|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน Islamic State of Afghanistan
|
|
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ค่อนไปในบริเวณเอเชียกลาง ไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือติดกับทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ทิศตะวันออกและใต้ติดกับปากีสถาน และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับจีน ทิศตะวันตกติดกับอิหร่าน
พื้นที่ : 647,500 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง : กรุงคาบูล (Kabul)
เมืองสำคัญ : เมืองเฮรัต (Herat) เป็นเมืองศูนย์กลางทางภาคตะวันตกของประเทศ
: เมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) เป็นเมืองศูนย์กลางทางตอนใต้ และมีถนนเชื่อมกับเมืองเคว็ตต้า (Quetta) ในปากีสถาน
ภูมิอากาศ : พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา อากาศแห้ง แต่บริเวณหุบเขาบางส่วนในพื้นที่ ติดกับปากีสถานได้รับลมมรสุมจากอินเดีย พัดพาความชื้นมาช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิฤดูร้อนในบางพื้นที่สูงถึง 35 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอากาศเย็น บางแห่งติดลบถึง 21 องศาเซลเซียส
ประชากร: ประมาณ 31.8 ล้านคน (2549)
เชื้อชาติ : พาชตูน (Pashtun) ร้อยละ 42 ทาจิก (Tajiks) ร้อยละ 27 ฮาซารา (Hazara) ร้อยละ 9 อุซเบค (Uzbek) ร้อยละ 9 เติร์กเมน (Turkmen) ร้อยละ 3 บาโลช (Baloch) ร้อยละ 2 อื่นๆ ร้อยละ 4
ภาษา : ภาษาพาชตู (Pashtu) และภาษาดารี (Dari) เป็นภาษาราชการ นอกจากนั้นมีภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าต่างๆ ประมาณ 30 ภาษา
ศาสนา :อิสลามร้อยละ 99 (ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เป็นนิกายสุหนี่ และร้อยละ 19 เป็นนิกายชีอะห์) และอื่นๆ ร้อยละ 1
วันสำคัญ :วันชาติ 19 สิงหาคม (เป็นวันที่ได้รับเอกราช)
การศึกษา :ประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปี ที่อ่านออกเขียนได้เฉลี่ยร้อยละ 36 (แยกเป็นเพศชาย ร้อยละ 51 เพศหญิง ร้อยละ 21)
หน่วยเงินตรา :อัฟกานิ (Afghani)
1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 49 อัฟกานิ (ปี2549)
GDP :8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549/ ไม่รวมผลผลิตฝิ่น)
รายได้เฉลี่ยต่อหัว :231 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี (ปี 2549)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ :ประมาณร้อยละ 13.8 (ปี 2549)
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ :1,691.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
อัตราเงินเฟ้อ :ร้อยละ 16.3 (ปี 2548)
ดุลการค้า :ขาดดุล 2,515.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
มูลค่าการส่งออก :1,893.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
มูลค่าการนำเข้า :4,408.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
สินค้าส่งออก :ฝิ่น ผลไม้และถั่ว พรมทอมือ ผ้าขนสัตว์ ฝ้าย อัญมณี
สินค้านำเข้า :สินค้าทุน อาหาร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
ประเทศคู่ค้า :อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐฯ เยอรมนี
ตลาดนำเข้า :ปากีสถาน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี เติร์กเมนิสถาน ตุรกี
ระบอบการเมือง :ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี
ระบบการปกครอง :สาธารณรัฐ (Republic) แบ่งเป็น 34 จังหวัด
ประมุขของรัฐ :นาย Hamid Karzai ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
คณะรัฐบาล :เข้าบริหารประเทศเมื่อเดือนธันวาคม 2547 มีประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of Government) และมีการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2549
นาย Rangin Dadfar Spanta รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ตามรัฐธรรมนูญของอัฟกานิสถาน กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขและผู้นำในการบริหารประเทศ มีการกระจายอำนาจการปกครองออกเป็นจังหวัด แบ่งออกเป็น 34 จังหวัด (Province) อย่างไรก็ตาม ในแง่การบริหารจัดการระบบการปกครองภายในประเทศยังไม่ดีนัก เนื่องจากเพิ่งฟื้นตัวจากสงคราม และอำนาจของรัฐบาลกลางยังครอบคลุมไม่ทั่วถึงพื้นที่ห่างไกล
(1) การบริหารรัฐบาลกลาง
ฝ่ายนิติบัญญัติ
