watthaiwattanaram
วัดไทยวัฒนาราม
วัดไทยวัฒนาราม เป็นวัดที่อยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีความเป็นมาดังนี้
.- เดิมชื่อ "วัดแม่ตาวเงี้ยว"
เป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ โดยนายมุ้งชาวไทยใหญ่ที่อพยพเข้ามาอยู่ในแม่สอด
เป็นผู้สร้าง ต่อมานายมุ้งได้เป็นหมื่นอาจคำแหงหาญ
ปัจจุบันวัดไทยวัฒนาราม เป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
สังกัดกรมการศาสนา มีหลวงพ่อที่มีอายุมากถึง ๘๔ ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรงเป็นเจ้าอาวาส
เป็นชาวไทยใหญ่ และอยู่ที่วัดนี้มานานกว่า ๕๐ ปีแล้ว มีพระลูกวัดเป็นพระไทยใหญ่
และมอญประมาณ ๓๐ องค์ (๒๕๔๗) การเดินทางไปยังวัดไทยวัฒนาราม หากจะตรงไปวัดกันจริง
ๆ รวมทั้งไปยังตลาดริมเมย
ที่เป็นตลาดชายแดน ซึ่งหากข้ามสะพานไปก็จะเป็นฝั่งพม่าคือ เมียวดี
สะพานนี้ไทยสร้าง
บางทีก็ต้องปิดห้ามสัญจรสุดแต่ในของพม่า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเมียวดี แม่น้ำนี้น้ำจะไหลทวนขึ้นเหนือถือว่าแปลก
หากมาจากจังหวัดตาก มาตามถนนสาย ๑๐๕ ซึ่งจะไปยังแม่สอด
ระยะทางจากปลายทางที่จะเลี้ยวเข้ามาก็ ๘๐ กม. จะถึงตัวอำเภอ ตอนที่แล้วผมได้บอกไว้แล้วว่าก่อนเข้าตัวอำเภอแม่สอดนั้นจะมาถึงวงเวียนก่อน
แต่เข้า - ออก จากวงเวียนไม่ตรงกันข้าม เฉียง ๆ พิกลอยู่ ต้องนับทางเลี้ยวเอา
คือสายแรกตรงมาจาก จ.ตาก พอเลี้ยวซ้ายก็จะถึงทางเข้าสายที่ ๒ ไป อ.พบพระ
และ อ.อุ้มผาง
สายที่ ๓ คือ สายเข้าตัวอำเภอแม่สอด หากจะไปอำเภอก่อนก็ไปตามสายนี้และต่อไปยังริมเมย
ไปวัดไทยวัฒนารามได้ สายที่ ๔ เมื่อเลี้ยวเข้าไปแล้วจะไปผ่านปั้มน้ำมัน
ปตท.ที่มีคุณลักษณะที่ดีตามที่ผมอยากเห็นปั๊มน้ำมันเมืองไทยเป็นแบบนี้ บริการดี
รับบัตรเครดิต มีของแถม สุขาสะอาดเป็นสากล มีของขายและมีอาหารดี ผ่านปั๊ม
ปตท.ไปแล้วก็จะไปผ่านโรงแรมเซ็นทรัล แม่สอด เลยต่อไปอีกก็เป็นสามแยกที่เลี้ยวขวาจะไปยัง
อ.แม่ระมาด,
อ.ท่าสองยาง, สบเมย, แม่สะเรียง ไปได้จนถึงแม่ฮ่องสอน
และตรงหัวมุมถนน ตรงจุดที่จะเลี้ยวขวานี้คือ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สร้างไว้งดงาม
ตรงต่อไปอีกประมาณ ๖ กม.จะถึงแม่เมย ก่อนถึงริมเมยสัก ๖๐๐ เมตร (ถนนสี่เลน)
