ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> ภูฏาน




แผนที่
ราชอาณาจักรภูฏาน
Kingdom of Bhutan


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทิเบต ที่เหลือติดกับอินเดีย ไม่มีทางออกทะเล

พื้นที่ 38,394 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงทิมพู (Thimphu)

เมืองสำคัญต่างๆ เมืองพาโร (Paro) เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ เมืองพูนาคา (Punaka)เป็นเมืองที่มีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของพระราชวังฤดูหนาว และเป็นที่ราบสำหรับทำการเกษตร

ประชากร 752,700 คน (ปี 2548) ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ ได้แก่ 1) ชาชอฟ (Sharchops) ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออก 2) นาล็อบ (Ngalops) ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตก และ 3) โชซัม (Lhotshams) ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้

ศาสนา ศาสนาพุทธมหายาน นิกายกายุบปา (Kagyupa) ซึ่งมีลามะเช่นเดียวกับ ทิเบต ร้อยละ 75 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติชาชอฟ และนาล็อบ) และศาสนาฮินดู ร้อยละ 25 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติโชซัมทางภาคใต้ของประเทศ)

ภาษา ซงข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษใช้เป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและในการติดต่อธุรกิจ ภาษาทิเบตและภาษาเนปาลมีใช้ในบางพื้นที่

การศึกษา อัตราการรู้หนังสือโดยรวม ร้อยละ 42.2 อัตราการรู้หนังสือในเพศชายร้อยละ 46.2 และเพศหญิงร้อยละ 28.1

วันชาติ 17 ธันวาคม (พ.ศ. 2450 หรือ ค.ศ. 1907) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนา สมเด็จพระราชาธิบดี Ugyen Wangchuck ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของภูฏาน

ระบบการปกครอง ราชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขปกครองประเทศ ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ เคซาร์ นัมเกล วังชุก (His Majesty King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) ทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2549

การเมืองการปกครอง
การเมืองการปกครอง
เดิมภูฏานมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล จนกระทั่งเมื่อปี 2541 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏาน เป็นการกระจายอำนาจการปกครองและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และไม่ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกต่อไป

หัวหน้าฝ่ายบริหาร
นับตั้งแต่ปี 2541 นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาลคือผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณะมนตรี (Chairman of the Council of Ministers) โดยได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภาคณะมนตรี (เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 10 คน และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดลำดับ 1 - 5 จะสลับหมุนเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาคณะมนตรีวาระละ 1 ปี

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
ภูฏานได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2550 โดยพร้อมประกาศใช้ในปี 2551 รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และอำนาจบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี และให้มีระบบรัฐสภาที่มี 2 พรรคการเมืองสำคัญ โดยจะมีการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 2551 ซึ่งจะเป็นปีที่ภูฏานมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครบ 100 ปี ต่อมา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันชาติภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ ซิงเย วังชุก ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และได้ประกาศจะสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมารจิกมิ เคซาร์ นัมเกล วังชุก ในปี 2551 การประกาศสละราชบัลลังก์ได้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวภูฏานเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ชาวภูฏานยังคงเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบกษัตริย์และส่วนใหญ่ยังต้องการให้ภูฏานปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป เพราะเกรงว่าระบอบประชาธิปไตย อาจก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายและการฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในประเทศเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ ซิงเย วังชุก ทรงประกาศสละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมารจิกมิ เคซาร์ นัมเกล วังชุก ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิม 2 ปี เนื่องจากทรงเห็นว่าภูฏานกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังนั้น จึงจำเป็นที่มกุฎราชกุมารฯ จะต้องเรียนรู้ประสบการณ์ที่แท้จริงในการปกครองประเทศ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในฐานะพระประมุข (รัฐบาลภูฏานจะจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 ในปี 2551) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไปของภูฏานเกิดขึ้น เนื่องจากภูฏานจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโลกและปัญหาท้าทายใหม่ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก ปัจจุบัน รัฐบาลภูฏานอยู่ระหว่างการเตรียมการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2551 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 7 คน ได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเข้าสังกัดพรรคการเมืองและเตรียมลงสมัครเลือกตั้ง จึงคงเหลือรัฐมนตรี 3 คน ปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลรักษาการจนกว่าการเลือกตั้งครั้งแรกจะแล้วเสร็จ (นาย Lyonpo Kinzang Dorji ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง Works and Human Settlement)

