ตลาดบอง
มาร์ เช่
ตลาดบอง
มาร์ เช่
เห็นชื่อเรื่องแล้วอย่าตกใจนึกว่าผมจะพาไปเที่ยวประเทศฝรั่งเศส หรืออย่างไร
ยังไม่ได้ไปไกลถึงขนาดนั้น แต่เมื่อตอนไปฝรั่งเศสครั้งแรกนั้นกว่าสามสิบปีมาแล้ว
พอกลับจากสงครามเวียดนามได้สัก ๖ เดือนก็เหาะไปพบเลขาตลอดกาลของผมที่ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส
ที่เอาความหลังตั้ง ๓๕ ปีมาเล่าให้ฟัง ไม่ได้แสดงความเก่งกาจอะไร จะอธิบายตลาดบอง
มาร์ เช่ คำเดียว นึกถึงความหลังขึ้นมาเลยเอามาเล่าให้ฟัง เผื่อท่านผู้อ่านที่นึกสนุก
พอมีสตางค์ มีเวลา รักการผจญภัยเหมือนอ่านเรื่องบู๊ ๆ ในบางกอกนี่แหละ
ลองไปเที่ยวอย่างผมดู สนุกอย่าบอกใครเชียว จบการอธิบายว่าวันนี้ไม่ได้ไปฝรั่งเศส
แต่ไปตลาดชื่อฝรั่งเศส คือ ตลาดบอง มาร์ เช่ ถามเลขา ฯ ดูแล้ว บอง มาร์
เช่ แปลว่า ราคาถูก "BON MARCHE" ตลาดขายของราคาถูก ตลาดนี้เข้าหลักของกระทรวงสาธารณสุข
คือ คลีน ฟู้ด กู๊ด เทสท์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย
ถ้าจะไปจับจ่ายตลาดบองมาร์เช่ และถือโอกาสไปเที่ยวด้วย ขอแนะนำว่าไปเช้า ๆ
กะให้ไปถึงตลาดหลังเที่ยง หรือพอดีเที่ยง ตอนเช้าไปเที่ยวสวนเสียก่อนก็ได้
กรุงเทพ ฯ ไม่มีอุทยานแห่งชาติ แต่มีสวนให้เที่ยว เป็นที่พักผ่อนหลายแห่งด้วยกัน
ที่ไม่ไกลกันนักกับตลาดบอง มาร์เช่ ก็เห็นจะมีดังนี้
สวนจตุจักร
ด้านที่เป็นที่ท่องเที่ยวพักผ่อน ออกกำลังจะไปเดินยามเช้า ไปวิ่งยามเย็น คงจะต้องเป็นด้านที่อยู่ติดกับถนนพหลโยธิน
ด้านตรงข้ามกับธนาคารทหารไทย และสถานีรถไฟหมอชิต อีกส่วนของสวนจตุจักรก็คือ
ส่วนที่ติดตลาดนัดกันในวันเสาร์ - อาทิตย์ แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะหยุดวันจันทร์
อยู่วันเดียว นอกนั้นมีนัด ต้นไม้ตั้งแต่วันพุธ นัดปลาสวยงามสารพัดในวันเสาร์
อาทิตย์ผมไม่ค่อยได้ไป เพราะที่จอดรถหายาก มีมากเหมือนกัน แต่ต้องเดินไกลไปหน่อยสำหรับคนวัยอย่างผม
จะไปแท็กซี่ก็ไม่สนุกตอนเดินหิ้วของนี่แหละขอออกนอกเรื่องไปสักนิด ผมไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
ตอนที่เขาจัดริมคลอง และที่คุรุสภา จัดครั้งแรก ๆ ก็สนุกดีเพราะพอจะหาที่จอดรถได้
ซื้อหนังสือแล้วก็เดินกลับมาเก็บ ออกไปซื้อใหม่เป็นที่สนุกสนาน ต่อมาไม่สนุกเพราะไม่รู้จะจอดรถที่ไหน
ขับรถไปถึงได้แต่วนไปรอบ ๆ แล้วขับกลับบ้าน หากจะจอดกันจริง ๆ ผมพอจะขอเข้าไปจอดในกองบัญชาการกองทัพบกในสมัยนี้
หรือตอนนั้นยังเป็นโรงเรียนนายร้อยที่ผมเคยเรียน พอขอจอดได้ แต่ต้องเดินกันขาลาก
