|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐชิลี Republic of Chile
|
|
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ระหว่างแนวเทือกเขาแอนดีสกับมหาสมุทรแปซิฟิก ภูมิประเทศมีลักษณะยาวเลียบฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในแนวตั้ง ทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันออกติดโบลิเวียและอาร์เจนตินา ทิศเหนือติดเปรูและโบลิเวีย และทิศใต้ติดขั้วโลกใต้
พื้นที่ 2,006,626 ตารางกิโลเมตร (นับรวมเกาะอีสเตอร์และเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทร แปซิฟิกกับพื้นที่บริเวณแอนตาร์กติกอีก 1,250,000 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวประมาณ 4,200 กิโลเมตร และอีก 8,000 กิโลเมตร ในส่วนของ แอนตาร์กติก มีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 177 กิโลเมตร และมีช่วงกว้างที่สุด 362 กิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงซันติอาโก (Santiago) ตั้งขึ้นโดยกัปตันเรือชาวสเปนชื่อ เปโดร เด วาลดิเวีย (Pedro de Valdivia) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2084 ปัจจุบันกรุงซันติอาโก มีประชากรประมาณ 5.3 ล้านคน
ประชากร ประมาณ 16 ล้านคน
ภูมิอากาศ อบอุ่น ภาคเหนืออากาศแห้ง ภาคใต้อากาศชื้น ความชื้น โดยเฉลี่ย ประมาณร้อยละ 50 มี 4 ฤดู
- ฤดูร้อน ปลายธันวาคม มีนาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 13-29 องศาเซลเซียส
- ฤดูใบไม้ร่วง ปลายมีนาคม มิถุนายน อุณหภูมิเฉลี่ย 8-23 องศาเซลเซียส
- ฤดูหนาว ปลายมิถุนายน กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ย 4-16 องศาเซลเซียส
- ฤดูใบไม้ผลิ ปลายกันยายน ธันวาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 8-22 องศาเซลเซียส
ภาษา ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ
ศาสนา นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 76.7 นิกายโปรเตสแตนท์ ร้อยละ 13.25 ไม่นับถือศาสนาใดๆ ร้อยละ 5.8 และนับถือศาสนาอื่นๆ ร้อยละ 4.3
หน่วยเงินตรา สกุลเปโซชิลี (Chilean Peso) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 520.40 เปโซ (สถานะวันที่ 7 สิงหาคม 2550)
วันชาติ 18 กันยายน - วันประกาศเอกราชจากสเปน เมื่อปี 2353
เชื้อชาติ ร้อยละ 95 เป็นเชื้อชาติยูโรเปียน อาทิ สเปน เยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน นอกจากนั้น ส่วนใหญ่เป็นอาหรับและยูโกสลาเวีย
อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 95
เวลาต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมงตั้งแต่วันอาทิตย์ที่สองของเดือนมีนาคม-วันเสาร์ที่สองของเดือนตุลาคม ช้ากว่าไทย 10 ชั่วโมงตั้งแต่วันอาทิตย์ที่สองของเดือนตุลาคม- วันเสาร์ที่สองของเดือนมีนาคม
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ANDEAN (ANDEAN Community) (สมาชิกสมทบ), APEC, FEALAC (Forum of East Asia-Latin America Cooperation), G-15, G-๗๗, IAEA (International Atomic Energy Agency), ILO, IMF, Interpol, ITU, MERCOSUR (Southern Common Market) (สมาชิกสมทบ), NAM (Non-Aligned Movement), OAS (Organization of American States), UN, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, WHO, WTO
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)129.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (%GDP) 5%
รายได้ประชาชาติต่อหัว 7,869 ดอลลาร์สหรัฐ
โครงสร้าง GDP
ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 38.2
ภาคบริการ ร้อยละ 55.5
ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 13.6
อัตราเงินเฟ้อ เฉลี่ยร้อยละ 2.6
ดุลการค้าต่างประเทศ 23.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้สินต่างประเทศ ประมาณ 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 7.8
ทรัพยากรธรรมชาติ ทองแดง ไม้ เหล็ก อัญมณี สัตว์น้ำ
อุตสาหกรรม ทองแดง แร่ธาตุอื่นๆ อาหารแปรรูปประเภทปลา
ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องมือสื่อสาร ปูน สิ่งทอ
