|
แผนที่
|
เขตบริหารพิเศษมาเก๊า Macau Special Administrative Region
|
|
ที่ตั้ง
อยู่ทางใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ห่างจากนครกวางโจวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 145 กิโลเมตร และห่างจากฮ่องกงไปทางทิศตะวันตก 60 กิโลเมตร
พื้นที่
28.2 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยคาบสมุทรมาเก๊า เกาะ Taipa และเกาะ Coloane และมีคอคอดยาว 2 กิโลเมตรเชื่อมระหว่างสองเกาะ
วันชาติ
วันที่ 1 ตุลาคม (เนื่องจากมาเก๊าเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงนับวันก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นวันชาติ เช่นเดียวกัน) ส่วนวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่โปรตุเกสส่งมอบมาเก๊าแก่จีนนั้น ถือเป็นวันก่อตั้งเขตบริหารพิเศษมาเก๊า (Macau Special Administrative Region Establishment Day)
ประชากร
ประมาณ 488,144 คน (ต.ค. 2549)
ร้อยละ 95 เป็นคนจีนฮั่น ร้อยละ 3 เป็นคนโปรตุเกส และเป็นชนชาติอื่นๆ อีก ร้อยละ 2
ร้อยละ 63.1 อยู่ในช่วงวัยทำงาน
อัตราการเติบโตของประชากร
ร้อยละ 4 ต่อปี (2547)
ภาษาราชการ
ภาษาจีนและภาษาโปรตุเกส
ในส่วนของภาษาพูดชาวมาเก๊าร้อยละ 96.1 พูดภาษาจีนกวางตุ้ง ร้อยละ 1.8 พูดภาษาโปรตุเกส และอีกร้อยละ 2.1 พูดภาษาอื่นๆ ปัจจุบัน มีการใช้ภาษาจีนกลาง (Putong hua) มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในด้านการค้า ส่วนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้อย่างกว้างขวางในธุรกิจท่องเที่ยว
ศาสนา
ประชาชนร้อยละ 45.8 ไม่นับถือศาสนาใดๆ ร้อยละ 45 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 9.2 นับถือศาสนาอื่น ได้แก่ ศาสนาคริสต์ อิสลามและฮินดู
ภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบกึ่งเขตร้อน อากาศร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 25 C ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 14 C ระหว่างเดือน มิถุนายน-กันยายน อุณหภูมิสูงกว่า 30 C
ภัยธรรมชาติ
พายุฝนเขตร้อนซึ่งเคลื่อนตัวจากทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค ในช่วงฤดูร้อน
เงินตรา
Macau pataca (MOP) (1 pataca เท่ากับ 4.97950 บาท/ 8 มิ.ย. 2549)โดยตรึงค่าเงินกับเงินสกุลดอลลาร์ฮ่องกง
GDP
12,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)
รายได้เฉลี่ยต่อหัว
25,391ดอลลาร์สหรัฐ (2548)
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ 6.7 (2548)
inflation rate
ร้อยละ 4.4 (2548)
อัตราการว่างงาน
ร้อยละ 4.1 (พ.ค. 2549)
ประวัติศาสตร์
มาเก๊าเริ่มมีความสำคัญในช่วงเวลาที่มหาอำนาจยุโรปเริ่มขยายอำนาจทั้งทางการเมืองและการค้าเข้ามายังเอเชีย โดยเฉพาะโปรตุเกสได้เริ่มสำรวจเส้นทางการค้าเข้ามาในเขตเอเชียและได้ทำการค้ากับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี บรรดาพ่อค้าและนักเดินเรือชาวโปรตุเกส ได้เดินทางไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่มาเก๊าเป็นจำนวนมาก ทำให้ต่อมามาเก๊ากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างโปรตุเกสกับจีน โดยเฉพาะนครกวางโจว และระหว่างโปรตุเกสกับญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงแรกโปรตุเกสได้ทำสัญญาเช่ามาเก๊าจากจีน ต่อมาโปรตุเกสประกาศให้มาเก๊าเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตต่างแดนของโปรตุเกส (Overseas province of Portugal) และถือว่ามาเก๊าเป็นดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกส โดยเป็นการประกาศโดยที่จีนไม่ได้ตอบรับอย่างเป็นทางการ
พ.ศ. 2430
จีนยกดินแดนมาเก๊าให้แก่โปรตุเกสอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นการตอบแทนที่โปรตุเกสช่วยจีนปราบปรามโจรสลัดในเขตทะเลจีนใต้
พ.ศ. 2517
รัฐบาลโปรตุเกสได้ให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมของตนทั้งหมด ในการนี้ โปรตุเกสแสดงเจตจำนงแน่วแน่ที่จะคืนดินแดนมาเก๊าให้แก่จีน และประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่าจีนมีอธิปไตยเหนือมาเก๊า อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าว จีนมีภารกิจในการเจรจาเรื่องการส่งมอบฮ่องกง จึงไม่ได้เข้ามาจัดการเรื่องปัญหามาเก๊า โปรตุเกสจึงประกาศรับรองสถานะของมาเก๊าเพียงฝ่ายเดียว
พ.ศ. 2522
จีนและโปรตุเกสได้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูต จีนได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า ดินแดนมาเก๊าเป็นดินแดนของจีนภายใต้การบริหารของโปรตุเกส
พ.ศ. 2530
จีนและโปรตุเกสลงนามในแถลงการณ์ร่วม (Sino-Portuguese Joint Declaration) โดยกำหนดให้ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นวันส่งมอบมาเก๊าคืนแก่จีน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้ระบบ หนึ่งประเทศสองระบบ (one country, two systems) โดยมาเก๊ามีสถานะเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน
