ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > ตำบลปิล๊อค
 
ตำบลปิล๊อค
ตำบลปิล๊อค

          จังหวัดกาญจนบุรีนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลนัก คือมีเนื้อที่มากถึง ๑๔,๔๓๖ ตารางกิโลเมตรมีอุทยานแห่งชาติมากถึง ๗ แห่งคือ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์อุทยานแห่งชาติไทรโยคอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมอุทยานแห่งชาติลำคลองงูและอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ไร่ และพึ่งประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔นี้เอง ผมจะเล่าถึงตำบลปิล็อคที่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอทองผาภูมิ และอยู่ติดเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
          ก่อนจะไปยังเหมืองปิล็อค หรือตำบลปิล็อค ก็ควรจะได้รู้จักตัวจังหวัดกาญจนบุรีเสียก่อนเพราะจะไปบ้านอีต่องตำบลปิล็อคได้นั้น จะต้องผ่านตัวอำเภอเมืองกาญจนบุรีไปก่อน
          กาญจนบุรีเป็นจังหวัดในภาคกลาง เมื่อก่อนนี้รู้จักกันแต่ว่ากาญจนบุรีคือ เมืองที่มีไม้ไผ่มากโรงงานทำกระดาษมีอยู่ในกาญจนบุรีแต่เมื่อมีการสำรวจโดยละเอียดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ กาญจนบุรีก็เริ่มดังในภาคของการท่องเที่ยวเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ผมได้ รับตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒  กองพลอาสาสมัครเพื่อส่งไปรบในสมรภูมิเวียดนาม ซึ่งเป็นรุ่นแรก แต่เป็นกองพันที่๒ ส่งทหารปืนใหญ่ไปทั้งหมด๓ กองพัน และก่อนไปจะต้องไปรับการฝึก ไปรับอาวุธจากสหรัฐที่กาญจนบุรี ซึ่งในตอนนั้นยังมิได้ตั้งกองพลทหารราบที่ ๙ และยังไม่มีชื่อค่ายคงเรียกกันแต่ว่า ค่ายทหารกาญจนบุรี ใน พ.ศ.๒๕๑๑ การท่องเที่ยวในกาญจนบุรียังไม่ดัง เขื่อนต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างซึ่งปัจจุบันกาญจนบุรีได้ชื่อว่ามีเขื่อนมาก น่าจะมากที่สุดกว่าทุกจังหวัดในประเทศไทยเลยทีเดียวคือมีเขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนา และเขื่อนที่อำเภอท่าม่วงซึ่งเดิมชื่อเขื่อนวชิราลงกรณ์แต่เมื่อสร้าง เขื่อนเขาแหลมแล้ว และเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนเขาแหลมจึงได้รับพระราชทานนามว่าเขื่อนวชิราลงกรณ์
