จังหวัดสมุทรสงครามนับว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญยิ่งต่อวงการดนตรีไทยด้วยว่าหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลป์บรรเลง) ครูเพลงดนตรีไทยของแผ่นดิน ที่นอกจากท่านจะเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือ สามารถเล่นดนตรีได้ทุกประเภทแล้ว ท่านยังมีความสามารถเป็นเลิศในการคิดค้นประดิษฐ์เพลง และเทคนิคการบรรเลงแบบใหม่ ๆ รวมไปถึงเขียนตำราเพลงเอาไว้มากมาย ที่ล้วนเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ท่านได้ฝากไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และสืบทอดต่อ ๆ กันมา ซึ่งอาจ คุ้นตาจากหนังเรื่อง โหมโรง ที่เค้าโครงของหนังสร้างจากประวัติของ หลวงประดิษฐ์ ไพเราะและจังหวัดสมุทรสงครามนี่แหละที่บ้านบ้านเกิดของท่าน ทุกวันนี้กลิ่นอายแห่งตำนานดนตรีไทยที่ท่านเป็นผู้บุกเบิกเอาไว้ ก็ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยอย่างแจ่มชัด ด้วยการสืบสานของคนรุ่นปัจจุบันสมุทรสงครามจึงมีทั้งโรงเรียนสอนดนตรีไทยตามแบบฉบับของแท้ดั้งเดิม และงานศิลปะการทำเครื่องดนตรีไทยอันเลื่องชื่อ นั่นก็คือ การทำ ซอ
วันนี้ดูเอเซีย.คอม จะพาเพื่อนๆไปดูศิลปะอีกแขนงหนึ่ง คือการทำเครื่องดนตรีไทย ที่ซื่อว่า “ซอ” ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ปัจจุบันค่อนข้างหาดูได้ยากและมีคนทำน้อย ผู้รู้ในแวดวงดนตรีไทยคงจะทราบกันดีว่า หากอยากจะได้ซอดี ๆ สักคันหนึ่ง ไม่ต้องดั้นด้นไปที่ไหนให้ไกลเลย มาที่จังหวัดสมุทรสงครามนี่รับรองไม่ผิดหวัง เพราะที่นี่มีช่างทำซอฝีมือดีคนหนึ่ง ที่ตำบลบางพรมอำเภอบางคนที ที่เขามุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังกับการทำซอ ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ที่เขาทดลองทำซอด้วยตนเอง ทำให้เรียนรู้ว่าซอที่ดี ไม่เพียงเป็นเครื่องดนตรีที่สื่อเสียงอันไพเราะไปสู่ผู้ฟัง หากแต่ยังเป็นเครื่องมือ ที่นำไปสู่การเรียนรู้จิตใจผู้คนอีกด้วยจนได้ฉายาว่า พญาซอ
เมื่อเลี้ยวรถเข้าไปตามทางในแผนที่ที่ได้มา ขับเข้าไปตามทางสองฝั่งข้างทางเต็มไปด้วยสวนมะพร้าวที่ปลูกเป็นแนวดูแล้วรู้สึกถึงความร่มรื่น สงบ ขับตามทางมาเรื่อยๆก็เจอบ้านสวนหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ท่ามกลางอาณาบริเวณอันกว้างขวาง และแวดล้อมไปด้วยต้นไม้นานาพันธ์ส่วนมากจะเป็นต้นมะพร้าว สิ่งแรกที่สะดุดตาและทำให้อุ่นใจได้ทันทีว่า เรามาไม่ผิดบ้านแน่นอน ก็คือ แสงสะท้อนวาบจากตัวอักษรสีทองขนาดใหญ่ ที่สลักอยู่บนแผ่นหินก้อนโตทางเข้าบ้าน เขียนเอาไว้ว่า พญาซอ พอไปถึงเจ้าของบ้าน คือ คุณสมพร เกตุแก้ว (พญาซอ) ชายวัยกลางคนร่างเล็ก ผิดเข้ม ตาคม ในชุดหม้อฮ้อมแบบทะมัดทะแมง ออกมาต้อนรับ และเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งคุยกันที่ชั้นล่างของบ้าน ซึ่งปูด้วยพื้นหินอ่อนขัด เปิดโล่ง รับลมโกรกเย็นสบายแบบไม่ต้องพึ่งพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ รอบ ๆ ตัวเรามีกะโหลกมะพร้าว และข้าวของต่าง ๆ ที่มองแล้วก็ทราบได้ทันทีว่า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำซอนั่นเอง
ด้วยบุคลิกที่ออกทะมัดทะแมงค่อนไปทางห้าว แถมยังเป็นคนเสียงดังฟังชัด พูดจานักเลงแบบคนตรงไปตรงมา ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า เขามาสนใจดนตรีไทยได้อย่างไร…คุณสมพรบอกกับเราว่าจริง ๆ แล้ว ผมไม่ใช่คนที่ชอบดนตรีหรอกครับ ตอนเรียนเป็นเด็กเกเรที่ชอบต่อย ชอบตี เรียนหนังสือไม่เก่ง เวลาสอบก็ลอกเพื่อน…มาวันหนึ่ง เพื่อนก็ได้ยินเสียงดนตรีไทยดังมาจากอาคารดนตรีชั้นล่าง ก็หนวกหูกัน เรียนไม่รู้เรื่อง ความที่อยากจะเอาใจเพื่อน ก็เลยลงมาเก็บก้อนอิฐเขวี้ยงหลังคาเขา บังเอิญหลังคาเป็นกระเบื้อง มันก็เลยแตกลงมาโดนฆ้อง เขาก็ให้มาตามตัวไป ตอนแรกผมก็ไม่ยอมรับ อาจารย์ก็เลยจะตีทั้งห้อง แล้วเชิญผู้ปกครองมาทั้งห้องเลย ผมกลัวเพื่อนเดือดร้อน ก็เลยยอมรับ ครูเขาก็เบื่อมากที่ผมเกเร เรียนก็ซ้ำชั้น ตกแล้วตกอีก ตอนนั้นเขาจะให้เชิญผู้ปกครองมาลาออกเลย แต่อาจารย์สำเนียง กู้ทรัพย์ มองไปมองมาก็เลยบอกว่า เอ้า! มาเล่นดนตรีไทยให้ได้ชิ้นหนึ่ง ถ้าเล่นได้จะไม่ต้องเชิญผู้ปกครอง เย็นนั้นผมก็เลยไปซ้อมตีฉิ่ง ตีฉาบ ก็เล่นไป ๆ จู่ ๆ ทางโรงเรียนเขาเกิดจะให้วงไปออกโทรทัศน์ถวายพระพร ผมก็มานั่งกลุ้มใจว่า เรามันก็เก๋าแบบนี้แล้วจะให้ไปนั่งตีฉิ่งตีฉาบหน้าโทรทัศน์มันคงไม่ใช่หรอก ก็เลยไปหาเพื่อนให้ช่วยสอนอะไรสักอย่าง เพื่อนก็สอนสีซอให้ แล้วก็ไปเรียนกับอาจารย์ จนกระทั่งวันถวายพระพร วันนั้นก็ได้สีซอออกโทรทัศน์” หลังจากนั้น นักดนตรีจำเป็นคนนี้ ก็ฝึกปรือฝีมือมาตลอด จนระยะหนึ่ง เขาก็เริ่มคิดอยากที่จะมีซอเป็นของตัวเอง แต่ไปหาซื้อก็ไม่ได้ดังใจ วันหนึ่ง อาจารย์ที่ศิลปากรบอกกับผมว่า ถ้าอยากได้ซอดีก็ต้องเป็นช่างเอง และต้องไปหาซอที่มีรูปร่างลักษณะต้องตามตำรา ผมถามว่าไปหาที่ไหน เขาบอกสมุทรสงคราม ผมก็นั่งรถเมล์ไปเลย พอมาถึงที่นี่ถึงได้รู้ว่าแหล่งมะพร้าวซอดี ๆ ก็อยู่ในบริเวณนี้ทั้งนั้น หลังจากขึ้นล่องเพื่อหาซื้อซอบ่อยเข้า ไป ๆ มา ๆ คุณสมพรก็เลยได้แต่งงานกับเจ้าของบ้านสวนมะพร้าวซอ และลงหลักปักฐานอยู่ที่สมุทรสงครามตั้งแต่นั้นมา
