ใช้เกียร์อัตโนมัติให้ถูกต้อง!

0

ปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ๆ หลายรุ่นนิยมผลิตเฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติหรือออโต้ ออกมาจำหน่าย เพื่อให้สะดวกสบายในการขับขี่ แต่ยังมีผู้ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติไม่ถูกต้อง หลายครั้งก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบเกียร์ หลายครั้งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เกิดเหตุการณ์เศร้าสลด เมื่อผู้ขับควบคุมเกียร์อัตโนมัติไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

gear-auto

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตือนสติและให้ผู้ขับขี้ทบทวนการใช้งานเกียร์อัตโนมัติที่ถูกต้องอีกครั้ง จึงมีข้อแนะนำดังนี้

1.การขับรถเกียร์อัตโนมัติหรือออโต้ สำหรับผู้ที่เพิ่งจะเริ่มขับรถ ต้องเหยียบเบรกทุกครั้งก่อนสตาร์ตรถ เพื่อป้องกันอันตราย แม้ตำแหน่งเกียร์จะอยู่ที่ตำแหน่ง (P) หรือ (N) ก็ตาม และเหยียบเบรกทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ว่าง (N) หรือเกียร์จอด (P) ไปเป็นเกียร์เดินหน้า (D) หรือเกียร์ถอยหลัง (R) เมื่อรถหยุดนิ่ง ต้องเหยียบเบรกก่อนทุกครั้ง ก่อนขยับเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์

2.ถ้าเลื่อนคันเกียร์ออกจากตำแหน่งเดินหน้า (D) ไปเป็นตำแหน่งถอยหลัง (R) หรือเปลี่ยนจากตำแหน่งถอยหลัง (R) ไปเป็นตำแหน่ง (D) ควรให้รถหยุดสนิทให้เรียบร้อยก่อน อย่าใจร้อน เมื่อรถยังเคลื่อนที่อยู่แต่รีบเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ จะทำให้เกียร์มีอายุการใช้งานสั้น และค่าซ่อมหรือเปลี่ยนเกียร์ใหม่ในรถยนต์ราคาสูงมาก

3.ขณะที่รถวิ่งอยู่ไม่ควรเข้าเกียร์ตำแหน่ง (N) เช่น เห็นไฟแดงข้างหน้า แต่ยังอีกไกล กลัวจะไม่ประหยัดน้ำมัน จึงเข้าเกียร์ในตำแหน่ง (N) และปล่อยให้รถไหลไปจนถึงไฟแดง รถแทบทุกรุ่นในยุคปัจจุบันใช้ระบบหัวฉีดควบคุด้วยสมองกลทันสมัย การจ่ายเชื้อเพลิงขึ้นตรงกับลิ้นปีกผีเสื้อ ถ้ายกเท้าออกจากคันเร่งลิ้นปีกผีเสื้อก็จะปิดทันที เซ็นเซอร์ลิ้นปีกผีเสื้อจะรายงานกล่องสมองกลควบคุมระบบการจ่ายเชื้อเพลิง ให้หยุดทำการจ่ายน้ำมันทันที ไม่จำเป็นต้องปลดเกียร์ว่าง (N) และยังเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเกียร์อีกด้วย เนื่องจากรถยนต์ในขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว เกียร์ที่อยู่ในตำแหน่ง (D) จะมีปั๊มแรงดันสูง ส่งน้ำมันเกียร์เข้าไปหล่อลื่นอยู่ตลอดเวลา

แต่ปั๊มน้ำมันของเกียร์อัตโนมัติจะทำงานน้อยลงเมื่อเกียร์อยู่ในตำแหน่ง (N) เมื่อไม่มีแรงดันพอเพียงจะดันน้ำมันไปหล่อลื่นเกียร์อย่างเพียงพอ จะทำให้เกียร์ออโต้ร้อน และเกิดการสึกหรอเสียหายตามมา

ด้วยสาเหตุนี้เองเวลารถใช้เกียร์ออโต้เสียและต้องลากไปอู่ จึงจำเป็นต้องเติมน้ำมันเกียร์เพิ่มเข้าไปอีก เพื่อช่วยลดความร้อนของเกียร์ขณะลากจูง หรือถ้าหาน้ำมันเกียร์มาเติมไม่ได้ ควรยกให้ล้อที่ใช้ขับเคลื่อนให้ลอยพ้นพื้นถนน เนื่องจากระบบปั๊มน้ำมันเพาเวอร์ของระบบเกียร์อัตโนมัติหยุดทำงาน ไม่แนะนำให้ถอดเพลาสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหลัง เพระยุ่งยากและเสียเวลามาก ปัจจุบันนี้มีรถยก 6 ล้อ แบบสไลด์ออน สามารถนำรถทั้งคันขึ้นไปไว้บนกระบะหลัง สะดวกสบายและปลอดภัยต่อเกียร์อัตโนมัติและรถยนต์

4.การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ 2 ต้องระมัดระวังเนื่องจากตำแหน่ง 2 จะมีอัตราทดเฉพาะเกียร์ 1 และ 2 บริษัทผู้ผลิตต้องการทำให้รถใช้งานในกรณีที่ต้องการแรงบิดมากๆ เช่น ทางขึ้นเนินค่อนข้างชัน หรือต้องการการหน่วงความเร็วของรถเอาไว้ เช่น ในขณะที่ขับรถลงเนินเขา (ENGINE BRAKE) หรือวิ่งบนเส้นทางที่คดเคี้ยว ลาดชันมากๆ ห้ามใช้ตำแหน่งเกียร์ 2 ในขณะที่ท่านขับรถด้วยความเร็วสูง เพราะจะทำให้เครื่องยนต์ใช้รอบเครื่องสูงตามไปด้วย จนเกินขีดจำกัดและก่อให้เกิดความเสียหาย และอาจลื่นไถลเนื่องจากเกิดแรงบิดมหาศาลมากระทำที่ล้อ ทำให้รถเสียการทรงตัวได้

