13 รัฐ และ 3 ดินแดนสหพันธ์

0

มาเลเซียมีการปกครอง โดยระบบสหพันธรัฐ  มีเมืองหลวงคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์  ในปัจจุบันประกอบด้วยรัฐ 13 รัฐและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีรูปแบบในการปกครองคล้ายอังกฤษกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประมุขแห่งรัฐมีตำแหน่งเป็นพระราชาธิบดี  และนอกจากนี้ยังมีเขตปกครองพิเศษอีก 3 เขต

การแบ่งเขตการปกครองมาเลเซีย   แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 รัฐ (states – negeri-negeri) และ 3 ดินแดนสหพันธ์ เป็นดินแดนที่รัฐบาลกลางปกครอง เขตการปกครองต่าง ๆ และชื่อเมืองหลวง (ในวงเล็บ) ได้แก่

 

รัฐ มาเลเซียตะวันตก (คาบสมุทรมลายู

1. กลันตัน (Kelantan) (โกตาบารู) พื้นที่ประมาณ 14.9 พันตร.กม. อยู่ทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู มีพรมแดนติดกับไทยด้านทิศเหนือ มีประชากร 1.4 ล้านคน ลักษณะทั่วไปของรัฐนี้เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่เงียบสงบ มีชายหาดสวยงาม ไร่นาเขียวชอุ่ม และยามว่างผู้คนมักนิยมเล่นว่าวและลูกข่าง จนกลายเป็นประเพณีนิยม ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะได้พบการแสดงการเล่น ว่าวยักษ์และลูกข่างยักษ์  เสียงกลอง “Rebana Ubi” รวมถึงการแสดงหนังตะลุง “Wayang Kulit”         ได้ทุกแห่ง  กลันตันจึงได้รับการขนานนามว่า “แหล่งวัฒนธรรมมาเลย์” มี Kota Bharu เป็นเมืองหลวงของรัฐ   อุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  สิ่งทอ  เคมีภัณฑ์ และไม้สัก        เป็นต้น

2.เคดะห์ (Kedah) (ไทรบุรี) (อลอร์สตาร์)  พื้นที่ประมาณ 9.4 พันตร.กม. เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของประเทศ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของมาเลเซีย อีกทั้งยังมีทิวทัศน์สวยงาม     มีประชากร 1.6 ล้านคน รัฐเคดาห์ เป็นหนึ่งในบรรดารัฐเก่าแก่ที่สุดของประเทศ มีการขุดพบโบราณ วัตถุตามสถานที่ต่างๆ เช่น Bujang Valley, Gunung Jerai Foothill และภูเขา Alor Setar ที่แสดงถึงอิทธิพลของฮินดูในคริสต์ศตวรรษที่ 4  Alor Setar เป็นเมืองหลวงของรัฐที่เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่         ซึ่งยังคงสภาพเดิม แข็งแรง พร้อมโบราณวัตถุต่างๆ อีกทั้งยังเป็นสถานที่เกิดของ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย  ผลผลิตสำคัญของรัฐนี้ ได้แก่ สินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

3.ตรังกานู (Terengganu)  (กัวลาตรังกานู)  มีพื้นที่ประมาณ 13 พันตร.กม. เป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงามริมฝั่งทะเลตะวันออกของมาเลเซีย ประชากร 9 แสนคน มี Kuala Terengganu เป็นเมืองหลวงของรัฐ   Sutera Semai Center เป็นแหล่งทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศ และยังเป็นศูนย์รวมหัตถกรรมของมาเลเซีย ส่วน Pantai Batu Buruk เป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมGelanggang Seni และ Pulau Duyong เป็นแหล่งรวมช่างต่อเรือที่มีฝีมือและความชำนาญ อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ไม้สัก น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์ยาง

4.รัฐเนกรีเซมบีลัน (สเรมบัน) (Negeri Sembilan)   คำว่า “Negeri Sembilan” แปลว่า 9 รัฐ สืบเนื่องจากในสมัยก่อนแบ่งการปกครองเป็น 9 อำเภอ รัฐนี้มีลักษณะบ่งถึงอิทธิพลของชาว Minangabau ที่ผลัดถิ่นจากเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ดังจะเห็นได้จากหลังคารูปเขาโค  มีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง  มีพื้นที่ประมาณ 6.6 พันตร.กม. ประชากร 9 แสนคน เมืองหลวงคือ Seremban  อุตสาหกรรมสำคัญคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และน้ำมันปาล์ม

