อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ในเส้นทางการท่องเที่ยวจันทบุรีสายอำเภอเมือง
- ท่าใหม่ - คุ้งวิมาน เดี๋ยวผมจะกลับมาบอกเส้นทางจากตัวเมือง ไปยังอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกที
เพราะเส้นทางออกจะวกวนสักหน่อย เอาเส้นทางจากกรุงเทพ ฯ ไปจันทบุรีเสียก่อน
เพราะผมไปจันทบุรีในเวลาไม่ห่างกันนักแต่ไปกลับคนละเส้นทางกัน เพื่อสำรวจเส้นทางไปด้วย
ไปครั้งแรกได้เล่าให้ทราบไปแล้วว่าผมไปผ่าน ฉะเชิงเทราแล้วไปตามถนนที่จะไปยังกบินทร์บุรี
ซึ่งจะผ่านพนมสารคาม ซึ่งจะมีทางเลี้ยวขวาไปผ่านอำเภอสนามไชยเขต
ไปบรรจบกับถนนสายสระแก้ว - จันทบุรีได้ ผมไม่ได้เลี้ยวขวาไปตามเส้นนี้เพราะต้องการไปสักการะ
ศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงวิ่งเลยต่อไปจนพบศาลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งจากที่จารึกไว้ก็ไม่บอกเหตุผลว่า เหตุใดจึงมาสร้างศาล หรือตำหนักของพระองค์ท่านเอาไว้ที่จุดนี้
ไม่ทราบว่ามีเหตุการณ์ใดในอดีตที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน ที่ผมทราบต้องที่พระราชวังสีเทา
จังหวัดสระบุรี ขอผลัดไปก่อนเอาไว้ผมไปสำรวจแล้ว จะกลับมาเล่าให้ฟัง
จากศาลสมเด็จ ฯ วิ่งต่อไปจะพบทางแยกขวาเป็นเส้นทางใหม่ ที่จะไปได้จนถึงอรัญประเทศ
ผมเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางนี้ และจะไปบรรจบกับถนนสาย สระแก้ว - จันทบุรี
ก็วิ่งต่อไปจนถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน ซึ่งผมไปพักรีสอร์ทจะเรียกว่า กลางป่าก็ได้
ซึ่งขาไปจะอยู่ก่อนถึงอำเภอบ้านโป่งน้ำร้อนประมาณ ๓ กม. อยู่ทางขวามือ
บรรยากาศท่ามกลางสวนป่ายอดเยี่ยมจริง ๆ ที่พักมีหลายห้องแต่ปรากฎว่า
มีคนมาพักประจำ ยิ่งไปคราวหลังติดใจพักอีก หลังที่เคยพักซึ่งเป็นบังกะโลหลังโต
ราคาคืนละ ๙๐๐ บาท เขาบอกว่าหลังนั้นเกาหลีมาเช่าพัก เพื่อไปตีกอล์ฟ
เช่าอยู่กันทีละเดือนไปเลย เพราะราคาถูกและใกล้สนามกอล์ฟ พวกเขาจึงยกพวกมาพักกัน
มีอาหารด้วยรสอาหารให้พอใช้ วันกลับผมมาจากโป่งน้ำร้อน แวะเที่ยวในเมือง
ออกมาซื้อผลไม้โดยเฉพาะสละ ที่ตลาดเนินวง
แล้วกลับมาทางระยอง ชลบุรี เข้าถนนบายพาส ออกมาขึ้นทางด่วน (ไม่ใช่มาทางมอเตอร์เวย์
เพราะผมจะมาบ้านลาดพร้าว ) มาเชื่อมต่อกับทางด่วนไปรามอินทรา ลงที่บ้านผม
ลาดพร้าว ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง เรียกว่าเร็วมาก