ผลิตผลทางการเกษตร ข้าวสาลี ข้าวโพด องุ่น ถั่ว มันสำปะหลัง ผลไม้ สัตว์ปีก ขนสัตว์ ปลา ไม้
สินค้าเข้า มูลค่าประมาณ 35.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรคมนาคม เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานพาหนะ ก๊าซธรรมชาติ
สินค้าออก มูลค่าประมาณ 58.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ทองแดง ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากปลา กระดาษ เคมีภัณฑ์ ไวน์ และผลิตภัณฑ์ไม้
ประเทศคู่ค้าสำคัญ
สินค้าเข้ามาจาก - อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน อังโกลา เยอรมนี เปรู เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
สินค้าออกไปสู่ - สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
ประมุขของรัฐและรัฐบาล ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ปัจจุบันคือ นางมิเชล บาเชเลท เฆเรีย (Michelle Bachelet Jeria) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2549 และมีวาระ 4 ปี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Alejandro Foxley (นายอเลฆานโดร ฟ็อกซ์เลย์)
ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภา (Congress) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) มีสมาชิก 120 คน วาระ 4 ปี เลือกตั้งทุก 4 ปี และวุฒิสภา (Senate) มีสมาชิก 38 คน วาระ 8 ปีเลือกตั้งทุก 4 ปี โดยสลับเลือกตั้งระหว่างเขตภูมิภาคเลขคี่ กับเขตภูมิภาคเลขคู่ซึ่งรวมเขต Metropolitan (กรุงซันติอาโก)
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ฉบับปี 2523 (แก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548)
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด 11 ธันวาคม 2548 โดยที่ตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2549
การเลือกตั้งครั้งต่อไป ธันวาคม 2552
พรรคการเมืองสำคัญ
- ปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสม เรียกว่า Concertación เป็นการรวมกลุ่มของพรรคการเมือง 4 พรรค ประกอบด้วย
(1) Christian Democrat Party PDC
(2) Radical Social Democrat PRSD
(3) Socialist Party PS
(4) Party For Democracy PPD
โดยมีแนวนโยบายซ้ายกลาง (center-left) ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนถึงปัจจุบัน โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบันมาจากพรรค PS
- กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน เรียกว่า Alianza por Chile ประกอบด้วย
(1) พรรค National Renovation RN
(2) พรรค Union Democratic Independence UDI
มีแนวนโยบายขวากลาง (center-right)
การเมืองการปกครอง
- ชิลีปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 ภูมิภาค ปกครองโดยผู้ว่าการภูมิภาค (Intendente) ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี แต่ละภูมิภาคประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 50 จังหวัดทั่วประเทศ ปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเช่นกัน นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดยังแบ่งออกเป็นอำเภอ (municipality) รวม 341 อำเภอ ปกครองโดยนายกเทศมนตรี (Alcalde) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี
- ชิลีมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2548 แต่โดยที่การเลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2549 ซึ่งนางมิเชล บาเชเลท เฆเรีย พรรค Socialist Party จากกลุ่มรัฐบาลผสมระหว่าง 4 พรรคการเมืองที่เรียกว่า Concertación ซึ่งมีแนวนโยบายซ้ายกลางสามารถเอาชนะคู่แข่งคนสำคัญ คือ นายเซบาสเตียน ปิเยรา (Mr.Sebastián Piñera) ผู้สมัครจากพรรค National Renovation จากกลุ่มพรรค ฝ่ายค้านที่เรียกว่า Alianza por Chile ซึ่งมีแนวนโยบายขวากลาง (center-right) ด้วยคะแนนเสียง ร้อยละ 53.49 ต่อ 46.50 ทำให้นางบาเชเลท ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ชิลี และได้เข้าพิธีรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2549
- ผลการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่ม Concertación ได้รับเสียงข้างมากในทั้งสองสภาของชิลี (65 จาก 120 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร และ 20 จาก 38 เสียงในวุฒิสภา) แม้ไม่มากพอสำหรับการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (constitutional laws) แต่ก็มากพอที่จะผ่านร่างกฎหมายที่ต้องการ simple majority เช่น กฎหมายเพิ่มภาษีหรือปฏิรูปตลาดแรงงาน และถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์การเมืองชิลีและเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิสตรีและบทบาททาง การเมืองสตรีของชิลี ซึ่งเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมมากที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องศาสนา และครอบครัว เนื่องจากนางบาเชเลทแยกกันอยู่กับสามีและประกาศตนเป็นผู้ไม่เคร่งศาสนา ซึ่งสวนทางกับค่านิยมดั้งเดิมของสังคมชิลี ทำให้นายปิเยราคู่แข่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีใช้เป็นประเด็นโจมตีนางบาเชเลทระหว่างการรณรงค์หาเสียง เมื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดี นางบาเชเลทให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมกันของเพศ โดยได้แต่งตั้งรัฐมนตรีเพศหญิงและชาย จำนวน 10 ราย เท่ากัน
- การที่นางบาเชเลทได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เป็นการยืนยันถึงแนวโน้มของการเมืองในชิลีและลาตินอเมริกาที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนและการว่างงานการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การกระจายรายได้ การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางสังคม การปฏิรูประบบการเมือง การศึกษา และการแก้ไขปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยขณะเดียวกันยังคงนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้า แต่เป็นไปในลักษณะที่ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการครอบงำจากอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศตะวันตกและมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ
- เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 ประธานาธิบดีบาเชเลทได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรี
3 กระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โดยเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของประธานาธิบดีบาเชเลท และนับได้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดแรกของประธานาธิบดีบาเชเลทเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีอายุสั้นที่สุด คือ 126 วัน นับตั้งแต่ที่ชิลีกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2533 การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการผลการสำรวจความนิยมของประชาชนที่มีต่อตัวประธานาธิบดีลดลงจากร้อยละ 54.5 ในเดือนพฤษภาคม 2549
เหลือร้อยละ 44.2 ในเดือนกรกฎาคม 2549 โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้คะแนนนิยมลดลงคือ เรื่องการประท้วงของนักเรียนมัธยมปลายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน 2549 อันนำไปสู่การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้มีการวิเคราะห์กันว่า น่าจะเนื่องมาจากผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การจราจลที่ปานปลายจากการประท้วงของนักเรียนได้ และเรื่องการรับมือกับเหตุภัยธรรมชาติน้ำท่วม รวมถึงหน้าที่สำคัญด้านการประสานงานกับฝ่ายการเมืองต่างๆ ของรัฐมนตรีมหาดไทยในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้การบริหารประเทศมีความราบรื่นก็ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ส่วนการเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ น่าจะเป็นผลมาจากการขาดผลงานตามเป้าหมายที่ ประธานาธิบดีบาเชเลทได้มอบหมายไว้ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของแผนการ
บริหารประเทศ
สถานการณ์ภายในล่าสุดของชิลี
ปธน. Bachelet ได้ปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 ได้แก่ รมว.
