ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > หว้ากอ
 
หว้ากอ
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

หว้ากอ

            จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้นเดิมมีชื่อว่า  "เมืองบางนางรม" พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมือง  บางนางรม  เมืองกุยบุรี  และเมืองคลองวาฬ  เป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีที่ว่าการเมืองอยู่ที่ กุยบุรี  จนมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2441  ถึงได้ย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่ที่อ่าวประจวบหรืออ่าวเกาะหลัก  ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองปัจจุบัน  ประจวบตั้งอยู่ในส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย คือ 8 ก.ม.  แต่ไม่ได้หมายถึงแผ่นดินแคบ  หมายถึงต่อจากนั้นไปเป็นแผ่นดินพม่า  โดยเชื่อมต่อกันทางด่านสิงขรหรือช่องสิงขร  ซึ่งนักศึกษาพม่าที่ขัดแย้งกับฝ่ายรัฐบาล มาชุมนุมซ้องสุมกันอยู่ที่นี่เมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว  เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่ายังชุมนุมกันอยู่อีกหรือเปล่า  เพราะเคยไปทำงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนาในสมัยที่ยังรับราชการอยู่  และเคยเสนอแนะว่า ควรตั้งหน่วยทหารบกไว้ ณ ตำบลที่อยู่ใกล้ ๆ ช่องสิงขรนี้ซึ่งยังมีพื้นที่มากมายและอยู่ห่างจาก อ.เมืองไม่มากนัก  ในอดีตคือเส้นทางเดินทัพของพม่า  ที่หลายครั้งพม่าจะยกทัพเข้ามาทางด่านสิงขร  นอกเหนือไปจาก ด่านแม่ละเมาที่ จ.ตาก และด่านเจดีย์สามองค์ที่กาญจนบุรี  แต่เคยไปทัวร์ครั้งหนึ่ง (จำเป็นต้องไปเพราะไปเองไม่ได้) หัวหน้าทัวร์ได้บรรยายหน้าตาเฉยว่าในศึก 9 ทัพ แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น  พม่าได้บุกเข้ามาทางด่านแม่สายทัพหนึ่ง  เลยต้องขัดคอกันเพราะ ขืนพม่ายกมาทางรัฐฉาน ซึ่งพลเมืองคือเงี้ยวหรือไทยใหญ่  แล้วมาตีกรุงเทพ ฯ ผมว่าไม่ต้องไปตั้งรับให้เสียเวลา กว่าจะเดินทางถึงก็คงเหลือไม่เกิน 100 คน  นอกนั้นเป็นลมตาย  ตกเขาตาย  ไข้ป่ากินตายที่เหลือพอมาถึงก็ไม่ต้องใช้ดาบฆ่าฟัน  ผลักทีเดียวคงหกล้มตายไปเอง  เพราะเดินทางกว่าหนึ่งพันกิโลเมตรและต้องอดน้ำอดข้าวด้วย  เสบียงส่งตามไม่ทันแน่  ใครทำทัวร์หัดอ่านประวัติศาสตร์เสียบ้างหรือ ไม่งั้นก็อย่าไปพูดในสิ่งตัวไม่รู้จริงเข้า  มีเด็กไป ถึงผู้ใหญ่ก็เถอะไม่ใช่จะทราบไปเสียทุกคน  เขาจะจำไปผิด ๆ เหมือนที่ผมเล่าเรื่องฮ่องกง  ยายไกด์ (ไทย) ที่หากินเป็นบริษัทรับช่วงจากทัวร์เมืองไทยบอกผมว่า คุณมิง คือมณฑลหนึ่งของจีน  ผมเถียงในใจแต่ไม่ออกมาเป็นวาจา  ว่าไม่ใช่เด็ดขาด คุณมิงเป็นเมืองอยู่กับมณฑลยูนนานน่าจะถูก