พออีกไม่ถึงเดือน มีธุระจะต้องไปที่จันทบุรีอีก คราวนี้ขึ้นทางด่วนสายรามอินทรา
ไปออกทางด่วนเรียกว่า ๒ เด้ง จ่ายรวม ๘๕ บาท ก็ไปลงเกือบถึงบายพาสชลบุรี
จากนั้นก็เข้าถนนบายพาส แล้วไปแยกซ้ายตามป้ายที่บอกว่าไป อำเภอบ้านบึง ไปออก
อ.แกลง ถึงจันทบุรีแล้วเลี้ยวซ้าย ไปผ่านอำเภอมะขาม ไปโป่งน้ำร้อน
นอนที่รีสอร์ทอีกคืนหนึ่ง อากาศดีจริง ๆ ไปคราวหลังต้นเดือนกุมภาพันธ์ อากาศยังเย็นไม่ถึงขั้นหนาว
แต่นอนไม่ต้องเปิดแอร์
วันกลับต้องใช้คำว่า อุตริ แทนที่จะกลับตามเส้นทางที่มา ผมกลับมาตามเส้นทางสายจันทบุรี
- สระแก้ว แล้วมาเลี้ยวซ้ายที่อำเภอวังน้ำเย็น เพื่อไปออกอำเภอพนมสารคาม
ซึ่งถนนเส้นนี้ผมไม่ได้ไปมานานแล้ว จึงอยากลองไปดู ปรากฎว่าถนนแย่มาก
เป็นหลุม เป็นบ่อ จราจร ๒ แลน รถบรรทุกก็วิ่งกันมาก จึงทำให้ถนนพัง
และพื้นที่หลายอำเภอไม่ห่างกันเป็นผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารพราน ตั้งด่านตรวจกันคงจะมากเกินกว่า
๕ ด่าน ด่านอยู่ไม่ห่างกันนักไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไมต้องมาตั้งดักกันมากมายเช่นนี้
มีการตรวจละเอียด หรือตรวจให้รำคาญ ก็ไม่ทราบ ด่านตรวจมากขนาดนี้รถที่ทำผิดกฎหมายเห็นจะรอดยาก
แต่คนที่ทำถูกกฎหมายรำคาญ ก็เลยเอามาบอกไว้ให้ละเอียดว่า ท่านจะไปจันทบุรี
อย่าไป อย่ากลับอุตริแบบผม ไปเส้นทางที่มาผ่านศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า แล้วมาออกถนนสายไปอรัญประเทศ
ไม่เป็นไร ไม่มีด่านตรวจเลย ถนนก็ดี แถมสาลี่ แอปเปิล ที่มาจากตลาดไท ตั้งขายริมถนนหลายสิบเจ้า
แล้วแวะกินกลางวันที่ ทางแยกเข้าตำบลกรอกสมบูรณ์ได้อีก อาหารดี ราคามหาถูก
แต่ไปจันทบุรีเส้นนี้จะไกลกว่าเส้น ขึ้นทางด่วน ชลบุรี แกลง เส้นนี้ระยะทางเพียง
๒๔๕ กม. ส่วนอีกเส้นคือ เส้นผ่านทางมอเตอร์เวย์ ไปผ่านชลบุรี ทางแยกไปพัทยา
เลี้ยวซ้ายไประยอง จันทบุรีระยะทางประมาณ ๒๕๐ กม. เสียค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์
๒ ครั้ง ๖๐ บาท แต่ผมอยู่ลาดพร้าวไปทางด่วนเร็วกว่า
ขอทบทวนประวัติศาสตร์ของจันทบุรีเสียก่อน จะได้ทราบว่าทำไมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
จึงไปตั้งอู่ต่อเรืออยู่ที่จันทบุรี
ในตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะเสียแผ่นดินชนิดวายวอด ให้แก่กองทัพโจรของพม่า
กรมหมื่นเทพพิพิธ พระเจ้าลูกยาเธอในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ถูกสงสัยว่า
จะชิงราชสมบัติพระราชบิดา จึงถูกเนรเทศนำมาควบคุมตัวไว้ที่เมืองจันทบุรี
พ.ศ.๒๓๑๐ คราวสงครามเสียกรุง กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งไม่ได้มีความผิดอะไรเด่นชัด
ทำให้ประชาชนยังมีความเคารพนับถืออยู่เป็นอันมาก จึงได้จัดตั้งกองทัพขึ้นโดยใช้กำลังชายฉกรรจ์
จากจันทบุรี และรวมกับจากปราจีนบุรี จะยกไปตีตลบหลังทัพพม่า ที่ยังล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่
โปรดให้ทัพหน้าตั้งทัพอยู่ที่ ปากน้ำโยทะกา
พม่าทราบข่าวศึกก็ส่งทัพเข้ามาตีทัพหน้าของไทยที่โยทะกาแตกพ่ายไป ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธ
ทราบว่ากองทัพหน้าที่ส่งไปแต่พ่ายแล้ว ก็หนีออกจากจันทบุรีไปที่เมืองนครราชสีมา
ไปรวบรวมผู้คนตั้งเป็น ก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธ ขึ้นมาอีก
พระยาวชิรปราการ หรือพระยาตาก ได้ยกทัพมายึดได้เมืองระยอง ซึ่งเป็นหัวเมืองขนาดเล็ก
ในขณะที่เมืองข้างเคียงเป็นเมืองขนาดใหญ่ และเป็นอิสระ จึงจำเป็นต้องยึดเมืองขนาดใหญ่เป็นที่มั่น
เมืองจันทบุรีเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุด ในภาคตะวันออก ได้มีการวิเคราะห์เหตุผลเอาไว้
ดังนี้
๑. จันทบุรี เป็นเขตที่พม่าจะไม่ตามมารบกวน
๒. จันทบุรี เป็นหัวเมืองชายทะเล ด้านตะวันออกเป็นศูนย์กลางการติดต่อกับส่วนอื่น
ๆ ได้ง่าย เช่น ติดต่อกับทางปักษ์ใต้ ติดต่อกับเขมร พุทไธมาศ
๓. จันทบุรี มีเส้นทางที่เมื่อจวนตัวจะหนีไปที่อื่นได้โดยสะดวก
เมืองระยองนี้ บรรดานายทหารและรี้พล ได้เสนอว่า พระยาตากสมควรยกตนขึ้นเป็นเจ้า
เพื่อให้เป็นที่ยำเกรงซึ่งจะเป็นทางให้กอบกู้เอกราชได้ และจะสามารถแต่งตั้งข้าราชบริพารที่มีความดี
ความชอบได้ จึงยกขึ้นเป็น เจ้าตาก
ขุนรามหมื่นซ่อง อดีตเจ้าเมืองระยอง เมื่อถูกเจ้าตากยึดเมืองระยองได้
จึงหนีไปสมทบกับพระยาจันทบุรี และยุยงให้พระยาจันทบุรีปฎิเสธการเป็นไมตรีกับเจ้าตาก
พระยาจันทบุรีจึงร่วมกับขุนรามหมื่นซ่อง ออกอุบายลวงเจ้าตากให้เข้าเมืองจันทบุรี
เชื่อว่าหากลวงเข้ามาในเมืองได้ คงจะกำจัดได้โดยง่าย จึงนิมนต์ให้พระสงฆ์สี่รูปออกไปเป็นทูตเจรจากับเจ้าตากว่า
พระยาจันทบุรีมีความยินดีช่วยเจ้าตากกู้ชาติ และออกอุบายให้หลวงปลัด
นำทัพเลี้ยวลงไปทางใต้ โดยให้ข้ามแม่น้ำเพื่อคอยโจมตีทัพเจ้าตาก เมื่อยกมาข้ามลำน้ำ
เจ้าตากยกกองทหารจากเมืองระยอง เดินทางมา ๕ วัน ถึงบ้านพลอยแหวน