จะซื้อแล้วเอาไปเก็บก็ต้องไปแท็กซี่ขาดความสนุก เลยเอามาเขียนไว้ในหนังสือทุกเล่ม
และเสนอแนะว่า ควรจะจัดที่ศูนย์สิริกิติ์จะดีกว่า หรือไบเทคบางนาก็ได้ แต่ไกลหน่อย
ต่อมามีการย้ายไปจัดที่ศูนย์สิริกิติ์ เขาจะไปของเขาเอง หรือมาอ่านเจอที่ผมแนะนำเข้าก็ไม่ทราบ
ทีนี้ไปสนุกจากบ้านผมที่ลาดพร้าว ขึ้นทางด่วนไปสองเด้งลงถนนพระราม ๔ เลี้ยวซ้ายอีกทีก็ถึงแล้ว
มาปี ๒๕๔๗ เริ่มมีปัญหาที่จอดรถอีกแล้ว และยังเพิ่มขึ้นมาอีกงานคือ งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติในปี
๒๕๔๘ นี้เป็นครั้งที่ ๑๐ แล้ว และจะมีงานในต้นเดือนตุลาคม ส่วนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติไปมีตอนปลายมีนาคมถึงต้นเมษายน
ปี ๒๕๔๘ ผมไปงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ไปวันราชการไปตั้งแต่เช้านึกว่าคนจะไม่แน่น
ปรากฏว่าไปวนอยู่ ๒ รอบ ต้องกลับบ้าน หากเป็นวันหยุด ที่จอดรถจะมากขึ้นเพราะโรงงานยาสูบปิด
เหลือที่ว่างให้จอดรถได้ แต่คนมางานก็จะมากกว่าวันธรรมดา คงจะเท่าตัว วันหลังผมไปขึ้นรถใต้ดินไปสะดวกดี
เป็นการขึ้นรถใต้ดินในประเทศเป็นครั้งแรกของผม สะดวก เร็วมาก ที่จอดรถทิ้งไว้ก็สะดวก
สตางค์จ่ายค่าจอดรถก็ไม่เสีย คราวนี้เอาลูกชายไปด้วย เขาจะได้ช่วยลากรถเข็นใส่หนังสือจบแล้ว
ก็ลากมาขึ้นรถใต้ดิน สถานีอยู่ตรงหน้าศูนย์สิริกิติ์นั่นแหละ แต่ไม่กินอาหารในห้องอาหารของศูนย์
ฯ เพราะแน่นเหลือเกิน ในศูนย์ ฯ เองก็แน่นมากเดินเบียดกันเลยทีเดียว ราคาหนังสือปีนี้ลดน้อย
ร้านหนังสือมาออกกันมากคงจะหลายร้อย ที่เอามาเป็นตัวอย่าง
ก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
และงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ต้องคิดขยับขยายหาสถานที่ใหม่ ให้มีที่จอดรถมากกว่านี้
คนไทยมาเที่ยวงานหนังสือกันมาก ๆ เช่นนี้ แสดงว่าความสนใจมีมาก อ่านมากจะได้ฉลาดมาก
ๆ อาจจะย้ายไปที่ไบเทค หรือสร้างศูนย์พิเศษขึ้นเลย ขายหนังสือเหมือนเปิดตลาดนัดจตุจักรเลยจะดีไหม
และที่น่าชมเชยคือวัยรุ่น ไม่ว่าหนุ่มหรือสาว เดินงานหนังสือกันมากขึ้น แต่ราคายังแพงไป
ยิ่งเยาวชนที่ไม่มีรายได้ ขอสตางค์พ่อแม่มา ได้มาสักพันก็ซื้อได้ไม่กี่เล่ม
หอเกียรติภูมิรถไฟ
หอนี้อยู่ทางด้านเหนือของสวนจตุจักร ใกล้บริเวณลานจอดรถ ริมถนนกำแพงเพชรเช่นกัน
เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
สวนนี้เดิมขึ้นกับองค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเปลี่ยนระบบการบริหารแผ่นดินใหม่
