สวนหลวงเฉลิมพระเกียรติ
ร.๙
สวนหลวงเฉลิมพระเกียรติ
ร.๙
ผมพาท่านผู้อ่านไปเมืองเก่าสุโขทัย หรืออุทยานประวัติศาสตร์โลก สุโขทัย โดยเดินทางไปจากกรุงเทพ
ฯ ผ่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร เลี้ยวขวาเข้ากำแพงเพชร พอลงสะพานข้ามแม่น้ำปิงแล้ว
ก็เลี้ยวซ้ายไปทาง อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ ของอุทยานประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ มีเวลาก็แวะเข้าไปชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเสียก่อน
ซึ่งคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ ๒ - ๓ ชั่วโมง ต่อจากนั้น ก็ไปผ่าน อ.พรานกระต่าย
อ.คีรีมาศ ไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๒ ที่ยาวจาก จ.ตาก ไปจนถึง จ.ขอนแก่น
ถนนสาย ๑๐๑ จากกำแพงเพชร จะบรรจบกับสาย ๑๒ ที่สี่แยกคลองโพธิ์ ซึ่งที่สี่แยกนี้
หากวิ่งตรงไปก็จะไปยัง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายก็จะไปยังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
คราวนี้ผมเลี้ยวขวา ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเข้าตัวเมืองสุโขทัย ผมไม่ทราบว่าสุโขทัยมีโรงแรมใหม่
ๆ เกิดขึ้นแยะ และท่าทางดีด้วย
ถึงสะพานข้ามแม่น้ำยม ซึ่งจะข้ามสู่ฝั่งตลาด อ.เมือง และตลาดโต้รุ่งยามค่ำ
เมื่อข้ามสะพานไปแล้ว ให้เลี้ยวขวาทันที จะเป็นถนนที่ไปยังศาลากลาง ไปศาลพระแม่ย่า
ที่อยู่ริมถนนหน้าศาลากลาง ถ.นิกรเกษม เลียบฝั่งแม่น้ำยม ที่ศาลนี้ประดิษฐานพระรูปของพระแม่ย่า
และดวงวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประวัติเดิม เทวรูปพระแม่ย่าประดิษฐานอยู่บนเขาพระแม่ย่า
บนยอดเขาหลวง อ.รามคำแหง ห่างจากตัวเมืองเก่าประมาณ ๘ กม. ต่อมาชาวเมืองสุโขทัย
จึงได้อัญเชิญมาที่เมืองใหม่ และสร้างศาลถวายไว้อย่างสวยงาม พระแม่ย่าสร้างด้วยหินชนวนสลักแบบเทวรูป
พระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม ทรงเครื่องแบบนางพญา สูงประมาณ ๑ เมตร สันนิษฐานว่า
สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่ออุทิศให้แก่พระราชมารดาคือ "นางเสือง"
เรียกพระแม่ย่า เพราะเป็นพระมารดาของพ่อขุนรามคำแหง ชาวเมืองเคารพพ่อขุนรามคำแหงอย่างยิ่ง
หน้าศาลมีศาลา มีกระถางธูปใหญ่ มีโต๊ะให้ตั้งเซ่นไหว้ และทางซ้ายมีร้านขายเครื่องบูชา
พระพุทธอุทยานสุโขทัย
อยู่หน้าศาลากลาง ด้านหน้าศาลพระแม่ย่า ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗๒ พรรษา จังหวัดสุโขทัยจึงได้สร้างพระพุทธรูปสุโขทัยจำลอง
จากองค์พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงจำนวนเก้าองค์ และเก้าองค์นี้ล้วนแต่เคยประดิษฐานอยู่ในจังหวัดสุโขทัย
แต่ต่อมาได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดต่าง ๆ ในจังหวัดอื่น เมื่อจำลองแล้วก็นำมาประดิษฐานไว้ในอาคารรูปปีกกา
ด้านบนเป็นปรางค์ห้ายอด ขนานนามอาคารนี้ว่า พระพุทธอุทยานสุโขทัย ส่วนพระพุทธรูปเก้าองค์ถวายนามว่า
เก้าพระพุทธสุดแผ่นดิน
พระพุทธสุดแผ่นดิน ที่จำลองมานั้น จะมีขนาดเล็กกว่าองค์จริงคือ พระพุทธรูปปางลีลา
ประดิษฐานอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพ ฯ พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐาน
ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระสุโขทัยไตรมิตร ประดิษฐาน
ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระพุทธรูปทองคำ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง
วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่ง ร.๑ ได้อัญเชิญมา องค์นี้เดิมเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง
วัดมหาธาตุ สุโขทัย พระศาสดา ประดิษฐาน ณ วัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ
ฯ หลวงพ่อร่วง ประดิษฐาน ณ วัดมหรรณพาราม ปางมารวิชัย พระพุทธชินสีห์ หรือพระนาคปรก
ประดิษฐานในพระวิหารวัดเชตุพน ฯ พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระศาสดา
วัดบวรนิเวศ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ประดิษฐาน ณ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
พิพิธภัณฑ์สังคโลก
อยู่ริมถนนเลี่ยงเมือง เป็นของเอกชน เสียค่าเข้าชม
อาณาจักรพ่อกู สังคโลก ถนนจรดวิถี ทางหลวงสาย ๑๒ อยู่ก่อนถึงอุทยานประวัติศาสตร์
ร้านอยู่ด้านซ้ายมือ ร้านนี้จัดสร้างเครื่องปั้นสังคโลกจำลอง
สวนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ และพิพิธภัณฑ์ปลาในวรรณคดี
ออกจากตัวเมืองสุโขทัย ไปตามถนนสาย ๑๒ มุ่งหน้าไปทาง จ.พิษณุโลก ประมาณ ๕
กม. จะเห็นสวนหลวงเฉลิมพระเกียรติอยู่ทางขวามือ ต้องไปกลับรถมา การเข้าไปพักผ่อนในสวนหลวง
ไม่ต้องเสียค่าเข้าชม รวมทั้งการชมพิพิธภัณฑ์ปลาในวรรณคดีด้วย เมื่อเข้าไปแล้วมีลานจอดรถกว้างขวาง
ติดลานจอดรถมีร้านมินิมาร์ทเล็ก ๆ เลยเข้าไปก็เป็นลานกว้างกำลังปรับปรุง จากลานจอดรถต้องเดินเข้าไปชมสวน
ซึ่งทั่วบริเวณสวนมีไม้ใหญ่ที่ยังโตไม่เต็มที่ ความร่มรื่นยังน้อยไปนิด แต่จะเย็นด้วยสายน้ำ
เพราะความสวยงามของสวนนี้อีกประการหนึ่งคือ การมีสระน้ำที่กว้างใหญ่ น้ำใสแจ๋ว
สะอาด มองเห็นเงาของต้นไม้ทอดลงไปในพื้นน้ำตลอดทั้งวัน ทำให้สวนสวยและร่มเย็นไปทั่ว
เดินชมสวนไปตามทางเดิน ถ่ายรูปจะได้ภาพงาม ๆ
เมื่อเดินเข้ามานิดเดียว ทางขวามือริมสระน้ำจะมีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ
ปางมารวิชัย นามพระพุทธรัตนสิริ สุโขทัย
พระพุทธรูปองค์นี้ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยพระเจ้าลิไท ประมาณ พ.ศ.๑๙๐๐ -
๒๐๐๐ จมอยู่ในแม่น้ำยม อำเภอศรีสำโรง ต่อมาไปพบที่ร้านขายของเก่าย่านริเวอร์
ซิตี้ แต่ไม่สมบูรณ์ทั้งองค์ แขนกับพระเศียรยังอยู่ เจ้าของร้านบอกว่า ฝรั่งมาขอซื้อเฉพาะพระเศียร
เจ้าของร้านจึงไม่ยอมขายให้ไป ต่อมามีผู้ไปพบ และคิดว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
จึงไปทำการเสี่ยงทายว่า ท่านอยากกลับสุโขทัยหรือไม่ เสี่ยงทายถึง ๕ ครั้ง
ก็ได้คำตอบว่า ท่านอยากกลับสุโขทัย ผู้เสี่ยงทายจึงไปขอความร่วมมือจาก นายสมศักดิ์
เทพสุทิน ชาวสุโขทัย ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
จึงได้อัญเชิญมายังสุโขทัย และให้ช่างมีฝีมือทำการบูรณะจนสมบูรณ์ทั้งองค์
แล้วสร้างศาลาในสวนหลวง ฯ อัญเชิญมาประดิษฐานในศาลาในสวนหลวง ร.๙ เมื่อ เมษายน
พ.ศ.๒๕๔๘
ด้านในสุดห่างจากทางเข้าประมาณ ๕๐๐ เมตร คือ อาคารพิพิธภัณฑ์ปลาในวรรณคดี