ทางขวาคือทางเข้าวัดไทยวัฒนาราม และจะเป็นเส้นทางที่จะไปยังคอกช้างเผือก
และพระธาตุหินกิ่ว
ที่ดอยดินจี่ ได้ตรงข้ามทางเข้าคือฝั่งซ้ายที่วิ่งมา
จะมีบ้านไม้หลังใหญ่ ยกก๋วยเตี๋ยวขึ้นไปบนชั้นบน เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวไทยใหญ่
หากมาจากตลาดริมเมย กลับมาตลาดแม่สอด มาได้ประมาณ ๖๐๐ เมตร ก็เลี้ยวซ้ายเข้าทางไปวัด
พอเลี้ยวเข้ามานิดเดียวก็เลี้ยวขวาแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าประตูวัดได้เลย
เมื่อเข้าประตูวัดไปแล้วก็จะเห็นว่าตั้งแต่ประตูวัดเข้าไปเลยทีเดียวจะเห็นศิลปวัฒนธรรม
ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากพม่า (ไทยใหญ่) และแม้ว่าเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันจะอยู่วัดนี้มานาน
และพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองในศิลปะของไทยใหญ่ แต่ศิลปะของสองชาตินี้ก็มีความใกล้เคียงกันมาก
ทางซ้ายของประตูวัดคือกุฏิเจ้าอาวาส การเข้าชมวัดต้องเข้าไปบอกที่กุฏิเจ้าอาวาสเสียก่อน
ไม่เช่นนั้นเข้าชมตามสถานที่สำคัญและนมัสการพระพุทธรูปสำคัญไม่ได้ เพราะปิดประตูใส่กุญแจหมด
ผมไปที่วัดนี้หลายครั้ง ไปครั้งสุดท้าย มีนาคม ๒๕๔๗ มีโอกาสได้เข้าชมสถานที่ทุกแห่ง
เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าต้องไปบอกที่กุฏฺเจ้าอาวาส ผมเองก็นึกว่าคงได้ชมแต่ข้างนอกเช่นเดิม
ปรากฎว่าคราวนี้มีมัคทายกของวัดเป็นชาวไทย แต่อยู่เมืองไทยมานานเต็มทีจนกลายเป็นไทยไปร่วม
๘๐ % แล้ว แต่ลูกเต้าของเขาเกิดในไทยจึงเป็นคนไทยหมดแล้ว เขาเดินเข้ามาหาผมเอง
ถามว่าจะเข้าชมในศาสนสถานทุกแห่งหรือไม่ เขาจะเปิดให้เข้าชม บอกว่าแถวนี้ขโมยชุมมากเลยต้องปิดตายกันอย่างนี้
ใครมาชมวัดอยากชมข้างในต้องไปที่กุฎิเจ้าอาวาส จะมีเจ้าหน้าที่หรือพระเณรมาเปิดให้ชมทุกแห่ง
ตรงหน้าคือ ศาลาการเปรียญหลังใหญ่มาก ปิดประตูใส่กุญแจเช่นกัน สร้างสองชั้น
เข้าไปแล้ว ชั้นล่างมีพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาว "พุทธมหามุนี"
จำลองมาจากมัณฑะเลย์
องค์ใหญ่ผมเคยไปนมัสการที่มัณฑเลย์ เมียนม่า องค์นี้สร้างพร้อมกับวัดแกะสลักงดงามมากเช่นกัน