5.ไม่ควรขับลากเกียร์ โดยทั่วไปการขับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ตำแหน่งเกียร์จะอยู่ที่ (D) ระบบสมองกลควบคุมเกียร์จะสั่งงานให้ปรับเปลี่ยนเกียรให้ขึ้นลงตามความเหมาะสมและความเร็วของรถอยู่ตลอดเวลาบางคนรู้มากใช้วิธีเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์โดยการเลื่อนคันเกียร์ขึ้นลงเองในขณะที่รอบเครื่องทำงานสูงสุด เพื่อหวังผลทางด้านอัตราเร่ง แต่จะมีผลทำให้ผ้าคลัตช์ และระบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์สึกหรอเสียหาย และทำให้อายุการใช้งานของเกียร์อัตโนมัติสั้นลง

6.ไม่ขับแบบเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำเอง (คิกดาวน์) บ่อยๆ การขับในตำแหน่ง (D) ระบบสมองกลควบคุมเกียร์จะคำนวณค่าของแรงต่างๆ และปรับเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ตามความเร็วของรถในขณะนั้นตลอดเวลาอยู่แล้ว การกดคันเร่งเพื่อเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ หรือที่เรียกว่าคิกดาวน์ ไม่ควรทำบ่อยครั้ง หรือทำเท่าที่จำเป็นในการเร่งแซงให้พ้นเท่านั้น ถ้าทำบ่อยผ้าคลัตช์ของเกียร์จะทำงานหนักและสึกหรอเร็วมากขึ้น

7.ควรมีสายพ่วงแบตเตอรี่ติดท้ายรถไว้ตลอดเวลาเนื่องจากรถยนต์เกียร์อัตโนมัติไม่สามารถเข็นด้วยความเร็วต่ำแล้วกระตุกสตาร์ตให้ติดเครื่องยนต์ได้เหมือนรถยนต์เกียร์ธรรมดาการเข็นรถเกียร์อัตโนมัติแล้วใช้วิธีกระตุกสตาร์ตต้องใช้ความเร็วอย่างน้อย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข็นด้วยแรงคนเป็นไปได้ยาก และยังเสี่ยงกับความเสียหายต่อเกียร์ในขณะที่เข็นหรือลากอีกด้วย ควรตรวจสอบแบตเตอรี่ให้มีไฟพอเพียงต่อการสตาร์ตทุกครั้ง

8.น้ำมันเกียร์อัตโนมัติหัวใจของการหล่อลื่นและยืดอายุการใช้งานของเกียร์รถให้ยาวนาน จึงควรเอาใจใส่ตรวจสอบบ่อยๆ การตรวจเช็กระดับน้ำมันเกียร์ให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าขีดที่ก้านวัด กำหนดหมั่นเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระยะทางที่แนะนำ

9.ตำแหน่งในเกียร์อัตโนมัติ

P) PARKING-เป็นตำแหน่งเกียร์ ใช้จอดในลักษณะไม่จอดขวางทางรถคันอื่น แล้วใส่ตำแหน่งเกียร์นี้ไว้ หรือจอดในทางที่มีลักษณะลาดชัน และใช้ในตำแหน่งสตาร์ตเครื่องยนต์

R) REVERSE-เป็นตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง เหยียบเบรกทุกครั้งที่จะเข้าเกียร์ในตำแหน่งนี้

N) NEUTRAL-เป็นตำแหน่งเกียร์ว่าง ใช้ในการตัดกำลังของเครื่องยนต์ที่ส่งลงมาสู่เกียร์ และใช้เป็นตำแหน่งสตาร์ตเครื่องยนต์

D) DRIVE-เป็นตำแหน่งเกียร์เดินหน้าและใช้ในการขับขี่ตามปกติ

ตำแหน่งเกียร์อัตโนมัติจะปรับเปลี่ยนเองตามคำสั่งของสมองกลที่ควบคุม สำหรับรถยนต์บางรุ่นที่มีอุปกรณ์เพิ่มเติมบางค่ายเรียก ทริปทรอนิก หรือสเต็ปทรอนิก เป็นสวิตช์ปรับเปลี่ยนระบบเกียร์ให้เป็นเกียร์สูงหรือต้ำลง ผู้ใช้เข้าระบบเพื่อใช้งานในการปรับตำแหน่งเกียร์ด้วยตัวเอง ช่วยสำหรับการเร่งแซง

นอกจากนี้เกียร์ออโต้รถยนต์หลายรุ่น นอกจากเกียร์ (D) แล้ว ยังมีตำแหน่งเกียร์เดินหน้า แต่รอบต่ำลงมามีเลข 2 หรือเลข 3 กำกับ หมายถึงทดเกียร์ลงมา หรืออาจจะมี ( L) LOW เกียร์ในตำแหน่งนี้ มีเพียงเกียร์ 1 เท่านั้น ใช้สำหรับงานหนักที่ต้องการกำลัง หรือรถติดหล่ม หรือทางขึ้น ลงเขาที่ชันมาก

ที่มา :คอลัมน์ คาร์ทิปส์ นสพ.มติชน

เชิญแสดงความคิดเห็น