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ในสมัยศตวรรษที่ 17 นักบวช ซับดุง นาวัง นำเยล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) ได้รวบรวมภูฏานให้เป็นปึกแผ่นและก่อตั้งเป็นประเทศขึ้น และในปี 2194 นักบวชซับดุงได้ริเริ่มการบริหารประเทศแบบสองระบบ คือ แยกเป็นฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์ ภูฏานใช้ระบบการปกครองดังกล่าวมาเป็นเวลากว่าสองศตวรรษ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17ธันวาคม 2450 พระคณะที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้ปกครองจากมณฑลต่าง ๆ ตลอดจนตัวแทนประชาชนได้มารวมตัวกันที่เมืองพูนาคา และทำการเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ อูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ปกครองเมืองตองซา (Trongsa) ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของภูฏาน โดยดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์แรกแห่งราชวงศ์วังชุก (Wangchuck) เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นของพระองค์ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครองเมือง Trongsa ทรงมีลักษณะความเป็นผู้นำและเป็นผู้นำที่เคร่งศาสนาและมีความตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ราชวงศ์ Wangchuck ปกครองประเทศภูฏานมาจนถึงปัจจุบันสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ เคซาร์ นัมเกล วังชุก

นโยบายรัฐาลชุดปัจจุบัน
รัฐบาลภูฏานชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงภายใน และการปฏิรูปประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2550) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการขยายความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในทวีปเอเชียและการมีบทบาทในองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาค อาทิ SAARC, BIMSTEC และ ACD

ด้านเศรษฐกิจ
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ ซิงเย วังชุก ทรงดำเนินนโยบายเปิดประเทศหรือนโยบายมองออกไปข้างนอก (outward-looking policy) ภูฏานเริ่มดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ปัจจุบันรัฐบาลภูฏานอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงทุนเพื่อให้มีความชัดเจนแก่นักธุรกิจต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนในภูฏานมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภูฏานต้องการที่จะพัฒนาประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศ ในทางปฏิบัติจึงไม่ต้องการการลงทุนจากต่างประเทศมากจนเกินไป

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูฏาน ส่วนหนึ่งมาจากการมีธรรมรัฐ (good governance) และการที่ข้าราชการได้รับค่าตอบแทนสูง ภูฏานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเก็บภาษีน้อยที่สุด รายได้จากการเรียกเก็บภาษีคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของรายได้รัฐบาล และภาษีจากภาคธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 3 เท่านั้น ส่วนรายได้ที่เหลือเป็นรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำให้แก่อินเดีย เงินปันผล ค่าภาคหลวง ภาษีสรรพสามิต และรายได้จากสาธารณูปโภค

แม้ภูฏานเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคง และมีดุลการชำระเงินดี แต่ภูฏานต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ประมาณร้อยละ 33 ของ GDP ขณะนี้ ภูฏานอยู่ระหว่างการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจากตะวันตกและญี่ปุ่น เศรษฐกิจของภูฏานยังคงมีความผูกพันกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและเงินกู้แก่ภูฏานอยู่มาก

พลังงานเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของภูฏาน โดยได้ส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ไปขายให้แก่อินเดียซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ในอนาคตคาดว่าภูฏานจะมีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีเขื่อนสำคัญ 3 แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างภายใต้แผนพัฒนา (5 ปี) ฉบับที่ 8 ได้แก่ เขื่อนคูริชู (Kurichhu) เขื่อนบาโชชู (Bashochhu) และเขื่อนทาลา (Tala) ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้เป็นปริมาณถึง 1,125.8 เมกกะวัตต์ เพื่อขายให้แก่อินเดียซึ่งจะเป็นรายได้หลักในการพัฒนาประเทศต่อไป

สังคมและวัฒนธรรม
สังคมของภูฏานเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เรียบง่าย ประชาชนดำเนินชีวิตตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายาน และยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากพระราโชบายของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ ซิงเย วังชุก พระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันที่ต้องการให้ภูฏานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของตนไว้ เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนภูฏานใส่ชุดประจำชาติ การอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น และสถาปัตยกรรมแบบภูฏาน ทั้งนี้ แม้จะมีนโยบายเปิดประเทศแต่ภูฏานก็สามารถอนุรักษ์จารีตทางสังคมไว้ได้

สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวภูฏาน โดยเฉพาะสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ ซิงเย วังชุก เป็นที่เคารพรักของประชาชนมาก เพราะนอกจากพระองค์จะเป็นกษัตริย์นักพัฒนาแล้ว ความเป็นกันเองของพระองค์ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรและการเข้าถึงประชาชน ทำให้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์ของประชาชน” ของภูฏาน อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงภูฏานให้เป็นสังคมสมัยใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทรงใช้หลัก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness) แทนการวัดการพัฒนาจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มปรัชญาในการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” โดยความคิดดังกล่าวเน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจมากกว่าวัดการพัฒนาด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ทั้งนี้ พระองค์ได้ข้อสรุปจากบทเรียนความผิดพลาดในการพัฒนาของโลกในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าประเทศจำนวนมากเข้าใจว่าการพัฒนาคือ การแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้แลกความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสูญเสียวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีทางธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าประชาชนไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติก็มิได้ปฏิเสธการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาด้านต่างๆ จะต้องสมดุลกัน โดยรัฐบาลภูฏานได้พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ประชาชนสามารถแสวงหาและได้รับความสุขโดยยึดหลักแนวคิดดังกล่าวเป็นพื้นฐานเพื่อให้สามารถรับมือกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อสิ่งท้าทายของโลก โดยมีหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 3) การส่งเสริมวัฒนธรรม และ 4) ธรรมรัฐ ซึ่งหลักการทั้ง 4 ได้ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายและแผนงานของรัฐบาลทุกด้าน

ในทางปฏิบัติ ภูฏานได้บรรจุแนวคิดนี้ให้อยู่ในแผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี เมื่อปี 2542 (แผนพัฒนาประเทศเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2504) โดยเน้นการพัฒนาในทุกสาขาของสังคมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญด้านสาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การขจัดปัญหาสังคมและความยากจน พร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทั้งหมดจะดำรงอยู่ด้วยกันในลักษณะกลมกลืนตามหลักพุทธศาสนามหายาน

ด้านการต่างประเทศ
ภูฏานมีเป้าหมายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพื่อรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ จากเป้าหมายดังกล่าวภูฏานได้ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ โดยยึดหลักนโยบาย Utilitarian Engagement โดยเลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับเพียงบางประเทศที่ภูฏานเห็นว่ามีความสำคัญ และให้ประโยชน์สูงสุดแก่ชาวภูฏาน ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการตั้งสถานทูตประจำในประเทศเหล่านี้ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ คูเวต และไทย และมีคณะทูตถาวรฯ ประจำองค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวา และนครนิวยอร์ก เท่านั้น

ในอดีต ภูฏานให้ความสำคัญกับอินเดียสูงสุด นโยบายต่างประเทศของภูฏานตั้งอยู่บนพื้นฐานของสนธิสัญญาดาร์จีลิง (Darjeeling) หรือสนธิสัญญามิตรภาพอินเดีย-ภูฏาน ปี 2492 ซึ่งระบุว่า อินเดียจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของภูฏาน แต่ภูฏานยินยอมที่จะได้รับการชี้นำจากอินเดียในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ อินเดียพยายามผูกขาดภูฏานทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น ภูฏานจึงต้องการเพิ่มความสัมพันธ์ไปยังประเทศอื่นๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเอเชียตะวันออก เพื่อลดอิทธิพลของอินเดียต่อภูฏานลง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมิ เคซาร์ นัมเกล วังชุก ทรงลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพอินเดีย-ภูฏานฉบับใหม่ ทำให้ภูฏานมีอิสระจากอินเดียมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ

ภูฏานให้ความสำคัญกับองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยเห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิก UN (เดือนกันยายน 2514) ทำให้ภูฏานมีความสัมพันธ์กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศได้โดยมิต้องมีการจัดตั้งสถานทูตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งทำให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นประโยชน์ มากที่สุด รวมทั้งยังสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ โดยผ่านการช่วยเหลือจากนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศในเรื่องที่เป็นความต้องการของทางภูฏานได้ด้วย โดยเฉพาะในด้านของการพัฒนานอกจากนี้ ภูฏานเป็นสมาชิกสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ South Asian Association for Regional Cooperation (SAARC) โดยเห็นว่าสมาคมดังกล่าวเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม เป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน แต่ประสงค์จะมีความร่วมมือกันในเรื่องที่เป็นความสนใจร่วมกัน และมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือ การส่งเสริมสันติภาพ ความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค นอกจากนั้น ภูฏานได้เป็นสมาชิกใน Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (BIMSTEC) และ Asia Cooperation Dialogue (ACD) เพื่อขยายบทบาทและความร่วมมือของภูฏานในทวีปเอเชียให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจการค้า
เศรษฐกิจ
หน่วยเงินตรา เงินงุลตรัม (Ngultrum) อัตราแลกเปลี่ยน 44งุลตรัม เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.2 รูปี เท่ากับ 1 บาท (เงินงุลตรัมมีค่าเท่ากับเงินรูปีของอินเดีย และเงินรูปีของอินเดียก็สามารถใช้ได้ทั่วไปในภูฏาน)
GDP 840.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
GDP growth ร้อยละ 5.8 (ปี 2548)
อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.91 (ปี 2547)
รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 929.60 ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2547 ทุนสำรองเงินตรา 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2547)
สินค้าส่งออก ยิบซั่ม ไม้ซุง สินค้าหัตถกรรม ซีเมนต์ ผลไม้ ไฟฟ้าจากพลังน้ำ อัญมณี และเครื่องเทศ
สินค้านำเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ธัญพืช เครื่องจักรและชิ้นส่วนรถบรรทุก ผ้า และข้าว
ประเทศคู่ค้า อินเดีย บังกลาเทศ และญี่ปุ่น

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรภูฏาน
ความสัมพันธ์กับประเทศไทยและสถานะล่าสุดของความร่วมมือ
ภูฏานให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเทศไทย และชื่นชมความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของไทย โดยเฉพาะทฤษฎีเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาประเทศของภูฏาน คือ Gross National Happiness และได้อาศัยประสบการณ์ของไทยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตน เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ โดยเห็นว่าวิธีการพัฒนาประเทศของไทยเป็นตัวอย่างที่ภูฏานสามารถนำไปศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศได้ ซึ่งไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ภูฏานมาโดยต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยมีสถานะผู้ให้ความช่วยเหลือ เพื่อยกบทบาทไทยในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก

ด้านการเมือง
นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนแรกที่เยือนภูฏานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 - 5 มิถุนายน 2548 ซึ่งแสดงถึงเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนของไทยในการกระชับและส่งเสริมความสัมพันธ์กับภูฏานในฐานะมิตรประเทศที่แน่นแฟ้น และได้ย้ำให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านต่างๆ แก่ภูฏาน เช่น การพัฒนาสินค้าท้องถิ่น การเกษตร สาธารณสุข และการท่องเที่ยว เป็นต้น

ด้านการทูต
ไทยและภูฏานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 ปัจจุบันทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน โดยมีปัจจัยที่เชื่อมความสัมพันธ์ ได้แก่ ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การนับถือพุทธศาสนา และความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม และทั้งไทยและภูฏานไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใดมาก่อน รัฐบาลไทยมอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา (ปัจจุบัน คือ นายสุพัฒน์ จิตรานุเคราะห์) มีเขตอาณาดูแลราชอาณาจักรภูฏานอีกแห่งหนึ่ง ในขณะที่ภูฏานได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตภูฏานประจำประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 (ซึ่งเป็นสถานทูตแห่งที่ 6 ของภูฏานในต่างประเทศ) และมีนายซิงเก ดอร์จี (Singye Dorjee) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตภูฏานประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน มีเขตอาณาดูแลประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ภูฏานยังได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทยด้วย โดยนายภาคย์ เสถียรพัฒน์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ เมื่อปี 2543 และต่อมาไทยได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ราชอาณาจักรไทยประจำภูฏาน โดยมีนายดาโชะ อูเก็น เชชุบ (Dasho Ugen Tshechup) ซึ่งเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระราชินีภูฏาน ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ เมื่อปี 2546

ด้านเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทยกับภูฏานมีปริมาณน้อยมาก โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด การค้ารวมในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2545 - 2548) มีมูลค่าประมาณ 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปภูฏาน 8.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏานประมาณ 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าในปี 2548 มีมูลค่ารวม 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏานประมาณ 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏานประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังภูฏาน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยานพาหนะและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากภูฏาน ได้แก่ ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหาร

อุปสรรคสำหรับการส่งออกสินค้าไทย คือ (1) การขนส่งสินค้าไปภูฏานถูกจำกัดเพียง 2 ทาง ได้แก่ ทางอากาศโดยสายการบินดรุ๊กแอร์ของภูฏาน และทางเรือซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านท่าเรือที่เมืองกัลกัตตาในอินเดีย และลำเลียงต่อทางบกผ่านด่านพินโชลิงค์ (Phuentshchling) ของภูฏานที่ติดกับอินเดีย ซึ่งถนนมีสภาพไม่ดีทำให้การขนส่งใช้เวลานาน (2) ภูฏานมีความผูกพันทางการค้าอย่างแน่นแฟ้นกับอินเดีย การเจาะตลาดภูฏานที่มีขนาดเล็กจึงกระทำได้ยาก (3) การขาดแคลนข้อมูลและข่าวสารทางการค้า

ความช่วยเหลือทางวิชาการ
ความร่วมมือทางวิชาการเป็นกลไกที่สำคัญกลไกหนึ่งในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยและภูฏานซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างให้ความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและสามารถขยายขอบข่ายความสัมพันธ์ไปสู่มิติอื่นๆ รัฐบาลไทยยืนยันเจตนารมณ์ในการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการกับภูฏานเพื่อเป็นการสนันสนุนแผนการพัฒนาประเทศของภูฏาน อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความผาสุขของประชาชาติ ไทยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับภูฏานตั้งแต่ปี 2535 เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา การท่องเที่ยว การเกษตร และการพัฒนาชนบท เป็นต้น การให้ความช่วยเหลือเป็นไปในรูปของทุนการศึกษา ฝึกอบรมและดูงานในสถาบันการศึกษาต่างๆ ของไทย โดยดำเนินการในลักษณะรัฐบาลไทยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือภูฏานและไทยร่วมกันออกค่าใช้จ่าย หรือประเทศที่สาม/องค์การระหว่างประเทศเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย

สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ Thailand International Development Cooperation Agency (TICA) เป็นหน่วยงานหลักประสานกับ Royal Civil Service Commission (RCSC) ของภูฏานในการมอบทุนการศึกษา ฝึกอบรมและดูงานด้านต่างๆ ในปี 2548 ไทยได้มอบทุนรวม 48 ทุน มูลค่า 5.3 ล้านบาท เพื่อแสดงเจตจำนงอย่างจริงใจของรัฐบาลไทยที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศของภูฏาน อย่างต่อเนื่อง ในปี 2548 รัฐบาลประกาศให้ทุนการศึกษา ฝึกอบรมและดูงานแก่ภูฏานจำนวน 180 ทุน ภายในระยะเวลา 3 ปี (2548 - 2551) ซึ่งจะทำให้มีนักศึกษาภูฏานเดินทางมาศึกษาที่ประเทศไทยมากขึ้น โดยปัจจุบันมีนักศึกษาภูฏานศึกษาระดับปริญญาตรี/โท ในไทยประมาณ 120 คน โดยทุนรัฐบาลภูฏาน ทุนส่วนตัว และทุนรัฐบาลไทย และพร้อมที่จะขยายความร่วมมือไปสู่ความร่วมมือด้านอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานต่างๆ ของภูฏาน โดยให้ความร่วมมือในลักษณะของโครงการ capacity building และโครงการพัฒนาต่างๆ ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพและเป็นความต้องการของฝ่ายภูฏาน นอกจากนั้น ภูฏานยังส่งข้าราชการมาศึกษาดูงานด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยเพื่อนำวิทยาการไปปรับใช้สำหรับการพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การบริหารงบประมาณและจัดเก็บภาษีของกระทรวงการคลัง ระบบงานรัฐสภาของไทย งานตรวจคนเข้าเมือง การสีข้าว และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริ

ด้านวัฒนธรรม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ร่วมกับกรมการศาสนาได้ถวายพระพุทธรูปแด่สมเด็จพระราชชนนีแห่งภูฏาน ในโอกาสฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี ของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วัดในเมืองบุมทัง (Bumthang) เมื่อเดือนมิถุนายน 2543

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา รัฐบาลไทยได้สร้างศาลาไทยในกรุงทิมพู เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับภูฏาน มอบให้แก่รัฐบาลภูฏานเมื่อปี 2544