ส่วนชั้นบนของศาลาการเปรียญ มีพระพุทธรูปหยกองค์เล็กอีกองค์หนึ่ง มีตู้พระธรรมปิฏก
ปิดทองงดงาม จำนวน ๖ ตู้ ธรรมาสน์ทอง ๒ ธรรมาสน์ มีพระพุทธรูปองค์เล็กตามเสาอีก
๖ องค์ เป็นพระแบบไทยใหญ่ทั้งสิ้น ผมไปชมศาสนสถานแห่งอื่นก่อนจึงมาชมที่ศาลาการเปรียญ
มรรคายกจึงไปบอกท่านเจ้าอาวาส บอกว่าผมจะไปนมัสการท่าน แต่ท่านเจ้าอาวาสอายุ
๘๔ ปี ให้พระลูกวัดและเณรอีกองค์หนึ่งช่วยพยุงเดินมาที่ศาลาการเปรียญ ระยะทางประมาณ
๕๐ เมตร ท่านมาพรมน้ำมนต์ให้ ก็เลยได้ถวายปัจจัยกับท่านเจ้าอาวาส แต่หากไม่ได้พบเจ้าอาวาสจะทำบุญก็หยอดลงในตู้ได้
และในศาลาการเปรียญแห่งนี้ยังเป็นที่เก็บปี่พาทย์ทั้งวงเอาไว้ด้วย ไม่ทราบว่าปี่พาทย์มอญหรือเปล่า
ไม่ได้ซักถามดู
พระเจดีย์โกนวิน
เป็นเจดีย์มอญทรงเครื่องงามฉัตร มีระฆังรอบฉัตรและเสาหงส์
พระพุทธมหามุนี
อยู่ในวิหารพระมหามุนี เป็นพระพุทธรูปหินอ่อน สร้างจากมัณฑเลย์ มีอายุน้อยกว่าองค์ที่วิหารวัดดอนแก้ว
อ.แม่ระมาด
ฝั่งตรงข้ามกับพระพุทธมหามุนี คือ วิหารพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ จำลองมาจากมัณฑเลย์
งดงามมากเช่นเดียวกัน พระพุทธรูปองค์นี้สร้างที่มัณฑเลย์ แล้วนำมาประกอบที่วัดนี้
พระพุทธรูปองค์นี้ปางมารวิชัย สูง ๗ ศอก กว้าง ๗ ศอก
พระพุทธไสยาสน์
อยู่ด้านหลังของศาลาการเปรียญ ยาว ๖๓ เมตร ติดกับวิหารพระนอน มีศาลาราย มีพระพุทธรูปและจิตรกรรมฝาผนัง
ศาลาพระพุทธประวัติ
ศาลานี้ก็ปิดใส่กุญแจเช่นกัน แต่มีคนพาชม วันนี้เลยได้ชม มีกลไกลเปิดให้เคลื่อนไหวได้
เมื่อเปิดจะมีเสียงเพลง มีพระพุทธเจ้าและเทวดาตามเสด็จ เสด็จออกมาเพื่อรับบาตร
ถือว่าเป็นการรับบาตรในวันออกพรรษาคือ ตักบาตรเทโว
พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากไปโปรดพุทธมารดา ที่สวรรค์ดาวดึงส์ ส่วนตอนหน้าของพื้นเวทีนั้นเป็นแผ่นที่ขนาดใหญ่
แสดงถึงประเทศในแถบนี้ที่นับถือพระพุทธศาสนา เรียกว่าสร้างไว้น่าชมทีเดียว
ดนตรีที่บรรเลงเมื่อกดสวิชท์นั้นเป็นเพลงไทยใหญ่ พอเพลงบรรเลงหุ่นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จนำเทวดา
๔ องค์ อุ้มบาตรออกมา
พระธาตุหินกิ๋ว ดอยดินกี่
หากไปวัดไทยวัฒนารามแล้วมีเวลาพอและมีกำลังมากพอด้วย ให้เลยเข้าไปยังวัดพระธาตุหินกิ่วและไปคอกช้าง