            การเดินทางไปประจวบคีรีขันธ์ในเวลานี้นั้น  ไปได้สดวกมากเพราะถนนที่ขยาย 4 เลนนั้นเสร็จหมดแล้วตลอดสาย แต่ต้องไปให้ถูกทางจึงจะเจอ 4 เลนตลอด  ส่วนระยะทางยังเอาแน่นอนไม่ได้  เพราะหากดูจากหลัก กม.แล้วก็งง  กรมทางหลวงปรับปรุงเส้นทางแต่มักจะไม่ค่อยจะปรับหลัก กม. หรือป้ายให้ทันสมัย  ระยะที่บอกที่หลักกับที่ป้าย จะไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง  เช่นสมัยถนนไปประจวบมีแค่ 2 เลน  และการไปใต้ตั้งแต่เพชรบุรีลงไป  จะต้องไปตามถนนเพชรเกษม คือ ไปผ่านนครปฐม  ราชบุรี  เพชรบุรี  หัวหิน  ประจวบ ฯ เส้นนี้ผมจำได้แน่ว่า 323 กม.  เพราะเคยมีวาสนามีที่ดินชายทะเลแถว กม.317 จึงไปประจำ  ซื้อไว้ไร่ละ 1,000 บาท  ไม่อยากจะพูดต่อว่า ถ้าไม่ทำใจเป็นวัยรุ่นขายเสียก่อนตอนเขาเห่อที่ดินกันใหม่ ๆ ก็คงรวยอื้อ เพราะมีตั้ง 20 ไร่
            เส้นทางใหม่เอี่ยมไปใต้ตอนนี้  หากไม่คิดแวะหัวหินกินอาหารเช้าแล้วละก้อ  ก็คงไปตามถนนสายธนบุรีปากท่อ  ซึ่งกว่าจะถึงสมุทรสงครามได้ จะติดมหาวินาศในวันธรรมดา  ขนาดผมไปวันเสาร์ผมใช้เวลา 2 ชั่วโมง  เมื่อลงจากทางด่วนที่สะพานพระราม 9 แล้วจึงผ่านพ้น สมุทรสาครไปได้  เรียกว่าขับเก่งเต็มที 23 กม. ไปในเวลา 2 ชั่วโมง  จากนั้นไปแวะกินข้าวแกงที่ร้านข้าวแกง  เขาย้อยอยู่ฝั่งขวามือสารพัดแกงและกับข้าวไปชี้เอา  จ่ายเงินทีหลัง อย่าลืมแกงขี้เหล็กเป็นอันขาด  ยามเช้า ๆ ข้าวแกงอร่อยนัก  ข้าวสวยต้องร้อนและแกงของเขาก็จะร้อนควันโขมงมาทีเดียว  เอามาราดข้าวเสียโดยไว  ติดข้างจานมาด้วยไข่พะโล้ หรือเต้าหู้พะโล้ก็ได้  เช้า ๆ กินข้าวแกงต้องราดให้ชุ่มจึงจะสะใจ  อย่าไปสั่งกับข้าวมาหลายอย่าง  อย่างนั้นไม่เป็นข้าวราดแกง  มื้ออื่นค่อยสั่งมาหลาย ๆ อย่าง ตั้งเป็นกองกลางแย่งกันกินยิ่งสนุกเปลืองกับกันดีพิลึก  พออิ่มข้าวแกงแล้ว ก่อนถึงสามแยกเข้าเมืองเพชรบุรีสัก 3-4 กม. ทางขวามือก็เป็นชุมชนอาหารศูนย์ใหญ่ทีเดียว ของปิ่นแก้ว  แต่ผมชอบข้าวแกงที่เขาย้อยมากกว่า  แต่ที่นี่ผมแนะให้มาเข้าสุขาเสีย 2 บาท  สุขาสะอาดเป็นสากลแถมติดแอร์เสียด้วยซี  เมื่อก่อนฟรีคงเจอประเภทกินที่อื่นมาถ่ายที่นี่มากเข้าเลยเก็บสตางค์ 2 บาท  แต่หากขากลับผมมักจะแวะทุกครั้ง  ของฝากจากเมืองเพชรซื้อได้ครบถ้วนที่นี่และยิ่งเส้นทางใหม่ไม่ผ่านหัวหิน คือร้านแม่เก็บ ขนมอร่อย (แต่เขาไม่พิมพ์ลงไปด้วยว่าต่วยตูนชวนชิม หนังสืออื่นไปชิมเขาทีหลังผม  เขาพิมพ์ไว้ที่หน้าถุง)  ผมก็มาแวะซื้อที่ศูนย์ปิ่นแก้วนี้  จากเพชรบุรีหากไม่เข้าเมือง พอถึงสามแยกก็เลี้ยวขวาแล้วมุ่งไป อ.ชะอำ  ก่อนถึง อ.ชะอำ กม. 202 จะมีทางแยกขวาเส้นนี้คือเส้นเลี่ยง อ.ชะอำ และ อ.หัวหิน ระยะทาง 47 กม.จะไปออก อ.ปราณบุรี เป็นถนน 4 เลนรถน้อย  ทำความเร็วได้ย่นระยะทางไปสัก 5 กม. หรืออยากเข้าหัวหินก็เลี้ยวแวะเข้าไปได้ที่ กม. 29
