ทริปนี้ ดูเอเซียจะพาไปชมความเก่าแก่ ของอาคารสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ของเมือง จวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ที่ได้สร้างขึ้นในปี 2435 โดย เจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย หากมองจากทางด้านหน้าของคุ้มเจ้าหลวง ก็จะเห็นรูปปั้นองค์เจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ ตั้งตระหง่านให้กราบไหว้กัน ก่อนจะเข้าไปชมความเก่าแก่ของจวนผู้ว่า ฯ หลังนี้ มองเพียงเท่านี้ก็เห็นความยิ่งใหญ่ และความเก่าแก่ของที่นี่กันแล้วล่ะค่ะ ไปชมกันเลย …
หลังคาคุ้มเจ้าหลวง
พระเจ้าหลวงเมืองแพร่-แม่เจ้าบัวไหล พร้อมบุตรธิดา
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น หลังคามุงด้วยไม้เรียกว่า “ไม้แป้นเกล็ด” ไม่มีหน้าจั่วเป็นแบบหลังคาเรือนปั้นหยา มีมุขสี่เหลี่ยมยื่นออกมาด้านหน้าของตัวอาคาร หลังคามุขมีรูปทรงสามเหลี่ยม ทั้งปั้นลมและชายคาน้ำรอบตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างสวยงามซึ่งเป็นฝีช่างชาวจีนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นมุขด้านหน้าตัวอาคารแต่เดิมมีบันไดขึ้นลงทั้ง 2 ด้าน คือด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ (ปัจจุบันรื้อออกแล้ว) คงเหลือบันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้าและด้านหลังเท่านั้น ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูน มี 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อน ส่วนใหญ่เป็นไม้แก่น ไม้แดง และไม้เนื้อแข็ง รองรับฐานเสาทั้งหลัง ภายใต้ตัวอาคารซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร
แบบจำลองคุ้มเจ้าหลวงทั้งหลัง
คุ้มเจ้าหลวง แห่งนี้ เคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม พ.ศ. 2501 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ซึ่งภายในก็จะมีแท่นบรรทมของพระองค์รวมอยู่ด้านในด้วยค่ะ
นอกจากนี้บริเวณห้องใต้ดิน มีห้องสำหรับคุมขัง ข้าทาส บริวาร ซึ่งกระทำความผิด ถึง3 ห้อง ห้องกลางเป็นห้องทึบ แสงสว่างสาดส่องเข้าไปไม่ได้เลย ใช้เป็นที่คุมขังข้าทาสบริวารที่กระทำความผิดร้ายแรง ส่วนอีก 2 ห้อง ปีกซ้ายและปีกขวา มีช่องแสง ให้แสงสว่างเข้าไปได้บ้างใช้เป็นที่คุมขังผู้มีความผิดชั้นลหุโทษ
พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเมื่อครั้งประทับคุ้มเจ้าหลวง
จากข้อมูลที่ดูเอเซียได้ศึกษาจากเรื่องเล่า กล่าวขานผ่านทาง อินเตอร์เนต เกี่ยวกับคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่แห่งนี้ เค้าว่ากันว่า “เรื่องราวความลี้ลับของคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่นั้นเต็มไปด้วยตำนานที่น่าสะ พรึ่งกลัว ด้วยในอดีตบริเวณใต้ถุนอาคารหลังนี้เคยเป็นที่คุมขังนักโทษมานานนับศตวรรษ ชาวบ้านทั่วไปไม่อาจที่จะล่วงรู้ คงมีแต่คำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ล่วงลับดับขานไปแล้วเล่าสืบต่อกันมาถึง เกี่ยวกับภูตผีวิญญาณต่างๆ ของบรรดาผีทาสที่เสียชีวิตจากการถูกพันธนาการอย่างโหดเหี้ยม น่ากลัวจริงๆ ค่ะ” และบริเวณภายใต้อาคารคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่หลังนี้เคยใช้เป็นที่คุมขังทาสมาไม่น้อย กว่า 50 ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาส คุกทาสแห่งนี้เลยกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่วๆ ไปของเจ้าเมืองหรือข้าหลวงในสมัยต่อๆมา จนกระทั่งมีการสร้างเรือนจำเมืองแพร่ขึ้น คุกทาสอันยาวนานของคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่จึงว่างลง หลงเหลือไว้เพียงตำนานภาพหลอนและวิญญาณพยาบาท
ซ้าย: แม่เจ้าบัวไหล กลาง: เจ้าเมืองน่าน ขวา: เจ้าเมืองน่าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตสีสว่างวงศ์ (กษัตริย์ลาว)
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ซ้าย: ประวัติแม่เจ้าบัวไหล กลาง: ประตูเมฆะวิมาน เมื่อผ่านแล้วจะเจริญด้วยยศฐาฯ ขวา: ที่ประทับแม่เจ้าบัวไหล
ศึกษาประวัติศาสตร์กันได้อย่างจุใจเลยรับรองได้
แต่ปัจจุบันนี้ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ได้เปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าชมเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของเมืองแพร่โดยผู้ที่สนใจก็สามารถเข้าชมทุกวัน เปิดเวลา 08.30 -16.30 น. เข้าชมฟรีนะคะ
มองจากหน้าต่างคุ้มเจ้าหลวง ตรงข้ามเห็นโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่
สถานที่ตั้ง: ตั้งอยู่ในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ถนนคุ้มเดิม จ.แพร่ ตรงข้ามโรงเรียนนารีรัตน์ และอยู่ใกล้กับบ้านประทับใจบ้านไม้สักเก่าแก่
ติดต่อ: สำนักงานจังหวัดแพร่ โทร 0 5451 1411