เส้นทางคือทางเดียวกับจะเข้าวัดไทยวัฒนาราม แต่ไม่เลี้ยวขวาเข้าวัด ตรงต่อไปเรื่อย
ๆ ป้ายนำทางออกจะหายาก ผมเคยเขียนต่อว่าเอาไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว ไปคราวนี้ไม่ได้เลยเข้าไปจนถึงพระธาตุ
เพราะกลัวไม่มีกำลังพอที่จะไต่ขึ้นไปได้ ไปไม่ถูกถามชาวบ้านเขาได้ รวมทั้งไป
"คอกช้าง" ด้วย เมื่อไปถึงจะพบว่าวัดนี้เป็นเพียงวัดเล็ก ๆ มีศาลาที่ผมตั้งชื่อให้ว่าศาลาเอนกประสงค์คือ
เป็นทุกอย่างที่วัดต้องการเช่น เป็นโบสถ์ เป็นศาลาการเปรียญ ศาลานี้ตั้งอยู่เชิงดอยที่จะขึ้นบันไดไปอีก
๔๑๓ ขั้น จึงจะถึงพระธาตุ เป็นพระธาตุเล็ก ๆ แต่สร้างอยู่บนก้อนหินที่ยื่นออกมา
น่ากลัวหล่น เป็นพระธาตุเจดีย์ทรงมอญ วัดพระธาตุอยู่ห่างจากถนนใหญ่ ประมาณ
๑๐ กม. จะผ่านด่าน ตชด. หากยังตั้งอยู่ลองถามเส้นทางดู
ตลาดริมเมย
หากมาจากแม่สอด ยังไม่เลี้ยวเข้าไปยังวัดไทยวัฒนาราม ตรงต่อไปอีก ๖๐๐ เมตร
ก็จะถึงริมเมย หรือริมฝั่งแม่น้ำเมียวดี ฝั่งตรงข้ามคือฝั่งพม่า ที่มีสะพานข้ามไปได้
แต่ผมว่าไม่จำเป็นจริง ๆ หรืออยากไปเที่ยวต่างประเทศ (ได้ชื่อว่าไป) อย่าข้ามไปดีกว่า
สินค้าบริโภคทั้งหลายมาจากฝั่งไทย สินค้าของใช้ เครื่องแกะสลัก ซื้อจากฝั่งไทยได้ราคาพอ
ๆ กัน แถมจะถูกกว่าด้วยซ้ำไป และจะซื้อเท่าไรก็ได้ ไม่มีปัญหาตอนข้ามแดน เพราะเราซื้อในฝั่งไทย
เดี๋ยวนี้ตลาดริมเมยพัฒนาไปมาก หากวิ่งมาถึงเชิงสะพานแล้วเข้าถนนคู่กับสะพาน
พอถึงริมฝั่งให้เลี้ยวซ้ายก็จะมีร้านค้าริมเมย หรือเลี้ยวขวาลอดใต้สะพานมาแล้วเลี้ยวขวากลับมา
พอถึงตรงร้านอาหารกระเพาะปลา (เดี๋ยวนี้ขายแพงมากไป) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไป เลี้ยวซ้ายอีกทีจะมีลานจอดรถกว้างขวาง
ทีนี้ก็เดินขึ้นไปบนตลาดริมเมยที่สร้างไว้กว้างขวาง สะดวกสบาย มีร้านค้านับร้อย
สารพัดสินค้าที่เอามาขาย ส่วนมากจะเป็นสินค้าที่ข้ามฟากมาและมาจากจีนเป็นส่วนใหญ่
แต่ที่น่าซื้ออีกอย่างคือพวก รูปภาพ ไม่ทราบว่าไปเอารูปของพระราชวงศ์มาจากไหน
สวย ๆ และหายากทั้งสิ้น ใส่ไว้ในกรอบไม้สักแกะสลักงดงามราคาถูกมาก ภาพใหญ่
ๆ ราคาประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ บาท ภาพเล็กก็ประมาณ ๒๐๐ บาท และที่ชอบใจคือนาฬิกาที่อยู่ในเรือนไม้สักแกะสลัก