นายจ้าว จื่อหยาง ตัวแทนฝ่ายจีน และนาย Cavaco Silva นายกรัฐมนตรีโปรตุเกส ตัวแทนฝ่ายโปรตุเกส ร่วมลงนาม ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง โดยมีประธานาธิบดี หลี เซียนเนียน และนายเติ้ง เสี่ยวผิง เข้าร่วมพิธี
ระบบการเมืองการปกครอง
มาเก๊ามีฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน (Special Administrative Region: SAR) ภายใต้ระบบการปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ โดยมีรัฐธรรมนูญ หรือ Basic Law เป็นกฎหมายแม่บทของมาเก๊า สาระสำคัญของ Basic Law คือ ให้มาเก๊ามีอิสระในการปกครองตนเองในระดับสูง (high degree of autonomy) ยกเว้นด้านการทหารและการต่างประเทศ สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ ได้ และเป็นเขตศุลกากรอิสระ (separate customs area) กล่าวได้ว่า มีอิสระในการจัดการกิจการภายใน ทั้งการบริหาร การศาล ด้านกฎหมาย และเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลา 50 ปี (สิ้นสุดปี พ.ศ. 2592) โดยที่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
กลไกการบริหาร
ฝ่ายบริหาร
- Chief Executive (ผู้บริหารสูงสุดมาเก๊า) เป็นผู้นำรัฐบาล และผู้บริหารสูงสุดของมาเก๊า ได้รับเลือกจาก Election Committee จำนวน 200 คน และได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลจีน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน ผู้บริหารสูงสุดคนปัจจุบัน คือ นาย Edmund Ho Hau wah (เข้าดำรงตำแหน่งวาระแรกเมื่อปี 2542 และวาระที่ 2 เมื่อปี 2547)
- Executive Council ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้บริหารสูงสุด เป็นสภาที่ปรึกษาของผู้บริหารสูงสุดในการกำหนดนโยบาย ประกอบด้วยสมาชิก 10 คน เป็นเลขาธิการของรัฐบาลจำนวน 5 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติ 3 คน และนักธุรกิจ 2 คน
ฝ่ายนิติบัญญัติ
- Legislative Council: LEGCO (สภานิติบัญญัติ) ประกอบด้วยสมาชิก 27 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 10 คน ผู้แทนจากสาขาอาชีพต่างๆ 10 คน ผู้แทนจากการแต่งตั้งของผู้บริหารสูงสุด 7 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีหน้าที่ออกกฎหมาย ควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารงานของรัฐบาล การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจัดขึ้นในปี 2548
ฝ่ายตุลาการ
- ตามคำแถลงการณ์ร่วมของจีนและโปรตุเกส ปี พ.ศ. 2530 จีนและโปรตุเกสยอมรับการมีอธิปไตยทางการศาลของมาเก๊า ศาลในมาเก๊า ประกอบด้วย Court of First Instance, Court of Second Instance และ Court of Final Appeal
ระบบเศรษฐกิจ
มาเก๊ามีระบบเศรษฐกิจแบบเสรี เนื่องจากมาเก๊าไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและขาดแคลนที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก รายได้หลักของมาเก๊ามาจากการผลิตเพื่อส่งออก การท่องเที่ยวและธุรกิจการพนัน ปีงบประมาณของมาเก๊าเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม
สินค้าส่งออกที่สำคัญของมาเก๊า ได้แก่ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเล่น สินค้านำเข้า ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เชื้อเพลิง วัตถุดิบ และสินค้ากึ่งวัตถุดิบสำหรับการผลิต
นโยบายด้านการท่องเที่ยวของมาเก๊า
1. พัฒนาสถานที่ที่เป็นมรดกเชิงวัฒนธรรมหรืออาคารสถานที่ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนและโปรตุเกส โดยรัฐบาลมาเก๊าได้ยื่นเรื่องต่อ UNESCO เพื่อขอให้อาคารหลายแห่งในมาเก๊าได้รับการยอมรับเป็นมรดกโลก
2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น ท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ (Macau Museum, Maritime Museum, Macau Museum of Art, Grand Prix Museum และ Wine Museum)
3. ส่งเสริมการเป็น gastronomic cities โดยส่งเสริมให้มาเก๊าเป็นแหล่งพักผ่อนและรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารของมาเก๊า อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าว รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมาเก๊าส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยดังเห็นได้จากการที่ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มีปริมาณร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้นเป็น 40 ร้าน (จากจำนวน 10 ร้านในปี 2545)
4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา (Ecotourism) เช่นการเดินชมป่า การจัดโปรแกรมสำหรับเด็ก เช่น การเยี่ยมชม Music farm