ตอนแรก ๆ เราก็เริ่มจากตกแต่งซอก่อน และค้นพบแล้วว่าทำอย่างไรให้ซอดี ระยะหลังต่อมา ก็จะมีคนที่ซอเสียงไม่ดี เขาเอามาให้เราแก้ปรับแต่งให้ บางครั้งถึงขึ้นให้ทำคันให้ใหม่ แล้วก็มีคนมาแบ่งขอซื้อไปใช้ มาก ๆ เข้าก็กลายเป็นว่า มีอาชีพทำซอไปเลย ผมได้วิชาทำซอมา ส่วนบ้านภรรยาเขาทำสวนมะพร้าวซอก็เลยมาช่วยกัน เดิมทีภรรยาก็ยังทำซอไม่เป็น เขาก็ดูผมมาเรื่อย ๆ ระยะหลังผมต้องไปประชุม ไปสาธิตบ่อย ไม่ค่อยมีเวลาทำซอที่คนเขามาสั่งไว้ ภรรยาก็เลยค่อย ๆ หัดเองจนสุดท้ายก็ทำได้ ในฐานะที่เป็นทั้งนักเล่นซอ และช่างทำซอ คุณสมพรจึงมีโอกาสได้จับซอราคาแพงเรือนหมื่นเรือนแสนมามากมาย บางคันทำด้วยงาช้าง ทำด้วยทวนทองก็มี ทำให้เรารู้สึกว่า เขาต้องเรียนรู้ให้ลึกอย่างมาก เพื่อจะสามารถมีซอดี ๆ ไว้ใช้ แต่การทำซอดี ๆ ขึ้นมาสักคันหนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากช่างที่ทำจะต้องสั่งสมประสบการณ์มายาวนานแล้ว ยังต้องมีปัจจัยอีกหลาย ๆ อย่างประกอบกันด้วย
การที่จะทำซอขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งนั้น เราควรจะมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ก็คือ ต้องเป็นชอบดนตรี ต้องมีมะพร้าวซอที่ถูกต้องตามลักษณะ ต้องมีหนังวัวที่ให้เสียงที่ดี ซึ่งควรจะเป็นหนังที่ได้จากวัวที่เกิดทางภาคเหนือของประเทศ ไม่ควรใช้วัวที่เกิดภาคกลาง เพราะวัวภาคเหนือเป็นดินแดนแห่งความแห้งแล้งในช่วงหน้าแล้ง หน้าฝนก็จะไม่ยาวนาน แต่ถ้าภาคกลางเป็นที่ชุ่มน้ำ หญ้าหรืออาหารที่กินเข้าไป มันทำให้เซลล์หนังของเขาหยาบ ไม่ละเอียด และไม่ทนแดดทนฝนเหมือนวัวที่อยู่ทางอีกสานหรือภาคเหนือ แต่ส่วนใหญ่จะได้จากภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ความรู้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องเป็นช่างกลึง เพราะคันซอต้องใช้ไม้เนื้อแข็งทำ เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้มะยง ไม้สาทร และอีกชนิดหนึ่งที่เป็นไม้เนื้อแข็งหายาก และราคาแพง ก็จะเป็น พญางิ้วดำ รองลงมาก็คือ ไม้มะเกลือ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณสมพรบอกว่า การทำซอให้ได้ดีต้องเริ่มจากสิ่งนี้ก่อนคือ การหากะลามะพร้าวซอที่ถูกต้องตามลักษณะ มะพร้าวซอจะแตกต่างกับมะพร้าวธรรมดา