ได้ทรงทราบว่าเป็นอุบาย จึงมิให้กองทหารวกมาทางขวา แต่ตรงมาทางประตูท่าช้าง
พักกองทหาร ณ วัดแก้ว
ริมเมืองจันทบุรี วัดแก้วอยู่ในบริเวณค่ายตากสิน
(เมื่อฝรั่งเศสมายึดครองจันทบุรี ได้สร้างอาคารคลังกระสุนทับบริเวณวัดเดิม)
เจ้าตาก เรียกประชุมแม่ทัพ นายกอง เพื่อวางแผนเจ้าตีเมืองจันทบุรี แล้วสั่งให้ทหารหุงหาอาหารกิน
เมื่อกินอิ่มแล้ว ให้เทเสบียงทิ้งให้หมด พร้อมทั้งทุบหม้อข้าว หม้อแกง ให้หมด
หากคืนนี้เอาเมืองจันทบุรีได้ก็ไปกินข้าวเช้าที่ในเมือง หากตีไม่ได้ก็ให้ตายด้วยกัน
วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุน พ.ศ.๒๓๑๐ เจ้าตากทรงช้างพังคีรีกุญชรฉัททันต์
โดยมีหลวงพิชัยอาสา ทหารเอก คุมทหารเดินเท้าเข้าตีเมือง เมื่อหักเข้าเมืองได้
เจ้าเมืองจันทบุรีหนีเอาตัวรอดไปยังเมืองพุทไธมาศ
เริ่มบำรุงกองทัพเพื่อเตรียมการยกไปตีกรุงศรีอยุธยา คืนจากพม่า และเมืองจันทบุรีในสมัยกรุงธนบุรีนี้
ยังคงตั้งอยู่บริเวณบ้านลุ่ม และมีความสงบสุขมาจนสิ้นสมัย เป็นเมืองที่ค่อนข้างสงบ
ไม่มีศึกสงครามมาติดพัน เป็นเมืองท่าหลักทางชายทะเลฝั่งตะวันออก และเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่มีชัยภูมิ
เหมาะสมแก่การตั้งรับหากญวน หรือเขมร จะส่งทัพเข้ามารุกราน
เจ้าตาก ได้รวบรวมไพร่พลได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คน เตรียมการยกทัพเพื่อมาตีกรุงศรีอยุธยา
และมีพระราชดำริว่า น่าจะยกมาทางเรือจะสะดวกกว่า จึงดำเนินการต่อเรือ
ส่วนเรือใหญ่นั้น ยึดจากสำเภาจีน แล้วต่อเรือขึ้นประมาณ ๑๐๐ ลำ บริเวณที่สันนิษฐานว่า
จะเป็นอู่ต่อเรือคือ ใกล้วัดเสม็ดงาม
ในปัจจุบัน ผมไปครั้งแรกหลายปีมาแล้ว ไปพบเส้นทางโดยบังเอิญ ตอนนั้นยังสร้างไม่เรียบร้อย
แต่ในปัจจุบันหน่วยโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ขุดค้นซากเรือและตรวจสอบชั้นดินทางโบราณคดี
ตามริมฝั่งอ่าว พบแอ่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะคล้ายอู่เรืออยู่หลายแห่ง
พร้อมทั้งพบส่วนประกอบของเรือโบราณ และสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเรือสำเภาจีนแบบฟูเขียน
ขนาดเล็กที่ใช้สำหรับบรรทุกสินค้า มีใบสามเถา ให้หางเรือเสือ ขนาดเรือยาว
๒๔ เมตร กว้าง ๕ เมตร บริเวณใกล้เคียงมีโรงเก็บเรือจำลอง และเรือของชาวบ้านที่เคยใช้ในอดีต