ด้านการท่องเที่ยว
ในปี 2548 นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปภูฏานประมาณ 270 คน (มกราคม - สิงหาคม) ส่วนนักท่องเที่ยวภูฏานเดินทางมาไทยประมาณ 3,866 คน (มกราคม - มิถุนายน) มีคนไทยอาศัยอยู่ในภูฏานน้อยกว่า 20 คน ส่วนใหญ่เป็นหญิงไทยแต่งงานกับชาวภูฏาน และยังไม่มีบริษัทเอกชนไทยไปลงทุนในภูฏาน

ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
1. กระทรวงสาธารณสุขไทยและภูฏานได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาด้านสุขอนามัยระหว่างกัน เมื่อเดือนตุลาคม 2530
2. ไทยและภูฏานได้จัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกัน เมื่อเดือนมิถุนายน2536
3. ไทยและภูฏานได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน เมื่อเดือนเมษายน 2545
4. ไทยและภูฏานได้จัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางทูตและราชการ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547
5. ไทยและภูฏานได้จัดทำความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกด้าน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547
6. ไทยและภูฏานได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เมื่อเดือนมิถุนายน 2548

การเยือนของผู้นำระดับสูง

ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- เดือนมิถุนายน 2534 เสด็จฯ เยือนภูฏาน
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 18-27 มิถุนายน 2550 เสด็จฯ เยือนภูฏาน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- เดือนพฤษภาคม 2531 เสด็จฯ เยือนภูฏาน

รัฐบาล
ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เดือนพฤศจิกายน 2532 เยือนภูฏานเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
นายสรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เดือนกันยายน 2547 เยือนภูฏาน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 4–5 มิถุนายน 2548 เยือนภูฏานอย่างเป็นทางการ
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- วันที่ 8-11 มีนาคม 2550 เดินทางเยือนภูฏาน
นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเรงงาน
- วันที่ 25-29 กันยายน 2550 เดินทางเยือนภูฏาน

ฝ่ายภูฏาน
ราชวงค์
มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน จิกมิ เคซาร์ นัมเกล วังชุก
- เดือนมีนาคม 2546 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทอดพระเนตรโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่
- วันที่ 11-20 มิถุนายน 2549 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
- วันที่ 24 พฤศจิการยน 2549 เสด็จฯ เยือนงานพืชสวนโลก จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549 รับพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2549 เข้าร่วมพิธีถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรังสิต

รัฐบาล
เลียนโป ดาวา เชอริ่ง (Lyonpo Dawa Tsering) รัฐมนตรีต่างประเทศภูฏาน
- เดือนกรกฎาคม 2532 ภูฏานเยือนประเทศไทย
เลียนโป จิกมี โยวเซอ ทินเลย์ (Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley) นายกรัฐมนตรีภูฏาน
-เดือนกรกฎาคม 2541 เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
เลียนโป จิกมี โยวเซอ ทินเลย์ (Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley) รัฐมนตรีต่างประเทศภูฏาน
- เดือนพฤษภาคม 2544 เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกกระทรวงการต่างประเทศและได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นำคณะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 14 พฤษภาคม 2544
เลียนโป จิกมี โยวเซอ ทินเลย์ (Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley) นายกรัฐมนตรีภูฏาน และ เลียนโป กานดุ วังชุก (Lyonpo Khandu Wangchuck) รัฐมนตรีต่างประเทศภูฏาน
- วันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2547 เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMST-EC ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ
เลียนโป วังดิ นอร์บุ (Lyonpo Wangdi Norbu) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังภูฏาน
- ระหว่างวันที่ 16 - 18 มกราคม 2549 เยือนไทยเพื่อเชิญผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม RTM for Bhutan รอบที่ 9 ณ นครเจนีวา
เลียนโป คินเซง ดอร์จื (Lyonpo Kinzang Dorji) รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง Works and Human Settlement ภูฎาน
- ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2550 เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อกล่าวเปิดการประชุม The 3rd International Conference on Gross National Happiness ที่กรุงเทพฯ
นายเพ็นจอร์ (Penjore) เลขาธิการพระราชวังภูฏาน
- ระหว่างวันที่ 4 – 12 ธันวาคม 2550 เยือนไทยในฐานะแขกของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา เพื่อเยี่ยมชมและดูงานโครงการหลวงต่างๆ


--------------------------------

กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
ธันวาคม 2550

เรียบเรียงโดย กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043-44 E-mail : southasian02@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์