            ผมจะไปหว้ากอ  ก่อนกลับมาชิมอาหารที่ใน อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็นเป้าหมายในการท่องเที่ยวครั้งนี้ของผม
            เมื่อปี พ.ศ. 2411  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งทรงเป็นยอดของนักดาราศาสตร์ได้ทรงคำนวณได้ว่า ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411  จะเกิดสุริยุปราคา  เต็มดวงมองเห็นได้ที่ ต.หว้ากอ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ (สมัยนั้นคงจะยังไม่เรียก อ.เมือง) ซึ่งไปตรงกับนักดาราศาสตร์เอกของโลก  หลายประเทศถึงขั้นบางประเทศมาดูกันที่นี่ เช่นนักดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสมาตั้งกล้องศึกษากันที่ตำบลนี้เช่นกัน  และจุดตั้งกล้องก็ไม่ห่างกันนักกับที่ ร.4 ทรงโปรดให้ตั้งกล้อง  ผมรอเวลามานานกว่าจะได้เห็นภาครัฐ ฯ มองเห็นความสำคัญของจุดนี้  หว้ากอนั้นอยู่ชายทะเลที่สงบเงียบสวยงามอย่างยิ่ง  หาดทรายสวยนั้นไล่กันดะไปตั้งแต่ อ.ชะอำ ของเพชรบุรี  หัวหิน  สวนสนปฏิพัทธ์ (เดี๋ยวนี้ทหารกองทัพบกสร้างที่พักตากอากาศชั้นหนึ่ง  ราคาถูกด้วย  ยิ่งทหารลดครึ่งผมยังไม่เคยพักแต่ไปแวะซดน้ำส้ม  คูสถานที่มาแล้วจอง 032-536581-3) เรื่อยมาจนถึงประจวบ  คลองวาฬ  หว้ากอ  ล้วนแต่เป็นหาดทรายละเอียด  ขาวสะอาดทั้งสิ้น
            หว้ากอ  ในปัจจุบันคือ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ  สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน  กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างซึ่งมีรายการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 20 รายการแต่เสร็จสมบูรณ์แล้วก็มากและน่าจะเสร็จภายในปี 2540 เป็นส่วนใหญ่  แต่พร้อมจะเปิดให้เข้าศึกษาได้ทั้งหมดหรือเปล่าไม่ทราบ  เพราะผมไปวันหยุดเจอแต่ยาม  ก็ตอบได้แยะเหมือนกัน
            สิ่งก่อสร้างที่เสร็จสมบูรณ์แล้วและสำคัญยิ่งคือ  พระราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 ประทับนั่ง  หันพระพักตร์ออกสู่ทะเล และมีลานกว้าง  จุดที่สร้างคือจุดที่ทรงตั้งค่ายหลวงในวันมาทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อ 18 ส.