไหวก็จะขับกลับลงมา แต่หากตั้งใจที่จะไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วและเรามีความตั้งใจที่บริสุทธิ์แล้วก็น่าจะขึ้นไปสำเร็จ เดือนที่ผมขึ้นไปคือปลายเดือนมีนาคม แม้ถนนจะไม่ราดยาง และขึ้นเขาตลอดก็น่าจะไต่ไปได้ หากเรารู้จักใช้เกียร์ในการขับรถ ไม่รอให้รถหมดกำลังเสียก่อนจึงเปลี่ยนเกียร์และรถคันที่ผมขับไปก็เป็นเกียร์อัตโนมัติด้วยซ้ำไป แต่ก็ได้ไต่ขึ้นไปจนสำเร็จ จากอำเภอแม่ริม เลยทางแยกไปยังอำเภอสเมิงไปเล็กน้อยก็จะมีทางแยกซ้าย มีป้ายบอกว่าไปวัดพระพุทธบาทสี่รอย ระยะทาง ๓๒ กม. ป้ายว่าอย่างนั้นนึกประมาทในใจว่า "หวาน" แค่นี้เอง วิ่งไปตามถนนที่ราดยางแต่แคบและค่อนข้างจะขรุขระสักหน่อย ไปจนถึงบ้านควายไทย ซึ่งผมเคยบอกไว้แล้วว่าวันหนึ่งระวังเด็กไทยจะต้องให้พ่อแม่พาไปดูควายที่ไนซ์ซาฟารี ของสิงคโปร์ ที่เขาเอาควายไทยไปเลี้ยงไว้ให้ชาวโลกชมกัน และคำพูดของผมชักจะเป็นจริงเพราะเมื่อ ๒ - ๓ วันนี้เอง เห็น ที.วี. ออกข่าวว่าควายลดจำนวนลงอย่างมากมาย เพราะคนนิยมบริโภคเนื้อควายมากขึ้น ประโยชน์ของควายในการไถนามีน้อยลง เพราะรถไถนาสะดวกกว่า เร็วกว่าควายไถ ที่บ้านควายไทยนี้เขามีการแสดงของควาย มีการแสดงเป็นรอบยังไม่ทราบว่าแสดงอย่างไร เพราะไม่คิดว่าถึงขั้นเอาควายมาแสดงให้ชมกันแล้ว วันหลังคงจะต้องไปชมประดับความรู้ เมื่อผ่านบ้านควายไทยไปแล้วก็วิ่งรถเรื่อยไปจนถึงตำบลสะลวง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนราดยาง จนถึงวัดสันป่าตึง มีลูกศรชี้ทางไปให้เลี้ยวซ้าย ผ่านวัดอีก ผ่านหมู่บ้านซึ่งหมู่บ้านนี้อยู่ในเขตอำเภอแม่แตง วิ่งต่อไปเส้นทางบังคับไม่ต้องกลัวหลง พอพ้นเขตหมู่บ้านไปหน่อยเดียวก็เข้าเขตแม่ริมใหม่ ทีนี้จะเป็นถนนลูกรัง ระยะทางที่วิ่งมาตามถนนราดยางอันขรุขระนั้นประมาณ ๑๔ กม. ทีนี้จะลุยขึ้นเขาลูกเดียวอีกประมาณ ๑๘ กม. ถนนจะเป็นกรีตบ้างนิดหน่อยตอนที่ผ่านหมู่บ้านเท่านั้น นอกนั้นลูกรังตลอดทางแคบมากต้องระวังตามทางโค้งมากทุกจุด รถจะวิ่งขึ้น ๆ ไม่มีปักหัวลงเลย ๑๘ กม. โดยประมาณจนถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอยบนยอดดอยแห่งนี้ มีหมู่บ้านที่ต้องยกให้ในความทรหดอดทนเพราะเขาอยู่กันประมาณ ๑๘๐ หลังคาเรือน อยู่กันมานานหลายสิบ หลายร้อยปีแล้ว อยู่กันตั้งแต่ไม่มีความเจริญใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่รถยังขึ้นมาไม่ได้ ต้องมากันด้วยช้างหรือเดินมา แต่ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะความเจริญของวัดพระพุทธบาทสี่รอยที่ผู้คนเริ่มรู้จัก เริ่มขึ้นมานมัสการกันมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการค้าขายผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน ขายพืชเกษตรที่ปลูกได้เอง บนเขามีน้ำท่าบริบูรณ์ อดน้ำให้ขึ้นเขาพิสูจน์ความจริงได้จากบนเขาลูกนี้ เพราะเป็นต้นน้ำลำธาร ป่ายังเขียวชอุ่มยังเป็นป่าที่สมบูรณ์น้ำจึงสมบูรณ์ ส่วนไฟฟ้ายังไม่มี มีแต่ไฟฟ้าที่เขาปั่นใช้กันเองเป็นของหมู่บ้าน ขอให้ทางฝ่ายบ้านเมืองรีบวางแผนพัฒนาถนนขึ้นสู่หมู่บ้านนี้โดยเร็วที่สุด