คำขวัญ ประจำจังหวัด คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง
ระนอง เป็นจังหวัดแรกของภาคใต้ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดีย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทางประมาณ 568 กิโลเมตร มีพื้นที่เพียง 3,298 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,141,250 ไร่ มีคอคอดกระ หรือกิ่วกระ ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ จังหวัดระนองมีรูปร่างเรียวยาวและแคบ โดยมีส่วนที่ยาวที่สุด ยาวประมาณ 169 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างที่สุด 44 กิโลเมตร สำหรับส่วนที่แคบที่สุดของจังหวัดอยู่ในท้องที่อำเภอกระบุรี มีความกว้างเพียง 9 กิโลเมตร เท่านั้น
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และประเทศสหภาพพม่า
ทิศใต้ ติดกับอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอเมือง อำเภอสวี และอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอเกาะสอง เขตทวาย ประเทศสหภาพพม่า และ มหาสมุทรอินเดีย
ทริปท่องเที่ยวในจังหวัดระนอง
- ตลาดสินค้าครบวงจร (ตลาดร้อยเสา) เมืองระยอง
- จวนโบราณเจ้าเมืองระนอง
- ร้านโรตีนิสรา นุ่มเหนี่ยวอร่อย
- น้ำพุร้อนรักษะวาริน ระนอง
อำเภอต่างๆในจังหวัดระนอง เมืองระนอง ละอุ่น กะเปอร์ กระบุรี สุขสำราญ
อำเภอเมือง
• บ่อน้ำร้อน – สวนสาธารณะรักษะวารินอยู่ห่างจากเขตเทศบาลเมืองระนองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4005 ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) เสด็จประพาสเมืองระนอง ได้พระราชทานชื่อถนนที่จะไปยังบ่อน้ำร้อนว่า “ ถนนชลระอุ ” บ่อน้ำร้อนซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้มีอยู่ 3 บ่อ คือ บ่อพ่อ บ่อแม่และบ่อลูก ทั้ง 3 บ่อมีอุณหภูมิสูงประมาณ 65 องศาเซลเซียส
น้ำพุร้อนแห่งนี้ได้รับการวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการว่าประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญ และน้ำพุร้อนในจังหวัดระนองเป็นแหล่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่เลย จึงทำให้ไม่มีกลิ่นของกำมะถันและมีความบริสุทธิ์สามารถรับทานได้จากแหล่งกำเนิด โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองใดๆทั้งสิ้น
( POTABLE HOT SPRING ) ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลก นอกจากนี้ยังถือเป็นน้ำบริสุทธิ์จึงเป็นแหล่งหนึ่งที่นำไปผ่านพิธีพุทธาภิเษก ทำน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในบริเวณบ่อน้ำร้อนมีบริการอาบน้ำแร่บำบัดรักษาสุขภาพอีกด้วย
• จวนเจ้าเมืองระนองบ้านค่ายเจ้าเมืองระนอง หรือจวนเจ้าเมืองระนอง สร้างในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซู้เจียง) ผู้สร้างคือ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) บุตรขายคนที่ 2 เริ่มสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2420 หลังเหตุการณ์กุลีจีนก่อกบฏ มีเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่เศษ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนองปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานฉบับทั่วไปเล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 50 ง ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539สิ่งที่สำคัญคือ ป้ายหน้าศาลบรรพบุรุษ มีความหมายว่า “ดวงตะวันอันสูงส่ง” บ้านนี้มากด้วยขุนนาง บ้านนี้มากด้วยแก้วแหวนเงินทอง