ราคาประมาณ ๔๐๐ บาทเท่านั้นเอง เครื่องสำอาง ขนมหวาน เสื้อผ้า มีขายหมด หากชอบใจผิวพม่าที่เขาบอกว่าสวยนัก
"ผิวพม่านัยน์ตาแขก"
จะลองซื้อแป้งเครื่องสำอางค์ของพม่ามาใช้ดูบ้างก็ได้ แต่ผมไม้รับรองผลว่าออกมาแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร
งามอย่างสาวพม่าหรือจะหน้าปุปะไปเลยก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ ๆ คือราคาถูก สาวพม่าจะทาหน้าเรียกว่า
แต้มหน้ากันแทบทั้งวัน เลยหมดสวย
เข้ามาในตัวอำเภอแม่สอด มีวัดที่น่าสนใจควรแก่การไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดอย่างยิ่งคือ
.-
วัดมณีไพรสณฑ์
ไปชมเจดีย์ทรงพม่า เจดีย์วิหารสัมหพุทเธ
สร้างไว้งดงามมาก
บนองค์เจดีย์ใหญ่สร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ ล้อมอยู่ถึง ๒๓๓ องค์ และมีพระพุทธรูปบรรจุอยู่ตามช่องของเจดีย์มากถึง
๕๑๒,๐๒๘ องค์ ผมไม่มีปัญญาไปนับทบทวนดูว่ามากเท่านี้จริงหรือไม่ เชื่อตามที่เขาบอก
และด้านข้างของเจดีย์องค์นี้มีศาลาที่ประดิษฐานพระเกจิอาจารย์สำคัญ ๆ ไว้หลายองค์
แต่ที่น่าเสียดายคือทางวัดไปต่อศาลาด้านหน้าของเจดีย์ออกมา เท่ากับไปทำลายความเด่นเป็นสง่าของเจดีย์
และเจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่ริมถนนในตัวแม่สอด ข้างถนนก็วางสายไฟ สายโทรศัพท์ไว้เต็มไปหมด
ทำลายความงดงามของเจดีย์ลงอีก น่าจะแก้ไข และในปี ๒๕๔๖ - ๔๗ ที่ผมไปติดต่อกัน
๒ ปี วัดนี้เป็นวัดที่เจ้าคณะจังหวัดตากท่านอยู่ที่วัดนี้
วัดชุมพลคีรี
เป็นวัดในตัวอำเภอแม่สอดเช่นกัน ถนนในตัวอำเภอนั้นส่วนมากรถวิ่งทางเดียวเส้นทางจะบังคับ
หากวิ่งไปตามเส้นทางนี้จนสุดทางวนกลับมาอีกสายหนึ่ง วนไปวนมาเดี๋ยวก็หาครบหมด
เว้นจะออกไปริมเมยก็ขับผ่านตลาดแล้วตรงลิ่วไปเลยก็ไปชนริมเมยหรือแม่น้ำเมียวดีเอง
วัดชุมพลคีรี อยู่เยื้องธนาคารนครหลวงไทย มีเจดีย์จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า
รอบเจดีย์รายรอบด้วยเจดีย์บริวารอีก ๒๐ องค์
พระประธาน
ที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ จำลองมาจากพระพุทธชินราช แต่ย่อส่วนลงมา
กลองโบราณ
อายุมากกว่า ๒๐๐ ปี แต่เอาไปเก็บไว้ในศาลาโรงครัว อยากชมต้องถามทางวัดว่าอยู่ที่ไหน