          เริ่มความดังของกาญจนบุรี เริ่มตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ มีการสำรวจร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ของไทยที่จังหวัดกาญจนบุรีโดยคณะสำรวจเดนมาร์ค และสยามสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันเดินทางมาสำรวจตามลำน้ำแควน้อยไปจนถึงทองผาภูมิซึ่งลำน้ำแควน้อยนี้ ยาวประมาณ ๓๑๕ กิโลเมตร ไหลจากอำเภอสังขละบุรี ลงมาบรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ที่อำเภอเมืองกาญจนบุรีส่วนแม่น้ำแควใหญ่นั้นเกิดจากเทือกเขาถนนธงชัย เหนืออำเภออุ้มผาง จังหวัดตากไหลผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ของกาญจนบุรีแล้วมาบรรจบกับแควน้อยที่อำเภอเมือง กาญจนบุรีกลายเป็นแม่น้ำแม่กลองแม่น้ำแควใหญ่มีความยาว ประมาณ ๔๘๐ กิโลเมตร เมื่อรวมกับแควน้อยแล้วก็กลายเป็นแม่กลองไหลผ่านอำเภอท่าม่วง ท่ามะกา แล้วไปไหลผ่าน อำเภอเมืองราชบุรี ไปออกอ่าวไทย
          เพราะสาเหตุที่มีแม่น้ำมากมาย และยาวเหยียดเช่นนี้ ประกอบกับมีเทือกเขาน้อยใหญ่ดังนั้นหลังจากมีการสำรวจแล้วกาญจนบุรีก็เริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และเมื่อสิ้นสงครามเวียดนามทางทหารบกก็ได้จัดตั้งกองพลทหารราบที่ ๙ ที่มีการจัดกำลังของกองพลไม่เหมือนกองพลอื่นๆในกองทัพบก คือ จัดกำลังเช่นเดียวกับ การจัดกำลังของกองพลอาสาสมัครในการรบที่เวียดนามแต่ได้เปลี่ยนนามหน่วยเสียใหม่เท่านั้นเช่น กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ ที่ผมเป็นผู้บังคับบัญชากองพันคนแรก เมื่อถอนกลับจากยุทธภูมิเวียดนามก็กลายเป็นกองพันทหารปืนใหญ่ที่๑๙ ขึ้นกับกรมทหารปืนใหญ่ที่๙ ซึ่งเมื่อรบในเวียดนามชื่อ กรมทหารปืนใหญ่ กองพลอาสาสมัครเป็นต้น เมื่อตั้งหน่วยทหารขนาดกองพลซึ่งมีกำลังมากเป็นการถาวรความเจริญยิ่งตามมาอย่างรวดเร็วดังนั้น เมื่อคณะสำรวจไทย - เดนมาร์ค สำรวจละเอียดไปจนถึงด่านเจดีย์ ๓องค์ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นตำบลสังขละอยู่ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นอำเภอสังขละบุรีคณะสำรวจได้ค้นหาร่องรอยของชุมชนดึกดำบรรพจากเครื่องมือหินที่ดร.แวนฮิก เคอเรน เคยพบเมื่อสมัยที่ตำเป็น เชลยศึกของทหารญี่ปุ่น และถูกบังคับให้มาสร้างทางรถไฟสายมรณะและ ดร.ได้ระบุแหล่งที่พบเอาไว้ด้วย
          ที่จัดเด ถัดจากท่าขนุนลงมา คณะนักสำรวจพบถ้ำ ๒ ถ้ำ พบเครื่องมือหิน เศษถ้วยชามและขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ ๑ โครง ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นทางโบราณคดี ที่สำคัญยิ่งของไทยทำให้ทราบว่าเป็นชุมชนดึกดำบรรพ์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยหินเก่านับว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะชักนำให้ค้นคว้าต่อไป