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ก็มาขึ้นกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม องค์การนี้จัดตั้งขึ้นมาให้ประเทศไทยมีสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง
เป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้ไทย ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านพืชทำหน้าที่เป็นศูนย์ศึกษาค้นคว้า
วิจัยและอนุรักษ์ ผลิตบุคลากร และให้บริหารด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย โดยเฉพาะเป็นสถานที่เผยแพร่ความสวยงาม
และคุณค่าของพรรณพฤกษชาติไทย เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก "คือความสำคัญขององค์การสวนพฤกษศาสตร์
"
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนแรกก่อตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖
และสมเด็จพระนางเจ้าโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชานุญาต ให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ว่า
"สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ " พระราชทานเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
ที่ตั้งสวนแห่งแรกคือ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านตัวอำเภอแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางจะไปอำเภอสะเมิง
ประมาณ ๑๐ กม. ซึ่งจะเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ไทย เป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติและแหล่งข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
เป็นศูนย์รวมตัวอย่างพรรณไม้สำหรับงานศึกษา มีตัวอย่างพรรณไม้แห้งอยู่ประมาณ
๓๐,๐๐๐ ชนิด และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์แห่งที่สอง ที่ผมแนะให้ไปเที่ยว ไปพักผ่อนในวันนี้
ก่อนที่จะไปตลาด บอง มาร์ เช่ คือที่ถนนกำแพงเพชร หากตั้งต้นจาก เซ็นทรัลลาดพร้าว
(เส้นทางนี้จะอ้อม แต่ง่ายต่อการบอกเส้นทาง) วิ่งไปทางสี่แยกเกษตรศาสตร์
พอถึงสี่แยกรัชโยธินเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ขึ้นสะพานข้ามถนนวิภาวดีแล้วลงทางซ้ายในช่องแรก
ซึ่งจะวนไปลงถนนกำแพงเพชร วิ่งไปทางจะไปสวนจตุจักรก่อนถึงสวนจตุจักรที่ติดตลาดนัดกัน
สวนสมเด็จ ฯ จะอยู่ติดถนนทางซ้ายมือ ไปสายจะหาที่จอดรถไม่ได้และ รปภ. จะปิดกั้นไม่ให้เข้าเลยทีเดียว
ไม่ยอมให้จอดซ้อนกันด้วย หากยินยอมรถคงเข้าจอดได้อีกนับร้อยคัน หรือเดี๋ยวนี้หากยอมให้จอดซ้อนกันได้แล้ว
