|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐแคเมอรูน Republic of Cameroon
|
|
ชื่อทางการ สาธารณรัฐแคเมอรูน (Republic of Cameroon)
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ระหว่างแอฟริกากลางกับแอฟริกาตะวันตก
ทิศเหนือติดกับไนจีเรีย
ทิศตะวันออกติดกับชาดและสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
ทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐคองโก กาบองและอิเควทอเรียลกินี
ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าว Biafra
พื้นที่ 475,440 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง เมืองยาอุนเด (Yaounde)
เมืองสำคัญอื่น ๆ เมือง Douala ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของแคเมอรูนและมีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด นอกจากนี้ มีเมือง Garoua Maroua Bafoussam และ Bamenda
ภูมิอากาศ อากาศร้อนชื้น อุณหภูมิสูง และฝนตกชุกโดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน และเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
จำนวนประชากร 17,340,702 คน (ก.ค.2549)
เชื้อชาติ ชาวแคเมอรูนที่ราบสูงร้อยละ 31
Equatorial Bantu ร้อยละ 19
Kirdi ร้อยละ 11
Fulani ร้อยละ 10
Bantu ตะวันตกเฉียงเหนือ ร้อยละ 8
Nigritic ตะวันออกร้อยละ 7
แอฟริกันอื่น ๆ ร้อยละ 13
นอกจากนี้ มีเชื้อชาติอื่น ๆ อีกประมาณร้อยละ 1
ภาษา ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ และมีภาษาท้องถิ่นที่สำคัญอีก 24 ภาษา
ศาสนา นับถือความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 40 นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 40 และนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 20
รูปแบบการปกครอง แบบสาธารณรัฐระบบสภาเดียว (Unicameral) มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ อำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ประธานาธิบดี มีพรรคการเมืองหลายพรรค
สถาบันทางการเมือง ประกอบด้วย
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ โดยได้รับ เลือกตั้งโดยตรงและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 7 ปี และ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล โดยประธานาธิบดีเป็น ผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อวันทื่ 11 ตุลาคม 2547 การเลือกตั้งครั้งต่อไปในเดือนตุลาคม 2554
ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภา (National Assembly) แบบสภาเดียว (Unicameral) ประกอบด้วยสมาชิก 180 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสามารถจะยืดหรือลดอายุ สมาชิกรัฐสภาได้ สำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ วันที่ 23 มิถุนายน 2545 การเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2550
ฝ่ายตุลาการ มีศาลสูงซึ่งผู้พิพากษาได้รับแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
ประมุขแห่งรัฐ นาย Paul Biya ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
ผู้นำรัฐบาล นาย Ephraim INONI ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2547
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Henri Eyebe Ayissi ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2550
วันชาติ วันที่ 20 พฤษภาคม (ซึ่งเป็นวันที่ได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2515)
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
แคเมอรูนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมันระหว่างปี พ.ศ. 2427 ถึง พ.ศ. 2459 และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 แคเมอรูนได้ตกเป็นดินแดนในอาณัติขององค์การสันนิบาตชาติ และเป็นดินแดนอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสและอังกฤษ (ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แคเมอรูนใต้และแคเมอรูนเหนือ) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนในความปกครองของฝรั่งเศสและอังกฤษดังกล่าวตกเป็นดินแดนในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ และเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 แคเมอรูนของฝรั่งเศสได้รับเอกราช มีการเลือกตั้ง และนาย Ahmadou Ahidjo เป็นประธานาธิบดี ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 แคเมอรูนใต้ของอังกฤษได้ลงประชามติอยู่ร่วมกับอดีตแคเมอรูนของฝรั่งเศส ในขณะที่แคเมอรูนเหนือประสงค์จะอยู่ร่วมกับไนจีเรีย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2504 สาธารณรัฐแคเมอรูนและแคเมอรูนใต้ของอังกฤษจึงรวมกันเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐแคเมอรูน และต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ได้เปลี่ยนเป็นสหสาธารณรัฐแคเมอรูน (the United Republic of Cameroon)
ประธานาธิบดี Ahidjo ได้ลาออกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 และนาย Paul Biya อดีตนายกรัฐมนตรีได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2527 นาย Biya ได้รับเลือกตั้งโดยปราศจากคู่แข่ง และได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐแคเมอรูน (Republic of Cameroon)
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
แคเมอรูนมีปัญหาบริเวณชายแดนกับไนจีเรีย ความสัมพันธ์ได้ตกต่ำลงในช่วงต้นเดือน มกราคม พ.ศ. 2537 เมื่อกองกำลังของแคเมอรูนเข้าไปในไนจีเรียและกวาดล้างหมู่บ้านรวมทั้ง สังหารชาวไนจีเรียเป็นจำนวนมาก ไนจีเรียจึงส่งกองกำลังเข้าไปยังเกาะ Diamant และ Jabane ของแคเมอรูนบริเวณอ่าวกินี แคเมอรูนก็ส่งกองกำลังเข้าไปในบริเวณดังกล่าวเช่นกัน หลังจากนั้น ได้มีความพยายามในการเจรจายุติความขัดแย้งดังกล่าวมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่าย ยังมีการปะทะกันและมีการเสริมกำลังทางทหาร
แคเมอรูนเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ประเทศในเครือจักรภพ องค์การเอกภาพแอฟริกา และเป็นรัฐ ACP ของสหภาพยุโรป
สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป
จากการที่แคเมอรูนมีทรัพยากรทางด้านน้ำมันและมีสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรกรรม ทำให้แคเมอรูนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ ์ขั้นมูลฐาน ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาทางตอนล่างของทะเลทรายซาฮารา อย่างไร ก็ตาม แคเมอรูนก็ยังประสบกับปัญหาสำคัญเช่นเดียวกับประเทศด้อยพัฒนาอื่น ๆ อาทิ เช่น ระบบราชการที่ข้าราชการระดับสูงมีจำนวนมาก และบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2533 รัฐบาลจึงได้เข้าร่วมโครงการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคาร โลกหลายโครงการ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพในภาคเกษตรกรรม การปรับปรุงการค้าและการปรับเงินทุนของธนาคารของรัฐ อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ประสบความล้มเหลวที่จะผลักดันให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าไปอย่างเต็มที่ การลงนามในความตกลงปรับ โครงสร้างเศรษฐกิจฉบับล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งหลายฝ่ายหวังว่าจะประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่การบริหารงานของรัฐบาลที่ผิดพลาดและการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ อัตราเงินเฟ้อก็ลดมาอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ความคืบหน้าในการแปรรูป รัฐวิสาหกิจทางด้านอุตสาหกรรมของรัฐ อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจมีความเติบโตขึ้นในปี 2543 ได้ นอกจากนั้นรัฐบาลได้ยอมรับความช่วยเหลือจาก IMF ซึ่งทาง IMF ต้องการให้มีการแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างด้านการเงิน และกดดันให้มีการปฏิรูปด้านการเงินและเพิ่มความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ และให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐแคเมอรูน |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ด้านการเมือง
ไทยและแคเมอรูนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 โดยไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศแคเมอรูน
ส่วนแคเมอรูนยังไม่ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตใดมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและแคเมอรูนดำเนินมาด้วยความราบรื่น และไม่มีปัญหาระหว่างกัน
ด้านเศรษฐกิจ
ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับแคเมอรูนได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยไทยเป็นฝ่าย ได้เปรียบดุลการค้าแคเมอรูนมาโดยตลอด จนถึงปี 2548 ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับแคเมอรูนเริ่มลดลง โดยไทยส่งออกไปแคเมอรูนเริ่มลดลงจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า สินค้าที่ไทยส่งไปยังแคเมอรูนที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก เคหะสิ่งทอ ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อและผ้าที่จัดทำแล้ว รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น และสินค้าที่ไทยนำเข้าได้แก่ ด้ายและเส้นใย พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
การค้าระหว่างไทย แคเมอรูน ปริมาณการค้าของไทยและแคเมอรูนตั้งแต่ปี 2543-2547 มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 31.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปี 2548 ปริมาณการค้าของทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก คือ มีมูลค่าการค้ารวม 116.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มีมูลค่าการค้าสูงกว่าปี 2547 ถึง 67.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 139.09 ทั้งนี้ น่าจะเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2548 โดยไทยสามารถส่งออกสินค้าไปแคเมอรูนได้สูงถึง 104.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าการส่งออกสินค้าในปีที่ผ่านมาถึง 67.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการนำเข้าสินค้าจากแคเมอรูน ตั้งแต่ปี 2544-2548 การนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 11.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการค้าไทย-แคเมอรูน ปี 2549 มีมูลค่า 60.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีที่ผ่านมา 55.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 48.11 อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับแคเมอรูนมาโดยตลอด
สถิติการค้าไทย - แคเมอรูน ดูเอกสารแนบ
ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการ
ปัจจุบันแคเมอรูนไม่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้ Thai Technical Cooperation Programme แต่อย่างใด ซึ่งประเทศไทยอาจ พิจารณาให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่แคเมอรูน เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันต่อไป
ประเทศไทยเคยให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่แคเมอรูน จากกรณีการ ระเบิดของก๊าซจากปล่องภูเขาไฟในแคเมอรูน โดยได้บริจาคข้าวนึ่งชนิด 5% จำนวน 25 ตัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 และในปี 2533 ไทยได้บริจาคข้าวนึ่ง 10% จำนวน 100 ตัน ให้แก่แคเมอรูนโดยผ่านทางสมาคมฟุตบอลแคเมอรูน
ผู้แทนทางการทูต
ฝ่ายไทย
อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา (มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแคเมอรูน) คือนายนิยม วัฒน์ธรรมาวุธ
ที่อยู่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา
Royal Thai Embassy
Plot 766 Panama Street,,
Cadastral Zone A6, off IBB Way,
Maitama, Abuja,
NIGERIA
E-mail : thaiabj@mfa.go.th
กันยายน 2550
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48 E-mail : southasian03@mfa.go.th
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|