และเป็นการเริ่มต้นของแหล่งการท่องเที่ยวอาจจะไปชมได้จากพิพิธภัณฑ์บ้านเก่า ซึ่งเริ่มขุดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๐๖ และรวบรวมน้ำมาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ยุคหินเครื่องมือหิน เครื่องประดับภาชนะดินเผา ขวานหิน พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าไปทางเดียวกับจะไปน้ำตกไทรโยคน้อยแล้วเลี้ยวซ้ายตามป้ายไปยังตำบลบ้านเก่ารวมระยะทาง
ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๓๔กิโลเมตร
          เหตุที่ทำให้กาญจนบุรีดังในการท่องเที่ยวประการหนึ่ง น่าจะมาจากความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เช่นเมื่อพระเจ้าปะดุงยกทัพมาตีไทย เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ ที่เรียกว่า สงครามเก้าทัพยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์มากถึง ๕ ทัพ และพระเจ้าปดุงเป็นผู้นำทัพเข้ามาทางด้านนี้ด้วยพระองค์เอง แต่ทัพไทยที่ยกออกไปรบนั้นมีกำลังพลเพียงสามหมื่นคน น้อยกว่ากันครึ่งหนึ่งของพม่า ๕ ทัพ ไทยทัพเดียวจอมทัพคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปตั้งทัพยันทัพพม่าอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า และใช้กลยุทธหลอกลวงพม่าเวลาค่ำให้ทหารเดินทัพออกทางหลังค่าย พอเช้าเดินเข้าทางหน้าค่ายจึงดูเหมือนเพิ่มกำลังพลเข้ามาและสกัดกองทัพพม่าด้วย "ปืนใหญ่" แต่กระสุนปืนใหญ่ของพระองค์ ไม่เหมือนของกองทัพใดทั้งสิ้นคือโปรด ฯ ให้ตัดไม้เนื้อแข็งมาตัดเป็นก้อน ให้บรรจุเข้าปากกระบอกปืนใหญ่ได้แล้วใช้ลูกกระสุนไม้นี่แหละยิงออกไปกระสุนปืนใหญ่สมัยนั้นแม้ว่าจะเป็นลูกเหล็ก ยิงออกไปแล้วก็จะไม่ระเบิดเหมือนกระสุนปืนใหญ่สมัยนี้ตกตรงไหน กลิ้งไปโดนใครเข้าถึงจะตายไม่มีสะเก็ดระเบิด ที่ยิงออกไปแล้วโดนอะไรเห็นไฟไหม้ก็เพราะใช้ผ้าหรือวัสดุที่ติดไฟได้ชุบน้ำมันพันกระสุนเมื่อยิงออกไป ความร้อนจะจุดผ้าชุบน้ำมันเป็นลูกไฟวิ่งออกไปโดนคน คนก็ตายโดนบ้านโดนค่ายก็จะลุกไหม้ ไทยมีลูกปืนใหญ่ที่ยิงออกไปแล้วระเบิดต่อไปได้ก็มามีสมัยรัชกาลที่๕นี้เอง คือ ปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการมีลูกกระสุนที่ระเบิดออกไปได้ดังนั้นการใช้กระสุนไม้ของกรมพระราชวังบวร ฯท่าน จึง
ไม่ห่วงว่ากระสุนจะหมดมีรับสั่งว่า"ตราบใด ไม้ในป่าเมืองกาญจนบุรียังไม่หมด กระสุนปืนใหญ่ไทยก็จะไม่หมดเช่นกัน"พระองค์ท่านจึงสกัดทัพพม่าไม่ให้หลุดออกมาจากช่องเขาได้ ด้วยกระสุนปืนใหญ่ไม้ที่ยิงกันไม่อั้น สุดท้ายพม่าที่หวังมาหาเสบียงในเมืองไทยด้วยก็ไม่สามารถจะหาเสบียงได้ ต้องรอเสบียงที่ส่งมาจากพม่าเท่านั้น โผล่ออกมาจากค่ายเข้าระยะยิงของปืนใหญ่ก็โดนกระสุนไม้ที่หนักใกล้เคียงกับเหล็กล้มตายไปสุดท้าย ๕ ทัพที่ยกเข้ามาทางด้านนี้ ก็ต้องถอยทัพกลับไป ส่วนอีก ๔ ทัพ ที่เข้ารบทางด้านอื่นเมื่อทัพหลวงถอยก็คงได้รับคำสั่งให้ถอยกลับเช่นกัน