พัฒนาเรื่องไฟฟ้าให้เขา ให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเวลานี้ ให้เป็นไปตามแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนา หรือยุทธศาสตร์พระราชทาน คือการสร้างความออยู่ดี กินดี ไม่มีโรคภัยให้ชาวบ้าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงห่วงใยว่าแผนของรัฐบาลรักษาคนไข้ ๓๐ บาททุกโรคนั้น แต่ชาวบ้านที่ห่างไกลจะมีปัญญาลงมารับการรักษาได้หรือ เช่นหมู่บ้านบนยอดดอยแห่งนี้เป็นต้น บริเวณวัดมีลานจอดรถกว้างขวาง มีที่พักสำหรับผู้ที่จะไปจาริกแสวงบุญได้ มีห้องสุขาอย่างดีน้ำไหลตลอดเวลา สะอาด มีร้านค้าของชาวบ้านที่มีของขายพอสมควรและมีอยู่ร้านหนึ่งที่ต้องอุดหนุน เพราะลักษณะเหมือนเป็นร้านสหกรณ์ของหมู่บ้าน นำผลผลิตมาจำหน่ายรวมทั้งประเภทแปรรูปแล้วด้วย เช่นพวกชาเขียว ผลไม้แช่อิ่ม สมุนไพรต่าง ๆ (ผมซื้อเสือโคร่งมา จะกินให้มีฤทธิ์) ขนมหวานต่าง ๆ เกสรผึ้ง รางจืด บ๊วยเค็ม บ๊วยกวน กระท้อนกวน กาแฟ มะแขว่น (ใส่ลาบเหนือแบบแพร่) อีกแยะล้วนทำอย่างดีใส่กล่องงดงาม ส่วนที่ศาลาติด ๆ กันก็มีเหมือนกันแต่ขายแบบชาวบ้านธรรมดา ใส่กระบุงใส่หาบคอนมาขาย ทั้งสองแห่งราคาถูกทั้งสิ้น ขอให้ไปชมที่ร้านแถวนี้แล้วอุดหนุนนอกจากจะได้ของดีราคาถูกแล้วยังได้ช่วยชาวบ้านที่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิด วัดพระพุทธบาทสี่รอย ที่อำเภอแม่ริม มีวัดอยู่วัดหนึ่งสร้างใหม่ไม่กี่ปีมานี้เอง คือวัดป่าดาราภิรมย์ ซึ่งท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก สมัยที่ท่านยังเป็นรองเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงในอำเภอเมืองเชียงใหม่ (วัดเจดีย์หลวง คือวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อนที่จะถูกนำไปไว้ที่เวียงจันทน์ โดยพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์สองแผ่นดิน) ท่านได้สร้างวัดป่าดาราภิรมย์ไว้อย่างงดงามมาก เพียบพร้อมทุกอย่างและยังตั้งมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน วัดนี้อยู่ในเขตอำเภอแม่ริมใกล้กับตัวอำเภอ ทางไปอำเภอสะเมิง ที่วัดป่าดาราภิรมย์ ท่านเจ้าคุณธรรมดิลก (เจ้าคณะภาค ๔-๕-๖ ธรรมยุตต์) ท่านจำลองพระพุทธบาทสี่รอยไว้ให้กราบไหว้บูชากัน ผมเลยถือโอกาสบอกไว้เผื่อใครขึ้นไม่ถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอย บนยอดดอยจะได้ไปที่วัดป่าดาราภิรมย์ จากบริเวณลานจอดรถ จะมีบันไดขึ้นไปยังตอนบนซึ่งมีวิหารของเจ้าดารารัศมี มีกุฏทรงล้านนาของเจ้าอาวาสและ "วิหารพระพุทธบาทสี่รอย" หากมองไปทางซ้ายมือของพระพุทธบาทเชิงผาจะเห็นการสร้างอุโบสถขนาดใหญ่ที่งดงามมาก ยังไม่แล้วเสร็จและมหาเจดีย์ซึ่งวัตถุประสงค์สร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ขึ้นครองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ประวัติ ต้องเริ่มจากตำนานความเป็นมาของพระพุทธบาทสี่รอยเสียก่อน สมัยพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบัน ได้เสด็จาริกประกาศธรรมมายังปัจจันตประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน) ได้เสด็จมาถึงทางตอนเหนือของประเทศ ชื่อเขา "เวภารบรรพต" ได้เสด็จมาพร้อมกับพุทธสาวก ๕๐๐ องค์ และได้แวะฉันจังหันอยู่บนเขาเวภารบรรพตแห่งนี้ เมื่อฉันจังหันแล้วก็ทราบด้วยญานสมบัติว่าบนเทือกเขาแห่งนี้ มีรอยพระพุทธบาทเจ้าประทับอยู่แล้วถึง ๓ พระองค์ พระสารีบุตรได้ทูลถามว่า พระพุทธองค์ทรงเล็งดูด้วยเหตุใด จึงตรัสตอบว่า ในอดีตกาลมีพระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้แล้วในที่เดียวกัน ๓ พระองค์ ดังนั้นพระองค์จะประทับไว้เป็นรอยที่สี่ และต่อไปแม้นว่าพระพุทธเจ้าศรีอารยเมตไตรย์จักเสด็จมาอีก จะมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ สถานที่แห่งนี้อีก แต่จะประทับแล้วจะลบรอยทั้ง ๔ รวมทั้งรอยที่ ๕ ลบให้เหลือเพียงรอยเดียว เมื่อตรัสแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทที่ประทับอยู่แล้ว ๓ รอยนั้นรวมเป็นสี่รอยด้วยกัน รอยพระพุทธบาททั้ง ๔ รอย ต้องถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เพราะประทับอยู่บนแผ่นศิลาซึ่งโผล่พ้นดินขึ้นมาสูงทีเดียว ดั้งเดิมต้องปีนขึ้นไปดู แต่ปัจจุบันมีบันไดขึ้น มีวิหารสร้างครอบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว พระพุทธบาทนั้นไม่ใช่สักแต่ว่ามีรอยพระบาท จะต้องมีรูปธรรมจักรปรากฏด้วย ไม่ใช่ไปเจอหินที่ไหนมีหลุมลึกยุบลงไปก็โมเมว่าเป็นรอยพระพุทธบาทหมด ส่วนว่าจะเสด็จมาได้อย่างไรจากอินเดียนั้นคงต้องคุยกันนาน ให้นึกถึงคนแบกตู้เย็นแบกโอ่งมีน้ำหนีไฟไหม้ได้ก็แล้วกัน ไฟดับแล้วบอกให้แบกกลับแบกไม่ไหวหรอก เพราะเอาพลังกายในที่แฝงอยู่ในร่างกายออกมาใช้โดยไม่รู้ตัว แต่หากมีการฝึกแล้วก็จะเอาออกมาใช้ได้ตลอดเวลา เหมือนวิชาตัวเบาก็เช่นกัน รอยพระพุทธบาทสี่รอย ประกอบด้วย พระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุลันธะ ยาว ๑๒ ศอก (ยาว ๖ เมตร ) พระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ ยาว ๙ ศอก พระพุทธเจ้ากัสสปะ ยาว ๗ ศอก และ พระพุทธเจ้าโคตะมะ รอยที่ ๔ ยาว ๔ ศอก พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิษฐานว่า เมื่อเราคถาคตนิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายจักนำเอาพระธาตุของเราตถาคตมาบรรจุไว้ที่รอยพระพุทธบาทนี้ และเมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้ว ๒๐๐๐ ปี พระพุทธบาทสี่รอยนี้จักปรากฏแก่ปวงชนและเทวดาทั้งหลาย ก็จักได้มากราบไหว้บูชา เมื่อทรงอธิษฐานแล้ว ก็เสด็จไปยังเชตวันอาราม ในเมืองสาวัตถี ๒,๐๐๐ ปีล่วงไป เทวดาประสงค์ให้พระพุทธบาทปรากฏแก่ตาปวงชน จึงนิมิตพญาเหยี่ยวบินลงมาจากภูเขาเวภารบรรพต อันเป็นที่ตั้งของพระพุทธบาทสี่รอย ให้ลงไปเอาลูกไก่ของชาวบ้านที่อยู่เชิงเขาแล้วบินกลับขึ้นไปบนภูเขา พรานประจำหมู่บ้านโกรธมาก จึงตามขึ้นไปบนเขาเพื่อฆ่าเหยี่ยวแต่หาไม่พบ แต่กลับไปพบรอยพระพุทธบาทสี่รอย อยู่บนพื้นหินใต้การปกคลุมของพืชพันธุ์ไม้ พรานเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจึงทำการสัการะบูชาแล้วกลับลงมาจากเขามาบอกชาวบ้าน