มหาดไทย รมว. เศรษฐกิจ และ รมว. ศึกษาธิการ นับได้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดแรกของ ปธน. Bachelet เป็นคณะรัฐมนตรี ที่มีอายุสั้นที่สุด คือ 126 วัน นับตั้งแต่ที่ชิลีกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2533 การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการผลการสำรวจความนิยมของประชาชนที่มีต่อตัวประธานาธิบดีลดลง โดยสาเหตุสำคัญคือ การประท้วงของนักเรียนมัธยมปลายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน 2549 ความล่าช้าในการรับมือกับเหตุภัยธรรมชาติน้ำท่วม ปัญหาการประสานงานกับฝ่ายการเมืองต่างๆ และนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของแผนการบริหารประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากการสำรวจคะแนนนิยมของประธานาธิบดีในช่วงเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกำหนดครบรอบ 1 ปีของการบริหารประเทศ พบว่าคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นจากประชาชนที่มีต่อ ปธน. Bachelet ลดลงมาก จนเกือบเท่าช่วงที่มีคะแนนนิยมต่ำสุดในเดือนกรกฎาคม ปี 2549 โดยปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดจากความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาการเมืองภายในของรัฐบาล ทั้งจากปัญหาระบบการขนส่งที่เรียกว่า Transantiago ซึ่งรัฐบาลขาดทุนไปกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ เหตุการณ์การจับกุมผู้ประท้วงจากกลุ่มฝ่ายซ้ายกว่า 500 คนในการชุมนุมเพื่อระลึกถึง Day of the Young Fighter การถูกกล่าวหาเรื่องการคอรัปชั่น เรื่องการจัดสรรเงินผิดพลาดใน Chiledeportes sports programme เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
เศรษฐกิจและสังคม
- แม้ว่าประธานาธิบดีบาเชเลทมาจากกลุ่มนิยมซ้าย แต่ในการรณรงค์การเลือกตั้งได้ย้ำว่าไม่ชื่นชอบแนวประชานิยม แต่ใช้แนวนโยบายการคลังที่ยั่งยืน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีลักษณะ business-friendly ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดเสรี (liberal economy policy) และการค้าเสรี ซึ่งเป็นแนวทางต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน (ปัจจุบันชิลีมีอัตราภาษีศุลกากรต่ำที่สุดในลาตินอเมริกา คือ ประมาณร้อยละ 6)
- ชิลีเป็นประเทศที่มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ
รวมแล้ว 54 ฉบับ โดยได้ลงนาม FTA กับแคนาดา เม็กซิโก อเมริกากลาง สหภาพยุโรป EFTA เกาหลีใต้ สหรัฐฯ จีน (ชิลีเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่จีนทำ FTA ด้วย) เกาหลีใต้ (เป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่ชิลีทำ FTA) และญี่ปุ่น (ชิลีเป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่ญี่ปุ่นทำ FTA) และได้จัดทำความตกลง Closer Economic Partnership (CEP) แบบสี่ฝ่ายกับสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และบรูไน ขณะนี้อยู่ในระหว่างเจรจาจัดทำ FTA กับเปรู เอกวาดอร์ ปานามา มาเลเซีย เวียดนาม รวมทั้งจัดทำ Preferential Trade Agreement เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำ FTA กับอินเดีย นอกจากนั้น ชิลีได้เสร็จสิ้นการจัดทำ feasibility study เพื่อจัดทำ FTA ร่วมกับไทยแล้ว และพร้อมเริ่มการเจรจา ล่าสุดในปี 2550 ชิลีประกาศเริ่มการเจรจา FTA กับออสเตรเลีย และยังมีโครงการที่จะทำ FTA กับอินโดนีเซียในอนาคตอันใกล้ด้วย
- ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในตลาดท้องถิ่นมากขึ้น มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพของระบบการ ศึกษา การเพิ่มโอกาสการทำงานแก่แรงงานสตรีและแรงงานที่มีอายุน้อย การกระตุ้นนวัตกรรม และการปฏิรูปสังคมและระบบบำนาญ แม้ว่าประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกามีวัตถุดิบที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศ เช่น โบลิเวีย (ก๊าซ) เวเนซุเอลา (น้ำมัน) เอกวาดอร์ (น้ำมัน) แต่ชิลีเป็นประเทศในลาตินอเมริกาประเทศเดียวที่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากราคาวัตถุดิบของชาติ (ทองแดง) นำมาแปลงให้เป็นรายได้แผ่นดินได้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชิลีเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพิงแต่การส่งออกวัตถุดิบหลักของประเทศเหล่านี้อาจจะประสบปัญหาอย่างจริงจังในทันทีที่ราคาวัตถุดิบตกลง
- ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการสร้างงานให้กับประชาชน และดำเนินมาตรการเพื่อเปิดตลาดและส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุน โดยได้ปรับกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และการที่ชิลีมีระบบเศรษฐกิจเปิดและมีความเป็นสากลมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีนโยบายการค้าเสรีและส่งเสริมการลงทุน ปรับกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ไม่มีข้อห้ามในการนำเข้าสินค้าและบริการ ปัญหาการถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้ามีน้อย ทำให้ชิลีเป็นประเทศที่มีพลวัตรการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงที่สุดในลาตินอเมริกา
- ชิลีเป็นประเทศที่มีพลวัตรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงที่สุดในลาตินอเมริกา สังเกตได้จากผลการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ อาทิ
------ การจัดอันดับความโปร่งใสของ International Transparency ประจำปี 2549 ชิลีจัดเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมาก (มีคอรัปชั่นน้อย) เป็นอันดับที่ 20 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของลาตินอเมริกา
------ รายงานการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความน่าลงทุน (FDI) ของนิตยสาร Forbes (Calpital Hospitality Index) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ชิลีจัดอยู่ในอันดับที่ 20 ของจำนวนประเทศทั้งหมด 135 ประเทศ และจัดเป็นประเทศที่มีความน่าลงทุน (FDI) มากที่สุดในลาตินอเมริกา
------ รายงาน Doing Business 2007 ของ World Bank ชิลีจัดเป็นประเทศที่มี facilities ในการทำธุรกิจมากเป็นอันดับที่ 28 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของลาตินอเมริกา
------ เป็น Safest Emerging Market เป็นอันดับที่ 2 องจากสิงคโปร์ (อันดับหนึ่งของลาตินอเมริกา) จากการจัดอันดับของ DekaBank ของเยอรมนี และเป็นอันดับที่ 6 (อันดับหนึ่งของลาตินอเมริกา) จากการจัดอันดับของ Business Monitor International (BMI) ประจำปี 2549
------ การจัดอันดับ Economic Freedom ของ The Heritage Foundation เมื่อเดือนมกราคม 2550 ชิลีจัดเป็นประเทศ มีเศรษฐกิจเสรีมากที่สุด อันดับที่ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของทวีปอเมริกาซึ่งมีทั้งหมด 29 ประเทศ
------ Santander Investment ชิลีเป็นประเทศที่มีความน่าลงทุนเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคลาตินอเมริกาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 รองจากบราซิลและเม็กซิโก
------- บริษัท Management & Excellence (Spain-based research and rating company) ได้จัดอันดับให้ชิลีเป็น The Most Sustainable Nation in Latin America โดยพิจารณาจากสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การเมืองและสิ่งแวดล้อม อันดับที่สอง คือ อาร์เจนตินา อันดับที่สาม คือ เม็กซิโก
------ Global Competitiveness Index 2006 ของ World Economic Forum ชิลีจัดอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก และเป็นอันดับที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา (คอสตาริกาอยู่อันดับที่ 53 ปานามาอยู่อันดับที่ 57 เม็กซิโกอยู่อันดับที่ 58 เอลซาวาดอร์อยู่อันดับที่ 61 โคลอมเบียอยู่อันดับที่ 65บราซิลอยู่อันดับที่ 66 อาร์เจนตินาอยู่อันดับที่ 69 อุรุกวัยอยู่อันดับที่ 73 เปรูอยู่อันดับที่ 74) ในขณะที่
ไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ของโลก
------- Country Risk Ranking ประจำปี 2548 โดย Economist Intelligence Unit ชิลีจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในลาตินอเมริกา
นโยบายต่างประเทศ
- ยังคงดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ลดความหวาดระแวง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยเฉพาะกับอาร์เจนตินา (คู่ค้าอันดับสองรองจากสหรัฐฯ และป็นประเทศที่ชิลีต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจมากที่สุดในลาตินอเมริกา เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานนำเข้าสำคัญที่สุดของชิลี นอกจากนี้ ชิลียังมีการลงทุนจำนวนมากในอาร์เจนตินา) บราซิล (คู่ค้าอันดับสาม) อุรุกวัย และปารากวัย ซึ่งประธานาธิบดีบาเชเลทได้เดินทางเยือนเป็นกลุ่มประเทศแรกภายหลังรับตำแหน่ง
- ชิลีคงจะยังให้ความสำคัญต่อภูมิภาคยุโรปและเอเชียตะวันออกอย่างต่อเนื่อง เพราะมีชาวยุโรป อาทิ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ตั้งรกรากในชิลีตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากเป็นจุดแวะพักและสถานีการค้าก่อนที่จะมีคลองปานามา นอกจากนี้ ชิลียังเป็นแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของยุโรป เช่น ทองแดง อาหารทะเลและขนสัตว์
