พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สมเด็จพระนารายณ์

0

แกะรอยคนโบราณ เจ็ดศอก สมัยพุทธกาลเชื่อกันว่าคนในสมัยก่อนนั้น เป็นคนที่มีร่างกายใหญ่โตกว่าคนในสมัยนี้มาก  คนเจ็ดศอกเป็นชื่อเรียกขานเล่าต่อกันมาตั้งแต่สมัยอดีต แต่ความจริงแล้วก็ยังไม่มีใครทราบว่าคนเจ็ดศอกมีจริงหรือไม่

ทริปนี้ดูเอเซีย.คอม พามาแกะรอยตามหาคนโบราณ เจ็ดศอก โดยพามาชมโครงกระดูก ที่มีขนาดใหญ่และยาวเท่า ๆกับคนเจ็ดศอกหรือสูงประมาณ 3.50 เมตร  ที่พระราชวังนารายณ์ราชนิเวชน์ แห่งเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยโดยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2208-2209สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำใหญ่ ไม่ห่างจากทะเล และด้วยเหตุผลทางการเมืองภายในประเทศ พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรี ใช้เป็นราชธานีที่สอง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ไกลจากแม่น้ำใหญ่ มีป่า ภูเขา สัตว์ป่าชุกชุมทำให้ต้องอัธยาศัยในการเสด็จเข้าป่าล่าสัตว์ล้อมจับช้างในบริเวณป่าใกล้เมืองลพบุรี พระองค์จึงรู้สึกปลอดภัยเมื่อประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี ภายในบริเวณก็มีราชวังเก่าของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ยังมีให้ชมกันอย่างมากมายทางด้านในมีการจัดแสดงวัตถุโบราณมากมายหลายยุคหลายสมัย ให้เราได้ชมกันอย่างจุใจ   รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ยาวใกล้เคียงกับคนเจ็ดศอกที่ร่ำลือในสมัยโบราณ มีอยู่อย่างสมบูรณ์เราเข้าไปตามดูกันเลย

 

พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมตะวันตก สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดประทับ ณ เมืองลพบุรีเกือบตลอดปี เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น จึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์  เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้างจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด ฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2399 โปรดให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้น และพระราชทานชื่อพระราชวังนี้ว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ โดยในตัวพระราชวังจะแบ่งเป็น สามส่วนคือพระราชฐานชั้นนอกพระราชฐานชั้นกลางและพระราชฐานชั้นใน ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากมายตั้งอยู่ เป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่มากครับ สิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายก็จะมี เช่น

เขตพระราชฐานชั้นนอก ประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำใหญ่,ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง,ตึกพระเจ้าเหา,สิบสองท้องพระคลัง,โรงช้างหลวง

 

เขตพระราชฐานชั้นกลาง เมื่อมาถึงด้านในสุดของเขตพระราชฐานชั้นนอกจะเห็นกำแพงใหญ่ขวางกั้นอยู่มีประตูใหญ่เป็นทางผ่านเข้าสู่เขตพระราชฐานขั้นกลาง ในเขตชั้นนี้มีพระที่นั่งที่สร้างขึ้นสองแห่ง ประกอบไปด้วย  พระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท 

เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นพื้นที่ซึ่งต่ำกว่าพระราชฐานส่วนอื่น ๆในพระราชฐานอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท การเข้ามาชมพระราชฐานส่วนนี้คือเมื่อเดินผ่านพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท จะเป็นประตูและมีทางลาดเทลงปูด้วยอิฐสลับกันเป็นฟันปลา เมื่อเดินผ่านประตูลงไปแล้ว จะเห็นลานกว้างมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นและมีกำแพงสูงใหญ่ล้อมลอบทุกด้าน ตามซุ้มประตูและแนวกำแพงแต่ละด้านเจาะเป็นช่องโค้งแหลมสำหรับวางตะเกียง เขตพระราชฐานชั้นนี้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกล่าวกันว่า ได้รับการกวดขันเป็นอย่างยิ่ง อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะมหาดเล็กในพระองค์กับขุนนางบางคนซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤทัยเท่านั้น พระราชฐานชั้นในก็จะมี พระที่นั่งสุทธาสวรรค์  เดินชมกันแทบไม่ทั่วครับใหญ่โตมาก ๆ  นอกจากนั้นยังมีสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เราได้ชมอีกด้วย เช่น

