|
|
|
|
|
|
|
|
|
แผนที่
|
สาธารณรัฐโครเอเชีย Republic of Croatia
|
|
สาธารณรัฐโครเอเชีย
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง อยู่ระหว่างยุโรปกลางและเมดิเตอร์เรเนียน บริเวณริมฝั่งตะวันออกของทะเลเอเดรียติก
พื้นที่ ๕๖,๕๔๒ ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงซาเกรบ (Zagreb)
ประชากร ๔.๔ ล้านคน (ปี ๒๕๔๙) ประกอบด้วยชาวโครอัท (๘๙.๖%) ชาวเซิร์บ (๔.๕๔%) และอื่นๆ ได้แก่ ชาวบอสเนีย ฮังกาเรียน สโลวีน เช็ก (๕.๙%)
ภูมิอากาศ แบบเมดิเตอร์เรเนียนแถบชายฝั่งทะเลเอเดรียติกและ
ภูมิอากาศแบบเทือกเขาบริเวณตอนกลางของประเทศอุณหภูมิโดยเฉลี่ย ๑๔-๒๗ องศาเซลเซียส
ภาษา โครเอเชียนเป็นภาษาราชการ ภาษาอื่นๆ ที่ใช้พูดกันโดยชนกลุ่มน้อยได้แก่ เซอร์เบียน ฮังกาเรียน อิตาเลียน เยอรมัน อังกฤษ
ศาสนา โรมันคาทอลิก ๘๗.๘% ออโธด็อกซ์ ๔.๔% มุสลิม ๑๒%
หน่วยเงินตรา คูน่า (Kuna) อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ ๐.๑๘ คูน่า
เท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๔๒.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๔๙)
รายได้ประชาชาติต่อหัว ๙,๕๘๒ ดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๔๙)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๔.๖ (๒๕๔๙)
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว เรียกว่า Sabor มีสมาชิก ๑๕๒ คน ประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
และเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐบาล มีวาระ ๕ ปี รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาล
ผสมเสียงข้างมาก ระหว่างพรรค Croatia Democratic Union และ
พรรค Democratic Centre มี ๙๑ เสียง จากทั้งหมด ๑๕๒ เสียง
การเมืองการปกครอง
๑.๑ โครเอเชียเดิมเป็นหนึ่งในหกสาธารณรัฐ ซึ่งประกอบขึ้นเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia หรือ SFRY) อยู่ภายใต้การนำของจอมพลติโต ชาวโครอัท ซึ่งสามารถควบคุมสถานการณ์ความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติไว้ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลติโตในปี ๒๕๒๓ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของสาธารณรัฐต่างๆ ในยูโกสลาเวียเริ่มมีความรุนแรงขึ้น โครเอเชียจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๓๓ โดยประธานาธิบดี Franjo Tudjman ได้รับเลือกตั้ง และต่อมาได้ประกาศเอกราชจาก SFYR ซึ่งทำให้เกิดการสู้รบระหว่างโครเอเชียกับชาวเซิร์บในโครเอเชียซึ่งมียูโกสลาเวียหนุนหลัง และยุติลงเมื่อผู้นำโครเอเชีย เซอร์เบีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน (Dayton Peace Accord) เมื่อปี ๒๕๓๘
๑.๒ ภายหลังการอสัญกรรมของประธานาธิบดี Tudjman ในปี ๒๕๔๒ นาย Stjepan Mesic ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำเสรีนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ ทำให้โครเอเชียพัฒนา ไปอย่างมาก โดยได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายและนโยบาย จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้เพื่อผนวกดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา ซึ่งมีชาวโครอัทอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นการให้ความสำคัญกับการยุติความขัดแย้งกับบอสเนียฯ การปรับความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปตะวันตก และการเข้าเป็นสมาชิก
สหภาพยุโรป ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๘ ประธานาธิบดี Stjepan Mesic ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี สมัยที่ ๒ และจะดำรงตำแหน่งจนถึงปี ๒๕๕๓
๑.๓ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ โครเอเชียได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ ๔ นับแต่โครเอเชียได้รับเอกราชแยกจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย พรรค Croatian Democratic Union (HDZ) ซึ่งได้ที่นั่งสูงสุด ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคต่างๆ และต่อมาในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ ประธานาธิบดี Stjepan Mesic โดยความเห็นชอบของรัฐสภา ได้ประกาศแต่งตั้งนาย Ivo Sanader เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำเนินนโยบายสายกลาง ค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม ส่งเสริมการมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา และมุ่งให้โครเอเชียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)
นโยบายต่างประเทศ
จุดมุ่งหมายของนโยบายต่างประเทศของโครเอเชียให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ดังนี้
๑. การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) รัฐบาลโครเอเชียเห็นว่า การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเป็นหัวใจสำคัญของสันติภาพที่มั่นคง เสรีภาพที่เป็นประชาธิปไตย และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในยุคโลกาภิวัตน์ ทางที่ดีที่สุดที่ประเทศเล็กๆ อย่างโครเอเชียจะพัฒนา และดำรงความเจริญรุ่งเรืองไว้ได้โดยการรักษาผลประโยชน์ของชาติ คือการเข้าเป็นสมาชิก EU นอกจากนี้ เรื่องความมั่นคงเป็นประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ การเข้าเป็นสมาชิก NATO เป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะปกป้องความปลอดภัยของประเทศ
