|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐบุรุนดี Republic of Burundi
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา
ทิศเหนือติดประเทศรวันดา
ทิศใต้และทิศตะวันออกติดสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย
ทิศตะวันตกติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
มีทะเลสาบแทนกานยิกาอยู่ทางใต้และตะวันตกของประเทศ
บุรุนดีเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล ทางออกทะเลที่ใกล้ที่สุดคือผ่านทางกรุงดาร์-เอส-ซาลาม เมืองหลวงของแทนซาเนีย ซึ่งมีระยะทางประมาณ 1,400 กิโลเมตร
พื้นที่27,830 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 1,800 เมตร
เมืองหลวงกรุงบูจุมบูรา (Bujumbura) เมืองสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ เมือง Gitega (เคยเป็นเมืองหลวงในสมัยโบราณ) และเมือง Usumbura
ประชากร 7.6 ล้านคน (ประมาณการปี 2549) พลเมืองประกอบด้วยชนสองเผ่าใหญ่ ๆ คือ เผ่า Hutu (ร้อยละ 85) และเผ่า Tutsi (ร้อยละ 14) นอกนั้นเป็นเผ่า Twa (Pygmy) และอื่น ๆ อีกร้อยละ 1
ภาษาฝรั่งเศสและ Kirundi เป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษา Swahili อย่างแพร่หลาย
ศาสนา นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 67 โดยนับถือนิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 62 โปรเตสเตนท์ ร้อยละ 5 นับถือลัทธิความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 32 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1
วันชาติ 1 กรกฎาคม (วันได้รับเอกราชปี 2505)
ประวัติศาสตร์
ประเทศบุรุนดีประกอบด้วยชนสองเผ่าใหญ่ คือ เผ่า Hutu และเผ่า Tutsi โดยเผ่า Hutu เป็นเผ่าที่อยู่มาดั้งเดิมกับเผ่า Twa ในศตวรรษที่ 16 และเผ่า Tutsi ได้อพยพเข้ามายึดครองดินแดนแถบนั้น ทั้งสองเผ่าจึงเป็นศัตรูกันมาแต่โบราณ ในปี 2442 บุรุนดีตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนี จนถึงปี 2459 จึงเข้าอยู่ในอาณัติของสันนิบาตชาติ ภายใต้การปกครองของเบลเยียม จนถึงปี 2505 จึงได้รับเอกราช
ในระหว่างตกเป็นประเทศอาณานิคม ผู้ปกครองได้ส่งเสริมความแตกแยกระหว่างเผ่า Hutu และเผ่า Tutsi โดยเสริมสร้างค่านิยมว่า เผ่า Tutsi มีคุณลักษณะที่เหนือกว่าทั้งในด้านรูปร่างหน้าตาและสติปัญญา จึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะเป็นชนชั้นปกครอง และสมควรที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคมที่เหนือกว่าชาว Hutu มาโดยตลอดทั้งๆ ที่ชาวเผ่า Tutsi เป็นชนส่วนน้อยของประเทศ
ภายหลังได้รับเอกราช บุรุนดีมีการปกครองแบบกษัตริย์ โดยมีชาว Tutsi เป็นพระประมุข สถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ตลอดมา ในระหว่างปี 25092530 ได้มีการล้มล้างอำนาจปกครองหลายๆ ครั้งโดยฝ่ายทหาร ที่ขึ้นเถลิงอำนาจในแต่ละครั้งก็ใช้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านและกบฏจากกลุ่มอื่นๆ ที่สูญเสียอำนาจ
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2530 พันตรี Pierre Buyoya ร่วมกับทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกตนเองว่าคณะกรรมการทหารเพื่อกอบกู้ชาติ (Comite-Militaire pour le Salut National) ได้ปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลในขณะนั้นและขึ้นครองอำนาจ ประธานาธิบดี Buyoya (เผ่า Tutsi) พยายามปฏิรูปทางการเมือง โดยเปิดโอกาสให้ชาว Hutu ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศมีบทบาทในด้านต่างๆ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามให้สิทธิชาว Tutsi ด้วย
ต่อมาในปี 2535 ได้เกิดสงครามล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างเผ่า Hutu และ Tutsi ในประเทศรวันดา อันมีสาเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างเผ่าดั้งเดิม และความขัดแย้งดังกล่าวได้ขยายตัวมายังบุรุนดีด้วย เนื่องจากมีองค์ประกอบของประชากรที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งทำให้ พันตรี Buyoya ได้ก่อรัฐประหาร ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในกลางปี 2538 โดยพยายามนำความเด็ดขาดทางทหารเข้ามายุติความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร การรัฐประหารไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้บุรุนดีถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงได้
ในปี 2536 สถานการณ์ความขัดแย้งในบุรุนดีลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองโดยเผ่า Hutu กลุ่มต่างๆ ที่หลบหนีออกนอกประเทศได้กลับมารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มกบฏที่ไล่เข่นฆ่าชาว Tutsi ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล Tutsi ก็ได้เข้ากวาดล้างเข่นฆ่าประชาชนชาว Hutu ไปเป็นจำนวนมาก