• สุสานเจ้าเมืองระนองตั้งอยู่ที่เนินเขาระฆังทอง ตำบลบางนอน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง สุสานหรือฮวงซุ้ยที่ฝังศพ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) สร้างในปี 2426 ที่เห็นในปัจจุบัน เป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้แก่ตระกูล ณ ระนอง ที่ คอซู้เจียง เป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่ก่อสร้างต่างๆบริเวณสุสานล้วนทำด้วยศิลาที่สั่งเข้ามาจากเมืองจีนซึ่งมีความหมายทั้งสิ้น เสาศิลาด้านซ้ายมือ มีอักษรภาษาจีนหมายความว่า “ระนองมีภูเขาสลับซับซ้อนสวยงาม”เป็นศรีแก่เมืองระนอง ป้องกันภัยพิบัติมิให้เกิดขึ้น ทำให้ชาวเมืองระนองได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เสาศิลาด้านขวามือ มีอักษรภาษาจีนหมายความว่า ระนองมีน้ำเป็นสีทอง เป็นที่ทำมาหากินของชาวระนอง เป็นเมืองที่มีภูมิประเทศสวยงาม เป็นแหล่งกำเนิดของอัจฉริยะบุคคล
รูปปั้นแพะ หมายถึง โภคทรัพย์ ความมั่งคั่ง
รูปปั้นเสือ หมายถึง พลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่
รูปปั้นม้า หมายถึง ข้าทาสบริวาร คนรับใช้
รูปขุนนางฝ่ายบู๊ หมายถึง ขุนนาง ทำหน้าที่นักรบ
รูปขุนนางฝ่ายบุ๋น หมายถึง ขุนนาง ทำหน้าที่ในราชสำนัก
เป็นสุสานที่มีที่ตั้งเหมาะสมตามความเชื่อของคนจีน ด้านหลังและด้านข้างเป็นภูเขา ด้านหน้าเป็นที่ราบและมีน้ำทะเล ลักษณะคล้ายกับ คนนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงและมีที่วางแขนทั้ง 2 ข้าง ดูสง่างามยิ่ง กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 7 ง วันที่ 22 มกราคม 2542
• หาดชาญดำริ อยู่ห่างจากเขตเทศบาลเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข 4004 (ระนอง – ปากน้ำ) เป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร หรือห่างจากสุสานเจ้าเมืองระนอง 8 กิโลเมตร ก่อนถึงหาดชาญดำริราว 200 เมตร จะเป็นเนินเขาสูง สามารถชมทิวทัศน์ของชุมชนปากน้ำระนอง และเกาะสองหรือวิคตอเรียพอยต์ของฝั่งพม่า ตลอดจนเกาะแก่งอื่นๆที่ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำกระบุรี และยังเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้เป็นอย่างดีปัจจุบันหาดชาญดำริเป็นที่ตั้งของ จันทร์สมบีชรีสอร์ท โดยมีท่าเทียบเรือสำหรับเรือท่องเที่ยวซึ่งบริการนำเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่างๆของระนองในทะเลอันดามันด้วย
• วิคตอเรียพอยต์ หรือ เกาะสองเป็นดินแดนในฝั่งสหภาพพม่าซึ่งอยู่ตรงข้ามกับประเทศไทย โดยมีแม่น้ำกระบุรีกั้นขวางตรงจังหวัดระนองพอดีนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชมหรือซื้อสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกเช่น พลอย เครื่องหวาย เครื่องเขินพม่า เครื่องประดับทำจากเปลือกหอยและงาช้างฯลฯ สามารถเช่าเรือหางยาวจากท่าสะพานปลาในอัตราลำละ 200 – 300 บาท ใช้เวลาข้ามฟากประมาณ 15 นาที อนุญาตให้ข้ามไปเที่ยวได้เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ต้องทำบัตรผ่านแดนก่อน โดยติดต่อด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ถนนสะพานปลา โทร. 0 -7782 – 1216
• ศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาวอยู่ห่างจากตัวเมืองระนองไปทางทิศใต้ (เส้นทาง ระนอง – พังงา) ประมาณ 13 กม. ตั้งอยู่ ณ บ้านล่าง ต.หงาว เป็นบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ได้รับการประกาศจากองค์การ UNESCO ให้เป็นพื้นที่เขตสงวนชีวมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้หายากมากกว่า 20 ชนิด เช่น โกงกาง อายุมากกว่า 200 ปี ต้นเดียวในประเทศไทย ต้นตะปูนดำยักษ์ อายุมากกว่า 300 ปี สัตว์ป่าชายเลนที่หาดูยาก เช่น ปูก้ามกามหลากสี (อัญมณีแห่งป่าชายเลน) แม่หอม ฝูงลิงแสม และนาก และหมู่บ้านชาวเล รายละเอียดติดต่อ โทร. 0 -7784 -8391, 0 – 7784 – 8392