          และความดังอีกประการหนึ่งคือ ในตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นที่มีสัญญากับไทยว่าขอเดินทัพผ่านเพื่อไปตีพม่าอินเดีย ซึ่งหากไทยไม่ยอมสู้รบกันในตอนนั้น ในระยะเริ่มแรกของสงครามที่เริ่มเมื่อ ๘ธันวาคม ๒๔๘๔  ไทยจะสูญเสียความเป็นเอกราช เพราะจะต้านทานความแข็งแกร่งของกองทัพญี่ปุ่นไม่ไหวอาวุธเราก็น้อยกว่ากำลังพลก็น้อยกว่า และกำลังญี่ปุ่นกำลังไหลมาแรง หากแพ้เราจะต้องถูกปลดอาวุธและถูกญี่ปุ่นเข้าปกครองทันทีแต่การที่รัฐบาลยินยอมเป็นพันธมิตร ให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปได้ก็เหมือนเป็นพันธมิตรกันยังมีความเป็นเอกราชอยู่ เอกราชที่ชาติไทยรักษาไว้ได้กว่า ๘๐๐ ปี โดยไม่เคยเสียเอกราชทั้งประเทศให้ใครเลยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ แต่เราก็มีไทยที่เป็นเอกราชแตกตัวอยู่อีก ๖ ก๊ก ซึ่งก็ทราบกันดีว่าก๊กที่สำคัญคือ ก๊กพระยาตาก หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อไทยยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านได้และเป็นพันธมิตรในการรบ ญี่ปุ่นจึงสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟในพม่าที่มีการสร้างอยู่ในพม่าที่มะละแหม่งใช้กรรมกรไทย จีน และเชลยศึกมากถึง ๑๗๐,๐๐๐คน เร่งก่อสร้างทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ทางรถไฟยาว ๔๐๐ กิโลเมตร แล้วเสร็จใน๑ ปี ทั้งงานหนัก อาหารน้อยไม่มียา ไข้ป่าชุกชุม สารพัดปัญหา เป็นผลให้กรรมกรและเชลยศึกตายไปกว่า ๔๕,๐๐๐ คน จึงได้ชื่อว่า ทางรถไฟสายมรณะและมีสุสานของเชลยศึกที่เสียชีวิตอยู่ในอำเภอเมืองกาญจนบุรีกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่ที่ญาติโยมของผู้เสียชีวิตจะมาจากต่างประเทศ เพื่อมาเยี่ยมหลุมฝังศพที่อยู่เยื้องกับสถานีรถไฟ ตกแต่งสวย
          การไปทองผาภูมิแล้วต่อไปยัง ตำบลปิล๊อค นั้นหากไปจากกรุงเทพ ฯ ก็จะไปผ่านนครปฐมแล้วมาผ่านอำเภอบ้านโป่งที่ตอนนี้กำลังสร้างสะพานข้ามทางรถไฟอยู่ จากบ้านโป่งก็ไปผ่านอำเภอต่างๆ ของกาญจนบุรีเที่ยวในเมืองก็มีสถานที่เที่ยวหลายแห่ง เช่น ประตูเมืองเก่าวัดถ้ามังกรทองแม่ชีลอยน้ำ พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่๒ สุสานทหารพันธมิตรสุสานเชลยศึกเขาปูนวัดถ้ำเขาปูน  สะพานข้ามแม่น้ำแควสวนสมเด็จย่าฯ เรื่อยไป