ก็ต้องขออภัย เพราะผมเคยเขียนแนะนำไป สงสารคนมาไกลมาถึงเข้าไม่ได้ ความจริงยังจอดซ้อนได้อีกภายในสวนนันแสนสวย
เหมาะสำหรับไปเดินชมพรรณไม้ต่าง ๆ ที่แบ่งเป็นโซน พร้อมทั้งสระน้ำที่เหมือนทะเลสาบน้อย
ๆ เกาะแก่ง งามจริง ๆ ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ยืนต้นเขียวชอุ่มงดงามตลอดปี ทั่วทั้งสวน
แต่ไม่ใช่สถานที่ไปออกกำลัง ไปเดินเล่น ไปชมพรรณไม้จะเป็นสุขอย่างยิ่ง
แต่หากจะออกกำลังเต้นแร้งเต้นกากัน ให้ถึงใจมีอีกสวนไม่ไกลกัน คือ
สวนรถไฟ
ที่เคยเป็นสนามกอล์ฟรถไฟเดิม ตอนนี้ไม่มีสนามกอล์ฟแล้ว เป็นสวนที่กว้างขวางมีพื้นที่ไม่ใช่น้อย
มีทะเลสาบน้อย ๆ ต้นไม้ใหญ่ที่ร่มรื่น แต่พรรณไม้ไม่มากหรืองามเท่าสวนพฤกษศาสตร์
ไปสวนรถไฟต้องเข้าทางถนนวิภาวดี เลาะรั้วสวนจตุจักรไปวนไปทางซ้ายจะพบป้าย
และทางเข้า อย่าวนออกมาถนนวิภาวดีก็แล้วกัน ไปยามเช้า หรือยามเย็นจะเห็นกลุ่มนักเต้นทั้งหลายเต็มสวนเลยทีเดียว
แต่ละกลุ่มมีจำนวนมากด้วย มีผู้นำเต้นยืนบนโต๊ะ สาวแก่ แม่หม้ายเต้นกันเต็มสนาม
ผมไปตลาด บอง มาร์ เช่ โดยไปแวะกินอาหารกลางวันเสียก่อน เพราะอยากกินข้าวราดหน้าไก่
ที่นับว่าอร่อยและร้านนี้ของกินประเภทจานเดียวมีมาก หน้าร้านติดสติคเกอร์
กินเที่ยวทั่วไทยเอาไว้เต็มติดไว้ที่ประตู คือ ร้านโจ๊ก มีโจ๊กขายตั้งแต่เช้าไปยันดึก
ผมเลยไป บอง มาร์ เช่ ทางนี้คือ จากเซ็นทรัลลาดพร้าว ไปเลี้ยวซ้ายที่รัชโยธิน
ขึ้นสะพานข้ามรางรถไฟ ตรงไปจนถึงสี่แยกเลี้ยวขวาลอดใต้สะพาน ไปตามถนนที่มีป้ายบอกว่า
ไปถนนงามวงค์วาน คือ ถนนประชาชื่น หากไปกินข้าวแช่ชาววังขนานแท้ เลี้ยวซ้ายเข้าซอย
๓๓ ตรงเรื่อยไปจนถึงสามแยกมีไฟสัญญาณมีป้ายบอกไว้ทางซ้ายว่า ไปวัดเสมียนนารี
ให้เลี้ยวขวาข้ามสะพานผ่านหน้าตลาด ประชานิเวศน์ ๑ เข้าถนนคู่ขนานไว้ ร้านโจ๊กจะอยู่ติดกับร้านฮัมมิงเวย์
จอดรถได้ที่ในซอยหน้าร้าน หรือเลยไปเลี้ยวซ้ายที่สี่แยก ไปจอดได้ที่ร้านท๊อป
ร้านโจ๊ก สะอาดตา กว้างขวาง หนุ่มสาวชอบนั่งกันมากเปิดตั้งแต่เช้ายันดึก อาหารจานเดียวมีมาก
อาหารเจก็มีทุกวัน ใครชอบโจ๊ก ชามเด็ด ก็โจ๊กหมู หมึก ตับ ใส้ หัวใจ ไข่ ครบเครื่องเลย
วันนี้ผมตั้งใจกินข้าวราดหน้าไก่ ก็สั่งข้าวราดหน้า ไก่ กับเกี๋ยวเตี๋ยวเย็นตาโฟ
ปิดท้ายด้วย บัวลอย กล้วยหอม
หากไม่แวะร้านโจ๊ก ให้วิ่งเส้นกลางอย่าเข้าคู่ขนาน พอผ่านสี่แยกมีไฟสัญญาณก็กลับรถมาเข้าประตูตลาดบอง
มาร์ เช่ รับบัตร จ่ายเงินตอนกลับ ๑๐ บาท ที่จอดรถมาก ที่หมายของผมวันนี้อยู่ทางปีกซ้ายของตลาด
เมื่อหันหน้าเข้าตลาด