ส่วนที่สร้างเป็นอู่ต่อเรือครอบเรือโบราณไว้นั้น ผมไปครั้งแรกไม่มีอู่ สร้างครอบมองเห็นเรือโบราณได้ตลอดเวลา
แต่ตอนนี้คงจะขุดให้ลึกลง หากน้ำขึ้นจะมองไม่เห็นเต็มลำเรือ
เส้นทางออกจากเมืองมาทางท่าแฉลบ ประมาณ ๒ กม. จะมีทางแยกซ้าย มีป้ายใหญ่ ยอกว่าไปวิทยาลัยเทคนิค
จันทบุรี เลี้ยวซ้ายไปตามถนนจันทคามวิถี ตรงเรื่อยไปมีป้ายนำ
วิ่งไปจนถึงศาลเจ้าพ่ออยู่ทางขวา เลยศาลไปสัก ๕๐ เมตร พบทางแยก เลี้ยวขวามีป้ายบอกไปวัดเสม็ดงาม
ระยะทาง ๗ กม. ผ่านวัดเสม็ดงามไปแล้ว จึงจะถึงอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
อยู่ปากแม่น้ำจันทบุรี วิวแม่น้ำตรงบริเวณนี้สวย น่านั่งกินอาหาร เสียดายผมไม่ได้แวะชิมอาหารที่ร้านอาหารริมปากน้ำแห่งนี้
แต่เล็งดูแล้วน่าอร่อย เห็นชาวจันทบุรีขับรถมาจอดกินอาหารกัน ริมน้ำเสม็ดงาม
อาหารซีฟู๊ด ส้มตำซีฟู๊ด มี ๒ ร้าน
บริเวณอู่ต่อเรือร่มรื่น ไม้ใหญ่เริ่มโตแล้ว และมีต้นตะเคียนต้นใหญ่ล้มอยู่ริมน้ำ
หน้าร้านส้มตำ มีผ้าแดงผูก มีธูปเทียนบูชา แต่ดูไม่ศักดิ์สิทธิ์ตรงที่ชาวบ้านก็คงจะแถวนี้
นำผ้าถุงเอาไปตากไว้บนต้นตะเคียน ที่เคารพบูชากัน
ที่บริเวณอู่ต่อเรือนี้ มีชาวบ้านใช้เวลาว่างงาน ทอเสื่อจันทบูรณ์ จากต้นกกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง
ของจันทบุรีมาหลายสิบปีแล้ว และมีศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน การทอเสื่อจันทบูรณ์อยู่บ้านเสม็ดงาม
ซึ่งที่ศูนย์ ฯ นี้ติดต่อขอชมการสาธิตการทอเสื่อได้ (ไปกันเป็นคณะ)
ติดต่อที่พัฒนาชุมชนจังหวัด ๐๓๙ ๔๕๐ ๕๘๕
สถานที่ท่องเที่ยวอีก ๒ แห่ง ในเส้นทางไปท่าใหม่ ซึ่งน่าไปอย่างยิ่ง แต่คราวนี้ผมไม่ได้แวะไปชม
ว่ามีอะไรแปลกใหม่อีกหรือเปล่า คือ โบราณสถานค่ายเนินวง
และเมื่อไปค่ายเนินวงแล้วต้องไป พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี
ที่ตั้งอยู่บริเวณค่ายเนินวง
ให้ได้ มีอยู่แห่งเดียว
กลับเข้ามาเที่ยวในเมือง ไปได้ไม่กี่แห่งไปครั้งแรก ไปแวะร้านอาหารที่เคยชิมกันมาคงร่วม
๓๐ ปีแล้ว เป็นร้านอาหารเก่าแก่ แกงหมูชมวง ในร้านระดับเดียวกัน
ยังไม่เห็นร้านไหนจะมีฝีมือเหนือกว่า อยู่เยื้องกับโรงแรม ผมพักในเมืองจันทบุรีมักจะพักโรงแรมนี้เป็นประจำ
หาของกินได้แยะดี ราคาที่พักไม่แพง บริการดี เข้าเมืองแล้วเส้นทางจะบังคับ
(รถเดินทางเดียว) ไปข้ามสะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี ลงสะพานแล้วร้านอยู่ทางซ้าย