ค. 2411 และจุดที่ตั้งกล้องก็อยู่ตรงนี้  ส่วนจุดตั้งกล้องของนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสอยู่ถัดออกไป ดูเหมือนจะตรงที่ตั้งสำนักงาน  นอกจากนี้เห็นมีอาคารดาราศาสตร์  ศาลาสวนหินสวยที่เดียว  มีโบราณสถาน เขื่อน สำนักงาน  อุทยานวิทยาศาสตร์ ฯลฯ และที่ปากทางเข้ามีนกที่ทำด้วยฟางยืนอยู่ปากทางเข้าตัวเบ้อเริ่ม  สงสัยว่านกหุ่นฟาง  ทำไมมาเกี่ยวข้องกับที่นี่  เขาบอกว่าคณะจากชัยนาทเขามาพัก  เขาเลยเอามามอบให้ตัวโต  ไม่ทราบจะเก็บที่ใด  เลยให้ยืนเฝ้าที่ปากทางเข้า
            จากประจวบจะมาหว้ากอ  นั้นหากมาก่อน  กินข้าวทีหลัง  ก็มาอย่างนี้ คือ พอถึงทางแยกเข้าประจวบ  ยังไม่เลี้ยวซ้ายเข้าคงตรงต่อไปมาตามถนนเพชรเกษม  จนถึงหลัก กม.335.5 จึงเลี้ยวซ้ายวิ่งไปอีก 4 กม. จะถึง หว้ากอที่ตรงสวนหิน  ก็เลี้ยวไปตามถนนที่เลียบริมทะเล เข้าอุทยานได้เลย
            ถ้ากินข้าวก่อนมาหว้ากอทีหลัง  ก็มาจากในเมืองวิ่งมาทางกองบินหรือ กองพลบินก็ลืมดู  ขออภัย ทอ.ด้วย แล้วตรงมาตามถนนที่ไปคลองวาฬ หาป้ายไม่เจอ  ถามเขาไม่ยากว่าเส้นไหนไปคลองวาฬ  พอถึงคลองวาฬก็ตรงต่อไปอีก 8 กม. จะถึงอุทยาน  ที่คลองวาฬนี้เป็นชุมชนที่เจริญแล้วและเป็นเมืองเก่าด้วย  แต่ซากเมืองคงหาไม่เจอแล้ว  คลองวาฬใกล้ทหารอากาศ  มีร้านอาหารน่าชิมหลายร้านเล็ง ๆ ไว้ก่อนและเชื่อมือ ทอ.  เพราะหากแถว ๆ ย่านดอนเมือง  ไปจนยันคลองหลวง ในรัศมีของ ทอ. แล้วละก็  ถ้าเป็นมื้อกลางวัน  วันธรรมดา ๆ ด้วยเห็นร้านไหนในรัศมี ทอ.มีสีเทานั่งกันเต็มร้าน  เร่เข้าไปสมทบได้  จะไม่ผิดหวังผมตามรอยไปชิมเอามาเขียนเสียหลายร้านแล้ว (เป็นเคล็ดลับ ประการหนึ่งพึ่งเผย)
            หว้ากอ  เป็นอุทยานที่สงบ  งดงามและทราบว่าทางกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้อนุญาติให้คณะ  ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเฉพาะโรงเรียนหรือทั่วไป  มากางเต้นท์ที่พักได้  ถามยามดูได้ความว่ามีเต้นท์ให้เช่าแต่คงเป็นของส่วนบุคคล  มีครอบครัวข้าราชการรับทำอาหารให้ด้วย  ราคาคงไม่แพง  ได้กินอาหารทะเลสดจริง ๆ  ผักก็ถูก ผลไม้ก็สัปรดไง  ของดีราคาเยาว์ทั้งสิ้น  วันที่ผมไปก็มีคณะของโรงเรียนแห่งหนึ่ง  กำลังเก็บของเตรียมตัวกลับ  ยามอีกนั่นแหละบอกว่ามาพักได้ครั้งละ 80 คน  โดยติดต่อตรงที่อุทยานแห่งนี้ซึ่งมีหัวหน้ากอง หรือ ผอ.กอง ฯ  บังคับบัญชาหรือติดต่อกับกรมการศึกษานอกโรงเรียนก็คงได้  ผมเชียร์ครับอยากให้โรงเรียนพานักเรียนมา  ไม่ลำบากอะไรมานอนพักสัก 1-2 คืน มีกิจกรรมมีการบรรยายถึงความสำคัญของ หว้ากอ และประวัติศาสตร์ของเมืองประจวบ  หรือจะแทรกประวัติศาสตร์การสงคราม ไทยรบพม่าเข้าไปด้วยก็ได้  ไม่ต้องไปเชิญใครมาบรรยายหรอก  ซื้อหนังสือไทยรบพม่าของกรมพระยาดำรงราชานุภาพมา 1 เล่ม  ตั้งหน้าตั้งตาอ่านเข้าสัก 2 เที่ยว  อาจารย์ที่พามาก็จะบรรยายให้เด็กฟังได้เอง