เป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกันมาก กะลามะพร้าวซอที่ดีต้องมีลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมโดยรอบ ไม่ว่าเราจะมองจากด้านไหน และจะต้องมีกะโหลกที่ขึ้นเป็นโหนกสองข้างอย่างชัดเจน และมีส่วนที่เป็นงวงเหมือนหัวช้าง แต่นี่เป็นการออกแบบคนลุ่มน้ำแม่กลองนะคนลุ่มน้ำอื่นเขาอาจจะมองเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่น บางคนว่าเหมือนนมสาว บางคนอาจจะเห็นเหมือนมวยพราหมณ์ แต่คนลุ่มน้ำแม่กลองจะเรียกว่า มะพร้าวหัวช้าง และถ้าสังเกตข้างใน มันจะมีปุ่มซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียงที่ดีด้วย ถ้ามันกลมเรียบไปธรรมดาเสียงมันจะออกมาเลย แต่ปุ่มข้างในนี้จะทำให้เสียงวนเหมือนดักเก็บเสียงเอาไว้ แล้วถึงจะวนออกมา แบบเดียวกับเครื่องเสียงที่ลำโพง ซึ่งจะมีการบุการแบ่งอยู่ข้างในมะพร้าวซอนี้ เขาก็จะแบ่งระดับความงามคล้ายกับประกวดนางงามทีเดียวนะคะ โดยจะมีอยู่ 4 สกุล ด้วยกัน มะพร้าวซอที่สวยเป็นอันดับหนึ่งเขาจะเรียกว่า “พญาซอ” รองมาคือ “ซอพระยา” อันดับสามเรียกว่า “ซอคน” อันดับสี่เรียก “ซอแกง” ซึ่งลำดับสุดท้ายนี้ ไม่ได้เป็นสายพันธุ์มะพร้าวซอ และไม่ได้มีเชื้อสายผสม แต่เป็นมะพร้าวธรรมดาที่เราใช้แกงหรือทำกับข้าวนี่แหละ แต่เผอิญเมื่อนำมาแกะลายแล้วเกิดสวยและเสียงดีแต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยนิยมนำมาทำกัน
เมื่อได้มะพร้าวซอเหมาะ ๆ แล้ว ก็มาเริ่มขั้นตอนการทำตั้งแต่นำมะพร้าวมาปอกเปลือก ขัดผิวแล้วแคะเนื้อออก ผึ่งไว้พอหมาด ๆ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง แล้วใช้ช้อนขูดผิวให้เกลี้ยงเกลา จากนั้นก็นำกะลาไปเก็บไว้ในที่มืด ใส่ไว้ในตู้ หรือในถุงดำอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ปรับตัว พอแห้งดีจึงนำออกมาทาด้วยน้ำยาเคลือบผิววานิช แล้วนำไปใส่ไว้ในตู้มืดอีก 6 เดือน หลังจากนั้นก็เอาออกมาแขวนไว้ข้างนอกในที่ระบายอากาศ แต่ไม่ต้องโดนแดดอีก 6 เดือน เหตุที่ต้องใช้เวลามากขนาดนี้ก็ เพื่อให้กะลาแห้งดี เมื่อนำมาทำซอจะได้ไม่แตก และไม่เกิดการคายน้ำภายหลัง หลังจากนำมาแขวนข้างนอก 6 เดือน แล้วก็จะนำมาตัดหน้าให้ได้ขนาด ส่วนหนังที่ได้มาก็นำมาตัดให้ได้ขนาดเช่นเดียวกัน แล้วนำไปแช่น้ำไว้ไม่เกิน 2 คืน เพื่อให้หนังนิ่ม ต่อไปก็นำหนังมาขึงปิดหน้าตัดของกะลา เสร็จแล้วปล่อยไว้ให้แห้งเองประมาณ 7-8 วัน นำมาตัดแต่งเก็บริมให้เรียบร้อย