เส้นทางไปตลาดเส้นทางที่ ๒ จากลาดพร้าววิ่งมาตามถนนวิภาวดี ก่อนถึงสถานีรถไฟบางเขน
จะเห็นป้ายวัดเสมียนนารีทางซ้าย ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปก่อนถึงสี่แยก ตลาดจะะอยู่ทางซ้ายมือ
เป็นตลาดที่สะอาดมาก จัดภายในตลาดอย่างเป็นระเบียบ ด้านหลังติดสระน้ำใหญ่
มีน้ำพุพุ่งและตอนนี้บริเวณตลาดด้านข้าง และด้านหลัง คือ พื้นที่รอบ ๆ สระมีอาคารเป็นพลาซ่า
เป็นร้านอาหารมีอีกหลายสิบร้าน ยังไม่ได้เดินไปสำรวจ ภายในตลาดบอง มาร์
เช่ นั้นแบ่งออกเป็นสี่ช่องทางเดิน และมีป้ายบอกไว้ว่าเป็นย่านอะไร เช่น ขนม
อาหารสด ฯ แต่ต้องขอยกย่องว่ามีของกินมากมายจริง ๆ ใครชอบกินไม่กลัวอ้วนละก็หมั่นไปเดินบ่อย
ๆ เดี๋ยวก็อ้วนเอง เพราะน่ากิน น่าซื้อไปหมด จัดแผง จัดร้าน สวยเป็นระเบียบ
ราคาไม่แพง ผลไม้ก็มีมาก พวกยา พวกสมุนไพร ก็มี ผักสดก็มีแต่ไม่ได้วางขายแบบตลาดสดทั่วไป
เนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แพ็ควางไว้ในตู้แช่เช่นเนื้อวัว จากฝรั่งเศสก็มีจำหน่ายเขาเขียนป้ายบอกไว้
ของกินนั้นสารพัดจริง ๆ เช่น ข้าวเฉโป หากินยากที่นี่ก็มียังไม่ได้ลองชิม
เดินดูตามซอยเขามีป้ายบอกหมูกรอบนายไซ นายง้วนลูกชิ้นปลา ไก่ย่างเขาสวนกวาง
ข้าวห่อใบบัว อบ -อุ่น "ข้าวซอย " ปอเปี๊ยะสด ขนมกุ่ยช่าย เชลล์ชวนชิม
ขนมหวาน อาหารสำเร็จรูป ข้าวแกงปักษ์ใต้ ขนมจีน สุดที่จะพรรณามากจริง
ๆ ขนมไทยเจ้าสุดท้ายอยู่ช่อง ๓ ปีกซ้าย คือ ร้านดังในตลาด อตก.
ผมจะชวนชิม ชวนซื้ออาหารกลับบ้าน เจ้านี้ผมรู้จักเขามา ๑๘ ปี แล้วตั้งแต่เขายังอยู่ในอินโดนิเซีย
รู้จักกันตอนที่ผมนำนักกีฬาปัญจักสิลัต รุ่นแรก ไปแข่งซีเกมส์เป็นครั้งแรกที่จาร์กาต้า
แม้จะเป็นการไปแข่งครั้งแรกแต่ก็ได้เหรียญทองกลับมา ผมได้มีโอกาสรับเชิญไปกินอาหารที่บ้านของนายทหารอากาศ
นอกราชการท่านหนึ่ง ซึ่งบิดาของท่านก็เป็นนายพลทหารอากาศ อายุน้อยกว่าบิดาผม
ซึ่งเป็นชั้นนายพันทหารอากาศ ผมเรียกท่านว่า คุณอา ส่วนนายทหารอากาศท่านนี้อายุน้อยกว่าผมก็เรียกผมว่าพี่
ภริยาของท่านนั้นเป็นระดับอาจารย์ทางโภชนาการ ไปอยู่ประเทศใดก็ทำอาหารและเขียนตำราอาหารไทย
ด้วยการเอาวัตถุดิบจากประเทศนั้นมาปรุงแต่งเป็นอาหารไทย เมื่อกลับมาอยู่ประเทศไทยก็ทำอาหารสำเร็จรูปจำหน่ายที่
ตลาดบอง มาร์ เช่ เขียนตำราอาหาร สอนการทำอาหาร ส่วนสามี ก็ยังไม่หยุดทำงานยังสอนภาษาอยู่ที่
"AUA"
ร้านที่ชวนไปซื้อกลับมาชิม หรือจะยืนชิมกันหน้าร้านก็ไม่มีใครว่า หากหันหน้าเข้าตลาดบอง
มาร์ เช่ เข้าทางช่องซ้ายสุด เข้าไปแล้วจะเห็นตู้โทรศัพท์แขวนอยู่ ๒ ตู้