มีรัฐสภา (National Assembly) ซึ่งประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ 1) สภาผู้แทนราษฎร (House of People หรือ Wolesi Jirga) ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 249 คน ได้รับการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี และ 2) สภาอาวุโส (House of Elders หรือ Meshrano Jirga) มีสมาชิก 102 คน ซึ่งแบ่งการสรรหาออกเป็น 3 วิธี ในจำนวนที่เท่าๆ กัน โดยสมาชิก 34 คนได้รับเลือกจากคณะบริหารระดับจังหวัด (Provincial Council) ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี สมาชิกอีก 34 คน ได้รับเลือกจากคณะบริหารระดับท้องถิ่น (Local District Council) ดำรงตำแหน่งวาระ 3 ปี และสมาชิกอีก 34 คน ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี
นอกจากนี้ อาจมีการประชุมใหญ่ของผู้แทนทุกภาคส่วนที่เรียกว่า Loya Jirga ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจากทั้งสองสภา ร่วมกับคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นทั้งหมด โดยที่ประชุมใหญ่นี้จะจัดขึ้นเฉพาะกรณีที่ต้องพิจารณาประเด็นระดับชาติเท่านั้น คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับเอกราช อธิปไตยของชาติ และเกี่ยวกับดินแดน รวมถึงการฟ้องร้องประธานาธิบดี
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีรองประธานาธิบดี 2 คน ซึ่งทั้งหมดดำรงตำแหน่งโดยการรับเลือกตั้งจากประชาชน มีวาระ 5 ปี และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Hamid Karzai ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานาธิบดีแต่งตั้งรัฐมนตรีร่วมบริหารประเทศ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และรัฐมนตรีมีจำนวนทั้งสิ้น 25 คน
ฝ่ายตุลาการ
ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้อัฟกานิสถานมีศาลฎีกา (Supreme Court) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Stera Mahkama มีผู้พิพากษาจำนวน 9 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและต้องให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ดำรงตำแหน่งวาระ 10 ปี รองลงมามีศาลสูง (High Court) และศาลอุทธรณ์ (Appeals Court) ด้วย
(2) การบริหารระดับจังหวัด
แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดหน่วยงานระดับจังหวัดและท้องถิ่น คือ คณะบริหารระดับจังหวัด (Provincial Council) และคณะบริหารระดับท้องถิ่น (Local District Council) แล้ว แต่ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ระบบการบริหารการปกครองของอัฟกานิสถานยังจัดการได้ไม่ดีนัก เนื่องจากเป็นระบบที่วางขึ้นใหม่ และอำนาจของรัฐบาลกลางยังอ่อนแอ ความเชื่อมโยงของการบริหารอำนาจระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางจึงยังขาดความชัดเจน
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
อัฟกานิสถานเคยมีระบอบการปกครองแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จนกระทั่งปี 2516 พลโทซาดาร์ ข่าน (Sadar Khan) ได้ปฏิวัติยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ผู้นำอัฟกานิสถานในยุคต่อมาเริ่มมีท่าทีใกล้ชิดสหรัฐฯ ทำให้สหภาพโซเวียตไม่พอใจและส่งกองกำลังเข้ายึดครองอัฟกานิสถานในปี 2522 เพื่อสถาปนาระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมขึ้นแทน
ระหว่างการยึดครองของสหภาพโซเวียต ปี 2522-2532 ได้เกิดขบวนการต่อต้านระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมในนามกลุ่มมูจาฮีดีน ซึ่งได้โค่นล้มรัฐบาลที่เข้าข้างสหภาพ โซเวียตได้สำเร็จในปี 2535 แต่กลับไม่สามารถร่วมกันปกครองประเทศได้ เพราะเกิดความแตกแยกและแย่งชิงอำนาจกัน ในที่สุดกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงที่ได้รับการศึกษาจากปากีสถานได้รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังทาลิบันขึ้น และมีความเข้มแข็งจนสามารถยึดกรุงคาบูลได้ในปี 2539 ตั้งรัฐบาล ทาลิบันขึ้นปกครองประเทศโดยครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่จนถึงปี 2544
หลังเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2544 สหรัฐฯ ได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีอัฟกานิสถานเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทาลิบัน และมุ่งที่จะจับนายโอซามา บินลาเดน (Osama Binladen) ซึ่งสหรัฐฯ สามารถโค่นล้มรัฐบาลทาลิบันได้สำเร็จในปลายปี 2544 และสหรัฐฯ สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในอัฟกานิสถาน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองในอัฟกานิสถานมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน
ด้านการเมือง
1) เน้นการฟื้นฟูและสร้างเสถียรภาพทางการเมือง
2) สถาปนาระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยตามระบบสากล ซึ่งประสบความสำเร็จขั้นแรกแล้วในการเลือกตั้งประธานาธิบดี
3) นับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อจัดตั้งรัฐสภา
ด้านการต่างประเทศ
1) คล้อยตามท่าทีและนโยบายต่างประเทศของประเทศตะวันตก ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศเหล่านั้น
2) แสวงหาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เพื่อให้ช่วยยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ แล้วเป็นประเทศแรก
สถานการณ์ที่สำคัญ
การเมืองภายใน
อัฟกานิสถานจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2547 เพื่อสร้างรัฐบาลที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับ แต่ปรากฏว่ากลุ่มต่างๆ ซึ่งมีอำนาจในเขตของตนได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกับประธานาธิบดีคาร์ไซด้วย แสดงให้เห็นว่าแม้อัฟกานิสถานจะได้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลชุดใหม่ แต่ยังต้องใช้เวลาในการสร้างความปรองดองในประเทศอีกระยะหนึ่ง ควบคู่กับการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายต่อไป
ภารกิจสำคัญล่าสุดของรัฐบาล คือ ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2548 ซึ่งรัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน จึงต้องพึ่งพาประเทศที่สามหรือองค์การระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งการเลือกตั้งได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2548 ปัจจุบัน อัฟกานิสถานมีรัฐสภาที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสมาชิก 249 คน และสภาอาวุโสจำนวน 102 คน รวมเป็น 351 คน และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 อัฟกานิสถานได้ประชุมรัฐสภาครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ภายหลังที่อัฟกานิสถานอยู่ภายใต้การปกครองของอดีตสหภาพโซเวียต กลุ่มมูจาฮีดีนและรัฐบาลทาลิบัน การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำอัฟกานิสถานเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายกันว่า รัฐบาลก็ยังคงจะต้องประนีประนอมกับกลุ่มการเมืองและผู้มีอิทธิผลท้องถิ่นต่อไปในการบริหารประเทศ ดังกรณีที่รัฐบาลได้เผชิญมาแล้วภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี
เสถียรภาพภายในของอัฟกานิสถาน
รัฐบาลไม่สามารถควบคุมดูแลพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้ เพราะมีกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นต่างๆ คานอำนาจอยู่ อีกทั้งการจัดตั้งกองกำลังแห่งชาติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้อัฟกานิสถานต้องพึ่งพากำลังทหารของชาติตะวันตกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ พยายามส่งเสริมการขยายอำนาจปกครองของรัฐบาลอัฟกานิสถานให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อจำกัดบทบาทของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น และมีแผนจะช่วยจัดตั้งฐานทัพให้อัฟกานิสถาน
เสถียรภาพภายในอัฟกานิสถานยังมีความเกี่ยวโยงอย่างสำคัญกับปัญหาขบวนการผลิตฝิ่นและค้ายาเสพติด เพราะผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยาเสพติดซึ่งประกอบด้วยนักรบท้องถิ่น ผู้ก่อการร้าย กลุ่มอาชญากร และขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ทำให้ยากต่อการปราบปรามให้เด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานเคยระบุว่า สามารถลดการปลูกฝิ่นในพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย และมีความเป็นไปได้ที่ประเทศจะปลอดจากฝิ่นภายใน 5-6 ปี ทั้งนี้ เพราะต้องการลดภาพของความไร้เสถียรภาพของประเทศอันมีผลอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
นโยบายด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน
1) พัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาแห่งชาติระยะ 5 ปี (National Development Strategy 2005-2010) โดยอาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลักในการบริหารและพัฒนาประเทศ
2) เริ่มปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีและมาตรการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ให้สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน
3) ลดการพึ่งพารายได้จากการปลูกฝิ่นและผลิตยาเสพติด สร้างอาชีพทดแทนแก่ประชาชน พร้อมๆ กับการลดพื้นที่ปลูกฝิ่น
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน |
ด้านการทูต
ไทยเคยยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับอัฟกานิสถาน ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียต ยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 2522 (ค.ศ.1979) ต่อมาภายหลังการโค่นล้มกลุ่มทาลิบันแล้วทั้งสองฝ่ายจึงได้เริ่มรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตโดยลำดับ ปัจจุบันอัฟกานิสถานมอบหมายให้นาย Haron Amin เอกอัครราชทูตอัฟกานิสถานประจำกรุงโตเกียว ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง ขณะเดียวกัน ไทยก็ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด (ปากีสถาน) มีเขตอาณาครอบคลุมถึงอัฟกานิสถาน ดังนั้น นายสุโข ภิรมย์นาม ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด จึงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำอัฟกานิสถานด้วย