            สถานที่ท่องเที่ยวแห่งอื่น ๆ มีมากหลายแห่ง  ล้วนแต่สวยสงบเงียบทั้งสิ้น
            อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์  วัดเขาช่องกระจก  ทางผ่านจะไปร้านอาหารมีลิงแยะดีอยู่ริมทะเล  ไปหาดทรายด้านข้างเขาช่องกระจก  หาดทรายขาวสะอาดทอดยาวไปทีเดียว  วัดเกาะหลักหาง่ายถนนเส้นหลักทางจะไปคลองวาฬ  ไปนมัสการอดีตเกจิอาจารย์ คือหลวงพ่อเปี่ยม อ่าวมะนาว ระยะ 2 กม.  อยู่ในพื้นที่ ทอ. เป็นส่วนใหญ่ อ่าวประจวบ  อ่าวเกาะหลัก  วัดธรรมิกการามและวัดเกาะหลัก  ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง หาดรณกร ห่างจากตัวเมือง 22 กม. วัดเขาถ้ำคั่นบันได  บริเวณอ่าวน้อยมีพระพุทธไสยาสน์ อุทยานแห่งชาติเขาหินเทิน
            อ.หัวหิน  ชายหาดทรายขาวละเอียด  ยาวเหยียดไปเชื่อมกับหาด อ.ชะอำ  ยังนิยมกันไม่ส่างสวนสนปฏิพัทธ์  เป็นที่พักฟื้นของทหารบก  มีทั้งบังกาโลและโรงแรมแต่เขาเลี่ยงไปเรียกว่าสถานพักฟื้น  สร้างอย่างดีเลยทีเดียว  แวะไปดื่มน้ำส้มพอชื่น ๆ ใจ  วันหลังจะไปพักและกินอาหาร  ทหารลดครึ่งค่าที่พัก เขาตะเกียบ  เขาไกรลาส  เขาเต่า  น้ำตกป่าละอู และพระราชวังไกลกังวล  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 2469  และวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ 24 มิถุนายน 2475  ก็ประทับอยู่ ณ พระราชวังแห่งนี้
            อ.บางสะพาน  อ่าวแม่รำพึงอ่าวบ่อทองหลาง
            อ.ปราณบุรี ปากน้ำปราณบุรีห่างจากอำเภอ 14 กม. อุดมไปด้วยอาหารทะเลทั้งหลาย  หมู่บ้านชาวประมงอยู่ตรงนี้  ปลาหมึกสด  ปลาสด  ปลาเค็มมีอุดม อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด  กินเนื้อที่ อ.ปราณบุรี  กุยบุรี  มีภูเขาหินปูน  สลับทุ่งกว้างและชายฝั่งทะเล  ยังรวมไปถึงเกาะแก่งอีกด้วย  ภายในอุทยานมีถ้ำสวยงาม คือ ถ้ำสายแก้ว  ถ้ำไทร  ปีนเขาก่อนขึ้นถ้ำ ถ้ำพระยานคร  มีพลับพลาที่ ร.5 ทรงสร้างไว้เป็นพลับพลาจตุรมุข  ถือเป็นสัญญลักษณ์ของจังหวัดประจวบ ฯ  หาดสามพระยา  เขื่อนปราณบุรี
            อ.ทับสะแก  อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง  จากอุทยาน 7 กม.ถึงน้ำตกรถเข้าได้  และอีก 10 กม. จะถึง อ.