จนข้ามทางรถไฟแล้ว จะพบถนนแยกซ้าย มีป้ายบอกเลี้ยวซ้าย ไปตามเส้นทางนี้ จะไปยังอำเภอไทรโยคที่มีน้ำตกเขาพัง หรือไทรโยคน้อย อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๕๐ กิโลเมตร เวลานี้ตรงข้ามทางเข้าตัวน้ำตก เป็นแหล่งอาหารแหล่งกินแหล่งของฝากใหญ่โตทีเดียว แต่ก่อนถึงสัก ๒ - ๓ กิโลเมตร ทางฝั่งซ้ายจะมีรถ หรือแผงขายอาหารมีป้ายบอกล่วงหน้าคือ ไส้อั่ว ไส้อั่ววุ้นเส้น ไส้กรอกอีสาน อร่อยนัก
          ผ่านน้ำตกเขาพัง หรือไทรโยคน้อยไปแล้ว ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๘๒ จะมีทางแยกซ้ายเข้าไปสัก๕กิโลเมตร เพื่อเข้าไปยังน้ำตกไทรโยคใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกไทรโยคด้วย มีที่พักมีแพพัก
          จากทางแยกเข้าน้ำตกไทรโยคใหญ่ ตรงต่อไป ซึ่งความยุ่งยากของผมไในการบอกหลักกิโลเมตรและระยะทางอยู่ที่ว่า การนับระยะทางหรือการปักหลักกิโลเมตร ไม่ได้นับยาวจากกรุงเทพฯไปจนถึงเจดีย์สามองค์ พอเปลี่ยนหมายเลขทางหลวงแผ่นดินก็นับ ๑ กันใหม่ และข้อสำคัญระยะทางจากหัวเสาหลักกิโลเมตรกับป้ายที่ขึ้นบอกระยะทางมักไม่ตรงกันระยะทางที่ผมบอกคือ ระยะทางประมาณเท่านั้นไม่ตรงเป๊ะ ด้วยสาเหตุดังกล่าว
          กรุงเทพ - กาญจนบุรี  ประมาณ ๑๓๖ กิโลเมตร
          กาญจนบุรี - ทองผาภูมิ ประมาณ ๑๒๗ กิโลเมตร ผ่านน้ำพุร้อนดินดาษที่กิโลเมตร๑๐๖ ไปอาบได้
          จาก เขื่อน - ไปยังบ้านไร่ ๓๐ กิโลเมตร โดยถนนจะแยกไปจากข้างทางลงเขื่อนจากบ้านไร่ไปอีก๓๒ กิโลเมตร จะถึงตำบลปิล๊อค
          ก่อนถึงตัวตลาดของตำบลปิล๊อค จะถึงสถานีตำรวจตำบลปิล๊อคก่อน และก่อนถึง สภต. จะมีร้านที่ขอบอกว่าเป็นร้านประเภทโชห่วยขนาดแท้คือ มีขายตั้งแต่ ผักสด อาหารสดอาหารกระป๋อง เครื่องสำอางของไทย, ของพม่า เช่น ทำให้หน้าขาวราคาเพียงกระปุกละ ๓๕ บาท แต่เขาบอกว่าร้านทำหน้าในเมืองขายกันถึงกระปุกละ ๓๐๐ บาท เอามาใช้ในการแต่งผิวหน้า"เขาว่า" ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงผมนึกว่าเป็นครีมจะซื้อมาทาเท้ากันส้นเท้าแตกกลายเป็นแป้งขัดผิวหน้าไป ติดกับร้านโชห่วยไม่มีชื่อนี้คือ สภต. เก่า ส่วน สภต. ใหม่นั้นสร้างอย่างดี แต่มีตำรวจประจำน้อยเพราะโจรผู้ร้ายไม่ค่อยจะมีในตำบลนี้และก่อนถึง สภต. เก่า สัก ๑๐๐ เมตร จะมีทางแยกซ้ายปากทางปักป้ายบอกว่า เหมืองนายสมศักดิ์เส้นทางนี้หากลงไปด้วยรถโฟวีล (รถเก๋งรถกระบะหมดสิทธิ์)  อีก ๕ กิโลเมตร จะถึงที่พักชั้นยอด และอาหารชั้นดีกับขนมเค๊กแสนอร่อยคือ ที่ผมจะพัก และกินอาหารในคืนวันนี้ติดใจเสียจนจะต้องกลับไปพักใหม่

