งานประเพณีผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย

0

ผีตาโขน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ที่มีมาตั้งแต่โบราณ และเป็นความน่าภาคภูมิใจของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่มีงานประเพณีที่ดีงามเช่นนี้  การละเล่นผีตาโขนเป็นส่วนหนึ่งของงาน “บุญหลวง” (บุญพระเวส) ซึ่งรวมกับการขอฝน และการแห่บั้งไฟ ของชาวอำเภอด่านซ้ายเท่านั้น จึงมีการจัดขึ้นทุกๆ ปี จนมีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก

งานบุญพระเวส เป็นงานบุญตามประเพณีท้องถิ่นเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองของชาวอีสาน  จะจัดในระหว่างเดือน 6 – 7 แต่การกำหนดวันไม่แน่นอน เพราะการกำหนดวันนั้นต้องทรงเจ้าก่อน โดยมากจะเป็นหลังงานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ส่วนใหญ่จะตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์

ประกอบกับงานประเพณีของไทยได้เป็นจุดขายเรื่องท่องเที่ยว จึงได้กำหนดจัดงานให้ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมงานประเพณีได้อย่างสะดวกมากขึ้นบุญหลวง” (บุญพระเวส) เริ่มด้วยพิธีเซ่นไหว้ และเลี้ยงดวงวิญญาณ ที่หอหลวง และหอน้อย โดยพิธีที่หอน้อยจะกระทำในวันที่ต่อจากหอหลวง ผู้กระทำคือ เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม แสน และนางแต่ง

เจ้าพ่อกวน” คือผู้มีหน้าที่เข้าทรง กระทำหน้าที่เซ่นไหว้ประจำปี เลือกโดยวิญญาณพระเสื้อเมือง มาเข้าทรงผู้นั้น ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ฝ่ายชาย ไว้ผมยาว มีผ้าขาวม้าคาดศีรษะอยู่เสมอ นุ่งโจงกระเบน เสื้อขาว เป็นหัวหน้าในการทำพิธีสมโภชน์ และงานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ทุกปี และยังมี เจ้าแม่นางเทียม” เป็นหญิง เลือกโดยพระเสื้อเมืองเข้าทรง มีหน้าที่เข้าทรงเหมือนเจ้าพ่อกวน ไว้ผมยาว เกล้าบนกระหม่อมเสมอ นุ่งผ้าถุง  เสื้อขาว  พร้อมกับผู้เข้าเฝ้าและคอยปฏิบัติฝ่ายชาย เรียกว่า แสน ผู้เข้าเฝ้าและคอยปฏิบัติฝ่ายหญิง เรียกว่า นางแต่ง

ขั้นพิธีบุญหลวง เริ่มต้นด้วยการทำพิธีเบิกพระอุปคุต  โดยแสน และ ประชาชนช่วยกันจัดทำหอพระอุปคุต นำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้มี ดาบ มีด หอก ฉัตร ถือเดินนำขบวนไปที่ริมฝั่ง แม่น้ำหมัน ที่ไหลผ่านตัวอำเภอด่านซ้าย อยู่ใกล้กับวัดโพนชัย เพื่อเชิญ พระอุปคุต (ก็คือหินก้อนกรวดสีขาว) ในแม่น้ำเมื่อได้พระอุปคุตมาแล้ว ก็นำใส่หาบเคลื่อนขบวนกลับมาทำพิธีที่หออุปคุต โดยพ่อแสนแก้ว เป็นผู้ที่ทำพิธีว่าคาถา ไปจนเสร็จพิธีทั้งสี่ทิศ โดยยิงปืนขึ้นแทรก เมื่อเสร็จทิศละ 1 นัด แล้วแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ ทำพิธีในโบสถ์ แล้วจากนั้นนำขบวนไปบ้านเจ้าพ่อกวน เพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่เจ้าพ่อกวน  และเจ้าแม่นางเทียมจากนั้นก็เคลื่อนขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ไปยังวัดโพนชัย เวียนรอบอุโบสถ 3 รอบ พร้อมกับผู้เฒ่าผู้แก่เดินฟ้อนรำไปรอบโบสถ์ มีผีตาโขนใหญ่ร่วมขบวนพิธีด้วย

ต่อจากนั้นจะมีกลุ่มผีตาโขนมาร่วมชุมนุมที่วัดมากขึ้นร่วมขบวนไปเที่ยวหลอกล้อคนเล่นไป ประชาชนอื่นก็จะเข้าร่วมด้วย เล่นทั่งบั้ง(คนป่ากระทุ้งพลอง) เล่นควายตู้ (การไถนา) เป็นที่สนุกสนานตลอดวัน ถึงเวลาช่วงบ่ายที่ที่สนามโรงเรียนด่านซ้าย จะมีการจัดแสดงละเล่นผีตาโขนจากกลุ่มบ้านต่างๆ ตำบลต่างๆ หรือกลุ่มโรงเรียน จึงทำให้มีบรรยากาศหลากสีสัน ด้วยการแต่งกายชุดผีตาโขน พร้อมกับเสียงกระดึงที่ห้อยเอวด้านหลัง พร้อมกับจังหวะการก้าวเดินต้องมีกระดก ขย่มตัว ส่ายตะโพก โขยกขา ขยับเอว ให้กระดึงมีเสียงตามจงหวะเดินด้วย

ผีตาโขนทุกตัว จะสวมหน้ากาก ทำด้วยหวดนึ่งข้าวเหนียว ที่สานด้วยไม้ไผ่ หักพับขึ้นทำเป็นหมวก นำมาเย็บต่อกับส่วนโคนของก้านมะพร้าว ถากเป็นรูปหน้ากากผี แล้วตกแต่งเขียนด้วยสีน้ำมัน ในสมัยก่อน ที่ยังไม่มีสีน้ำมัน ก็จะเขียนด้วยปูนขาว กับดินหม้อ ซึ่งจะเจาะช่องตา แล้วต่อจมูกยาวเหมือนงวงช้าง เอาเศษผ้าที่ไม่ใช้มาเย็บติดกันเป็นผืนใหญ่ ห่มคลุมร่างผู้ที่แต่งเป็นผีตาโขน ผีทุกตัวจะถืออาวุธดาบไม้ในมือ หรือเอาไม้มาทำเป็นลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย ทาสีแดง ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของผีตาโขนโดยแท้ อย่าไปคิดเป็นเรื่องทะลึ่งลามกอนาจารแต่อย่างใดเคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่นายอำเภอท่านหนึ่ง ขอให้ชาวบ้านไม่ให้แสดงในสิ่งที่เป็นเครื่องหมายทางเพศ เพราะกลัวว่าไม่สุภาพ เป็นอนาจารในทำนอง แต่ชาวบ้านไม่ยอม เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่คู่กับงานประเพณีผีตาโขนมาตั้งแต่บรรพกาลแล้ว ดังนั้นเราจึงได้เห็นสิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับผีตาโขนแห่งเมืองด่านซ้ายตลอดมา

ดูกันครับ………หลากหลายอารมณ์ หลากหลายสีสัน หลากหลายบรรยากาศ ในงานผีตาโขนที่เราสามารถไปสัมผัสได้ ปี 2551 จะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ แน่นอน

เชิญแสดงความคิดเห็น