ชาวบ้านก็พากันไปกราบไหว้บูชาและได้ชื่อว่า "พระบาทรังรุ้ง" (รังเหยี่ยว) มาถึงสมัยพระยาเม็งรายเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ (ไม่แน่ใจว่าองค์เดียวกับที่สร้างเชียงใหม่หรือไม่ ) ได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพร้อมด้วยราชเทวีและข้าราชบริพาร และต่อจากนั้นมาผู้สืบราชสมบัติ ก็ถือเป็นประเพณีว่า เมื่อขึ้นครองราชย์ที่เชียงใหม่แล้ว จะต้องขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทรังรุ้ง เลยได้นามใหม่ว่า พระพุทธบาทสี่รอย มาถึงสมัยพระยาธรรมช้างเผือกผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน ได้ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย จึงได้สร้างวิหารครอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้เป็นการชั่วคราว และได้สร้างแท่นนั่งร้านขึ้นรอบรอยพระพุทธบาท เพื่อไม่ให้ต้องปีนบันได และทำให้ฝ่ายหญิงได้ขึ้นไปมองเห็นนมัสการได้ และสร้างหลังคาชั่วคราวมุงเอาไว้ เจ้าดารารัศมี ได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และมีพระราชศรัทธาก่อสร้างวิหารเป็นการกราบบูชาพระพุทธบาท ( ปัจจุบันคือหลังที่อยู่ตรงทางขึ้นบันได พอพ้นบันไดก็ถึงวิหารหลังนี้ ) ได้เสด็จขึ้นไปสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ พ.ศ. ๒๔๗๒ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยและได้รื้อวิหารที่พระเจ้าธรรมช้างเผือกสร้างไว้ชั่วคราวนั้นออกเสีย เพราะผุพังหมดแล้วและได้สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทขึ้นใหม่ แล้วฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทไว้เพื่อรักษาให้อยู่ค้ำชูพุทธศาสนาไปชั่วกาลนาน จากสานส์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า "พระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้เป็นพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดของไทย" ครูบาอาจารย์ พระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต หลวงปู่แหวน หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สิม เป็นต้น ล้วนแต่ขึ้นไปนมัสการมาแล้วทั้งสิ้น ความสำเร็จในการพัฒนาให้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้มาจากพระภิกษุหนุ่มที่ถือว่าต้องทรงวิทยาคุณเป็นอย่างสูงคือพระพรชัย ปิยวัณโณ ซึ่งท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ นี่เอง นับถึงวันที่ผมเขียนก็มีอายุเพียง ๓๔ ปี นับว่าหนุ่มมากสำหรับพระที่กล้าไปอยู่องค์เดียว ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแบบนี้ และอยู่เป็นเวลานานถึง ๙ ปี คือเป็นเณร ๑ ปี เป็นพระอีก ๑๘ ปี ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๓ ปี พออายุ ๑๖ ปี ก็สอบนักธรรมเอกได้ ธุดงค์มาพักอยู่ที่วัดรางสันป่าตึง วัดพระเจ้าตนหลวง ตำบลสันป่ายาง ที่เชิงเขาพระพุทธบาทสี่รอย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ อยู่ได้สัก ๒ เดือน ได้นิมิตเห็นปราสาทหลังใหญ่โตงดงามมากอยู่บนเขาสูง ได้ขึ้นบันไดไปก็พบรอยพระพุทธบาทอยู่ในปราสาท