ด้านการเมือง
ในระยะแรกภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต ไทยและอัฟกานิสถานดำเนินความสัมพันธ์ผ่านเวทีการเมืองระหว่างประเทศเป็นหลัก เช่น ในการประชุมเพื่อฟื้นฟูอัฟกานิสถานที่กรุงโตเกียว เมื่อเดือนมกราคม 2545 และการประชุม Community of Democracies ครั้งที่ 2 ที่กรุงโซล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 โดยฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่ไทย มีศักยภาพ อาทิ ด้านการพัฒนาและการเกษตร
ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 ไทยได้เชิญรัฐมนตรีด้านการฟื้นฟูบูรณะของอัฟกานิสถานเข้าร่วมประชุม ทางเลือกเพื่อการพัฒนา : เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยได้เสนอแนวทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่ออัฟกานิสถาน อีกทั้งเป็นการสร้างความคุ้นเคยระหว่างบุคคลในรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย อันเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองในชั้นต้น และจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงได้ต่อไป
ด้านเศรษฐกิจ
หลังจากอัฟกานิสถานพ้นจากภาวะสงครามเมื่อปี 2544 ไทยให้ความช่วยเหลือระยะต้นโดยเน้นการบรรเทาทุกข์ตามสภาพปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น อาทิ การมอบข้าวสาร การมอบเงินช่วยเหลือ และยังคงต้องดำเนินความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจในรูปแบบความช่วยเหลือ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน และเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ระบบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวของอัฟกานิสถาน ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป
ด้านการค้า
โดยที่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ยังคงเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2547 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอัฟกานิสถานมีไม่มากนัก คือ อยู่ในระดับ 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ สินค้าออกของไทยที่มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นมากในปี 2548 คือ หมวดรถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นหมวดสินค้าออกอันดับหนึ่งของไทยไปยังอัฟกานิสถานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ไทยจะเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับอัฟกานิสถานอย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นในอนาคต
ด้านความช่วยเหลือทางวิชาการ
ฝ่ายไทยโดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Thailand International Development Cooperation Agency - TICA) หรือกรมวิเทศสหการในอดีต ได้จัดสรรทุนฝึกอบรมให้แก่ชาวอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2546 ในสาขาเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติด การส่งเสริมการค้า การศึกษา ปัญหาความยากจน เป็นต้น ส่วนในปี 2548 TICA ได้จัดสรรทุนสำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมนานาชาติแก่อัฟกานิสถานรวม 7 หลักสูตร
การฟื้นฟูบูรณะอัฟกานิสถาน
ไทยมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน โดยได้ส่งกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ จำนวน 1 กองร้อยไปปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรม และซ่อมแซมสนามบินบากรัม (Bagram) ตั้งแต่เดือนเมษายน กันยายน 2546 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
นอกจากนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เชิญบุคคลระดับรัฐมนตรีของอัฟกานิสถานมาเยี่ยมชมโครงการพัฒนาดอยตุง พร้อมทั้งเชิญคณะเจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานมาศึกษาดูงานและรับการฝึกอบการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแล้ว 3 คณะ โดยจัดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งฝ่ายอัฟกานิสถานให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมากและต้องการเรียนรู้ประสบการณ์จากไทย กิจกรรมเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป ในปัจจุบัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับรัฐบาลอัฟกานิสถานดำเนินโครงการด้านการปลูกพืชทดแทนและสร้างอาชีพในอัฟกานิสถาน
ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
ยังไม่มีการลงนามความตกลงใดๆ ระหว่างกัน
ปรับปรุงเมื่อสิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|