- ชิลีให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ชิลีเข้าร่วมในกิจกรรมของเอเปคตั้งแต่ปี 2536 และเป็นสมาชิกสมบูรณ์ในปี 2537 โดยชิลีเป็น 1 ใน 3 ประเทศในลาตินอเมริกานอกเหนือจากเปรูและเม็กซิโกที่เป็นสมาชิกเอเปค ทั้งนี้ นับตั้งแต่ชิลีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2004 รัฐบาลชิลีได้หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับที่สองและสามของชิลีตามลำดับ ในการนี้ รัฐบาลชิลีได้จัดทำ ASIA PLAN 2005 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทของชิลีในภูมิภาคเอเชียให้ชัดเจนโดดเด่นยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้ชิลีเป็น platform ทางด้านการค้าการลงทุนของภูมิภาคลาตินอเมริกาและเป็นประตูเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกา
- ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการเยือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียทั้งระดับประธานาธิบดีและระดับรัฐมนตรี สำหรับประเทศไทยนายอิกนาซิโอ วอล์คเกร์ (Mr.Ignacio Walker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชิลีในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีริการ์โด ลากอส (Mr. Ricardo Lagos) ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 19-21 มกราคม 2549 นอกจากนั้น ประธานาธิบดีบาเชเลทได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 14 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่เวียดนาม และได้เยือนเวียดนาม และนิวซีแลนด์ โดยประธานาธิบดีบาเชเลท และประธานาธิบดีเวียดนามได้ร่วมกันลงนามแสดงเจตจำนงที่จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ระหว่างกัน
บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ
- ชิลีเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี 2546-2547 และได้คัดค้านการใช้กำลังทางทหารและการบุกรุกอิรักของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งทำให้ชิลีได้รับแรงกดดันและการตอบโต้จากสหรัฐฯ และทำให้การลงนามความตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ - ชิลีต้องล่าช้ากว่ากำหนด นอกจากนี้ ชิลีเห็นว่า ควรจะมีข้อมติใหม่เพื่อให้สหประชาชาติเป็นองค์กรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในอิรัก ทั้งนี้ ชิลียังไม่ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือใดๆ ในการฟื้นฟูอิรักหลังสงคราม
- ชิลีให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในลาตินอเมริกาทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และการรวมกลุ่ม การกำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งการผลักดันให้องค์กรระดับภูมิภาคของลาตินอเมริกามีความแข็งแรง อาทิ องค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States, OAS) โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 นายโฆเซ่ มิเกล อินซูลซา (Mr.José Miguel Insulza) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของชิลี ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ OAS และกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) เป็นต้น
- ชิลีส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ร่วมกับ
สิงคโปร์เป็นแกนนำในการจัดตั้งเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia Latin America Cooperation: FEALAC) เมื่อปี 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเวทีหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา
- นอกจากนี้ ในกรอบพหุภาคีทางเศรษฐกิจ นายอเลฆานโดร ฆารา (Mr. Alejandro Jara) อดีตเอกอัครราชทูตชิลีประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และประธานกลุ่มเจรจาการค้าบริการของ WTO ได้เข้ารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการใหญ่ WTO อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐชิลี |
ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ชิลี
ไทยและชิลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2505 และครอบรบ 45 ปี ในปี 2550 โดยชิลีเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2524 และไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เมื่อเดือนเมษายน 2537 โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโกปัจจุบัน คือ นางสาววิมล คิดชอบ ส่วนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย คนปัจจุบัน คือ นายโคอากีน มอนเตส (Mr. Joaquin Montes) เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2549 และได้ถวายอักษรสาส์นตราตั้งฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 นอกจากนี้ ไทยได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เมือง Concepción เมื่อเดือนธันวาคม 2545
ไทยและชิลีมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ระดับความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างกันในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า สังคม และวิชาการยังจำกัด ซึ่งรัฐบาลพยายามหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อขยายความสัมพันธ์กับชิลีทั้งในระดับรัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้นในกรอบพหุภาคี ไทยและชิลียังมีความร่วมมือกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหประชาชาติ เอเปค และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia Latin America Cooperation, FEALAC)
ไทยและชิลีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันหลายครั้งทั้งในระดับพระราชวงศ์ หัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรี โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนชิลีอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนตุลาคม 2539 และเสด็จฯ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อปี 2541 ล่าสุด พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมอัยการระหว่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 1 เมษายน 2550 สำหรับการเยือนไทยจากฝ่ายชิลี ประธานาธิบดีชิลีเยือนไทยเพื่อร่วมประชุมเอเปคเมื่อปี 2546
ล่าสุดในปี 2549 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับรัฐมนตรี 2 ครั้ง คือ การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนาย Ignacio Walker Prieto รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) เมื่อเดือนมกราคม 2549 และการเยือนชิลีของนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของชิลี เมื่อเดือนมีนาคม 2549
ไทยและชิลีได้ลงนามความตกลงทวิภาคีระหว่างกันหลายฉบับ และอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ระหว่างกัน ซึ่งผลการศึกษาปรากฏว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะมีมากขึ้นหากมีการจัดทำ FTA โดยไทยจะส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสินค้าที่ไทยเคยส่งออก 120 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมยานพาหนะ อะไหล่ เครื่องจักร เครื่องยนต์ ยางพารา ปลาทูน่า และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่สินค้าที่ไทยยังไม่เคยส่งออกหรือส่งออกน้อยจะมีโอกาสส่งออก 80 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ข้าว สับปะรดกระป๋อง สิ่งทอ/เสื้อผ้า นอกจากนี้ การลงนามความตกลงด้านวัฒนธรรม เมื่อปี 2549 ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้สองฝ่ายรู้จักกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยได้ส่งภาพยนต์เรื่อง My Girl (แฟนฉัน) เข้าร่วมในงานเทศกาลภาพยนต์นานาชาติ Valdivia International Film Festival ครั้งที่ 13 ระหว่าง 25-30 สิงหาคม 2549 ที่ชิลี ซึ่งมีภาพยนต์เข้าร่วมจากประเทศต่าง เช่น ชิลี อาร์เจนตินา บราซิล คิวบา เวเนซุเอลา โบลิเวีย เบลเยียม เยอรมนี ฟินแลนด์ อิหร่านและไทย ทั้งนี้ ภาพยนต์ My Girl เป็นภาพยนต์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับเลือกจากผู้จัดงานเข้าร่วมงานครั้งนี้ และพบว่ามีผู้ชมชาวชิลีชื่นชอบภาพยนต์ดังกล่าวมาก
ชิลีเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยในปี 2549 การค้ารวมระหว่างไทยและชิลีมีมูลค่าทั้งสิ้น 493.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 74.18 โดยไทยส่งออกไปชิลีเป็นมูลค่า 262.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 113.50 และนำเข้าจากชิลีเป็นมูลค่า 230.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.03 ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 32.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
----------------------
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 20 สิงหาคม 2550
เรียบเรียงโดย องลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 02 6435000 ต่อ 3013, 3014, 3016 หรือ 0-2643-5114 Fax. 0-2643-5115
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|