แขวงพงสาลีเป็นเขตภูดอย อยู่ภาคเหนือของลาว มีเนื้อที่ทั้งหมด 16,270 ตารางกิโลเมตรมีพลเมือง 145,000 คน มี 20 ชนเผ่า โดยมีชนเผ่าขะมุ และชนเผ่าภูน้อยมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ ประกอบด้วย 6 เมือง เช่นเมืองพงสาลี, เมืองใหม่, เมืองขวา, เมืองลำพัน,เมืองสมบูรณ์ไชย และเมืองยอดอู มีชายแดนติด กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน,แขวงหลวงพระบาง, แขวงอุดมไชยและประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
พงสาลีเป็นแขวงเหนือสุดของประเทศลาว ที่นักท่องเที่ยวไทย และต่างชาติรู้จักน้อยที่สุด แต่ด้วยความมีเสน่ห์น่าค้นหา ทำให้นักท่องเที่ยวที่เคยสัมผัสกระจายบอกต่อกันไปแบบปากต่อปาก ทำให้พงสาลีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฝันอีกแห่งหนึ่งของนักเดินทางหลายๆ คน จากสภาพภูมิประเทศของเมืองถูกขนาบข้างด้วยประเทศจีนทางตะวันตกจรดทิศเหนือถึง 330 กิโลเมตร มีด่านชายแดนท้องถิ่นเฉพาะคนลาว และจีนถึง 3 ด่าน ส่วนทางด้านตะวันออกติดกับประเทศเวียดนามเป็นระยะทาง 320 กิโลเมตร มีด่านชายแดน 2 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นด่านสากลสู่เมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคนี้ ส่วนทิศใต้ติดกับแขวงอุดมไซทางถนน และแขวงหลวงพระบางที่สามารถเดินทางถึงกันได้เฉพาะทางน้ำเท่านั้น มีชนเผ่าอยู่รวมกัน 28 ชนเผ่า มีประชากรประมาณ 166,635 คน (ข้อมูลปี 52) บนเนื้อที่ 16,270 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเมือง (อำเภอ) พงสาลี เมืองสำพัน เมืองขวา เมืองใหม่ เมืองบุนใต้ เมืองบุนเหนือ และเมืองยอดอู ด้วยความสูงของเมืองโดยเฉลี่ย 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล กับความสมบูรณ์ของผืนป่าทำให้มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ -5 ถึง -10 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
แหล่งท่องเที่ยวในเขตเมืองพงสาลี
ย่านเมืองเก่า
พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า
พระธาตุพูฟ้า
สวนชา 400 ปี
แหล่งท่องเที่ยวทางทิศเหนือ
เมืองยอดอู
แหล่งท่องเที่ยวทางทิศตะวันตก
เมืองบุนเหนือ
แหล่งท่องเที่ยวทางทิศใต้
เมืองบุนใต้
เส้นทางสู่เมืองเดียนเบียนฟู
เมืองขัว (เมืองขวา)
เมืองใหม่
ด่านชายแดนสบฮุน-ไตจาง
ย่านเมืองเก่า
เมื่อสังเกตดูแผนที่ประเทศลาว แขวงพงสาลีมีลักษณะยื่นออกไปกั้นกลางระหว่าง 2 ประเทศ ในแนวระยะที่เกือบจะเท่ากัน ซึ่งดินแดนแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเดียนเบียนฟู และมณฑลยูนานมาก่อน แต่ด้วยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ฝรั่งเศสต้องการจะใช้ในการคานอำนาจจีน และเวียดนามเหนือได้อย่างเด็ดขาด จึงบีบบังคับให้จีนส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ในสนธิสัญญาปีพ.ศ.2438 จึงส่งผลทำให้ในย่านตัวเมืองมีลักษณะผสมผสานของชนเผ่าที่หลากหลาย เช่น ลาวสูง, จีน, ฮ่อ, ทิเบต, และเวียดนาม ถึงจะมีกลิ่นไอของฝรั่งเศสอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก ในย่านเมืองเก่านี้ดูคล้ายกับ “เมืองมรดกโลกลี่เจียง” ของจีน และ “เมืองฮอยอัน” ของเวียดนามรวมกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า และยังไม่มีการอนุรักษ์บ้านเรือนไว้อย่างทั้ง 2 แห่ง ดังนั้นการเที่ยวชมย่านเมืองเก่าที่ดีที่สุดคือการเดิน ซึ่งเหมือนได้ย้อนกลับไปสู่ยุคอดีตอีกครั้ง ด้วยถนนที่เชื่อมกับตรอกซอกซอยปูด้วยหินอย่างเมืองเก่าลี่เจียง บ้านเรือนก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หรือก่อด้วยดินเหนียวโดยมีไม้เป็นโครงสร้าง เพื่อป้องกันความหนาวเย็น มีลวดลายตกแต่งตามอาคาร ประตูหน้าต่างยังมีอักษรภาษาจีน หรือเวียดนาม
พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า
เวลาเปิด-ปิด: 08.30 น.-11.30 น. และ 13.30 น.-16.00 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม: 2,000 กีบ
เป็นอาคารชั้นเดียวตั้งอยู่บนเนินใกล้กับธนาคารพัฒนาลาว ภายในจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้, เครื่องแต่งกาย และภาพถ่ายชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยในเมือง เช่น โลโล โลมา โอมา พรวน ขะมุ เป็นต้น
พระธาตุพูฟ้า
เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพงสาลี สามารถนำรถยนต์ขึ้นไปจอดบนยอดพูได้ หรือจะจอดที่จุดปิกนิกกลางเขาแล้วเดินขึ้นบันไดกว่า 400 ขั้นจากเชิงเขา บนยอดพระธาตุพูฟ้ามีความสูง 1,627 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์เมืองที่สวยงาม
สวนชา 400 ปี
ตั้งอยู่ที่บ้านกอแมน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรจากเมืองพงสาลีไปทางทิศตะวันตก เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวจีนที่อพยพมาปักหลักสร้างบ้านเรือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน และปลูกชาขายมาตั้งแต่นั้น จนถึงปัจจุบันสามารถผลิตได้ถึง 60-70 ตัน/ ปี มีโรงงานผลิต และห้องเก็บรักษาชาไว้ถึง 10 ปี เพื่อรสชาติที่ดีของชา สามารถลองชิม และซื้อไปดื่มได้ ใกล้กันจะพบต้นชาที่อายุเก่าแก่ถึง 400 ปี
แหล่งท่องเที่ยวทางทิศเหนือ
เมืองยอดอู
เมืองเหนือสุดของประเทศอยู่ติดกับประเทศจีนที่เมืองเจียงซี แบ่งเป็นเขตอูเหนือ มีสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเช่น วัดหลวงอูเหนือ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างประมาณปีพ.ศ.1344-1348 โดยเจ้าพระยาเมืองอู วัดเฉลิมฉลอง (สะเหลิมสะหลอง) ตั้งอยู่บ้านพ้อ ทุกวันที่ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปีลื้อ จะมีงานเฉลิมฉลองรอยพระพุทธบาทที่ยิ่งใหญ่ พระธาตุอุงไห ตั้งอยู่บนเนินเขาของเมือง มีบันไดขึ้น 160 ขั้นสร้างครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.1343 และถูกโยกย้ายมาสร้างใหม่ในที่ตั้งปัจจุบันเมื่อปีพ.ศ.1623 เขตอูใต้(ชาวบ้านเรียกเมืองยอดอู) ประมาณ 20 กิโลเมตรจากเขตอูเหนือ มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจเช่น ค่ายทหารฝรั่งเศสเก่า ที่สร้างในสมัยปกครองลาว ปัจจุบันเห็นเพียงซากกำแพง วัดหลวงอูใต้ เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 1,000 ปี เป็นที่เคารพบูชาของชาวเมือง พระธาตุกิ่วแอก/ พระธาตุกิ่วออ/ พระธาตุหัวเมือง ตามความเชื่อของชาวบ้านพระธาตุทั้งสามองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความผาสุกแก่บ้านเมือง
แหล่งท่องเที่ยวทางทิศตะวันตก
เมืองบุนเหนือ
อยู่ห่างจากเมืองพงสาลีไปประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของสนามบินที่มีบริการ 2 เที่ยว/ สัปดาห์จากนครหลวงเวียงจันทน์ และยังเป็นด่านพรมแดนจีนที่ใกล้กับเมืองเมิงกลามากที่สุด แต่เป็นด่านท้องถิ่นเฉพาะคนลาว และคนจีนเท่านั้น มีแหล่งท่องเที่ยวคือน้ำตกตาดห้วยหอย และการเที่ยวแบบเดินป่า ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่ห้องการท่องเที่ยวของเมือง
แหล่งท่องเที่ยวทางทิศใต้
เมืองบุนใต้
ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 4 ห่างจากพงสาลีไปประมาณ 93 กิโลเมตรหรือ 160 กิโลเมตร ถ้ามาจากเมืองอุดมไซ มีแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองคือ ค่ายทหารฝรั่งเศสเก่า ที่ยังพอเห็นซากของกำแพงอยู่บ้าง บ่อน้ำร้อนบ้านนาแตม ระยะทาง 28 กิโลเมตรลัดเลาะไปตามถนนลูกรังทางตะวันตกของเมือง ป่าสงวนแห่งชาติน้ำลาน มีสภาพป่า และธรรมชาติสมบูรณ์เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินท่องเที่ยวที่ชอบเดินชมธรรมชาติ และเที่ยวชมหมู่บ้านชนเผ่าต่างๆ สามารถพักค้างคืนกับชาวบ้านชนเผ่าในแบบ Home Stay