          ในตลาดเหมืองปิล็อค คงมีห้องแถวเก่าๆ อยู่ริมถนน มีโรงแรมเก่าแก่ โรงภาพยนตร์เก่าแก่ ส่วนคำว่า เหมืองปิล๊อค นั้นหมายถึง เหมืองหลายเหมืองที่อยู่ในตำบลนี้ ไม่ใช่มีแค่เหมืองเดียวเช่นที่เข้าใจกัน เช่นเหมืองที่ลงไปพักชื่อเหมืองนายสมศักดิ์ เป็นต้น เป็นเหมืองขนาดเล็กใช้กำลังคนเจาะเข้าไปก็มีระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๗ กุมภาพันธ์  เขามีงานตำนานเหมืองปิล๊อค แต่ผมไปหลังงานวันหนึ่ง ไปวันที่ผู้ว่าฯ ไม่ได้ไป เลยไม่ค่อยมีอะไรให้ชม นอกจากเครื่องมือที่ทำเหมืองและทราบว่าสินแร่สำคัญคือดีบุก และวูลแฟรม และยังมีแร่อื่น ๆ อีกถึง ๑๐ ชนิดรวมทั้งแร่ทองคำด้วย แต่คงไม่มากพอที่จะคุ้มค่าในการทำเหมือง
          ชุมชนของตำบลปิล๊อคนี้เรียกว่า  "บ้านอีต่อง"ซึ่งในปิล๊อคมีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกเขาใหญ่น้ำตกน้ำดิบใหญ่น้ำตกจ๊อกกระดิ่น น้ำตกบิเต็ง น้ำตกห้วยเหมืองมีจุดชมวิวทิวทัศน์เขาขาดอยู่ในท้องที่บริเวณน้ำตกจ็อกกระดิ่น
          เนินเสาธงอยู่ในท้องที่หมู่บ้านหินกอง รถขึ้นไปได้แต่รถต้องกำลังดี ๆ สักหน่อย รถเก๋งไปได้ยอดเนินมีธงไทยกับธงพม่าปักเอาไว้ ให้ทราบถึงเขตแดนไทยพม่า และต่ำลงมาคือสถานีส่งแก๊ส ที่ไทยซื้อจากพม่ามาจากอันดามันมาส่งต่อที่สถานีตรงจุดนี้ ๑แห่ง ซึ่งเมื่อก่อนนี้ดินแดนที่ติดกับชายแดนไทยมีทหารกะเหรี่ยงครอบครองอยู่ เมื่อประมาณปี ๒๕๓๒ ผมทำงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนาตามแนวชายแดนได้เคยลงไปเยี่ยมกองกำลังกะเหรี่ยง และขออย่าให้เข้าบุกเข้ามาในแดนไทย เมื่อถูกพม่าโจมตีและจากการต่อสู้กับทหารพม่าทำให้ลูกปืน ลูกเครื่องยิงลูกระเบิดตกเข้ามาในหมู่บ้านทำให้เกิดไฟไหม้ ซึ่งในตอนนั้นทางสำนักงานที่ผมเป็นรองอยู่ (ผู้อำนวยการคือพลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์)  ได้หาเครื่องสูบน้ำดับเพลิงไปให้ไปคราวนี้ได้พบกำนันปิล๊อค ถามดูบอกว่าเครื่องดับเพลิงที่ผมนำมาให้นั้นยังอยู่ยังซ่อมใช้การได้นอกจากนี้ก็ไปดูอุโมงค์ ที่เขาเจาะไปทำเหมือง ไปวัดปิล๊อคที่มีอุโบสถเล็กๆ ขนาด ๓ หน้าต่าง น่ารัก มีสินค้าจากพม่าขายตามร้านในตลาด หรือร้านโชห่วยที่ผมบอกและหลังจากที่ผมเอาเครื่องดับเพลิงไปให้แล้ว ก็ไม่ได้ไปอีกพึ่งมาไปคราวนี้ห่างกัน๑๖ ปี กองกำลังกะเหรี่ยงไม่มีแล้ว เพราะพม่าตีรุกเข้ามาแต่กะเหรี่ยงรักษาคำสัญญาไม่ถอยเข้ามาในไทย สู้ตายว่างั้นเถอะ แต่พม่าอ้อมเข้ามาในเขตไทยแล้วตีตลบหลังกะเหรี่ยงๆ จึงแพ้