ร้านอยู่หัวมุมของช่อง ๒ ร้านต่าง ๆ ในตลาดนี้เป็นร้านเล็ก ๆ เนื้อที่ไม่มาก
แต่จัดร้านกันเก่ง เป็นระเบียบ เห็นในตู้ก็น่ากินแล้ว ส่วนมากไม่มีโต๊ะนั่ง
นอกจากร้านอาหารทางด้านริมสระน้ำ ชวนชิมอาหารไว้ ดังนี้ พายทูน่า กินปลาดี
ไม่มีกลิ่นคาว, พายไก่ เนื้อไก่ขาว ไม่ติดมัน, พายผัก (คีช) ผักขม
แครอทและชีสพร่องมันเนย แอ๊ปเปิ้ลพาย สูตรดั้งเดิมจากอเมริกา แซนวิช ทูน่า,
ไก่ กับขนมปัง โฮลวีท, ขนมเบื้องเม็กซิกัน (Tacos) พร้อมด้วยผักสลัด
ไก่ผัดเครื่องเทศ ซีสราดด้วยซ๊อสพริก แม็กซิกันเผ็ดน้อย
ยังมีอีก สปาเก็ตตี้ปลาเค็ม หอมอร่อย สปาเก็ตตี้หอยลาย สปาเก็ตตี้ซ๊อสไก่
สปาเก๊ตตี้คาโบนารา มีแฮมชีส ราดด้วยครีมซ๊อส มะกะโรนี มีแฮม หมูอบ ผมไปทีไรชี้เอาหมด
เก็บไว้ได้จะกินเมื่อไรเอาเข้าไมโครเวฟ เรียกว่าเป็นได้ทั้งมื้อเย็น และเช้า
ที่อร่อยควรซื้ออีกก็คือ ช่อม่วง อาหารกินเล่น เป็นอาหารว่าง กระทงทอง โบราณ
สาคูไส้หมู ปั้นสิบไส้ปลากะพงขาว
ปีใหม่ วันเกิด ต้องสั่งทำขนมเค้ก อินโดนิเซีย สวยมาก อร่อยมากด้วย
สูงตั้งสามสิบชั้น
" หรุ่ม" ไทยแท้ ที่คนไทยกำลังจะไม่รู้จักกันแล้ว ร้านจะมีขายในวันเสาร์
- อาทิตย์ แต่จะสั่งพิเศษได้ ผมจะเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน อธิบายไว้ดังนี้
" หรุ่ม ชื่ออาหารอย่างหนึ่ง ไส้ทำด้วยหมูหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผัดกับถั่วลิสง
หัวหอม และเครื่องปรุง ห่อด้วยไข่ โรยฝอยขนาดพอดีคำ "
ร้านอยู่ปากซอย ๒ หากเดินเลยไปอีกซอยคือ ซอย ๓ เข้าซอยนี้เดินไปสัก ๓ - ๔
ร้าน ทางขวามือมีร้าน ยกป้ายเที่ยวไป กินไป เอาไว้ มีหม้อดินตั้งบนเตาแต่ไม่ได้ทำข้าวเกรียบปากหม้อเพียงอย่างเดียว
อีกหม้อจะทำขนม "ถั่วแป๊ป" ผมพบที่นี่แห่งเดียว ที่ทำขนมถั่วแป๊ปกันสด
ๆ คือ แทนที่จะเอาไปนึ่ง เอาแป้งมาละเลงบนผืนผ้าที่ปากหม้อ แบบข้าวเกรียบปากหม้อพับแป้ง
แล้วใส่ไส้ ใส่กล่องจัดสวย มีถุงเล็ก ๆ ใส่น้ำตาลทราย และอีกถุงใส่งาขาว เวลาจะกินก็โรยน้ำตาลตามใจชอบ
โรยงาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน อร่อยจริง ๆ ผมชิมเขามาหลายปีแล้วเช่นกัน
นอกจากขนมถั่วแป๊ปแล้ว ยังมีข้าวเกรียบปากหม้อ สาคูไส้หมู
ลองไปตลาด บอง มาร์ เช่ สักทีจะติดใจ ของกินที่ผมเล่าให้ฟังดูเหมือนจะยังไม่ถึงครึ่งของร้านที่มีอาหาร
ขนมสารพัดชนิดขาย ใครจะถือโอกาสจ่ายตลาด ซื้อขนมปังอร่อยกลับบ้าน รวมทั้งซื้อพวกสมุนไพร
บอง มาร์ เช่ มีบริการหมด
..................................................
|