ซึ่งจังหวัดสุโขทัยได้สร้างขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ที่จะจัดให้มีการแสดงพันธุ์ปลาในวรรณคดีไทย ในยุคต่าง ๆ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๓๗ และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๙
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพันธุ์ปลาไว้ ๓๔ ชนิด มีปลาไทยในวรรณคดี เช่น ปลาน้ำผึ้ง
ปลาแก้มช้ำ ปลาก้างพระร่วง ปลาสวยงาม เช่น ปลากระทิงไฟ ปลาตะเพียนทอง ปลากราย
ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาเสือตอ ปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาเทโพ ปลาเทพา ปลาค้าว ปลายี่สก
ปลาหมอ ฯ จัดแสดงไว้ในตู้ปลา มีคำอธิบาย ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์คือ ปลาเสือตอ
และปลาพ่นน้ำ เหมาะสำหรับพาเยาวชนมาชม มาศึกษา
ชมปลาในตู้ของพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็เกิดความอยากกินปลา จึงย้อนกลับเข้าเมืองสุโขทัย
วิ่งผ่านเมือง มุ่งหน้ามาเส้นทางจะไปยังสุโขทัย เมืองเก่า ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำยม
มาตามถนนสาย ๑๒ หรือ จรดวิถี ถนนสายนี้ของกินแยะ เพราะเป็นเส้นทางไปแหล่งท่องเที่ยว
และมีร้านขายถั่วทอด อยู่เยื้องกับอู่โตโยต้า อัธยาศัยดี ถั่วทอด ขนมเกลียว
ทองม้วน ฯ ไปสุโขทัยต้องซื้อถั่วทอดกลับมา หากยังไม่เปิดถุงไว้ได้เป็นเดือน
เปิดถุงแล้วก็ใส่โหลเอาไว้ กรอบ กินแล้วหยุดไม่ได้ เมื่อวิ่งกลับมาจนเลยโรงแรมราชธานี
ก็มาถึงปั๊มเชลล์ กลับรถไปเลี้ยวเข้าซอยข้างตึก ๓ ชั้น สีส้ม จะมองเห็นป้ายร้านอาหารอยู่ทางซ้ายมือ
ร้านนี้ก็ติดป้าย คลีนฟู๊ด กู๊ด เทสท์ เอาไว้ แต่ที่เสาหน้าร้านเขียนเอาไว้ว่า
"ร้านนี้ ขายเป็นงานอดิเรก ไม่เน้นบริการ เพราะฝีมือดี และมีเงินใช้" อาจจะเป็นเพราะทำอาหารช้า
แต่อร่อยจริงเลยเขียนเอาไว้แบบนี้ ผมไปกัน ๒ คน สั่งอาหารมา ๔ อย่าง คนที่อาวุโสเขาก็บอกกันเองว่า
ทำจานเล็ก ๆ พอแม่สาวตักข้าว เขาก็สั่งอีกคน สูงอายุ ไม่กินข้าวมาก อย่าตักใส่โถ
ใส่จาน ๒ จาน ก็พอ รู้ใจดีแท้
ดูในเมนู อาหารปลามีมาก สมกับตั้งใจมากินปลา มีปลาค้าว ปลาเนื้ออ่อน ปลากดแม่น้ำ
ปลารากกล้วย แม่สาวรีบแนะนำว่า ปลากดกำลังสดมาก ปลากดคัง ปลาทับทิม ปลาไหล
ปลาเทโพ ปลาน้ำเงิน ปลาบึก ได้สั่งอาหารมาดังนี้
ไข่ปลาหลน จานนี้ห้ามโดดข้ามไปเป็นอันขาด รสออกหวานนิด ๆ ไม่เผ็ดเลย ใส่พริกชี้ฟ้า
รอบถ้วยหลน มีผักกาดขาว มะเขือเปราะ แตงกวา หลนไข่ปลา มองดูคล้ายเต้าเจี้ยวหลน
ไส่พริกสด หอมแดง ต้นหอม กินหลนถ้วยนี้ให้อร่อยเด็ด ต้องเอาผักวาง แล้วตักหลนใส่บนผัก
ที่วางบนข้าวส่งเข้าปาก แล้วตามด้วยปลารากกล้วย ฯ
ปลารากกล้วย ทอดกระเทียมพริกไทย ทั้งหอม ทั้งกรอบ จิ้มซ๊อสศรีราชา กรอบอร่อยถึงขั้นต้องซื้อใส่ถุงกลับมากินที่กรุงเทพ
ฯ อีก ๒ วัน ถึงยังกรอบอยู่เลย
ฉู่ฉี่ปลาค้าว พริกสด ใส่พริกสด พริกไทยอ่อน มะเขือพวง ราดข้าวดีนัก
กระเพาะหมูผัดน้ำพริกเผา ใส่พริกสด แครอท ข้าวโพดอ่อน
ปิดท้ายด้วยไอศริมแท่ง ร้านนี้สงสัยเป็นนักกอล์ฟ เพราะมีถ้วยรางวัลตั้งโชว์เอาไว้
และร้านติดกับตัวบ้าน ที่ติดป้ายไว้ว่า ชมรมลีลาศ โทร ๐๕๕ ๖๒๐ ๓๐๘
อิ่มแล้วิ่งไปนอนเขาค้อวัลเลย์ รุ่งขึ้นไปทอดกฐินที่วัดวิชมัยปุญญาราม และนำดาบเหล็กน้ำพี้
ไปถวายสองมหาราช ที่ผมสร้างศาลประดิษฐานท่านเอาไว้คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
|