          ย้อนกลับมายังทางลงสู่เหมืองนายสมศักดิ์  ซึ่งทางลงหากมาจากตลาดปิล๊อคประมาณ๕ กิโลเมตร จะถึง สภต.ตำบลปิล๊อค ต่อมาร้านโชห่วย ต่อมาอีกนิดทางลงอยู่ทางขวามือ เมื่อเรามาจากตลาดทางจะลงเกือบตลอดระยะทาง ๕ กิโลเมตร สองข้างทางเป็นป่าสดสวยถนนเป็นหินแข็งใช้ได้ทุกฤดู แต่เที่ยวกลับรถ จะวิ่งขึ้นอย่างเดียว ดังนั้นรถเก๋งรถตู้ รถที่ไม่มีโฟวีลหมดสิทธิ์ลงไปยังเหมืองนี้
          นายสมศักดิ์ เจ้าของเหมืองตายไปแล้ว ประมาณสักสิบปี แต่ภริยาของนายสมศักดิ์เป็นฝรั่งชาติออสเตรเลียพูดไทยปร๊อไปเลยบอกว่าอยู่เมืองไทยมา ๓๙ ปีแล้ว รู้จักชอบพอกับคุณสมศักดิ์ที่ออสเตรเลียมา๔ ปี จึงมาอยู่ด้วยกันที่เมืองไทย แหม่มทำงานเป็นอาจารย์สอนใน ม.กรุงเทพ ฯเป็นเวลา ๑๘ ปี แล้วจึงเข้ามาอยู่ที่เหมืองแห่งนี้ อยู่กันไม่กี่ปีคุณสมศักดิ์ก็ตายจากไปด้วยโรคร้ายการทำเหมืองต้องหยุดชะงักทั้ง ๆ ที่ยังมีที่ดินสัมปทานเหลืออีกแปลงหนึ่งจากเคยมีคนงานมากถึง ๖๐๐ คนต้องเหลือเพียง ๖ - ๗ คน และไม่ได้ทำเหมือง แต่ทำรีสอรท์แทน มีบ้านพักที่พักได้๒ หลัง แต่ละหลังมีหลายห้องพักได้รวมประมาณ ๒๒ คน ห้องละ ๒ - ๔ คน แต่เป็นบ้านพักชั้นเยี่ยมเชิงเขาหลังหนึ่งไม่ห่างกัน มีบ้านใหญ่ ที่อยู่ของแหม่มอีกหลังหนึ่ง ซึ่งจัดบ้านแบบบ้านฝรั่งตามชนบทสะดวกสบาย  สวย ห้องน้ำเยี่ยมยอด นอกจากจะเป็นสากลแล้ว ยังจัดสวนต้นไม้ไว้ในห้องน้ำจัดวางของเล็กๆ น้อย ๆ ไว้สวยทีเดียว และหางานให้คนงานทำนอกเวลาเช่น สอนให้ปักผ้าปูโต๊ะขายแก่ผู้มาพักแล้วแบ่งเงินให้คนงานครึ่งหนึ่งเพราะแหม่มต้องเลี้ยงคนงานตลอดปีแต่แขกเข้าพักในฤดูฝนน้อย แต่ส่วนตัวผมแล้วต่อไปจะมาพักในฤดูฝน หรือฤดูร้อนเพราะทองผาภูมิได้ชื่อว่าเป็นแห่งหนึ่งใน๓ แห่งที่แข่งขันกันในเรื่องร้อนและหนาว วันที่ผมไปตกตอนกลางคืนอุณหภูมิเหลือ๑๓ องศาเซ็นเซียส ยิ่งเช้าก็ยิ่งเย็น แต่พอสายแดดออกก็เริ่มร้อน ฤดูฝนน้ำตกน้ำในลำธารก็จะมากเพิ่มความงามของธรรมชาติมากขึ้นอีก ต้นไม้ ใบหญ้า จะเขียวชอุ่มสวยยิ่งกว่าฤดูหนาวกลางคืนก็เย็นและที่ปิล๊อคนี้มีหน่วย ตชด. อยู่หลายจุด สมัยที่ผมรับราชการ ถนนยังแย่มาก เดินทางกันวันหนึ่งจึงจะถึงแต่ปัจจุบันจากเขื่อนวชิราลงกรณ์มายังปิล๊อคประมาณชั่วโมงครึ่ง สำหรับขามาและขากลับลงเกือบตลอดทาง จะเร็วกว่านี้ ๖๐ กว่ากิโลเมตร จะเป็นถนน คดเคี้ยวไปตามไหล่เขาทั้งสิ้นท้าทายฝีมือนักขับรถ แหม่มแกรักเมืองไทยมาก ไม่คิดกลับเมืองนอก และไม่คิดแม้แต่จะกลับไปอยู่ในเมืองอยู่ในป่านี่แหละ ป่าจริง ๆ รีสอร์ทของแหม่มมีไม้สวย ๆ แปลก ๆ ผมขอต้น "หนำเลี๊ยบ"ที่ลูกดำ ๆ กินกับข้าวต้มอร่อยนักมาต้นหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะปลูกสำเร็จหรือเปล่าเรื่องอาหารแหม่มรับรองไม่อั้น รวมทั้งรถรับ - ส่ง ด้วย  แต่หากเรามีรถโฟวีลไปเองก็เอาลงไปได้เลยหากไม่มีก็เอารถฝากไว้ที่ สภต. ไม่หาย รถพาเที่ยวในปิล๊อค แหม่มบริการ พอมาถึงตรงร้านโชห่วยใกล้เที่ยงก็บริการข้าวกล่องเป็นข้าวผัดไส้กรอก จบแล้วเที่ยวในตลาดก่อนสัก ๒ ชั่วโมงจึงเข้ารีสอร์ท พอไปถึงแหม่มจะต้อนรับด้วยชา กาแฟ และข้อสำคัญคือ แหม่มทำขนมเค้กเก่งมากอร่อยมาก เตรียมขนมเค้กอันโตเท่าจาน ผมถ่ายรูปมาแล้วไว้ให้ชิมกันถึง ๕ ชิ้นเช่น เค้กช็อกโกแลท เค้กแครอท เป็นต้นวันกลับเหลือเท่าไร แหม่มตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่กล่องมาให้กินกลางทาง
          จบอาหารว่าง บ่ายเข้าที่พัก เดินชมป่า ชมเขา ชมธารน้ำไหล แต่หากฤดูแล้งไม่มีน้ำไหลเพราะเขาจะกักเอาพลังน้ำไว้ทำไฟฟ้าบรรจุเข้าแบตเตอรี่เอาไว้ พอตกเย็นก็ปล่อยไฟฟ้ามาให้ใช้ได้ถึงหกทุ่มแล้วเปิดใหม่ตอนหกโมงเช้าส่วนน้ำใช้ น้ำตกจากเขากรองจนใส สะอาด น้ำร้อนใช้ถังใหญ่ต้มด้วยฟืนปล่อยมายังห้องน้ำมีทั้งเช้าและค่ำอาหารเย็น กินกันที่ระเบียงบ้านพัก ซึ่งบ้านที่ผมพักมี๓ ห้อง ๑๒ เตียง ระเบียงรอบบ้านเก๋มากกินอาหารกันที่ระเบียง ชมดาวไปด้วยหากคืนเดือนหงายคงชมจันทร์แทน
          อาหารจานเด็ดคือ
          บาบีคิว  เอาสาว ๆ น่าจะเป็นมอญ มาปิ้งให้ ๒ - ๓ หน้าตาดี ๆ ด้วย มีบาบีคิวไก่และบาบีคิวโครงหมูหมักจนเข้าเนื้อแล้วจึงเอามาปิ้ง กินกันร้อน ๆ เลยทีเดียวอร่อยมาก
          แกงจืดเต้าหู้ ได้ซดร้อน ๆ ผัดถั่วแขก เก็บมาสด ๆ จากไร่ของรีสอร์ท ผัดวุ้นเส้นและยำเห็นหูหนูขาวจากเด็ดอยู่ที่บาบีคิว เจอเอาบาบิคิวไม้โต ๆ ไปคนละไม่ต่ำกว่า๕ ไม้ ก็แทบจะอิ่มแล้ว
          อาหารเช้า ไปกินที่ห้องอาหารที่บ้านแหม่มจัดโต๊ะสวยแบบฝรั่ง บ้านที่แหม่มพักเดิมคือโรงแร่เก่าดัดแปลงตกแต่งจนกลายเป็นบ้านฝรั่งตามชนบทแหม่มเองแต่งตัวเหมือนคนไทยนุ่งผ่าซิ่น อายุหกสิบก่าแล้ว
          อาหารเช้ามีไส้กรอก เบค่อน ไข่ดาว ขนมปังสดห่อผ้าใส่โถปิดฝาไว้ โถสวยทีเดียว มีข้าวต้มหมูร้อน ๆ รสเยี่ยมเอาไว้ให้ชิมด้วย
          ผมพักเพียงคืนเดียว ไปคราวหน้าผมจะพักสองคืนเรียกว่า กินอาหารเช้าแล้ว จะไปเที่ยวเขื่อนวชิราลงกรณ์ไปอำเภอสังขละบุรีไปวัดวังวิเวการามของหลวงพ่ออุตตมะ ไปด่านเจดีย์สามองค์แล้วกลับมานอนอีกคืนหนึ่งจะได้พักกับธรรมชาติจริง ๆ ที่อากาศหนาวเย็น บริสุทธิ์ยากจะหาที่ใดเหมือน
          ในตลาดปิล๊อค เขาเขียนไว้ว่า ตามใจปากเป็นหมู ตามใจจู๋ เป็นเอดส์

..................................................................


| บน |

ตำบลปิล๊อค: ข้อมูลตำบลปิล๊อค ท่องเที่ยวตำบลปิล๊อค ข้อมูลเที่ยวตำบลปิล๊อค


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์