โรงแรมอยู่ทางขวา พอนั่งปุ๊บ คำแรกที่สั่งไม่ใช่อาหาร แต่เป็นของหวานคือ กล้วยเสวย
ที่สั่งกล้วยเสวยก่อน เพราะต้องใช้เวลาในการปิ้ง ย่าง อาหารที่สั่งมาชิมคือ
ปลาอินทรีย์นึ่งซีอิ้ว ปลาเห็นโคนชุบน้ำปลาทอด "แกงหมูชมวง" และน้ำพริกไข่ปู
มาร้านคุณแดงอาหารที่ว่ามานี้ ต้องสั่ง และปิดท้ายด้วยกล้วยเสวย กับฟรุ๊ตไอซ์
สถานที่ท่องเที่ยวที่มีเวลาไปในการไปจันทบุรีถึง ๒ ครั้ง นอกจากไปอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว
ก็ไปยังศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งอยู่หน้าค่ายตากสิน
ค่ายของนาวิกโยธินทหารเรือ ซึ่งในค่ายก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับยืน
ส่วนที่ศาลนี้ประทับนั่ง และอีกฟากหนึ่ง ของถนนคือ ศาลหลักเมืองของจันทบุรี
หาทางไปศาลไม่ยาก หากเข้าเมืองจันทบุรีตรงสี่แยกแรกที่มาถึง ก็เลี้ยวซ้ายมาผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี
ตรงเรื่อยมาจนมาผ่าน สวนสาธารณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อย่าเลยไปเป็นอันขาด
จอดรถแล้วเดินข้ามสะพานไปยังเกาะ ที่สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประทับไม้เอาไว้
พร้อมเหล่าทหารเสือของพระองค์ท่าน ทั่วบริเวณตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับสวยงาม
มีผู้ไปบนบานกันตลอดเวลา เห็นผู้ที่สมหวังนำหัวหมูไปถวาย เอาช้าง ม้า ไปถวาย
ล้อมรอบพื้นที่คือ สระน้ำขนาดใหญ่ จึงเป็นเกาะกลางน้ำ จากสวนสาธารณะสมเด็จวิ่งเลาะไป
หรือถามชาวเมืองดูว่า เลี้ยวไหนไปศาลพระเจ้าตากสิน ไปไม่ยาก แต่ให้ผมบอกทางไปคงยาก
ถามเขาง่ายกว่า
วัดไผ่ล้อม
เป็นพระอารามหลวง ไปตามถนนสายหน้าโรงแรม เค.พี แกรนด์ แล้วเลี้ยวซ้ายที่วัดนี้มีพระพุทธบาท
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ไปไหว้พระขอพรจากหลวงพ่อใหญ่ คือ พระพุทธไสยาสน์
ชั้นล่างของพระวิหาร มี "นวดชอง" แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต ดูจากรูปแบบแล้วน่าจะสร้างในสมัยรัชกาลที่
๓ ส่วนพระอุโบสถอยู่ด้านหลัง กำลังบูรณะ
อาสนวิหาร พระนางมารีอาปฎิสนธินิรมล
เส้นทางข้ามสะพานตรีรัตน์ ลงสะพานแล้วเลี้ยวขวา เข้าถนนแคบ ๆ มีป้ายบอก
น่าไปมากชาวคริสต์ยิ่งน่าไปอย่างยิ่ง แต่หากไปวันธรรมดา หากเป็นวันโรงเรียนเปิด
จะหาที่จอดรถยากมาก แต่ไปวันโรงเรียนหยุดจอดรถสะดวก ยิ่งวันอาทิตย์ยิ่งดี
เพราะโบสถ์เปิดแน่นอน ผมไปพอดีตอนเย็นเขาจะมีงานแต่งงาน เลยประดับดอกไม้สวยไปทั้งโบสถ์