เส้นทางสู่เมืองเดียนเบียนฟู
เริ่มต้นเส้นทางที่ปากน้ำน้อยจนถึงด่านชายแดน มีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 6-7 ชั่วโมง ด้วยสภาพเส้นทางที่ทุรกันดารกับต้องข้ามแม่น้ำอู โดยนำรถขึ้นเรือบั๊ก (แพขนานยนต์) และขับรถข้ามห้วย 2-3 ช่วง จึงเหมาะสำหรับรถในแบบ 4 WD เท่านั้น เป็นทางที่มีความสวยงาม และท้าทายสำหรับนักผจญภัยในเขตลาวเหนืออีกเส้นทางหนึ่ง
เมืองขัว (เมืองขวา)
ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร จากเมืองปากน้ำน้อย สภาพเส้นทางลาดยางเรียบ แต่ถูกน้ำกัดเซาะเป็นบางช่วง เป็นเมืองท่าริมแม่น้ำที่เชื่อมระหว่างเมืองหาดสา แขวงพงสาลี จนไปถึงเมืองงอย-หนองเขียว ในแขวงหลวงพระบาง จากเมืองขวาสามารถต่อรถไปสู่แขวงอุดมไซ และด่านชายแดนเดียนเบียนฟูเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองซาปาได้โดยสะดวก สำหรับแหล่งท่องเที่ยวของเมืองยังมีกลิ่นไอ และของสิ่งปลูกสร้างสมัยฝรั่งเศสปกครองอยู่บ้าง แต่สีสันของเมืองนี้จะเป็นธรรมชาติริมน้ำ แบะวิถีชีวิตของชาวบ้าน หรือชนเผ่าท้องถิ่นที่เรียบง่าย และเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นทุกๆ คน
เมืองใหม่
ระยะทาง 38 กิโลเมตรจากเมืองขวา เส้นทางทุรกันดารมากขึ้น เป็นเมืองทางผ่านสู่ด่านชายแดนประเทศเวียดนาม ตัวเมืองเล็กๆ แต่ก็พอหาโรงแรมพักค้างแรมได้ แหล่งท่องเที่ยวในเมืองอยู่ระหว่างรอการพัฒนา ที่น่าสนใจคือ น้ำตกตาดห้วยจิกสามารถนำรถไปได้แต่ทางไม่ดีนัก ส่วนถ้ำกระเดื่อง ถ้ำเขาะ น้ำตกตาดผาอุ่ม ควรมีผู้นำทางไปด้วยเพราะอาจหลงทางได้
ด่านชายแดนสบฮุน-ไตจาง
ระยะทาง 26 กิโลเมตรจากเมืองใหม่ ด่านชายแดนตั้งอยู่บนยอดเขาทางฝั่งลาวคือ “ด่านสบฮุน” มองไปแต่ไกลจะเห็น“ด่านไตจาง” ของเวียดนาม ซึ่งตั้งอยู่บนเขาอีกลูกหนึ่งระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองเดียนเบียนฟูประมาณ 35 กิโลเมตร หากต้องการต่อรถเพื่อไปยังซาปา รถโดยสารท้องถิ่นจะออกในเวลา 06.00 น. ของทุกวัน หากต้องการนำรถส่วนตัวข้ามไปยังเวียดนามจะต้องติดต่อบริษัทนำเที่ยวท้องถิ่นมารับเพื่อขับรถนำทาง (กฎหมายเวียดนามระบุรถที่ขับพวงมาลัยจะต้องมีบริษัทนำเที่ยวท้องถิ่นนำขบวน)
ประวัติแขวงพงสาลี
พงสาลีเป็นดินแดนของลาวที่ติดกับพรมแดนของประเทศจีนและเวียดนาม ทำให้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีการเข้ามายึดครองจากหัวเมืองใหญ่ทั้งหลายในอดีต ในปัจจุบันพงสาลีเป็นเมืองหลวงของแขวง มีประชากร 167,181 คน ตัวเมืองตั้งอยู่บนภูเขาสูง 1,400 เมตร ในเขตเขาภูฟ้า ทำให้อากาศเย็นสบายตลอดปี และเนื่องจากตั้งอยู่ในชัยภูมิอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คืออยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างจีนกับเวียดนาม ฝรั่งเศสจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่แถบนี้มากถึงขนาดสั่งการให้ตั้งค่ายกองทหารรักษาการณ์ขึ้น ดังมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสปรากฏให้เห็นตามซอยต่างๆ แม้จะถูกอาคารพาณิชย์ของจีนที่เน้นประโยชน์ใช้สอยบดบังไปส่วนใหญ่ ตามบันทึกกล่าวไว้ว่าในอดีตพงสาลีมีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองของพวกไทลื้อในแคว้นสิบสองปันนาของจีน แต่ฝรั่งเศสได้แย่งมาจากจีนในสนธิสัญญาที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 ต่อมาเมื่อตกมาเป็นของลาว จึงกลายเป็นแขวงที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาที่สุดแขวงหนึ่ง มีทั้งม้ง อาข่า เย้า ชาวไท เผ่าต่างๆ รวมถึงชาวต่างด้าวเวียดนามกับจีน เนื่องจากรัฐบาลลาวมีนโยบายที่จะสร้าง เอกภาพในความหลากหลาย จึงได้รวมชนกลุ่มน้อยถึง 23 เผ่า เข้าด้วยกัน