วัดไชยธาราราม หรือ วัดฉลอง

0

เที่ยววัดขึ้นชื่อเมืองภูเก็ต “วัดไชยธาราราม หรือ วัดฉลอง”ทริปนี้ดูเอเซีย.คอมบินลัดฟ้าจากเหนือสู่เมืองไข่มุกแห่งอันดามันครับ  ว่ากันว่าหากมาถึงภูเก็ตแล้ว ใครไม่ได้เดินทางมากราบไหว้หลวงพ่อแช่ม แห่งวัดฉลอง วัดคู่บ้านคู่เมืองภูเก็ต ก็ประหนึ่งมาไม่ถึงเมืองภูเก็ต   อีกทั้งเสียงเล่าขานเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และกิตติศัพท์ในการรักษาโรค บุญญาบารมี และเมตตาธรรมที่สูงส่งของหลวงพ่อ ทำให้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก ดังนั้นทริปนี้ดูเอเซีย.คอมก็ไม่พลาดที่จะมุ่งหน้าสู่วัดฉลอง เพื่อไปกราบไหว้หลวงพ่อแช่มกันครับ เล่ากันว่าในขณะที่หลวงพ่อท่านมีชีวิตอยู่นั้น มีผู้คนที่รอปิดทองตามแขนและขาของท่าน จนแลดูเหลืองอร่ามไปทั่วราวกับปิดทองพระพุทธรูป และแม้ว่าหลวงพ่อแช่มจะมรณภาพไปเป็นเวลานับร้อยปีมาแล้วก็ตาม ชื่อเสียงและเกียรติคุณบารมีของท่านก็อยู่ในความทรงจำและระลึกถึงของผู้คนสืบมา ทุกวันนี้หลวงพ่อแช่มยังคงเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับชาวภูเก็ต และชาวไทยทั่วทุกภาคหรือแม้แต่เพื่อนบ้านผู้มาเยือนดินแดนไข่มุกแห่งอันดามันนี้เสมอวัดฉลอง หรือ วัดไชยธาราราม เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป จากเรื่องราว ความศักดิ์สิทธิ์ และคุณความดี ของหลวงพ่อแช่ม แห่งวัดฉลอง ประวัติตอนหนึ่งของหลวงพ่อแช่มนั้นเล่าว่าในปี พ.ศ.2419 ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 5 หลวงพ่อแช่มได้ช่วยเหลือชาวภูเก็ตต่อสู้กับพวกอั้งยี่ ชาวกรรมกรเหมืองแร่ที่ได้ก่อเหตุจราจล ไล่ฆ่าฟันโจมตีชาวบ้านและจะยึดครองเมืองภูเก็ต ในครั้งนั้นหลวงพ่อได้มอบผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านทุกคนโพกหัวเพื่อเป็นเครื่องรางป้องกันอันตราย ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นและขวัญกำลังใจให้กับชาวภูเก็ตเป็นอย่างมาก และใช้วัดฉลองเป็นที่มั่นราวกับป้อมค่ายที่ใช้ในการต่อสู้ จนกระทั่งสามารถเอาชนะพวกอั้งยี่ได้ เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงทราบความจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์แก่หลวงพ่อแช่ม เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์แห่งเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในสมัยนั้น และได้พระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยธาราราม และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากใครมีเรื่องทุกข์ร้อนใด ก็พากันมาบนบาน ให้หลวงพ่อช่วยเหลือเสมอ และอีกอย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาก็คือ ไม้เท้าของท่านศักดิ์สิทธิ์มาก ใครมีปาน หรือไฝในบริเวณที่ไม่พึงปรารถนา  ก็มาขอเอาไม้เท้าของท่านไปจิ้ม แล้วไฝ หรือปานนั้นก็จะไม่ใหญ่ขึ้น และค่อยๆ จางไปเอง(อันนี้ขึ้นอยู่กับ ความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ)นอกจากหลวงพ่อแช่มแล้ว ที่วัดฉลองยังมี หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อม ที่ชาวบ้านเคารพ ศรัทธาเลื่อมใสเช่นกัน โดยนอกจากความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ท่านทั้งสองยังมีชื่อเสียงทางด้าน การปรุงสมุนไพร และรักษาโรคด้วย ดังนั้นแม้ท่านได้มรณภาพไปแล้ว ชาวบ้านที่มีเรื่องทุกร้อน ก็ยังคงมากราบไหว้ บนบานไม่ขาดสายเมื่อเข้ามาถึงเขตวัดแล้ว ก็จะได้ยินเสียงจุดประทัด แก้บนเป็นระยะๆ (เชื่อหรือยังว่าศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน) และหากใครไม่ได้เตรียมดอกไม้ ธูป-เทียนมา ( เหมือนดูเอเซียเลย ) ก็ต้องไปซื้อดอกไม้ ธูป เทียน แผ่นทองคำเปลว ที่ซุ้มบริเวณวัด ซึ่งมีจำหน่ายเป็นชุดๆ  ส่วนเรื่องราคาของเครื่องบูชาทั้งหลายนั้น ทางวัดไม่ได้กำหนดไว้ และรายได้ที่ได้ก็นำไปบำรุงรักษาและซ่อมแซมวัดต่อไป ถือว่าเป็นการทำบุญกับวัดไปในตัว  นอกจากนี้เค้าก็มีพระไว้ให้ทอนกันด้วย คำว่า “ทอน หมายถึง เช่า” เป็นภาษาภูเก็ตครับก่อนที่จะไปไหว้หลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อมนั้น ต้องไปไหว้พ่อท่านเจ้าวัด ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารเก่าแก่ อันเป็นที่ตั้งของวัดฉลองตั้งแต่โบราณ ก่อนที่จะย้ายออกมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน ซึ่งองค์พระประธานในวิหารแห่งนี้ มีองค์รักษ์อยู่สองท่าน คือหนึ่ง “ท้าวนนทรี” ซึ่งท่านเป็นยักษ์ที่อยู่ในศีลในธรรม และอีกหนึ่งท่าน คือ “ตาขี้เหล็ก”  ซึ่งว่ากันว่า ท่านชอบสูบบุหรี่มาก หากใครมาบนบาน หรือขอเลขเด็ด แล้วบนบานด้วยบุหรี่ มักได้ผลสมใจนึกกันทุกราย (ก็ไม่พลาดที่ดูเอเซียจะขอ แต่จะขออะไรนั้นขอเก็บเป็นความลับนะครับ )