อนึ่ง บรรยากาศทางการเมืองของโครเอเชียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นับตั้งแต่ประธานาธิบดี Stjepan Mesic ได้เข้าดำรงตำแหน่ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโครเอเชียและ EU ใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยลำดับ โดย EU ได้ให้การสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างและเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมประชาธิปไตย และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและผู้เชี่ยวชาญแก่โครเอเชีย เพื่อยกมาตรฐานและเตรียมความพร้อมในการ เข้าเป็นสมาชิก EU ของโครเอเชีย อย่างไรก็ตาม ล่าสุด EU พยายามผลักดันให้โครเอเชียมอบตัวอาชญากรสงครามให้ศาลระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ก่อนจะเดินหน้าในการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก EU
๒ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโครเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐบาลโครเอเชียจะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ให้ความเคารพต่ออธิปไตย เสรีภาพ ดินแดน และความเท่าเทียมซึ่งกันและกัน โดยแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาทางการเมืองตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โครเอเชียมีอาณาเขตติดต่อกับฮังการี บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา สาธารณรัฐเซอร์เบีย และสโลวีเนีย และมีปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา และสาธารณรัฐเซอร์เบีย รวมทั้งความขัดแย้งเหนือน่านน้ำกับสโลวีเนีย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ความตึงเครียดดังกล่าวได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลโครเอเชียได้ดำเนินนโยบายเข้มงวดในการควบคุมการใช้น่านน้ำของโครเอเชียเหนือทะเลเอเดรียติก
๓ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งด้านทวิภาคีและพหุภาคี
รัฐบาลโครเอเชียต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองกับทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในโลกบนพื้นฐานของหลักการความเป็นอธิปไตยและความเท่าเทียมกัน สำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี โครเอเชียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศของโครเอเชีย และจะส่งเสริมบทบาทของประเทศในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ EU องค์การ NATO สหประชาชาติ
๔ การส่งเสริมเศรษฐกิจของโครเอเชีย
รัฐบาลโครเอเชียมีแผนที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เศรษฐกิจและสังคม
๒.๑ ในบรรดาสาธารณรัฐที่อยู่ภายใต้สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย โครเอเชียมีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นรองเพียงสโลวีเนีย เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย รายได้ส่วนใหญ่ของโครเอเชียมาจากการท่องเที่ยว เนื่องจากภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลเอเดรียติกและมีหมู่เกาะที่สวยงาม ทำให้ในปัจจุบัน โครเอเชียจึงยังคงสภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียส่วนใหญ่ นอกจากสโลวีเนีย ไว้ได้
๒.๒ สำหรับนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้แก่ การปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้ประกาศนโยบายที่มุ่งสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค รักษาเสถียรภาพของค่าเงินสกุลคูน่า (Kuna) คงระดับอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้มาตรการดึงดูดคู่ค้าและนักลงทุนมากขึ้น รวมถึงการเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
๒.๓ นอกจากนี้ รัฐบาลโครเอเชียยังมีโครงการสนับสนุนการลงทุนด้านท่าเรือ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว เนื่องจากเห็นว่า การลงทุนด้านนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโครเอเชีย ช่วยให้เกิดการขนส่ง การก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และธุรกิจบริการเกี่ยวกับบริษัทขนส่งสินค้าต่างๆ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนเงินกู้จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างถนนเชื่อมโยงกับเส้นทางของฮังการี ปรับปรุงทางรถไฟและสาธารณูปโภคอื่นๆ ทั้งนี้ โครเอเชีย
มีชายฝั่งทะเลที่ยาวกว่า ๕,๐๐๐ กิโลเมตร และเต็มไปด้วยเกาะแก่งต่างๆ ถึง ๑,๑๘๕ เกาะ จึงมีความจำเป็นต้องจัดการคมนาคมขนส่งทางน้ำเพื่อเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมทั้งดูแลชายฝั่งทะเลซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และการก่อสร้างถนนหนทางภาคพื้นดินภายในประเทศเพื่อรองรับการคมนาคมทางน้ำ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโครเอเชีย |
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและโครเอเชียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๕ ซึ่งในโอกาสการครบรอบ ๑๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์เมื่อปี ๒๕๔๕ ได้มีการแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีระหว่างกัน ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ มีเขตอาณาครอบคลุมโครเอเชียในขณะที่ฝ่ายโครเอเชียได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตโครเอเชีย ณ กรุงจาการ์ตา มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย นอกจากนี้ ไทยและโครเอเชียได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ระหว่างกัน โดยกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำโครเอเชีย ได้แก่ นาย Alojzije Pavlovic และ กงสุลกิตติมศักดิ์โครเอเชียประจำประเทศไทย ได้แก่ นายวิฑูรย์ อร่ามวารีกุล
๒. ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโครเอเชียราบรื่น ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ โดยฝ่ายโครเอเชียแสดงความชื่นชมอยู่เสมอว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองเอกราชของโครเอเชีย แต่ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากโครเอเชียยังคงพัวพันในสงครามกับ ชาวเซิร์บจนถึงปี ๒๕๓๗ และภายหลังการสู้รบ โครเอเชียต้องมุ่งกับการบูรณาการภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฝ่ายโครเอเชียแสดงท่าทีกระตือรือร้นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทยให้เพิ่ม มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้พยายามส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายมีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