เป็นศูนย์กลางของกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนมานานกว่า ๓๐๐ ปี และสร้างตามศิลปโกธิค
งดงามมาก และมีภาพนักบุญที่ใช้กระจกสี และมีวีรสตรีที่เขายกย่องเป็นนักบุญ
มีภาพกระจกสีด้วย คือ โจส์ ออฟ อารค์
วีรสตรีชาวฝรั่งเศสที่เคยนำทัพสู้รบกับทัพอังกฤษ แต่สุดท้ายกลับถูกหาว่าเป็นแม่มด
เพราะยังเป็นรุ่นสาว ไม่เคยเป็นนักรบมาก่อน แต่กลับนำทัพรบได้ชัยชนะ ซึ่งเวลานั้นทัพของฝรั่งเศสถอยตลอดแนวรบ
ผมไม่แน่ใจว่าถูกประหารด้วยวิธีไหน หากจำไม่ผิดก็ถูกเผาทั้งเป็น
วัดจันทนาราม หากเรามาศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เลี้ยวซ้ายจากหน้าค่ายตากสิน
ตรงเรื่อยมาจะมาถึงสามแยกน้อยๆ ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปออกถนนทางหลวงแผ่นดิน
ที่ตรงไปจะไปยัง อ.มะขาม ไป จ.ตราด เลี้ยวซ้ายกลับมาระยอง ตรงหัวมุมถนนที่จะเลี้ยวซ้ายมานี้มีเพิงขายอาหาร
ติดกับร้านขายกล้วยปิ้ง "กล้วยเสวย" แบบเดียวกับร้านคุณแดง แต่ที่ร้านนี้จะปิ้งขายเป็นประจำ
มีตลอดวันและเป็นร้านใหญ่ ขนาด ๒ ห้อง เพิงข้าวแกงร้อยปีอยู่ติดกัน
ตรงข้ามร้านคือ วัดโบสถ์เมือง
หากข้ามสะพานไปเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าประตูวัดจันทนาราม วัดนี้เป็นวัดโบราณเก่าแก่
มีต้นจันทน์ ต้นพิกุลที่ต้นใหญ่มาก และเป็นป่าจันทน์มาก่อน
พ.ศ.๒๓๖๘ วัดร่วงโรย ชาวบ้านจึงนิมนต์พระอุปัฌชานวม จากวัดเกาะมาเป็นเจ้าอาวาส
ได้บูรณะวัดและโบสถ์หลังเดิม และเป็นวัดธรรมยุต วัดอยู่ติดกับแม่น้ำ
น้ำไหลเชี่ยว ท่านเจ้าอาวาสจึงทอดผ้าป่าก้อนหิน นำหินมาทอดผ้าป่าเพื่อสร้างเขื่อนกั้น
กันตลิ่งพัง เป็นงานทอดผ้าป่าหิน (ปัจจุบันไม่มีทอดผ้าป่าหินแล้ว) และพิธีลอยกระทงในวันเพ็ญ
เดือน๑๒ ซึ่งชาวจันทบุรีจะจัดกันที่หน้าวัดนี้ จัดติดต่อกันมา ๘ ปีเศษแล้ว
กล้วยเสวย ผมได้บอกแล้วว่า ร้านอยู่เชิงสะพานที่จะข้ามไปยังวัดจันทนาราม
และตรงข้ามกับประตูขึ้นสู่วัดโบสถ์เมือง เป็นกล้วยปิ้ง เมื่อปิ้งแล้วจะทุบให้แบนรี
แต่ไม่ถึงแบนเป็นกล้วยปิ้ง อย่างที่เรียกกัน กินกับน้ำจิ้ม เป็นน้ำตาลเคี่ยว
อร่อยมาก ขาย ๔ ลูก ๑๐ บาท
ข้าวแกง ที่ขายอยู่ในเพิงมีอาหารประมาณ ๑๐ อย่าง ชาวเมืองเรียก ข้าวแกงวัดจันทน์
หรือข้าวแกงร้อยปี เพราะตอนนี้รุ่นหลานขายแล้ว เริ่มตั้งแต่รุ่นยายขาย
มาแม่ขาย ตอนนี้หลานขาย มีโต๊ะให้นั่งกินอยู่ ๔ - ๕ ตัว ผมไปชิมทีไรต้องยอมรอคิวโต๊ะ