• วัดหาดส้มแป้นตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลหาดส้มแป้น ห่างจากเทศบาลเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข 4005 (ถนนชลระอุ) เป็นระยะทางประมาณ 7 กม. หรือห่างจากสวนสาธารณะรักษะวาริน 6 กม. สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดหาดส้มแป้นคือ ปลาพลวง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ในคลองหาดส้มแป้น ไม่มีผู้ใดจับปลาพลวงดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นปลาที่ศักดิ์สิทธิ์ ในบริเวณวัดมีศาลาริมน้ำสำหรับให้นักท่องเที่ยวให้อาหารปลา และวัดหาดส้มแป้นยังเป็นที่ตั้งของศาลาที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อคล้าย ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ประชาชนในภาคใต้ให้ความเคารพนับถือมาก
• วัดสุวรรณคีรี (วัดหน้าเมือง) อยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนองไปตามถนนหมายเลข 4004 (ระนอง – ปากน้ำ) เป็นวัดเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี ในวัดมีเจดีย์ศิลปะพม่าสูง 10 เมตร มีอายุกว่า 70 ปี สร้างโดยชาวพม่า ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปยืนทรง
เครื่องลวดลายงดงามมาก และมีหอระฆังลายแมว
• น้ำตกปุญญบาลเดิมชื่อน้ำตกเส็ดตะกวด ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบางนอน อำเภอเมือง ตามทางหลวงหมายเลข 4 ไปทางจังหวัดชุมพร กม. ที่ 597 ด้านขวามือมีน้ำตกไหลจากที่สูงประมาณ 20 เมตร อยู่ริมทางหลวงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแวะพักผ่อน มีบริเวณที่จอดรถ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก
• น้ำตกโตนเพชรตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง ห่างจากเขตเทศบาลเมืองระนอง 29 กม. (ระนอง – พังงา) ตรง กม. ที่641 เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลูกรังที่มีป้ายบอกทางเข้าค่ายลูกเสือระนองอีกราว 2 กม. จากนั้นเดินเท้าเข้าไปประมาณ 1.5 กม. ก็จะถึงบริเวณน้ำตกโตนเพชร ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีทั้งหมด 11 ชั้น แต่ละชั้นสายน้ำมีลักษณะลดหลั่นลงมาผ่านแนวชะง่อนหินมีรูปทรงที่สวยงามมาก น้ำไหลตลอดทั้งปี โดยต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพ่อตาโชงโดง ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดระนอง ส่วนสภาพป่าข้างเคียงเป็นป่าดิบชื้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะไปชมน้ำตกโตนเพชรสามารถติดต่อชาวบ้านที่อยู่ใกล้น้ำตกให้เป็นผู้นำทางไปชมน้ำตกได้
• อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลหงาว ตรงข้ามกับภูเขาหญ้าจะมีทางแยกซ้ายมือไปตามถนนลูกรัง 2 กม. เป็นพื้นที่สมบูรณ์ ด้วยเทือกเขาพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า มีน้ำตกมากมายที่สวยงามคือ น้ำตกหงาว
จุดเด่นที่น่าสนใจ
• ปูเจ้าฟ้า ปูน้ำจืดชนิดใหม่ มีแห่งเดียวในประเทศไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยของพระองค์ว่า “ปูเจ้าฟ้า”
• บัวผุด พืชกาฝาก อาศัยกินน้ำเลี้ยงจากรากของย่านไก่ต้ม จะโผล่เฉพาะดอก ซึ่งเป็นดอกเดียวขึ้นมาจากพื้นดิน ในช่วงฤดูฝน ดอกมีลักษณะคล้ายหัวกะหล่ำปลี สีแดงคล้ำ เมื่อบานมีลักษณะคล้ายหม้อหรือ กระถางต้นไม้