ทับสะแก  มีร้านขายน้ำผึ้งเก่าแก่อยู่ทางซ้ายมือ  มีอาหารที่ทำแล้วไม่ใส่น้ำตาลแต่ใสน้ำผึ้งแทน เช่นข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวที่ซดสะใจเวลาขับรถมาเหนื่อย ๆ คือน้ำผึ้งผสมมะนาว  เมื่อผมรับราชการอยู่ภาคใต้กะเวลาผ่านให้พอดีอาหารมื้อใด  มื้อหนึ่ง  เจ้าของร้านชายนั้นรู้จักกัน คุยกันเสมอแนะให้ผมกินน้ำผึ้งมาก ๆ แทนน้ำตาลบอกว่าจะได้ไม่เป็นเบาหวาน  ผมก็เชื่อผ่านทีไรกินข้าวกินก๋วยเตี๋ยวเสร็จก็ซื้อน้ำผึ้งติดมือไป  มาแวะคราวหนึ่งหลังจากที่ไม่ได้พบกันหลายเดือน  ถามเจ้าของร้านหญิงว่าเจ้าของร้านชายไปไหนเสีย  แกก็น้ำตาซึมบอกว่าเสียแล้วค่ะ  ถามว่าเป็นโรคอะไรล่ะ  แกบอกว่าตายเพราะโรคเบาหวานเป็นพระเอก  โรคอื่น ๆ ตามมาเป็นพระรอง  แถมยังบอกต่ออีกว่า  สามีแกนั้นเที่ยวแนะนำคนอื่นให้กินน้ำผึ้งแทนน้ำตาล  แต่ตัวเองกินน้ำตาลแทนน้ำผึ้ง
            หมดแล้วที่เที่ยวใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งที่เคยไปและไปจำเขามาก็มี  ใหม่กว่านี้ไม่ทราบว่ายังมีหรือเปล่า  ทีนี้ไปร้านอาหาร เพลินสมุทร ดูลายแทงกันก่อน
            ถนนเพชรเกษม กม.323 เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองวิ่งไปสัก 2 กม.เศษ  จะผ่านเขาช่องกระจกไปจนชนบังกาโลของเทศบาล  หากเลี้ยวซ้ายจะไปวนรอบเขาช่องกระจก  หากเลี้ยวขวาจะมาผ่านโรงเรียนอนุบาล  ผ่านสำนักงานเทศบาล แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปจนถึงริมทะเล  เลี้ยวขวาผ่านหน้าร้านอาหารชื่อ ประมง เป็นร้านเก่าแก่เชลล์ชวนชิม  เข้าใจว่าฝีมือคงไต่ขึ้นมาใหม่แล้ว  เพราะคนชักแยะอีกแล้ว  ให้วิ่งเลียบชายทะเลต่อไปเรื่อย ๆ จะพบร้าน เพลินสมุทรอยู่ขวามือ  ซ้ายมือก็ทะเลอยู่ติดกับโรงแรมหาดทอง  สุขาสะอาดไม่เป็นสากลที่จอดรถสดวก  ขับสิบล้อเข้าไปก็จอดได้  ด้านหลังร้านก็ติดถนนเข้าข้างหลังก็ได้  แต่ผมชอบไปทางทะเลดูจะสดวกกว่า
            เสียดายที่เดี๋ยวนี้ไข่เต่าทะเลเป็นของหายากเสียแล้ว  ไม่งั้นร้านนี้ยำไข่เต่าทะเลอร่อยนัก  ไม่ได้ลองถามดูว่าเอาไข่ไก่ต้ม 5 นาที หรือลวกจะเอามายำแทนได้ไหม  อย่างน้อยแก้ความอยาก  แต่อาหารอื่น ๆ เขาก็อร่อยแยะ  ผมไปคราวนี้ไปกันแค่ 2 คนปู่ย่า  ขับรถจากกรุงเทพ ฯ ไปจนถึงปาดังเบซาร์  กลับมานครศรีธรรมราชใหม่  ไปออกตรัง  กระบี่  พังงา  ภูเก็ต  กลับมาทางพังงา  ออกสุราษฎร์ธานี  ชุมพร ผ่านประจวบคีรีขันธ์อีก  กลับกรุงเทพ ฯ ดูไมล์แล้วขึ้น 3040 กม.พอดิบพอดี  สังขารของผมยังอยู่เรียบร้อย และพักไม่กี่วันก็ขึ้นไปเชียงรายอีก  กลับมาต่ออิสานไม่ได้เที่ยว  เที่ยวเป็นของแถม  คอยตามอ่านผมไปเรื่อย ๆ ก็แล้วกันอย่าเพิ่งเบื่อเสีย  เดี๋ยวผมไม่มีงานทำ
            หอยนางรมกะทะ  แทนที่จะสั่ง ออส่วน อย่างเคยก็เปลี่ยนเป็นหอยนางรมกะทะ  หอยสดมากตัวโต  ผัดมากับถั่วงอก  เสียงฉ่ามาแต่ไกล เพราะเขาใส่จานร้อนมา  เสียงกับกลิ่นหอมหวลชวนกระเดือกวิ่งส่งมาพร้อมๆกัน  หอยตัวโตหวานจิ้มซ๊อสศรีราชาเด็ดนักเผลอเดี๋ยวเดียวหมดกะทะ