ในเดือนพฤศจิกายน 2543 ภายใต้การโน้มน้าวและกดดันของนาย Nelson Mandela รัฐบุรุษแอฟริกาใต้ พรรคการเมือง 19 พรรคของบุรุนดี ได้ลงนามในความตกลง Arusha Peace and Reconciliation Agreement (APRA) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างฝ่าย Hutu และ Tutsi ว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และให้มีความสมดุลของชาวเผ่า Hutu และ Tutsi ในกองทัพ ระหว่างรอการเลือกตั้งใหม่ บุรุนดีได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว (transitional government) ซึ่งได้มีประธานาธิบดีจากเผ่า Hutu และ Tutsi ผลัดเปลี่ยนกันเป็น ครองตำแหน่งวาระละ 18 เดือน รวมทั้งมีรองประธานาธิบดีที่มาจากอีกเผ่าหนึ่งเพื่อคานอำนาจกันด้วย
ในปี 2548 รัฐบาลได้จัดให้มีการลงประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนได้ลงคะแนนเสียงรับรองอย่างท่วมท้น (กว่าร้อยละ 90) รัฐธรรมนูญใหม่แบ่งอำนาจการปกครองระหว่างเผ่า Hutu กับ Tutsi ในอัตราส่วน 60 ต่อ 40 ในทุกระดับการปกครอง ยกเว้นอำนาจทางทหารอยู่ในอัตราส่วน 50 ต่อ 50
ในเดือนตุลาคม 2545 สหภาพแอฟริกา (African Union) ได้ส่งกำลังทหารรักษาสันติภาพเพื่อมาปลดอาวุธกลุ่มกบฏต่างๆ และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 สหประชาชาติได้ให้ United Nations Operation in Burundi (Opération des Nations Unies au Burundi ONUB) รับมอบหมายการรักษาสันติภาพแทนกำลังทหารรักษาสันติภาพของ AU ซึ่งกระทรวงกลาโหมของไทยได้ส่งกองกำลังทหารช่างเข้าร่วมในปฏิบัติการของ ONUB จำนวน 177 นาย ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2547 เดือนพฤศจิกายน 2549
การเมืองและการปกครอง
-แบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล
นาย Pierre Nkurunziza (เผ่า Hutu) ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับเลือกจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมิถุนายน กรกฎาคม 2548
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ คือ นาง Antoinette Batumubwira
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าc]tอุตสาหกรรม คือ นาย Jean Bigirimana
นโยบายและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
บุรุนดีเป็นประเทศเล็กและยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกา จึงวางตัวเป็นกลางและไม่ประสงค์จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจหรือประเทศเพื่อนบ้าน โดยรัฐบาลพยายามพัฒนาประเทศโดยรับความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยีจากทุกฝ่าย เช่น เยอรมนี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส จีน อียิปต์ ส่วนประเทศแอฟริกาที่มีความสำคัญต่อบุรุนดี และบุรุนดีต้องพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีไว้ ได้แก่ ยูกันดา แทนซาเนีย และเคนยา ซึ่งบุรุนดีต้องพึ่งพาในการคมนาคมขนส่งสินค้าเข้าผ่านเขตแดนประเทศดังกล่าวออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย
ที่ผ่านมาบุรุนดีมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรวันดาซึ่งมีพลเมืองเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกัน
และมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การพัฒนาลุ่มน้ำ Kagera ในปี 2519 บุรุนดี รวันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้ร่วมกันจัดตั้ง Communaute Economique des Pays des Grands Lacs (CEPGL) ขึ้น เป็นต้น
เมื่อนาย Pierre Nkurunziza (เผ่า Hutu) ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นานาชาติได้คาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอาจจะห่างเหินกันขึ้นเพราะประธานาธิบดี Paul Kagame ของรวันดาเป็นชาวเผ่า Tutsi อย่างไรก็ดี ผู้นำทั้งสองได้แสดงให้ชาวโลกเห็นว่า สามารถเป็นมิตรกันได้ ตราบเท่าที่รัฐบาลบุรุนดีจะไม่สนับสนุนกลุ่มกบฏ Hutu ที่แฝงตัวอยู่ในประเทศ รวมทั้งจะไม่กล่าวถึงความแตกแยกระหว่างชนเผ่าทั้งสอง (ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลรวันดาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง)
ภาวะเศรษฐกิจ
บุรุนดีเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยและยากจนที่สุดในโลก เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเกษตร ประชากรร้อยละ 90 ทำการเกษตร บุรุนดียังต้องพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ผลิตอาหารเลี้ยงตนเองไม่เพียงพอ การพัฒนาเศรษฐกิจจึงมุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้เป็นอันดับแรก การพัฒนาอุตสาหกรรมมุ่งผลิตสินค้าที่รับภาระค่าขนส่งได้ อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในซึ่งขยายตัวเป็นสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ ทำให้บุรุนดีประสบกับปัญหาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของบุรุนดีโดยรวมในระยะยาวเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะการขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ ที่ดิน ปศุสัตว์ พืช และสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ซึ่งถูกทำลายระหว่างสงคราม ในปัจจุบันบุรุนดีจึงพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยเฉพาะ World Bank และ IMF
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2549)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.8 (ประมาณการปี 2549)
รายได้ประชากรต่อหัว 118 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2549)
สกุลเงิน Burundi Franc (BFr)
อัตราแลกเปลี่ยน Burundi Franc (BFr) = 100 centimes
1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 1062 BIF
หรือประมาณ 30 BIF เท่ากับ 1 บาท (ค่าเฉลี่ยปี 2549)
สินค้าออกที่สำคัญ กาแฟ (ร้อยละ 65) ชา หนังสัตว์ ฝ้าย แร่นิเกิล
สินค้าเข้าที่สำคัญ อาหารและเครื่องอุปโภคอื่น ๆ (ร้อยละ 43) สิ่งทอ น้ำมัน เครื่องจักร
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ส่งออกไปยังเยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ และนำเข้าจากเคนยา แทนซาเนีย เบลเยียม และอิตาลี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐบุรุนดี |
ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - บุรุนดี
1. ด้านการเมืองและการทูต
- ประเทศไทยและบุรุนดีได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2531 โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีมีเขตอาณาครอบคลุมบุรุนดี ในขณะที่ฝ่ายบุรุนดีได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตบุรุนดีประจำกรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุบประเทศไทย
- กระทรวงกลาโหมของไทยได้ส่งกองกำลังทหารช่างเข้าร่วมในปฏิบัติการของ ONUB จำนวน 177 นาย ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2547 เดือนพฤศจิกายน 2549
- ที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนการเยือนของบุคคลระดับสูงยังมีไม่มากนัก โดยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 ประธานาธิบดี Pierre Buyoya พร้อมด้วยภริยาและคณะ จำนวน 25 คน ได้เดินทางแวะผ่านประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงแอดดิสอาบาบา ซึ่งในโอกาสนั้น ฝ่ายไทยได้ให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ประธานาธิบดี Buyoya เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีได้มอบกระเช้าดอกไม้แก่ประธานาธิบดี Buyoya ด้วย
2. ด้านเศรษฐกิจ
ภาวะการค้าระหว่างไทยกับบุรุนดีในปัจจุบันยังมีมูลค่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกอื่น ๆ โดยในปี 2549 ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับบุรุนดีมีมูลค่าเพียง 26.6 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายส่งออกสินค้าไปยังบุรุนดี 23.1 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากบุรุนดี 3.5 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 19.5 ล้านบาท สินค้าออกที่สำคัญ ของไทยไปยังบุรุนดี ได้แก่ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยได้แก่ เคมีภัณฑ์
สินค้าออกสำคัญ 10 รายการแรกที่ไทยส่งออกไปยังบุรุนดี ได้แก่
1) ข้าว
2) ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ
3) เสื้อผ้าสำเร็จรูป
4) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์
5) ผลิตภัณฑ์ยาง
6) สิ่งทออื่น ๆ
7) ผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ด
8) ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว
9) สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ
10) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ
สินค้านำเข้าสำคัญ 10 รายการแรกที่ไทยนำเข้าจากบุรุนดี ได้แก่
1) ผ้าผืน
2) ผลิตภัณฑ์ยาง
3) เส้นใยใช้ในการทอ
4) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
5) เสื้อผ้า รองเท้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ
6) ผัก และผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผลไม้
7) ยางรถยนต์
8) สิ่งพิมพ์
9) ผลิตภัณฑ์พลาสติก
10) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ
สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian04@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|