• โกมาซุม กล้วยไม้ป่าชนิดหนึ่งมีชื่อว่า “เอื้องเงินหลวง” มีลักษณะคล้ายดอกแคทลียา พบเห็นในช่วง ตุลาคม – ธันวาคม ออกดอกสีขาวมี 4 กลีบ กลีบใหญ่มีแต้มสีเหลืองอ่อนบริเวณใกล้ๆกัน มีกลิ่นหอมอ่อนๆบานอยู่ได้หลายวัน
• เกาะพยาม อยู่ห่างจากปากน้ำระนอง 33 กม. เป็นแหล่งปลูกมะม่วงหิมพานต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัด ประกอบด้วยหาดทรายขาวสะอาด มีลักษณะกว้างทอดเป็นแนวยาวไปตามตัวเกาะใช้เวลาเดินทางโดยเรือหางยาวจากท่าเรือสาธารณะชาวเกาะที่ปากน้ำระนองประมาณ 2 ชั่วโมง ค่าโดยสารนักท่องเที่ยวชาวไทย 60 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท
• เกาะช้าง อยู่ห่างจากปากน้ำระนองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 20 กม. เป็นเกาะขนาดใหญ่ มีชายหาด ป่าชายเลน เป็นที่พักพิงของ ชาวเลเผ่ามอแกน เป็นครั้งคราว มีสมุนไพรหายาก ที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคกว่า 100 ชนิด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ใช้เวลาเดินทางโยเรือหางยาว จากท่าเรือสาธารณะชาวเกาะปากน้ำระนอง ประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าโดยสารนักท่องเที่ยวชาวไทย 60 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท
อำเภอละอุ่น
• เขาฝาชี ตั้งอยู่ในเขตำบลบางแก้ว บนทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณกิโลเมตรที่ 580 มีทางแยกขวามือเป็นทางราดยางประมาณ 3 กิโลเมตร มีป้ายปากทางเขียนว่า “ศูนย์โทรคมนาคมเขาฝาชี” เป็นภูเขาที่มีลักษณะคลายกับฝาชี สูงจากระดับน้ำทะเล 259 เมตร บนยอดเขาเป็นสถานที่ชมทิวทัศน์สวยงาม พระอาทิตย์อัสดง สามารถมองเห็นแม่น้ำกระบุรีไปบรรจบกับแม่น้ำละอุ่น เกาะแก่งต่างๆ เป็นภาพสวยงามสดในมีชีวิตชีวา ในบริเวณใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งฐานทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีหลักฐานสำคัญถือ ซากเรือรบ อุโมงค์ใต้ดิน แนวทางรถไฟ
• ซากเรือรบญี่ปุ่น เลยทางเข้าเขาฝาชีมาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือบริเวรสะพานข้ามแม่น้ำละอุ่นในยามน้ำลดจะเห็นซากเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นได้ใช้พื้นที่ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี เป็นท่าเรือเพื่อส่งกำลังบำรุงไปยังประเทศพม่าในระหว่างสงคราม
• เกาะนพเกตุ อยู่ห่างจากฝั่งปากคลองละอุ่นโดยนั่งเรือประมาณ 20 นาที เป็นแหล่งหอยนางรมและหอยแมลงภู่ยักษ์ ขนาด 6-8 นิ้ว ปัจจุบันเป็นเกาะสัมปทาน ถ้าต้องการเข้าชมต้องติดต่อกับคุณยงยุทธ นพเกตุ 0-7782-1560
• ถ้ำหนัดได หรือถ้ำค้างคาว ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เขาหนัดได หมู่ที่ 5บ้านปากแพรก ตำบลละอุ่นเหนือ อยู่ริมถนนสายปากแพรก-ในวงประมาณกิโลเมตรที่ 20 ระยะทางจากตัวอำเภอ 20 กิโลเมตร สถานที่ตั้งของถ้ำอยู่ห่างจากถนนดังกล่าว 100 เมตร สภาพถ้ำมีความสวยงามและสลับซับซ้อนแบ่งได้เป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นถ้ำหินย้อย และสามารพเดินชมภายในถ้ำไปสู่อีกด้านหนึ่งของถ้ำได้ ชั้นล่างเป็นถ้ำน้ำลอด ซึ่งสามารถเดินชมภายในถ้ำได้
อำเภอกระบุรี