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งองค์นี้ขึ้นใน พ.ศ. 2405 ประกอบด้วยพระที่นั่งต่าง ๆ คือมุขด้านซ้ายมือพระที่นั่งอักษรศาสตราคมเป็นที่ทรงพระอักษร มุขด้านขวามือคือ พระที่นั่งไชยศาสตรากรเป็นที่เก็บอาวุธ พระที่นั่งองค์ขวางตรงกลาง คือพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ ด้านหลังสุดเป็นอาคารสูง 3 ชั้น คือพระที่นั่งพิมานมงกุฏ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ 

หมู่ตึกพระประเทียบตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฏ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายในก่อด้วยอิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายใน 

ทิมดาบหรือที่พักทหารรักษาการณ์ เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง ข้างประตูทั้งสองด้านตรงบริเวณสนามหญ้า จะแลเห็นศาลาโถงข้างละหลัง นั่นคือตึกที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวัง 

หลังจากที่เราเดินพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์กันจนทั่วแล้วเราก็เข้าไปด้านใน ซึ่งเป็นบริเวณที่ราชกาลที่  4 ได้สร้างขึ้นใหม่  ทางด้านในจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลพบุรี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466อาคารจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯโดยจัดแสดงไว้หลายห้องหลายแบหลายสมัยเราเข้าไปติดตามดูมนุษย์เจ็ดศอกด้านในกัน เราเข้าไปที่ห้องพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ซึ่งเป็นห้องแสดงสถาปัตยกรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคกลางของประเทศไทยและแหล่งโบราณคดี จังหวัดลพบุรี โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผาเตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะภาชนะสำริด เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น ด้านในมีโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์อย่างมากครับกระดูกอยู่ครบแทบทุกส่วน ดูขนาดแล้วน่าจะเท่า ๆกับขนาดของคนเจ็ดศอกที่เล่าต่อกันมา ใหญ่ยาว มาก ๆ ครับ จากที่วัดขนาดดูแล้วก็ยังเล็กกว่าคนเจ็ดศอกที่ล่าลืออยู่ดี ประมาณ 2 เมตร กว่า ๆ   ค้นพบในพื้นที่จังหวัดลพบุรีซึ่งเป็นโครงกระดูกมนุษย์ในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีหลายโครงกระดูกครับ ตั้งไว้ให้ชมในตู้กระจกใสมองเห็นได้อย่างชัดเจนมาก เรียกว่าได้ชมโครงกระดูกมนุษย์ในสมัยพุทธกาลหลายชิ้นหลายคนเลยที่เดียว แสดงว่าคนเจ็ดศอกก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดที่จะนำมายืนยันได้ว่ามีจริงในสมัยอดีต มีแต่คำบอกเล่าต่อ ๆกันมาเท่านั้นและก็ยังเป็นตำนานที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป ถ้าท่านอยากเห็นคนโบราณที่ใกล้เคียงกับคนเจ็ดศอกก็เข้ามาดูที่นี่ไดเลยครับ นอกจากนั้นยังมีห้องอื่น ๆอีกเช่น 

– พระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
– ห้องภาคกลางประเทศไทยพ.ศ.800-1500 รับอิทธิพลวัฒนธรรมของอินเดียที่เรียกว่า สมัยทวารวดี จัดแสดงเรื่องการเมือง การตั้งถิ่นฐานเทคโนโลยีและการดำเนินชีวิต อักษร ภาษา ศาสนาสถาน ศาสนาและความเชื่อถือ
– ห้องอิทธิพลศิลปะเขมร-ลพบุรีที่พบในภาคกลางของประเทศไทยอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีสมัยชนชาติขอมแผ่อิทธิพลเข้าปกครองเมืองลพบุรี และบริเวณภาคกลางของประเทศไทย
– ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ศิลปกรรมที่พบตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย
– ห้องประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-24 ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องถ้วย เงินตรา อาวุธ เครื่องเงิน เครื่องทอง และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปูนปั้น และไม้แกะสลักต่างๆ
– ห้องศิลปร่วมสมัยจัดแสดงภาพเขียนและภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย 
– ห้องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและพระราชประวัติของสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)ซึ่งโปรดฯ ให้และสร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2399 ได้แก่ ภาพพระสาทิสลักษณ์ฉลองพระองค์ เครื่องใช้ แท่นบรรทม เหรียญทอง และจานชามมีสัญลักษณ์มีรูปมงกุฎ ตราประจำพระองค์ เป็นต้น 
– ห้องหมู่ตึกพระประเทียบเป็นอาคารลักษณะสถาปัตยกรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง การดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ประกอบอาชีพประมง การเกษตร และศิลปหัตกรรมพื้นบ้านของคนไทยในภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรีที่ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน  ทุก ๆ ห้อง มีวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์มากมายจริง ๆ ครับ เข้าชมกันแทบไม่หมด สนุกสนานกับการเดินดูของโบราณก็ได้อารมณ์ศิลปินดีนะครับ คนที่ชอบดูวัตถุโบราณไม่ควรพลาดจริง ๆ 

การเข้ามาเที่ยวชมที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์แห่งนี้ถือว่าคุ้มจริง ๆครับ ได้ชมความยิ่งใหญ่ของราชวังในสมัยก่อนเห็นวัตถุโบราณอันทรงคุณค่าในหลายรูปแบบหลายสมัยและหลายศาสนา และยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ต่าง ๆอย่างมากมายแถมได้ดูคนโบราณขนาดเท่ากับคนเจ็ดศอกอีกด้วย  เป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์อย่างยิ่งครับ   

พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ตั้งอยู่ในตัวเมืองลพบุรีบริเวณด้านหลังทางรถไฟ เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. หยุดวันจันทร์-วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ การเข้าชมผู้เข้าชมจะต้องเสียค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 

ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ถนนสรศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 15000 โทร.(036)411458  

การเดินทาง ก็มาก็ไม่ยากครับ เส้นทางที่หนึ่ง มาบนถนนสายเชีย ผ่านอยุธยา สิงห์บุรีแล้วเลี้ยวขวาเข้ามาในตัวเมืองลพบุรีได้เลย ท่านจะเจอทางรถไฟในตัวเมืองบริเวณปรางค์สามยอดท่านเลี้ยวขวามาแล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีตรงไปประมาณ 500 เมตรก็เจอครับ  เส้นทางที่สอง มาบนถนนสายกรุงเทพ-สะบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายก่อนเข้าตัวเมืองสระบุรีตรงเข้ามาตัวเมืองลพบุรี ผ่านสี่แยกวงเวียนสระแก้วตรงมาเลื่อย  ๆท่านก็จะเห็นเป็นแยกทางรถไฟบริเวณศาลพระกาฬ ตรงข้ามทางรถไฟไปเลยปรางค์สามยอดไปแล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 500 เมตร ก็ถึงครับ 

ทริปนี้เล่าซะยืดยาวเลย แต่ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจครับเลยอยากให้ทุกท่านได้ความรู้กันอย่างเต็มที่ เห็นความยิ่งใหญ่ของวังนารายณ์อย่างนี้แล้วคงอยากมาเที่ยวชมกันแล้วใช่ไหมครับ เอาเป็นว่าใครที่อยากเห็นประวัติศาสตร์ในสมัยต่าง ๆ ก็เชิญมาที่ นารายณ์ราชนิเวศน์กันได้เลย ได้รู้ได้เห็นแน่ ๆ ครับ  เอาไว้ทริปหน้า จะค้นหาที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์มาฝากกันอีกนะครับ สุขสมหวังจงเป็นแด่ของทุกท่านครับ

พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นพระที่นั่งซึ่งตรงกับบันทึกชาวฝรั่งเศสว่า เป็นหอประชุมองคมนตรี เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ มีลักษณะคล้ายโบสถ์หรือวิหารด้านหน้ามีมุขเด็จ เพื่อเสด็จออกให้ข้าราชการเข้าเฝ้าตรงชาลาหน้าพระลาน เมื่อพระราชวังถูกทิ้งร้าง เครื่องบนพระที่นั่งปรักหักพัง เหลือแต่ผนัง ได้รับการซ่อมแซมให้สมบูรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทเป็นพระที่นั่งท้องพระโรงทรงสูง มียอดแหลมทรงมณฑป ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชรเป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ฝาผนังประดับด้วยกระจกเงาซึ่งนำมาจากประเทศฝรั่งเศส ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงซึ่งอยู่ทางด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปที่อยู่ด้านหลังทำประตูหน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังพระด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่าง เจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับตามประทีปในเวลากลางคืน

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าพระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 สระ ใช้เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อ พ.ศ. 2231 ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ฐานรากเท่านั้น 

ตึกเลี้ยงรับแขกเมืองบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยานเป็นตึกชั้นเดียวขนาดกระทัดรัด รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบสามด้านเป็นรูปตัวยู U ภายในคูน้ำมีน้ำพุพุ่งเรียงรายราว 20 แห่ง สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากฝรั่งเศส ณ สถานที่แห่งนี้ ใน พ.ศ. 2228 และพ.ศ. 2230

ตึกพระเจ้าเหาตึกหลังนี้แสดงให้เห็นลักษณะสถาปัตยกรรม สมัยสมเด็จพระนารายณ์ชัดเจนมาก ภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่บันทึกของชาวฝรั่งเศสระบุว่าเป็นวัด ตึกหลังนี้อาจเป็นหอพระประจำพระราชวังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อว่า “พระเจ้าเหา” ประตูหน้าต่างทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังด้านสกัดสูงยันอกไก่ ตรงจั่วเจาะเป็นช่องโค้งแหลม มีกำแพงแก้วเจาะเป็นช่องสำหรับวางตะเกียงล้อมรอบตึก 

สิบสองท้องพระคลัง (พระคลังศุภรัตน์ )เป็นอาคารชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ระหว่างถังเก็บน้ำประปาและตึกเลี้ยงรับแขกเมือง สร้างขึ้นเป็นเรือนยาวสองแถวเรียงชิดติดกันอย่างมีระเบียบ เครื่องบนเป็นไม้มุงกระเบื้องกาบ ประตูและหน้าต่างเป็นแบโค้งแหลม อาคารข่อนค้างทึบ มีถนนผ่ากลางจำนวน 12 ห้องเข้าใจว่าเป็นคลังเก็บสินค้าเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ 

ถังเก็บน้ำในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาลีได้ช่วยกันสร้างระบบระบายน้ำ ด้วยท่อดินเผาเพื่อลำเลียงน้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองลพบุรี มาใช้ในพระราชวังและในเมืองลพบุรี ถังเก็บน้ำในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ คงทำไว้เพื่อกักน้ำไว้จ่ายในพระที่นั่งและตึกต่าง ๆ ในพระราชวังโรงช้างหลวงตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพง เขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐาน ปรากฏให้เห็นประมาณ 10 โรง ช้างซึ่งยืนโรงในพระราชวัง คงเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้านายหรือขุนนางสำคัญพระที่นั่งและตึกที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 ขอบคุณภาพ oknation.nationtv.tv

เชิญแสดงความคิดเห็น