วัดพระสิงห์ เป็นวัดประจำปีมะโรง ถือได้ว่าเป็นวัดท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงในเมืองเชียงใหม่ ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติแวะมาสักการะพระพุทธสิหิงค์กันเป็นจำนวน เพราะตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่เดินทางสะดวกและบริเวณใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่อีกหลายวัด ผสมผสานกับความเจริญของตัวเชียงใหม่เป็นอย่างดี
วัดพระสิงห์ มีชื่อเต็มว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐาน พระสิงห์ หรือพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะ เชียงแสนรู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง วัดพระสิงห์ มีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทางราชการ จะได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ศรัทธา ประชาชนต่างพากันมายืนริมถนนเพื่อสรงน้ำพระสิงห์ในเทศกาลปีใหม่ ตามคติล้านนา คนเกิดปีมะโรงต้องมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
คนปีมะโรงมาให้ได้สักครั้งนะครับ
ความน่าสนใจภายในวัดพระสิงห์
1.โบสถ์
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขโถงทั้งด้านหน้าด้านหลัง ลักษณะอาคารและการตกแต่งเป็น แบบศิลปะล้านนา โดยแท้ ด้านข้างแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลายปูนปั้นบริเวณ ซุ้มประตูทางเข้า หน้าบันมีลักษณะวงโค้งสองอันเหนือทางเข้าประกบกัน เรียกว่า คิ้วโก่ง เหนือคิ้วโก่งเป็น วงกลม สองวงคล้ายดวงตา ที่เสาและส่วนอื่นๆ มีปูนปั้นนูน มีรักปั้นปิดทอง วิจิตรพิศดารมาก
2.วิหารลายคำ
วิหารลายคำ เป็นวิหารพื้นเมืองขนาดเล็ก ภายในเป็นที่ประดิษฐาน”พระพุทธสิหิงค์” ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๑ นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม 51 นิ้ว เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองชียงใหม่จะอัญเชิญพระพุธสิหิงค์แห่ไปถนนรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาโดยทั่วกัน วิหารลายคำพบแห่งเดียวที่นี่
3.หอไตร
สร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ผนังด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้น ทำเป็นรูปเทพพนมยืน บ้างก็เหาะประดับ อยู่โดยรอบ เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐได้ซ่อมแซมขึ้น ใหม่ที่ฐาน หอไตรปั้นเป็นลายลูกฟักลดบัว ภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก กิเลน เป็นต้น และมีลายประจำยามลักษณะคล้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน
ตำนานพระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์
พระมหาเถรโพธิรังสีชาวหิริภุญไชย รจนาภาษาบาลีไว้ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 พระเจ้าสีหฬะแห่งลังกาทวีป ได้โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งเรียกว่า “พระพุทธสิหิงค์” แต่ในชิยกสลมาลีปกรณ์เรียกว่า”สีหฬะปฎิมา” ตามนามกษัตริย์ผู้สร้าง
พ.ศ. 1839 กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชแต่งทูตไปขอคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกาและได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาด้วย ภายหลังมาประดิษฐานอยู่ที่กรุงสุโขทัย เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ตีสุโขทัยได้ หลายสิบปีต่อมาพญาไสลือไทยได้อัญเชิญมาไว้ที่พิษณุโลก เมื่อพญาไสลือไทยสิ้นพระชนม์ จึงอัญเชิญมาที่กรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. 1927 พระญาณดิศ เชื้อวงศ์พระร่วงได้กราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาขออัญเชิญมาไว้ที่เมืองกำแพงเพชร
พ.ศ. 1934 เจ้ามหาพรหม พระปิตุลาของเจ้าแสนเมืองมาได้อัญเชิญไปไว้ที่เชียงราย และโปรดให้หล่อพระพุทธสิหิงค์จำลองขึ้น เมื่อเจ้ามหาพรหมถึงแก่พิราลัยแล้ว พระพุทธสิหิงค์จึงได้มาประดิษฐาน ณ วัดลีเชียงพระ ในนครเชียงใหม่
พ.ศ. 2084 พระไชยเชษฐาทรงนำพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปจากเชียงใหม่หลายองค์ไปไว้ที่ล้านช้าง(หลวงพระบาง)
เมื่อทางเชียงใหม่ทวงถามจึงทรงคืนพระพุทธสิหิงค์มาเพียงองค์เดียว
พ.ศ. 2205 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยกทัพมารบเชียงใหม่และทรงอัญเชิญลงไปไว้ที่อยุธยาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อยู่นานถึง 105 ปี จนถึง พ.ศ. 2310 กรุงแตก ทหารเชียงใหม่ที่มาในกองทัพพม่าอัญเชิญกลับเชียงใหม่ทางเรือ และประดิษฐานอยู่ที่วัดตั้งแต่นั้นมา
ที่ตั้งการเดินทางไปวัดพระสิงห์
ตั้งอยู่บนถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
- ขับรถเข้าเมืองเชียงใหม่ไปเลยครับ เป็นวัดใหญ่จะมีป้ายบอกตามจุดต่างๆ วัดพระสิงห์ตั้งอยู่บริเวณคูเมืองด้านในใกล้ประตูสวนดอก อยู่บนถนนสามล้าน-ราชดำเนิน
- โบกสองแถวสีแดง หรือสี่ล้อแดง ให้ไปส่งได้เลยครับ