เสร็จจากขึงหนังแล้วก็เป็นขั้นตอนการแกะลายเป็นส่วนที่มีความสำคัญตรงที่ทำให้เกิดเสียง และยังเป็นการบอกถึงลักษณะนิสัยช่างในการเขียนศิลปะลงไป และสุดท้ายเราก็จะได้ลายที่เป็นของตัวเอง เหมือนกับที่ทุกคนต้องมีลายเซ็นเป็นรูปแบบของตัวเอง หลายคนบอกแกะแล้วก็เซ็นชื่อด้วย แต่ช่างที่เป็น เขาบอกเขาไม่ต้องเซ็นหรอก เพราะลายนั่นแหละคือลายเซ็นของเขา ถ้าคนดูเป็นดูออก ก็จะรู้ว่าของใครของใคร ส่วนใหญ่การแกะลาย เขาจะแกะเป็นร่องเล็กก่อน แล้วลองสีดู หลังจากนั้นก็ขยายลายออกไปเรื่อย ๆ โดยเราต้องเฉลี่ยให้ช่องไฟออกมาสวย ถ้าเกิดรูใดรูหนึ่งออกมาโตกว่ารูอื่น ก็จะเสียความสมดุลไป การจะเว้นวรรคอะไรตรงไหน ต้องมีลีลา ซึ่งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ ต้องฝึกฝนมาอย่างน้อย 7 ปี ถึงจะรู้ว่าช่องไฟเป็นยังไง มันต้องสั่งสมประสบการณ์มาเอง ถึงจะบอกได้ว่าพอแล้วหรือยัง ไม่ใช่จู่ ๆ บอกกันแล้วจะทำได้ ส่วนลวดลายที่นำมาแกะสลักบนกะโหลกซอ ส่วนใหญ่ได้แก่ ลายตัวละคร เช่น พระราม พระลักษมณ์ หนุมาน พระลอฯลฯ ลายเทพ เช่น เทพพนม พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศ เป็นต้น ลายพุดตานและเครือเถา นามปี เช่น ปีชวด ฉลู ฯลฯ และนามย่อก็นิยมนำมาสลักลงบนกะโหลกซอ และยังมีภาพจับคือแกะสลักเป็นรูปตัวละครตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปไว้บนกะโหลกซอเดียวกัน ซึ่งซอที่จะนำมาแกะภาพจับได้นั้นจะต้องมีขนาดใหญ่และเนื้อหนาจึงจะสามารถนำมาแกะได้สวยงาม เพราะแกะได้หลายชั้น แต่จะแกะได้ยากกว่ากะลาเนื้อบาง เพราะเนื้อแข็งกว่า
ซอที่คุณสมพรรับทำมีทั้งซอสามสาย และซออู้ ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งคุณสมพรบอกว่าขึ้นอยู่กับความต้องการ และวัสดุที่ใช้ว่าหายากไหม บางคนอยากได้มาก ถึงขนาดยอมสละที่ดินเป็นแปลง ๆ สละบ้านเป็นหลัง ๆ ก็มี ที่ทำอยู่ก็ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น หลักแสน เช่น เอาเสียงดัง พอสมน้ำสมเนื้อ ก็จะประมาณ 3-4 พันบาท แต่บางคนเขาต้องการแบบพิเศษ เช่น ต้องกะโหลกแบบพิเศษ ต้องปูดแบบนี้ ถูกต้องตามลักษณะเลยนะ ซึ่งบางทีที่บ้านผมไม่มี เขาก็ไปดั้นด้นหาซื้อมาจากที่อื่น พอได้มาเราก็ต้องเขียนลายอย่างพิถีพิถัน ต้องระวังไม่ให้ของเขาแตก เสร็จแล้วบางคนไม่เอาแบบคันไม้ธรรมดา จะเอางาช้าง จะทำด้วยทองคำ จะต้องฝังเพชร ซึ่งผมไม่ได้เป็นช่างทอง ช่างเพชร ช่างพลอย เขาก็ต้องไปจ้างช่างเฉพาะด้านทำให้ ค่าใช้จ่ายตรงนี้จึงทำให้ซอของเขาคันหนึ่งมีราคาสูงมาก บางทีสูงถึงประมาณ 300,000 บาท