5. ส่งเสริมสถานะการเป็นสถานที่จัดงานประชุมและงานแสดงนานาชาติ รวมทั้งเป็นเจ้าภาพงานแข่งขันและการประชุมที่สำคัญ เช่น ในปี 2548 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2005 PATA Annual Conference (17-21 เม.ย.) 4th East Asian Games (29 ต.ค.-6 พ.ย.) และเป็นเจ้าภาพการประชุม 2nd Asian Indoor Game ในปี 2550
ข้อมูลการค้าไทย-มาเก๊า
แม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทย-มาเก๊าจะไม่สูงนัก แต่ก็มีการค้าขายกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไทยได้เปรียบดุลการค้ามาเก๊า ปี 2549 การค้ารวมระหว่างไทยและมาเก๊ามีมูลค่า10,700,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสินค้าส่งออกจากไทย 7,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากมาเก๊า 3,200,00 ดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้ามาเก๊า 4,400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกและนำเข้า
สินค้าส่งออกของไทย
ข้าว เส้นใยใช้ในการทอ งานเย็บปักถักร้อย อุปกรณ์เสื้อผ้าและสิ่งทอ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ
สินค้านำเข้าจากมาเก๊า
ผลิตภัณฑ์สำหรับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายทอผ้าและด้านเส้นเล็ก หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ สายไฟและฉนวนไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสตรีและเด็ก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขตบริหารพิเศษมาเก๊า |
ความสัมพันธ์ไทย-มาเก๊า
การเยือน
- ในพิธีส่งมอบมาเก๊าคืนแก่จีน ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม พ.ศ. 2542 รัฐบาลจีนและโปรตุเกสกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมเป็นแขกเกียรติยศในพิธี โดยมี นายสุรินทร์พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและภรรยา ร่วมเป็นเกียรติในงาน
- นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนมาเก๊าเพื่อร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา และเข้าพบหารือกับนาย Edmund Ho ผู้บริหารสูงสุดมาเก๊า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
- ระหว่างวันที่ 8 - 10 เมษายน 2550 นาย Edmund Ho ผู้บริหารสูงสุดมาเก๊าพร้อมคณะได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยระหว่างการเยือนนาย Edmund Ho ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการ0กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณชย์ ซึ่งทั้งฝ่ายไทย และมาเก๊าเห็นว่าไทย มาเก๊ามีศักยภาพในการพัฒนาระดับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอีกมาก
ความตกลง
- Air Service Agreement (ลงนามเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2538)
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราไทย-มาเก๊า (The Agreement on Exemption of Visa Requirement) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนฝ่ายไทย และนาง Florinda Da Rosa Silva Chan, Secretary ด้านการบริหารและยุติธรรม ตัวแทนฝ่ายมาเก๊า ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราไทย-มาเก๊า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากวันลงนาม 60 วัน (วันที่ 15 มกราคม 2546)
ชุมชนไทยในมาเก๊า
- แรงงานไทย
คนไทยในมาเก๊ามีประมาณ 1,500 คน ส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยู่ในย่านชุมชนไทย
ที่เรียกว่า Thai Town และจำนวนแรงงานไทย 575 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในร้านอาหารไทย คาสิโน ไนท์คลับ โรงแรม และประกอบธุรกิจส่วนตัว
- นโยบายแรงงาน
ทางการมาเก๊าให้ความสำคัญกับแรงงานท้องถิ่นมาก และพยายามที่จะลดอัตราการว่างงาน ดังนั้นจึงอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานได้เฉพาะบางสาขาอาชีพซึ่งแรงงานท้องถิ่นไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานได้ ทั้งนี้ นายจ้างจะเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อ Economic Department ซึ่งรับผิดชอบด้านแรงงานของมาเก๊า เพื่อขออนุญาตว่าจ้างแรงงานต่างชาติ และติดต่อกรมตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินขั้นตอนการขอบัตรทำงานต่อไป
- สาขาอาชีพ
สาขาอาชีพที่ชาวต่างชาติได้รับการว่าจ้างประกอบด้วย พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร พนักงานคิดเงิน พนักงานทำความสะอาด พ่อครัว พนักงานในสถานบันเทิงทำงานกลางคืน ลักษณะการจัดหาพนักงาน จะเป็นในลักษณะผู้ที่ทำงานอยู่ก่อนแนะนำคนรู้จักหรือเพื่อนให้มาทำงานที่เดียวกัน
กองเอเชียตะวันออก 3
25 มกราคม 2550
เรียบเรียงโดย กองเอเชียตะวันออก 3 กรมเอเชียตะวันออก โทร. 0-2643-5203-4Fax. 0-2643-5205 E-mail : eastasian04@mfa.go.th
|
|