เมื่อไหว้องค์พระประธานเสร็จเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ไปไหว้หลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อมกันต่อ  ที่วัดฉลองเค้าจะจัดบริเวณให้นักท่องเที่ยวจุดธูป-เทียนด้านนอก แล้วอธิษฐานตรงหน้าวิหาร จากนั้นให้ปักเทียนในรางเหล็กที่จัดไว้ให้  ส่วนธูปก็ปักในกระถางด้านหน้า สาเหตุที่ต้องให้จุดธูปเทียน แล้วปักไว้ด้านนอก  ก็เนื่องจาก การที่มีผู้คนมากราบสักการะมาก หากจะให้จุดธูปเทียน แล้วนำไปกราบไหว้ข้างใน ที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดกว่าด้านนอก อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้  ( ธูปอาจไปจี้โดนคนอื่น ) แต่สำหรับดอกไม้ และทองคำเปลวนั้น สามารถเอาไปไหว้ข้างในได้เมื่อเข้าไปในวิหาร  ด้านในเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อจำลองหลวงพ่อทั้งสาม คือ หลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง  หลวงพ่อเกลื้อม สำหรับติดทองคำเปลว สำหรับเพื่อน ๆ ที่ชอบการเสี่ยงทายแบบเซียมซีก็จะมีเซียมซีไว้ให้สำหรับการนี้ด้วย แต่เคล็ดที่ไม่ลับสำหรับการเสี่ยงทายเซียมซี นั่นก็คือ หากผลการทำนายไม่ดี เค้าบอกว่าอย่านำใบทำนายกลับบ้าน ให้ทิ้งไว้ที่วัด เหมือนฝากให้พระท่านดูแล ส่วนใครที่ได้ผลทำนายดี ก็ให้เอากลับบ้านได้ สบายใจจังผลออกมาดี๊ดี แต่ดูเอเซียก็ไม่ได้เอาใบเซียมซีกลับบ้านหรอก อ่านแล้วก็เก็บไว้ที่เดิม เผื่อคนอื่น ๆ ได้เหมือนเรา ก็จะได้อ่านต่อไป และที่สำคัญช่วยวัดประหยัดพลังงาน ไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ใบเซียมซีบ่อย ๆ

จากนั้นก็เดินมานมัสการพระบรมธาตุที่พระมหาธาตุเจดีย์ พระจอมไทย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ชั้นบนสุดของพระมหาธาตุเจดีย์   พระบรมธาตุแห่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อไม่นานมานี้เอง บรรยากาศภายในเงียบสงบ และเย็นสบาย ภายในห้องโถงชั้นล่างเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางต่างๆ  ส่วนที่ฝาผนังมีภาพวาดเกี่ยวกับพุทธประวัติ ต่าง ๆ เช่น ตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน เป็นภาพวาดที่วิจิตรงดงามมาก
ถัดจากพระบรมสารีริกธาตุ ก็จะเป็นกุฏิจำลองของพ่อท่านสมเด็จเจ้า (หลวงพ่อวัดฉลอง) ซึ่งภายในจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งจำลองของหลวงพ่อวัดฉลอง ทั้งสามท่าน (หลวงพ่อแช่ม – หลวงพ่อช่วง – หลวงพ่อเกลื้อม)  นอกจากนี้ ทางวัดยังได้นำเครื่องเรือน และเครื่องใช้โบราณต่างๆ มาจัดแสดงด้วยและสุดท้ายสำหรับใครที่ชื่นชอบในเรื่องของการเช่าพระ เพื่อนำกลับไปบูชาที่บ้าน ก็จะมีซุ้มศาลาทึ่ขายดอกไม้ธูปเทียน บริเวณนี้จะมีกลุ่มบรรดานักท่องเที่ยวต่างก็พากันมาจับจองและเช่าพระกันเป็นจำนวนมาก  นั่นหมายความว่า หลวงพ่อวัดฉลองนี้เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน ทั้งชาวไทย และต่างชาติอย่างจริง ๆ  

ขอบคุณภาพ phukej.com

เชิญแสดงความคิดเห็น