5.ปะหัง (Pahang) (กวนตัน)   มีพื้นที่ 36 พันตร.กม. ประชากร 1.3 ล้านคน เป็นรัฐใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรมลายู และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแหล่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก เช่น Cameron Highland ดินแดนที่ราบสูงที่มีอากาศเย็น มีต้นไม้เมืองหนาว พืชผัก และต้นชา มีโรงแรมและชาเล่ต์ คอยให้ บริการ  Genting Highland Resort รีสอร์ท บนยอดเขาที่มีชื่อทั่วโลก Frazer’s Hill Resort รีสอร์ทแบบยุโรปสมัยอาณานิคมในหมู่บ้านชนบทที่น่ารัก  Tioman Island ในทะเลจีนใต้ที่มีความสวยงาม เป็นต้น   Kuantanเป็นเมืองหลวงของรัฐ   ผลผลิตสำคัญคือ เคมีภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม ปิโตรเลียม ผลไม้ และยาง

6.เปอร์ลิส (Perlis) (กางาร์)  มีพื้นที่ประมาณ 0.8 พันตร.กม. ประชากร 2 แสนคน  อยู่ทางเหนือสุดของมาเลเซีย มีอาณาเขตติดกับชายแดนไทยด้านจังหวัดสงขลาและสตูล  รัฐเปอร์ลิส  มี Kangar เป็นเมืองหลวง ส่วนเมือง Arau เป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ และองค์ประมุขของรัฐ  Kuala Perlis เป็นเมืองทางเข้าออกสู่เกาะลังกาวี (Langkawi Island) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและประมงที่น่าสนใจ   ปะดังเบซาร์ (Padand Besar) เป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศไทย เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุด  ผลผลิตสำคัญของรัฐ ได้แก่ ข้าว ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น

7.ปีนัง  (Penang) (จอร์จทาวน์)  มีพื้นที่ประมาณ 1.1 พันตร.กม. ประชากร 1.2 ล้านคน   เป็นดินแดนที่รู้จักกันในชื่อว่า “ไข่มุกตะวันออก” เนื่องจากมีหาดทรายสวยงาม รีสอร์ทระดับมาตรฐานมากมาย ปีนังเป็นนครที่รวมเอาความพิเศษของซีกโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เห็นได้จากอาคารตึกรามบ้านช่องที่ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างสมัยอาณานิคมปะปนกับอาคารสมัยใหม่ มี George Town เป็นเมืองหลวงของรัฐ  อุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์     เซมิคอนดักเตอร์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

8.เปรัค (Perak) (อีโปห์)  มีพื้นที่ประมาณ 21 พันตร.กม. ประชากร 2 ล้านคน   Ipoh คือ เมืองหลวงของรัฐและมี Taiping เป็นเมืองใหญ่ อุตสาหกรรมสำคัญคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร ยาง และผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น

9.รัฐมะละกา (Malacca) (มะละกา)  มีพื้นที่ประมาณ 1.7 พันตร.กม. ประชากร 6.5 แสนคน รัฐนี้ได้ชื่อว่า “นครแห่งประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย” เริ่มต้นโดยเจ้าชาย Parameswara แห่งเกาะสุมาตรา จัดตั้งรัฐมะละกาขึ้นใน ปี พ.ศ. 1943 และได้สร้างความเจริญรุ่งเรือง จนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าใหญ่ในปัจจุบัน  เมืองหลวงคือ Malacca Town  อุตสาหกรรมสำคัญ  ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  เคมีภัณฑ์  และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

10.รัฐยะโฮร์ (ยะโฮร์บาห์รู) (Johore) มีพื้นที่ประมาณ 20 พันตร.กม. ประชากร 2.8 ล้านคน รัฐนี้เป็นประตูของภาคใต้ เชื่อมต่อกับสิงคโปร์โดยทางถนนและรถไฟ  ยะโฮร์ เป็นรัฐเดียวในประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวขนานกับช่องแคบมะละกาไปสุดที่ทะเลจีนใต้  Johor Bahru เป็นเมืองหลวงของรัฐ ได้รับขนานนามว่าเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมคลาสติก  พลเมืองสืบเชื้อสายจากกลุ่มชวาอพยพ มีเอกลักษณ์ในการแต่งกายของตนเอง   ผลผลิตสำคัญได้แก่ น้ำมันปาล์ม พริกไทย สับปะรด ยางพารา เป็นต้น