๓. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
โครเอเชียเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๒ ของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทย-โครเอเชีย ในปี ๒๕๔๙ มีมูลค่า ๒๗.๖๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๔๘ ๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ๑๖.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าจากโครเอเชียลดลง สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รองเท้าและชิ้นส่วน ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป เลนส์ ส่วนสินค้าสำคัญที่นำเข้าจากโครเอเชีย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน ลวดและสายเคเบิล ผลิตภัณฑ์ทำจากยาง โดยไทยเห็นว่า ควรเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน และพยายามศึกษาลู่ทางขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับโครเอเชียภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยใช้กลไกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะจัดทำขึ้น
นอกจากนี้ โครเอเชียกำลังเร่งปูพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมือง Rijeka ที่มีความลึกที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และกำลังปรับปรุงเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังประเทศในยุโรปตอนกลางและตอนใต้ ซึ่งเมื่อปี ๒๕๔๘ กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้เคยส่งคณะไปสำรวจลู่ทางความเป็นไปได้ในการจัดทำคลังกระจายสินค้า
ด้านการท่องเที่ยวเป็นสาขาที่โครเอเชียมีศักยภาพสูง ซึ่งไทยสามารถหาลู่ทางการร่วมลงทุนกับโครเอเชียในการเปิดร้านอาหารไทย และการนวดแผนไทยได้ ทั้งนี้ ในปี ๒๕๔๙ (มกราคม กันยายน) มีนักท่องเที่ยวจากโครเอเชียเดินทางมาไทยจำนวน ๑,๔๘๓ คน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๔ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๘ (มกราคม-กันยายน) ๑,๑๙๒ คน
๔. แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย-โครเอเชีย
เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับโครเอเชียแล้ว การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในสาขาและระดับต่างๆ น่าจะพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น โครเอเชียมีความสนใจที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทยให้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของโครเอเชียขณะนี้มุ่งเน้นการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ และส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรก การมีปฏิสัมพันธ์กับไทยอาจจะพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
๕. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
๑. ความตกลงว่าด้วยการจราจรทางอากาศระหว่างไทยและโครเอเชีย (ลงนามเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒)
๒. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์
๒๕๔๓)
๓. ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างไทยและโครเอเชีย
(ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)
๖. การเยือนที่สำคัญ
๖.๑ ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ ๑๐-๑๔ เมษายน ๒๕๔๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนโครเอเชียตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนาย Ivica Racan นายกรัฐมนตรีโครเอเชีย และได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นาย Stjepan Mesic ประธานาธิบดีโครเอเชีย นาย Zlatko Tomcic ประธานรัฐสภาโครเอเชีย และนาย Ivica Racan นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสดังกล่าว
รัฐบาล
- วันที่ ๑๘-๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เดินทางเยือนโครเอเชียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๑-๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนโครเอเชีย
- วันที่ ๒๘-๓๐ มีนาคม ๒๕๔๙ ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง
การต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนโครเอเชีย
๖.๒ ฝ่ายโครเอเชีย
- วันที่ ๒๕-๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๖ ดร. Ivo Sanader รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโครเอเชีย เดินทางเยือนไทย
- วันที่ ๓๐ มีนาคม ๓ เมษายน ๒๕๓๙ ดร. Mate Granic รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโครเอเชีย เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวง
การต่างประเทศ
- วันที่ ๖-๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒ นาย Nenad Porges รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโครเอเชีย เดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการจราจรทางอากาศระหว่างไทยและโครเอเชีย
- วันที่ ๒๕-๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๓ นาย Goranko Fizulic รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโครเอเชีย เดินทางเยือนไทย
- วันที่ ๑๐-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ นาย Stjepan Mesic ประธานาธิบดีโครเอเชีย พร้อมภริยา
เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาลในระดับ Official Working Visit และได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สิงหาคม 2550
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|