• ศิลาสลักพระปรมาภิไธย เป็นสถานที่สำคัญด่านแรกของจังหวัดระนองตามเส้นทางจากกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในเขตตำบลปากจั่น (ตรงข้ามโรงเรียนบ้าน จปร.) ประมาณกิโลเมตรที่ 525 ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างจังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร ห่างจากตัวเมืองระนอง 86 กิโลเมตร อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “หินสลักพระปรมาภิไธย จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงจารึกไว้ ครั้งที่พระองค์ทรงเสด็จประพาส โดยขบวนช้างและม้า จากจังหวัดชุมพร มาประทับแรมที่พลับพลาดอนวังทู้หมู่ที่ 1 ตำบลปากจั่น เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2433 และสลักหินพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และ สก. ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ รวมทั้งพระนามาภิไธยย่อ สธ. ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ทรางจารึกไว้ครั้งที่เสด็จประภาสจากชุมพรโดยรถยนต์มาทรงเยี่ยยมประชาชน เมื่อ วันที่ 7 มีนาคม 2502
• คอคอดกระ หรือ กิ่วกระ อยู่ในเขตบ้านทับหลี ตำบลละมุ ประมาณกิโลเมตรที่ 545 ของทางหลวงหมายเลข 4 ห่างจากเขตเทศบาลเมือง 66 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมาลายู โดยมีระยะจากฝั่งทะเลทางตะวันตกจรดตะวันออก กว้างเพียง 44 กิโลเมตร มีแผ่นป้ายคอนกรีตขนาดใหญ่จำลองแผนที่แสดงจุดที่ตั้งของคอคอดกระ ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกมากแห่งหนึ่งของจังหวัดระนอง และยังสามารถชมทิวทัศน์ของแม่น้ำกระบุรี ซึ่งแบ่งพรหมแดนไทย-พม่า ได้อย่างชัดเจน
• ถ้ำพระยาขยางค์ ซึ่งเดิมชื่อถ้ำเขาหยั่ง อยู่ในเทือกเขาเขตตำบลลำเลียง ห่างจากที่ว่าการอำเภอกระบุรี 18 กิโลเมตร โดยมีทางแยกซ้ายจากถนนเพชรเกษม(ระนอง-ชุมพร) ที่ กม. 563-564 เข้าไป 1 กิโลเมตร ถ้ำพระยาขยางค์เป็นถ้ำขนาดเล็ก ซึ่งมีตำนานเก่าแก่ที่เกี่ยวกับการสร้างเมืองกระบุรี จากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 40 เมตร มีบันไดขึ้นสู่ด้านบน สามารถทะลุออกภายนอกซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อกันว่า มีการนำเอาสมุนไพรที่หายากมาปลูกไว้ การเที่ยวชมควรเตรียมเทียนไขหรือไฟฉายพกติดตัวไปด้วย บรรยากาศภายในถ้ำค่อนข้างอับชื้นส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจากมูลของค้างคาว ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปีจะมีการจัดเทศกาลงานปิดทองพระบริเวณถ้ำพระขยางค์ เป็นเวลา 3-7 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเข้าชมความสวยงามของถ้ำตลอดจนสมุนไพรต่างๆ ที่อยู่บนเขา
• น้ำตกชุมแสง หรือน้ำตกสายรุ้ง อยู่ที่บ้านปากจั่น ตำบลปากจั่น ห่างจากเขตเทศบาลเมืองระนองและตัวอำเภอกระบุรีไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ทางไปจังหวัดชุมพร) เป็นระยะทาง 80 และ 16 กิโลเมตร ตามลำดับ บริเวณ หลักกิโลเมตรที่ 529-530 (ด้านตรงข้ามกับทางเข้าสู่นิคมสร้างตนเองบ้านปากจั่น) จะมีทางแยกซ้ายมือเป็นถนนลูกรังเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกชุมแสง ซึ่งมีน้ำไหลเฉพาะในฤดูฝน น้ำจะไหลกระแทกกับโขดหินแล้วกระจายออกเป็นสายดูคล้ายสายรุ้ง จึงทำให้ชาวบ้านมักจะเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า “น้ำตกสายรุ้ง”
• น้ำตกบกกราย ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำจืด ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ระนอง-ชุมพร) ประมาณ 54 กิโลเมตร ที่หลักกิโลเมตรที่ 556-557 จะมีป้ายชี้ทางไปน้ำตกบกกราย ประมาณ 13 กิโลเมตร สภาพถนนไม่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และจากบริเวณสุดทางของถนนต้องเดินเท้าต่อผ่านพื้นที่ทำไร่และป่าชื้นอีกเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตก น้ำตกบกกรายเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี
การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ ระยะทาง 90 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ถึงสี่แยกปฐมพร (ชุมพร) เลี้ยวขวาไปจนถึงจังหวัดระนอง รวมระยะทาง 568 กิโลเมตร
รถไฟ
จากกรุงเทพฯ ไม่มีรถไฟไประนองโดยตรง นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินทางโดยรถไฟ สามารถลงรถไฟที่สถานีรถไฟชุมพร จังหวัดชุมพร แล้วต่อรถโดยสารประจำทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 122 กิโลเมตร รายละเอียดติดต่อ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 หรือ www.railway.co.th
รถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศ และรถโดยสารธรรมดา ระหว่างกรุงเทพฯ – ระนอง ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ รถโดยสารธรรมดา โทร. 0 2434 5557-8 รถโดยสารปรับอากาศ โทร. 0 2435 1199 หรือ www.transport.co.th สถานีขนส่งจังหวัดระนอง โทร. 0 77811 548 และบริษัทเดินรถเอกชน คือ บริษัท โชคอนันต์ทัวร์ โทร. 0 2435 7429, 0 2433 0723 สำนักงานระนอง โทร. 0 7781 1337 และบริษัท มิตรทัวร์ โทร. 0 2281 6939, 0 2281 6949, 0 2435 5020 สำนักงานระนอง โทร. 0 7781 1150
เครื่องบิน
มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-ระนอง ทุกวัน สอบถามตารางบินและข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายการบินต่างๆ ดังนี้
– บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีเที่ยวบินบินตรงไปจังหวัดระนอง แต่สามารถบินไปลงที่สุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถโดยสารหรือแท็กซี่จากสุราษฎร์ธานีไประนอง ระยะทาง 219 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียด โทร. 1566, 0 2280 0060 สำนักงานสุราษฎร์ธานี โทร. 0 7727 2610, 0 7727 3710, 0 7727 3355 www.thaiairways.com
– บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (บางกอกแอร์เวย์) โทร. 0 2229 3434, 0 2229 3456-63 สำนักงานระนอง โทร. 0 7783 5096-7www.bangkokair.com
– สายการบินพีบีแอร์ โทร. 0 2261 0220-5, 0 2535 4843-4 หรือ www.pbair.com
– สายการบินภูเก็ตแอร์ โทร. 0 2679 8999 หรือ www.phuketairlines.com
การคมนาคมภายในจังหวัดระนอง
การเดินทางภายในจังหวัดระนอง จะมีรถสองแถวบริการในเขตเทศบาลเมือง และวิ่งรอบเมืองไปบ่อน้ำร้อนและโรงแรมจันทร์สมธารา นอกจากนั้นการเดินทางจากจังหวัดระนองไปจังหวัดใกล้เคียง สามารถขึ้นรถที่สถานีขนส่งจังหวัดระนอง ซึ่งจะมีรถโดยสารประจำทางไปยังชุมพร หลังสวน สุราษฎร์ธานี ตะกั่วป่า และภูเก็ต และยังสามารถใช้บริการรถแท๊กซี่ ซี่งจอดบริการที่บริเวณถนนเรืองราษฎร์ได้อีกด้วย
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอกระบุรี
|
||||
ถ้ำขยางค์ Khayang Cave (ระนอง) |
น้ำตกบกทราย Bok Sai Waterfall (ระนอง) |
น้ำตกสุวรรณศิริ Suwan Siri Waterfall (ระนอง) |
||
คอคอดกระหรือกิ่วกระ Kra Isthmus (ระนอง) |
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอกะเปอร์
|
||
น้ำตกเขานารายณ์ Khao Narai Waterfall (ระนอง) |
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอเมือง
|
||||
น้ำตกโตนเพชร Ton Phet Waterfall (ระนอง) |
หาดชาญดำริ Chan Damri Beach (ระนอง) |
หาดส้มแป้น Som Paen Beach (ระนอง) |
||
เกาะขวางหรือเกาะนพเกตุ Khwang Island (ระนอง) |
เกาะพงัน Pha-ngan Island (ระนอง) |
วัดสุวรรณคีรี Wat Suwan Khiri (ระนอง) |
||
แผนที่จังหวัดระนอง/map of RANONG
|
||