ก๋วยเตี๋ยวพื้นเมืองตาก ในจังหวัดตากมีเพียง ๒ ร้าน อยู่ในอำเภอเมืองหนึ่งร้าน
หากมาจากกำแพงเพชรวิ่งมาจนถึงสี่แยกไฟสัญญาณ (เลี้ยวขวาไปสุโขทัย) ให้เลี้ยวซ้ายวิ่งมาแล้วเลี้ยวขวาผ่านศาลพระเจ้าตากสินมหาราช
แล้วไปตามถนนที่โค้งไปตามลำน้ำแม่ปิง ผ่านวัดปทุมคีรี
วัดดอยคีรี ไปจนพบบ้านสวยสร้างด้วยไม้ทางซ้าย
เยื้องกันคือบ้านทนายความ ติดกันคือก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวพื้นบ้านตากจะใช้เส้นเล็กปรุงด้วยกุ้งแห้งป่น
มีแคบหมูชิ้นเล็ก ๆ หอม กระเทียมเจียว หมูบ่ะช่อ ถั่วฝักยาวหั่นเฉียง ปรุงด้วยน้ำปลา
น้ำตาลทราย มะนาว มีทั้งแห้งและน้ำ (ต้มยำปรุงเด็ดนัก) และยังมีชามใส่ถั่วงอกดิบกับมะนาวฝานมาวางไว้ให้
จะสั่งโอเลี้ยงมาซดก็ชื่นใจดี
ส่วนในตัวอำเภอแม่สอด หากวิ่งผ่านหน้าตลาดสดไปแล้วคอยดูทางซ้ายเอาไว้
อย่าลีมซื้อขนมหวาน และน้ำพริกติดไม้ติดมือไปด้วย อร่อยทั้งขนมหวานและน้ำพริก
ร้านเล็ก ๆ ห้องเดียว
ยังมีอาหารอร่อยแปลกของแม่สอดอีก เช่น .-
โรตีปะโอ่ง หากมาตามถนนที่บังคับให้มา ตรงเรื่อยมาถูกบังคับให้เลี้ยวแล้วจะมาตามถนนที่จะมาตลาดเทศบาล
พอถึงสี่แยกไฟสัญญาณ หากเลี้ยวซ้ายย่านนี้ทั้งย่าน จะเป็นย่านของอาหารอิสลาม
มีขายกันตั้งแต่เช้าไปเลยเช่น ข้าวหมกไก่, หมกแพะ ข้าวแกงอิสลาม มะตะบะ ส่วนโรตีปะโอ่ง
ที่ผมตั้งชื่อให้นั้นเข้าถนนสายนี้ไปแล้ว ร้านจะอยู่ทางซ้ายมมือ ร้านสองห้องเล็ก
ๆ ชั้นเดียว ตรงข้ามกับสำนักงานปศุสัตว์ อำเภอแม่สอด มุมซ้ายมีโอ่งล้อมด้วยซีเมนต์
ก้นโอ่งมีถ่านติดไฟ มีโต๊ะวางแป้งโรตี คนปิ้งบจะเอาแป้งวางประกบกับลูกประคบแล้วเอาไปปะในโอ่งที่กำลังร้อนจัด
สักครู่ก็จะสุก เอาคีมหยิบมาเสริฟให้ลูกค้าทันที ลูกค้าต้องกินตอนร้อน ๆ เช่นกัน
โดยเราจะสั่งเครื่องดื่มชาร้อนที่หมอกกรุ่นหรือกาแฟร้อนเอามารอไว้ สั่งนมข้นหวานเอามาจิ้มเพราะเป็นโรตีเปล่า
ๆ ไม่ได้ราดนมมา หรือจะแวะซื้อแกงจากร้านข้าวแกงอิสลามที่เราผ่านมา แล้วมาขอชามเขาใส่
แล้วเอาโรตีจิ้มแกงวิเศษนัก เช่น แกงกะหรี่ เป็นต้น แต่ไปสายอด ขาย ๐๕.๐๐
- ๐๘.๐๐ ก็ปิดร้านแล้ว
ยังมีอีกขนมพม่าหรือจะไทยใหญ่ก็ไม่ทราบ เพราะที่ตลาดจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็มี
อร่อยเช่นกันคือขนมเส่งเผ่ ทำด้วขข้าวเหนียว ส่วนขนมอาละหว่านั้นทำด้วยข้าวเจ้า
