ปลายฝนต้นหนาว เป็นฤดูกาลที่นกนักล่าอย่างนกเหยี่ยว และนกอินทรีย์ มากกว่า 1 แสนตัว อพยพ ผ่านภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนทริปนี้ดูเอเซีย.คอม จะพาเพื่อนๆ ไปสังเกตปรากฎการณ์ธรรมชาติที่หาดูได้ยากนี้ ที่ เขาเรดาห์ (10o 59” N 99o 13 E) ซึ่งทางท้องถิ่นได้จัดเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพ ประจำปี เสมือนเป็นการต้อนรับเหยี่ยวอพยพ อาคันตุกะหน้าหนาวที่จะใช้ประเทศไทยเป็นทางหลวง อพยพย้ายถิ่นจากเขตอบอุ่นไปเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร นับเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่เหยี่ยวนับร้อยนับพันตัวในแต่ละวันจะอพยพหนีสภาพอากาศที่หนาวเย็นและภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ เหนือถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธ์ ที่บริเวณโดยรอบขั้วโลกเหนือ และเขตอบอุ่น เช่นประเทศรัสเซีย จีน มองโกเลีย และญี่ปุ่น มุ่งหน้าลงสู่ทิศใต้ ผ่านประเทศไทยไปอาศัยในฤดูหนาวในภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ด้วยระยะทางถึง 2000-4000 กิโลเมตร ผ่านอุปสรรคนานัปการ เช่น พายุ ฝน
เหยี่ยวอพยพ มักจะเดินทางลัดเลาะริมชายฝั่งทะเล และรวมฝูงกันกลางอากาศ โดยใช้ประโยชน์จากมวลอากาศร้อน หรือลมร้อน ที่เกิดจากแรงลอยตัวของความร้อนที่ตกกระทบพื้นดิน ยกตัวสูงขึ้นช่วยผ่อนแรง ประหยัดพลังงานในการกระพือปีกติดต่อกัน เกิดปรากฎการณ์ “สายธารเหยี่ยวอพยพ” Rivers of Raptors
ก่อนออกเดินทาง เตรียมอุปกรณ์สำหรับดูนกให้พร้อมนะครับ อุปกรณ์สำคัญที่ต้องนำไปด้วยก็คือ กล้องส่องทางไกล กล้องถ่ายรูป และแว่นกันแดด หากใครจะไปสังเกตุการณ์นานๆ แนะนำให้นำเก้าอี้สนามและเต้นท์กันแดดไปด้วย ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการไปดูเหยี่ยวคือช่วงเช้าตรู่ ประมาณ 6.00น – 9.00น และตอนเย็นๆ เหยี่ยวจะบินในระดับสายตา สังเกตได้ง่ายส่วนช่วงกลางวันเหยี่ยวจะบินสูงขึ้นเพื่อหลบอากาศร้อนข้างล่าง เหยี่ยวทุกตัวจะบินมาจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ ทำให้เขาเรดาห์ที่ภูมิประเทศทิศเหนือเปิดโล่งเป็นจุดสังเกตการณ์ที่เหมาะสม
เส้นทางสู่เขาเรดาห์ ขับรถ จาก กทม. มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ เลยหัวหินประมาณ 200 กม.ใกล้ๆ จะสุดเขต จ.ประจวบฯ ผ่านทางเข้าอำเภอบางสะพานที่ กม 400 และเลยทางแยกเข้า อ.บางสะพานน้อย ไปอีกประมาณ 10 กม. บนถนนเพชรเกษม กม.ที่ 430 จะพบเห็นโรงงานรับซื้อปาล์มน้ำมัน ซ้ายมือ ขับรถต่อไปจนเจอป้าย “อีก 500 เมตร ถึงศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์” ก่อนถึงป้ายนิดนึงจะมีซอยเข้าไปที่เขาเรดาห์อยู่ บนเขาเรดาห์จะมีจุดสังเกตุที่สำคัญคือเสารับสัญญาณขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเขาเรดาห์นั่นเองในทริปนี้ดูเอเซียได้พบกับ ทีมงานจาก กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นคณะนักวิจัยที่สังเกตการณ์ด้านนี้โดยตรง จึงได้รับความกรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปรากฎการณ์เหยี่ยวอพยพเป็นอย่างดี คณะนักวิจัยกลุ่มนี้จะนับจำนวนเหยี่ยวอพยพทั้งหมดจากกว่าจะสิ้นสุดฤดูกาล และได้เตรียมคัตเอาต์ และเอกสารสำหรับผู้สนใจที่เดินทางไปชมปรากฎการณ์ธรรมชาตินี้ด้วยครับ