ที่ใต้ถุนบ้านของคุณสมพร มีซอที่สวยงาม แขวนบ้าง ตั้งบ้าง อยู่หลายคัน ซึ่งเราคิดว่าเป็นของลูกค้าที่มาสั่งทำเอาไว้กระมัง หากเมื่อขอชมความงามดูใกล้ๆ เรากลับได้ทราบว่า ซอเหล่านั้นเป็นของรักของห่วงของคุณสมพรทั้งสิ้น ชนิดที่ว่า รักมากจนไม่ยอมขายให้ใคร ไม่ว่าจะเอาอะไรมาแลกก็ตาม ตลอดเวลาที่ได้คุยกับคุณสมพร สิ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนในบุคลิกการพูดคุยของเขาก็คือ ความรักอย่างซาบซึ้งในศิลปะการทำซอที่เขามุ่งมั่นตั้งใจว่าจะทำต่อไปทั้งชีวิต อีกทั้งความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ที่เขามีอยู่ให้คนอื่น ๆ …คำพูดท้ายสุดที่เขาบอกกับเราต่อการได้ทำงานตรงนี้ก็คือ…มันเป็นความภูมิใจที่เราได้เก็บน้ำลายครูมา คือครูก็พูดให้ฟัง ชวนให้ดู ให้เห็นถึงศิลปะต่าง ๆ พร้อมกับให้เห็นถึงความงามของดนตรี และที่สุด ลึก ๆ แล้วเราก็พบว่า ศิลปะกับสมาธิเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันได้ดี และก็ทำให้เราจัดการกับความทุกข์ของตัวเองได้อย่างดีด้วย คนส่วนใหญ่ เวลามีปัญหา ก็จะไปแก้ที่ธุรกิจ แก้ที่ปมปัญหาของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เป็นการมองออกไปนอกตัว แต่การได้ทำงานตรงนี้ทำให้พบว่า การแก้ปัญหาให้กับตัวเองในทางความคิดนั้น เป็นสุดยอดของการแก้ปัญหาแล้ว ถ้าแก้ความรู้สึกที่ตัวเราได้ก่อน ส่วนอื่นก็จะดีตามไปด้วย”
ดูเอเซีย.คอมขอแนะนำ หากเพื่อนๆคนไหนสนใจหรือต้องการมาเที่ยวชม ศิลปะการทำซอ ที่บ้านพญาซอ ซึ่งซอเป็นเครื่องดนตรีไทยพื้นบ้านภาคกลาง และบ้านพญาซอเป็นบ้านช่างซออู้ ที่นำศิลปะการเล่นดนตรีไทยมาผนวกกับการแกะสลักซอเป็นลวดลายที่งดงาม โดยการนำผลมะพร้าวที่ใช้ทำซอ ซึ่งมีลักษณะพิเศษมาแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายตัวละคร ลายพุดตาน ลายนามย่อ ลายนามปีนักษัตรเช่น ชวด ฉลู ปัจจุบันหาชมศิลปะการแกะสลักเช่นนี้ได้ยาก นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถชมศิลปะการแกะสลักซอและเรียนรู้การใช้ซอได้ที่ บ้านคุณสมพหร เกตุแก้ว เลขที่ 43 หมู่ 5 ต.บางพรหม อ.บางคนที สมุทรสงคราม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-3476-1949
การเดินทาง
บ้านพญาซอ จากตัวเมืองสมุทรสงคราม ไปตามทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตร ที่ 36-37 มีทางแยกซ้ายไปอุทยาน ร.2 บ้านพญาซออยู่เลยอุทยาน ร.2 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกตรงหน้าปากซอย หรือ สอบถามจากคนแถวนั้นจะรู้จักกันดี