แต่ชาวเมืองส่วนใหญ่เห็นเขาซื้อใส่ถุงกลับไป และทำอาหารหม้อไม่โต คงจะขายประมาณเที่ยงก็คงหมดแล้ว
หนักไปทางมื้อเช้ามากกว่า แต่หากนั่งกินจะได้กินข้าวราดแกงขนานแท้สมใจ เพราะกินข้าวราดแกง
หรือข้าวแกงนั้น ต้องกับข้าวอย่างเดียวหรืออย่างมาก ๒ อย่าง และต้องตักราดข้าวมา
จึงจะสมกับคำว่าข้าวแกง ข้าวแกงร้อยปี จะอุ่นข้าวให้ร้อนในลังถึง พอเราไปซื้อเอาอาหารอะไรบ้าง
ป้าก็ตักราดข้าวยกมาให้ทันที อาหารอร่อยทุกอย่าง บางวันผมกินเช้าสายกลับกรุงเทพ
ฯ จะแถมด้วยการซื้อกลับเอามาต่อเป็นมื้อเย็น เช่น แกงเขียวหวานเนื้อ คนไม่กินเนื้อหมดสิทธิ์
พะแนงเนื้อ แกงเขียวหวานหมู แกงป่า แกงปลาดุก ผัดเปรี้ยวหวานสับปะรด ไก่ผัดเผ็ด
หมูป่าผัดกระเพรา ที่ขาดไม่ได้คือ ไข่พะโล้ ต้องให้ตักแนมมาข้างจาน และบางวันจะมีปูจ๋าด้วย
ราคาถูกมาก เคยกินข้าวราดแกง อาหาร ๒ อย่าง ราคา ๑๕ บาท เท่านั้น เห็นร้าน
(เพิง) อย่าท้อใจยอมนั่งเสียโดยดี ร้านนี้คนใหญ่ คนโตนั่งกันมานักแล้ว
ผมเองรู้จักก็เพราะที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม ในกลุ่มที่ผมเป็นประธาน ฯ เมื่อ
๕ ปี ที่แล้วบอกว่าเป็นหลาน ขนาดหลานก็อายุปาเข้าไปกว่า ๕๐ แล้ว บอกว่าลองไปชิมข้าวแกงฝีมือยาย
ตกทอดกันมาชิมแล้ว ก็รีบเอามาเขียน และไปชิมทีไร ก็กลับเอามาเล่าไว้ทุกที
คราวนี้ไปเห็นยังอยู่ดี คนแน่น เหมือนเดิมเลยเอามาเล่าไว้ด้วย
เขียนมาถึงแค่นี้ ก็พักเอาไว้ก่อน พอเช้ารุ่งขึ้นก็ไปพบแพทย์ตามนัด
ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ฯ ที่มีคลินิกนอกเวลาด้วย และการบริการดีขึ้นมาก
ถ้าเป็นวันราชการพวกนายพลจะมีห้องพิเศษให้นั่ง ให้ติดต่อได้เลยก็สมควร
อย่าอิจฉาพวกผมเลยกว่าจะแหวกว่ายมาเป็นนายพลได้นั้นยากนัก และนายพลรุ่นพวกผมเสี่ยงตายกันมาไม่รู้กี่สนามรบ
ผมใช้คำว่า รบกันผมเริ่มตั้งแต่ปราบพวก ผกค. ตั้งแต่ ๒๓ กุมภาพันธ์
๒๕๑๑ จากนั้นไปรบเวียตนาม กลับมาอยู่ในหน่วยที่จัดกำลังไปรบลาว
เขมร ย้ายลงใต้ไปพบกับ ผกค. จนได้เป็นแม่ทัพส่วนหน้า สู้กับ จคม. ประสบความสำเร็จพวกเขาออกมามอบตัว
สู้กับ ขจก. ที่กำลังติดพันกันอยู่ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ทุกวันนี้ จบแล้วจึงได้ย้ายเข้ากรุง
ฯ ก็ทำงานด้านพัฒนาอยู่ตามชายแดนอีก ออกชายแดนทุกสัปดาห์ เลยติดเป็นนิสสัยมาจนบัดนี้
อยู่บ้านกับเขาไม่เต็ม ๗ วันสักที
................................................
|