            ปลาหมึกสดย่าง  ร้านนี้เขามีเบียร์สดด้วยจะสั่งมาจิบยามกลางวันก็ไม่ผิดกติกา  แต่หากมามื้อเย็นไม่ได้จิบสักที  ซดกันเป็นปี ๆไปเลย  เพราะนั่งร้านนี้ติดทะเล มีอ่างตรงหน้า มีเกาะหลักให้ชม  ลมทะเลตีหน้าชื่นใจ  ดื่มแล้วเมายาก  เปลืองทั้งเหล้าและกับ  ปลาหมึกย่างของเขาสดทั้งนั้นจึงนุ่ม หนึบ จิ้มน้ำจิ้มมะนาวหรือซ๊อสศรีราชาก็ได้
            ก้างปลาทอดกรอบ  เสียดายทอดไม่กรอบเลยเสียรสไป  เมื่อสมัยผมยังหนุ่มน้อยแต่ตำแหน่งใหญ่  สำหรับคนอายุ 27-28 ปี  คือนายทหารยุทธการกองพันเป็นลำดับ 3 ของหน่วยกองพัน  มักจะได้เชิญไปไหนพร้อมกับผู้บังคับกองพันเสมอ  คราวหนึ่งนักการเมืองท่านหนึ่ง  เชิญไปที่สวนของท่านที่นครนายก  พี่ชายของท่านกำลังดังระเบิดเพราะเป็นอธิบดีกรมที่จับคนทำผิดได้  ผมคงมีวิญญานนักชิมมานานแล้ว  พอเขาเอาก้างปลาดุกทอดกรอบ  กรอบจริง ๆ มีรสด้วยไม่ต้องจิ้มอะไรเลย  มีคนแบกถาดมาเสริฟให้ถึงมือเลยทีเดียว จิ้มมาชิ้นหนึ่งติดใจ  ตามไล่จิ้มก้างปลาดุกทอดต่อ  พอดีได้ไปยืนใกล้ๆผู้การ  ท่านนักการเมืองกำลังคุยกับผู้การของผม  พอหันหน้ามาปากอันอยู่ไม่สุขของผมก็ถามว่า  เนื้อปลาดุกเอาไปทำอะไรครับ  ท่านนักการเมืองผู้ทรงเกียรติ์กรุณาตอบผมว่า  "ต้มให้หมากิน" ผมไปเจอก้างปลาดุกทอกกรอบที่ไหนเป็นไม่กิน  ไปคราวนี้เป็นก้างปลาทะเล  เลยสั่งมากินแต่ไม่สมใจ  ไม่เหมือนที่กินเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว สะใจไหมล่ะไปถามเอากับคนกำลังจะเป็นใหญ่
            แกงป่าปลาทราย  ปลาทรายตัวเล็กนิดเดียวเท่านิ้วมือ  น้ำแก่งข้น  ใส่ผักสด ๆ ข้าวโพดอ่อน  มเขือพวง  มะเขือเปราะ  ถั่วฝักยาว  ปลาตัวเล็ก  แต่เนื้อขาวจั๊วะ  หวานยังกับชุบน้ำตาลเอามาแกง  น้ำแกงข้น  ซดไม่เหมาะ  ต้องเอาข้าวร้อน ๆ มาคลุก  หากใครพุงเหลือหรือไปกันหลายคนต้องสั่งไข่เจียวกุ้งสับมาแนมแกงป่าจึงจะสมใจ  หอมกลิ่นไข่เจียว  พอตักเข้าปากตามเสียด้วยข้าวคลุกแกงป่าน้ำข้น  อย่าบอกใครเชียวสำหรับความสุขของมื้อนี้
            ของอร่อยเขามีแยะ  ผมกินเขามาไม่ต่ำกว่า 15 ปี  ฝีมือไม่ตกเลย  ปอเปี๊ยะวงพระจันทร์ก็ดี  ออส่วนก็แจ๋ว  หม้อไฟทะเล  ซดกันสนุกสนาน  ผัดฉ่าทะเล  หรือจะเพิ่มคะน้าปลาเค็มก็เหมาะ  เพราะเลยร้านไปนิดเดียวก็เป็นที่ตากปลาของชาวประมง  ปิดท้ายเสียด้วย  ไอศครีมและสัปปะรด ปราณบุรีหวานฉ่ำชื่นใจ  ไม่ต้องกลัวอยู่ล้างชาม  เพราะอาหารไม่แพงและรับบัตรเครดิต

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |

หว้ากอ: ข้อมูลหว้ากอ ท่องเที่ยวหว้ากอ ข้อมูลเที่ยวหว้ากอ


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์