ผมว่าเส่งเผ่จะอร่อยกว่าต้องไปซื้อในตลาดสดเทศบาล ต้องไปตอนเช้า ๆ ก่อน ๐๘.๐๐
ได้ยิ่งดี เข้าไปแล้วอยู่ในซอยทางซ้าย เห็นมีอยู่เจ้าเดียว หาไม่เจอลองถามแม่ค้าในตลาดดูว่า
เจ้าไหนขายขนมเส่งเผ่ และอาละหว่า และยังมีข้าวเหนียวงาดำอีกอย่างน่าชิม
ข้าวหมกไก่อยู่หน้าตลาดสดและเห็นมี ๓ ร้าน คนละชื่อแต่ขายคล้าย ๆ กันคือข้าวหมกไก่
หมูกรอบ หมูแดง และข้าวหมูย่าง ๓ ร้านนี้ไม่ใช่อาหารอิสลามแน่นอน
กะบองจ่อหรือกะปองจ่อ อยู่ติดกับร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋น ออกขายประมาณ ๑๖.๐๐
ขายพักเดียวก็หมด ตั้งกะทะทอดอยู่หน้าบ้าน มีโต๊ะนั่ง ๒ - ๓ ตัว เก้าอี้ ๓
- ๔ ตัว ชาวบ้านเขามารอซื้อกันเลย แต่เขาซื้อกลับไป "จ่อ" แปลว่าทอด กะบองคือผัก
ได้แก่ ฟักทอง น้ำเต้า มะละกอ ถั่วงอก ผสมแป้งแล้วลงทอดในกะทะใหญ่ มีน้ำจิ้มที่เปรี้ยวด้วยมะขามเปียก
หวานด้วยน้ำตาลอ้อย มันด้วยถั่วลิสงตำ เผ็ดด้วยพริกป่น ต้องยอมนั่งกินที่ร้านของเขาจึงจะอร่อยถึงใจ
ผมไล่ตามชิมกะบองจ่อมาจะทั่วภาคเหนือแล้ว ต้องรับรองว่าไม่เคยเจอเจ้าไหนอร่อยเท่ากะบองจ่อ
อ.แม่สอด เลย
ขอพากลับมากินอาหารกรุงเทพ ฯ .-
ใครอยากชิมอาหารฝรั่งรสสดี ราคาถูก ร้านนี้ก็มีเช่น สั่งซุปถ้วยละ ๔๘ บาท
สเต็กจานละ ๑๑๐ บาท มีดนตรีให้ฟัง นักร้องเพลงไพเราะ ดนตรีไม่หนวกหู
อาหารจานเดียวของเขาก็มี เหมาะไปกินรอบดึกเช่น ก๋วยจั๊บเซี่ยงไฮ้ ข้าวอบหม้อดินทรงเครื่อง
เป็นต้น อาหารทะเลสด ๆ ใส่กะบะแช่น้ำแข็งวางไว้ตั้งแต่ปากทางเข้า
อาหารเกาหลีของเขาก็มีเช่น บาร์บีคิว จานร้อนหรือใครจะล่องเรือ กินอาหารก็ติดต่อได้
กุ้งยำตะไคร้ กุ้งเผาแล้วเอาต้นตะไคร้เสียบ ราดด้วยน้ำยำรสจัด โรยใบสะระแหน่
ปลาช่อนกระบอก ปลาช่อนเผาแล้วลอกเอาหนังออกเห็นเนื้อขาวจั๊วะน่ากินนัก วางบนกระบอกไม้ไผ่
ที่มีขาวางรองและมีผักต้ม เช่น บวย ผักกาดเขียว น้ำจิ้มมีแบบพริกหนุ่ม และน้ำจิ้มซีฟู๊ด
ปูเนื้อผัดพริกไทยดำ จานนี้ไม่ควรโดดข้ามไป ราคาตามน้ำหนัก ไม่แพง
ปิดท้ายด้วยข้าวอบสับปะรด เสริฟมาในลูกสับปะรด โรยเสียด้วยน้ำปลาพริก
ของหวาน โอนีแป๊ะก๊วยและบัวลอยเผือกหรือชอบไอศกรีมของเขาก็มี "เรนโบว์ พาร์เฟ่ห์"
...............................................................
|