11.สลังงอร์ (ชาห์อาลัม) (Selangor) พื้นที่ประมาณ 8 พันตร.กม. อยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประมาณ 25กิโลเมตร เป็นเขตอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศ ประชากรรวม 4.1 ล้านคน เมืองหลวงคือ Shah Alam เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ Kuala Lumpur International Airport และมีท่าเรือใหญ่ที่สุดของประเทศชื่อ Port Klang จนได้รับฉายาว่าเป็น “Gateway to Malaysia”  อุตสาหกรรมสำคัญคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ขนส่ง ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และไม้สัก เป็นต้น

 

มาเลเซียตะวันออก (เกาะบอร์เนียวตอนเหนือ)

1.ซาบาห์ (โกตากินะบะลู) (Sabah)  หรืออีกชื่อหนึ่งว่า North Borneo อยู่ทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว เมืองหลวงคือ Kota Kinabalu หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Jesselton มีพื้นที่ประมาณ 72.5 พันตร.กม. ประชากร 2.5 ล้านคน ซาบาห์เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวที่ชอบผจญภัยหรือแสวงหาความสุขจากธรรมชาติทั้งภูเขา โลกใต้ทะเล และป่าดงดิบ ผลผลิตสำคัญคือ ไม้สัก น้ำมันปาล์ม มะพร้าว และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เป็นต้น

2.ซาราวัค (กูจิง) (Sarawak) อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบอร์เนียว เมืองหลวงคือ Kuching เป็นรัฐใหญ่ที่สุดของมาเลเซียด้วยขนาดพื้นที่ประมาณ 124.5 พันตร.กม. ประกอบด้วยประชากรหลายชาติพันธุ์รวมประมาณ 2.2 ล้านคน ผลผลิตสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เป็นต้น

 travel-malaysia-map

ดินแดนสหพันธ์

มาเลเซียตะวันตก

1.กัวลาลัมเปอร์  (Kuala Lumpur) หมายถึง “ดินที่ไหลมาบรรจบกัน (Muddy Confluence)” เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในรัฐสลังงอ (Selangor) พื้นที่ประมาณ 0.2 พันตร.กม. ประชากร 1.5 ล้านคน

2.เขตปุตราจายา (Putrajaya) เป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ตามแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่จะสร้างเมืองใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารและปกครองแยกออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์  เพื่อกระจายความเจริญออกจากเมืองหลวง และแก้ไขปัญหาการจราจร  รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของมาเลเซียด้วย เขตนี้มีพื้นที่ประมาณ 4,932เฮกตาร์ อยู่ทางตอนใต้ของกัวลาลัมเปอร์ ห่างออกไปประมาณ 25 กิโลเมตร ประชากรราว 3.5 แสนคน  เขตนี้มีการวางผังเมืองอย่างเป็นสัดส่วน ภูมิทัศน์สวยงามและการคมนาคมสะดวกเข้าออกได้หลายเส้นทาง เมืองคู่แฝดของปุตราจายาคือ ไซเบอร์จายา

3.เขตไซเบอร์จายา (Cyberjaya) อยู่ทางทิศตะวันตกของปุตราจายา เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Multimedia  การค้นคว้าวิจัย มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี  ทั้งไซเบอร์จายาและปุตราจายาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Multimedia Super Corridor ที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 750 ตารางกิโลเมตร จากกัวลาลัมเปอร์ถึงไซเบอร์จายาและปุตราจายา เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพระดับโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต  ปัจจุบันมีนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาตั้งสำนักงานในเขตนี้กันมาก เช่น Bill Gate ของสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทคอมพิวเตอร์ชั้นนำจากญี่ปุ่น  เกาหลี และไต้หวัน

 

มาเลเซียตะวันออก

1.ลาบวน (วิกตอเรีย) (Labuan) เป็นเกาะในทะเลจีนใต้ และเป็นเกาะเดียวของมาเลเซียที่มีท่าเรือน้ำลึก ในอดีตเกาะนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศบรูไน แต่ได้ยกให้อังกฤษในปี พ.ศ. 2389         ก่อนผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียในปี พ.ศ. 2506 เกาะนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นท่าเรือปลอดภาษี มีชื่อเสียงด้านตลาดตราสารการเงิน  หรือ International Offshore Financial Centre (IOFC) มีพื้นที่ประมาณ 98 ตร.กม. ประชากร 7.8 หมื่นคน เป็นแหล่งบริการทางการเงินที่สำคัญของประเทศ

เชิญแสดงความคิดเห็น