เมื่อวันรุ่งขึ้นออกบิณฑบาตเล่าให้โยม ๆ ฟังก็บอกว่าบนเขามีรอยพระพุทธบาท มีวัดแต่มักจะเป็นวัดร้าง เพราะพระเณรมักอยู่อาศัยไม่ได้ท่านจะขึ้นไปชาวบ้านก็ห้าม สุดท้ายพอเวลาตีสองท่านก็ขึ้นไปยังพระพุทธบาทสี่รอย เดินไปเป็นระยะทางประมาณ ๒๒ กม. และไปอยู่ประจำองค์เดียว ๑ ปี เป็นเณร ๘ ปี เป็นพระจนปีที่ ๘ จึงเริ่มมีพระมาจำพรรษาด้วยมากถึง ๑๑ รูป ต่อจากนั้นท่านก็เลยเริ่มบูรณะวัด เริ่มตั้งแต่วิหารเจ้าดารารัศมี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ สร้างกุฏิทรงล้านนา สร้างมหาเจดีย์ สร้างอุโบสถที่งดงามหลังโตเหมือนปราสาทที่ท่านนิมิตนั่นแหละ ท่านต้องต่อสู้กับความวิเวก กับสัตว์ป่าด้วยการแผ่เมตตา สู้กับความอดอยากสารพัดที่จะสู้ทุกรูปแบบ ถ้าไม่ไปเห็นกับตาคงไม่เชื่อว่าพระภิกษุอายุเพียงเท่านี้จะทำได้ขนาดนี้ และท่านถือว่าไม่ต้องไปบอกบุญใคร อาศัยพระบารมีของพระพุทธบาท อธิษฐานขอจากปวงเทพเทวาว่าจะสร้างโบสถ์ ให้เป็นไปตามหน้าบุญ "มีก็ฉัน ไม่มีก็ไม่ฉัน มีก็เอา ไม่มีก็ไม่เอา ใครจะมาทำบุญก็มา" แล้วอธิษฐานขอจากครูบาศรีวิลัย เทพเทวา ไม่วุ่นวาย ไม่ยึดติด ดังนั้นทั่วบริเวณวัดจึงมีแต่ความเงียบสงบ น่าเลื่อมใส ใครไปก็จะไปนั่งสวดมนต์ภาวนาที่วิหารที่สร้างครอบพระพุทธบาทเอาไว้ นั่งสวดมนต์ด้วยความสงบ ด้วยใจที่เป็นสุข การทำบุญนั้น หากได้ทำบุญซื้อที่ดินถวายวัด (ร่วมกันซื้อ) สร้างพระประธานในอุโบสถ สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ โดยทำร่วมกับคนอื่น ๆ จะได้อานิสงส์สูงนัก ผมขอเพิ่มสุขาถวายวัดอีกอย่างหนึ่ง ที่นี้กินอาหาร บนเขาที่ตั้งของวัดไม่มีร้านอาหาร นอกจากเราจะซื้ออาหารขึ้นไปกินกันเอง มีสถานที่ น้ำท่า ห้องสุขาสะดวกสบาย จะแวะซื้ออาหารที่ตลาดแม่ริมก็มีแยะ หรือจะแวะตลาดที่ช้างเผือกของขายก็แยะอีก มีอีกหลายตลาดชักเรียกชื่อไม่ถูก เพราะตอนผมรับราชการอยู่เชียงใหม่มีไม่กี่แห่ง หากมาจากในเมืองเชียงใหม่ ก่อนถึงอำเภอแม่ริมจะมีทางแยกขวาไปยัง แม่โจ้ ก่อนถึงทางแยกขวาที่มีไฟสัญญาณนี้จะมีปั๊มบางจาก และปั๊มคิว ๘ อยู่ติดกันมีป้ายตั้งไว้ชี้หัวลูกศรไปฝั่งตรงข้ามว่าขนมจีนหล่มเก่า ให้เลี้ยวรถวกกลับเมื่อเลยหน้าปั๊มบางจาก ไปยังร้านขนมจีนหล่มเก่า เขาคิดราคาตามหัวขนมจีนซึ่งปั้นไว้เป็นก้อนกลม ๆ ราคาหัวละ ๕ บาท พอเข้าไปจะเห็นศาลาไทยหลังน้อยแบบล้านนา มีหม้อน้ำยา น้ำยาป่า แกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว น้ำพริก ตั้งอยู่ เข้าไปอีกหน่อย ทางขวามีโต๊ะวางสารพัดผักใส่ชามเอาไว้เรียกว่าเป็นเหมือด เมื่อลงนั่งได้แล้ว เขาจะยกถ้วยตักน้ำทั้งหลายมาให้ฟรี ไม่อั้นด้วยกินของเขาให้หมดก็แล้วกัน และหากจะกินไก่อบหม้อดินควรโทรศัพท์สั่ง ๐๑ - ๙๙๓๓๙๗๘ ไก่อบหม้อดินของเขาอร่อยนัก จะเอาน้ำยาป่าราดขนมจีนเสียหนึ่งหัว สลับด้วยน้ำพริกแก้เผ็ดราดขนมจีน ตามด้วยน้ำยา ราดซ้ำเข้าไปอีกหัว ตามด้วยบรรดาสารพัดผักทั้งหลาย (หยิบได้ตามใจชอบ) อร่อยนักแล กินกันให้จุกตาย อย่างไร ๒ คน ไม่นับไก่อบหม้อดิน ไม่ถึง ๕๐ บาทแน่นอน ใครกินเกินกว่านี้ก็เป็นพุงระดับช้างน้ำแล้ว